Skip to content

Phuketdata

default color
Home arrow Search
โบราณสถานในจังหวัดภูเก็ต PDF พิมพ์ อีเมล์
เขียนโดย ปาณิศรา ชูผล มทศ.   
อาทิตย์, 10 กุมภาพันธ์ 2008

๓.๒.๑(๒) โบราณสถาน

ผศ.สมหมาย ปิ่นพุทธศิลป์

อีเมลนี้จะถูกป้องกันจากสแปมบอท แต่คุณต้องเปิดการใช้งานจาวาสคริปเพื่ออ่านมันได้

--------------------------(มห.ภูเก็จ ๒๓๑๓)

 กรมศิลปากรได้ดำเนินการตามขั้นตอน จนสามารถขึ้นทะเบียนอาคารที่มีคุณค่าเป็นโบราณสถาน ตามลำดับดังนี้

๑. ศาลากลางจังหวัด ภูเก็ต
๒. วัดพระนางสร้าง (ลายแทงวัดพระนางสร้าง ) (ตำนานพระนางเลือดขาว )(ภาพพระกินคน ) (เศียรพระในพุง )
๓. บ้านพระยาวิชิต สงคราม
๔. สำนักงานขายประจำประเทศไทย ภาคใต้ตอนบน บริษัทการบินไทย จำกัด (มหาชน) การบินไทย (ตึกพระอร่ามาครเตร )
๕. อาคารสำนัก งานที่ดิน


ศาลากลางจังหวัดภูเก็ต

 อาคารศาลากลางจังหวัดภูเก็ต ตั้งอยู่ ณ หัวมุมถนนนริศร ติดกับถนนสุรินทร์เป็นอาคารสถานที่ราชการที่ประกาศขึ้นทะเบียนโบราณสถานในราชกิจจานุเบกษาเล่มที่ ๑๙๓ ตอนที่ ๓๙ วันที่ ๑๐ พฤษภาคม ๒๕๒๐ หน้า ๒๐๒๗ เนื่องจากเป็นอาคารที่มีความสำคัญทางประวัติศาสตร์ และมีคุณค่าทางสถาปัตยกรรม

 

 เนื่องด้วยพระยารัษฎานุประดิษฐ์ ฯ สมุหเทศาภิบาลมณฑลภูเก็ตมีดำริเมื่อวันที่ ๑ มกราคม พ.ศ.๒๔๔๙ ในการพัฒนามณฑลภูเก็ต รวมทั้งการย้ายที่ว่าการเมืองภูเก็ตซึ่งอยู่ในตลาดเพื่อความสง่างามและใช้ที่ตั้งเดิมทำเหมือง มีดำริให้ไปตั้งที่เขาโต๊ะแซะ เป็นนิคมข้าราชการ โดยมีศูนย์กลางที่ศาลากลาง ดังนั้นพระยารัษฎานุประดิษฐ์ฯ ซึ่งได้เชิญชาวต่างชาติขุดแร่ดีบุกในเขตประทานบัตรบริเวณถนนหลวงพ่อวัดฉลอง ถนนพังงา ถนนสุรินทร์ และถนนสุทัศน์  คือประทานบัตรแปลงด้านหน้าที่ทำการไปรษณีย์โทรเลขภูเก็ต โดยให้ฝรั่งสร้างศาลากลางเป็นการแลกเปลี่ยนประทานบัตรการขุดแร่ดีบุกแปลงดังกล่าว บริษัทนั้นก็ให้ช่างชาวอิตาเลี่ยนสร้าง ยังไม่ทันสร้างพระยารัษฎาฯ ก็ถึงแก่กรรม เมื่อ พ.ศ.๒๔๕๖ จึงคงมีการสร้างหลังจากนั้น  และรัชกาลที่ ๖ ได้เสด็จไปเปิดศาลารัฐบาล ในคราวเสด็จประพาสภูเก็ตครั้งที่ ๒ เมื่อวันที่ ๒๒ เมษายน พ.ศ.๒๔๖๐

