Skip to content

Phuketdata

default color
Home arrow Search
สถาปัตยกรรมในภูเก็ต PDF พิมพ์ อีเมล์
เขียนโดย ปาณิศรา ชูผล มทศ.   
อาทิตย์, 10 กุมภาพันธ์ 2008

สถาปัตยกรรมในภูเก็ต


 
 ภูเก็ตเป็นเมืองที่มีความอุดมสมบูรณ์ไปด้วยทรัพยากรธรรมชาติ เป็นที่รู้จักกันในเรื่องแร่ดีบุก ตั้งแต่มีการค้นพบและซื้อขายกลายเป็นสินค้าสำคัญในสมัยพระเอกาทศรถกรุงศรีอยุธยาเป็นต้นมา แต่ในแง่วิวัฒนาการของชุมชนแล้วภูเก็ตมีประวัติศาสตร์ยาวนานย้อนไปถึงสมัยศรีวิชัย สุโขทัย ฯลฯ ดังที่รู้จักกันในนามของเมือง “ถลาง” ถลางเป็นเมืองที่เจริญรุ่งเรืองมาก่อน เมื่อไทยเลิกทำสงครามกับพม่า เพราะพม่าตกเป็นเมืองขึ้นของอังกฤษ ประกอบกับการพบแร่ดีบุกในบริเวณกะทู้ และทุ่งคา ความเจริญของบ้านเมืองจึงมาอยู่ที่ทุ่งคาหรือภูเก็ต


 ด้วยการที่ผู้คนรวมกลุ่มแปลงบ้านสร้างเมือง ชุมชนของคนถลางหรือภูเก็ต ก็มีวิวัฒนาการ การสร้างบ้านเรือนที่อยู่อาศัยในรูปแบบทางสถาปัตยกรรมแบบต่าง ๆ กันไปตามยุคสมัย ชาวภูเก็ตที่เป็นคนไทยถิ่นฐานเดิมสร้างบ้านเรือนแบบเรือนไทย เมื่อมีคนจีนอพยพเข้ามาก็สร้างบ้านเรือนในรูปแบบของจีน จากผลของการประกอบอาชีพการทำเหมืองแร่ดีบุก ทำให้คนเหล่านั้นมีฐานะมั่นคงขึ้นก็สร้างบ้านเรือนตามแบบฝรั่งในอันดับต่อมา

 

เรือนไทยในภาคใต้

 สถาปัตยกรรมเรือนไทยในภาคใต้เป็นสถาปัตยกรรมแบบพื้นบ้าน คือศิลปะวิธีการ ว่าด้วยการก่อสร้างที่ชาวบ้านยึดถือปฏิบัติเป็นแบบอย่างสืบทอดต่อกันมา ซึ่งประกอบด้วยคตินิยมในการเลือกใช้วัสดุ กรรมวิธีการสรรใช้ รูปแบบและองค์ประกอบที่สำคัญ ที่มุ่งประโยชน์ใช้สอยของสิ่งก่อสร้างและการตกแต่ง  สิ่งเหล่านี้จะต้องปรากฏให้เห็นเป็นลักษณะร่วมของชุมชนนั้น ๆ อย่างเป็นปกติ
 ลักษณะของสถาปัตยกรรมพื้นบ้านจะมีความสัมพันธ์พอเหมาะกับสภาพภูมิประเทศ ดินฟ้าอากาศ ทรัพยากรธรรมชาติในท้องถิ่น ขีดความสามารถในการผลิตและเทคนิควิทยาการของชุมชน คติความเชื่อทางศาสนาและวัฒนธรรมของชุมชนนั้น ๆ พึงใจ ทั้งยังขึ้นอยู่กับประโยชน์ในการใช้สอยหลักของชุมชนอีกด้วย
 สถาปัตยกรรมพื้นบ้านที่แท้จริงของภาคใต้ คือบรรดาโรงเรือนที่ผู้เป็นเจ้าของปลูกสร้างขึ้นด้วยฝีมือและกำลังงานของตน หรือออกปากขอแรงเพื่อนบ้านช่วยกันทำ หรือแม้จะมีการเหมาจ้างผู้ชำนาญในท้องถิ่นบ้างก็เป็นลักษณะการว่าจ้างเฉพาะค่าแรงงานเป็นรายวันหรือเหมาจ้างเฉพาะอย่าง ไม่มีแบบแปลนคู่สัญญาว่าจ้างไม่กำหนดรายละเอียดบังคับตายตัว ใช้ความพอใจของเจ้าของเป็นเกณฑ์ และอาศัยแบบอย่างที่นิยมกันเป็นเครื่องกำหนดมาตรฐาน เจ้าของเป็นผู้จัดหาและเลือกเฟ้นวัสดุ

 

สถาปัตยกรรมเรือนไทยในภูเก็ต
 


 เรือนไทยในภูเก็ตเป็นเรือนที่มีเอกลักษณ์ของเรือนไทยภาคใต้ นิยมปลูกเป็นเรือนโดดเดี่ยว ส่วนมากจะไม่มีระเบียงออกมาทางด้านข้างหรือด้านสะกัด  เนื่องจากภาคใต้มีฝนตกชุกเกือบตลอดปี และมีลมมรสุมพัดแรง  มักจะพัดพาเอาน้ำฝนสาดเข้าระเบียงทำให้เรือนผุเร็ว มีบ้านเรือนบางบ้านที่สร้างคล้าย ๆ กับเรือนไทยจากภาคกลาง ทำระเบียงบ้านชานแล่นระหว่างเรือนสองหลัง หรือทำระเบียงออกข้างเพียงหลังเดียวก็ต้องทำฝากั้นหรือติดกันสาดเสียมิดชิดเพราะความกลัวฝน


 เรือนไทยในภูเก็ตที่เป็นทรงไทยแท้แต่โบราณนั้น มักใช้ฝาขัดแตะสานด้วยไม้ไผ่ขัดเป็นลวดลายต่าง ๆ อย่างสวยงาม ซึ่งการใช้ฝาขัดแตะนี้ก็เหมาะสมกับสภาพดินฟ้าอากาศของภาคใต้ที่มีฝนตกชุก ฝากระดานย่อมเปียกชื้นอุ้มน้ำฝนทำให้ผุเร็ว
 เรือนไทยในภูเก็ตมักไม่เจาะหน้าต่าง ถ้าเจาะก็เจาะเพียงช่องเล็ก ๆ ทั้งนี้เนื่องจากฝาขัดแตะมีความโปร่ง ระบายอากาศได้ดีในตัวเอง ไม่ทำให้อากาศอบอ้าวเหมือนกั้นฝากระดาน


 เอกลักษณ์พิเศษอีกประการหนึ่งของเรือนไทยในภูเก็ตหรือเรือนไทยทั่ว ๆ ไปในภาคใต้ก็คือการสร้างบ้านโดยไม่ต้องฝังเสาลงในดินเหมือนภาคอื่น ๆ คือทางภาคใต้จะวางเสาทุกเสาลงบนแท่งหิน หรือแท่งซีเมนต์ที่ทำขึ้นไว้ที่ตีนเสา แล้ววางขื่อ แป และคาน บังคับเสาไว้ให้ตั้งเข้ารูปแล้วขึ้นใบดั้ง วางจันทัน แปลาน และเครื่องประกอบอื่น ๆ ได้แก่ ตง รอด ระแนง จนกระทั่งมุงหลังคา ปูพื้นกระดาน กั้นฝาได้สำเร็จรูปตามต้องการเครื่องเรือนเหล่านี้จะยึดโยงกันเอง สามารถทรงตัวเรือนทั้งหมดไว้ แม้จะถูกพายุหรือลมพัดแรงไปบ้างก็ไม่เสียทรงหรือล้มง่ายๆ เนื่องจากแรงถ่วงต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นโดยอัตโนมัติ การที่ชาวภูเก็ตปลูกสร้างเรือนไทยโดยไม่นิยมฝังเสาลงดิน ก็คงเนื่องจากพื้นดินเป็นดินทรายมีความยืดหยุ่นมาก โอกาสที่เสาเรือนจะทรุดมีได้มาก นอกจากนั้นแล้ว พื้นดินในภูเก็ตยังชุ่มชื้นไปด้วยน้ำฝน เป็นที่อยู่อาศัยของปลวก และเชื้อราต่าง ๆ ซึ่งคอยกัดกร่อนให้เสาผุเร็วขึ้น ฉะนั้นจึงต้องใช้รองตีนเสาด้วยก้อนหินหรือแท่งซีเมนต์ เพื่อหลีกเลี่ยงเหตุดังกล่าวนี้ ข้อสังเกตอีกประการหนึ่ง เกี่ยวกับเรือนไทยในภูเก็ตคือมักจะปลูกรูปทรงเตี้ย ๆ ไม่นิยมใต้ถุนสูงเหมือนภาคอื่น ๆ ทั้งนี้ก็เนื่องจากเสาไม่ได้ฝังลงในดินนั่นเอง ซึ่งถ้าปลูกให้ใต้ถุนไม่สูงนัก โอกาสที่จะถูกลมพาพัดให้เรือนไหวโยกหรือพังทลายก็ย่อมลดน้อยลงไปด้วย


