Skip to content

Phuketdata

default color
Home arrow Search
การศึกษาในภูเก็ต PDF พิมพ์ อีเมล์
เขียนโดย ปาณิศรา ชูผล มทศ.   
อังคาร, 15 มกราคม 2008

การศึกษาในภูเก็ต


มานะ สามเมือง
-------

การจัดการศึกษาในอดีต

การศึกษาของชาวภูเก็ตแต่เดิมเริ่มจากวัดเช่นเดียวกับในเมืองหลวงและหัวเมืองอื่น ๆ ของไทย  คือบิดามารดาจะส่งเด็กผู้ชายไปเล่าเรียนและ “บวชเรียน”  กับพระสงฆ์ในวัด  จากนั้นก็จะสึกออกมาทำมาหากินหรือรับราชการ  การศึกษาในระบบโรงเรียนในเมืองภูเก็ตมณฑลเทศาภิบาลนั้น  มีหลักฐานจากจดหมายเหตุพระราชกิจรายวันรัชกาลที่ 5  ว่า  มีการจัดตั้งโรงเรียนมาตั้งแต่สมัยของพระยาภูเก็ต (ทัด)  คือมิสเตอร์เลนเซน  จะขอจัดตั้งโรงเรียนขึ้นในเมืองภูเก็ตพระยาภูเก็ต(ทัด)  เห็นว่ายังไม่เคยมีใครจัดตั้งโรงเรียนมาก่อน  จึงมีใบบอกขึ้นไปยังกรุงเทพมหานครเพื่อโปรดฯ ในการอนุญาตจัดตั้งได้  ซึ่งพระบาทสมเด็จฯพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวก็ทรงอนุญาตให้จัดตั้งแต่ได้ห้ามบาทหลวงตั้งเป็นโรงเรียนสอนศาสนา  อย่างไรก็ตามยังไม่พบหลักฐานอื่นใดเกี่ยวกับเรื่องนี้
 หลักฐานเก่าสุดเท่าที่พบก็คือในสมัยพระยาทิพโกษา (โต  โชติกเสถียร)  เป็นข้าหลวงเทศาภิบาลคนแรก  (พ.ศ.2437-2441)  โด้มีการสร้างโรงเรียนขึ้นในเมืองภูเก็ตเป็นโรงเดียวที่วัดมงคลนิมิตรในปี  พ.ศ.2439  ดังหลักฐานปรากฎในหนังสือของกระทรวงมหาดไทย  ลงวันที่ 22  พฤษภาคม ร.ศ. 115  (พ.ศ.2440)  กล่าวว่า

 “แจ้งความมายังพระยาวุฒิการบดีด้วยพระเจ้าน้องยาเธอฯ  เสนาบดีกระทรวงมหาดไทย  มีรับสั่งให้แจ้งความว่า พระยาทิพโกษา  ผู้กำกับข้าหลวงหัวเมืองทะเลตะวันตก  มีใบบอกที่  61/156  ลงวันที่ 24  เมายน  ร.ศ.115  เข้ามาว่า ได้จัดตั้งโรงเรียนขึ้นที่วัดมงคลนิมิตรเมืองพุเก็ด  ได้เปิดโรงเรียนให้เด็กเรียนเมื่อเดือนมีนาคม  ร.ศ.115  มีบุตรกรมการและราษฎรได้มาเรียนประจำอยู่  28 คนแล้ว  บัดนี้ยังขัดด้วยหนังสือตำราเรียนที่จะสอนเด็กอีกต่อไป  พระยาทิพโกษาขอแบบเรียนต่าง ๆ    สำหรับจะให้เด็กเรียนได้  50 คน  ความแจ้งอยู่ในใบบอกนั้น  กระทรวงมหาดไทยเห็นว่าที่พระยาทิพโกษาจัดให้มีโรงเรียนขึ้นก็ดีอยู่สมควรจะช่วยเหลือเกื้อหนุนเพราะฉะนั้นขอให้กระทรวงธรรมการจัดแบบเรียนเร็ว เล่มที่ 1 2 3 แลเลขวิธีเล่มหนึ่ง  อย่างละ  60  เล่ม  ส่งไปยังกระทรวงมหาดไทย  จะได้มีตราตอบส่งไปให้พระยาทิพโกษาตามที่ขอมา  ขอได้นำไปกราบเรียนท่านเจ้าพระยาภาศกรวงษ์เสนาบดีกระทรวงธรรมการทราบ”

