Skip to content

Phuketdata

default color
Home arrow Search
ศิลปหัตถกรรมพื้นบ้าน PDF พิมพ์ อีเมล์
เขียนโดย ปาณิศรา ชูผล มทศ.   
จันทร์, 11 กุมภาพันธ์ 2008

กระสอบใบเตย(สอบเตย)

 กระสอบใบเตย ภาษาภูเก็ตเรียกสั้น ๆ ว่า สอบเตยหรือสอบข้าว เป็นภาชนะที่สานจากใบเตย สำหรับบรรจุข้าวหรือสิ่งของต่าง ๆ ก้นกระสอบมีมุมสี่มุมและผนังโดยรอบตั้งขึ้นมาคล้ายทรงกระบอก ส่วนใหญ่จะใส่ข้าวเปลือกที่เก็บเกี่ยวจากนาไร่ มีบ้างที่ทำเป็นกระสอบใบเล็ก ๆ ไว้ใส่ของในครัวเรือนหรือให้เด็ก ๆ เล่น

 ใบเตยที่ใช้ทำกระสอบนำมาจากใบของต้นเตยที่ชอบขึ้นอยู่ตามที่ลุ่มน้ำขัง หรือพรุน้ำจืด การเตรียมใบเตยสำหรับสานกระสอบ เริ่มต้นด้วยการเลือกตัดใบเตยที่แก่จัดมาเลาะหนามข้างในและกลางใบออก แล้วผ่าเป็นสองส่วนเท่า ๆ กัน หลังจากนั้นก็นำมาแบ่งเป็นส่วนเท่า ๆ กันโดยใช้เครื่องมือที่เรียกว่า “เครียด” เครียดคือเครื่องมือที่ผ่าใบเตย ด้ามทำจากไม้ส่วนปลายเป็นซี่มีดคมกริบสามซี่ เมื่อนำใบเตยมาผ่าด้วยเครียดแล้วจะได้เส้นใบเตยที่มีขนาดเท่า ๆ กัน หลังจากนั้นก็นำใบเตยที่ได้มาตากแดด แล้วเก็บรวบรวมไว้ แล้วนำมารีดด้วยไม้ไผ่ซีกหรือด้ามเครียดให้ใบเตยเรียบตรง ทำเช่นนี้ทุก ๆวันประมาณ 7-10 วัน หรือจนกว่าใบเตยจะแห้งหมาดและเรียบอ่อนนุ่มพร้อมที่จะนำไปสานกระสอบ

 การสานกระสอบก็เริ่มจากก้นกระสอบก่อนแล้วก้ค่อยหักมุมทั้งสี่ขึ้นเป็นทรงกระบอก และนำมาเก็บปลายไว้ ขอบบนสุดตรงปากกระสอบ ขณะที่สานหากกระสอบใบไหนยังสานไม่เสร็จก็จะใช้ผ้าชุบน้ำคลุมเอาไว้เพื่อให้อ่อนนุ่มพร้อมที่จะสานต่อไปในวันอื่น ๆ ได้ เมื่อสานเป็นกระสอบ เสร็จแล้วก็จะนำไปตากแดดอีกครั้งหนึ่งจนแห้งสนิทดีแล้วก็นำไปเก็บไว้บริเวณเหนือเตาไฟในครัว เพื่อให้ควันไฟจากการหุงหาข้าวปลารมกันมอดแมลงเจาะไช

 การทำกระสอบที่ใช้เป็นภาชนะใส่ข้าวของเล็ก ๆ น้อย ๆ ส่วนใหญ่จะนิยมใช้ใบเตยอ่อน ซึ่งเป็นงานฝีมือที่ละเอียดอ่อนและทำได้ยาก เพราะใบเตยอ่อนนั้นพริ้วง่าย ขนาดของเส้นใบเตยที่จะนำมาใช้ก็เล็กกว่าเส้นใบที่นำไปทำกระสอบใส่ข้าวเปลือก การสอบที่ได้จากการสานด้วยใบเตยอ่อนจะเรียกว่า “สอบอ่อน” ซึ่งจะมีลวดลายละเอียดกว่าและอ่อนนุ่มน่าใช้กว่ากระสอบที่ทำจากใบเตยแก่