 อย่างไรก็ตามมีการปลูกเรือนไทยบางบ้านในภูเก็ตที่จำเป็นต้องฝังเสาลงดิน เลียบ ชนะศึก ได้อธิบายไว้ว่า “เรือนไทยโดยมากชาวถลางนิยมปลูกในเดือน๔เพราะเป็นฤดูแล้งขุดหลุมฝังเสาได้แข็งแรงดี เพราะพื้นที่ลุ่มริมคลองฤดูฝนพื้นที่จะชื้นอยู่เป็นประจำ ขุดหลุมเสาน้ำจะออกจะวางลาดเสาไม่แข็งแรง เลยมาปลูกบ้านกันในเดือน ๔ น้ำในคลองก็ลดลงไหลไปสู่ทะเล ในที่นาหรือที่ปลูกบ้านก็แห้งเช่นกัน รูปทรงของบ้านเรือน หลังคาแหลมแบบโบสถ์ในวัด เรือนมีใต้ถุน บนบ้านทำเป็นเบี่ยงเป็นโรงนิยมหันหน้าไปทางทิศตะวันออก ขุดคูน้ำไปทางทิศใต้ตีน (ไม้ไผ่อ่อน) กั้นฝาขัดแตะไม้ไผ่ป่า หน้าต่างไม่มี ประตูบานเดียวใส่สลักด้านขวามือ ห้องนอนไม่มีประตู มีผ้าม่านห้อยปิด มีครัวต่อจากเรือนใหญ่ลดระดับต่ำลง ๑ ศอก ปูฟากไม้ไผ่ผูกรัดกันกับหวาย ในครัวมีที่หุงข้าวเอาไม้มาทำเป็นบ่ากลมเกยกั้นเป็นสี่เหลี่ยมกว้างยาวเท่ากันประมาณ ๒ ศอก เอาเสื่อสาดเตยขนาดเล็กรองเป็นพื้น เอาดินใส่อัดให้แน่นเป็นแม่ขี้ไฟ ทำเพากับดิน ๓ ก้อนหัวหักงอ ฐานหนา ๑ ฝ่ามือยาวคืบกว่า ๆ ตั้งบนแม่ขี้ไฟเป็นรูป สามมุมไว้หุงข้าวต้มแกง เหนือขึ้นไปบนแม่ขี้ไฟมีผลา ยกเสาขึ้นจากสี่มุมของแม่ขี้ไฟ ๔ เสา ยาวประมาณ ๑ วา เอาไม้ผูกทั้งสี่ด้าน ทำเป็นร้านไว้สำหรับตั้งเครื่องครัว พริกแห้ง หอม กระเทียม กะปิ เกลือ ตอนระเบียงต่ำเพราะเสาฝ่ายระเบียงนั้น ๓ เสานั้นต้องตัดลดจากเสาบนโรง ๒ ศอก ตัวเรือนทั้งหมดมี ๙ เสา ครัว ๓ เสา ในห้องนอนจะมีเชิง (ภาษาท้องถิ่น)เกือบติดกับหลังคาไว้สำหรับเก็บเอกสารต่าง ๆ ใส่ปล้อง(กระบอก)ไม้ไผ่ทำเป็นฝาครอบไว้ ปล้องนี้ยาวประมาณ ๑ ศอก บนเชิงนี้ต้องขึ้นไปตรวจตราอยู่เป็นประจำ โดยผูกบันไดขึ้นทางขวา ในห้องนอนยังมีหิ้งเล็ก ๆ ที่มุมเสาข้างบนไว้สำหรับบูชาทวดย่าตายาย บนโรงไม่กั้นฝา      มีหิ้งไว้ประดิษฐสถานรูปพระที่ฝาหัวนอน(ทิศใต้)สำหรับเพื่อบูชา


 ก่อนที่จะปลูกบ้านเจ้าของบ้านต้องเตรียมไม้เครื่องเรือน จากมุงให้เรียบร้อย ฝาเรือนนั้นส่วนมากมักสะสมทำเองตอนหลัง ก่อนปลูกต้องให้หมอมาตรวจดูหมอจะชี้ให้ว่าปลูกตรงไหนเพราะความเชื่อดั้งเดิมว่ามีที่เรือนเศรษฐี ที่ยาจก ที่เจ็บไข้ได้ความ เมื่อหมอชี้สถานที่ให้แล้วก็ทำการขุดปราบพื้นที่ให้เสมอแล้วดูวันที่ปลูกกับหมออีก ว่าวันไหนปลูกได้ หมอจะตรวจวันเดือนปี เห็นเหมาะก็บอกวันปลูกให้ ขุดหลุมไหน ยกเสาไหนก่อน เป็นเรื่องหมอบอกทั้งนั้น นำไม้มาจัดวางไว้ที่ใกล้กับสถานที่ปลูก ในวันปลูกสร้างบ้านมาช่วยกันตัดบ่าเสาผูกหวาย มุงจาก ฯลฯ ตอนเช้ามืดวันปลูก ต้องเอาน้ำมนต์มาประพรมก่อนที่จะขุดหลุม


 ช่างก็วางแปลนชักดึงเชือกวางระดับทั้ง ๔ ด้าน เรือนไทยนิยมยกกว้าง ๑๑ ศอก ยาว ๑๓ ศอก ถ้ากว้าง ๙ ศอก ต้องยาว ๑๑ ศอก โดยมากปลูก ๙ ยาว ๑๑ เป็นเรือน ๒ ห้อง รับแขก ๑ ห้อง ติดกับห้องนอนห้องละ ๕ ศอก เว้นที่บ่าเสาฝ่ายละครึ่งศอก บนโรงกว้าง ๕ ศอก เบี่ยง ๔ ศอก ช่างก็ปักไม้ที่ขุดหลุมเสา หลุมทั้ง ๙ หลุม ขุดลึกประมาณ ๑ ศอก ในท้องหลุมเอาหินใส่ เสา ๖ เสา ตัดยาว ๑๑ ศอก เสาระเบียงยาว ๙ ศอก ๓ เสา วัดจากโคนเสาบากบ่ากลับกัน ระยะบ่าบนกับบ่าล่าง ๑ คืบ บ่าเสา ๓ เสา ฝ่ายระเบียงบ่าเท่ากับบ่าล่าง เสากลาง ๓ เสา ยอดเสาก็บากเป็นบ่าช่างจะทำเสาทั้งหมด ๙ เสา ปักหั่นบ่าเสาให้ถูกต้อง ต้องสูงต่ำให้ได้ระยะเอาดินถมยัดให้แน่น เอาไม้ยาวผูกเป็นนั่งร้านรอบ ๆ เพื่อต้องการไม่ให้เสาโยกไหวจะได้คงระดับอยู่ดี เอาไม้หลังทาใส่บ่าเสาหมด ๔ อัน ยาว ๑๑ ศอก แล้วใช้เชือกหวายผูกเป็นลายอกปูอย่างแน่น ผูกไม้นั่งร้านขึ้นไปอีก ไปผูกไม้บนยอดเสาคือหลังคาด้านบน เหมือนกับหลังคาล่างแต่เพียง ๓ อันเท่านั้น ยาว ๑๑ ศอก เหมือนกับผูกหวายรัดกันเสร็จ เอาด้านกว้างผูกรัดและด้านยาวด้วยเป็นรูปสี่เหลี่ยม ตัดเป็นตง ๓ อัน ยาววาครึ่ง บากหัวบากท้าย หวายผูกมัดติดกับรัดคอใกล้เสากลางเพียง ๓ ศอกของซีกบนโรง ๓ อัน  ผูกยืนเหมือนกับเสาเรือนแต่เล็กกว่าเท่านั้น ผูกหวายเสร็จเอาไม้ยาวกลมยาว ๑๑ ศอก เหมือนหลังคาผูกติดกับตง ๓ อัน เอาไม้ท่าหลังคา ๓ คู่ ๖ อัน เรียกว่าไม้จันทัน ฝานบนโรงยาว ๘ ศอก ระเบียง ๑๐ ศอก เป็นรูปหลังคาจอมแหลมเป็นปีกห้อยลงมาทางระเบียง เอาไม้ยาว ๑ อัน ทำเป็นไม้ปิดพลอมยาว ๑๑ ศอกปิดทับหัวไม้จันทันทั้ง ๓ คู่ เอาหวายดึงรัดอย่างแน่น เอาไม้ยาว ๑๑ ศอก ผูกขวางเป็นระยะทั้งเบี่ยงและโรง  เอากลอนรับจากทำด้วยไม้ไผ่เป็นซีก ๆ ระเบียงยาว ๑๐ ศอก โรง ๘ ศอก ผูกขวางติดกับไม้ยาว ระยะห่างกัน ๑ ศอก ฝ่ายละ ๑๑ อัน เบียงกับโรงใส่ไม้รอดกลิ้งเพื่อทำการปูฟากไม้ไผ่ ผ่าไม้ไผ่ยาว ๑๑ ศอก จิกบ่าทำเป็นฟากบนโรงระเบียงเหมือนกับใส่ต้งเชีย เอาฟากดับเรียงผูกเป็นเอวมดแดงอย่างสวยงาม มุงจากเสร็จ ปูฟากเสร็จ ยืนนั่งบนพื้นเรือนได้สะดวกตัดไม้ทำเซ็นรวมตัวเรือน เว้นที่นั่งห้องรับแขก ๑ ด้านเท่านั้น และระเบียงตรงกลางด้วย เอาฝาที่ขัดไว้แล้ววัดสับระยะเท่ากับห้อง ยกขั้นกั้นระหว่างเสาผูกเซ็นที่ทำไว้จนหมดทุกด้านอย่างที่ติดเซ็นไว้ ครัวก็เช่นกันเพียงแต่วัดว่าให้เกินยาวสั้นไปขนาดไหน  ความกว้างนั้นเท่าตัวเรือนเพิ่มเสาอีกสามเสา ตัดบ่าต่ำกว่าระเบียง ๓ เสา ส่วนการตกแต่งเสริมเรื่องอื่นนั้น แล้วแต่ความเหมาะสมสวยงาม หน้าบ้านมีนอกชานต้องปักเสายื่นอกไปหน้าบ้านฝ่ายระเบียง ห่างจากตัวเรือน ๑ วา ใส่หลังทา ๒ อัน ใส่รอดกลิ้ง เอาฟากไม้ไผ่ปูถักเอวมดแดงทำบันได ๕ ขั้นพาดตรงนอกชาน”
 รูปแบบของสถาปัตยกรรมแบบเรือนไทยดังกล่าวมานี้ เป็นรูปแบบของเรือนไทยในภูเก็ตสมัยเริ่มสร้างบ้านสร้างเมือง จะพบเห็นได้มากในท้องถิ่นที่เคยเป็นชุมชนหรือเมืองเก่ามาในสมัยก่อน เช่น เมืองถลางบ้านดอน บ้านตะเคียน บ้านในทอน ตำบลสาคู อำเภอถลาง บ้านไฟไหม้ ตำบลฉลอง  อำเภอเมืองภูเก็ต เป็นต้น


