Skip to content

Phuketdata

default color
Home arrow News arrow PHUKETDATA arrow จารึกภาษาจีนในศาลเจ้าปุดจ้อ
จารึกภาษาจีนในศาลเจ้าปุดจ้อ PDF พิมพ์ อีเมล์
เขียนโดย ปาณิศรา ชูผล มทศ.   
จันทร์, 11 กุมภาพันธ์ 2008

๓.๒.๓(๑) จารึกภาษาจีนในศาลเจ้าปุดจ้อ

ดิลก วุฒิพาณิชย์.
---------------------                             

         คำกลอนคู่ คือบทกวีจีนซึ่งมีลักษณะเป็นคำขวัญคู่บทที่เขียนบนผืนผ้าหรือกระดาษเป็นคู่ ๆ  สำหรับปิดไว้ที่เสาสองข้างของประตูหน้าบ้าน,ปิดไว้ในงานพิธีต่าง ๆ หรือสลักไว้บนเสาหินสองข้างประตูรั้วด้านหน้าของศาลเจ้า หรือวัดวาอาราม เช่น "จารึกภาษาจีนที่เสาประตูกำแพงแก้วของพระอุโบสถ วัดมัชฌิมาวาสฯ จังหวัดสงขลา" เป็นต้น

         คำกลอนคู่นิยมเรียกสั้น ๆ ว่า "กลอนคู่" และประพันธ์ด้วยคำภาษิต คำอนุสรณ์จารึก คำขวัญในวันตรุษสารท คำไว้อาลัยหรือคำมงคลต่างๆ โดยทั่วไป เพื่อเป็นสื่อนำมาซึ่งโชคลาภและความสุขสวัสดีทุกที่ทุกเวลา ตามคตินิยมของชาวจีน

        กลอนคู่  ภาษาจีนว่า "ตุ้ยเหลียน" แต่ภาษาพูดนิยมว่า"เหลี่ยนตุ่ย" ซึ่งคำว่า"ตุ้ย" แปลว่า คู่สอง ตอบกลับ  ปฏิปักษ์ หรือทวิภาค และคำว่า "เหลียน" แปลว่า เชื่อม ต่อกัน หรือสัมพันธ์กัน   ดังนั้น กลอนคู่จึงอาจเรียกว่าบทกวีทวิภาคหรือกลอนปฏิสัมพันธ์ ก็ย่อมได้

 

        กลอนคู่ มีลักษณะบังคับ หนึ่งบทมีสองวรรค ได้แก่ วรรคแรก ภาษาจีนว่า "ซ่างเหลียน" (กลอนบน) หรือ “วรรคส่ง” คือ บทที่จารึกข้างประตูทางขวามือของผู้อ่าน  ส่วนวรรคหลัง     ภาษาจีนว่า "เสี้ยเหลียน"(กลอนล่าง) หรือ “วรรครับ” คือ บทจารึกที่ข้างประตูตรงกันข้ามกับวรรคแรก

        การประพันธ์กลอนคู่ จะตั้ง"กระทู้อักษร" ซึ่งเป็นอักษรจีน 2 ตัวเป็นหัวข้อให้ขยายความ คืออักษรตัวแรกของ"กลอนบน"และ"กลอนล่าง"ซึ่งเป็นบทจารึกทางขวามือและซ้ายมือตามลำดับ

       อักษรกระทู้ทั้งสองตัวดังกล่าวถือเป็นหัวใจของกลอนคู่  ซึ่งเป็นนามบัญญัติสำคัญ  เช่น ป้ายชื่อสกุล แซ่ตัน อักษรจีนว่า"หล่วนแจ้"  กระทู้อักษรทางขวามือจะเริ่มด้วยคำว่า "หล่วน" และขนานด้วยคำว่า "แจ้" ทางซ้ายมือ ทั้งนี้ เป็นไปตามหลักการเขียนภาษาจีนแบบดั้งเดิม คือ เริ่มจากขวาไปซ้าย  ดังนั้น การอ่านกลอนคู่  จึงต้องอ่านวรรคแรกทางขวามือก่อนวรรคหลังทางซ้ายมือ