 ลักษณะอาคารเป็นอาคาร ๒ ชั้น ทั้งหมด พื้นอาคารชั้นล่างสูงกว่าพื้นดิน ๕ ขั้นบันได ลักษณะการวางผังแบบ SYMMETRICAL BALANCE  ด้านหน้าอาคารเป็นจั่ว    หันหน้าไปทางพระบรมรูปรัชกาลที่ ๕ ซึ่งประดิษฐานอยู่บนแท่นสูงในวงเวียนพระบรมรูปหันพระพักตร์ไปทางประตู ซึ่งไม่ได้ใช้เป็นทางเข้าหลัก เนื่องจากทางด้านนั้นไม่ใช่ทางรถเข้า เป็นเพียงบันไดขึ้น ทางสัญจรหลักสำหรับรถจะเข้าทางด้านข้างของอาคาร


 ตลอดอาคารทั้งชั้น ๑ และชั้น ๒ จะเป็นเสาลอยขนาดเสา ๑๕ ซ.ม. เสาคอนกรีตเสริมเหล็กช่วงเสาถี่  มีทางเดินรอบอาคารระหว่างเสาทุกต้นจะมีลูกกรงปูนโปร่งสีขาว อาคารส่วนที่เป็นไม้จะมีกรอบสีเทาอ่อน ไม้ส่วนอื่นทาสีเทาอมฟ้าอ่อน ทั้งชั้น ๑ และ ๒ ประดับด้วยไม้ฉลุลวดลาย และเกล็ดไม้ตาย เป็นส่วนกันแดด อาคารนี้ไม่มีหน้าต่าง จะเป็นลักษณะประตูเปิดบานคู่ทุก ๆ ช่วงเสา ความสูงประมาณ ๕๐ ซ.ม. กรอบบานสีเทา ตัวบานสีเขียวอมเทา การระบายอากาศของอาคารนี้ดีมาก เป็นอาคารที่โปร่งและเย็นสบาย พื้นภายในอาคารเป็นพื้น ค.ส.ล. ทำผิดเป็นรูเล็ก ๆ โดยตลอดไม่ทาสี พื้นบางส่วนมีการดัดแปลง เช่น ทำเป็นแผ่นหินขัดเรียงต่อๆ กันแบบมีกระเบื้องทางด้านหน้าเมื่อเข้ามาจะเป็นบันได ขึ้นชั้น ๒ บันได เป็นบันไดสีไม้โอ๊คเข้มเกือบดำ  หัวบันไดสลักเป็นรูปดอกไม้กลีบมะเฟืองสวยงามมาก ส่วนลูกกรงบันไดเรียบง่าย เป็นไม้ตีตามตั้งไม่ได้ฉลุ แต่ตีไม้ลักษณะเป็น PATTERN เมื่อขึ้นไปชั้น ๒ จะเป็น COURT ซึ่งมีระเบียงล้อมรอบ ลูกกรงระเบียงเป็นลูกกรงปูนลวดลายเหมือนภายนอก พื้นชั้น ๒ เป็นคอนกรีตเสริมเหล็ก ทำผิดเป็นรู ๆ เหมือนชั้น ๑ เหนือ COURT เป็นช่วงเปิดโล่งในหลังคา

 

