Skip to content

Phuketdata

default color
Home arrow News arrow PHUKETDATA arrow ปฏิมากรรมในภูเก็ต
ปฏิมากรรมในภูเก็ต PDF พิมพ์ อีเมล์
เขียนโดย ปาณิศรา ชูผล มทศ.   
อาทิตย์, 10 กุมภาพันธ์ 2008

ปฏิมากรรมในภูเก็ต


พระพุทธรูปทองคำ
ศิลปะสมัยสุโขทัย
วัดมงคลนิมิตร


พระพุทธรูปทองคำ วัดมงคลนิมิตร เป็นพระพุทธรูปศิลปะสุโขทัย ปางมารวิชัย หน้าตักกว้าง ๒๔ นิ้ว เดิมทีเดียวพระองค์นี้ถูกพอกไว้ด้วยปูน อยู่ร่วมกับพระพุทธรูปองค์อื่น ๆ ที่วัดนี้ (สันนิษฐานว่าช่างสมัยโบราณได้เอาปูนพอกองค์ท่านไว้เพื่อความปลอดภัยจากโจรผู้ร้าย พอกพระพักตร์ให้ดูน่ากลัว เมื่อยังไม่ได้กระเทาะปูนออก เด็ก ๆ เห็นแล้วกลัวกันมากถึงกับวิ่งหนีก็มี แม้ผู้ใหญ่เองก็ไม่สนใจเพราะเห็นเป็นพระพุทธรูปปูนปั้นธรรมดา จนกระทั่งในปี พ.ศ.๒๕๐๐ ทางวัดจะมีงานฉลอง ๒๕ พุทธศตวรรษ จึงได้จัดการซ่อมพระพุทธรูปต่าง ๆ บังเอิญพระองค์นี้ปูนกะเทาะออกเล็กน้อยทำให้เห็นเป็นทองคำ จึงได้กะเทาะปูนออกปรากฏว่าเป็นทองคำทั้งองค์ เป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัยที่มีพุทธลักษณะงามที่สุด ทางวัดนำไปประดิษฐานอยู่ ณ ศาลาการเปรียญ วัดมงคลนิมิตร เป็นที่น่าเสียดายเมื่อปี พ.ศ. ๒๕๓๘ เกิดเพลิงไหม้ศาลาการเปรียญ พระพุทธรูปองค์นี้ถูกไฟไหม้จนทองคำหลอมละลาย
คำกลอนเรื่องพระพุทธรูปทองคำ วัดมงคลนิมิตร ตำบลตลาดใหญ่ อำเภอเมือง จังหวัดภูเก็ตโดย ฟ.คำทัปน์

 ฟ.คำทัปน์รับบันทึกจารึก เรื่อง 


ข่าวลือเลื่องเล่าขยายญาติชายหญิง
ยี่สิบห้าพุทธศตพรรษอัศจรรย์จริง 
อำนวยสิ่งอเนกศักดิ์อนรรฆคุณ
พระราชวิสุทธิมุนีมีวาทะ
เรียกรจนะประนอมน้อมถนอมหนุน
สมณะพงศ์ส่งพาสน์อภิชาตกุล  
บุรพบุญบ่มบรรสบพบพระทอง
พุทธาภิเษกเอกพิธีพุทธลีลาส
ศรัทธาปสาทประกาศเสริมเฉลิมฉลอง
ช่างเปลื้องเมืองธนฯทำหล่อจำลอง
จำเพาะพ้องพบพระปฏิมา
หอมุขะพระเจดีย์ปูชนีย์สถาน
สร้างมานานไม่น้อยร้อยวัสสาน์
พระมารวิชัยคร่ำปรัมปรา
สถิตสถาปนสถูปสถาพร
ปะปูนปิดสนิทหนาราดทารัก
พระเกตุหักพระฐานแหว่งแสร้งสังหรณ์
เชิญช่างชูปูรณะรูปะปกรณ์
ช่างอุทธรณ์พระในนี้มีอีกองค์
เราะปูนรัดขัดถูทำชำระรัก
ผ่องผิวพักตรพรรณพินิจพึงพิศวง
เป็นทองคำสัมฤทธิ์พิจิตรผจง
ลำยองยงสิบแปดกะรัตมหัศจรรย์