 ผู้ที่ทำกระสอบส่วนใหญ่จะเป็นผู้หญิงสูงวัยในครอบครัว อาจจะเป็นแม่ หรือไม่ก็ย่า ยาย สามารถทำได้ทุกขั้นตอนโดยไม่ต้องพึ่งพาผู้ชาย งานทำกระสอบทำให้ผู้เป็นแม่มีเวลานั่งเล่านิทานให้ลูก ๆ ฟังพร้อมกับทำงานไปด้วยหลังอาหารเย็น และขณะเดียวกันเด็ก ๆ ก็ได้เรียนรู้วิธีการทำกระสอบอย่างเพลิดเพลินโดยไม่รู้ตัว นับว่าเป็นวิถีชีวิตที่อบอุ่นซึ่งนับวันจะห่างหายไปจากสังคมไทยในปัจจุบัน

  

สาดเตย

 สาดเตยหรือเสื่อที่จักสานจากใบเตย เป็นงานหัตถกรรมพื้นบ้านทั่ว ๆไป ของชาวบ้านปักษ์ใต้สมัยก่อน เตยเป็นพืชที่ขึ้นอยู่ทั่วไปตามหัวไร่ปลายนา ริมธารน้ำลำคลอง ประโยชน์ใช้สอย   คือใช้ตากข้าวเปลือก เมล็ดพืชผัก บางบ้านก็ใช้ปูนั่ง จะใช้ปูนอนบ้างแต่ไม่มากนัก

 การทำสาดเตย ใช้เตยแชง หรือเตยน้ำ เริ่มจากการไปตัดเตยใบที่ไม่อ่อนหรือแก่เกินไปตัดที่โคนใบ ตัดปลายใบที่เรียวออกให้เหลือความยาวตามที่ต้องการ ประมาณ ๒-๓.๕ เมตร แล้วเลื่อยหนามเตยออก ที่สันใบและขอบใบ วิธีเลื่อยจะใช้ใยจากเปลือกมะพร้าว หรือเส้นเอ็นผูกคล้องนิ้วหัวแม่มือกับนิ้วชี้ เวลาเลื่อยจะทาบใยหรือเอ็นที่ผูกนิ้วไว้แล้วเข้ากับช่วงโคนใบเตยตรงที่จะเลื่อยออก แล้วดึงใบเตยไปตามความยาวตลอดใบ แล้วผ่าใบเตยเป็นสองซีก แต่ละซีกจะผ่าเป็นซีกย่อยอีกครั้ง ได้ใบเตยที่ผ่าแล้วความกว้าง ประมาณ ๑.๕-๒ เซ็นติเมตร เมื่อเลื่อยใบเตยแล้วใช้ไม้ (ไม้ไผ่) แบน ๆ ผิวเรียบ ขูดใบเตยเพื่อให้ใบอ่อนตัว นำไปผึ่งแดดให้อ่อนตัวอีกครั้ง พอใบแห้งลืมต้น นำมาขูดให้นิ่มอ่อนตัวอีกครั้ง

 การสานสาดเตย เป็นงานหัตถกรรมที่ไม่ประดิษฐ์ลายอะไรมากนัก จักสานอย่างง่าย ๆ เป็นลาดขัดพื้น ๆ ยก ๑ ข่ม ๑ ไปเรื่อยๆ  ขอบนอกทั้ง ๔ ด้านเมื่อได้ความกว้างความยาวของผืนเสื่อตามต้องการใช้วิธีพับตอกกลับเข้าด้านใน แล้วสอดไว้ในช่องเตยที่ขัดลายเรียบร้อยแล้ว โดยร้อยซ่อนเข้ามา ๒ - ๓ ตอก ความยาวที่เหลือจากการร้อยสอดก็ตัดทิ้งเรียกว่า “ตัดหนวดสาด”

  

