Skip to content

Phuketdata

default color
Home arrow Search
นกเงือก PDF พิมพ์ อีเมล์
เขียนโดย ปาณิศรา ชูผล มทศ.   
อาทิตย์, 27 มกราคม 2008

นกเงือก

รศ.จิรา ธีระสุวรรณจักร

----- --------------------------

นกเงือก หรือที่ภาษาอังกฤษเรียกว่า “Hornbill”   มีอยู่ด้วยกันถึง ๕๔ ชนิด  ในโลกพบได้ในป่าเขตร้อนของทวีปอัฟริกาและเอเชียเท่านั้น  ในประเทศไทยมีอยู่ถึง ๑๒ ชนิด  มีขนาดใหญ่ถึงใหญ่มาก บางชนิดอาจมีขนาดตัวถึง ๑.๕ เมตร ความกว้างของปีกที่กางออกอาจถึง ๒ เมตร  เช่น นกกก หรือ นกกาฮัง   นกเงือกมีลักษณะที่แปลกคือ มีปากใหญ่ไม่ได้สัดส่วนกับหัว   แถมมี “โหนก” เหนือปากทำให้ดูเกะกะและทำให้ดูเหมือนว่าเจ้านกเงือกจะต้องคอนโหนกที่ดูหนักอึ้งเกินความจำเป็น  ลักษณะของโหนกนี้ ส่วนใหญ่จะเป็นโพรง  ยกเว้นโหนกของนกเงือกชนิดนกชนหิน ที่ตันดุจเดียวกับงาช้าง  โหนกของนกเงือกนี้จะช่วยให้เราจำแนกชนิดของนกเงือกได้ง่าย เพราะจะมีความแตกต่างกันออกไป บ้างก็มีขนาดใหญ่ แบนกว้างเช่นโหนกของนกกก  บ้างก็มีรูปทรงกระบอกทอดไปตามความยาวของจะงอยปากดูคล้ายกล้วยหอม แต่ปลายงอนขึ้น เช่นโหนกของนกเงือกหัวแรด บ้างก็มีโหนกขนาดเล็ก เป็นหยักเป็นลอนคล้ายกรามช้าง เช่น นกเงือกกรามช้าง   ที่ไม่มีโหนกก็มีเช่น นกเงือกคอแดง


นกเงือกจะมีส่วนหนังเปลือยเป็นสีฉูดฉาดอยู่บ้าง เช่น หนังบริเวณคอ   ขอบตา เป็นต้น  มีขนตายาวงาม  ขาสั้น  ชอบกระโดด  ลิ้นสั้น จึงกินอาหารโดยจัดอาหารอยู่ที่ส่วนปลายปาก แล้วโยนกลับลงคอไป  ปกตินกเงือกกินอาหารทั้งผลไม้ และ สัตว์เล็ก ๆ   ผลไม้พวกไทรเป็นอาหารหลักของนกเงือก  นอกจากร้องเสียงดังแล้ว นกเงือกเป็นนกที่บินเสียงดังมาก   เสียงที่ดังนี้เกิดจากการที่อากาศผ่านช่องว่างระหว่างโคนขนปีก  เนื่องจากนกเงือกไม่มีขนคลุมด้านใต้ของปีก  เมื่อกระพือปีกแต่ละครั้งจึงเกิดเสียงดังราวกับรถจักรไอน้ำ  และหากนกเงือกขนาดใหญ่บินมาเป็นฝูงจะทำให้เกิดเสียงดังราวพายุ


อุปนิสัยในการทำรังของนกเงือกมีลักษณะเด่นเฉพาะตัวคือ ทำรังในโพรงไม้ แต่มันไม่สามารถเจาะรังได้เองอย่างนกหัวขวาน  คือต้องเสาะหาโพรงที่มีอยู่โดยธรรมชาติ หรือ มีสัตว์อื่นทำให้เกิดขึ้น  ขณะเข้าไปอยู่ในโพรงนกเงือกตัวเมียจะปิดปากโพรงด้วยวัสดุต่าง ๆ เช่น มูลของมันเอง เศษไม้ ดิน  จนเหลือเพียงช่องแคบ ๆ เพียงพอให้พ่อนกส่งอาหารผ่านด้วยจะงอยปาก นกเงือกตัวเมียจะออกไข่ ฟักไข่และเลี้ยงลูกอยู่ภายในโพรงจนกว่าลูกนกจะโตพอที่จะบินได้  จึงจะกะเทาะปากโพรงออกมา  ซึ่งกินเวลาประมาณ ๓-๔ เดือน

 นกเงือกมีบทบาทที่สำคัญในระบบนิเวศน์ของป่าดงดิบ คือ ช่วยกระจายพันธุ์พืชโดยการสำรอกเมล็ดทิ้งหรือถ่ายเมล็ดออกมา  ชีวิตของนกเงือกขึ้นอยู่กับป่าที่สมบูรณ์มีต้นไม้ใหญ่ที่มีโพรงให้ทำรัง  มีแหล่งอาหารที่เพียงพอ  จึงถือว่าเป็นตัวชี้บ่งความอุดมสมบูรณ์ของป่าได้


นกเงือกชนิดที่พบมากในจังหวัดภูเก็ต  คือ นกแก๊ก หรือ นกแกง มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า  Anthracoceros albirostris  พบมากที่เกาะตะเภาใหญ่  ต.วิชิต  อ.เมือง จ.ภูเก็ต  มีจำนวน ๒๐๐ ตัว  มีขนาดราว ๗๐ เซนติเมตร  มีโหนกขนาดใหญ่เป็นรูปทรงกระบอกทอดตามความยาวของปาก คอและลำตัวสีดำปลอด มีขอบตาสีฟ้าซีด ๆ ท้องสีขาว ปลายขนปีกจะมีสีขาว  ขนหางคู่กลางส่วนที่เหลือจะมีส่วนปลายหนึ่งในสี่เป็นสีขาว  ตัวผู้มีจะงอยปากและโหนกสีขาวงาช้างและมีสีดำแต้มด้านหน้าของโหนก ตัวเมียมีโหนกเล็กกว่าและมีสีดำแต้มเปรอะทั้งโหนกและปากจนดูมอม

 

 นกแก๊กมักพบตามป่าต็งรัง ชายป่าดิบแล้ง ป่าดิบชื้น หรือป่าเบญจพรรณ ชอบกินผลไม้อยู่รวมกันเป็นฝูงเล็ก ๘-๑๐ ตัว เวลาบินจะมีผู้นำแล้วบินตามกันเป็นแถวชอบส่งเสียงคุยกันลั่นจัดเป็นนกช่างคุยมากชนิดหนึ่ง เสียงร้องแก๊ก แก๊ก แก๊ก ตามชื่อ.

 

ดูเพิ่ม

เพราะนกพัฒนามาจากไดโนเสาร์

แก้ไขล่าสุดเมื่อ ( พุธ, 06 กุมภาพันธ์ 2008 )
 
< ก่อนหน้า   ถัดไป >

สมุดภาพเหมืองแร่

Counter

mod_vvisit_countermod_vvisit_countermod_vvisit_countermod_vvisit_countermod_vvisit_countermod_vvisit_countermod_vvisit_countermod_vvisit_countermod_vvisit_counter
mod_vvisit_counterวันนี้857
mod_vvisit_counterเมื่อวาน3870
mod_vvisit_counterทั้งหมด11022217