อาคารนี้มี COURT ๒ COURT เป็น COURT ปิด มองไม่เห็นจากภายนอก เพราะล้อมรอบอยู่ด้วยส่วนห้องทำงาน ทั้งชั้น ๑ และชั้น ๒ ภายใน COURT ทำเป็นสวนหย่อมและมีห้องน้ำที่ต่อเติมใหม่ยื่นออกไปใน COURT ทั้ง ๒ COURT นี้ด้วย ทั้ง ๒ COURT มีขนาดเท่ากันอยู่ในตำแหน่งสมมาตร ในอาคารหลังคาอาคารจะมีกันสาดคอนกรีตเสริมเหล็ก ยื่นออกมาจากแนวเสาชั้น ๒ มุงกระเบื้องลอนคู่เป็นมุมต่ำมากมาชนผนังอาคารชั้น ๒ เหนือส่วนนี้เป็นช่องแสง แล้วจึงถึงส่วนหลังคาซึ่งยื่นชายคาออกไปเล็กน้อย  หลังคามุงกระเบื้องซีเมนต์สีแดง มีลักษณะที่แปลกคือแผ่นกระเบื้องบางมากจนมองแทบไม่เห็น ความหนาของกระเบื้องเป็นกระเบื้องแผ่นสี่เหลี่ยมวางซ้อนทับกันเป็นมุมแหลม จะสังเกตได้ว่าอาคารรุ่นที่สร้างใกล้เคียงกับศาลากลางนี้ มักจะมีเสาใหญ่ตั้งแต่ ๖๐ x ๖๐ ซ.ม.ขึ้นไป แต่ศาลากลางเป็นเสาคอนกรีตเสริมเหล็กที่มีขนาดเล็กเพียง ๑๕ x ๒๐ ซ.ม. ด้านบนของเสาตกแต่งด้วยไม้ฉลุเป็นลวดลายตรงช่องระบายอากาศมีลวดลาย ๒ ขนาด ลวดลายที่ฉลุบนไม้สักขนาดสั้นอยู่เหนือประตูเป็นรูปดอกไม้คล้ายรูปดอกทิวลิป เหนือขึ้นไปเป็นไม้สักขนาดใหญ่ฉลุเป็นรูปดอกไม้อยู่ในแจกัน อนึ่ง ชั้นบนของอาคารมีนาฬิกาโบราณ    ซึ่งสมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพประทานเป็นที่ระลึกเมื่อได้ทรงบัญชาราชการกระทรวงมหาดไทยมาครบ ๒๐ ปี ในพุทธศักราช ๒๔๕๕ ด้วย


โบราณสถานวัดพระนางสร้าง

ที่ตั้ง บ้านเคียน  หมู่ ๑ ตำบลเทพกระษัตรี  อำเภอถลาง จังหวัดภูเก็ต

ประกาศขึ้นทะเบียนโบราณสถาน ในราชกิจจานุเบกษา เล่มที่ ๑๐๑ ตอนที่ ๒๗  ลงวันที่ ๑ มีนาคม ๒๕๒๗ เนื้อที่ ๓ ไร่ ๑ งาน ๖ ตารางวา

ประวัติ

 วัดพระนางสร้าง (วัดบ้านเคียน) หรือที่ชาวบ้านมักเรียกว่า วัดนางสร้าง, นาสร้าง  ตั้งอยู่หมู่ที่ ๑ ตำบลเทพกระษัตรี อำเภอถลาง จังหวัดภูเก็ต  สร้างขึ้นในสมัยใดยังไม่ปรากฏหลักฐานชัดเจน เพียงแต่พิจารณาดูสถาปัตยกรรมและปฏิมากรรมพระพุทธรูป ภายในวัดแล้วน่าจะสร้างในสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น พระอุโบสถได้รับการบูรณะปฏิสังขรณ์หลายครั้งด้วยกัน จนถึงปี พ.ศ.๒๔๕๔ ต่อมาในปี พ.ศ.๒๕๐๖ จึงได้บูรณะฯ อีกครั้งหนึ่ง โดยเปลี่ยนแปลงหลังคาเป็นกระเบื้องลูกฟูกแทนหลังคาสังกะสี ภายในพระอุโบสถนั้นมีพระพุทธรูปปูนปั้นที่สำคัญอยู่ ๔ องค์ คือพระพุทธรูปปางไสยาสน์ ๑ องค์ ส่วนอีก ๓ องค์ เป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัยสกุลช่างเมืองถลาง ซึ่งจัดอยู่ในศิลปะรัตนโกสินทร์

 ปีงบประมาณ ๒๕๓๙ ได้รับการบูรณะปฏิสังขรณ์พระอุโบสถหลังเก่า  ซึ่งดำเนินการโดยสำนักงานโบราณคดีและพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติที่ ๑๒ ภูเก็ต