หน้าตักตั้งกว้างยี่สิบสี่นิ้ว
พริ้มเพราพริ้วพรายเพริศเฉิดฉายฉัน
ทวยราษฎร์รู้ตะโกนกู่ตระกองกัน
เนืองอนันต์มาน้อมมนัสนมัสการ
ช่างเปลื้องเชื่องเชาวน์ชัดแนะทัศนะ
ว่ารุ่นพระวัดไตรมิตรสันนิษฐาน
กับวัดหงส์ตรงแม่นแม้นอนุมาน
คำนวณกาลนานไม่น้อยเจ็ดร้อยปี
สิบแปดพุทธศตพรรษรัชสมัย  
สุโขทัยรุ่นสองทองสุกสี
ชำเนียรชำนาญการดูด้วยรู้ดี
เน้นกรณีย์จำแนกชนิดควรคิดคำ
ทวนทิพย์พะยานท่านพูนพิศมัย
แวะมาไหว้ภิปรายสรุปคุณูปถัมภ์
ทายถูกถ่องมิต้องเถียงทัดเที่ยงธรรม
พ้องพจน์พร่ำคำช่างพระพยากรณ์
ท่านท่องทัศน์วัดไตรมิตรพิศวัดหงส์
ทั้งสามองค์เอกพิสุทธิ์อนุสรณ์
ซึ้งทรงจำซ้ำวิจารณ์จิรกาลก่อน
การซุกซ่อนพระงามงามเพราะความเมือง
ถวิลหลังหวังหวั่นเกิดระเบิดอุบาทว์
ประวัติศาสตร์อาจซ้ำรอยคอยซ้อนเรื่อง
ยุคอยุธยายับแค้นคับเคือง
ทองหล่อทองเหลืองถูกเลหลังทั้งทองแท้
ยอดนพปฏลมณฑารพมณฑปสถูป 
พระพุทธรูปพระทองคำสัมฤทธิ์แร่
อรินทร์ริบริปูบาตรเพราะชาติแพ้
เกินกันแก้กู้กับใครภัยสงคราม
บรเบียนบีฑ์กลีบุกซุกซ่อนสิน
ฝังฝากดินด้วยประดาบด้านหาบหาม
เป็นทรัพยสาธารณะนีรนาม
เจ้าของตามตอนไม่ทันชีวันตราย
เป็นลมล่มล้มลาญเหล่าหลานลูก
หาไม่ถูกเหตุไม่ทำจุดจำหมาย
เลยลี้ลับทับถมจมดินทราย
มีมูลรากมากรายแหล่งลายแทง


