Skip to content

Phuketdata

default color
Home arrow Search
ประติมากรรมจีนในภูเก็ต PDF พิมพ์ อีเมล์
เขียนโดย ปาณิศรา ชูผล มทศ.   
อาทิตย์, 10 กุมภาพันธ์ 2008

ประติมากรรมพระจีนในจังหวัดภูเก็ต

 

 พระจีนเป็นรูปสัญลักษณ์เทพเจ้าแทนความหมายที่ศักดิ์สิทธิ์ เป็นที่เคารพของชาวภูเก็ต  โดยเฉพาะคนภูเก็ตที่มีเชื้อสายจีนส่วนใหญ่ การให้ความเคารพต่อพระจีนเหล่านี้จะมีศูนย์รวมจิตใจอยู่ที่ศาลเจ้า  ซึ่งผู้ที่มาตั้งรกรากอยู่ในภูเก็ตรุ่นแรก ๆ ได้นำเอาประเพณีแห่งความเชื่อถือศรัทธาต่อพระจีนนี้มาจากเมืองจีนอีกทอดหนึ่ง

 พระจีนที่เป็นที่เคารพเชื่อถือและศรัทธา เชื่อกันว่ามาจากคนจริง ๆ ในสมัยก่อนเป็นขุนศึกหรือขุนนางที่รับราชการและทำความดีแก่บ้านเมือง เมื่อตายไปก็ได้รับการแต่งตั้งยศเป็นพระต่าง ๆ ให้คนได้เคารพจึงได้มีการสร้างประติมา กรรมประเภทรูปเคารพด้วยวิธีการแกะสลักและวิธีปั้นเพื่อเป็นเคารพบูชาและช่วยคุ้มครองให้อยู่เย็นเป็นสุข มีความเจริญก้าวหน้าในหน้าที่การงาน พระจีนเหล่านี้จะประดิษฐานอยู่ที่บ้านและศาลเจ้าอันเป็นสถานที่ศักด์สิทธิ์ เช่น ศาลเจ้าจุ้ยตุ่ย ศาลเจ้ามูลนิธิเทพราศี และศาลเจ้ากะทู้ เป็นต้น

 ประติมากรรมพระจีนซึ่งประดิษฐ์ไว้ที่ศาลเจ้าในจังหวัดภูเก็ต มีชื่อดังต่อไปนี้

  ๑. มาจ๋อโป๋
  ๒. พระส่ามหู่อ่องเอี๋ย
  ๓. พระเฮี้ยนเทียนซ่งเต
  ๔. พระโกยเซ่งอ๋อง
  ๕. พระทอฮู่หง่วนโส่ย
  ๖. พระลี้โหล่เซี้ย
  ๗. เทพกวนอูหรือเต้กุน
  ๘. เจ้าแม่กวนอิม
  ๙. พระเอี้ยวเจี้ยน
 ๑๐. ปุ่นเถ้าก่ง
 ๑๑. พระเตียวเทียนซือ
 ๑๒. พระจอสู่ก๋ง
 ๑๓. เห้งเจีย
 ๑๔. พระเตี๋ยนหู้หง่วนโส่ย

 


 ๑. มาจ๋อโป๋ หรือเจ้าแม่ย่านาง  เป็นเทพคุ้มครองทะเล  ชาวเรือให้ความนับถือมาก ลักษณะของประติมากรรมจะมีอิริยาบถในท่านั่ง สวมเครื่องแบบขุนนาง มีใบหน้าสีชมพู มือถือจ๊าวป๊างไว้ทั้ง ๒ มือ ลักษณะการสร้างช่างจะคิดแบบตามจินตนาการของตน ซึ่งต้องอาศัยแบบจากประวัติหรือตำนาน จะมีส่วนคล้ายเหมือนกับการสร้างพระพุทธรูปของไทย คือ ช่างไทยมิได้ยึดรูปพระองค์จริงของพระพุทธเจ้า หากแต่สร้างขึ้นตามอุดมคติของศิลปิน การมีใบหน้าสีชมพู มีความหมายคล้ายกับการใช้สีที่เป็นสิริมงคล (พรพรรณ จันทโรนานนท์ ๒๔๔๐ : ๗) สีชมพูแสดงถึงความมียศศักดิ์ โชคลาภ และความอุดมสมบูรณ์เป็นสีแห่งธาตุไฟ ซึ่งช่างผู้สร้างใช้สีตามจินตนาการจากประวัติของมาจ๋อโป๋ที่เล่าสืบต่อกันมา