-----------------------------------------------------
 มีรูปภาพประกอบ
-----------------------------------------------------

 

สถาปัตยกรรมแบบจีนในภูเก็ต


 รูปแบบสถาปัตยกรรมแบบจีนในภูเก็ต เป็นรูปแบบของบ้านเรือนที่เกิดขึ้นจากการขยายตัวของชุมชน เนื่องจากคนจีนเข้ามาอยู่ในภูเก็ต แม้ว่าตามประวัติศาสตร์จะกล่าวไว้ว่า ชาวต่างชาติที่เข้ามาพำนักอาศัยอยู่ในดินแดนภูเก็ตสมัยแรก ๆ นั้นจะเป็นมอญหรือแมง และชาวอินเดีย แล้วต่อมาก็เป็นชาวโปรตุเกส ชาววิลันดา แต่ชนชาติเหล่านี้มิได้ปลูกสร้างบ้านเรือนลงในภูเก็ตตามรูปแบบสถาปัตยกรรมหรือวัฒนธรรมของชนชาติเหล่านั้นไว้เลย หรือหากจะปลูกสร้างไว้ ก็คงจะเป็นแต่เพียงที่อยู่อาศัยชั่วคราวไม่ใช่ถาวรวัตถุ จึงผุพังและสูญหายไปตามกาลเวลา ไม่ปรากฏร่องรอยเหลือไว้ให้ศึกษาได้ในปัจจุบันต่างจากชนชาวจีนซึ่งอพยพเข้าอยู่ในภูเก็ตสมัยรัชกาลที่ ๓, ๔, ๕ เพื่อประกอบอาชีพเหมืองแร่และค้าขาย คนเหล่านั้นได้สร้างบ้านเรือนอาศัยอย่างถาวร โดยใช้รูปแบบสถาปัตยกรรมที่ถ่ายทอดมาจากประเทศจีน มีเอกลักษณ์เฉพาะ กล่าวคือใช้วัสดุส่วนใหญ่ในการก่อสร้างเป็นดินหรือดินเผาแทนที่จะใช้ไม้หรือไม้ไผ่เหมือนบ้านเรือนคนไทย  ดินที่ชาวจีนใช้ก่อสร้างบ้านเรือนนี้ นัยว่าดินผสมด้วยวัสดุอย่างอื่น เช่น เกลือ น้ำตาลแดง หรือ แกลบ ซึ่งวัสดุเหล่านี้ มีคุณสมบัติยึดดินให้เหนียวไม่เปราะและผุพังง่าย ดินผสมนี้จะอัดแน่นกระทุ้งให้เรียบสนิท เสริมสูงขึ้นจากพื้นดินจนเป็นกำแพงหนาซึ่งจะเป็นส่วนรับน้ำหนักเครื่องเรือนพื้นขั้นบนหรือหลังคา กำแพงเรือนนี้จะก่อเป็นฝาผนังทั้ง ๔ ด้าน เจาะช่องประตูหน้าต่าง    โดยใช้ไม้แก่นเนื้องแข็ง เป็นวงกบประตูหน้าต่าง และบานประตูหน้าต่างตามต้องการ หากเป็นบ้าน ๒ ชั้น ก็จะใช้ไม้เป็นคาน รอด และปูพื้น หลังคาจะวางขื่อ แป และจันทันจากไม้ทะเล เช่นแสม หลังคามุงด้วยกระเบื้องราง (ทำจากดินเผา) ซึ่งมีลักษณะครึ่งวงกลม คล้ายกับไม้ไผ่ผ่าซีก บ้านรูปทรงแบบนี้ส่วนมากจะปลูกเป็นทรงเตี้ย ๆ เนื่องจากสภาพของกำแพงดิน จะไม่อำนวยให้ก่อขึ้นสูงได้มากนัก เพราะต้องรองรับน้ำหนักมากเสี่ยงต่อการพังทลายลงมา หรือเมื่อถูกพัดไหม้ด้วยพายุเมื่อยามมีลมมรสุมเกิดขึ้น บ้านเรือนทรงแบบนี้ จะมีอายุอยู่นานประมาณ ๗๐-๘๐ ปี ปัจจุบันนี้ ๒๕๔๑ จะหาดูได้เพียงบางส่วนในตลาดอำเภอกะทู้ ซึ่งเป็นท้องถิ่นกำเนิดเมืองภูเก็ตสมัยก่อน ส่วนในตัวเมืองภูเก็ตปัจจุบันนี้ หาดูได้ยากเนื่องจากถูกรื้อถอนออกไปเพราะสภาพเก่าเกินไปกว่าที่จะคงทนอยู่ได้โดยปราศจากการอนุรักษ์หรือบำรุงรักษาอย่างถูกวิธี

 

สถาปัตยกรรมแบบชิโน-โปรตุเกส

 

 ลักษณะทางสถาปัตยกรรมของบ้านเรือนในภูเก็ตแบบชิโน-โปรตุเกส เกิดขึ้นด้วยเหตุผลที่ว่า เมื่อสมัยตั้งแต่ประมาณ ๘๐ ปีย้อนหลังไปนั้น ภูเก็ตไม่สามารถติดต่อกับกรุงเทพฯ ซึ่งเป็นเมืองหลวงได้สะดวกนัก การเดินทางเมื่อประมาณ ๑๕๐ ปีมาแล้วนั้น จะต้องขี่ช้างหรือนั่งเรือจากภูเก็ตไปตะกั่วป่าเลยไปยังเขาพนมคีรีรัฐแล้วลงเรือที่นั่น ล่องเรือตามลำน้ำพนมคีรี ออกสู่บ้านพุนพิน แม่น้ำตาปี แล้วออกสู่บ้านดอน ลงเรือใหญ่แล่นเลียบฝั่งตะวันออกของจังหวัดสุราษฎร์ธานี ผ่านจังหวัดชุมพร ประจวบคีรีขันธ์ หัวหิน ชะอำ สมุทรสงคราม สมุทรสาคร  และปากน้ำเจ้าพระยา แล้วจึงถึงกรุงเทพมหานคร การเดินทางระหว่างภูเก็ต กรุงเทพ ฯ เป็นอยู่เช่นนี้เนิ่นนาน จนกระทั่งในสมัยรัชกาลที่ ๕ เมื่อกิจการรถไฟหลวงได้ถือกำเนิดขึ้น และการรถไฟขยายเส้นทางมากันตัง จังหวัดตรัง เส้นทางการติดต่อกับกรุงเทพ ฯ ของคนภูเก็ตก็เปลี่ยนเส้นทางมาเป็นเส้นทางเรือ คือนั่งเรือจากภูเก็ตไปขึ้นท่าเรือที่กันตัง แล้วนั่งรถไฟจากกันตังไปกรุงเทพ ฯ อีกทอดหนึ่งนับว่าสะดวกขึ้นหลายเท่าตัว แต่ก็ยังต้องเสียเวลาอยู่มากนั่นเอง กล่าวคือต้องเสียเวลานั่งเรือยนต์เล็ก แล่นเลียบฝั่งกระบี่กว่าจะไปถึงกันตังก็เสียเวลาไปประมาณหนึ่งวันกับหนึ่งคืน แล้วต้องรอรถไฟเที่ยวที่แวะกันตังอีกประมาณ ๒ หรือ ๓ วัน รวมเวลาที่ต้องเสียไปในการเดินทางลักษณะนี้ประมาณ ๓ - ๔ วัน บางครั้งก็เป็นสัปดาห์ ซึ่งเมื่อเปรียบเทียบกับการติดต่อระหว่างภูเก็ตกับเกาะปีนังโดยทางเรือกลไฟออกจากภูเก็ตเลียบฝั่งทะเลตะวันตกไปถึงเกาะปีนังจะเสียเวลาเพียง ๒๔ ชั่วโมงเท่านั้น  เหตุนี้นักธุรกิจ นายเหมือง  และนักท่องเที่ยวชาวภูเก็ตจึงสมัครใจเดินทางไปปีนังมากกว่าจะไปกรุงเทพฯ ซึ่งเป็นเมืองหลวงของเราหรือแม้แต่การส่งบุตรหลานเข้ารับการศึกษาของผู้มีฐานะในภูเก็ตก็มักจะส่งให้ไปเรียนที่ปีนัง


 เกาะปีนังในยุคนั้น มีความเจริญในหลายสิ่งหลายอย่างที่เทียบเท่ากรุงเทพฯ แล้ว เช่น ถนนหนทาง การศึกษา การสาธารณสุข การสื่อสาร การรักษาความปลอดภัยแก่ชีวิตและทรัพย์สินของประชาชน เพราะปีนังได้รับการพัฒนาการแผนใหม่จากอังกฤษ และมีเรือกลไฟทั้งใหญ่น้อยเข้ามาจอดเป็นประจำ มีการค้าขายระบบปลอดภาษี มีสถาปัตยกรรมใหม่ ๆ เกิดขึ้นมากมาย เพราะเป็นเมืองท่าขนาดย่อมแห่งหนึ่งของอังกฤษทางฝั่งตะวันตกรอง ๆ จากเกาะสิงคโปร์


 ในส่วนของลักษณะทางสถาปัตยกรรมของปีนังที่ได้รับอิทธิพลมาจากอังกฤษนั้น กล่าวโดยทางประวัติศาสตร์การเผยแพร่วัฒนธรรมของชนชาติตะวันตกที่มีต่อชาวตะวันออกอย่างสิงคโปร์ ปีนัง คือ ในพุทธศตวรรษ ที่ ๒๓ โปรตุเกส ได้เข้าไปเช่าเมืองเกาลูนจากประเทศจีน อังกฤษมีส่วนรู้เห็นอารยธรรมในแถบบริเวณนั้นด้วยอิทธิพลทางสถาปัตยกรรมของโปรตุเกส จีน ก็ขยายเข้าสู่ฮ่องกงซึ่งเป็นเขตอิทธิพลของอังกฤษอีกทอดหนึ่ง เมื่ออังกฤษมีอิทธิพลต่อสิงคโปร์ ปีนัง สถาปัตยกรรมกรรมเหล่านั้นก็ถูกถ่ายทอดมาสู่ สิงคโปร์ และปีนังด้วย