จากพระพุทธรูปปูนปั้นถึงพระพุทธรูปดีบุก
ที่ใหญ่ที่สุดในโลก  วัดพระนางสร้าง


 วัดพระนางสร้าง  อ.ถลาง เป็นวัดประจำเมืองถลางมาตั้งแต่สมัยอยุธยา เป็นวัดที่เคยเป็นฐานตั้งรับข้าศึกพม่าเมื่อ พ.ศ.๒๓๒๘ ในวัดมีพระอุโบสถเก่าแก่มีพระพุทธรูปปูนปั้น ๔ องค์  ได้แก่ พระประธานองค์ใหญ่สุดและรองลงไปอีก ๒ องค์ เป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัยด้านหลังสุดเป็นพระพุทธไสยาสน์
 เมื่อปี ๒๕๒๖ ทางวัดและจังหวัดภูเก็ตได้เปิดกรุวัดพระนางสร้างโดยการเจาะพระพุทธรูป ๓ องค์ ได้พบพระพักตร์พระพุทธรูปที่ทำจากดีบุกในพระอุทรองค์กลาง วัดขนาดกว้างจากพระกรรณซ้ายถึงพระกรรณขวาได้ ๒๘ เซ็นติเมตร ความสูงจากยอดพระเศียรถึงพระศอได้ ๔๐ เซ็นติเมตร หางพระเนตรซ้ายขวาห่างกัน ๒๘ เซ็นติเมตร ริมพระโอษฐ์ซ้ายขวาห่างกัน ๑๑ เซ็นติเมตร ปลายสันพระนาสิกสูง ๕ เซ็นติเมตร และจากพระพุทธรูปองค์ซ้ายและขวาก็พบพระพักตร์พระพุทธรูปดีบุก พระพักตร์มีขนาดกว้าง ๒๗ เซ็นติเมตร ส่วนสูงจากยอดพระเศียรถึงพระอังสา ๔๐ เซ็นติเมตร ริมพระโอษฐ์ซ้ายขวาห่างกัน ๙ เซ็นติเมตร หางเบ้าพระเนตรซ้ายขวาห่างกัน ๑๖ เซนติเมตร พระพักตร์พระรูปดีบุกที่ขุดเจาะพบในวัดพระนางสร้างนี้       เจ้าหน้าที่จากกรมศิลปากรให้ความเห็นเบื้องต้นว่า เป็นพระพุทธรูปในสมัยกรุงศรีอยุธยาอายุประมาณ ๒๕๐ ปี และขณะที่เจาะพระพุทธรูปได้เรียกพระพุทธรูปนี้ว่า “พระพุทธสามกษัตริย์”


 ส่วนพระพุทธรูปปูนปั้นที่หุ้มพระพุทธรูปดีบุกอยู่นั้น สันนิษฐานว่าเป็นฝีมือของช่างสกุลถลางปั้นหุ้มพระพุทธรูปองค์จริงไว้เพื่อป้องกันภัยสงครามข้าศึกพม่า ที่ชอบมาปล้นเอาทรัพย์สินและดีบุกจากเมืองถลาง ในยุคสงครามพม่า

 


พระผุด วัดพระทอง อ.ถลาง จ.ภูเก็ต
   
 พระผุดหรือพระทองเป็นพระพุทธรูปที่มีองค์เพียงครึ่งท่อน คือผุดขึ้นจากพื้นดินเพียงพระอุระ  ประดิษฐานอยู่ที่วัดพระทอง ตำบลเทพกระษัตรี อำเภอถลาง จังหวัดภูเก็ต ซึ่งวัดพระทองนี้เป็นวัดเก่าแก่ในอำเภอถลาง

 ประวัติความเป็นมาของพระผุดและวัดพระทองนี้เป็นแต่เพียงคำบอกเล่าหรือตำนานที่เล่าต่อ ๆ กันมาว่า เดิมบริเวณวัดเป็นทุ่งกว้างสำหรับเลี้ยงสัตว์ ชาวบ้านเรียกทุ่งแห่งนี้ว่า “ทุ่งนาใน” กาลครั้งหนึ่งเกิดพายุฝนน้ำหลาก พอน้ำแห้งก็มีพระพุทธรูปผุดขึ้นแค่เศียรขึ้นในบริเวณนั้น ในเวลานั้นมีเด็กเลี้ยงควายคนหนึ่งนำควายไปเลี้ยงบริเวณทุ่งแห่งนั้น ได้นำเอาเชือกล่ามควายไปผูกไว้กับเศียรพระซึ่งโผล่ขึ้นมาจากพื้นดิน โดยเด็กเข้าใจว่าเป็นตอไม้หรือกิ่งไม้ ผูกควายให้กินหญ้าแล้วเด็กก็กลับไปบ้าน พอถึงบ้านเด็กก็เกิดเป็นลมปัจจุบันจนสิ้นชีวิต ควายที่กลางทุ่งก็ตายไปด้วย  พอตกกลางคืนพ่อของเด็กคนนั้นก็ฝันไปว่า ที่เด็กตายก็เพราะนำเอาเชือกล่ามควายไปผูกกับเศียรพระพุทธรูป