 ๒. พระสามหู่อ่องเอี๋ย นั่งบนเก้าอี้ใส่เครื่องแบบและรองเท้าขุนนางมีใบหน้าสีแดง หนวดยาวสีดำ มือซ้ายวางบนตัก มือขวาถือยศประจำตำแหน่งระดับหน้าอก ซึ่งยศประจำตำแหน่งเรียกว่า จั้นกะ มีสิงโต เป็นของวิเศษคู่กาย มีลักษณะท่านั่ง และมือขวายกขึ้นระดับหน้าอกเหมือนกับพระพุทธรูปปางปัจเวกขณ์ ซึ่งอยู่ในพระอิริยาบถนั่งขัดสมาธิ พระหัตถ์ซ้ายประคองบาตร

 ๓. พระเฮี๋ยนเที้ยนส่งเต จากการศึกษาลักษณะประติมากรรมพบว่า ยืนบนก้อนหิน ไม่สวมรองเท้า เท้าเหยียบบนงูและเต่า ซึ่งถือเป็นสัตว์ประจำกาย มือขวาถือดาบเป็นอาวุธ มือซ้ายยกขึ้นระดับหน้าอกชูนิ้วชี้ขึ้น มีใบหน้าสีแดง การสร้างช่างจะจินตนาการจากประวัติที่มีการเล่าสืบต่อกันมา เหมือนกับการปั้นตุ๊กตาจีน    (จิตรา  ก่อนันทเกียรติ ๒๕๔๐ : ๓๐) ซึ่งช่างปั้นจะคิดแบบหรือตัวละครโดยอาศัยแรงบันดาลใจจากบรรดาตัวละครในเทพนิยายหรือ ตำนาน เช่น ไซอิ๋ว สามก๊ก และฉวนบู้หลัน เป็นต้น ในส่วนของอิริยาบถท่ายืนไม่เหมือนกับพระพุทธชินราช ซึ่งเป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัย จะอยู่ในอิริยาบทนั่งขัดสมาธิ ส่วนใบหน้าของพระเฮี๋ยนเที้ยนส่งเตแสดงอาการดุดัน มีดวงตาโต ต่างกับพระพักตร์ของพระพุทธชินราช ที่มีพระพักตร์อูมอิ่มยิ้มละไม

 ๔. พระโกยเซ่งอ๋อง  อิริยาบถอยู่ในท่านั่ง ใส่เครื่องแบบและรองเท้าขุนนาง มีใบหน้าสีแดง ใบหน้าขรึม ดวงตากลมโต ดุดัน ไม่มีหนวด มีสิงโตเป็นสัตว์ประจำกาย มีอิริยาบทคล้ายกับพระพุทธรูปพระศรีศากยมุนี ซึ่งเป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัย นั่งขัดสมาธิราบ พระพักตร์มีลักษณะยิ้มละไม บางขณะก็ดูคล้ายเคร่งขรึมเหมือนกับเซ่งอ๋อง ซึ่งอยู่ในท่านั่ง มีใบหน้ายิ้มแย้ม ใบหน้าเกลี้ยงเกลา

