Skip to content

Phuketdata

default color
Home arrow Search
รัชกาลที่ ๙ เสด็จฯภูเก็ต PDF พิมพ์ อีเมล์
เขียนโดย ประสิทธิ ชิณการณ์   
พุธ, 06 กุมภาพันธ์ 2008

๗. พระมหากรุณาธิคุณ

(มห.ภูเก็จ 2345)

ร.๙ เสด็จฯ วัดพระนางสร้าง
ร.๙ เสด็จฯ หาดสุรินทร์ และ ท่าฉัตรไชย  

๗.๑ การเสด็จพระราชดำเนินประพาสจังหวัดภูเก็ต

 นับเป็นความโชคดีอย่างใหญ่หลวงของประชาชนภูเก็ตที่ได้เกิดมาภายใต้พระบรมโพธิสมภาร  พระบรมมหาราชจักรีวงศ์  โดยเฉพาะภายใต้พระบรมมหาเศวตฉัตรแห่งพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชมหาราช  ซึ่งทรงมีพระมหากรุณาธิคุณเสด็จประพาสจังหวัดภูเก็ตแล้ว ๔ ครั้งเพื่อทรงใกล้ชิดกับประชาชนของพระองค์  และเนื่องในการเสด็จประพาสแต่ละครั้งนั้น ได้ทรงมีพระราชกรณียกิจอันเป็นสวัสดิมงคลและเป็นมิ่งขวัญแก่พสกนิกรของพระองค์ตลอดมา เช่น

 การเสด็จประพาสครั้งที่ ๑ พ.ศ.๒๕๐๒ ระหว่างวันที่ ๘ ถึง ๑๒ มีนาคม นั้น ได้เสด็จออกให้ประชาชนชาวภูเก็ตได้เฝ้าชมพระบารมีและทูลละอองธุลีพระบาท ณ บัญชรหน้าศาลากลางจังหวัดภูเก็ต แล้วทรงพระราชทานพระบรมราโชวาทแก่พสกนิกรของพระองค์ว่า

 

 “เราทั้งสองขอขอบใจพรที่ผู้ว่าราชการจังหวัดได้กล่าวในนามของชาวภูเก็ต ทั้งขอขอบใจที่ชาวภูเก็ตทั้งหลายได้ต้อนรับเราอย่างดี เมื่อวานนี้เมื่อเรามาถึง เราได้มีความพอใจมากและดีใจมากที่ได้มีโอกาสมาเยี่ยมจังหวัดนี้ ซึ่งภูมิประเทศสวยงาม และเราก็รอคอยมานานเหมือนกัน  การที่จังหวัดภูเก็ตนี้มีประวัติศาสตร์อันน่าฟังและน่ายินดีก็เป็นสิ่งอีกอย่างหนึ่งที่จูงใจให้เราอยากได้มาเยี่ยมอีกที  ชาวจังหวัดภูเก็ตนี้น่าภูมิใจที่ประวัติศาสตร์ในอดีตมีความรุ่งเรืองมาก  และมีความกล้าหาญ ซึ่งพวกประชาชนผู้เป็นลูกหลานของบรรพบุรุษที่ได้ทำวีรกรรมในสมัยโน้น  นอกจากนั้นจังหวัดนี้ก็มีทรัพยากรหลายอย่าง เช่น ดีบุกหรือยาง ทรัพยากรเช่นนั้นก็นำความร่ำรวยแก่ประชาชน แต่เพื่อที่จะให้เพิ่มความร่ำรวย ก็ขอให้อาศัยความขยันหมั่นเพียรและพยายามค้นคว้าในทางวิทยาการต่อไป  วิทยาการสมัยใหม่เพื่อให้ผลของการที่ทำอาชีพนั้นดีขึ้น ให้เหมาะสมกับภูมิประเทศ ขอให้ประชาชนทุกคนได้ประกอบอาชีพเช่นนี้ด้วยความอุตสาหะพยายาม  และขอให้มีกำลังใจ กำลังกาย ทำหน้าที่ ทำงานเพื่อความเจริญรุ่งเรืองของจังหวัดภูเก็ต  ขอให้พรให้ทุกคนได้มีกำลังใจ กำลังกาย เช่นนั้น และขอให้มีความเจริญ”


 ในปี พ.ศ.๒๕๐๒ นั้น จังหวัดภูเก็ตยังมีกิจการเหมืองแร่แบบเหมืองสูบ ที่ใช้เครื่องจักรขนาดใหญ่ ราคาแพง  และกรรมวิธีล้างเก็บแร่จากรางกู้แร่แบบเก่า  ปล่อยทิ้งแร่ละเอียดซึ่งเป็นลักษณะของ “ฝุ่นแร่” ให้ไหลตามแรงน้ำชะออกไปเสียมากต่อมาก ยังผลให้ต้นทุนการผลิตแร่มีอัตราสูง  ชาวเหมืองจำต้องเสาะหาแหล่งแร่ที่มีความสมบูรณ์สูงมาประกอบกิจการ  เกิดการสิ้นเปลืองที่ดินอย่างรุนแรง  จนที่ดินเหมืองแร่ภายในจังหวัดภูเก็ตไม่เพียงพอ ต้องออกไปเสาะหาที่ดินเหมืองแร่จากท้องถิ่นต่างจังหวัด

 ส่วนกิจการสวนยาง ก็ยังเป็นสวนยางแบบเก่า ชาวสวนยางเฝ้ากรีดน้ำยางจากต้นยางเก่าอายุแก่หลายสิบปี  มิค่อยจะได้เปลี่ยนแปลงด้วยการปลูกแทนตามคำแนะนำของนักวิชาการสวนยางของทางราชการ  แม้กระทั่งวิธีกรีดยางแต่ละต้น ซึ่งเคยกรีดทางด้านซ้ายบ้าง ทางด้านขวาบ้าง เมื่อทางราชการแนะนำให้กรีดทางด้านซ้ายลงมาทางด้านขวา  ก็ไม่ค่อยจะมีชาวสวนยางเชื่อฟังมากนัก เพราะไม่เห็นความสำคัญของวิชาการใหม่ ๆ ทำให้ผลผลิตจากสวนยางล้าหลังกว่าประเทศเพื่อนบ้าน เช่น ประเทศอินโดนีเซีย และมาเลเซีย  ตลอดจนวิธีทำแผ่นยางรมควันก็ยังไม่คำนึงถึงความสะอาด  ความสม่ำเสมอของคุณภาพ มุ่งเอาเพียงปริมาณเป็นสำคัญ

