Skip to content

Phuketdata

default color
Home arrow Search
พระบรมราชานุสาวรีย์รัชกาลที่ ๕ PDF พิมพ์ อีเมล์
เขียนโดย ปาณิศรา ชูผล มทศ.   
อาทิตย์, 10 กุมภาพันธ์ 2008

๓.๒.๑(๕) พระบรมราชานุสาวรีย์รัชกาลที่ ๕

 

ความเป็นมา

 ในการประชุมเพื่อเตรียมงานวางพวงมาลาวันปิยะมหาราช ๒๓ ตุลาคม ๒๕๒๔  กรรมการจังหวัดและผู้เข้าร่วมประชุมโดยนายมานิต  วัลยะเพ็ชร์  ผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต  เป็นประธาน  ได้มีความเห็นว่าจังหวัดภูเก็ตไม่มีพระบรมราชานุสาวรีย์ของพระมหากษัตริย์ไทยพระองค์ใดประดิษฐานในที่สาธารณะเพื่อเป็นการเทิดพระเกียรติให้ประชาชนได้สักการะและเพื่อเป็นศูนย์รวมให้รำลึกถึงความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันของคนในจังหวัดภูเก็ตซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของคนไทยในชาติเดียวกัน ในวันที่ ๒๓ ตุลาคม ทุกปีที่ผ่านมาข้าราชการ พ่อค้า ประชาชน นักเรียน นักศึกษา และกลุ่มพลังมวลชน  ได้จัดทำพวงมาลามาร่วมในพิธีวางพวงมาลาวันปิยะมหาราชเป็นจำนวนมาก เจ้าหน้าที่ผู้รับผิดชอบในการจัดเตรียมสถานที่ได้เตรียมการ โดยนำพระรูปจำลองของพระองค์มาประดิษฐานเป็นการชั่วคราวตลอดมา  พระบรมรูปจำลองที่จัดหามาได้มีขนาดเล็กไม่เด่นชัด ไม่มีสง่าเท่าที่ควร  การกระทำดังกล่าวน่าจะเป็นไม่เหมาะสมแก่คุณความดีของพระองค์ท่านที่มีต่อประชาชนชาวไทยทั้งมวล  จังหวัดภูเก็ตน่าจะกระทำได้ดีกว่าที่ปฏิบัติมาแล้ว
 อนึ่ง เนื่องจากขณะนั้นทางราชการได้ประกาศชวนเชิญให้ส่วนราชการต่าง ๆ และทุกจังหวัดจัดสร้างสิ่งที่เป็นสาธารณะประโยชน์  ตลอดจนสิ่งซึ่งจะเป็นอนุสรณ์สำหรับชุมชนทั่วไปในโอกาสเฉลิมฉลองการครบ ๒๐๐ ปี กรุงรัตนโกสินทร์ ในพ.ศ.๒๕๒๕ ที่ประชุมจึงเห็นชอบให้จัดสร้างพระบรมราชานุสาวรีย์ของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕ ในสถานที่ที่เหมาะสมให้สมพระเกียรติ และให้ประชาชนได้มีโอกาสเยี่ยมตลอดจนได้สักการะได้ทุกโอกาส และให้เร่งรัดดำเนินการเร่งให้เสร็จโดยด่วนเพื่อเป็นโครงการหนึ่งในการร่วมงานฉลองครบรอบ ๒๐๐ ปี กรุงรัตนโกสินทร์

 

การดำเนินงาน

 เพื่อให้การจัดสร้างเป็นไปโดยถูกต้องตามระเบียบแบบแผนของทางราชการ จังหวัดภูเก็ตจึงได้รายงานกรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย และกรมศิลปากร      กระทรวงศึกษาธิการ  ตลอดจนราชเลขานุการในพระองค์ ฯ เพื่อทราบความต้องการของจังหวัดภูเก็ตและขอความร่วมมือในการให้การสนับสนุนการจัดสร้างตลอดจนการดำเนินการขอพระราชทานพระบรมราชานุญาตในการจัดสร้าง ในการนี้จังหวัดได้รับความร่วมมือในการดำเนินการอย่างดียิ่งจากทุกฝ่าย เฉพาะกรมศิลปากรได้มอบหมายให้นายประเวศ  ลิมปรังษี  ผู้อำนวยการกองหัตถศิลป์ และนายชิน ประสงค์ ประติมากรกองหัตถศิลป์ มาร่วมพิจารณาคัดเลือกสถานที่ที่จะสร้างและให้คำปรึกษาแนะนำในการดำเนินการ