 จนกระทั่งรุ่งเช้าพ่อของเด็กก็ชวนเพื่อนบ้านไปยังที่ดังกล่าว ต่างก็ช่วยกันเอาน้ำมาล้างเศียรพระที่โผล่พระเกตุขึ้นมานั้น ขัดสีเอาโคลนตมที่ติดอยู่ออก จึงเห็นเป็นลักษณะเหมือนเกศพระพุทธรูป และเป็นทองคำ ชาวบ้านแตกตื่นพากันมาสักการะ และได้ไปเรียนให้เจ้าเมืองทราบ เมื่อเจ้าเมืองมาก็ได้สั่งให้ผู้คนช่วยกันขุดเอาพระขึ้นมาทั้งองค์ แต่ไม่สำเร็จ เนื่องจากได้เกิดเหตุอัศจรรย์มีตัวต่อตัวแตนขึ้นมา เจ้าเมืองจึงสั่งให้ทำโรงมุงหลังคา เพื่อให้คนได้มากราบไหว้สักการะบูชา เนื่องจากการพบพระพุทธรูปองค์นี้มีลักษณะคล้ายๆ กับผุดขึ้นมาจากพื้นดิน  ชาวบ้านคนไทยถลางจึงเรียกว่า

 “พระผุด”

 คนจีนเรียกพระผุดองค์นี้ว่า “ภู่ปุ๊ค (พู่ฮุก)” เพราะว่าคนจีนส่วนมากนับถือกันว่า พระผุดนี้มาจากเมืองจีน โดยมีตำนานเล่าว่า ราว ๒,๐๐๐ ปีโดยประมาณ พวกธิเบตได้โจมตีเมืองเซี่ยงไฮ้  เมืองนี้มีพระพุทธรูป ๓ องค์ โดยตระกูลเจ้าเมืองสามพี่น้องเป็นผู้สร้าง องค์พี่ครองเมืองมา ๒๕ ปี ไม่มีพระมเหสี ครั้นสวรรคตเจ้าเมืององค์น้องที่ ๒ ก็ขึ้นปกครองเมือง เก็บเอาทองคำทั้งหมดเทเป็นองค์พระพุทธรูปไว้บูชาแทนตัวพระเชษฐา เจ้าเมืององค์ที่ ๒ หล่อเป็นพระพุทธรูปอีกองค์ใหญ่กว่าพระพุทธรูปองค์แรก ซึ่งก็เป็นพระพุทธรูปองค์กลาง เจ้าเมืององค์ที่ ๓ เสวยราชย์อยู่ได้ ๘ ปีก็สวรรคต เจ้าเมืองที่สืบบ้านเมืองต่อมาก็หาทองคำมาหล่อเป็นพระพุทธรูปทองคำองค์ใหม่ซึ่งเป็นพระพุทธรูปองค์ใหญ่ที่สุด

 ในการศึกครั้งนั้นพวกธิเบตได้นำเอาพระพุทธรูปองค์โตที่สุดลงเรือพามาทางทะเลจีนจะข้ามไปมหาสมุทรอินเดียเพื่อจะไปประเทศธิเบต เรือถูกพายุพัดจมลงและถูกดินทรายฝังกลบ เมื่อฝนตกหนักน้ำเซาะจึงปรากฏพระเกตุมาลาโผล่ขึ้น ส่วนองค์พระนั้น คงอยู่ใต้ดิน จึงเรียกว่า “หลวงพ่อพระผุด” อนึ่งคนจีนบางคนเชื่อว่าพระผุดเป็นพระพุทธรูปที่ชาวธิเบตขโมยมา เป็นพระพุทธรูปองค์กลางจึงเรียกชื่อว่า “กิ้มมิ่นจ้อ”