 ตัวอย่างรูปแบบและองค์ประกอบสถาปัตยกรรมในเมือง ในอาคารตึกแถวเมืองภูเก็ตนั้น อาคารเก่าจะมีรูปแบบและองค์ประกอบสถาปัตยกรรมที่เป็นลักษณ์ ทั้งแบบจีน, ยุโรป, และแบบผสมโปรตุกีส


 ----------------------------------------------------
ภาพประกอบ
   รูปด้านชั้นบนหน้าต่างบานคู่ลูกฟักเกล็ดไม้ปรับได้
   รูปด้านชั้นบน ซุ้มหน้าต่างโค้งครึ่งวงกลม
 รูปด้านชั้นบน ซุ้มหน้าต่างโค้งครึ่งวงกลม
 รูปด้านชั้นบน ซุ้มหน้าต่างโค้งเสี้ยววงกลม
 รูปด้านชั้นบน ซุ้มหน้าต่างแบบจั่ว
 รูปด้านชั้นบน หน้าต่างบานคู่ลูกฟักบานเกล็ดไม้ติดตายบานกระทุ้งในบานเปิด
 ทางเท้า(ARCADE) โค้งครึ่งวงกลม
 รูปด้านชั้นบน ซุ้มหน้าต่างแบบจั่ว
 รูปด้านชั้นบน ซุ้มระเบียงโค้งครึ่งวงกลม
 รูปด้านชั้นล่างแบบจีนดั้งเดิม
ภาพหัวเสาและโครงสร้าง
แบบผสมไอโอนิค-คอรินเธียน
แบบไอโอนิค
หัวเสารับหลังคา
ลักษณะโค้งอาคาร
โค้งครึ่งวงกลม
บัวหัวเสา
โค้งเตี้ย (Three-Centered Arch)
---------------------------------------------------


 ลักษณะส่วนย่อย รายละเอียด (DETAIL) แบ่งเป็น
  ๑.หน้าต่างเป็นบานคู่ ที่พบมากมีลักษณะดังนี้
  
  ๑.ก บานถึงพื้น ช่วงบนลูกฟักเกล็ดไม้ปรับได้ ช่วงล่างบานไม้ทับ
 ๑.ข ลูกฟักเป็นเกล็ดไม้ปรับได้ บานไม่ถึงพื้น
 ๑. ค บานถึงพื้น ช่วงบนลูกฟักกระจกลายนูน ช่วงล่างบานไม้ทึบ 
 ๑. ง บานถึงพื้น ช่วงบนลูกฟักเกล็ดไม้ติดตาย ช่วงล่างบานไม้ทึบ  ๑. จ บานกระทุ้งในบานเปิดลูกฟักเกล็ดไม้ติดตาย บานไม่ถึงพื้น
 ๑. ฉ บานกระทุ้ง ๒ ชั้นในบานเปิดลูกพกเกล็ดไม้ติดตาย บานไม่ถึงพื้น
 ๒. ช่องแสง ที่พบเห็นมากมีลักษณะต่างๆ  คือ
 ๒ ก. ช่องแสงกระจกตีคิ้วไม้ ลายกลีบดอกไม้ปลายมน
 ๒ ข. ช่องแสงไม้ฉลุแกะสลักลวดลาย
 ๒ ค. ช่องแสงกระจกตีคิ้วไม้ ลายกลีบดอกไม้ ปลายแหลม
 ๒ จ. ช่องแสงกระจกตีคิ้วไม้คล้าย ๒ ง.
 ๒ ข. ช่องแสงไม้ฉลุแกะสลักลวดลาย
 ๒ ง. ช่องแสงกระจกตีคิ้วไม้ ลายรัศมีดวงอาทิตย์
 ๒ ฉ. ช่องแสงกระจกตีคิ้วไม้ ลายกลีบดอกไม้
 ๒. ช ช่องแสงบานเกล็ดติดตาย
 ๒. ซ ช่องแสงกระจกตีคิ้วไม้กลายกลีบดอกไม้
 ๒. ฌ ช่องแสงบานเกล็ดไม้ติดตาย
 ๒. ญ ช่องแสงไม้ฉลุ
 ๒. ฎ ช่องแสงกระจกตีคิ้วไม้
 ๒. ฏ ช่องแสงกระจกตีคิ้วไม้
 ๒. ฐ ช่องแสงกระจกตีคิ้วไม้
 ๒. ฑ ช่องแสงกระจกตีคิ้วไม้
 

 ศิลปะทางสถาปัตยกรรมของปีนัง มีรูปแบบของยุโรปผสมจีน ซึ่งใหม่แปลกและสวยงามมีเอกลักษณ์ของตน จึงเป็นที่น่าสนใจของชาวภูเก็ตระดับผู้มีเงินที่มีโอกาสได้ไปพบเห็น ฉะนั้นการถ่ายทอดแบบสถาปัตยกรรมดังกล่าวจึงเกิดขึ้น ด้วยการนำแบบแปลนก่อสร้าง และช่างผู้ทำการก่อสร้างมาจากปีนังสู่เกาะภูเก็ตเป็นจำนวนมาก บรรดาสถาปนิกรุ่นใหม่ให้ชื่อรูปแบบการก่อสร้างลักษระนี้ว่าเป็นแบบ “ชิโน-โปรตุกิสไตล์” คือแบบผสมระหว่างสถาปัตยกรรมของจีนกับสถาปัตยกรรมโปรตุเกส


 ลักษณะความแตกต่างของอาคารแบบจีนกับแบบจีนผสมโปรตุเกส หรือผสมยุโรปนี้ คือแปลนนอกอาคารดังกล่าวจะแบ่งออกเป็นช่วง ๆ แต่ละช่วงจะมีช่อง “สกาย ไลท์”หรือช่วงให้แสงสว่างตามธรรมชาติส่องลงมาได้ มิให้อับอากาศหรืออบอ้าว บ้านทุกบ้านแบบ ชิโน-โปรตุกิส สมัยแรกสร้างนั้นจะมีบ่อน้ำอยู่ในบ้านอย่างน้อยหนึ่งบ่อ ใช้สำหรับบริโภคในบ้าน โครงสร้างส่วนใหญ่เป็นตึกก่ออิฐ หรือเทคอนกรีตแบบยุโรป มีหน้าต่างหรือเฉลียงหรือบัญชร หรือบัญโคนี ยื่นออกมาจากตัวหน้าบ้านแบบยุโรป กรุบานหน้าต่างหรือบานประตูด้วยกระจก และตบแต่งลวดลายตามขอบหน้าต่าง ประตู หัวเสา ด้วยลายปูนปั้นลายจีน ปูพื้นด้วยกระเบื้องลายฝรั่ง แต่หลังคามุงด้วยกระเบื้องดินเผารูปครึ่งวงกลมหรือรูปทรงกระบอกผ่าซีกแบบจีน
 บ้านในรูปชิโน - โปรตุกีสสไตล์จะมีความสง่างามภูมิฐานแบบยุโรป แต่มีความร่มเย็นสุขสบายและถ่ายเทอากาศได้สะดวกแบบตะวันออกหรือแบบจีน ซึ่งจะเห็นได้ทั่วไปในตัวเมืองภูเก็ตทั้งในรูปแบบบ้านเดี่ยวและตึกแถว

 

สภาพสถาปัตยกรรม อาคาร ถนนถลาง


  
 ลักษณะอาคารทั่วไป ลักษณะรูปชั้นล่างโดยทั่วไป เป็นประตูบานเฟี้ยมเหล็ก มีเพียงบางส่วนที่เป็นประตูบานเฟี้ยมไม้ และมีเพียงไม่กี่ห้องที่เป็นประตูแบบโบราณสำหรับห้องพักอาศัย ลักษณะเสาโครงสร้างเป็นเสาใหญ่ก่ออิฐฉาบปูนภายนอก มีทั้งแบบสี่เหลี่ยมเรียบ ๆและแบบย่อมุม
 ลักษณะรูปชั้นบนโดยทั่วไป (เฉพาะอาคารเก่าและปรับปรุงไปบ้าง) มีทั้งเป็นผนังก่ออิฐฉาบปูน มีทั้งลายปูนปั้นและไม่มีลายปูนปั้น ประกอบด้วยซุ้มหน้าต่าง ๓ ซุ้มโค้งครึ่งวงกลม ซุ้มโค้งเสี้ยววงกลม (SEGMENTAL ARCH) และซุ้มโค้งสี่เหลี่ยม หน้าต่างสมัยเก่า ภายในซุ้มจะเป็นบานคู่จากด้านบนของหน้าต่างถึงพื้นแบ่งเป็น ๒ ช่วง ช่วงบนเป็นเกล็ดไม้ปรับได้ในบานเปิด ช่วงล่างเป็นบานไม้ทึบ โดยเปิดปิดแยกเป็นอิสระจากกัน ผนังไม้หน้าต่างบานเกล็ดไม้ติดตายตลอดแนว เป็นที่น่าสังเกตว่า หน้าต่างแบบนี้ไม่มีช่องแสงเหนือหน้าต่างภายในซุ้มจะมีช่องแสงภายในซุ้มหรือช่องระบายอากาศภายในซุ้ม ลักษณะรูปด้านชั้นบนลักษณะที่พบคือมีซุ้มหน้าต่าง ๒ ซุ้ม มีทั้งซุ้มโค้งและสี่เหลี่ยม หน้าต่างบานคู่ถึงพื้น และซุ้มจั่วส่วนบนหน้าต่างบานคู่ไม่ถึงพื้น