สิ่งสำคัญที่ปรากฏภายในวัด

 ๑. พระอุโบสถ สมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น  ในพระอุโบสถมีพระพุทธรูปสร้างด้วยดีบุก
 ๒. พระเจดีย์แปดเหลี่ยม สมัยรัตนโกสินทร์
 ๓. หอระฆัง
 ๔. บ่อน้ำโบราณ


โบราณสถานบ้านพระยาวิชิตสงคราม

 กรมศิลปากร ได้ประกาศขึ้นทะเบียนโบราณสถานของชาติ ในราชกิจจานุเบกษา เล่มที่ ๑๐๒  ตอนที่ ๑๒๘ วันที่ ๑๗ กันยายน ๒๕๒๘ หน้า ๔๔๙๒ พื้นที่ประมาณ ๒๓ ไร่ ๑ งาน ๑๔ ตารางวา

 มูลเหตุของการสร้างบ้านอันเนื่องมาจากในปี พ.ศ.๒๔๑๙ พวกกุลีจีนทำเหมืองแร่ก่อความวุ่นวายขึ้นที่บ้านกะทู้  เกิดการปะทะกันกับพวกกุลีจีนต่างก๊ก  ซึ่งเป็นเรื่องของผลประโยชน์เหมืองแร่  มีการยกพรรคพวกเข้าตีกันความวุ่นวายต่าง ๆ จึงเกิดขึ้น และในขณะนั้นทางการจึงต้องเข้าปราบปราม ทำให้พวกที่ตีกันเลิกราไปได้อีกช่วงระยะหนึ่ง จุดเกิดเหตุที่ปะทะกันนั้นเป็นบริเวณใกล้กับบ้านเจ้าเมืองภูเก็จ (ทัต) เมื่อพวกกุลีชาวจีนถูกปราบปรามและเหตุการณ์อยู่ในความสงบแล้ว เจ้าเมืองภูเก็ต (ทัต) หรือพระยาวิชิตสงครามเห็นว่าเมื่อเกิดเหตุการณ์เช่นนี้ขึ้นต่อไปภายหน้าอาจจะเกิดขึ้นซ้ำสองได้ จึงได้มาสร้างบ้านขึ้นใหม่ที่บริเวณบ้านท่าเรือในปีเดียวกันนั้น และเมื่อสร้างเสร็จแล้วในปี ๒๔๒๐ พระยาวิชิตสงคราม (ทัต) ก็ได้ย้ายเข้ามาอยู่ทั้งยังใช้สถานที่แห่งนี้เป็นที่ทำการชั่วคราวอีกด้วย

 โบราณสถานบ้านพระยาวิชิตสงคราม สร้างขึ้นเมื่อ พ.ศ.๒๔๑๙ บริเวณขอบเขตภายนอกสร้างเป็นแนวกำแพงอิฐล้อมรอบมีขนาดกว้าง ๑๒๔ เมตร ความยาว ๑๕๗ เมตร สูง ๓.๕๐ เมตร ความหนาของกำแพง ๖๐ เซนติเมตร ด้านบนสุดของกำแพงทำเป็นรูปใบเสมาเว้นช่องต่อช่วงห่างกันประมาณ ๓๐ เซนติเมตร ส่วนสูงของใบเสมา ๕๐ เซนติเมตร ตลอดแนวกำแพงภายนอกระหว่างกึ่งกลางของแต่ละด้านมีป้อมยามรักษาการณ์โดยมีประตูทางเข้าป้อมอยู่ภายใน ส่วนด้านในของกำแพงแต่ละมุมสร้างเป็นที่พักของทหารยาม คนรับใช้และเป็นที่เก็บของ ส่วนอาคารที่ทำการสร้างตรงกับแนวประตูทางเข้าอยู่ลึกเข้าไปประมาณ ๖๕ เมตร สร้างเป็นอาคารสี่เหลี่ยมขนาดกว้าง ๑๗ เมตร ยาว ๒๑ เมตร ฐานอาคารสูงจากพื้นดินประมาณ ๑.๕๐ เมตร ปัจจุบันคงเหลือแต่ฐานของตัวอาคารให้เห็น ตรงด้านหลังของอาคารห่างออกไปประมาณ ๓๓ เมตร มีสระน้ำขนาดกว้าง ๑๕ เมตร ยาว ๒๐ เมตร ด้านข้างของสระน้ำทั้งสองด้านทำทางระบายน้ำล้นไหลผ่านเข้า-ออก โดยทำประตูระบายน้ำไว้ที่แนวกำแพง ส่วนตัวบ้านนั้นสร้างไว้ใกล้กับบริเวณสระน้ำ ตัวบ้านสร้างเป็นเรือนไม้ ส่วนรูปทรงของบ้านสันนิษฐานว่าคงเป็นแบบบ้านไทยมุสลิม   เนื่องจากต้นตระกูลของพระยาวิชิตสงครามเป็นแขกอินเดีย ปัจจุบันไม่เห็นซากของตัวบ้านแล้ว