 ในสมัยหนึ่งได้มีชีปะขาวรูปหนึ่งเดินทางมาพักที่เมืองถลาง รู้ว่ามีพระพุทธรูปทองคำผุดอยู่กลางทุ่งนา  เกรงว่าขโมยจะมาตัดพระเกตุมาลาไปขาย เลยชักชวนชาวบ้านทำปูนขาว โดยเอาเปลือกหอยมาเผาไฟ ได้ผงปูนผสมกับทรายโบกทับพระเกตุมาลาไว้

 ต่อมาเมื่อครั้งศึกพม่าเข้ามาตีเมืองถลาง และรู้ว่ามีพระพุทธรูปทองคำอยู่ ณ ทุ่งแห่งนั้น จึงได้รื้อปูนขาวออก ขุดหลวงพ่อพระผุด แต่เกิดเหตุมหัศจรรย์คือมีมดคันขึ้นมาจากพื้นดินมากมาย เล่ากันว่ากลุ่มมดเหล่านั้นมีขนาดโตเท่าลำตาล เข้ากัดพวกพม่า พม่าคนใดถูกมดคันกัดจะเป็นไข้ล้มตาย พม่าจึงเอาไฟเผามด พอมดตายหมดดินกลับร้อน พม่าขุดไม่ได้ พม่าก็ให้คนไทยเอาน้ำมารดดิน พอดินเย็นลงก็ขุดอีก ขุดลงไปจนถึงพระศอ ก็เห็นว่ามีลักษณะสวยงามมาก พอดีกับทางเจ้าเมืองนครศรีธรรมราชยกทัพมาช่วยเมืองถลาง พม่าจึงละทิ้งหลวงพ่อพระผุดลงเรือหนีกลับไป  ในปีเดียวกันนั้นเองได้มีพระธุดงค์รูปหนึ่งเดินธุดงค์มาจากเมืองสุโขทัยมาปักกลดอยู่ที่บริเวณนั้น ได้เห็นหลวงพ่อพระผุด ท่านเกรงว่าโจรผู้ร้ายจะมาตัดไปขาย จึงคิดสร้างวัดขึ้น มีเจ้าอาวาสคือ “หลวงพ่อสิงห์” เป็นเจ้าอาวาสรูปแรก ท่านได้ชักชวนให้ชาวบ้านสร้างกุฏิ อุโบสถ และวิหาร ครั้นสร้างเสร็จท่านก็ได้อัญเชิญหลวงพ่อพระผุดเป็นพระประธานในอุโบสถ แล้วก่อสวมเป็นพระพุทธรูปให้สูงขึ้น เพื่อสะดวกแก่กิจกรรมของสงฆ์ การก่อสวมในสมัยนั้นก่อสูงขึ้นมาจากพระอุระและพระพักตร์เท่านั้น ซึ่งกล่าวได้ว่าเป็นพระพุทธรูปในสกุล”ช่างถลาง”