 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงมีพระราชกระแสในพระบรมราโชวาทต่อชาวภูเก็ต ความว่า “---แต่เพื่อที่จะให้เพิ่มความร่ำรวย ก็ขอให้อาศัยความขยันหมั่นเพียร และพยายามค้นคว้าในทางวิทยาการต่อไป วิทยาการสมัยใหม่ เพื่อให้ผลของการที่ทำอาชีพนั้นดีขึ้น  ให้เหมาะสมกับภูมิประเทศ----“ นับว่าเป็นพระราชกระแสที่มีคุณค่ายิ่งแก่ประชาชนของพระองค์ที่จะได้ฉุกใจคิด และหันมาปรับปรุงธุรกิจเหมืองแร่และกิจการสวนยางให้ก้าวหน้าขึ้นตามลำดับ ซึ่งปัจจุบันนี้กิจการสวนยางในภูเก็ตนับได้ว่าเจริญก้าวหน้าไม่แพ้เพื่อนบ้านต่างประเทศเลย  ส่วนเหมืองแร่นั้นแม้ปัจจุบันได้เลิกและหยุดกิจการไปเนื่องจากภาวะวิกฤติด้านราคาของดีบุก แต่ก่อนหน้าที่จะเลิกล้ม ก็ได้พัฒนาขึ้นด้วยวิทยาการสมัยใหม่  สามารถล้างและเก็บ “ฝุ่นแร่” ได้จากรางล้างแร่มากขึ้น  และใช้เครื่องจักรขนาดเล็กลง สมรรถนะสูงขึ้น ต้นทุนต่ำลง สามารถใช้ที่ดินแหล่งแร่ขนาดเล็ก และอัตราความสมบูรณ์ต่ำ  ประกอบกิจการได้เพิ่มขึ้น  สมดังที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงมีพระราชประสงค์และทรงพระราชทานพระราชพระกระแสไว้

 อนึ่ง  จากน้ำพระทัยที่ทรงมุ่งมั่นจะใกล้ชิดกับพสกนิกรของพระองค์ และทรงไม่แน่พระทัยว่าบรรดาข้าราชบริพาร ตลอดจนข้าราชการท้องถิ่นที่ห่วงใยในความปลอดภัยของพระมหากษัตริย์ของเขาจะเปิดโอกาสให้พระองค์ได้เข้าสัมผัสกับชีวิตอันแท้จริงของชาวบ้านร้านถิ่นที่ห่างไกลจากชุมชนเมืองออกไปยังชนบท  ซึ่งราษฎรของพระองค์ส่วนหนึ่งอาจถูกทอดทิ้งให้รับความลำบากอยู่เงียบ ๆ ปราศจากผู้รู้เห็น  พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวจึงทรงปลีกเวลาส่วนพระองค์เสด็จโดยลำพังไปตามเส้นทางที่ปรากฏในแผนที่ส่วนพระองค์ที่ทรงมีเป็นพิเศษ  จนบางคราวก็ทรงประสบกับเส้นทางวิบากที่มิอาจจะเสด็จพระราชดำเนินไปได้ เช่น ที่บ้านบางโรง ตำบลป่าคลอก เป็นต้น

 ชาวบ้านคนหนึ่งที่บ้านบางโรง ตำบลป่าคลอก เล่าว่า เขาได้เห็นพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงขับรถยนตร์โดยพระองค์เอง เสด็จเข้าไปตามถนนขรุขระอันเหมาะที่จะเรียกว่าทางเกวียนมากกว่าถนน  เขาได้ออกมาขวางทางรถพระที่นั่ง กราบทูลว่า “จะเสด็จเข้าไปไม่ได้ ไม่มีทางให้รถยนตร์เข้าไปได้อีกแล้ว“ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงมีพระราชดำรัสว่า “เห็นมีถนนอยู่ในแผนที่“ ชาวบ้านคนนั้นเกรงว่าพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวจะเสด็จเข้าไปจนรถยนตร์พระที่นั่งติดหล่ม จะทรงได้รับความลำบาก จึงกราบทูลด้วยความตกใจตามประสาชาวบ้านว่า “ถ้าไม่เชื่อและเสด็จเข้าไปให้ได้แล้ว ก็จะขอถวายศีรษะให้”  พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวจึงทรงกลับรถยนตร์พระที่นั่งเสด็จออกมา (ปัจจุบันชายผู้นี้ได้ถึงแก่กรรมไปแล้ว จึงไม่สามารถอ้างชื่อไว้ในที่นี้)

 วันที่ ๑๑ มีนาคม ๒๕๐๒ ทรงปลีกเวลาส่วนพระองค์เสด็จโดยลำพังไปยังตำบลป่าตอง ซึ่งเวลานั้นถนนข้ามภูเขานาคเกิดจากตำบลกะทู้ไปยังตำบลป่าตองยังสร้างไม่เรียบร้อย  มีเพียงการตัดกรุยทางและถมหินลูกรังพอให้รถยนตร์โดยสาร-บรรทุกของชาวบ้านผ่านไปมาได้เท่านั้น  พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงขับรถยนตร์พระที่นั่งโดยพระองค์เอง  เสด็จลึกเข้าไปถึงบริเวณที่เรียกกันว่า “วังขี้อ้อน” ซึ่งเป็นแอ่งน้ำตกจากเทือกเขานาคเกิดไหลออกสู่ทะเลอ่าวป่าตอง เป็นแอ่งธรรมชาติที่สวยงาม  ชาวบ้านละแวกนั้นได้อาศัยอาบและซักผ้าเป็นประจำ  มีผู้หญิงชาวบ้านคนหนึ่งจำได้ว่าทรงเป็นพระเจ้าแผ่นดินที่เสด็จไปประทับยืนทอดพระเนตรชาวบ้านซักผ้าอยู่ด้วยความสนพระทัย  จึงได้นำน้ำหวานที่ผลิตจากโรงงานพื้นเมืองในจังหวัดภูเก็ตมาทูลเกล้าถวายหนึ่งแก้ว พระองค์ทรงรับแล้วถามว่า น้ำอะไร ชาวบ้านไม่สามารถกราบทูลเป็นคำราชาศัพท์ได้จึงกราบทูลว่า “น้ำมินิด เจ้าค่ะ” ซึ่งเป็นศัพท์พื้นเมืองของภูเก็ตที่ใช้เรียกน้ำอัดลม “เลม็อนเนด”ในขณะนั้น เป็นที่เข้าใจของชาวบ้านโดยทั่วไป พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวจะทรงเข้าพระทัยหรือไม่  ไม่อาจทราบได้  แต่พระองค์ก็ทรงรับมาและเสวยโดยไม่ได้ถือพระองค์แต่อย่างใด  ยังความปลื้มปีติแก่บรรดาชาวบ้านที่มีโอกาสได้เฝ้าทูลละอองธุลีพระบาทโดยใกล้ชิดในวันนั้นอย่างหาที่สุดมิได้  ทุกคนยังจดจำเรื่องราวและเล่าขานกันต่อมาไม่สุดสิ้นจนถึงทุกวันนี้