 โบราณสถานบ้านพระยาวิชิตสงคราม ได้รับการบูรณะเมื่อปี พ.ศ.๒๕๓๔ งบประมาณดำเนินการ ๑,๕๐๐,๐๐๐.- บาท โดยสำนักงานโบราณคดีและพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติที่ ๑๑ นครศรีธรรมราช และในปี ๒๕๔๑ ได้รับการบูรณะปรับปรุงอีกครั้งด้วยงบประมาณดำเนินการ ๙๕๐,๐๐๐ บาท โดยสำนักงานโบราณคดีและพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติที่ ๑๒ ภูเก็ต


โบราณสถาน

สำนักงานขายประจำประเทศไทย ภาคใต้ตอนบน บริษัทการบินไทย จำกัด (มหาชน)


ที่ตั้ง 

เลขที่ ๗๘/๑ ถนนระนอง อำเภอเมืองภูเก็ต จังหวัดภูเก็ต พิกัดแผนที่ ลำดับชุด L๗๐๑๗ระวาง ๔๖๒๔พิกัดกริด ๗NMT๓๒๔๗๑๓ 

ประวัติสังเขป 

อาคารที่ทำการ  บริษัทการบินไทยจำกัด สร้างโดยพระอร่ามสาครเขตเมื่อประมาณ ๗๐ ปีมาแล้ว และได้มีการแบ่งอาคารออกเป็น ๓ ส่วน โดยส่วนแรกติดถนนระนองได้ขายให้บริษัทเดินอากาศไทยเมื่อปี พ.ศ.๒๔๙๐     ส่วนอื่น ๆ ได้ให้เช่าทำเป็นโรงเรียน และโรงพยาบาล ต่อมาบริษัทเดินอากาศไทยได้โอนย้ายมาอยู่รวมกับบริษัทการบินไทย


ลักษณะรูปแบบศิลปกรรม


 อาคารมีลักษณะเป็นอาคาร ๒ ชั้น ศิลปสถาปัตยกรรมแบบโรมาเนสผสมจีน ด้านหน้าปีกซ้ายและปีกขวามีมุขยื่น ระหว่างมุขหน้าและมุขด้านซ้ายมีมุขแปดเหลี่ยม ชั้นล่างมี CANOPY เป็นซุ้มโค้ง เสารับซุ้มเป็นแบบไอโอนิค    มีลวดลายปูนปั้นลายเถาต้น อคัลตุสประดับเหนือโค้งมีคิสโตน (KEYSTONE) เสาจริงเป็นเสาสี่เหลี่ยมเซาะร่องแบบหินก่อ (RUSTICATION)   หัวเสาไอโอนิค มีลายปูนปั้นรูปผลไม้ประดับตัวอาคารมีลวดลาย หน้าบันมีลวดลายปูนปั้นเป็นลักษณะสายอุบะพวงมาลัย หน้าต่างกระจกฝ้าลวดลายอิทธิพลศิลปะจีน ช่องแสงกรุกระจกฝ้าอิทธิพลศิลปะจีน

การขึ้นทะเบียน
 ประกาศในราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๑๑๓  ตอนพิเศษ ๓ ง วันที่ ๙ กุมภาพันธ์ พ.ศ.๒๕๓๙  พื้นที่โบราณสถานประมาณ ๒ ไร่ ๗๘ ตารางวา