  ลักษณะอาคารที่เด่น อาคารเก่าของถนนถลางที่มีลักษณะเด่น ๆ สามารถแบ่งออกได้ ดังนี้
 ๑. มีซุ้มหน้าต่าง อาคารประเภทนี้มีลักษณะเด่นคือผนังก่ออิฐฉาบปูน ซุ้มหน้าต่างเป็นปูนนูนขึ้นจากผนัง สามารถแยกออกเป็น
 - ซุ้มโค้งครึ่งวงกลม ๓ ซุ้ม มีเสาประดับรับซุ้ม ๔ เสา โดยมีหัวเสารับซุ้มภายในโค้งเป็นช่องแสงกระจกตีคิ้วไม้กลีบลายดอกไม้ (แบบ ๒ ก) หน้าต่างเป็นแบบ ๒ ก. ตรงกลางโค้งมีลักษณะ KEYSTONE แบบ ๓ ก. มีลายปูนปั้นภายนอกโค้ง ได้แก่ ห้องเลขที่ ๗๘ ๙๐ ๙๒ และ ๑๔๖
มีรูปภาพประกอบ


-----------------------------------------------------
 - ซุ้มโค้งครึ่งวงกลม ๓ ซุ้ม มีเสาประดับรับซุ้มลวดลายเกลียวเชือกมีบัวหัวเสาและฐานส่วนโค้งมีลายปูนปั้นแบบจีน ช่องแสงแบบ ๒ ง. หน้าต่างแบบ ๑ ข. ส่วนล่างใต้หน้าต่างเป็นบานไม้ทึบเปิดเข้าด้านในอาคาร นอกโค้งมีลวดลายปูนประดับงดงาม ได้แก่ห้องเลขที่ ๓๔

รูปภาพประกอบ


-----------------------------
 - ซุ้มโค้งครึ่งวงกลม ๓ ซุ้มไม่มีเสาประดับรับซุ้ม ลักษณะซุ้มเป็นแบบลายปูนนูนเท่ากันตลอด ช่องแสงภายในโค้งเป็นแบบ ๒ จ. หน้าต่างแบบ ๑ ก. ไม่มีลวดลายปูนปั้นนอกโค้ง แต่ละซุ้มหน้าต่างห่างกันเล็กน้อย ได้แก่ห้องเลขที่ ๓๘
-------------------------------------------
 มีรูปภาพประกอบ
------------------------------------------
 - ซุ้มโค้งครึ่งวงกลม ๓ ซุ้ม มีเสาประดับรับซุ้มแบบเรียบ โค้งเป็นปูนปั้นนูนไม่กว้างเท่าที่พบทั่วไป ช่องแสงที่เป็นแบบ ๒ ฉ. หน้าต่างแบบ ๑ ก. ได้แก่ห้องเลขที่ ๖๒
-----------------------------------------------------
 มีรูปภาพประกอบ
-----------------------------------------------------
 - ซุ้มโค้งเสี้ยววงกลม (SEGMENTAL ARCH) ๓ ซุ้มมีเสาประดับรับซุ้มเซาะร่องมีหัวเสา มีช่องระบายอากาศในโค้งแบบ ๒ ช. หน้าต่างแบบ ๑ ก. ตรงกลางโค้งมีลักษณะ KEYSTONE แบบ ๓ ข. ได้แก่ห้องเลขที่ ๒, ๑๖ ไม่มีลายปูนปั้น ห้องเลขที่ ๑๐๙, ๑๑๑ ห้องเลขที่ ๑๑๙ มีลายปูนปั้น ที่ผนังนอกซุ้มและหัวเสารับซุ้ม
-------------------------------------------------
 มีรูปภาพประกอบ
-----------------------------------------------
 -ซุ้มโค้งเสี้ยววงกลม (SEGMENTAL ARCH) ๔ ซุ้มมีเสาประดับรับซุ้ม มีลายปูนปั้นลายดอกไม้  ตรงกลางโค้งมีลักษณะ KEYSTONE แบบ ๓ ก. หน้าต่างแบบ ๑ ก. เหนือซุ้มมีลายปูนปั้นพบได้ที่ห้องเลขที่ ๔๔
----------------------------------------------------
  มีรูปภาพประกอบ
-----------------------------------------------------
 - ซุ้มโค้ง ๓ ซุ้ม ลักษณะโค้งด้านในเป็นโค้งครึ่งวงกลม ด้านนอกเป็นโค้ง  ตรง
กลางด้านข้างโค้งงอนขึ้นเล็กน้อย ลักษณะซุ้มเป็นกว้างเท่ากันตลอด  ไม่มีเสาประดับซุ้ม  ภายในโค้งเป็นช่องทึบตีคิ้วไม้แบบ ๒ ง. หน้าต่างแบบ ๑ ก. มีลายปูนปั้นเหนือซุ้ม แต่ละซุ้มห่างกันเล็กน้อย ได้แก่ห้องเลขที่ ๙๕
-----------------------------------------------------
 มีรูปภาพประกอบ
-----------------------------------------------------
 - ซุ้มโค้ง ๒ ซุ้มแบบ THREE CENTERED ARCH ไม่มีเสาประดับรับซุ้ม ซุ้มเป็นรูปกว้างเท่ากันตลอด ภายในโค้งเป็นช่องทึบตีคิ้วไม้แบบ ๒ ง. หน้าต่างแบ ๑ ก. เห็นได้จากห้องเลขที่ ๑๔๐ และ ๑๔๒
----------------------------------------------
 มีรูปภาพประกอบ
-----------------------------------------------
 - ซุ้มสี่เหลี่ยมด้านบนเป็นปูนปั้นรูปจั่ว ๒ ซุ้ม หน้าจั่วเป็นปูนปั้น ภายนอกจั่วมีลายปูนปั้นหน้าต่างเป็นแบบ ๑ ข. มีช่องแสงภายในชุด เสารับซุ้มเป็นเสาสี่เหลี่ยมเรียบเซาะร่อง ได้แก่ ห้องเลขที่ ๑๐๒ ส่วนห้องเลขที่ ๒๑ และห้องเลขที่ ๒๓ ต่างกันที่หน้าต่างเป็นลูกฟักกระจกลายนูนตีคิ้วไม่มีช่องแสงในชุดเดียวกัน
-----------------------------------------------------
 มีรูปภาพประกอบ
-----------------------------------------------------


 - ซุ้มสี่เหลี่ยม ๓ ซุ้ม ไม่มีเสารับซุ้ม ซุ้มเป็นปูนกว้างเท่ากันตลอด  หน้าต่างถึงพื้นแบบ ๑ ค. มีช่องแสงกระจกตีคิ้วไม้ในชุด เหนือซุ้มมีลายปูนรูปวงกลมและสามเหลี่ยม ได้แก่บ้านเลขที่ ๑๑๕ (มีรูปประกอบ)


 ๒. ไม่มีซุ้มหน้าต่าง  ผนังอาคารกลุ่มนี้ส่วนมากเป็นผนังไม้ทั้งหมด  หรือผนังไม้ตั้งแต่ระดับหน้าต่างขึ้นไป ส่วนล่างเป็นผนังก่ออิฐฉาบปูนเรียบ มีลายปูนปั้นบ้างเป็นบางห้อง  สามารถแยกออกเป็น
 - ผนังจากระดับคานถึงใต้วงกบล่างหน้าต่าง  เป็นผนังก่ออิฐฉาบปูนมีลายปูนปั้นเก๋งจีนประดับ มีสีสวยงามและมีอิฐเคลือบโปร่ง ๓ ช่วง ลายแบบจีน เหนือปูนปั้นเป็นหน้าต่างบานคู่แบบ ๑ ข. ๓ คู่ ตรงกลางด้านข้างอีกข้างละบาน ถัดไปเป็นผนังไม้เท่าระดับหน้าต่าง เหนือหน้าต่างเป็นช่องแสงกระจก ตีคิ้วไม้แบ่งเป็นช่องสี่เหลี่ยมตลอดแนว ได้แก่ บ้านเลขที่ ๑๓๕ (มีรูปประกอบ)
 - ผนังจากระดับคานถึงใต้วงกบล่างหน้าต่างเป็นผนังก่ออิฐฉาบปูน มีลายคล้ายกับห้องเลขที่ ๑๓๕ หน้าต่างแบบ ๑ ข. ทั้งหมด ๕ คู่ ตลอดแนว เหนือหน้าต่างเป็นผนังก่ออิฐฉาบปูน มีลายปูนปั้นเขียนสีแบบจีน ได้แก่ บ้านเลขที่ ๒๐ (มีรูป)
 - ผนังไม้มีหน้าต่างบานคู่แบบ ๑ ข. ๓ คู่ ตรงกลางห้องเหนือหน้าต่างเป็นบานเกล็ดไม้ติดตายตลอดแนวผนัง เหนือพื้นห้องขึ้นไปถึงระดับหลังคาเป็นช่องแสงกระจกตีคิ้วไม้ ได้แก่ ห้องเลขที่ ๓๖ ส่วนห้อง ๑๓๖ คล้ายกันต่างกันที่ไม่มีช่องแสง เป็นบานเกล็ดไม้ติดตายตลอดแนว  (มีรูป)
 -ผนังไม้มีหน้าต่างตลอดแนวเป็นบานคู่ด้านข้างอีกข้างละ ๑ บาน เหนือหน้าต่างเป็นลายปูนปั้นตลอดแนว ได้แก่ ห้องเลขที่ ๑๓๔ ส่วนห้องเลขที่ ๓๒ มีลักษณะเดียวกันแต่ลายที่เหนือหน้าต่างเป็นลายฉลุไม้แกะสลักลายดอกไม้ เหนือขึ้นไปเป็นไม้ ไม้โปร่งลายแบบจีน (มีรูป)
 - ผนังก่ออิฐฉาบปูนเรียบ เสาและคานใช้แบบหล่อเหล็ก ทำให้เกิดลาย ระบบการจัดหน้าต่าง (PATTERN) ต่างจากห้องอื่นโดยออกแบบในลักษณะครึ่งหน้าต่างเป็นบานลูกฟัก กระจกลายนูนตีคิ้วไม้ตารางสี่เหลี่ยม ถ้าแบ่งสองฝั่งจะเท่ากันโดยด้านข้างเป็นบานคู่สองช่วงถัดมาเป็นบานเปิด ๓ บาน  ลักษณะบานเหมือนกัน ตรงกลางเป็นบานคู่ เหนือบานคู่ตรงกลางและบานเปิด ๓ บาน เป็นช่องกระจกมีคิ้วไม้ ตารางสี่เหลี่ยมเรียงเป็นแนวนอน ได้แก่ บ้านเลขที่ ๓๐ (มีรูป)
 - อาคาร ๓ ชั้น ชั้น ๒ และชั้น ๓ มีระเบียงเป็นลูกปูนโปร่ง มีซุ้มระเบียงโค้งครึ่ง วงกลม ๓ ซุ้ม เสารับซุ้มเป็นเสากลม หัวเสาแบบไอโอนิค เสาและคานใช้แบบเหล็กหล่อ แบบเดียวกับห้อง ๓๐ มี PARAPPET เป็นปูนโปร่งตรงกลางโค้งมีลักษณะ KEYSTONE แบบ ๓  ค. รูปแบบเป็นอาคารที่มีอายุน้อยกว่าอาคารอื่น ได้รับอิทธิพลมาจากสถาปัตยกรรมแบบ นิโอ-คลาสสิค และแบบเรอเนอซองส์ ได้แก่ ห้องเลขที่ ๓๗ (มีรูป)