 เพื่อเป็นการรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณเป็นล้นพ้นในครั้งนั้น  ชาวป่าตองโดยมีท่านพระครูพิสิฐกรณี  เจ้าอาวาสวัดสุวรรณคีรีวงก์ ตำบลป่าตอง  เป็นประธาน  จึงได้ร่วมใจกันจัดสร้างอนุสรณ์สถานขึ้น ณ จุดที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าเสด็จลงประทับยืนนั้นไว้ ชื่อว่า “ราชปาทานุสรณ์”  ซึ่งพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว  ได้เสด็จพระราชดำเนินทรงสลักพระปรมาภิไธย “ภูมิพลอดุลยเดช” ไว้ ณ สถานที่นี้ เมื่อวันพุธวันที่ ๒๔ กรกฎาคม พ.ศ.๒๕๑๑ ในพระราชวโรกาสที่เสด็จพระราชดำเนินประพาสภูเก็ต ครั้งที่ ๓  พ.ศ.๒๕๑๐  เสด็จพระราชดำเนินประพาสภูเก็ตครั้งที่ ๒ เมื่อวันที่ ๒๓ พฤษภาคม หลังจากที่ทรงประกอบพระราชกรณียกิจเปิดอนุสาวรีย์ท้าวเทพกระษัตรี-ท้าวศรีสุนทร และทรงเจิมช่อฟ้าอุโบสถวัดเจริญสมณกิจ ในตอนเช้าแล้ว ตอนบ่ายได้เสด็จพระราชดำเนินทรงเปิด “ศูนย์บริการโลหิตตึกเลิศโภคารักษ์” ณ โรงพยาบาลวชิระภูเก็ต  และในพระราชวโรกาสนั้นสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ทรงพระราชทานพระราชเสาวนีย์  ความว่า  “ข้าพเจ้ามีความยินดีที่ได้มากระทำพิธีเปิดอาคารศูนย์บริการโลหิตเหล่ากาชาดจังหวัดภูเก็ตในวันนี้

 การสร้างตึกศูนย์บริการโลหิตเพื่อเก็บสำรองโลหิตที่มีผู้บริจาคให้ไว้ใช้แก่ผู้เจ็บป่วย ในเวลาต้องการเพื่อให้ยังคงมีชีวิตอยู่ต่อไปนั้น นับว่าเป็นมหากุศลอันยิ่งใหญ่ เพราะเป็นการชุบชีวิตของผู้ที่ไม่มีหวังแล้วให้คงมีชีวิตอยู่เป็นมิ่งขวัญแก่เพื่อนฝูงญาติมิตร  ครอบครัว และอาจบำเพ็ญประโยชน์ให้แก่ประเทศชาติได้สืบไป  ข้าพเจ้าหวังว่าคงจะมีผู้ใจบุญช่วยกันสละโลหิตให้แก่ศูนย์บริการแห่งนี้  เพื่อให้ศูนย์บริการแห่งนี้ได้บริการโลหิตแก่ผู้เจ็บป่วยในทุกโอกาส  สมตามเจตจำนงของสภากาชาดต่อไป


 ขอขอบใจขุนเลิศโภคารักษ์  และผู้มีส่วนช่วยเหลือให้อาคารหลังนี้บังเกิดขึ้น ขอให้ทุกคนได้มีความสุขความเจริญโดยทั่วกัน

 ข้าพเจ้าขอถือโอกาสนี้ประกอบพิธีเปิดตึก “เลิศโภคารักษ์” เพื่อเป็นศิริมงคลต่อไป”