       กลอนคู่มีลักษณะคำประพันธ์บับคับในระหว่างวรรคให้มีความหมายตรงกันข้ามเป็นคู่ขนานกัน แต่มีรูปลักษณ์เดียวกัน คือ ทุก ๆ บทมี พยางค์ จำนวนอักษร และระเบียบในการประกอบประโยคอย่างเดียวกัน เช่น ในบทหนึ่งหรือประโยคหนึ่ง สมมติว่า มี ๙ พยางค์ ก็มี ๙ ตัวอักษรมีปฏิสัมพันธ์เป็นคู่ขนานกันและเท่ากันทั้งสองวรรค คือ กลอนบนและกลอนล่าง ทั้งนี้เป็นไปตามแบบฉบับภาษาจีนที่เป็นคำโดด คือ หนึ่งอักษรเปล่งคำอ่านออกเสียงหนึ่งพยางค์
        สำหรับหลักไวยากรณ์หรือระเบียบในการประกอบประโยคนั้น ก็บังคับให้มีรูปแบบอย่างเดียวกัน เช่น คำนามคู่กับคำนาม กริยาคู่กับกริยา วิเศษณ์คู่กับวิเศษณ์ เป็นต้น

        หลักสำคัญอีกประหนึ่งในการประพันธ์กลอนคู่ ก็คือผู้รู้จะนำเอาทฤษฎีคู่ (อินหยาง) มาใช้ในการเลือกใช้อักษรที่ออกเสียงวรรณยุกต์สูงต่ำ ครุลหุหรือหนักเบา ให้กลมกลืนสัมพันธ์กัน เพื่อให้เกิดสภาวะสมดุลเป็นทางนำมาซึ่งสิริมงคลอย่างยิ่ง ตามคติลัทธิเต๋าอีกด้วย

        กวีนิพนธ์ภาษาไทยที่มีลักษณะคล้ายกลอนคู่ เช่น ใน"สุภาษิตพระร่วง" คือ"เมื่อน้อยให้เรียนวิชา  ให้หาสินเมื่อใหญ่ อย่าใฝ่เอาทรัพย์ท่าน อย่าริร่านแก่ความฯลฯ"เป็นต้น ส่วนคำพังเพยก็มีอยู่มากมาย อาทิเช่น  "ระยะทางพิสูจน์ฝีเท้าม้า กาลเวลาเรียนรู้น้ำใจคน"เป็นต้น กรณีหลังนี้ ถ้าหากจะวิเคราะห์ให้เข้ากับลักษณะบังคับของตุ้ยเหลียน ก็จะได้ดังนี้ คือ

"ระยะทาง-กาลเวลา" เป็นคำนาม
"พิสูจน์-เรียนรู้" เป็นคำกริยา และ
"ฝีเท้าม้า-น้ำใจคน"เป็นคำนาม  
 
ซึ่งสร้างประโยคในรูป "ประธาน+กริยา+กรรม ฯลฯ เป็นต้น

        กรณีศึกษากลอนคู่ ขอเสนอตัวอย่างกลอนคู่จากคำจารึกภาษาจีนที่ปรากฏบนเสาอาคารศาลเจ้า ๖ เสา ในศาลเจ้าปุดจ้อจุ้ยตุ่ย (ศาลเจ้าแม่กวนอิม-อวโลกิเตศวร-โพธิสัตว์)จังหวัดภูเก็ต

 ศาลเจ้านี้ขึ้นป้ายชื่อว่า"เจินเต๋อถาง"(จินเต็กต๋อง) แปลว่า พุทธสถานคุณธรรมอันบริสุทธิ์  หรือจะตั้งป้ายชื่อแบบไทย ๆ ว่า "ศาลเจ้าปริสุทธิคุณธรรม" ก็ย่อมได้ ส่วนป้ายชื่อภาษาจีนว่า "เจินเต๋อถาง" จะนำอักษร "เจิน" และ "เต๋อ"มาเป็นกระทู้อักษรของกลอนคู่ ดังตัวอย่างคำจารึกบนเสาข้างประตูทางเข้าศาลเจ้าซึ่งเป็นเสาหลักมีกลอนคู่ หนึ่งบท ๒ วรรค ซึ่งประกอบด้วยอักษรจีนข้างละ ๙ ตัวษร ดังนี้

