Skip to content

Phuketdata

default color
Home arrow Search
มทศ.จห.38 PDF พิมพ์ อีเมล์
เขียนโดย ปาณิศรา ชูผล มทศ.   
พฤหัสบดี, 30 ธันวาคม 2010

จดหมายเหตุเมืองถลางและหัวเมืองปักษ์ใต้
ต้นฉบับของศูนย์วัฒนธรรมจังหวัดภูเก็ต (ศวภ.)


ประสิทธิ  ชิณการณ์ : อ่านและวิเคราะห์

Click at the image to view full size
ฝากรูป

มทศ.จห.๓๘ (ใช้หมายเลขตรงกับ ฉบับ ศวภ ๓๘) 


คำอ่าน ๐ หนังสือข้าพเจ้าหลวงท่า บอกมายัง ท่านพระยาราชกปิตน ด้วย ณ วันพฤหัสขึ้นห้าค่ำเดือนสี่ ปีระกาเอกสก กปิตันกอแร้พาเอาของไปเข้าก็ได้ความผิดครั้งหนึ่งแล้วครั้นอยู่มา ณ วันอาทิตย์ขึ้นสิบค่ำเดือนเจ็ดปีจอโทศกปะลิมมือด้วนของกัปปิตันิสโตนขึ้นมาถึงไร่ยามู พาเอาอำแดงคงทอง ทาสของอำแดงชีบุญลงไปไว้ ณ กำปั่น จึงข้าพเจ้าหลวงท่า ใช้ให้นายเทพทนาย นายหลีทนาย นายช่วยทนาย ลงไป ณ กำปั่นเอาตัวอำแดงขึ้นมาไปส่งให้แก่ท่านขุนยุกบัตร ผู้เจ้ากรมครั้งหนึ่งแล้ว ครั้นอยู่ ณ วันอังคารขึ้นสิบสองค่ำเดือนเจ็ดปีจอโทศก ข้าพเจ้าหลวงท่าขึ้นไปท่าเรือรับดีบุกหลวง ประลิบวิสโตนคบพวกเพื่อนขึ้นมา ณ กว้านยามู ถามนายหลีว่าเอาอำแดงคงทองนั้นไปเสียไหนจึงนายหลีบอกแก่ปะลิมว่า อำแดงคงทองนั้น นายพาเอาตัวขึ้นไปบ้านแล้วจึงปะลิบฟันนายหลีเป็นสาหัสครั้งหนึ่งแล้วครั้นอยู่มา ณ วันพฤหัสขึ้นสิบสองค่ำเดือนเจ็ดปีจอโทศก นายเทพนายลงไป ณ กำปั่น จะตรวจดีบุกอยู่อย่างธรรมเนียมปะลิบกัปตันมิราเสนมิให้ตรวจดีบุกจึงนายเทพจะตรวจให้ได้ จึงปะลิบกัปตันมิราเสนถีบนายเทพตกลงมาแต่กำปั่นครั้งหนึ่งแล้ว ครั้นอยู่มา ณ วันศุกร์ขึ้นสิบห้าค่ำเดือนเจ็ด ปะลิบกัปตันวิสโตนปะลิบกัปตันมิราเสนขึ้นมา ณ อ่าวยามูจึงข้าพเจ้าให้ให้นายหลีออกไปถามประลิบวิสโตนว่า ขึ้นมานี่ธุระสิ่งอันใด จึงประลิบวิสโตนยิงก่อน แล้วยิกไล่ฟันนายหลี จึงข้าพเจ้าร้องห้ามไปว่าอย่าวุ่นวายจึงประลิบกัปตันมิราเสนยิงมาตรงข้าพเจ้ากะบอกหนึ่ง จึงข้าพเจ้าใช้ให้ นายเทพทนายเข้ายิงตรงคูลาวารา ปืนทาบกัปตันมิราเสนถึงตาย ขอปรานีบัติมา ณ วันพฤหัสแรมหกค่ำเดือนเจ็ดปีจอโทศก 