 ตึกศูนย์บริการโลหิตหลังนี้ นับได้ว่าเป็นอาคารของโรงพยาบาลที่สร้างขึ้นเพื่อสนองพระราชดำริของสมเด็จพระนางเจ้าพระบรมราชินีนาถ  ประการหนึ่ง  เนื่องด้วยเหตุที่ว่าในฐานะที่พระองค์ทรงดำรงตำแหน่งองค์สภานายิกา สภากาชาดไทย ความขาดแคลนโลหิตในวงการแพทย์ย่อมประจักษ์แก่พระเนตรพระกรรณอยู่เนืองนิจ  ทรงมีพระราชดำริว่า หากมีการส่งเสริมให้ประชาชนสนใจและยินดีในการบริจาคโลหิตเพื่อช่วยเหลือผู้ป่วยในโรงพยาบาลต่าง ๆ ได้ในจำนวนที่สมควรก็จะเป็นประโยชน์แก่การแพทย์และโรงพยาบาลเป็นอย่างยิ่ง   นอกจากนี้แล้วยังมีพระราชดำริเกี่ยวกับสถานที่เก็บรักษาโลหิตที่มีผู้บริจาคคราวละมาก ๆ ไม่อาจจะใช้ไปหมดสิ้นได้ในเวลาอันจำกัด หรือความขาดแคลนโลหิตอย่างปัจจุบันทันด่วนในกรณีที่มีคนไข้จำนวนมาก  ทำให้จัดหาโลหิตมาบริการไม่ทันท่วงที  ซึ่งเป็นข้อขัดข้องอย่างสำคัญเกี่ยวเนื่องกัน  จำเป็นต้องมีสถานที่เก็บโลหิตสำรองไว้ในอัตราที่สมควร  โดยเฉพาะโรงพยาบาลวชิระภูเก็ต ยังไม่มีอาคารจะเก็บรักษาโลหิตตามที่ทรงมีพระราชดำริ นายแพทย์สนอง กาญจนาลัย ผู้อำนวยการโรงพยาบาลวชิระภูเก็ตสมัยนั้นจึงได้หารือกับขุนเลิศโภคารักษ์ ผู้เป็นนายเหมืองที่มุ่งมั่นต่อการบำเพ็ญกุศลสาธารณประโยชน์โดยสม่ำเสมอตลอดมา  ก็เป็นที่ตกลงกันจะสนองพระมหากรุณาธิคุณ โดยขุนเลิศโภคารักษ์ บริจาคเงินจำนวนหนึ่งสร้างอาคารศูนย์บริการโลหิตขึ้นในบริเวณโรงพยาบาลวชิระภูเก็ต ครั้นเสร็จสมบูรณ์แล้วทางราชการจึงทำเรื่องกราบบังคมทูลพระกรุณาเชิญเสด็จทรงประกอบพิธีเปิดอาคารหลังนี้ ซึ่งก็ประจวบกับทางราชการจังหวัดภูเก็ตมีงานเปิดอนุสาวรีย์ท้าวเทพกระษัตรี-ท้าวศรีสุนทร และทางวัดเจริญสมณกิจ ก็มีงานยกช่อฟ้าอุโบสถ เตรียมเชิญเสด็จพระราชดำเนินประพาสภูเก็ตเป็นครั้งที่ ๒ พระราชภารกิจในการเสด็จพระราชดำเนินครั้งนี้ล้วนแต่สร้างประโยชน์สร้าง สวัสดิการและสร้างมิ่งขวัญให้แก่พสกนิกรของพระองค์อย่างลึกซึ้งและหาที่สุดมิได้


 วันที่ ๒๓ กรกฎาคม พ.ศ.๒๕๑๑  เสด็จพระราชดำเนินประพาสภูเก็ตเป็นครั้งที่ ๓ ทรงนำ “พระพุทธนวราชบพิตร” ซึ่งทรงสร้างด้วยพระองค์เองเป็นพระพุทธรูปประจำรัชกาลของพระองค์มาพระราชทานไว้เป็นพระพุทธรูปประจำเมืองภูเก็ต นับเป็นการแผ่พระมหากรุณาธิคุณในพระบรมโพธิสมภาร ภายใต้พระมหาเศวตฉัตรแห่งรัชกาลที่ ๙ ให้ทรงอานุภาพปกป้องผองภัยนานาประการมิให้แผ้วพานประชาชนพลเมืองอันเป็นพสกนิกรของพระองค์ได้แม้แต่เท่าผงธุลี พระมหากรุณาธิคุณอันนี้ล้นเกล้าล้นกระหม่อมแก่ชาวภูเก็ตหาที่สุดมิได้อยู่ตราบนิรันดร์


๗.๒ การพัฒนาท้องถิ่นตามโครงการพระราชดำริ

 อาจจะเนื่องด้วยเหตุที่จังหวัดภูเก็ตเคยได้ชื่อว่าเป็นเมืองเศรษฐี  ประชาชนพลเมืองส่วนใหญ่มีอาชีพมั่นคง อยู่เย็นเป็นสุขมาเนิ่นนาน จังหวัดภูเก็ตเคยมีศักยภาพสามารถหล่อเลี้ยงจังหวัดใกล้เคียงมาแต่ก่อน  นับเนื่องมาแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา  จนเกิดความเข้าใจฝังลึกว่าจังหวัดภูเก็ตไม่มีความเดือดร้อนที่จะเป็นภาระของทางราชการมากมายเช่นบางจังหวัด  เจ้าหน้าที่ผู้รับผิดชอบในการพัฒนาจังหวัดจึงไม่ค่อยสนใจคิดโครงการใด ๆ นำขึ้นทูลเกล้าฯ ขอพระราชทานพระบรมราชานุญาตไว้ในโครงการตามพระราชดำริ ทั้ง ๆ ที่ความจริงนั้นยังมีความจำเป็นเกี่ยวกับการพัฒนาหลายอย่างหลายประการที่เป็นการเร่งด่วนอยู่ไม่น้อยเหมือนกัน


 แม้กระนั้นก็ตามกระแสพระราชดำรัสในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยุ่หัวที่แพร่กระจายออกมาสู่จังหวัดภูเก็ตโดยสื่อสารมวลชน ก็ปลุกประชาชนให้สำนึกได้ว่าพระมหากษัตริย์อันเป็นที่รักและสักการะของเรานั้น ทรงมีพระราชดำริที่จะบำบัดทุกข์บำรุงสุขแก่ประชาชนของพระองค์ในประการใดบ้าง ก็ได้โดยเสด็จพระราชดำริตามรอยพระยุคลบาทเสมอมา
 