 เมื่อวัดได้ผูกพัทธสีมาเรียบร้อยแล้วก็เรียกกันว่า “วัดนาใน” บ้าง วัด “พระผุด” บ้าง “วัดพระหล่อคอ” บ้าง เมื่อท่านสร้างวัดเรียบร้อยแล้ว ท่านก็ผูกเป็นปริศนาลายแทงขึ้นไว้ด้วยแรงอธิษฐานว่า “ยัก ๓ ยัก ๔ หามผีไปเผา ผีไม่ทันเน่า หอมฟุ้งตรลบ ผู้ใดคิดสบ ให้เอาที่กบปากแดง” ปริศนานี้ว่ากันว่าเจ้าอาวาสรูปหลัง ๆ ต้องแก้ให้ได้ ถ้าแก้ไม่ได้ก็จะอยู่วัดนี้ได้ไม่นาน ซึ่งนับตั้งแต่หลวงพ่อสิงห์แล้วมีเจ้าอาวาสต่อมาเพียง ๑๔ รูป คือ หลวงพ่อไชย หลวงพ่อคง หลวงพ่อมั่น หลวงพ่อพัด หลวงพ่อวร หลวงพ่อชุม หลวงพ่อโต หลวงพ่อวอน หลวงพ่อเขม หลวงพ่อพุธ หลวงพ่อรอด หลวงพ่อช่วย หลวงพ่อไชยศรี และหลวงพ่อฝรั่ง (พระครูวิตถารสมณวัตร์) เจ้าอาวาส ๑๓ รูปแรก ไม่มีพระรูปใดแก้ปริศนาได้ อยู่จำพรรษาได้ไม่นาน บางรูปก็อยู่ได้แค่เดือนเศษ ๆ ในที่สุดวัดนี้ก็ร้าง และลือกันว่า “พระผุดกินสมภาร” หาพระมาอยู่ไม่ได้วัดก็ร้างกลายเป็นป่าขมิ้น มีต้นไม้ใหญ่ขึ้น กุฏิ วิหาร ศาลาการเปรียญก็ผุพังไป เหลือแต่หลวงพ่อพระผุดที่พอกปูนไว้ นอกนั้นก็ไม่มีอะไรเหลือ ขมิ้นขึ้นเต็มไปหมด วัดต่าง ๆ ในจังหวัดภูเก็ต พังงา เมื่อจะย้อมผ้าเหลืองก็มาเอาขมิ้นที่วัดนี้และเมื่อถึงเทศกาลตรุษจีน ชาวจีนก็จะมาช่วยถากถางกันครั้งหนึ่งเพื่อไหว้พระผุด  หลังจากเทศกาลก็ปล่อยให้รกร้างตามเดิม คำบอกเล่าอีกเรื่องหนึ่งคือ ในสมัยที่วัดเป็นป่ารกได้มีช้างของเจ้าเมืองมาแทงองค์พระผุด อยู่มาไม่นานช้างเชือกนั้นก็ถึงแก่ความตาย

 เมื่อปี พ.ศ. ๒๔๔๐ พระครูวิตถารสมณวัตร์ (หลวงพ่อฝรั่ง) วัดพระนางสร้าง ได้พยายามขบคิดปริศนา “ยัก ๓ ยัก ๔ หามผีมาเผา ผีไม่ทันเน่า หอมฟุ้งตรลบ ผู้ใดคิดสบให้เอาที่กบปากแดง” แก้ว่า “ยัก ๓ ยัก ๔” ได้แก่ ศาลเจ้าต่าง ๆ ใน ภูเก็ต พังงา กระบี่ พากันมาทำพิธีในเทศกาลตรุษจีนทุกปี ด้วยการอัญเชิญเจ้าประจำศาลให้เข้าประทับทรงเข้าขบวนแห่แหนมายังวัดพระทอง เพื่อนมัสการหลวงพ่อผุด เมื่อขบวนแห่ถึงวัดพระทองแล้วก็จะทำทักษิณาวรรตรอบอุโบสถ ๓ รอบ การที่ขบวนแห่ทำทักษิณาวรรตรอบอุโบสถนั้น เขาทำไม่เหมือนวันวิสาขบูชา มาฆบูชา แต่จะทำทักษิณาวรรตแบบ ๔ คนหามเกี้ยวรอบอุโบสถ ๓ รอบ แบบยักไปยักมา ๓ รอบ หลวงพ่อท่านแก้ว่า ได้แก่ยัก ๓ ยัก ๔ หามผีมาเผา ผีไม่ทันเน่าหอมฟุ้งตรลบ” แก้ว่าในเวลาขบวนแห่มานั้นจะมีคนหามไม้จันทน์ ไม้จวง ไม้บริแหวนมาด้วย ไม้เหล่านั้นยังสด ๆ ถูกไฟติดก็มีควันหอมฟุ้งตลบไปทั้งวัด ส่วน “ผู้ใดคิดสบให้เอาที่กบปากแดง” ตอนนี้หลวงพ่อแก้ว่า ผู้ใดคิดสบก็คือ ผู้ใดคิดพบให้เอาที่กบ กบก็คือ ทองคำ คือให้ปรารถนาเอาที่หลวงพ่อพระทอง หลังจากแก้ปริศนาแล้วท่านก็ได้มาจำพรรษาที่วัดพระทองในปี พ.ศ. ๒๔๔๐ ในครั้งนั้นอายุหลวงพ่อได้ ๒๓ ปีเท่านั้น ท่านได้บูรณะวัดนี้อย่างจริงจัง วัดได้เจริญก้าวหน้าตลอดมา  ท่านจำพรรษาอยู่ถึง ๖๑ พรรษา และมรณะภาพเมื่อปี พ.ศ. ๒๕๐๑ อายุรวมได้ ๘๔ ปี