อาเขด (ARCADE) หรือ “หง่อ ก่า กี่”

คือ ซุ้มโค้งทางเดินหน้าอาคารตึกแถวถนนถลาง ถนนดีบุก ถนนกระบี่ ฯลฯ เป็นลักษณะการสร้างอาคารแบบชิโน-โปรตุกีส เป็นเพราะเหตุว่าภูเก็ตเป็นเมืองที่ฝนตกนานหลายเดือนเพราะอยู่ในอิทธิพลของลมมรสุมเจตนาการวางผังเมืองรูปแบบการสร้างบ้านเรือนอาคารในสมัยเทศาภิบาลมณฑลภูเก็ตคือ พระยารัษฎานุประดิษฐ์มหิศรภักดีต้องการให้ผู้คนที่สัญจรไปมาได้รับความสะดวกในการเดินผ่านไปมาจับจ่ายซื้อของในย่านตลาดร้านค้าเหล่านั้นตลอดจนการป้องกันละอองฝนที่จะทำให้ความเสียหายให้แก่สินค้าที่วางอยู่ภายในร้าน


  คำว่า หง่อก่ากี่ เป็นคำภาษาพื้นเมืองลักษณะท้องถิ่นของภูเก็ตที่ได้รับมาจากภาษามลายูและภาษาจีน “กากี” เป็นคำที่มาจากภาษามลายูที่เขียนเป็นอักษรโรมันว่า KAKI แปลว่าเท้า คำว่ากากี เข้ามาแพร่หลายในภูเก็ตสมัยก่อนโดยช่างก่อสร้างใช้เรียกไม้เป็นระยะความยาวที่มีขนาด ๑ ศอก ของมาตราวัดระยะแบบไทย หรือ ๑ ฟุต ของมาตราวัดระยะอังกฤษว่า “หนึ่งกากี” สำเนียงจีน ฮกเกี้ยน ชาวพื้นเมืองภูเก็ตออกเสียงเป็น “ฉิดก่ากี่” หรือ“จิ๊ดก่ากี่” “หง่อ” เป็นภาษาจีนฮกเกี้ยน แปลว่า ๕


 อุปกรณ์การก่อสร้างต่าง ๆ ในภูเก็ต ถ้าหากเป็นช่างก่อสร้างคนไทยแท้จะคิดเป็นศอก ถ้าอยู่ในแวดวงคนไทยเชื้อสายจีน (บาบ๋า) ก็จะคิดเป็น “ก่ากี่”
 ความกว้างของตึกแถวในตลาดภูเก็ตวัดกันเป็น ก่ากี่ ซึ่งส่วนมากจะมีความกว้างห้องละ ๑๖ ก่ากี่โดยเฉลี่ย ความกว้างของซุ้มโค้งทางเดินหน้าอาคารตึกแถวในภูเก็ตมีความกว้างประมาณ ๕ ก่ากี่ เรียกเป็นภาษาจีนปนกับมลายูว่า “หง่อก่ากี่” ซึ่งระยะความกว้างของช่องทางเดินประมาณ ๕ ช่วงฝ่าเท้า หรือ ๕ ฟุต หรือ ๕ ศอกโดยเฉลี่ย

 

บ้านพระพิทักษ์ชินประชา

 

 บ้านหลังแรกของภูเก็ตที่สร้างขึ้นตามแบบสถาปัตยกรรมยุโรปในสมัยรัชกาลที่ ๕ ก่อสร้างเมื่อ พ.ศ.๒๔๕๐ เจ้าของบ้านคือพระพิทักษ์ชินประชา (ต้นตระกูล ตัณฑวณิช) ที่ได้รับพระราชทานนามสกุลในสมัยรัชกาลที่ ๖ นามเดิมคือ ตันมาเสียง เนื่องจากทำความดีความชอบต่อบ้านเมือง จึงได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์และนามสกุลพระพิทักษ์ชินประชา เป็นบุตรคนที่ ๗ ของครอบครัว เป็นน้องชายของพระพิไสยสรรพกิจ (บุตรคนที่ ๒ ของครอบครัว) จุดประสงค์การสร้างบ้านหลังนี้เพื่อเป็นเรือนหอแต่ต่อมาก็ไม่ได้อยู่ ๒๑ ปีต่อมา ขุนชินสถานพิทักษ์บุตรชายของพระพิทักษ์ชินประชาได้มาอยู่บ้านหลังนี้ปัจจุบันเจ้าของคือ คุณประชา  ตัณฑวณิช บุตรชายขุนชินสถานพิทักษ์


 ในการสร้างบ้าน พระพิทักษ์ ฯ เป็นผู้ออกแบบและควบคุมการก่อสร้างโดยได้ช่างจากเมืองปีนัง ในช่วงเวลาไล่เลี่ยกันนั้นมีพระอร่ามสาครเขตอีกหลังหนึ่งที่สร้างแบบสถาปัตยกรรมยุโรป (ปัจจุบันคืออาคารเดินอากาศไทย) วัสดุก่อสร้างส่วนใหญ่นำมาจากปีนัง อิฐ วัสดุปูพื้นนำมาจากอิตาลีโดยผ่านมาทางปีนังสู่ภูเก็ตอีกทอดหนึ่งประโยชน์ในการใช้สอย ส่วนหน้าบ้าน(เดิม) ใช้รับแขกทั่วไปที่ไม่สนิทนักส่วนกลางของบ้าน (ปัจจุบันกลายเป็นส่วนหน้าบ้าน) ใช้รับแขกที่สนิทกับครอบครัว ส่วนในของบ้านเป็นส่วนที่ไว้ต้อนรับญาติพี่น้อง(ปัจจุบันคือส่วนโถงรับแขก) ในสมัยขุนชินสถานพิทักษ์ ได้ปรับปรุงโดยรื้อส่วนที่เป็นด้านหน้าของบ้านออก ซึ่งเดิมประกอบด้วย ห้องสมุด โถงด้านหน้า และบันไดทางขึ้น
 ต่อมาในสมัยคุณประชา ได้ต่อเติมทางระเบียงด้านซ้ายของอาคารหรือด้านตะวันออกและได้นำศิลาบางส่วนจากด้านหน้ามาต่อเติม ส่วนของบ้านที่ต้องซ่อมแซมบ่อย ๆ  คือหลังคา ฝา เพดาน สี ประตู

 

 ลักษณะอาคาร เป็นบ้าน ๒ ขั้น ทางเข้าเป็นมุขยื่นออกมาหลังคาจั่ว ด้านหน้าทางเข้ามีชานกว้างยกสูงจากพื้นประมาณ ๗๐ ซม. มีบ่อกลม กลางบ่อมีรูปปั้นอยู่ก่อนถึงมุขหน้า อาคารสีขาวหน้าต่างสีเทา ฝาผนังหนาประมาณ ๑ ฟุต โดยใช้วิธีก่ออิฐตามความยาวซึ่งใช้เป็นส่วนรับน้ำหนักแทนเสาด้านนอกทำเป็นเสาไว้โดยรูปแบบ ทำให้ตัวบ้านเย็นร่มรื่น มุขด้านหน้าเป็นส่วนที่ทำขึ้นใหม่แทนส่วนหน้าที่เคยมีเมื่อแรกสร้างแล้วได้รื้อออก ประตูทางเข้าใหญ่ที่มุขหน้านี้ เป็นประตูแบบจีนมีหน้าต่างอยู่ ๒ ข้างของฝาผนัง เสารับมุขหน้าเป็นเสา DORIC สี่เหลี่ยมเซาะร่อง เสาทั่วไปในชั้นล่างเป็นเสาสี่เหลี่ยมเซาะร่อง หัวเสาแบบผสม COPINTHIAN กับ IONIC หน้าต่างเป็นหน้าต่างบานเปิดคู่มีบานเกล็ดไม้ปรัดได้ในบานเปิด ซึ่งหน้าต่างบางส่วนของชั้นล่างเปลี่ยนเป็นบานเกล็ดกระจกปรับองศา บางส่วนเป็นซุ้มโค้ง  หน้าต่างเปิดไม่ถึงพื้นพื้นลูกกรงปูนปั้นใต้หน้าต่าง