๗.๒.๑ ถนนสายป่าตอง-กมลา       นายมานิต วัลยะเพ็ชร์ ผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต (พ.ศ.๒๕๒๓–๒๕๒๘) เป็นผู้หนึ่งที่ตระหนักในพระมหากรุณาธิคุณซึ่งมุ่งจะบำบัดทุกข์บำรุงสุขแก่ประชาราษฎรเป็นอย่างดี  จึงกล้าที่จะคิดโครงการสนองพระมหากรุณาธิคุณดังกล่าวนี้ โดยสำรวจพบว่า ถนนสายหาดป่าตองน่าจะบรรจบติดต่อกับถนนสายบ้านกมลา  ในระยะทางเพียง ๑๐ กิโลเมตร หากแต่ยังไม่สามารถเชื่อมต่อกันได้  เพราะไม่ได้รับอนุมัติงบประมาณติดต่อกันมาหลายปี  ทั้ง ๆ ที่จังหวัดภูเก็ตมีโครงการสร้างถนนรอบเกาะเพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวเป็นโครงการหลัก  แต่ผู้เดินทางจากตัวเมืองภูเก็ตไปยังตำบลกมลา  หากจะเดินทางไปป่าตองซึ่งห่างกันเพียง ๑๐ กิโลเมตร จำต้องเดินทางกลับเข้าเมืองภูเก็ตอีกประมาณ ๒๕ กิโลเมตร  แล้วจึงเข้าเส้นทางไปหาดป่าตองในระยะทาง ๑๕ กิโลเมตร รวมเป็นระยะทางทั้งสิ้น ๔๐ กิโลเมตร แตกต่างกัน ๔ เท่าตัว   นายมานิต วัลยะเพ็ชร จึงตัดสินใจทำโครงการสร้างถนนตามพระราชดำริสายป่าตอง-กมลา  นำขึ้นกราบทูลพระกรุณาผ่านทางกองทัพภาคที่ ๔ ก็ได้รับพระมหากรุณาธิคุณโปรดเกล้า ฯ รับไว้ในโครงการพระราชดำริ การสร้างถนนสายนี้จึงได้ดำเนินการอย่างเร่งด่วนและสำเร็จลงในระยะเวลาเพียง ๑ ปี ด้วยความร่วมมือของเจ้าของที่ดินบางรายที่ถนนจำต้องตัดผ่านไป  โดยเจ้าของที่ดินไม่ติดใจจะขอรับเงินชดเชยแต่ประการใด  ทั้งนี้ก็ด้วยพระบารมีแห่งบรมโพธิสมภารในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเป็นที่ตั้ง  ทุกคนจึงพร้อมใจกันอุทิศที่ดินให้เป็นการถวายความจงรักภักดี  ถนนเปิดใช้งานได้อย่างสมบูรณ์ในปี พ.ศ.๒๕๒๕  เกิดความสะดวกสบายแก่ประชาชนและนักท่องเที่ยว  โดยเฉพาะผู้อยู่อาศัยในตำบลป่าตอง  และตำบลกมลา  ที่จะไปมาหาสู่กันได้ด้วยระยะทางเพียง ๑๐ กิโลเมตรแทนที่จะเป็น ๔๐ กิโลเมตร ดังที่เคยเป็นมาแต่ก่อน
 
๗.๒.๒ สวนหลวง ร.๙   ดังได้กล่าวแล้วว่าพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช มหาราช  ทรงสถิตอยู่ในดวงใจของพสกนิกรของพระองค์ถ้วนทั่วทุกผู้คน  กระแสพระราชดำริของพระองค์จึงเป็นที่สนใจของประชาชนทุกหมู่เหล่า ที่จะดำเนินตามรอยพระยุคลบาททุกโอกาสที่จะปฏิบัติได้
 กระแสพระราชดำริอีกอย่างหนึ่งในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว คือ พระราชประสงค์ที่จะให้ประชาชนมีสถานที่พักผ่อนหย่อนใจพอเพียงแก่สำมะโนครัวที่หนาแน่น  เพื่อทุกคนจะได้มีสุขภาพที่แข็งแรงปราศจากโรคภัยไข้เจ็บมาเบียดเบียน  พระราชดำริข้อนี้เป็นที่ประจักษ์แจ้งแก่ข้าราชบริพารและข้าราชการทุกหมู่เหล่า และต่างก็พยายามเสาะหาวิธีรวมทั้งสถานที่อันจะได้จัดทำสวนสาธารณะให้เป็นที่พักผ่อนหย่อนใจของประชาชนอยู่โดยมิได้ท้อถอย  ทั้งในกรุงเทพมหานครและในต่างจังหวัดทั่วประเทศไทย


 จังหวัดภูเก็ตมีที่ดินเหมืองแร่เก่าทิ้งร้างอยู่แปลงหนึ่ง เนื้อที่ประมาณ ๓๕๐ ไร่ อยู่ชานเมืองแต่ไม่ห่างไกลจากชุมชนส่วนใหญ่ที่จะเดินทางไปพักผ่อนและออกกำลังกายได้ในช่วงเวลาที่ว่างเว้นจากการงาน เป็นที่ดินประทานบัตรเก่าของกรมทรัพยากรธรณี อยู่ในเขตเทศบาลเมืองภูเก็ต
 ทางเทศบาลเมืองภูเก็ต ได้ดำริเรื่องการจัดสร้างสวนสาธารณะเพื่อถวายเป็นราชบรรณาการเนื่องในพระวโรกาสเฉลิมฉลอง ๒๐๐ ปี แห่งพระบรมมหาราชจักรีวงศ์ ใน พ.ศ.๒๕๒๕  จึงได้นำเรื่องเข้าปรึกษากรมทรัพยากรธรณีผู้เป็นเจ้าของที่ดิน  กรมทรัพยากรธรณีเห็นชอบด้วย แต่ขอเข้าเป็นผู้จัดทำโดยเจ้าหน้าที่และงบประมาณของกรม ฯ เอง เพื่อร่วมน้อมเกล้า ฯ ถวายแก่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวในนามของกรมทรัพยากรธรณี  แล้วจะมอบให้เทศบาลเมืองภูเก็ตเป็นผู้ดูแลรักษาต่อไป


 การก่อสร้างสวนสาธารณะแห่งนี้ดำเนินติดต่อกันหลายปี  เนื่องจากเนื้อที่กว้างขวางถึง ๓๕๐ ไร่ ประกอบด้วยลำธารน้ำไหล  ซึ่งแปรสภาพมาจากลำคลองใหญ่สมัยโบราณที่เรือกำปั่นสามารถแล่นเข้าจอดเทียบเพื่อรับส่งสินค้าได้ เรียกว่า “คลองท่าแครง” แต่เดิมมาเคยเป็นแหล่งแร่ของเรือขุดแร่ฝรั่งสัญชาติอังกฤษ  ทำการขุดหาแร่มาก่อนสมัยสงครามโลกยังไม่อุบัติ ครั้นสงครามโลกครั้งที่ ๒ อุบัติขึ้น พวกฝรั่งก็ละทิ้งเหมืองหนีไป  รัฐบาลไทยได้เข้ารับช่วงดูแลรักษาไว้ตลอดระยะเวลาสงคราม  เมื่อสงครามสงบลงบริษัทฝรั่งเห็นว่าความสมบูรณ์ของแหล่งแร่ไม่เหมาะจะทำการขุดหาต่อไปอีกจึงโอนกรรมสิทธิ์ให้แก่รัฐบาลไทย  โดยเรียกร้องค่าปฏิกรรมไปจำนวนหนึ่ง  กรมทรัพยากรธรณีจึงเข้ารับหน้าที่ดูแลรักษาอยู่ตลอดมาจนหมดอายุประทานบัตร ที่ดินทั้งหมดตกเป็นของราชพัสดุในปัจจุบัน