 ในการปฏิสังขรณ์วัดพระผุดในสมัยนั้น คนจีนและคนไทยได้ให้ความร่วมมือช่วยเหลือเป็นอย่างดี เพราะวัดนี้หาพระยาก พระกลัวตายไม่มีใครกล้ามาอยู่ เมื่อหลวงพ่อไปจำพรรษาที่วัดพระผุดแล้ว ท่านจัดการทำอุโบสถใหม่โดยเถ้าแก่เมืองปีนังเป็นผู้ออกเงินให้ก่อสร้าง สำหรับพระพุทธรูปครึ่งองค์นี้ หลวงพ่อได้เรียกนายช่างมาจากเมืองปีนัง ให้ก่อปูนสวมเป็นครั้งที่ ๓ ก่อนที่ท่านจะทำการก่อปูนสวมทับหลวงพ่อพระผุดท่านบอกว่า ท่านได้ทดลองด้วยตัวเองแล้วคือขุดดินลงข้างหลังรูปหลวงพ่อพระผุดกว้างประมาณ ๒ ศอก ลึก ๒ เมตร ขุดในตอนกลางคืน พอขุดลึกลงไป ๒ เมตร แล้วคิดจะพังดินเข้าไปดู แต่ทำไม่ได้เพราะดินที่ขุดลงไปนั้นเป็นดินทราย กลัวรูปเก่าหลวงพ่อผุดจะพังทับ  ท่านได้ใช้วิธีหาเหล็กมาตีเป็นปากจิ้งจก แล้วใช้ไม้ตอก เข้าไปชนของแข็ง ตอกจนเหล็กนั้นงอ จึงเอาเหล็กนั้นออกมานำไปให้ช่างทองที่ภูเก็ตพิสูจน์ดู ช่างทองบอกว่าเป็นทองคำเนื้อดี ช่างทองแนะให้เอาทองไปขายมาสร้างวัด เมื่อท่านทราบดังนั้นจึงให้ช่างเมืองปีนังเป็นผู้ก่อปูนสวมหลวงพ่อไว้ครึ่งองค์

 ในสมัยพระบาทสมเด็จ พระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๖ ขณะดำรงพระยศเป็นพระบรมโอรสาธิราชได้เสด็จประพาสจังหวัดภูเก็ต ได้เสด็จทอดพระเนตรพระผุด พระองค์ได้ทรงพระราชวิจารณ์ไว้ว่า “การก่อพระพุทธรูปสวมพระผุดนี้ ก่อด้วยอิฐถือปูน มีแต่พระเศียรกับพระองค์เพียงแค่ทรวง เพื่อให้ดูเหมือนผุดขึ้นจากพื้นดิน ฝีไม้ลายมือทำก็กระนั้นแหละ แต่ต้องชมว่าเขากล้า มีคนน้อยนักที่จะกล้าพระเล่นครึ่งองค์เช่นนี้ เพราะฉะนั้นต้องยอมรับว่า เป็นของคู่ควรดูอย่างยิ่ง” ต่อจากนั้นพระบรมโอรสาธิราชได้พระราชทานนามวัดนี้ว่า “วัดพระทอง”


หลวงพ่อนอกวัด วัดฉลอง
(วัดไชยธาราราม)       

 