 ๕. พระทิฮู่หงวนโส่ย อยู่ในท่านั่งบนเก้าอี้ ไม่สวมรองเท้า มีใบหน้าสีดำ ดวงตาโตหนวดเคราและผมยาวมาก เท้าทั้งสองข้างเหยียบล้อไฟ มือขวากุมขวานเป็นอาวุธ มือซ้ายยกขึ้นอยู่ระดับหน้าอก มีงูพันคอเป็นสัตว์ประจำกาย ใบหน้าสีดำ มีลักษณะแตกต่างกับพระพุทธอนันตคุณ ซึ่งเป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัย สมัยรัตนโกสินทร์ มีพระพักตร์อวบอิ่ม พระวรกายไม่นิยมเน้นกล้ามเนื้อ

 ๖. พระลี้โหล่เซี้ย ใส่เครื่องแบบและรองเท้าขุนนาง หน้าตาเกลี้ยงเกลา ไม่มีหนวด มือซ้ายถือห่วง มือขวาชูขึ้นถือหอกแหลม และเท้าซ้ายเหยียบล้อไฟ อยู่ในท่ายืน มีลักษณะเหมือนกับพระพุทธรูปปางห้ามสมุทรหรือปางห้ามญาติ อยู่ในอิริยาบทยืน พระหัตถ์ทั้งสองยกขึ้นเสมอพระอุระ เป็นกิริยาทรงห้าม ส่วนใบหน้าที่เกลี้ยงเกลาไม่เคร่งขรึม มีส่วนคล้ายกับพระพุทธชินสีห์ ซึ่งเป็นพระประธานในวัดบวรนิเวศวิหาร ซึ่งมีพระพักตร์อ่อนหวาน พระเนตรเพ่งมองไปข้างหน้า

 ๗. เทพกวนอูหรือเต้กุ้น พบว่าอิริยาบทอยู่ในท่านั่ง โดยมือซ้ายถือหนังสือ ซุ้นซิ่ว คือ ตำราฤดูกาล มีใบหน้าสีแดงและดุดัน มีหนวดยาว ลักษณะของเทพกวนอูในศาลเจ้าจุ้ยตุ่ย มีลักษณะสูงใหญ่ มีใบหน้าสีแดง มีอาวุธคือง้าว เหมือนกับลักษณะตัวละครในวรรณคดีสามก๊กของยาขอบ (๒๕๓๙ : ๓๗๖) คือ มีลักษณะเป็นชายชาตรี มีใบหน้าสีแดง สูง ๖ ศอก มีง้าวเป็นอาวุธ และมีส่วนคล้ายกับลักษณะของกวนอู ซึ่งประยงค์ อนันทวงศ์ (๒๕๓๘:๔๐) ได้กล่าวไว้คือกวนอู มีรูปร่างสูง ๖ ศอก หนวดยาวประมาณศอกเศษ ปากแดงหน้าแดง ใช้ง้าวเป็นอาวุธ แต่ไม่เหมือนกับลักษณะการปั้นตุ๊กตาจีน ซึ่ง จิตรา ก่อนันทเกียรติ (๒๕๔๐:๓๐) บอกถึงกวนอูชื่นชอบการขี่ม้าการปั้นจึงมีลักษณะเทพกวนอูขี่ม้าและต้องเป็นสีแดง

 ๘. เจ้าแม่กวนอิม พระโพธิสัตว์กวนอิม ในอ๊ามกะทู้ พบว่า ทรงชุดขาว มีแต้มจุดแดงที่พระนลาฏ มือขวาถือขวดน้ำมนต์ มือซ้ายประทานพร มีใบหน้าอวบอิ่ม เพราะท่านถือศีลกินเจโดยอิริยาบถเป็นปางประทับยืน มีฐานเป็นมังกรรองรับ ลักษณะพระหัตถ์ซ้ายประทานพรเหมือนกับลักษณะการยกพระหัตถ์ของพระพุทธรูปปางประธานโอวาท ซึ่งพระหัตถ์ทั้งสองยกขึ้น จีบนิ้วพระหัตถ์ไว้เสมอพระอุระ ถือเป็นกิริยาประทานโอวาท ใบหน้าจะมีส่วนเหมือนกับตุ๊กตาจีน ซึ่ง จิตรา ก่อนันทเกียรติ (๒๕๔๐:๔๐) กล่าวว่าช่างปั้นจะนิยมปั้นแบบทรงชุดขาว มีแต้มจุดแดงที่พระนลาฏ มีขวดน้ำมนต์ และแบบที่นิยมปั้นจะมีทั้งอิริยาบถ ปางประทับยืนและปางนั่งสมาธิซึ่งในอ้ามปุดจ้อ เจ้าแม่กวนอิมจะประทับยืน