วิเคราะห์ ๐ พ.ศ.๒๓๓๓ เป็นช่วงเวลาที่พระยาทุกรราช (เทียน ประทีป ณ ถลาง) ได้รับตำแหน่งผู้ว่าราชการเมืองถลางใหม่ ๆ การค้าขาย ซึ่งได้ฟื้นฟูขึ้นใหม่กับพระยาราชกปิตัน เจ้าเมืองเกาะปีนังนั้นกำลังเฟื่องฟู แต่บรรดาพ่อค้าอังกฤษสังกัดอยู่ในอำนาจของพระยาราชกปิตัน ดูเหมือนจะมีความโอหัง ไม่ยำเกรงชาวเมืองถลางตามที่คิดว่าควรจะเป็น มีการข่มเหงชาวบ้านผู้คนอยู่เนื่อง ๆ เช่น ฉุดคร่าเอาหญิงทาสของคหบดีเมืองถลางไปลงเรือโดยพลการบ้าง ขึ้นบกมาตีรันฟันแทงเจ้าหน้าที่บ้าง ดังเรื่องราวที่ "หลวงท่า" เจ้าของจดหมายฉบับนี้ฟ้องไปยังพระยาราชกปิตัน ซึ่งค่อนข้าจะเป็นกรณีที่ร้ายแรงเนื่องจากกัปตันมิราเสนคนของพระยาราชกปิตันถึงแก่ความตายจากการวิวาทนั้น 


 คำว่า "นายเทพทนาย นายหลีทนาย นายช่วยทนาย" นั้น "ทนาย" หมายถึง ผู้ทำหน้าที่รับใช้ขุนนางซึ่งนับว่าเป็น "เจ้าหน้าที่" ของบ้านเมืองเช่นตำรวจในสมัยต่อมา


 คำว่า "ปืนทาบกัปตันมิราเสนถึงตาย" หมายถึง การที่ปืนไปถูกคูลาวารา แล้วทะลุ ไปถูกกัปตันมิราเสนด้วยเป็นเหตุให้กัปตันถึงแก่ความตาย โดยผู้ยิงมิได้ตั้งใจยิงกัปตันมิราเสนแต่อย่างใด


 คำว่า "ปะลิบ" ที่ใช้นำหน้าค่ำว่า "กัปตัน" จะเพี้ยนมาจากภาษาอังกฤษคำไหนนั้น ต้องค้นหาที่มาว่าเป็นอย่างไร


 พจนานุกรมภาษาอังกฤษของ แชมเบอร์สทเวนตี้ธ์เซ็นจุรี่ ฉบับที่ค่อนข้างจะเก่าแก่ฉบับหนึ่งคือพิมพ์เมื่อ ค.ศ.๑๙๓๓ มีคำนามอยู่คำหนึ่งว่า "เบลลิฟฟ์" (Bailiff) ให้ความหมายว่าไว้ว่า "อดีตเจ้าหน้าที่ของพระมหากษัตริย์ เช่น นายอำเภอ (Sheriffs) นายกเทศมนตรี (Mayors) เป็นต้น ประยุกต์ ใช้กับผู้บังคับบัญชาผู้คนจำนวนร้อย ยังคงใช้เป็นยศขุนนาง (Title) ชั้นหัวหน้าเจ้าหน้าที่ฝ่ายพลเรือนที่บริหารในด้านกฎหมายสำหรับเมืองทั่ว ๆ ไป