 หนังสืออนุสรณ์ “100 ปี  ภูเก็ตวิทยาลัย”  กล่าวถึงประวัติของโรงเรียนภูเก็ตวิทยาลัยว่า  โรงเรียนภูเก็ตวิทยาลัยถือกำเนิดจาก  “โรงเรียนวรสิทธิ์”  ซึ่งเป็นโรงเรียนแห่งแรกของมณฑลฝั่งตะวันตก  ตั้งอยู่ในบริเวณวัดมงคลนิ ครูส่วนมากเป็นพระภิกษุเพรา  พุทธสโร (พ.ศ.2472 ได้รับพระราชทานเลื่อนสมณศักดิ์เป็นพระวิสุทธิวงศาจารย์ญาณมุนี  ซึ่งเป็นพระราชาคณะชั้นสามัญ) เป็นผู้ดำเนินการ
 พรศักดิ์ พรหมแก้ว  ได้ตรวจสอบหลักฐานการจัดการศึกษาในมณฑลภูเก็ตจากหอจดหมายเหตุแห่งชาติแล้ว  ยังไม่พบหลักฐานเกี่ยวกับชื่อโรงเรียนนี้  ก่อนปี  พ.ศ.2452  มีการสร้างโรงเรียนขึ้นหลายโรงหลายครั้งในวัดมงคลนิมิตรแต่ก็ไม่พบโรงเรียนชื่อนี้   และไม่ปรากฎว่ามีโรงเรียนใดสร้างขึ้นในปี   พ.ศ.2440  ภายในวัดนี้

 สมเกียรติ  สุริยะกุล  ได้รับคำบอกเล่าจากพระครูพิพัฒนสมาจารย์  ลูกศิษย์องค์หนึ่งของพระวิสุทธิวงศาจารย์ญาณมุนีสังฆปาโมกข์ (เพรา  พุทธสโร)  ว่า  ท่านเกิดเมื่อ  พ.ศ.2452  สมัยที่บวชยังทันเห็นอาคารโรงเรียนวรสิทธิ์เป็นอาคารไม้  2  ชั้น  ตั้งอยู่บริเวณตึกหอสมุดถัดจากโรงธรรมในปัจจุบัน  ซึ่งสมัยนั้นชำรุดทรุดโทรมมากแล้ว       และอาจารย์ของท่านได้เล่าว่าโรงเรียนดังกล่าวชื่อ”โรงเรียนวรสิทธิ์”  ตั้งขึ้นโดยพระยาวรสิทธิ์  เสรีวัตร  สมุหเทศภิบาลมณฑลภูเก็ตคนที่ 3 (พ.ศ.2442-2444 )  โดยอาจารย์ของท่านทำหน้าที่ทั้งครูผู้สอนและครูใหญ่  และสมเกียรติ  สุริยะกุล  คิดว่าชื่อโรงเรียนวรสิทธิ์นี้น่าจะมีอยู่จริงและเป็นโรงเรียนเดียวกับโรงเรียนวัดมงคลนิมิตร  เพียงแต่หลักฐานทางราชการบันทึกชื่อโรงเรียนดังกล่าวเพียงชื่อเดียวคือเอาชื่อวัดที่ตั้งโรงเรียนเป็นหลัก

 การจัดการศึกษาในช่วงแรกของเมืองภูเก็ตตั้งแต่  พ.ศ.2439-2451  จึงเป็นการจัดการศึกษาระดับประถมศึกษาและยังไม่ได้ออกไปจากวัดมงคลนิมิตร  จากโรงเรียนแห่งแรกที่กล่าวมาแล้วนี่เอง  ที่ถือได้ว่าเป็นต้นตอสายธารของโรงเรียนอื่น ๆ ในระยะต่อมา  ไม่ว่าจะเป็นโรงเรียนปลูกปัญญา  โรงเรียนภูเก็ตวิทยาลัย  หรือโรงเรียนสตรีภูเก็ตตลอดจนโรงเรียนอื่น ๆ ทั้งในอดีตและปัจจุบัน
การจัดการศึกษาในปัจจุบัน
 ปัจจุบันจังหวัดภูเก็ต จัดการศึกษาทั้งในระบบโรงเรียนและนอกโรงเรียนตั้งแต่ระดับประถมศึกษา จนถึงอุดมศึกษา
 ในระบบโรงเรียน สำหรับการจัดการศึกษาตามโครงการขยายโอกาสทางการศึกษา ระดับมัธยมศึกษาตอนต้นนั้นมีการเปิดขยายชั้นเรียนถึงระดับมัธยมศึกาษตอนต้น ในโรงเรียนทดลองนำร่องขยายโอกาส ทางการศึกษาถึงระดับมัธยมศึกษาตอนต้นเพื่อเป็นแนวทางในการเตรียมการขยายการศึกษาภาคบังคับ 9 ปี โดยเน้นเป้าหมายให้ผู้เรียนจบชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 ได้เรียนต่อระดับมัธยมศึกษาตอนต้นให้มากขึ้น และครบทุกคนในปีการศึกษา 2540
  