เพื่อสะดวกในการวิเคราะห์ประโยคกลอนคู่ ตามตัวอย่างจะจำแนกประโยคออกเป็น ๔ ส่วน โดยแปลความแต่ละส่วนตามลำดับ  คือ 

 เสาขวามือ              เสาซ้ายมือ
 (๑) ความจริงใจ           การบำเพ็ญคุณธรรม
 (๒) สามารถช่วยโลกปลดทุกข์  อาจสูงส่งระฟ้า
 (๓) เมตตากรุณา                   สติปัญญา                
 (๔) เป็นแก้ว                         สร้างประตู      

ในส่วนที่ ๔ แก้ว คือ ธรรม ได้แก่ ธรรมรัตน์ หมายถึง ธรรมอันประเสริฐ  ส่วน"ประตู" คือ ธรรมทวาร ได้แก่ ประตูสู่ทางพ้นทุกข์(มรรคผล)
อนึ่ง ธรรมรัตน์ ภาษาจีนว่า "ฝาป่าว" และธรรมทวาร ภาษาจีนว่า"ฝาเหมิน" ต่างเป็นคำศัพท์ในคัมภีร์พระพุทธศาสนาฝ่ายมหายาน                
คำแปลแต่ละส่วนอาจนำมาเรียบเรียงใหม่  ดังนี้

 (๑) เสาขวามือ  
"มโนบริสุทธิ์สามารถช่วยโลกปลดเปลื้องทุกข์ได้ ด้วยหลักเมตตากรุณา ซึ่งเป็นธรรมอันประเสริฐ"
 (๒) เสาซ้ายมือ  
"การบำเพ็ญคุณธรรมอาจสูงส่งระฟ้าได้ โดยภูมิสติปัญญา เพื่อสร้างทางบรรลุมรรคผล"
 ทั้งนี้ นำมาประพันธ์เป็นคำกลอน ได้ดังนี้

อันมโน บริสุทธิ์ ผ่องผุดผาด   
จักสามารถ ช่วยโลก ปลดทุกข์เข็ญ
ด้วยเมตตา การุญ บุญบำเพ็ญ              
ธรรมสุดเด่น ดีเลิศ ประเสริฐคุณ
ความประพฤติ คุณธรรม นำปฏิบัติ          
จริยวัตร สูงส่ง คงเกื้อหนุน
ภูมิปัญญา พาสติ ตริตรองบุญ                 
ทางพิบุล ประจักษ์ ลุมรรคผล ฯ    

---------------------------- 
 
บรรณานุกรม

สุธิวงศ์ พงศ์ไพบูลย์ และดิลก วุฒิพาณิชย์.จารึกภาษาจีนที่เสาประตูกำแพงแก้วของพระอุโบสถ วัดมัชฌิมาวาสฯจังหวัดสงขลา.

สารานุกรมวัฒนธรรมภาคใต้.(ฉบับปรับปรุงใหม่):๒๕๔๒.

ดิลก วุฒิพาณิชย์. จารึกภาษาจีนที่เจินเต๋อถาง จังหวัดภูเก็ต. สารานุกรมวัฒนธรรมภาคใต้.(ฉบับปรับปรุงใหม่):๒๕๔๒.
                            
ราชบัณฑิตยสถาน. พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถานพ.ศ.๒๕๒๕.
 (ซีดีรอม) กรุงเทพฯ:ราชบัณฑิตยสถานและศูนย์เทคโนโลยีอีเล็กทรอนอกส์ และคอมพิวเตอร์แห่งขาติ,๒๕๓๙

แก้ไขล่าสุดเมื่อ ( จันทร์, 11 กุมภาพันธ์ 2008 )
 
< ก่อนหน้า   ถัดไป >

News

สมุดภาพเหมืองแร่

Counter

mod_vvisit_countermod_vvisit_countermod_vvisit_countermod_vvisit_countermod_vvisit_countermod_vvisit_countermod_vvisit_countermod_vvisit_countermod_vvisit_counter
mod_vvisit_counterวันนี้953
mod_vvisit_counterเมื่อวาน2580
mod_vvisit_counterทั้งหมด10705698