 พจนานุกรมภาษาอังกฤษของ เว็บสเตอร์ส ฉบับพิมพ์ ค.ศ.๑๙๙๓ อธิบายว่า "เบลลิฟฟ์" ว่าตัวแทนหรือผู้รับหน้าที่จัดการดูแลที่ดิน, เจ้าพนักงานผู้ดูแลศาล, ยศขุนนางชั้นหัวหน้าเจ้าหน้าที่ฝ่ายพลเรือนที่บริหารในด้านกฎหมายของเมืองต่าง ๆ ในจักรภพอังกฤษและ (ยศขุนนาง) ชั้นหัวหน้าเจ้าหน้าที่ผู้รักษาปราสาทบางแห่งของราชวงศ์-ฯ
 จึงขอเสนอแนววิเคราะห์ไว้ ณ ที่นี้ว่า คำว่า "ปะลิบ" ในจดหมายฉบับที่กำลังวิเคราะห์กันนี้ น่าจะเพี้ยนจากคำว่า "เบลลิฟฟ์" (Bailliff) ส่วนเหตุผลในการที่มีคำนำหน้านาม "กัปตัน" ทั้งสองนั้นอาจจะเนื่องด้วยกัปตันทั้งสองเคยรับราชการในราชสำนักอังกฤษมาก่อน จึงมีสิทธิที่จะใช้ยศขุนนางเดิมได้ตามประเพณีของเขา (ซึ่งปัจจุบันนี้ได้ยกเลิกไปแล้ว)


 อีกนัยหนึ่งระหว่าง พ.ศ.๒๓๓๐ ถึง พ.ศ.๒๓๓๓ นั้น พระยาราชกปิตัน กำลังได้รับความยุ่งยากในการจัดระเบียบบริหารเมืองปีนังอยู่เป็นอันมากโดยเฉพาะในด้านการจัดแบ่งปันที่ดิน ให้แก่บรรดาผู้ร่วมทำงานและเครือญาติ ก็เป็นเรื่องราวที่ต้องใช้สติปัญญา และความรู้เป็นพิเศษเข้าประกอบ พระยาราชกปิตัน อาจขอร้องบุคคลผู้มีความรอบรู้ในเรื่องที่ดินซึ่งเคยทำหน้าที่ "เบลลิฟฟ์" ในอังกฤษ เช่นกัปตันวิสโตน และ กัปตันมิราเสน มาช่วยงานด้านนี้ด้วยก็เป็นได้จึงเกิดมีคำว่า "เบลลิฟฟ์" ขึ้นในทำเนียบเจ้าหน้าที่ของพระยาราชกปิตัน และชาวเมืองถลางเรียกเพี้ยนเป็น "ปะลิบ" ดังปรากฏในจดหมายดังกล่าว
 อนึ่ง จดหมายฉบับนี้กล่าวถึง "ไร่ยามู" และ "กว้านยามู" กับ "อ่าวยามู" ซึ่งคำ "ยามู" ทั้งสามคำนี้ระบุสถานที่ว่า เป็นบริเวณท่าเทียบเรือสินค้าต่างประเทศของเมืองถลาง "บางโรง" อันเป็นเมืองถลางใหม่ของพระยาทุกรราช (เทียน) ส่วนคำว่า "ไร่" และ "กว้าน" นั้น มีคำแปลในพจนานุกรมแล้ว


 คำว่า "กัปตันกอแร้" น่าจะเพี้ยนมาจากชื่อ "กัปตันแกลส" ซึ่งเป็นนายเรือที่มีนิสัยก้าวร้าวเกเรไม่ชอบเรียนรู้ภาษา และนิสัยชาวเมืองปีนัง และชาวเมืองถลาง ชอบข่มเหงรังแกผู้คนตลอดจนหัวเมืองเล็ก ๆ อยู่เสมอ

 

ปาณิศรา(นก) ชูผล : บันทึก

ผช.หมายเหตุรักษ์ มทศ.

 
< ก่อนหน้า   ถัดไป >

สมุดภาพเหมืองแร่

Counter

mod_vvisit_countermod_vvisit_countermod_vvisit_countermod_vvisit_countermod_vvisit_countermod_vvisit_countermod_vvisit_countermod_vvisit_countermod_vvisit_counter
mod_vvisit_counterวันนี้1707
mod_vvisit_counterเมื่อวาน2572
mod_vvisit_counterทั้งหมด11007636