Skip to content

Phuketdata

default color
Home arrow Search
ตัวการันต์ PDF พิมพ์ อีเมล์
เขียนโดย ปาณิศรา ชูผล มทศ.   
จันทร์, 01 มีนาคม 2010
การใช้การันต์ โดย ศ.จำนงค์ ทองประเสริฐ
 

การใช้การันต์

          เมื่อพูดถึงคำว่า “การันต์” แล้ว บางคนคิดว่าเป็นอย่างเดียวกับ “ทัณฑฆาต” ความจริง “การันต์” หมายถึง ตัวอักษรที่ไม่ต้องการออกเสียง ถ้าเป็นคำบาลีและสันสกฤต คำว่า “การันต์” หมายถึง เสียงที่อยู่พยางค์สุดท้ายของคำ เพราะคำว่า “การันต์” เกิดจากการนำคำว่า “การ” ซึ่งแปลว่า “ตัวอักษร” กับ “อันต” ซึ่งแปลว่า “ที่สุด” มาสนธิเข้าด้วยกัน เช่น คำว่า “ชายา” เป็นอาการันต์ เพราะพยางค์สุดท้ายลงเสียง อา “ราชินี” เป็น อีการันต์ คือคำลงท้ายด้วยเสียงอี ส่วนทัณฑฆาต หมายถึงเครื่องหมาย     ซึ่งใช้เขียนไว้บนตัวอักษร หรือตัวการันต์สำหรับบังคับไม่ให้ออกเสียง หรือจะกล่าวอีกอย่างหนึ่งก็คือ “การันต์” หมายถึง ตัวอักษรที่ไม่ออกเสียง ซึ่งมีไม้ทัณฑฆาตกำกับอยู่ ตัวการันต์นี้เป็นพยัญชนะตัวเดียวก็มี เป็นอักษรควบหรือนำก็มีอักษร ๒ ตัว หรือ ๓ ตัว เรียงกันก็มี มีรูปสระกำกับอยู่ด้วยก็มี ถ้าหากเราไม่ต้องการออกเสียงคำใด ก็ใส่ไม้ทัณฑฆาตบนอักษรตัวนั้น เพื่อเป็นการฆ่าเสียง

           เหตุที่เราเก็บเอาตัวการันต์ไว้ทั้ง ๆ ที่เราไม่ต้องการออกเสียงนั้นก็เพื่อรักษารูปเดิมของศัพท์ให้คงที่อยู่ เพื่อจะได้รู้รูปศัพท์เดิมว่าเป็นอย่างไร นับว่าเป็นประโยชน์ในด้านนิรุกติศาสตร์มาก เพราะจะทำให้เราพอสืบหาที่มาของคำได้ว่ามีต้นเค้ามาจากคำอะไรในภาษาอะไร เช่น คำว่า “ประเทศ” ถ้าเราเขียนตามเสียงคนทั่ว ๆ ไปที่มิได้ศึกษาเล่าเรียน ก็คงเป็น “ปะเทด” หรือ “อากาศ” ก็คงเขียนเป็น “อากาด” นาน ๆ เข้าก็เลยไม่ทราบที่มาของคำ ทำให้การศึกษาในด้านภาษาศาสตร์หรือนิรุกติศาสตร์ ต้องชะงักงันอย่างแน่นอน คำบางคำออกเสียงอย่างเดียวกัน แต่รากศัพท์เดิมต่างกัน ถ้าเราเขียนรูปเดียวกันหมด เราจะไม่ทราบความหมายที่แท้จริงของคำนั้นเลย เช่น คำที่ออกเสียงว่า “กาน” อาจเขียนเป็น “การ” “กาล” “กานต์” “กาญจน์” “การณ์” เป็นต้นก็ได้ แต่ละคำล้วนมาจากภาษาบาลีด้วยกัน แต่ความหมายต่างกันลิบลับ ถ้าเราเขียนตามเสียงพูดเช่น “กาน” สะกดเหมือนกันหมด คงจะก่อให้เกิดความยุ่งยากในการตีความอย่างมากทีเดียว

           ศัพท์ที่มีตัวการันต์นั้น โดยมากมักจะมาจากภาษาบาลีและสันสกฤต หรือมิฉะนั้นก็เป็นศัพท์ในภาษาตระกูลยุโรป ศัพท์ต่าง ๆ เหล่านี้ ในภาษาเดิมเขามักจะออกเสียงเป็นหลายพยางค์ แต่เมื่อเรานำมาใช้ในภาษาไทย โดยเหตุที่เราพูดช้ากว่าเขา เราจึงต้องการคำที่น้อยพยางค์ เมื่อเป็นเช่นนี้จึงได้เอาพยางค์หลังมาเป็นตัวสะกดเสียบ้าง เป็นตัวการันต์เสียบ้าง ครั้นจะทิ้งตัวการันต์เสีย ก็เกรงว่าจะเสียรูปศัพท์เดิม อันจะเป็นเหตุให้ความหมายคลาดเคลื่อนไป