 นอกจากมีธารน้ำไหลแล้ว  ยังมีขุมน้ำที่เกิดจากเหมืองเก่าได้ขุดทิ้งไว้ด้วย  กรมทรัพยากรธรณีได้ดัดแปลงแก้ไข  และตบแต่งบริเวณที่ดินทำให้เกิดมีสวนไม้ดอก  ไม้ใบ เนินดิน ศาลาพักผ่อน ถนนยวดยาน  และทางเดินของผู้คนที่เข้าไปพักผ่อนหรือออกกำลังกายเป็นอย่างดี
 กรมทรัพยากรธรณีได้มอบสวนสาธารณะแห่งนี้ ซึ่งได้ขอพระราชทานนามว่า “สวนหลวง ร.๙“ ให้อยู่ในความดูแลรักษาของเทศบาลเมืองภูเก็ต ตั้งแต่ พ.ศ.๒๕๒๘ เป็นต้นมา
 
๗.๒.๓ ปลูกต้นไม้ถวายในหลวง  กระแสพระราชดำริในพระบาทสมเด็จพระบรมราชินีนาถ เกี่ยวกับโครงการ “ป่ารักษ์น้ำ” และ “โครงการปลูกป่าให้เป็นมรดกของแผ่นดิน” ได้กระจายสู่ความรู้ความเข้าใจของพสกนิกรของพระองค์โดยสม่ำเสมอมิได้ขาดสาย  ปลุกให้ทุกคนสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณของทั้งสองพระองค์ที่ทรงดำรงอยู่อย่างเสมอต้นเสมอปลายมิได้ทรงท้อถอยแม้แต่น้อย  พระราชอุตสาหะวิริยะอันแรงกล้าเช่นนี้  เป็นแรงชักนำให้ประชาชนของพระองค์ต่างพากันดำเนินรอยเบื้องพระยุคลบาทเพิ่มขึ้นตามลำดับ 


 ประชาชนชาวจังหวัดภูเก็ตทั้งข้าราชการทุกหมู่เหล่าและราษฎรทุกอาชีพ  โดยเฉพาะอย่างยิ่งนิสิต นักศึกษา และครูอาจารย์  ได้ร่วมสมานสามัคคีช่วยกันปลูกต้นไม้ในวันที่ ๕ ธันวาคม ของทุกปี  เพื่อน้อมเกล้า ฯ ถวายเป็นราชสักการะแก่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมิได้ขาด  เป็นผลให้ป่าไม้ในภูเก็ตเริ่มมีลักษณะสมบูรณ์ขึ้น เป็นการแก้ไขความผิดพลาดที่เคยเป็นมาแต่ครั้งก่อน ๆ ซึ่งป่าไม้อันสมบูรณ์ได้ถูกทำลายลงเพื่อประโยชน์แก่การเหมืองแร่ สวนยาง และการปลูกสร้างบ้านเรือน  โดยปราศจากการควบคุมจากผู้รับผิดชอบเท่าที่ควร


 โครงการปลูกต้นไม้ถวายในหลวง มิเพียงแต่ได้ช่วยฟื้นฟูป่าเสื่อมโทรมให้กลับคืนสภาพที่ดีขึ้น เพื่อสอดรับพระราชดำริ “ป่ารักษ์น้ำ” ด้วยการ “ปลูกต้นไม้” เท่านั้น  หากแต่ยังเป็นการ “ปลูกความสำนึกของอนุชน” ในการอนุรักษ์ธรรมชาติ  ให้ฝังแนบแน่นตั้งแต่เยาวัยสืบไปจนเติบโตเป็นผู้ใหญ่อีกด้วย
 
๗.๒.๔ การฟื้นฟูป่าชายเลนที่เสื่อมโทรม  เป็นกิจกรรมพัฒนาอีกประการหนึ่ง ซึ่งสืบเนื่องมาจากพระราชดำริอันเป็นพระมหากรุณาธิคุณที่จะทรงคงสภาพธรรมชาติของป่าชายเลนไว้เพื่อเป็นแหล่งกำเนิดของสัตว์ทะเลและพืชพันธ์ต่าง ๆ เพราะสิ่งเหล่านั้นเป็นทรัพยากรของโลก และเป็นอาหารของมนุษย์ที่ยั่งยืน แต่ป่าชายเลนของภูเก็ตได้ถูกทำให้เสื่อมโทรมลงเป็นจำนวนมาก  เนื่องจากกิจการเหมืองแร่ที่ให้ประโยชน์ทางการเงินสูงในสมัยก่อน จนประชาชนและแม้แต่ทางราชการก็ลืมคำนึงถึงสภาพแวดล้อมอื่น ๆ ครั้นล่วงมาถึงปัจจุบัน เมื่อป่าไม้ชายเลน เช่น ต้นแสม และโกงกาง(พังกา) ถูกตัดโค่นไปทำประโยชน์จนเกือบสูญพันธ์ คงเหลือพื้นที่ป่าชายเลนที่มีป่าเป็นละเมาะไม้เพียงหย่อม ๆ ชาวบ้านก็เข้าครอบครองแล้วถมดินให้กลายเป็นที่ราบ ปลูกสร้างบ้านเรือนอาศัยบ้าง เข้าครอบครองทำนากุ้งบ้าง  ยิ่งสร้างความเสื่อมโทรมและสูญเสียแก่ระบบนิเวศของธรรมชาติป่าชายเลนเพิ่มขึ้น
 จากกระแสพระราชดำริที่จะทรงให้คงสภาพป่าชายเลนไว้ตามธรรมชาติให้มากที่สุดเท่าที่จะพึงกระทำได้  จึงเกิดเป็นกระแสชักชวนให้ประชาชนทุกฝ่ายช่วยกันปลูกต้นกล้าไม้แสม ไม้โกงกาง (พังกา) ลงในพื้นที่ป่าชายเลนซึ่งยังคงสภาพเป็นที่หลวงอยู่ เช่น ในบริเวณอ่าวบางโรง ซึ่งอยู่ทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือของเกาะภูเก็ต ในเขตอำเภอถลาง เป็นต้น