 วัดฉลองแต่เดิมมานั้นได้สร้างอยู่ทางทิศเหนือของวัดฉลองปัจจุบันและในการสร้างวัดครั้งนั้นได้สร้างพระประธานขึ้นไว้องค์หนึ่งทางทิศตะวันออกของบริเวณวัด แล้วสร้างวิหารด้วยวัสดุที่หาได้จากป่าและทุ่งนาแบบง่าย ๆ (พระประธานองค์นี้ต่อมาเรียกว่า “หลวงพ่อนอกวัด” เพราะมีการย้ายสถานที่ตั้งมาอยู่ที่ใหม่) หลวงพ่อนอกวัดเป็นพระพุทธปฏิมากรที่สร้างขึ้นในสมัยเจ้าอาวาสวัดฉลององค์แรก ซึ่งชาวบ้านเรียกว่า “พ่อท่านเฒ่า” ปัจจุบัน หลวงพ่อนอกวัดยังประดิษฐานอยู่ในวิหารดั้งเดิม เพียงแต่ได้บูรณะปฏิสังขรณ์ให้มั่นคงแข็งแรงและสวยงามตามลำดับกาลเวลา

 พ่อท่านเฒ่า (ก่อน พ.ศ. ๒๓๗๐) เป็นอาจารย์ทางวิปัสนาธุระของหลวงพ่อแช่ม แต่เมื่อพ่อท่านเฒ่ามรณภาพแล้ว หลวงพ่อแช่มก็รับภาระเป็นเจ้าอาวาสวัดฉลอง (พ.ศ.๒๓๙๓ - ๒๔๕๑)


พระพุทธไสยาสน์ 
วัดเกาะสิเหร่ อ.เมือง จ.ภูเก็ต

 

 พระพุทธไสยาสน์องค์นี้ได้สร้างขึ้นระหว่างปี พ.ศ.๒๕๐๓ - ๒๕๐๖ โดยมีหลวงพ่อสุภาเป็นหัวเรี่ยวหัวแรงใหญ่ องค์พระนอนมีความยาว ๑๙ เมตร สูง ๕ เมตร ส่วนพระเนตรประกอบด้วยมุกและเงิน มีน้ำหนักถึง ๑๔ กิโลกรัม พระพุทธรูปองค์นี้ประดิษ-
ฐานอยู่บนยอดเขาวัดเกาะสิเหร่


พระพุทธรูปวัดป่าสัก

 วัดป่าสักเป็นวัดร้าง อยู่ที่ตำบลเทพกระษัตรี อำเภอถลาง ตามเส้นทางถนนศรีสุนทรแยกไปถนนจอมเฒ่า ผ่านโรงเรียนเชิงทะเลวิทยาคม แยกไปบ้านดอน ในวัดมีพระพุทธรูปปูนปั้นสกุลช่างถลางประดิษฐานเรียงกันอยู่ ๓ องค์ องค์กลางมีขนาดใหญ่ที่สุด หน้าตักกว้าง ๑๕๐ ซม. สูง ๔๐๐ ซม. องค์ข้าง ๒ องค์ มีหน้าตักกว้าง ๑๐๖ ซม. สูง ๓๐๐ ซม. สร้างเมื่อ พ.ศ. ๒๕๐๔ พระพุทธรูปทั้งสามองค์ ศาลาสร้างขึ้นจากเสา ๑๕ เสา หลังคามุงสังกะสี สภาพชำรุด (เพราะ ขาดการซ่อมแซมมาหลายปี)

 
< ก่อนหน้า   ถัดไป >

News

สมุดภาพเหมืองแร่

Counter

mod_vvisit_countermod_vvisit_countermod_vvisit_countermod_vvisit_countermod_vvisit_countermod_vvisit_countermod_vvisit_countermod_vvisit_countermod_vvisit_counter
mod_vvisit_counterวันนี้1282
mod_vvisit_counterเมื่อวาน2580
mod_vvisit_counterทั้งหมด10706027