 ชั้นสองมีซุ้มหน้าต่างมี KEYSTONE มีลวดลายปูนปั้นประดับผนัง หัวเสาประดับหลังคามีส่วนที่เป็นจั่ว มีลวดลายปูนปั้นประดับหน้าจั่ว เป็นลายตลับลูกปืน ล้อมรอบลูกกลม (BALL BARING) ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของอุตสาหกรรมเหมืองแร่ดีบุกของภูเก็ตสมัยการทำเหมืองแร่รุ่งเรือง  หลังคามุงกระเบื้องกราบกล้วย สันหลังคาปูนปั้น ทางด้านหลังของอาคารเป็นโรงรถซึ่งมีกระเบื้องชั้น  ๒ ยื่นมาคลุม ภายในบ้านพื้นปูกระเบื้องซีเมนต์ ห้องแรกคือห้องมุขหน้าเป็นที่ไว้ภาพบรรพบุรุษและแท่นบูชา รวมทั้งภาพเก่า ทางปีกซ้ายขวาส่วนหน้าทำเป็นห้องนอน เพดานไม่ตีฝ้า มองเห็นคานไม้  ตง และพื้นไม้ชั้นบน ไม้ทุกแผ่นลบมุม ทาสีเทาตลอดเพดาน ผนังช่วงล่างทาสีเขียว VERIDIAN อ่อน ๆ มีลวดลายดอกไม้ด้านบนสีน้ำตาล ส่วนผนังช่วงบนทาสีขาว ถัดจากห้องน้ำไปเป็นส่วนพักผ่อน มี COURT กลางเป็นสระน้ำ จัดสวนและเลี้ยงปลาอยู่ตรงกับช่องเปิดโล่งในหลังคาที่เรียกว่า “สิ่มแจ้” สระนี้อยู่ตรงด้านหลังของผนังกลางของห้องหน้ามุข ซึ่งมีทางเข้าอยู่ ๒ ข้าง มี KEYSTONE มองขึ้นไปเห็นหน้าต่างเปิดถึงพื้นของห้องชั้น ๒ แต่ละหน้าต่างมีราวลูกกรงไม้ฉลุกั้น และเห็นชายคายื่นเข้ามาประมาณ ๘๐ ซ.ม. มีรางน้ำโดยรอบ ฝ้าชายคาไม้ตีชิด ทาสีฟ้า ส่วนนี้มีบันไดด้านในขึ้นชั้น ๒ อยู่ทางด้านขวาของตัวบ้านเป็นบันไดไม้สีโอ๊คเข้ม ลูกกรงไม้กลึงมีลวดลายเดินทองตามขอบช่วงลูกตั้งลูกนอนบันไดและใต้บันไดเป็นแบบจีนลวดลายวิจิตร


 ถัดจากส่วนห้องพักผ่อนไปทางด้านหลัง เป็นห้องรับประทานอาหารและครัว การตบแต่งภายในเครื่องเรือนทั่วไปเป็นแบบจีน ชั้นบนผังบ้านคล้ายกับชั้นล่าง แต่แบ่งห้องต่าง ๆ ออกเป็นห้องนอน ๕ ห้อง ห้องน้ำ ๑ ห้อง ด้านหลังมีระเบียงรับลม โครงสร้างส่วนที่เป็นไม้ ชั้นบนนี้ใช้ไม้เนื้อหอม “ไม้บริแหวน” เป็นไม้ที่มีคุณสมบัติทนทาน ถ้าเจาะเข้าไปในเนื้อไม้ก็จะส่งกลิ่นหอมไปทั่วบ้าน


 จากโครงสร้างเดิมของบ้าน พระพิทักษ์ชินประชา สร้างให้หันหน้าบ้านไปทางทิศใต้ เพราะจะทำให้บ้านสามารถรับลมได้ ๒ ด้าน คือลมตะวันออกเฉียงเหนือและตะวันออกใต้ ทำให้บรรยากาศในบ้านเย็นสบาย ส่วนช่องเปิดโล่งภายในซึ่งอยู่กลางบ้านนั้นเป็นส่วนช่วยระบายอากาศ
 ลักษณะช่องเปิดโล่ง “สกาย ไลท์” หรือ “สิ่มแจ้” ทั้งบ้านหลังเดี่ยว ๆ หรือตึกแถวในภูเก็ตนี้นิยมสร้างกันมาก ซึ่งในสมัยก่อนนี้ชาวภูเก็ตจะดูว่าบ้านไหนออกแบบได้ดีเยี่ยมก็จะดูกันที่การระบายอากาศของบ้านนั้น ๆ ว่ามีมากน้อยเพียงใด (รูปประกอบ)

 

บ้านหลวงอำนาจนรารักษ์

 

 หลวงอำนาจนรารักษ์ผู้เป็นเจ้าของ สร้างเมื่อ พ.ศ.๒๔๕๔  คิดเป็นเวลาประมาณ ๘๐ กว่าปีมาแล้ว ช่างก่อสร้างเป็นชาวจีนจากปีนัง หลวงอำนาจนรารักษ์ ทำเหมืองอยู่ที่กะทู้ ชื่อเดิมว่าจีนตันค๊วด ต่อมาพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ แต่งตั้งให้เป็นหลวงอำนาจนรารักษ์ ดังข้อความในใบแต่งตั้งบรรดาศักดิ์ให้จีนตันค๊วด เป็นหลวงอำนาจนรารักษ์ กรมการพิเศษเมืองภูเก็ต  ถือศักดินา ๖๐๐ จงช่วยผู้ว่าราชการเมืองภูเก็จคิดอ่านราชการบ้านเมืองและฟังบังคับบัญชาผู้ใหญ่ในเมืองนั้น แต่ที่เป็นยุติธรรม และชอบด้วยราชการ จงเว้นการควรเว้น หมั่นประพฤติการควรประพฤติ และรักษาความซื่อสัตย์สุจริตต่อกรุงเทพมหานครตามอย่างธรรมเนียมผู้ที่อยู่ในตำแหน่งเช่นนี้ จงเจริญศุขสวัสดิ์ ทำราชการตามตำแหน่งตั้งแต่บัดนี้ไปเทอญ ตั้งแต่ ณ วันที่ ๕ กันยายน รัตนโกสินศก ๑๓๑ เป็นปีที่ ๓ ของตราดวงซึ่งประทับนี้ ประจำการแผ่นดินสยามเป็นวันที่ ๖๖๕         ในรัชกาลปัจจุบันสมเด็จพระปรเมนทรมหาวชิราวุธ


 บ้านหลังนี้ได้ตกทอดต่อกันมาเป็นของนายจินฮอง ตัณฑเวส บุตรชายคนที่ ๓ ของหลวงอำนาจนรารักษ์ และคุณสุ่ยเอี่ยน ตัณฑเวส บุตรีของคุณจินฮอง ตัณฑเวส ตามลำดับ


 ลักษณะของอาคาร เป็นบ้าน ๒ ชั้นสีเหลืองออกน้ำตาล ลักษณะการวางผังแบบ SYMMETRICAL  BALANCE ด้านหน้ามีมุขยื่น ทางปีกซ้ายขวาของบ้านเป็นมุขครึ่งแปดเหลี่ยมมุขหน้าชั้นล่างโปร่งมีซุ้มโค้ง เสาโครงสร้างเป็นเสาสี่เหลี่ยมเซาะร่องมีลวดลายแบบจีนตอนใกล้หัวเสา แต่หัวเสาเป็นแบบ คอรินเธียน (CORINTHIA) เสารับซุ้มเป็นเสากลม หัวเสาแบบเสาเซาะร่องรอบ ๆ ร่องทำเป็นเส้นนูนรอบ โค้งส่วนหน้าเป็นโค้งเตี้ย (THREE CENTERED ARCH ) มี KEYSTONE แบบทำเป็นเส้นโค้งอ่อนช้อย ส่วนผนังเหนือโค้ง มีลวดลายดอกไม้แบบจีนเป็นลายปูนปั้นประดับ ที่ผนังทางด้านข้างของมุขหน้าชั้นล่างเป็นหน้าต่างบานเปิดคู่เกล็ดไม้ติดตาย ด้านบนมีช่องระบายอากาศบานเกล็ด ซุ้มหน้าต่างเป็นซุ้มจั่วเสารับซุ้มจั่วแบบ CORINTHIAN  บริเวณจั่วเหนือหน้าต่างมีลวดลายปูนปั้นประดับ ส่วนกลางคือบริเวณทางเข้าใหญ่เป็นประตูไม้ฉลุลวดลายแบบจีนมีหน้าต่างซ้าย - ขวา เหนือหน้าต่างเป็นช่องระบายอากาศแบบจีนใส่ลูกกรงเหล็กตามแนวตั้ง ประตูไม้ฉลุเป็นลายละเอียดงดงามมาก ส่วนกลางของบานประตูเป็นลักษณะพิเศษคือฉลุเป็นลายดอกไม้ แต่ทางด้านนอกกับด้านในเป็นดอกไม้ต่างชนิดกัน (น่าสังเกตว่า ทั้ง ๆ ที่อยู่ในบริเวณลวดลายฉลุบริเวณเดียวกัน ประตูไม้ใช้บานพับมีเดือยไม้ที่พื้นและที่ส่วนบนสุดของประตู เหนือประตูมีป้ายสีแดง ตัวอักษรภาษาจีนสีทอง)


 ที่มุขยื่นครึ่งแปดเหลี่ยมทั้งสองข้างเป็นระเบียงเล็ก ๆ ราวลูกกรงปูนชั้น ๒ หน้าต่างเปิดถึงพื้น ทางด้านหน้าส่วนที่ไม่ใช่มุขแปดเหลี่ยม มีโค้งเสี้ยววงกลม (SEGMENTAL ARCH)  มีบานเกล็ดไม้ปรับได้ในบานประตูคู่ ด้านหน้าสุดมีซุ้ม ๓ ซุ้ม ส่วนด้านอื่น ๆ มีซุ้ม ๒ ซุ้ม ไม่มีเสารับ มีกรอบเป็นปูนปั้นทำเป็นลายเส้น เสาโครงสร้างชั้นบนเป็นเสาผสม CORINTHIAN กับ IONIC เสาสี่เหลี่ยมเซาะร่องและทำเป็นเส้นนูนรอบ ๆร่องแต่ละร่อง ระหว่างซุ้มทุก ๆซุ้ม มีลวดลายปูนปั้นประดับ


