Skip to content

Phuketdata

default color
Home arrow Search
ลูกปัด PDF พิมพ์ อีเมล์
เขียนโดย ปาณิศรา ชูผล มทศ.   
อาทิตย์, 19 กรกฎาคม 2009

 ลูกปัด





















“ลูกปัด” ....ถนิมพิมพาภรณ์แห่งโลกโบราณ


           วันนี้ผมขอเชิญชวนชาว Blog OKNation มาร่วมกันสัมผัสกับเรื่องราวของ "ลูกปัด" เครื่องประดับอันสวยงาม มากคุณค่าด้วยความเชื่อของมนุษย์จากอดีตเริ่มแรกของ"สังคมและวัฒนธรรม"มาจนถึงโลกในปัจจุบัน 

.

         นั่นก็เพราะ  "ลูกปัด"  คือประวัติศาสตร์และความทรงจำร่วมของมนุษย์ในหลาย ๆ สังคมที่อาศัยอยู่ในภูมิภาคต่าง ๆ ของโลก แต่จะเป็นประวัติศาสตร์ร่วมกันอย่างไรนั้น กรุณาอดทนอ่านไปเรื่อย ๆ กับ Entry ที่แสนยืดยาวนี้นะครับ

         ลูกปัด (Beads) เป็นชื่อเรียกของเครื่องประดับประเภทหนึ่ง และน่าจะยืนยันได้ว่าเป็น "ประดิษฐกรรม" ที่เกิดขึ้นจากงานฝีมือทางศิลปะชิ้นแรกของ มนุษยชาติเลยทีเดียว

        ลูกปัดในยุคแรก ๆ นั้นอาจจะประดิษฐ์ขึ้นจาก เปลือกไข่ ไม้ กระดูกสัตว์ งา ฟัน หอย ปะการัง เมล็ดพืช ดินปั้นเผา หินท้องถิ่น หินกึ่งรัตนชาติ ในยุคหลัง ๆ ก็จะเพิ่มเติมวัตถุดิบด้วยแก้วน้ำเคลือบ แก้วหลอม โลหะหลอมนานาชนิด จนถึงยุคเซรามิคและพลาสติกในปัจจุบัน

              เมื่อตกแต่งหลาย ๆ กรรมวิธีจนได้รูปร่างที่พอใจแล้ว ลูกปัดก็จะต้องมี   “รู ” (Hole) ถึงจะเรียกว่าลูกปัดได้อย่างสมบูรณ์นะครับ ไม่ว่าจะเกิดจากการหลอมหรือการเจาะก็ตาม เพื่อให้ร้อยเชือกได้ แต่ถ้าไม่มีรู บางครั้งเราก็ยอมยกให้เป็น"ลูกปัด" กับเขาบ้าง ในกรณีที่ยังประดิษฐ์ไม่เสร็จ หรือแกะสลักไว้สำหรับเอาเชือกมาพันร้อยหรือพันตามส่วนข้อโดยเฉพาะ เช่นรูปสัตว์ประจำตระกูล

           เข้าใจได้ว่า เมื่อมนุษย์เริ่มที่จะรักสวยรักงามหรือเริ่มมองหาวัตถุดิบจากธรรมชาติมาประกอบกิจกรรมทางความเชื่อและประเพณีในยุคโบราณแล้ว ลูกปัดน่าจะถูกเลือกมาก่อนเป็นอันดับแรก เราจึงค้นพบลูกปัดเก่าแก่ในชุมชนดั้งเดิมของมนุษย์ จากการศึกษาหลายต่อหลายครั้ง
 