สมุกหมาก

 สมุกหมาก ภาชนะจักสานที่มีก้นอย่างน้อยสองมุมไว้ใส่สิ่งของต่าง ๆ มีฝาครอบ เป็นหัตถกรรมพื้นเมืองที่จักสานด้วยใบเตยหรือต้นกก เรียกว่า “สมุก” หรือสำเนียงชาวปักษ์ใต้ออกเสียง “มุก” สิ่งของที่ชาวบ้านนำมาใส่ในภาชนะชนิดนี้ หากเป็นหมากพลู จะเรียกภาชนะที่ใส่หมากพลูว่า “สมุกหมาก”

 สมุกหมากที่นิยมใช้จักสานมักจะสานด้วยใบเตยหรือกก มีก้นเป็นสี่มุม หกมุม สองมุม งานจักสานเป็นรูปสี่เหลี่ยมบนฐานสี่มุม จักสานเป็นรูปทรงกลมบนฐานหกมุม ค่อนข้างจะหาดูได้ยาก สมุกหมากทรงกลมบนฐานหกเหลี่ยมที่มีอยู่ในหอวัฒนธรรมภูเก็จ ได้รับมาจาก “นางชม  ฤกษ์ถลาง (ถึงแก่กรรม) ชาวบ้านค่าย ตลาดบ้านเคียน อำเภอถลาง เป็นงานจักสานของ นางเบีย สงเคราะห์ เป็นงานที่จัดทำไว้เมื่อ พ.ศ. ๒๔๙๕ งานชิ้นนี้จักสานด้วยใบเตยอ่อนสีขาว มีเส้นผ่าศูนย์กลาง ๔ นิ้ว ทรงสูง ๓ นิ้ว ใบเตยจักตอกแต่ละเส้นกว้าง ๐.๕ เซ็นติเมตร สอดสานติดกันของตอกเตยสี่เหลี่ยมข้าวหลามตัดจำนวน ๓ ชิ้น กลายเป็นลายจักสานรูปทรงเล็ก ๆ ติดกันเป็นชิ้นทรงกลมบนฐานหกเหลี่ยมได้ทรวดทรงที่งามงด สมุกหมากทรงกลมบนฐานหกเหลี่ยมชิ้นนี้ เป็นศิลปกรรมจักสานของหอวัฒนธรรมภูเก็จ ที่เป็นงานชั้นครู ยังไม่มีงานชิ้นใดมาเทียบความประณีตงดงามได้เลย

  

หมวกหกเหลี่ยม

 โดยอาชีพพื้นเพของชาวบ้านถิ่นภูเก็ต  ยุคสังคมเกษตร ชาวภูเก็ตแถวถลาง บ้านดอน ฉลอง กะตะ กะรน มีอาชีพทำนาปลูกข้าว การประดิษฐ์เครื่องมือเครื่องใช้ในการทำนาก็อาศัยหัตถกรรมฝีมือพื้นบ้าน โดยเฉพาะการจักสานหมวกหกเหลี่ยมก็เช่นกัน เป็นหมวกที่ใช้สวมกันแดด ตอนหน้าเก็บเกี่ยวข้าว

 วัสดุที่ใช้ในการสานหมวกหกเหลี่ยมคือใบเตย  ตัดเตยใบที่ขนาดไม่แก่ไม่อ่อนเกินไป กรีดหนามออกผ่าเป็นตอก ประมาณ ๑.๕ - ๒ เซนติเมตร นำมาสานขึ้นรูปทรงลายขัดธรรมดาเป็นรูปกรวยทรงกลม เมื่อได้ความกว้างขอบกรวยประมาณ ๑.๕ ฟุต เก็บปลายของตอกที่ขัดเข้าสู่ด้านใน ๓ - ๔ ตอก หนวดเตยที่เหลือตัดทิ้ง เอาหวายทรงกลม ดามไว้ด้านในด้านนอก เพื่อให้หมวกรักษารูปทรงตั้งอยู่ ขอบรอบ ๆ สานเป็นรูปหกเหลี่ยม ด้านในหมวกสานเป็นรูปวงกลมขนาดกระชับกับศีรษะนำไปประกอบกับใบหมวกใช้เชือกเย็บให้แน่น