ที่มาของข้อมูล
 ๑. บริษัทการบินไทย จำกัด (มหาชน)
 ๒. จีรวุฒิ  อิษวาส รายงานการสำรวจตรวจสอบอาคารการบินไทยเพื่อประกาศขึ้นทะเบียน, พ.ศ.๒๕๓๘


อาคารที่ทำการบริษัทการบินไทย

 อาคารที่ทำการการบินไทย ประกาศขึ้นทะเบียนโบราณสถานในราชกิจจานุเบกษา  เล่ม ๑๑๓  ตอนที่ ๓๙ วันที่ ๙ เดือนกุมภาพันธ์ ๒๕๓๑ (ฉบับพิเศษ)

 อาคารที่ทำการ การบินไทย ตั้งอยู่เลขที่ ๗๘ ถนนระนอง ปัจจุบันเป็นที่อยู่อาศัยและสำนักงานของบริษัทการบินไทย จำกัด (มหาชน) สาขาภูเก็ต เจ้าของเดิมคือพระอร่ามสาครเขต มีอายุการก่อสร้าง ประมาณ ๗๐ ปี เดิมอาคารหลังนี้มีอาณาเขตจากฝั่งถนนหนึ่งชนอีกถนนหนึ่งฝั่ง คือ ด้านหน้าอยู่ทางด้านถนนระนอง ด้านหลังอยู่ทางด้านถนนกระบี่ เมื่อพระอร่ามสาครเขตถึงแก่กรรม ทายาทได้แบ่งอาคารออกเป็น ๓ ส่วน คือ

 ส่วนแรก  ด้านหน้าอาคารถนนระนอง เป็นส่วนอาคารด้านหน้าถึงช่วงโถงหลังและสวนข้างซ้าย-ขวา ปัจจุบันเป็นของบริษัทการบินไทย

 ส่วนที่สอง  ต่อจากส่วนอาคารแรก ปัจจุบันเป็นโรงเรียนอนุบาลกุลธิดา ทางเข้าด้านถนนกระบี่

 ส่วนที่สาม  ต่อจากโรงเรียนอนุบาลภูเก็ตกุลธิดาเป็นส่วนบ้านพระอร่ามฯ ด้านหลังทางเข้าด้านถนนกระบี่  ปัจจุบันมีผู้เช่าเป็นโรงพยาบาลสิริโรจน์

 ในส่วนแรกนี้บริษัทเดินอากาศไทยซื้อจากเข้าของเดิมในราว พ.ศ.๒๔๙๐ ในจำนวน ๖ แสนกว่าบาท เมื่อแรกซื้อนั้นใช้เป็นสำนักงานของบริษัทเดินอากาศไทย ปัจจุบันให้บริษัทภูเก็ต ทราเวล แอนด์ทัวร์ เช่า ส่วนชั้นล่างเป็นสำนักงาน ส่วนชั้นบนเป็นที่พักของหัวหน้าสถานีวิทยุการบินภูเก็ตของบริษัทเดินอากาศไทย คือ เรืออากาศโทณรงค์  ยันตะกร

 หลังจากที่บริษัทเดินอากาศไทย ซื้อต่อมานั้น ได้มีการซ่อมแซม ๒-๓ ครั้ง เปลี่ยนหลังคาจากกระเบื้องกาบกล้วยเป็นกระเบื้องลอน เมื่อประมาณ ๘ ปีมาแล้ว ซ่อมเปลี่ยนโครงสร้างไม้หน้าต่างในรูปแบบเดิม ตัวกระจกหน้าต่างเดิมเป็นกระจกฝ้าสีขาว ในราว ๔ ปีมาแล้ว ได้เปลี่ยนเป็นกระจกสีฟ้าใสเฉพาะบานกระจกหน้าต่างชั้นล่างเท่านั้น เมื่อใช้สำนักงานได้ดัดแปลงลักษณะภายในอาคารให้เหมาะสม และสะดวกในการใช้เป็นสำนักงาน โดยแบ่งกั้นห้องด้วยฝากระจก แต่มิได้ปิดไปจนถึงเพดาน