         เราพบหลักฐานที่พอจะบอกได้ว่า ประวัติศาสตร์ของลูกปัดน่าจะเริ่มต้นเมื่อประมาณ 40,000 ปี ที่ผ่านมา ลูกปัดดังกล่าวพบอยู่ในถ้ำของประเทศแถบยุโรปตอนกลางและตะวันออก เชื่อว่าเป็นลูกปัดในพิธีกรรมของมนุษย์ นีแอนเดอธัล ในช่วงเวลา "ยุคน้ำแข็ง (Upper Paleolithic period)"  มีร่องรอยการตกแต่งลูกปัดให้เป็นรูปสัตว์และรูปร่างแปลกตา บางทีก็พบเปลือกหอยตระกูล"หอยแครง"ที่เจาะรูไว้สำหรับร้อยเชือก

       ในส่วนอื่น ๆของโลกก็พบลูกปัดในยุคแรก ๆ บ้างแต่ก็ประปรายไม่มากนัก เช่นในประเทศอินเดียในช่วงเวลา 20,000 – 30,000 ปี เราพบลูกปัดที่ทำขึ้นจากเปลือกไข่นก ในประเทศเกาหลีและประเทศจีน ในช่วง 15,000 – 20,000 ปี ก็พบลูกปัดที่ทำจากระดูกสัตว์ ฟันสัตว์ ในทวีปแอฟริกา และทวีปอเมริกาเหนือ ก็พบลูกปัดกระดูกสัตว์กระจายตัวอยู่ จึงสรุปได้ว่าลูกปัดในยุคแรก ๆ ใช้วัสดุจากธรรมชาติประเภท ฟันสัตว์ เขี้ยวสัตว์ งา กระดูกสัตว์ หอยน้ำจืด หอยทะเล ซึ่งทั้งหมดก็เป็นวัตถุดิบตามธรรมชาติรอบ ๆ ตัวพวกเขาเองนั่นแหละ ความสวยงามของลูกปัดในยุคแรกนี้ ยังคงไม่สะกิดตาสะกิดใจของเราในยุคปัจจุบันเท่าใดนัก แต่ถ้าเป็นสายตาของคนในอดีตแล้วล่ะก็ น่าจะมีความสำคัญอย่างมากเลยทีเดียวครับ

         เวลาล่วงเลยไปจนพ้นยุคน้ำแข็ง ( Post - Pleistocene Period ) เมื่อประมาณ 10,000 ปีที่แล้ว มนุษย์เรายังคงใช้เวลาส่วนใหญ่หมกมุ่นอยู่กับการเอาตัวให้รอดจากสภาพแวดล้อมที่เลวร้าย หาของกินแย่งอาหารกับสัตว์ป่าหรือไม่ก็จับสัตว์ป่ามากินซะ

         เผลอ ๆ ยังใช้ประโยชน์จากหนัง กระดูก และส่วนต่าง ๆ ของมัน (มาทำลูกปัด)ได้อีก !!!

        อีกทั้งยังต้องสร้างที่อยู่อาศัยป้องกันความหนาวเหน็บ ความร้อน ความแห้งแล้งและฝนที่ตกอย่างไม่ลืมหูลืมตาในฤดูมรสุม แต่เราก็ยังพบเห็นว่า มีหลาย ๆ กลุ่มชุมชนดั้งเดิมของโลก ยังคงรักความสวยความงามอยู่ จึงพบหลักฐานลูกปัดกระดูกสัตว์และวัสดุที่หาได้ง่ายในท้องถิ่นหลังยุคน้ำแข็งทั้งที่เอเซียใต้ เอเซียตะวันออก อเมริกาเหนือ อเมริกาใต้ ไหล่ทวีปซุนดา- ซาฮูล (ประเทศไทยเรื่อยไปจนถึงหมู่เกาะอินโด )

       การสะสมวัฒนธรรมของมนุษย์ตามภูมิภาคต่าง ๆ เริ่มเป็นรูปร่างขึ้นอย่างชัดเจนหลังช่วงเวลาอันโหดร้ายจากยุคน้ำแข็ง ชุมชนดั้งเดิมที่กระจัดกระจายตามส่วนต่าง ๆ ของโลก เริ่มเดินทางอพยพเข้าหาความอุดมสมบูรณ์ แหล่งน้ำและที่ดินอันกว้างใหญ่ที่เพียงพอต่อการตั้งถิ่นฐานอย่างถาวร และนั่น ก็จะเป็นช่วงแรกของการเริ่มต้นยุคเกษตรกรรมของมนุษย์นั่นเอง