-----------------------------------------------------
รูป


 ชั้นสองของมุขครึ่งแปดเหลี่ยมเป็นหน้าต่างเปิดไม่ถึงพื้น ด้านล่างของหน้าต่างเป็นลูกกรงปูนเหมือนชั้นล่าง แต่ด้านหลังลูกกรงผนังทึบ ซุ้มหน้าต่างเป็นซุ้มครึ่งวงกลม เป็นหน้าต่างกระจกและมีช่องระบายอากาศเกล็ดไม้ติดตายเหนือบานเปิด ระหว่างโค้งมีลวดลายปูนปั้นประดับ เสาเป็นเสา  CORINTHIAN ผสม IONIC หลังคามุงด้วยกระเบื้องกาบกล้วยดินเผา ฝ้าชายคา ตีกระเบื้องแผ่นเรียบปิดหมด ภายในห้อง เป็นห้องโถงยาวปูกระเบื้องซีเมนต์(สีถลอกกร่อนมาก) ทางซ้ายมือเมื่อมองจากทางเข้ามีบันไดซึ่งมีช่วงชานพักโค้ง บันไดไม้โอ๊คแดง ลายใต้บันไดเป็นเส้นสี่เหลี่ยมขนมเปียกปูน ทางด้านหลังเป็นครัวไม้ใหญ่เพดานไม้ตีฝ้า ผนังภายในทาสีฟ้าคราม ประตูภายในทาสีเขียวฟ้าน้ำทะเล ลูกฟักเหลืองน้ำตาล

 

บ้านพระอร่ามสาครเขตร

 เจ้าของบ้านคือพระอร่ามสาครเขตร (ตันเพ็กฮวด ตัณฑัยย์) เป็นผู้สร้าง อายุการก่อสร้างประมาณ ๘๐ กว่าปี ในอดีตพระอร่ามสาครเขตเคยได้รับบรรดาศักดิ์เป็นถึงอำมาตย์ตรี เป็นที่รู้จักของคนทั่วไปในฐานะนายเหมืองแร่ดีบุก เจ้าของสวนยางพารารายใหญ่ขณะนั้นเป็นผู้มีฐานะแนวหน้าในจังหวัดภูเก็ต บ้านเรือนที่สร้างขึ้นมีบริเวณกว้างขวางคือ ด้านหน้าอยู่ทางด้านถนนระนอง ด้านหลังอยู่ทางด้านถนนกระบี่ มีซุ้มรั้วประตูบ้านและตัวอาคารบ้านเรือน เป็นศิลปะแบบชิโน-โปรตุกีส ปัจจุบันบ้านในบริเวณนี้ได้ถูกเปลี่ยนเจ้าของไปเป็นของบริษัทเดินอากาศไทย โรงเรียนอนุบาลภูเก็ตกุลธิดาและโรงพยาบาลสิริโรจน์


 ลักษณะของอาคารเป็นอาคาร ๒ ชั้น โครงสร้าง ค.ล.ส. ทาสีขาว การวางผังเป็น ASYMMETRICAL BALANCE ด้านหน้ามีมุขยื่น ทางปีกขวามีมุขยื่น และมีมุขโค้งครึ่งวงกลม ทางปีกซ้ายมีมุขยื่น และมีมุขครึ่งของแปดเหลี่ยมทางเข้าอาคารอยู่ในมุขด้านหน้า ชั้นล่างมี CANOPY เป็นซุ้มโค้งเตี้ย (THREE-CENTERED ARCH) เสารับซุ้มเป็นแบบเสา IONIC มีลวดลายปูนปั้นประดับมาก เหนือโค้งมี KEYSTONE และมีปูนปั้นรูปสัตว์ประดับ KEYSTONE เสาจริงเป็นเสาสี่เหลี่ยมเซาะร่องแบบหินก่อ (RUSTICATION) หัวเสา IONIC มีลวดลายปูนปั้นลายผลไม้ประดับหัวเสา ผนังด้านทางเข้ามีประตูกลาง หน้าต่าง ๒ ข้าง เหนือหน้าต่างมีช่อ-แสงรูปรี ประตูหน้าต่างเป็นบานเปิดคู่  กรอบไม้สีดำกรุกระจกสีลายนูน หน้าต่างเหมือนกันทั่วอาคาร ยกเว้นมุขโค้ง


 ส่วนมุขโค้งลวดลายบานหน้าต่างจะใช้ลายตารางแบบเรียบง่าย และมุขทางปีกขวาสุด มีการทำกันสาดยื่นออกมาคลุมหน้าต่าง มุงหลังคากันสาดด้วยกระเบื้อง CPAC MONIER


 ชั้น ๒ เป็นหน้าต่างกระจกฝ้า ด้านมุขหน้ามีหน้าเปิดบานคู่ ๓ คู่ เสาประดับหัวเสา IONIC ผนังสีลวดลายปูนปั้นประดับตลอด มุขรูปครึ่งของแปดเหลี่ยมมีลูกกรงปูนใต้หน้าต่าง แต่ผนังหลังลูกกรงฉาบทึบเหนือหน้าต่างมีช่องแสงรูปรี กรุกระจกฝ้า


 ปีกซ้ายสุดของอาคารเป็นระเบียงยื่นออกไป (ชั้น ๒) มีลายปูนปั้นประดับขอบล่างของช่องแสงเป็นลายพวงมาลัย เสาชั้นบนหัวเสา IONIC ช่วงล่างของเสาทำเป็นกระเปาะโค้งตามมุมประดับลายใบไม้แบบหัวเสา “โครินเธียน” (CORINTHIAN) ทางมุขโค้งและปีกขวาอาคาร ใต้หน้าต่างทำเป็นลูกกรงหน้าผนังทึบแต่เสาช่วงปีกขวาสุดไม่มีการทำช่วงล่างเป็นกระเปาะ หน้าต่างทางปีกนี้ไม่มีช่องแสงรูปไข่เหมือนหน้าต่าง
 หลังอาคาร(ปัจจุบัน) เป็นกระเบื้อง


CPAC  ลอนเหลี่ยมสีแดงอิฐฝ้าชายคา  กระเบื้องแผ่นเรียบปิดตลอดทาสีขาวิตีกรอบดำ สันหลังคาปูนปั้น ตามมุมทำเป้นยอดแหลมภายในอาคารจัดเป็นที่ทำงาน ๒ ข้าง มีโค้งเตี้ยแบบ THREE-CENTERED ARCH เสารับโค้งแบบ IONIC เสากลมไม่เซาะร่อง ไม่ตีฝ้าเพดาน ผนังภายในสีขาว เพดานสีครีม พื้นกระเบื้องซีเมนต์ลวดลายงดงาม 


 รูปแบบของสถาปัตยกรรมในภูเก็ตมีการเปลี่ยนแปลงเรื่อยมา นับเนื่องตั้งแต่ยุคเริ่มแรกบ้านแบบทรงไทยภาคใต้ ยุคต่อมาเป็นบ้านแบบจีนผสมยุโรปหรือ ชิโน-โปรตุกีส จนถึงปัจจุบันนี้การก่อสร้างส่วนใหญ่ยึดเอาแบบตะวันตกมาเป็นรูปแบบพื้นฐาน โดยมีเป้าประสงค์ในด้านความประหยัดและการดูแลรักษา

 ศิลปวัฒนธรรมย่อมขึ้นอยู่กับภาวะแวดล้อมของเศรษฐกิจและสังคม ยุคใดสมัยใดการเศรษฐกิจและสังคม ยุคใดสมัยการเศรษฐกิจรุ่งเรือง ความเป็นอยู่ของสังคมนั้น ๆ ก็มีแนวโน้มไปในทางสิ้นเปลืองเพื่อความสะดวกสุขสบาย ทั้งในด้านการเป็นอยู่การติดต่อ สร้างสรรค์มากขึ้น การก่อสร้างสถานที่อยู่อาศัย สถานที่ทำงาน ก็มักจะมีความโอ่อ่าสง่างาม มีส่วนที่ประดับประดาตกแต่งที่สูญค่าทางเศรษฐกิจมากขึ้น ยุคใดที่การเศรษฐกิจทรุดโทรมแนวโน้มในชีวิตความเป็นอยู่ของคนก็บีบตัวลง ตัดทอนสิ่งสิ้นเปลืองฟุ่มเฟือยออกไป การก่อสร้างที่อยู่อาศัยและอาคารต่าง ๆ ก็แสวงหาแง่มุมในทางประหยัดมากขึ้น


 สถาปัตยกรรมแบบยุโรปนั้นบางแบบได้ผ่านการทดสอบเกี่ยวกับการประหยัดมาแล้วเป็นอย่างดี ฉะนั้นจึงไม่มีการแปลกประหลาดอะไร ที่ชาวภูเก็ตซึ่งปกติวิสัยเป็นคนเปลี่ยนแปลงได้ฉับไว ศึกษาได้รวดเร็ว เลียนแบบได้อย่างเท่าเทียม จะหยิบฉวยนำมาพัฒนาประยุกต์ให้เข้ากับภาวะชีวิตของชาวภูเก็ตแต่ละยุคแต่ละสมัย จวบจนทุกวันนี้
แก้ไขล่าสุดเมื่อ ( จันทร์, 08 กันยายน 2008 )
 
< ก่อนหน้า   ถัดไป >

สมุดภาพเหมืองแร่

Counter

mod_vvisit_countermod_vvisit_countermod_vvisit_countermod_vvisit_countermod_vvisit_countermod_vvisit_countermod_vvisit_countermod_vvisit_countermod_vvisit_counter
mod_vvisit_counterวันนี้28
mod_vvisit_counterเมื่อวาน2221
mod_vvisit_counterทั้งหมด10647396