จำนวนสถานศึกษาในระบบโรงเรียน

โรงเรียนสอนภาษาจีนในจังหวัดภูเก็ต

จากฮั่วบุ๋นถึงภูเก็ตไทยหัว
 จากการเล่าเรียนหนังสือจีนของบุตรหลานชาวจีนในเมืองภูเก็ตและเมืองอื่น ๆ ในมณฑลภูเก็ต  ในยุคแรก ๆ นั้น มี 3 แหล่งด้วยกัน คือ เรียนกันตามบ้าน  เรียนกันตามศาลเจ้า  และไปเรียนในต่างประเทศ  คือประเทศจีนและปีนัง  ในระยะต่อมาจึงมีพวกจีนจากปีนังและชาวจีนในภูเก็ตได้จัดตั้งโรงเรียนสอนภาษาจีนขึ้นที่เมืองภูเก็ต โดยที่คนจีนที่มีฐานะดีและกรมการเมืองพากันนิยมอุปการะโรงเรียนสอนภาษาจีนที่ตั้งขึ้น  เพราะเชื่อว่าจะเป็นประโยชน์แก่บุตรหลานของตน

 ในเอกสารที่ข้าหลวงเทศาภิบาลสำเร็จราชการมณฑลภูเก็ตมีถึงเสนาบดีกระทรวงธรรมการ เมื่อ 24  เมษายน 2456  มีกล่าวว่า  ขณะนั้นในเมืองภูเก็ตมีโรงเรียนสอนภาษาจีน 3 โรง คือ ตั้งอยู่ที่ตำบลตลาดใหญ่  แขวงอำเภอเมืองภูเก็ต 1 โรง เปิดสอนมาตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ.2453  โรงเรียนนี้เป็นโรงเรียนชั้นสูง  ส่วนอีก 2 โรงเป็นโรงเรียนชั้นต่ำตั้งอยู่ที่ตำบลเหนียวใต้ แขวงอำเภอเมืองภูเก็ต    1 โรง  และตั้งอยู่ที่ตำบลกระทู้ แขวงอำเภอกระทู้ อีก 1 โรง ทั้ง 2 โรงนี้เปิดสอนตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ 2454  โรงเรียนทั้ง 3 โรงนี้มีคณะกรรมการจีนเป็นผู้จัดการหาเงินด้วยการเรี่ยไรในหมู่พวกจีนสำหรับเป็นเงินเดือนครูและค่าใช้สอยอย่างอื่น
 ในเอกสารนี้ไม่ได้กล่าวชื่อโรงเรียนเลย  ก็พอจะสันนิษฐานว่า โรงเรียนสอนภาษาจีนโรงแรกที่กล่าวมาแล้วนั้น  น่าจะเป็นโรงเรียนฮั่วบุ๋น  ซึ่งตั้งอยู่ที่ถนนกระบี่  แต่เดิมนั้นที่ตั้งของโรงเรียนเป็นศาลเจ้าได้จัดตั้งเป็นโรงเรียนครั้งแรกในปี พ.ศ.2454  โดยชาวจีนกลุ่มหนึ่ง  ลักษณะการเรียนการสอนในระยะแรก ๆ เป็นลักษณะของโรงเรียนจีนแบบเก่าที่เรียกว่า “ซือซก”  คือการเรียนไม่ได้แบ่งออกเป็นชั้น  มีเฉพาะวิชาภาษาจีนเพียงอย่างเดียวสอนแบบให้ท่องไปเรื่อย ๆ จนจำได้ ไม่มีการอธิบาย ใครท่องได้เร็วก็เรียนเร็วอาศัยความจำเป็นหลัก  นักเรียนจะเรียนกับครูแบบคนต่อคน