 การร่วมกันช่วยปลูกต้นกล้าไม้ป่าชายเลนแต่ละครั้ง ผู้ร่วมกิจกรรมต่างมีความตั้งใจเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันว่ากิจกรรมเช่นนี้  เป็นการสนองนโยบายรัฐบาลตามกระแสพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าพระบรมราชินีนาถ ซึ่งทรงมุ่งหวังให้เกิดพัฒนาการแก่ท้องถิ่นเพื่อความอยู่ดีมีสุขของประชาราษฎร์ทั้งปวงสืบไปถึงอนาคตกาลที่ยั่งยืน
 
๗.๒.๕  การอนุรักษ์ป่าพรุ  สืบเนื่องจากกระแสพระราชดำริในการอนุรักษ์ป่าพรุโต๊ะแดงที่จังหวัดนราธิวาส  และกิจกรรมหลายอย่างอันเกี่ยวเนื่องกับการอนุรักษ์ป่าพรุโต๊ะแดง ได้กระจายทางสื่อมวลชนต่าง ๆ ก่อให้เกิดความสนใจขึ้นในชุมชนชาวอำเภอถลาง  โดยเฉพาะผู้ซึ่งตั้งบ้านเรือนอาศัยอยู่ใกล้ท้องถิ่นที่มีป่าพรุ เช่น ตำบลไม้ขาว เป็นต้น  ชุมชนเหล่านี้เกิดความรู้เรื่องคุณประโยชน์ของป่าพรุ ซึ่งเคยถูกทิ้งร้างไร้ผู้สนใจอยู่จำนวนหนึ่ง ครั้นมีผู้สนใจที่จะเข้าครอบครองเป็นกรรมสิทธิ์ส่วนตัว หรือแม้กระทั่งทางราชการท้องถิ่นจะทำการขุดลอก ถม และดัดแปลงให้แปรสภาพไป  ชุมชนก็ได้ออกมาคัดค้าน ไม่ยอมรับการพัฒนาในลักษณะดัดแปลงสภาพป่าพรุให้เปลี่ยนเป็นแหล่งน้ำอย่างอื่น แต่ต้องการให้คงสภาพป่าพรุไว้ตามธรรมชาติดังเดิม เช่น ป่าพรุจิก ตำบลไม้ขาว อำเภอถลาง เป็นต้น ทั้งนี้เพื่อสนองนโยบายอนุรักษ์ธรรมชาติตามพระราชดำริที่กระจายออกมาทางสื่อมวลชน


 จากตัวอย่างที่กล่าวมาข้างต้น  เป็นตัวอย่างในการพัฒนาท้องถิ่นอันเกิดขึ้นเนื่องด้วยพระราชดำริในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าพระบรมราชินีนาถ ซึ่งทรงมีพระมหากรุณาธิคุณ ห่วงใยในความเป็นอยู่ของพสกนิกรในพระองค์ ตลอดจนทรงมุ่งหวังที่จะให้บ้านเมืองเจริญไปโดยถูกทาง มีความสันติสุขและมั่งคั่งสมบูรณ์ด้วยทรัพยากรธรรมชาติ อันเป็นผลประโยชน์ในด้านโภคทรัพย์และด้านอาหาร การบริโภคของประชาราษฎร์ภายใต้ร่มพระบรมโพธิสมภารสืบไปยั่งยืนนาน.

 

พระราชกรณียกิจในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช ป.ร.
เมื่อเสด็จ ฯ จังหวัดภูเก็ต

เสด็จ ฯ ครั้งที่ ๑
วันอาทิตย์ที่ ๘ มีนาคม ๒๕๐๒
สมเด็จพระนางเจ้า ฯ พระบรมราชินีนาถ ตามเสด็จ ฯ
เสด็จ ฯ ข้ามช่องแคบปากพระด้วยแพขนานยนต์ จากท่านุ่น จังหวัดพังงา
ถึงท่าฉัตรไชย จังหวัดภูเก็ต เวลา ๑๖.๐๐ น. และประทับแรม ณ จวนผู้ว่าราชการจังหวัด
วันจันทร์ที่ ๙ มีนาคม ๒๕๐๒
เสด็จ ฯ เยี่ยมราษฎร ณ ศาลากลางจังหวัดภูเก็ต
ทรงมีพระราชปฏิสันถารและทรงแนะนำให้ราษฎรไปรับการฉีดวัคซีนเพื่อป้องกันอหิวาตกโรค
เสด็จ ฯ ทอดพระเนตรกิจการเหมืองเจ้าฟ้า ประทับบนพลับพลาเพื่อทอดพระเนตรการสูบแร่ดีบุก
ตอนบ่ายเสด็จ ฯ เยี่ยมราษฎรอำเภอถลาง ณ โรงเรียนวัดพระนางสร้าง และหาดสุรินทร์
มีประชาชนมารอเฝ้ารับ ฯ ชมพระบารมีอย่างเนืองแน่น
วันอังคารที่ ๑๐ มีนาคม ๒๕๐๒
เสด็จ ฯ ทรงปล่อยกุ้งหัวโขนที่ท่าเรือ
เสด็จ ฯ เยี่ยมราษฎรหมู่บ้านชาวเลที่บ้านราไวย์
ทอดพระเนตรการซ่อมเรือหาปลาด้วยความสนพระทัย
ราษฎรทูลเกล้า ฯ ถวายกัลปังหาสีเหลือง
เสด็จ ฯ กลับที่ประทับแรม ทรงดนตรีร่วมกับคณะมิตรศิลป์ของสมาคมนายเหมืองภูเก็ต
และทอดพระเนตรการแสดงรองเง็งของชาวเลภูเก็ตด้วยความสนพระทัยยิ่ง
วันพุธที่ ๑๑ มีนาคม ๒๕๐๒
เสด็จ ฯ เป็นการส่วนพระองค์ไปทรงเยี่ยมราษฎรตำบลป่าตอง
และทอดพระเนตรน้ำตกวังขี้อ้อน ยังความปีติยินดีแก่ชาวบ้านซึ่งมาซักผ้าและอาบน้ำขณะนั้น
ทรงขอบใจผู้นำน้ำมิหนิดซึ่งผลิตจากโรงงานบนเกาะภูเก็ต มาทูลเกล้า ฯ ถวาย
ชาวป่าตองและพระครูอธิการวัดสุวรรณคีรีวงก์(พระครูพิสิฐกรณี)
ได้ร่วมกันสร้างอนุสรณสถาน”ราชปาทานุสรณ์”
ณ สถานที่ที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ฯ ประทับยืนแรกสุด ณ ตำบลป่าตอง
ในตอนบ่ายเสด็จ ฯ วัดมงคลนิมิตร ทอดพระเนตรพระพุทธรูปทองคำโบราณศิลปะสุโขทัย
เสด็จ ฯ วัดพระทอง และเสด็จ ฯ เยี่ยมราษฎร ณ ตำบลป่าคลอก
วันพฤหัสบดีที่ ๑๒ มีนาคม ๒๕๐๒
เสด็จ ฯ ไปจังหวัดพังงา
ราษฎรชาวภูเก็ตได้จัดทำป้ายผ้าแพร
ถวายพระพร”ทรงจงพระเจริญ”
ผูกติดกับลูกโป่งปล่อยลอยขึ้นสู่ท้องฟ้าทันทีที่แพขนานยนต์ออกจากท่าฉัตรไชยเพื่อเป็นการส่งเสด็จ ฯ