         ชุมชนโบราณหลาย ๆกลุ่มต่างเลือกอาศัยอยู่ตามลุ่มแม่น้ำสำคัญของโลก ความอุดมสมบูรณ์ของตะกอนแม่น้ำและปัจจัยทางธรรมชาติที่เอื้ออำนวยต่อการตั้งถิ่นฐาน จึงก่อให้เกิดสังคมเกษตรกรรมยุคแรกของโลกขึ้นเมื่อประมาณ 7,000 ปีที่ผ่านมา

        ดังเช่นอารยธรรมอียิปต์แห่งลุ่มแม่น้ำไนล์ แสดงให้เห็นความเจริญเติบโตทางสังคมและวัฒนธรรมของผู้คนในโลกในเวลานั้นได้เป็นอย่างดี          

         ในช่วงเวลาที่อารยธรรมของมนุษย์เริ่มต้นขึ้นทีละน้อยนี้ ลูกปัดก็เริ่มมีความหลากหลายทั้งรูปแบบและการเลือกสรรวัตถุดิบมากชนิดขึ้น "เอเซียใต้และเอเซียกลาง" น่าจะถูกขนานนามว่าเป็น"แหล่งกำเนิดลูกปัดของโลก"ได้อย่างไม่ยากเย็นนัก

        มนุษย์เริ่มมีเวลามากพอในการสร้างสรรค์งานฝีมือและมีแรงบันดาลใจในการประดิษฐ์เครื่องประดับในช่วงเวลาที่สังคมสงบสุข ชนเผ่าดั้งเดิมในเอเซียใต้ก็ได้ค้นพบว่า บนพื้นแผ่นดินของเขา มีแร่ธาตุวัตถุดิบที่มีสีสันสวยงาม หาง่ายและเป็นที่ต้องการของผู้คนเพื่อแปรเปลี่ยนเป็นเครื่องประดับอันงดงาม   

         แหล่งผลิตลูกปัดหิน "กึ่งรัตนชาติ( Semi – Precious )" ของโลกจึงกำเนิดขึ้นที่เอเซียใต้ โดยใช้วัตถุดิบอย่าง หินในท้องถิ่น (Local Stone) หินกึ่งรัตนชาติประเภทคาลซีโดนี ( Chalcedony ) อะเกต ( Agate-Banded Agate ) คาเนเลี่ยน ( Carnelian ) โอนิกส์ ( Onyx ) จัสเปอร์( Jasper ) เหล่าควอทซ์ใสเนื้อละเอียด ( Rock Crystal ) ลาฟิสลาซูลี่ ( Lapid Lazuli ) อะเมทีส ( Amethyst ) เฟลสปาล์ ( Feldspar ) เทอคอยซ์ (Turquoise ) ฯลฯ รวมถึงโลหะกรรมต่าง ๆ เช่น ทองคำ ทองแดง เงิน และโลหะอื่น ๆ ต่างถูกบรรจง ขัดเกา ตกแต่งแกะสลักขึ้นเป็นลูกปัด เครื่องประดับอันทรงคุณค่า เพื่อบรรณาการความสวยงาม ความเชื่อ โชคลาภและประโยชน์นานับประการ       

        ต่อมาเมื่อราว 4,000 ปีที่แล้ว อารยธรรมอียิปต์โบราณและกลุ่มชุมชนดั้งเดิมของอารยธรรมลุ่มน้ำไทกรีส – ยูเฟตีส ได้สร้างสรรค์สิ่งทดแทน อัญมณีจากธรรมชาติ ด้วยการประดิษฐ์แก้วเคลือบหิน ผลึกแก้วหลอมเม็ด ที่ละเอียดอ่อนหลากสีสันและลวดลายมากขึ้น