 ต่อมาในปี พ.ศ.2460  ได้ขยายเป็นโรงเรียนฮั่วบุ๋น  สำหรับผู้ริเริ่มดำเนินการนั้นไม่ทราบว่าเป็นใคร และในขณะเดียวกัน  ก็มีชาวบ้านอีกกลุ่มหนึ่งได้ตั้งโรงเรียนขึ้นใหม่ที่ถนนเยาวราช (ปัจจุบันที่ตรงนี้ คือที่ทำการของบริษัทฮกฮวด)  คือโรงเรียนจิ้นเต็กจือเสก

 เมื่อรัฐบาลได้มีคำสั่งให้โรงเรียนต่าง ๆ ที่สอนภาษาจีนไห้สอนภาษาไทยด้วย  โรงเรียนฮั่วบุ๋นจึงได้ติดต่อนายอุดม  เสียมหาญมาเป็นครูใหญ่ ส่วนโรงเรียนจิ้นเต็กจือเสกได้ยุบรวมเข้ากับฮั่วบุ๋นเพราะไม่มีเงินทุน

 ต่อมาครูสอนอิ้วถ้อง ซึ่งเป็นครูโรงเรียน    ฮั่วบุ๋นลาออก  แล้วไปติดต่อหลวงชนาทรนิเทศ (เฉ่งห้อ  แซ่ตัน)  เพื่อให้การสนับสนุนและสร้างโรงเรียนสอนภาษาจีนขึ้นใหม่  หลวงชนาทรนิเทศได้อุทิศที่ให้สร้าง  “โรงเรียนส่องเต็ก”  ขึ้นที่ถนนดีบุก  โดยมีหลวงชนาทรนิเทศเป็นเจ้าของและผู้จัดการ พร้อม ๆ กันก็มีครูอีกกลุ่มหนึ่งแยกตัวออกจากโรงเรียนฮั่วบุ๋น ไปตั้งโรงเรียนใหม่อีกแห่งหนึ่งที่ตำบลบางเหนียว ตั้งชื่อโรงเรียนว่า “หยกเฮ็ง”

 ปี พ.ศ.2484  โรงเรียนจีนในภูเก็ตทุกแห่งถูกเพิกถอนใบอนุญาตและสั่งปิดในวันที่ 17 พฤศจิกายน ซึ่งเป็นเหตุผลทางการเมืองในสมัยจอมพล ป.พิบูลสงคราม  โรงเรียนจีนทุกโรงทั่วประเทศถูกสั่งปิดหมด เป็นผลให้โรงเรียนส่องเต็กต้องเลิกล้มกิจการ  ลูกหลานของหลวงชนาทรนิเทศได้มอบสถานที่โรงเรียนให้กับโรงพยาบาลมิชชั่นเช่าเป็นที่ทำงานอยู่หลายปี  ก่อนที่จะย้ายไปอยู่เยื้อง ๆ กับปากทางเข้าวิทยาลัยครูภูเก็ต  ปัจจุบันนี้ อาคารโรงเรียนส่องเต็กเป็นกรรมสิทธิ์ของมูลนิธิกุศลสงเคราะห์ จังหวัดภูเก็ต  ส่วนโรงเรียนหยกเอ็งนั้นก็ล้มเลิกกิจการไปเลย ปัจจุบันก็คือโรงเรียนนรวิทย์ ตั้งอยู่ติดกับโรงเรียนเทศบาลบ้านบางเหนียว
 หลังจากสงครามโลกครั้งที่ 2 ยุติลงแล้ว มีการตั้งโรงเรียนสอนภาษจีนขึ้นอีกในปี พ.ศ.2489 โดยใช้สถานที่โรงเรียนฮั่วบุ๋น เปลี่ยนชื่อโรงเรียนเป็น “โรงเรียนภูเก็ตจุงหัว” เปิดดำเนินการอยู่ได้ 2 ปี ก็ต้องเลิกล้มกิจการอีกในปี พ.ศ.2491 เพื่อหลีกเลี่ยงการถูกกล่าวหาว่าเป็นพรรคพวกที่ฝักใฝ่ลัทธิคอมมิวนิสต์ แต่แล้วอีกไม่นาน ในปีเดียวกัน (2491) ได้มีการตั้งโรงเรียนจีนขึ้นใหม่ คือ “โรงเรียนภูเก็ตไทยหัว” ผู้ก่อตั้งเป็นคนละชุดกับที่เคยก่อตั้งโรงเรียนจุงหัว