 หมวกหกเหลี่ยมยังใช้ประโยชน์สำหรับคนร่อนแร่ ชาวประมงน้ำจืดในบางท้องที่ของภูเก็ตด้วย

  

สอบช่อวันสารทเดือนสิบ

 วันสารทเดือนสิบหรือวันทำบุญเดือนสิบของชาวภูเก็ต เป็นประเพณีเหมือนกับประเพณีเดือนสิบของชาวปักษ์ใต้ทั่วไป ชาวไทยพุทธจะไปทำบุญวันเดือนสิบเพื่อแสดงความกตัญญูต่อบรรพบุรุษ พ่อแม่ปู่ย่าตายายที่ล่วงลับไปแล้ว โดยจะนำข้าวปลาอาหาร ขนมเดือนสิบไปร่วมทำบุญกันที่วัด แต่ที่ภูเก็ตมีรายละเอียดโดยเฉพาะอยู่เรื่องหนึ่ง คือการนำสิ่งของเครื่องใช้ที่บริโภคในครัวเรือนใส่สอบช่อไปถวายวัดด้วย โดยเฉพาะอาหารแห้ง เช่น ข้าวสาร พริก หอม กระเทียม เกลือ กะปิ ขิง ข่า ตะไคร้ มะพร้าว (ปอกเปลือก) ฟักทอง ขี้พร้า หัวมัน ส้ม เข็มเย็บผ้า ด้าย ไม้ขีดไฟ รายชื่อญาติที่ตายไปแล้ว ฯลฯ สิ่งของที่ไม่สามารถบรรจุในสอบช่อได้ก็จะแขวนหรือวางไว้ต่างหาก เช่น มะพร้าว ฟักทอง ขี้พร้า ขิง ข่า ตะไคร้ ฯลฯ

 สิ่งของเหล่านั้นเป็นอาหารแห้งที่ทางวัดจะได้เก็บไว้ทำอาหาร หรือเลี้ยงคนที่ไปร่วมทำบุญกับทางวัด

 การทำสอบช่อหรือกระสอบช่อ ใช้ใบเตยมาสานสอบช่อ โดยตัดใบเตยมาผ่าเป็นตอก ขนาด ๑ - ๑.๕ เซ็นติเมตร จักสานเป็นกระสอบใบเล็ก ๆ ขนาดกว้างประมาณ ๗ - ๘ เซ็นติเมตร สูง ๙ - ๑๐  เซ็นติเมตร ที่ก้นสอบสานเป็นสายร้อยห้อยเป็นพวง ยาวประมาณ ๒ ศอก ช่อละ ๕ สอบ โดยให้ห้อยเป็น  ๒ ด้าน (เป็น ๑๐ สอบ) สิ่งของต่าง ๆ เช่น ข้าวสาร พริก เกลือ กะปิ เมื่อนำมาใส่สอบแล้วจะต้องเย็บปากสอบให้ติดกัน เพื่อมิให้สิ่งของที่บรรจุไว้ร่วงหรือหกออกมาได้ เพราะเวลาเอาสอบแขวนหรือคล้องไหล่ปากสอบจะห้อยลง

  

ชะ(ตะกร้า)

 ชะ เป็นภาชนะจักสานประเภทตะกร้าของภาคใต้ มีหลายชนิด รูปร่างเตี้ย ๆ ปากลมมีขอบก้นเป็นเหลี่ยม รูปร่างคล้ายกระจาดของภาคกลางแต่เตี้ยกว่า ใช้ใส่ผักผลไม้ต่าง ๆ ไปจนถึงใส่ขนมจีน อีกชนิดหนึ่งรูปร่างทรงกระบอก มีหูสำหรับหิ้ว จึงเรียกว่า “ชะหิ้ว” ใช้ใส่พืช ผลไม้กับข้าวของสด เวลาไปจ่ายตลาดสดเช่นเดียวกับตะกร้าหิ้วของภาคกลาง