 นอกจากการซ่อมแซมตัวอาคารใหญ่แล้ว ยังได้มีการสร้างอาคารเพิ่มเติมในส่วนด้านหน้าของบริเวณบ้านทั้งสองข้าง ข้างซ้ายเป็นสำนักงานของธนาคารไทย ข้างขวาเป็นสำนักงานของบริษัทเดินอากาศไทย สร้างเมื่อราว ๕ ปี มานี้เอง

 บริเวณโรงรถเก่าด้านข้างขวาของตัวอาคารใหญ่ ได้ปรับปรุงสร้างเป็นโรงรถใหม่ เมื่อปี ๒๕๒๙ และส่วนอาคารชั้นเดียวทางด้านซ้ายของอาคาร ซึ่งเดิมเป็นโรงครัวหลังคามุงกระเบื้องกาบกล้วย  ปัจจุบันใช้เป็นส่วนบ้านพักชั่วคราวของพนักงานบริษัทการบินไทย

 อนึ่ง ถึงแม้ว่าภายในอาคารจะได้มีการปรับปรุงดัดแปลงไปบ้าง แต่ก็ยังคงรักษาสภาพเดิมไว้พอสมควร

 ลักษณะอาคาร  อาคารสองชั้นโครงสร้างคอนกรีตเสริมเหล็ก อาคารทาสีขาว การวางผังเป็น SYMMETRICAL BALANCE ด้านหน้ามีมุขยื่น และมีมุขโค้งครึ่งวงกลม ทางปีกซ้ายมีมุขยื่น และมีรูป ½ ของแปดเหลี่ยม ทางเข้าอาคารอยู่ในมุขหน้า ซึ่งชั้นล่างมี CANOPY  เป็นซุ้มโค้งเตี้ย (THREE CENTERED ARCH) เสารับซุ้มเป็นเสาแบบ IONIC มีลวดลายปูนปั้น ประดับมาก เหนือโค้งมี KEYSTONE เสาจริงเป็นเสาสี่เหลี่ยมเซาะร่องแบบกินก่อ (RUSTICATION) หัวเสา IONIC มีลวดลายปูนปั้นลายผลไม้ประดับหัวเสา ผนังด้านทางเข้ามีประตูกลาง หน้าต่าง ๒ ข้าง เหนือหน้าต่างมีช่องแสงรูปรี ประตูหน้าต่างเป็นบานเปิดคู่ กรอบไม้สีดำกรุกระจกสีลายนูน หน้าต่างมีลวดลายไม้ตีเป็นลายเรขาคณิต ลักษณะหน้าต่างเหมือนกันตลอดอาคารยกเว้นมุขโค้ง


 ส่วนมุมโค้งลวดลายบานหน้าต่างจะใช้เป็นลายตารางแบบเรียบง่าย และมุขทางปีกขวาสุด มีการทำกันสาดยื่นออกมาคลุมหน้าต่าง มุงหลังคากันสาดด้วยกระเบื้อง CPAC MONIER สีแดงอิฐ ชั้น ๒ เป็นหน้าต่างกระจกฝ้า ด้านมุขหน้ามีหน้าต่างเปิดบานคู่ ๓ คู่ เสาประดับหัวเสา IONIC ผนังสีลวดลายปูนปั้นประดับตลอด มุขรูป ½ ของแปดเหลี่ยมมีลูกกรงปูนใต้หน้าต่างแต่ผนังหลังลูกกรงฉาบทึบเหนือหน้าต่างมีช่องแสงรูปรี กรุกระจกฝ้า


 ส่วนปีกซ้ายสุดของอาคารเป็นระเบียงยื่นออกไป (ชั้น ๒) มีลายปูนปั้นประดับขอบล่างของช่องแสงเป็นลายพวงมาลัย เสาชั้นบนหัวเสา IONIC  ช่วงล่างของเสาะทำเป็นกระเปาะโค้งตามมุมประดับลายใบไม้แบบหัวเสา CORINTHIAN ทางมุขโค้งและปีกขวาอาคาร ใต้หน้าต่างทำเป็นลูกกรงหน้าผนังทึบ แต่เสาช่วงปีกขวาสุดไม่มีการทำช่วงล่างเป็นกระเปาะ หน้าต่างทางปีกนี้ไม่มีช่องแสงรูปไขเหนือหน้าต่าง