 อาคารเรียนของโรงเรียนภูเก็ตไทยหัวนั้น เป็นอาคารที่สร้างขึ้นใหม่เมื่อปี พ.ศ.2477

 สุธิวงศ์ พงศ์ไพบูลย์ ได้ศึกษาถึงประวัติความเป็นมาของโรงเรียนภาษาจีนในจังหวัดภูเก็ต สรุปว่า การเกิดโรงเรียนสอนภาษาจีนในประเทศไทยนั้นเกิดขึ้นในมณฑลภูเก็ตเป็นแห่งแรก และโรงเรียนสอนภาษาต่างประเทศในภูเก็ตมีส่วนสำคัญในการผลักดันให้มีพระราชบัญญัติโรงเรียนราษฎร์ตามมา กล่าวคือ

 สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพทรงบันทึกไว้ในสาส์นสมเด็จถึงเรื่องการตั้งโรงเรียนสอนภาษาจีนในเมืองภูเก็ตว่า” เป็นเริ่มแรกที่จะมีโรงเรียนจีนขึ้นในประเทศสยาม” และบันทึกต่อไปอีกว่า “พระยารัษฎานุประดิษฐ์ฯ เห็นว่าการที่พวกจีนสมัยใหม่เที่ยวตั้งโรงเรียนสอนภาษาจีนแพร่หลาย เป็นอุบายของคณะก๊กมินตั๋งที่เมืองจีนจะปลูกฝังความคิดของจีนที่ไปอยู่ในประเทศอื่น ๆ ให้เลื่อมใสในคติเก๊กเหม็งเป็นกำลังของประเทศจีน แต่พวกจีนโดยมากไม่รู้เท่าเห็นแต่ว่าเป็นประโยชน์แก่ลูกหลานด้วยได้เล่าเรียนก็พากันเลื่อมใส ถ้าปล่อยให้พวกจีนตั้งโรงเรียนตามชอบใจเกรงจะเกิดเก๊กเหม็ง คือความนิยมเป็นรีปับลิคและรังเกียจไทยขึ้นในเมืองภูเก็ต ถ้าใช้อำนาจปราบปราม พวกจีนในเมืองภูเก็ตก็จะพากันโกรธแค้นเกลียดชังรัฐบาล…”  ปัญหานี้พระยารัษฎานุประดิษฐ์ฯ จึงไปปรึกษาสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ เสนาบดีกระทรวงมหาดไทยให้ทรงวินิจฉัยปัญหาโรงเรียนสอนภาษาจีนข้างต้นดังกล่าว หลังจากที่สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพเสด็จลงมาพิจารณาแล้ว ทรงเห็นว่าการที่จะห้ามมิให้ตั้งโรงเรียนสอนภาษาจีนนั้นไม่ควรเพราะคนทั้งโลกเห็นว่าโรงเรียนเป็นของควรบำรุง จึงควรใช้อุบายให้รัฐบาลเข้าอุปการะแล้วเอากการอุปการะนั้นเป็นอำนาจที่จะควบคุม พร้อมกับทรงเห็นว่าควรจะกำหนดเงื่อนไขการอุปการพ 4 ประการ คือ

1. รับโรงเรียนจีนเข้าจดทะเบียน
2. ให้พวกกรมการและพวกพ่อค้าที่ออกค่าใช้จ่ายเป็นกรรมการบริหารโรงเรียน มีหน้าที่ควบคุมครูผู้สอนและรับธุระในการที่จะเกี่ยวข้องกับรัฐบาล
3. ห้ามมิให้สอนหรือใช้หนังสือซึ่งทำให้เสื่อมเสียแก่เมืองไทย
4. โรงเรียนจะต้องรับทั้งเด็กไทยและเด็กจีน และต้องสอนทั้งภาษาไทยและภาษาจีนแก่นักเรียนทั้งหมด

 พระยารัษฎานุประดิษฐ์ ฯ เห็นชอบด้วยและได้อนุญาตให้ใช้ตึงกงก๊วนเก่าของพวกอั้งยี่ที่รัฐบาลริบไว้เมื่อคราวปราบพวกก่อการจลาจลเป็นโรงเรียน และกระทรวงธรรมการกำหนดให้เรียนภาษาไทยวันละ 4 ชั่วโมง ให้เรียนภาษาจีนวันละ    1  ชั่วโมง