 ชะ เป็นเครื่องจักสานที่ทำจากตอกไม้ไผ่ หวาย ใช้กันในจังหวัดภูเก็ตและจังหวัดแถบภาคใต้  ภาชนะจักสานชนิดนี้ได้รับแบบอย่างมาจากตะกร้าหิ้วของจีน ซึ่งชาวจีนที่เข้ามาตั้งถิ่นฐานในบริเวณจังหวัดแถบภาคใต้เป็นผู้นำเข้ามา


หม้อดินเผาภูเก็ต

 หม้อดินเผาเป็นเครื่องใช้ในครัวเรือนของชุมชนชนบทเขตอำเภอถลาง  โดยเฉพาะที่บ้านลิพอนและบ้านแขนน ซึ่งมีการปั้นด้วยแรงงานที่ใช้มือปั้นและเครื่องมือที่ประกอบการอย่างพื้นฐาน หาได้ในท้องถิ่นใกล้ ๆ ละแวกหมู่บ้าน เช่น สากไม้ กระสอบป่าน สาดเตย ถุงปุ๋ย กระด้ง ไม้ตีหม้อ ลูกดุ้ง กาบหมาก แป้นหมุน อุปกรณ์แต่ละชนิดมีลักษณะ ดังนี้
 ๑. สากไม้ ใช้สากตำข้าว สมัยก่อนที่หมู่บ้านปลูกข้าว และตำข้าวกินเอง
 ๒. กระสอบป่าน เป็นกระสอบข้าวสาร ใช้รองดินเหนียวตากแห้งแล้วนำมาตำ
 ๓. สาดเตย หรือเสื่อที่สานด้วยใบเตย รองรับดินที่ร่อนละเอียดแล้ว อาจใช้สลับกับกระสอบป่านได้
 ๔. ถุงปุ๋ย ใส่ดินที่ขุดมาจากทุ่งนาหรือจอมปลวก แล้วนำมาผึ่งแดดให้แห้ง
 ๕. กระด้งตาห่าง ๆ ขนาดประมาณ ๕x๕ ม.ม. ใช้สำหรับร่อนดินเหนียวที่ตำแล้ว
 ๖. ไม้ตีหม้อ มีลักษณะแบน ๆ ขนาดกว้าง ๑.๕-๒ นิ้ว ยาว ๖-๙ นิ้ว มีด้ามถือ มีลายสลักเป็นพิมพ์อยู่ด้านหนึ่ง ความหนาประมาณ ๑ ซม.
 ๗. ลูกดุ้ง ทำด้วยดินเหนียว ปั้นเป็นลูกกลม รี ๆ เส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ ๓-๔ นิ้ว ตากแห้งสนิท ใช้ผ้าห่อ คล้าย ๆ ลูกประคบ ใช้สำหรับเป็นฐานรองรับด้านในตีหม้อตกแต่งขึ้นรูป
 ๘. คำว่า ดุ้ง หมายถึง กระทุ้ง ในที่นี่หมายถึงกระทุ้งออก ให้ได้จังหวะขณะเดียวกับการใช้ไม้แม่พิมพ์ตีตกแต่งด้านนอกของหม้อ เพื่อจะทำให้ได้รูปทรงและความหนาบางของผิวหม้อ
 ๙. กาบหมาก ใช้สำหรับใส่ดินเหนียวที่ร่อนละเอียดแล้ว  นำน้ำมารดแช่ให้ดินอิ่มน้ำ ก่อนที่จะนำไปนวดให้เนื้อดินเหนียวและอ่อนพอที่จะปั้นเป็นรูปร่างได้
 ๑๐. แป้นหมุน ทำด้วยไม้กระดานหนาประมาณ ๑ นิ้ว เส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ ๑ ฟุต มีแกนอยู่กึ่งกลาง สำหรับให้เกิดความคล่องในการหมุนเมื่อจะปั้นหม้อ
 ๑๑. สาดเตย ผืนเล็ก ขนาด ๑x๑ ฟุต ใช้สำหรับรอง ก้อนดินด้านก้นหม้อ ก่อนปั้นขึ้นรูปบนแป้นหมุน