 ๙. พระเอี้ยวเจี้ยน อยู่ในท่ายืนยกเท้าขวา มือขวาถือหอกยาว ใบหน้าสีชมพูเข้ม สีหน้าเคร่งขรึม มี ๓ ตา มีหมาเป็นสัตว์คู่กาย ฐานรองมีลายมังกรประดับ ลักษณะท่ายืนเหมือนกับหลวงพ่อโตวัดอินทร์ ซึ่งเป็นปางอุ้มบาตร และมีใบหน้าเคร่งขรึม

 ๑๐. ปุ่นเถ้าก๋ง ถือเป็นเทพประจำท้องถิ่น ลักษณะจะไม่เหมือนกันในทุกศาลเจ้า มีทั้งที่แต่งกายแบบขุนนางฝ่ายบุ๋น บ้างก็แต่งกายแบบขุนนางฝ่ายบู้ เป็นชายชราอยู่ในท่านั่ง มีหนวดเครายาว บ้างก็สีขาวอย่างคนชรา บ้างก็มีสีดำ มือขวาถือหยูอี้ มีใบหน้าสีชมพูอ่อน มือซ้ายถือก้อนทอง ชุดที่สวมใส่เป็นสีน้ำเงิน

 ๑๑. พระเตียวเทียนซือ อิริยาบถนั่งบนหนังเสือ ใส่เครื่องแบบ และรองเท้าขุนนาง ในหน้าสีดำ ดวงตาโต มีหนวดและคิ้วยาว ลักษณะใบหน้าดุดัน มือทั้งสองข้างถือโองการสวรรค์ และยกขึ้นระดับห้าอก มีเสือเป็นพาหนะ มีกระบี่ ๗ เป็นอาวุธ และมีระฆังสวดมนต์

 ๑๒. พระจอสู่ก๋ง นั่งขัดสมาธิ ใส่เครื่องแบบนักบวช มีใบหน้าสีดำ ไม่มีหนวด มือทั้งสองประสานกันบนตัก

 ๑๓. เห้งเจียจากการศึกษาลักษณะปฏิมากรรมพบว่า มีลักษณะรูปร่างเป็นลิง มีอิริยาบถในท่ายืน ยกมือซ้ายขึ้น มือขวาถือกระบอง

 ๑๔. พระเตี๋ยนหู้หง่วนโส่ย เป็นเจ้าอ๊าม จากการศึกษาปฏิมากรรมพบว่า นั่งบนเก้าอี้ ใส่เครื่องแบบและรองเท้าขุนนาง มีใบหน้าสีแดง ยิ้มแย้มไม่มีหนวด ไว้ผมเปียผูก ๒ ข้าง มือซ้ายวางบนตัก มือขวากุมยศประจำตำแหน่ง มีหมาและไก่เป็นของวิเศษคู่กาย ลักษณะอิริยาบถ และใบหน้าที่ยิ้มแย้ม เหมือนกับ พระพุทธธรรมมิศราชโลกธาตุดิลก ซึ่งเป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัย มีพระพักตร์อมยิ้ม ไม่เคร่งเครียด

 
< ก่อนหน้า   ถัดไป >

สมุดภาพเหมืองแร่

Counter

mod_vvisit_countermod_vvisit_countermod_vvisit_countermod_vvisit_countermod_vvisit_countermod_vvisit_countermod_vvisit_countermod_vvisit_countermod_vvisit_counter
mod_vvisit_counterวันนี้627
mod_vvisit_counterเมื่อวาน1980
mod_vvisit_counterทั้งหมด10696893