 พระยารัษฎานุประดิษฐ์ฯ พยายามที่จะให้รัฐบาลดำเนินการจัดตั้งโรงเรียนสอนภาษาจีนเสียเองมากกว่าจะเพียงรับอุปการะและควบคุม จึงนำเรื่องนี้เสนอแนวทางการดำเนินการต่อเสนาบดีกระทรวงธรรมการด้วย แต่เนื่องจากหลังจากนั้นไม่นานพระยารัษฎานุประดิษฐ์ฯ ถูกยิง ขณะที่กำลังรักษาตัวอยู่ที่ปีนัง ทางกระทรวงธรรมการก็ได้มีหนังสือกระทรวงธรรมการฉบับที่ 21/2840 ลงวันที่ 24 มีนาคม พ.ศ.2455 มาถึงข้าหลวงธรรมการมณฑลภูเก็ต เพื่อให้ยืนยันว่าจะยังดำเนินการตามเจตนาของพระยารัษฎานุประดิษฐ์ฯหรือไม่ ข้อความตอนหนึ่งว่า

 “ด้วยพระยารัษฎานุประดิษฐ์ฯ เมื่อเข้าไปกรุงเทพได้ปรารภกับเจ้ากรมเสนาบดีถึงเรื่องการจัดตั้งโรงเรียนภาษาจีนว่าเห็นควรจะให้มีอย่างน้อยเมืองละโรงและเมืองใดควรจะให้มีทั้งภาษาอังกฤษด้วยก็ควรจะมี เจ้ากรมเสนาบดีเห็นชอบด้วย จึงได้ตกลงกันว่า พระยารัษฎานุประดิษฐ์ฯ จะจัดหาที่ตั้งโรงเรียนและหาครูเอง แล้วกระทรวงธรรมการเป็นผู้ให้เงินเดือน นับเป็นโรงเรียนรัฐบาลในขั้นต้นที่ตกลงจะให้มีนั้น คือ เมืองภูเก็ต เมืองตรัง เมืองละโรง สอนภาษาอังกฤษด้วย ต้องการครูโรงละ 2 คน เมืองพังงา เมืองตะกั่วป่า เมืองระนอง ต้องการครูโรงละคน รวมครู 7 คน เงินเดือนสำหรับครูทั้ง 7 คนนี้มีอัตราให้ไดถัวคนละ 50 บาท ดังนี้ ข้อนี้เจ้ากรมเสนาบดีต้องการจะทราบว่าตามที่ตกลงกันนี้ มณฑลยังถือเป็นข้อตกลงที่จะจัดการต่อไปหรือไม่ และจะได้จัดหาสถานที่และตัวครูได้แล้วหรือยัง”

 พลโทพระยาวิชิตวงศ์วุฒิไกร (ม.ร.ว.สิทธิ สุทัศน์ พ.ศ.2445-2456 ) ข้าหลวงเทศาภิบาลผู้สำเร็จราชากรมณฑลภูเก็ตต่อจากพระยารัษฎานุประดิษฐ์ฯ ได้มีหนังสือตอบเสนาบดีกระทรวงธรรมการสรุปความว่า ยังคงยืนยันจะนัดโรงเรียนจีนให้เป็นโรงเรียนรัฐบาลตามที่พระยรัษฎานุประดิษฐ์ฯ ได้เคยปรารภไว้ แต่จะจัดที่โรงเรียนจีนตำบลตลาดใหญ่เพียงแห่งเดียวก่อน โดยให้มีการสอนทั้งภาษาจีน ภาษาอังกฤษ และภาษาไทยแทรก พร้อมกับขอให้กระทรวงธรรมการให้เงินเดือนครู 3  คน คือ จีนสอห่านงู่ ครูใหญ่เดือนละ 80 บาท จีนลิ่มอุ่นและจีนเซี่ยงซิมบิ๋น ครูรองคนละ 65 บาท ซึ่งทางเสนาบดีกระทรวงธรรมการตอบอนุญาตให้ตัดตั้งโรงเรียนสอนภาษาจีนเป็นโรงเรียนรัฐบาลเป็นโรงแรกในมณฑลภูเก็ต เมื่อวันที่ 30 พฤษภาคม พ.ศ.2456 และให้เงินเดือนครูรองเดือนละ 60 บาท ทั้งยังบันทึกชี้แนะว่า “ผู้ปกครองโรงเรียนควรเป็นไทย ให้มีการสอนภาษาไทยอย่างต่ำเพียงประโยคมัธยมปีที่ 3 อย่างใหม่ และให้มีการสอนภาษาอังกฤษเพียงมัธยมปีที่ 6 ถ้าพอสอนได้ก็ถือใช้หลักสูตรพณิชยการแก้ไขบ้างเล็กน้อย

 ในเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ.2458  ได้มีบัตรสนเท่ห์ภาษาจีนประกาศปลุกระดมให้ชาวจีนและคนบาบาเมืองภูเก็ตคิดต่อต้านพระราชบัญญัติเกณฑ์ทหารเป็นเหตุให้พระยาสุรินทราชา  (นกยูง วิเศษกุล)  สมุหเทศาภิบาลสำเร็จราชการมณฑลภูเก็ต  เข้าใจว่าผู้ปลุกระดมคงเป็นครูสอนภาษาจีน  จึงได้รายงานถึงเจ้าพระยาพระเสด็จสุเรนทราธิบดีเสนาบดีกระทรวงธรรมการเพื่อขอควบคุมโรงเรียนสอนภาษาต่างประเทศอย่างใกล้ชิดเพราะครูโรงเรียนภาษาจีนนี้เป็นหัวเก็กเหม็งซึ่งพ่อค้านายเหมืองในมณฑลภูเก็ตเรียกมาจากเมืองจีนหรือเมืองปีนังให้เข้ามาสอนหนังสือแก่บุตรหลาน  โดยเรี่ยไรกันให้เงินเดือนค่าจ้างและค่าบำรุงโรงเรียนไม่ได้อยู่ในความปกครองของรัฐบาล  ทั้งการสอนนั้นได้มีการสอนแผนที่ภูมิศาสตร์ประเทศจีนและสอนปลุกใจให้รักแต่ชาติกับผู้ปกครองประเทศจีนด้วย  ครั้นจะบังคับไม้ให้สอนก็จะเป็นการรุนแรง และไม่มีพระราชบัญญัติในทางการศึกษาเป็นหลักให้สมุหเทศาภิบาลมีอำนาจบังคับได้
 พร้อมกันนี้ได้ขอให้เสนาบดีกระทรวงธรรมการให้ความเห็นชอบคำสั่งที่พระยาสุรินทราชาสั่งการให้ผู้ว่าราชการเมืองภูเก็ตใช้บังคับแก่บรรดาโรงเรียนที่สอนภาษาต่างประเทศไปพลางก่อนที่จะได้มีพระราชบัญญัติการศึกษา คือ

 1. ครูสอนภาษาต่างประเทศจะต้องมีความรู้ มีความประพฤติดี และได้รับรองจากผู้ว่าราชการเมือง
 2. ผู้ที่ได้รับอนุญาตแล้ว ให้สอนได้เฉพาะนักเรียนที่รู้จักพูดภาษาไทยได้แล้วถ้ายังไม่รู้ต้องสอนให้รู้พร้อมกันไป
 3. หลักสูตรที่จะใช้ต้องให้ผู้ว่าราชการเมืองตรวจอนุญาตเสียก่อน
 4. คำอธิบายหรือเหตุการณ์ใดที่สอนไป ถ้าพนักงานตรวจพบว่าไม่สมควร พนักงานจะสั่งให้เลิกการสอนหรือเลิกอธิบายเฉพาะตอนก็ต้องปฏิบัติตาม
 5. ห้ามโรงเรียนสอนภาษาต่างประเทศฝึกหัดกริยานักเรียนอย่างทหารหรือเสือป่าและลูกเสือ  เว้นแต่ผู้ว่าราชการเมืองอนุญาต
 นอกจากเสนาบดีกระทรวงธรรมการจะเห็นชอบตาใบบอกแล้ว ยังมีผลให้กระทรวงธรรมการเร่งร่างพระราชบัญญัติโรงเรียนราษฎร์  ซึ่งเรียกในตอนนั้นว่า “พระราชบัญญัติโรงเรียนพระพุทธศักราช 2459”  เพื่อนำขึ้นทูลเกล้าฯ ถวายขอพระราชทานพระบรมราชานุญาตประกาศใช้ต่อไป