ขั้นตอนการปั้น

 ๑. ขุดดินเหนียวจากทุ่งนาหรือจอมปลวก ซึ่งอยู่ใกล้ ๆ หมู่บ้าน นำมาผึ่งแดดให้แห้ง แล้วนำมาตำบนเสื่อหรือกระสอบ โดยใช้สากไม้ที่มีอยู่แล้วในบ้านชาวนาสมัยก่อน ตำให้ดินร่วนละเอียด นำดินไปร่อนในกระด้ง รองรับดินด้วยกระสอบหรือสาดเตยแล้วกองไว้
 ๒. เอาดินเหนียวไปรดน้ำแช่น้ำไว้ในกาบหมาก จนดินอิ่มน้ำ นำดินไปนวดให้เข้าเนื้อเดียวกัน จนเหนียวได้ที่ (พอที่จะปั้นเป็นรูปทรงได้) ปั้นเป็นก้อนไว้ขนาดพอเหมาะที่จะปั้นหม้อแต่ละขนาด
 ๓. นำดินที่ปั้นเป็นก้อนแล้ว คลึงให้เป็นรูปทรงกระบอก นำมาวางบนแป้นซึ่งมีสาดรองอยู่ตรงกลาง วางแป้นหมุน (ตรงหน้าตัก) ใช้มือหนึ่งหมุนแป้น วนซ้ายหรือขวาก่อนตามความถนัด อีกมือหนึ่งปั้นดินขึ้นรูปโดยใช้หัวแม่มือกดลงกลางก้อนดิน พร้อมกับการหมุนแป้น ขึ้นเป็นรูปขอบปากหม้อให้ผายออกและเรียบได้รูปทรง ใช้ผืนผ้า (ขนาด ๒-๓ นิ้ว ยาวประมาณ ๑๒ นิ้ว) ชุบน้ำให้ชุ่ม ลูบตกแต่งปากหม้อให้เรียบโดยการหมุนแป้น พักไว้ก่อน โดยนำไปผึ่งแดด รอให้ดินแห้งหมาด ๆ ขณะที่รอนั้นก็ปั้นหม้อใบต่อไป
 ๔. เมื่อหม้อที่ผึ่งแดดไว้แข็งพอหมาดๆ นำมาตกแต่ง โดยใช้ไม้แม่พิมพ์ตีด้านนอก และใช้ลูกดุ้งตีด้านในประคองให้ผิวหม้อผายออกตามรูปทรง  โดยหมุนหม้อไปให้รอบ ๆ ซ้ายขวาสลับกัน ตีจากด้านบนติดกับปากหม้อก่อนแล้วไปตีด้านก้นหม้อ วางพักไว้ ตีหม้อใบต่อไปและกลับมาตีใบก่อนหน้า ๒-๓ ครั้ง สลับกันไปก็จะได้หม้อดินตามต้องการ
 ๕. เมื่อตีหม้อเสร็จแล้ว ก็นำไปผึ่งแดดให้แห้งสนิท เก็บไว้ในโรงเรือนหรือเพิงพัก กระท่อม(ขนำ) ฯลฯ จนครบจำนวนพอที่จะนำไปเผา ประมาณ ๘๐-๑๒๐ ใบ
 ๖. การเผาหม้อดิน ขุดหลุมลงเป็นรูปกะทะ เส้นผ่าศูนย์กลาง ๒ - ๒.๕ เมตร ความลึกประมาณ ๑ เมตร ก้นหลุมปูด้วยฟางข้าว กาบมะพร้าว วางเป็นชั้น แล้วนำหม้อดินมาวางตะแคงซ้อนสลับชั้นกันพอให้ ช่องว่างที่ไฟจะลุกขึ้นด้านบนได้ ภายในหม้ออาจจะบรรจุไม้ผุ เช่น ไม้นุ่น ไม้ทองหลาง ที่หาได้ใกล้ ๆ หมู่บ้าน ชั้นบนสุดของการวางซ้อนจัดแบบให้ปากหม้อคว่ำลงทุกแถว นำแกลบมากลบทับหลุมหม้อทุกใบ จุดไฟเผาให้ลุกทั่ว แบบค่อย ๆ คุกรุ่น ใช้เวลาเผาประมาณ ๑๒ ชั่วโมง คือจากหกโมงเย็นจนถึงรุ่งเช้า ต้องคอยระวังอย่าให้ความร้อนสูงเกินไป เพราะหม้ออาจจะแตกง่าย เมื่อเห็นว่าไฟไหม้แกลบหมดแล้ว ปล่อยให้ไฟดับไปเอง และรอให้เตาเผาเย็นลงจึงเอาหม้อขึ้นมาจากหลุมที่เผา นำมาวางซ้อนให้เป็นระเบียบคัดเลือกใบที่ไม่แตกปริไว้จำหน่ายตามต้องการ.