 หลังคาอาคารเป็นกระเบื้อง CPAC ลอนเหลี่ยมสีแดงอิฐฝ้าชายคา กระเบื้องแผ่นเรียบตีปิดตลอดทาสีขาว ตีกรอบดำ สันหลังคาปูนปั้น ตามมุมทำเป็นยอดแหลม ภายในอาคารจัดเป็นที่ทำงาน ๒ ข้าง มีโค้งเตี้ยแบบ THREE-CENTERED ARCH เสารับโค้งแบบ IONIC เสากลมไม่เซาะร่องไม่ตีฝ้าเพดาน ผนังภายในสีขาว เพดานสีครีม พื้นกระเบื้องซีเมนต์ลวดลายงามแปลกตา


โบราณสถานอาคารสำนักงานที่ดิน


 
ที่ตั้ง 
 ถนนดำรง ตำบลตลาดใหญ่ อำเภอเมืองภูเก็ต จังหวัดภูเก็ต

พิกัดแผนที่
 ลำดับชุด L ๗๐๑๗ ระวาง ๔๖๒๔I พิกัดกริด ๔๗NMT๓๓๕๗๑๙

ประวัติสังเขป

 อาคารสำนักงานที่ดิน สร้างขึ้นเมื่อ พ.ศ.๒๔๕๙ ต่อมา พ.ศ.๒๔๗๖–๒๔๙๕ ทางการได้ใช้เป็นที่ว่าการอำเภอทุ่งคา (อำเภอเมืองปัจจุบัน) ระหว่างนั้นได้มีการต่ออาคารไม้ สร้างเป็นห้องเพิ่มอีกข้างละห้อง ปัจจุบันใช้เป็นอาคารสำนักงานที่ดินจังหวัดตามเดิม


 
ลักษณะรูปแบบศิลปกรรม


 อาคารสำนักงานที่ดิน ลักษณะเป็นตึกชั้นเดียว ยกพื้นสูง ภายในแบ่งออกเป็น ๕ ห้อง มีบันไดและระเบียงทางเดินทั้งด้านหน้าและด้านหลัง ตกแต่งด้วยลวดลายไม้ฉลุ รูปแบบศิลปสถาปัตยกรรมตะวันตก

การขึ้นทะเบียน
 ประกาศในราชกิจจานุเบกษา ฉบับประกาศทั่วไป เล่ม ๑๑๓ ตอนพิเศษ ๕๐ ง วันที่ ๑๘ ธันวาคม พ.ศ.๒๕๓๙

 

พื้นที่โบราณสถานประมาณ
 พื้นที่ ก. ประมาณ ๑ งาน ๗๔.๖๖ ตารางวา
 พื้นที่ ข. ประมาณ ๕๖.๒๕ ตารางวา

ที่มาของข้อมูล
 ๑. กรมที่ดิน หนังสือที่ระลึกงานเปิดอาคารสำนักงานที่ดิน, ปี ๒๕๒๘ กรมศิลปากร, สำนักงานโบราณคดีและพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติที่ ๑๒
 ๒. รายงานการสำรวจขึ้นทะเบียนโบราณสถาน, พ.ศ.๒๕๓๙
 
 

  

แก้ไขล่าสุดเมื่อ ( พฤหัสบดี, 22 มีนาคม 2018 )
 
< ก่อนหน้า   ถัดไป >

สมุดภาพเหมืองแร่

Counter

mod_vvisit_countermod_vvisit_countermod_vvisit_countermod_vvisit_countermod_vvisit_countermod_vvisit_countermod_vvisit_countermod_vvisit_countermod_vvisit_counter
mod_vvisit_counterวันนี้2365
mod_vvisit_counterเมื่อวาน4265
mod_vvisit_counterทั้งหมด11275342