 สาระสำคัญของพระราชบัญญัติโรงเรียนพุทธศักราช 2459 คือ โรงเรียนหมายถึงสถานที่ทำการสอนประจำ  มีนักเรียนตั้งแต่ 10 คนขึ้นไป และมีเวลาสอนในสัปดาห์หนึ่งตั้งแต่ 3 ชั่วโมงขึ้นไป โรงเรียนทุกโรงต้องจดทะเบียนและปฏิบัติให้สอดคล้องกับพระราชบัญญัติทุกประการ
 ในมาตรา 22 กำหนดให้เสนาบดีกระทรวงธรรมการได้ออกข้อบังคับวางระเบียบให้การดำเนินไปตามพระราชบัญญัติ ซึ่งกระทรวงมีสาระสำคัญที่เกี่ยวกับวัฒนธรรมและความมั่นคง 10 ข้อ ดังต่อไปนี้
 “ให้มีการสอนให้รู้จักระลึกถึงพระเดชพระคุณพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รักชาติบ้านเมืองไทย และนับถือเลื่อมใสพระพุทธศาสนา แต่ถ้าโรงเรียนใดตั้งอยู่ในที่ถือลัทธิใด  หรือผู้ถือลัทธิใดผู้ตั้งขึ้น จะสอนตามลัทธินั้นได้ไม่ห้าม
 ให้มีใจโอบอ้อมอารี  รักเพื่อนมนุษย์ร่วมชาติ และให้นึกถึงตนภายหลังผู้อื่นไม่เอารัดเอาเปรียบผู้อื่นในทางผิด
 ให้เป็นผู้เคารพในธรรมและพระราชกำหนดกฎหมายของบ้านเมือง
 ให้รักดี เกลียดความชั่ว ให้มีใจสุจริตซื่อตรง ถือความสัตย์ ให้มีความละอายต่อการที่อ่อนแอหรือขลาด  แต่ให้กล้าในสิ่งที่ควรกล้า  และกลัวในสิ่งที่ควรกลัว ให้ละเว้นการเล่นเหลวและการเที่ยวเตร่อย่างที่ไม่สมควร
 ในสถานที่เล่าเรียนต้องมีพระบรมรูปพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวประดิษฐานไว้ในที่อันควร  และมีธงชาติไทยประดับไว้ในที่อันควร ให้รู้จักกระทำความเคารพและให้รู้ว่าเคารพเพื่ออะไร
 ให้มีการร้องเพลงสรรเสริญพระบารมีตามแบบที่ใช้อยู่ในโรงเรียนรัฐบาลวันละครั้งเมื่อเลิกเรียน”
 รัฐบาลได้ประกาศใช้พระราชบัญญัติโรงเรียนราษฎร์ เรียกว่า “พระราชบัญญัติโรงเรียนราษฎร์ พุทธศักราช 2461”  ในปีพ.ศ.2461
 จึงสรุปได้ว่าการเกิดโรงเรียนสอนภาษาจีนในประเทศไทยนั้น เกิดขึ้นในมณฑลภูเก็ตเป็นแห่งแรก  และโรงเรียนสอนภาษาต่างประเทศในภูเก็ตมีส่วนสำคัญในการผลักดันให้มีพระราชบัญญัติโรงเรียนราษฎร์ตามมา.
 
อ้างอิง
ภูเก็ตวิทยาลัย, โรงเรียน  100 ปี  ภูเก็ตวิทยาลัย, 2540.
นพดล  กิตติกุล “โรงเรียนภูเก็ตไทยหัว” สารานุกรมวัฒนธรรมภาคใต้ เล่ม 7,  2529
สุธิวงศ์  พงศ์ไพบูลย์ “โรงเรียนสอนภาษาจีนในภูเก็ต”   สารานุกรมวัฒนธรรมภาคใต้ เล่ม 8, 2529
ฝ่ายจัดทำหนังสือที่ระลึกการแข่งขันกีฬาเยาวชนแห่งชาติ ครั้งที่ 6  ภูเก็จ' ๓๓,  2533
แก้ไขล่าสุดเมื่อ ( เสาร์, 26 มกราคม 2008 )
 
< ก่อนหน้า   ถัดไป >

สมุดภาพเหมืองแร่

Counter

mod_vvisit_countermod_vvisit_countermod_vvisit_countermod_vvisit_countermod_vvisit_countermod_vvisit_countermod_vvisit_countermod_vvisit_countermod_vvisit_counter
mod_vvisit_counterวันนี้397
mod_vvisit_counterเมื่อวาน5656
mod_vvisit_counterทั้งหมด11017887