           เรื่องตัวสะกดกับตัวการันต์นั้นอยู่ข้างจะปะปนกันมากเหมือนกัน จึงขอชี้แจงเรื่องนี้สักเล็กน้อย ดังนี้

            ๑. พยัญชนะตัวเดียว ถ้าไม่ต้องการให้เป็นตัวสะกด หรืออ่านเป็นอีกพยางค์หนึ่งแล้วก็นับว่าเป็นตัวการันต์ ซึ่งจำต้องใส่ไม้ทัณฑฆาตลงไป เช่น “ต้นโพธิ์” การันต์ที่ตัว “ธิ” ก็อ่านว่า “ต้น-โพ” ถ้าต้องการออกเสียงเป็นตัวสะกด ก็ไม่ต้องมีไม้ทัณฑฆาต เช่น “อำเภอศรีมหาโพธิ” ก็อ่านว่า “อำ-เพอ-สี-มะ-หา-โพด”

            ๒. อักษรควบทั้งปวง ต้องนับว่าเป็นตัวสะกดทั้งคู่ เว้นแต่อักษรควบไม่แท้ ที่มีเสียงตัวหน้าอ่อน คือ ร ควบกับตัวอื่น ถ้าต้องการเอาตัว ร สะกดตัวเดียว เช่น ธรรม์ (ม การันต์) สรรค์ (ค การันต์) สรรพ์ (พ การันต์) ฯลฯ อย่างนี้ตัวหน้า คือตัว ร เป็นตัวสะกด ตัวหลังคือ ม ค พ เป็นตัวการันต์ อย่างนี้ต้องใส่ไม้ทัณฑฆาต

            ๓. อักษรนำทั้งปวง ตัวนำเป็นตัวสะกด ตัวตามหลังถ้าไม่เป็นพยางค์ต่อไป ต้องนับว่าเป็นตัวการันต์ เช่น ยักษ์ สัตว์ สงฆ์ อย่างนี้ ตัว ก ต ง เป็นตัวสะกด ตัวหลัง คือ ษ ว ฆ เป็นตัวการันต์

            ตามปรกติในปัจจุบัน คำที่มาจากภาษาบาลีและสันสกฤต ไม่นิยมการันต์กลางคำนอกจากโบราณเท่านั้นที่มีเขียนอยู่บ้าง เช่น สาส์น (การันต์ตัว ส) มาร์ค (การันต์ตัว ร) ฯลฯ แต่คำที่มาจากภาษาตระกูลยุโรปเรานิยมใส่ไม้ทัณฑฆาตบนคำที่เราไม่ต้องการออกเสียง ซึ่งอาจอยู่ตรงไหนของคำก็ได้ เช่น ฟิล์ม ชอล์ก อาร์ต เกียร์ ฯลฯ

            ตัวการันต์พอจะจำแนกออกไปได้เป็น ๖ ชนิดด้วยกัน คือ
            ๑. เป็นพยัญชนะตัวเดียว เช่น สงฆ์ สิงห์ องค์ ศิลป์ ไมล์ ฯลฯ
            ๒. เป็นพยัญชนะ ๒ ตัวเรียงกัน เช่น เมืองกาญจน์ สายสิญจน์ ฯลฯ
            ๓. เป็นพยัญชนะ ๓ ตัวเรียงกัน เช่น พระลักษมณ์
            ๔. เป็นอักษรควบแท้ เช่น พักตร์ (หน้า) พระอินทร์ ฯลฯ
            ๕. เป็นอักษรควบไม่แท้ เช่น ธรรม์ สรรพ์ สรรค์ ครรภ์ ฯลฯ
            ๖. เป็นอักษรนำ เช่น เอกลักษณ์ สัญลักษณ์ ฯลฯ

ผู้เขียน : .จำนงค์ ทองประเสริฐ ราชบัณฑิต สำนักศิลปกรรม
ที่มา : ภาษาไทยไขขาน. กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์แพร่พิทยา. ๒๕๒๘. หน้า ๓๕๖

อ้างอิง

http://www.royin.go.th/TH/knowledge/detail.php?ID=1139

 
< ก่อนหน้า   ถัดไป >

สมุดภาพเหมืองแร่

Counter

mod_vvisit_countermod_vvisit_countermod_vvisit_countermod_vvisit_countermod_vvisit_countermod_vvisit_countermod_vvisit_countermod_vvisit_countermod_vvisit_counter
mod_vvisit_counterวันนี้306
mod_vvisit_counterเมื่อวาน5656
mod_vvisit_counterทั้งหมด11017797