  

การทำไม้กวาดดอกอ้อ

(ไชยยุทธ ปิ่นประดับ:รวบรวม)

อ้อ เป็นชื่อไม้ล้มลุกชนิด Arundo donax Linn. ในวงศ์ Gramineae  ขึ้นเป็นกอ ลำต้นกลมขนาด ๕ มิลลิเมตร  ลักษณะของใบคล้ายกับไม้ไผ่ ขึ้นสูงประมาณไม่เกิน ๑๕๐ เซนติเมตร  อ้อชอบขึ้นตามบริเวณป่ากลางแจ้ง ตามที่ราบ ดินคลาและดินดาน แต่ไม่ชอบป่าปกคลุม ส่วนใหญ่มักจะพบอ้อขึ้นตามไหล่ทาง เนินเขาสองข้างทางที่ถนนตัดผ่าน ในจังหวัดภูเก็ต พังงาและระนอง อ้อจะเริ่มออกดอกตั้งแต่เดือนมกราคมจนถึงเดือนมีนาคม

 

ลักษณะของดอกอ้อ

 

ดอกอ้อ  มีก้านโผล่ออกมาจากลำต้น ยาวไม่เกิน ๑๒๐ เซนติเมตร มีแขนงเป็นก้านเล็กๆ  ออกจากลำต้นเป็นฝอย มีดอกละเอียดเป็นฝุ่นหยาบ  ผิวลำต้นเกลี้ยงคล้ายเคลือบมัน ภายในลำต้นมีไส้สีขาว

การเก็บเกี่ยวดอกอ้อ

 

ชาวบ้านเรียกการเก็บดอกอ้อว่าหักดอกอ้อ หรือเก็บต้นดอกอ้อ จะเริ่มเก็บตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์จนถึงเดือนมีนาคม   นำดอกอ้อผึ่งแดดประมาณ ๓-๕ วัน เพื่อให้ต้นและดอกแห้ง จึงนำเอาต้นดอกอ้อนั้นฟัดแบบฟัดข้าวในนา ให้ดอกละเอียดนั้นหลุดออกจากก้านฝอย  เมื่อก้านดอกอ้อแห้งสนิทให้เก็บไว้ในที่แห้ง  อย่าให้เปียกน้ำหรือชื้น เพราะจะทำให้ดอกของต้นอ้อเสียได้  แล้วจึงทยอยนำเอาดอกอ้อมาผูกเพื่อทำเป็นไม้กวาดต่อไป

วิธีทำไม้กวาดดอกอ้อ

 

ดึงแขนงที่เป็นฝอยของดอกอ้อออกประมาณครึ่งหนึ่ง ให้เหลือแขนงก้านดอกติดลำต้นที่ปลายไว้อีกครึ่งหนึ่ง  ให้แยกไว้เป็นพวก ๆ   เมื่อดึงแขนงที่เป็นฝอยของดอกอ้อได้จำนวนมากพอสมควร  หรือพอจะที่ผูกเป็นไม้กวาดได้จำนวนหลายอัน   จึงเริ่มเอาแขนงที่เป็นฝอยนั้นมัดเป็นวงกลมมัดเล็ก ๆ ขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณมัดละ ๑ เซ็นติเมตร แยกไว้ต่างหาก

 เมื่อมัดแขนงฝอยของดอกอ้อไว้แล้ว  นำเอาลำต้นของดอกอ้อประมาณ ๔ ต้น ให้เอาแขนงของดอกอ้อที่ได้มัดเตรียมไว้ ๑ มัดเล็ก นำมารวมเข้าด้วยกันโดยใช้ลวดเส้นเล็กผูกให้กระชับและแข็งแรงพอที่จะมัดเป็นไม้กวาดได้  นำแขนงของดอกอ้อกับก้านดอกอ้อมาผูกรวมเป็นมัดเดียวกัน .