เสด็จ ฯ ครั้งที่ ๒
วันอังคารที่ ๒๓ พฤษภาคม ๒๕๑๐
เสด็จ ฯ ประกอบพิธีเปิดอนุสาวรีย์ท้าวเทพกระษัตรี-ท้าวศรีสุนทร
เสด็จ ฯ ประกอบพิธีปิดทองและทรงเจิมช่อฟ้าอุโบสถวัดเจริญสมณกิจ
ผู้พิพากษาหัวหน้าศาลจังหวัดกราบบังคมทูลเบิกตัวผู้มีจิตศรัทธา
ทูลเกล้า ฯ ถวายเงินสมทบทุนก่อสร้างอุโบสถจำนวน ๙ ราย
พระครูสถิตบุญญารักษ์ รองเจ้าอาวาสวัดเจริญสมณกิจ ถวายพระพิมพ์
ทรงมีพระราชดำรัสเกี่ยวกับนโยบายพระศาสนา
เสด็จ ฯ ประกอบพิธีเปิด”ศูนย์บริการโลหิต ตึกเลิศโภคารักษ์” ณ โรงพยาบาลวชิระภูเก็ต

เสด็จ ฯ ครั้งที่ ๓
วันอังคารที่ ๒๓ กรกฎาคม ๒๕๑๑
สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช ฯ สยามมกุฎราชกุมาร ตามเสด็จ ฯ
ทรงพระราชทาน”พระพุทธนวราชบพิตร”
เพื่อเป็นพระพุทธรูปคู่บ้านคู่เมือง
เสด็จ ฯ เยี่ยมราษฎรที่มาเฝ้า ฯ ชมพระบารมีที่หน้าศาลากลางจังหวัด
ตอนบ่ายเสด็จ ฯ เยี่ยมโรงถลุงแร่ดีบุกของบริษัทไทยซาร์โก้
เสด็จ ฯ ทอดพระเนตรอ่าวป่าตอง
และเสด็จ ฯ ทรงลงพระปรมาภิไธย”ภูมิพลอดุลยเดช”ไว้ ณ ราชปาทานุสรณ์
วันพุธที่ ๒๔ กรกฎาคม ๒๕๑๑
เสด็จ ฯ โดยเฮลิคอปเตอร์พระที่นั่งจากสนามสุระกุลไปยังสนามบินภูเก็ต
เพื่อเปลี่ยนขึ้นประทับเครื่องบินทหารไปยังจังหวัดสุราษฎร์ธานี
แล้วเสด็จ ฯ กลับมาขึ้นเครื่องบินพระที่นั่งที่ภูเก็ต เพื่อเสด็จ ฯ นิวัติกรุงเทพมหานคร

เสด็จ ฯ ครั้งที่ ๔
วันจันทร์ ๑๖ เมษายน ๒๕๑๖
สมเด็จพระนางเจ้า ฯ พระบรมราชินีนาถ
สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ  สยามบรมราชกุมารี
และสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณ์วลัยลักษณ์ ตามเสด็จ ฯ
ประทับเครื่องบินพระที่นั่งถึงสนามบินภูเก็ต
ทรงมีพระราชปฏิสันถารกับข้าราชการและประชาชน
เสด็จ ฯ วางพวงมาลาที่อนุสาวรีย์ท้าวเทพกระษัตรี – ท้าวศรีสุนทร
เสด็จ ฯ ท่าเรือบริษัทไทยซาร์โก้ เสด็จประทับเรือหลวงจันทร
เยี่ยมราษฎร ณ เกาะนาคาน้อย
ทรงพระราชทานเสื้อผ้าและสิ่งของแก่คนชรา.

 

*** ประวััติศาสตร์ ข้อมูลภูเก็ต แก้ไข http://www.phuketdata.net/main/administrator/index2.php?option=com_content&sectionid=0&task=edit&hidemainmenu=1&id=83
แก้ไขล่าสุดเมื่อ ( พุธ, 28 มีนาคม 2018 )
 
< ก่อนหน้า   ถัดไป >

สมุดภาพเหมืองแร่

Counter

mod_vvisit_countermod_vvisit_countermod_vvisit_countermod_vvisit_countermod_vvisit_countermod_vvisit_countermod_vvisit_countermod_vvisit_countermod_vvisit_counter
mod_vvisit_counterวันนี้3554
mod_vvisit_counterเมื่อวาน3893
mod_vvisit_counterทั้งหมด11015389