 ในการประชุมปรึกษาหารือร่วมกันครั้งสุดท้าย ที่ประชุมมีความเห็นชอบร่วมกันว่าเนื่องจากพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕ มีความสำคัญอย่างยิ่งในการปรับปรุงบริหารงานและการปกครอง ทั้งในด้านการปรับปรุงองค์กร  ตลอดจนความสัมพันธ์ระหว่างประชาชนที่มีต่อกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในส่วนที่เกี่ยวกับการเลิกทาสนั้นเป็นพระมหากรุณาธิคุณหาที่สุดมิได้   ฉะนั้นพระบรมราชานุสาวรีย์ของพระองค์ท่านสมควรประดิษฐานบริเวณหน้าอาคารหลักในการบริหารและการปกครองของชุมชนในพื้นที่จังหวัด  สำหรับจังหวัดภูเก็ตจึงสมควรจัดสร้างบริเวณหน้าอาคารศาลากลางจังหวัดภูเก็ต และควรจัดสร้างเท่าพระองค์จริงเพื่อให้ได้สัดส่วนกับอาคารและบริเวณโดยรอบ


 เมื่อได้เห็นชอบร่วมกันเป็นที่เรียบร้อย  กองหัตถศิลป กรมศิลปากร  จึงได้ให้การสนับสนุนออกแบบพระบรมราชานุสาวรีย์ และเสนอขอพระราชทานพระบรมราชานุญาต  เมื่อได้รับพระราชทานพระบรมราชานุญาตแล้ว  จึงได้ดำเนินการหล่อพระบรมรูปเท่าพระองค์จริงให้จังหวัดภูเก็ต  โดยจังหวัดภูเก็ตเป็นผู้รับผิดชอบค่าใช้จ่ายในการดำเนินการ  สำหรับถ้อยคำจารึกที่แท่นประดิษฐานพระบรมราชานุสาวรีย์นั้น  จังหวัดได้เสนอข้อความที่จะจารึกให้กรมศิลปากรเป็นผู้พิจารณา  และกองวรรณคดีและประวัติศาสตร์ กรมศิลปากร  ได้ปรับปรุงแก้ไขให้จารึกข้อความไว้ดังนี้


 “ จ.ป.ร. พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาจุฬาลงกรณ์  พระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว  พระราชสมภพเมื่อพุทธศักราช ๒๓๙๖  เสด็จเถลิงถวัลยราชสมบัติ เมื่อพุทธศักราช ๒๔๑๑  เสด็จสวรรคตเมื่อพุทธศักราช ๒๔๕๓  ทรงสร้างสรรค์ความเจริญ วัฒนา และความมั่นคงแก่พระราชอาณาจักร  พระราชทานความร่มเย็นเป็นสุขแก่พสกนิกรโดยทั่วหน้า


 ข้าราชการ พ่อค้า และประชาชน จังหวัดภูเก็ต พร้อมใจกันสร้างและประดิษฐานพระบรมราชานุสาวรีย์นี้เพื่อเฉลิมพระเกียรติในวโรกาสสมโภชกรุงรัตนโกสินทร์ ๒๐๐ ปี พุทธศักราช ๒๕๒๕“


 ด้วยความร่วมมืออย่างดียิ่งของผู้เกี่ยวข้องทุกฝ่าย  จังหวัดได้รับแจ้งจากกรมศิลปากร ให้ส่งเจ้าหน้าที่ไปรับพระบรมรูปของสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว  ซึ่งได้จัดทำแล้วเสร็จเพื่อนำกลับจังหวัดภูเก็ต ในวันที่ ๑๕ ธันวาคม ๒๕๒๕  และเมื่อจังหวัดได้ทำแท่นฐานแล้วเสร็จจึงได้นำพระบรมรูป ฯ ขึ้นประดิษฐานบนแท่นฐานอนุสาวรีย์ในเดือนกุมภาพันธ์ ๒๕๒๖  และผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ตได้มีหนังสือถึงราชเลขาธิการให้พิจารณานำความกราบบังคมทูลอัญเชิญพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระนางเจ้าพระบรมราชินีนาถ หรือในกรณีที่พระองค์ท่านไม่ทรงว่างจากพระราชภารกิจอื่นขอได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร หรือสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินกระทำพิธีเปิดพระบรมราชานุสาวรีย์แทนพระองค์ให้เป็นที่เรียบร้อย  ดังที่ราชการได้ถือเป็นแนวทางปฏิบัติเพื่อความเป็นสิริมงคลแก่ประชาชนจังหวัดภูเก็ตสืบไป

หนังสืออ้างอิง
 วารสารภูเก็ตฉบับพิเศษ โปรด ฯ ให้สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช ฯ สยามมกุฎราชกุมาร เสด็จแทน ฯ เมื่อวันที่ ๕ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๒๗

 
< ก่อนหน้า   ถัดไป >

สมุดภาพเหมืองแร่

Counter

mod_vvisit_countermod_vvisit_countermod_vvisit_countermod_vvisit_countermod_vvisit_countermod_vvisit_countermod_vvisit_countermod_vvisit_countermod_vvisit_counter
mod_vvisit_counterวันนี้1721
mod_vvisit_counterเมื่อวาน1243
mod_vvisit_counterทั้งหมด10646868