ขั้นตอนของการผูกไม้กวาด

 

 ไม้กวาดดอกอ้อ ๑ อัน ประมาณ ๓๐ ก้าน มีจำนวน ๗ มัด ที่ได้ผูกรวมกันเตรียมไว้ทั้งลำต้นและแขนงของดอกอ้อไว้เป็นมัดรวมเป็นชุดขนาดกลาง เอาก้านดอกอ้อที่ผูกติดแขนงฝอยมา ๗ มัด ให้เอาชุดที่ ๑ กับชุดที่ ๒ นำมาผูกให้เรียงแถวตามลำดับเข้าด้วยกันกับหวายหรือลวด  ผูกให้แน่น แล้วจึงเอาชุดที่ ๓ และชุดที่ ๔ ผูกรวมเข้าไป ส่วนชุดที่ ๕ ผูกรวมกับชุดที่ ๖ เหลือชุดที่ ๗ เป็นชุดสุดท้ายที่จะผูกรวมเข้าไป จากนั้นมัดด้วยเชือกหวายหรือลวดให้แน่น เพื่อป้องกันการหลวมตัวของไม้กวาดดอกอ้อ นอกจากนี้ก้านดอกอ้อจะยาวประมาณ ๑  เมตร ใช้เชือกหวายหรือลวดผูกเป็น ๓ ระยะ ที่ด้ามไม้กวาดเพื่อให้ไม้กวาดแต่ละอันมีความแข็งแรงและทนทานต่อการใช้งานได้ดี

ประโยชน์ของไม้กวาด

 

ไม้กวาดดอกอ้อ  เป็นของใช้ประจำวันและประจำบ้านของชาวภูเก็ต  นอกจากใช้ในบ้านเรือนแล้ว ตามบริษัทห้างร้าน หรือโรงแรมในจังหวัดภูเก็ต ก็นิยมใช้ไม้กวาดดอกอ้อที่ชาวภูเก็ตผูกขึ้นใช้เอง และสามารถส่งไปจำหน่ายในจังหวัดใกล้เคียง

 ปัจจุบันอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวได้มีบทบาทมากขึ้น จึงทำให้ไม้กวาดดอกอ้อเพิ่มจำนวนปริมาณการใช้มากขึ้น   ทำให้รายได้จากการทำไม้กวาดดอกอ้อเพิ่มมากขึ้น  และต้องสั่งวัตถุดิบจากต่างจังหวัดมาเพิ่มเพื่อให้เพียงพอกับความต้องการของตลาด  การทำไม้กวาดดอกอ้อที่มีชื่อเสียงและมีคุณภาพมากที่สุด  อยู่ที่ตลาดกะทู้  จังหวัดภูเก็ต

 อาชีพผูกไม้กวาดดอกอ้อเป็นอาชีพหนึ่งในชุมชนตลาดกะทู้ ซึ่งเป็นรายได้เสริมให้กับครอบครัวอีกอาชีพหนึ่ง ซึ่งในอดีต ไม้ดอกอ้อเป็นสินค้าส่งออกไปขายยังต่างประทศโดยทางเรือ  ไปขายยังปีนัง  ประเทศมาเลเซีย ปีละหลาย ๆ มัดใหญ่.

 
< ก่อนหน้า   ถัดไป >

สมุดภาพเหมืองแร่

Counter

mod_vvisit_countermod_vvisit_countermod_vvisit_countermod_vvisit_countermod_vvisit_countermod_vvisit_countermod_vvisit_countermod_vvisit_countermod_vvisit_counter
mod_vvisit_counterวันนี้672
mod_vvisit_counterเมื่อวาน1659
mod_vvisit_counterทั้งหมด10719931