         ในช่วงเวลาดังกล่าว ยังปรากฏชุมชนดั้งเดิมในอารยธรรมที่ยังไม่ซับซ้อนล้าหลังอีกมากมายในหลายๆ พื้นที่ของโลกครับ ซึ่งต่างก็ยังคงผลิตลูกปัดจากวัตถุดิบธรรมชาติ ไม่ว่าจะเป็นหินสีต่าง ๆ กระดูกสัตว์ ฟันสัตว์ เขี้ยว เขาสัตว์ ไม้ ลูกไม้ เปลือกหอยทะเล และนวัตกรรมจากโลหะง่าย ๆ กลุ่มชนเหล่านั้นยังไม่รู้จักลูกปัดหินกึ่งรัตนชาติ และวิธีการหลอมลูกปัดแก้วสีในช่วงเวลานี้

        จนถึงยุคทองของลูกปัดโลก ยุคที่ลูกปัดมีความหลากหลายและเป็นที่นิยมสูงสุด กำหนดอยู่ในราว 3,500 -3,000 ปีที่แล้วมา ปรากฏหลักฐานการผลิตลูกปัดหินและลูกปัดแก้วจำนวนมาก จากชุมชนโบราณที่รุ่งเรืองหลาย ๆ แห่ง ทั้งในอียิปต์ กรีก เอเซียไมเนอร์

       หลากอารยธรรมในเอเซียใต้เอง  ได้เริ่มผลิต ลูกปัดรูปตา (Eye Beads) จากแก้วและหินกึ่งรัตนชาติ ลูกปัดขีดเส้นสีขาวบนพื้นคาเนเลี่ยนสีส้ม เป็นครั้งแรก

        ชาวโฟลินิเซีย (Phoenicia) ในเอเซียตะวันตก นักเดินเรือและพ่อค้าผู้ยิ่งใหญ่ของโลกยุคโบราณ ได้สร้างลูกปัดแก้วที่มีเทคนิคการผลิตที่ซับซ้อนขึ้น ผสมผสานลวดลายแก้วเป็นลูกปัดรูปร่างต่าง ๆ เช่นรูปมนต์ตา (Magical Eye Beads) ลูกปัดแก้วรูปเทพเจ้า และ รูปสัตว์หลาย ๆ แบบ ในยุโรปใต้ก็ปรากฏลูกปัดแก้วหน้าเทพเจ้าของชาวกรีก (Greece) ลูกปัดทองคำลวดลายวิจิตร และลูกปัดแก้วหลายมนต์ตา (Stratified Eye Glass Beads)ของชาวอีทรัสกัน (Etruscan) รวมถึงลูกปัดแก้วสลับสีเทคนิคชั้นสูงของจักรวรรดิโรมัน (Roman Empire)

         ลูกปัดแก้วของโรมันที่สามารถเลียนแบบลวดลายของหินกึ่งรัตนชาติอะเกตและโอนิกส์ได้อย่างลงตัว รวมทั้งการสร้างลูกปัดแก้วโมเสอิค (Mosaic Glass Beads) ที่มีความหลากหลายของสีและชั้นของลวดลาย ลูกปัดหน้าคนและลูกปัดแก้วนานาชนิดของโรมันนี้ ได้เดินทางไปตามเส้นทางการค้าโบราณเกือบจะรอบโลกโดยเฉพาะการส่งอิทธิพลให้กับเอเซียตามเส้นทางสายผ้าไหม ( Silk Road ) และสถานีการค้าทางทะเล

 

        ในเอเซียตะวันออก ชาวจีน (China) ได้ประดิษฐ์ ลูกปัดแก้วหลายมนต์ตา (Stratified eye glass beads) ซึ่งเป็นผลพวงของการติดต่อค้าขายบนเส้นทางสายผ้าไหมสู่กรุงโรม รวมทั้งลูกปัดหยกหิน เนพไฟท์( Nephrite) หินเซอร์เพนทายน์ (Serpertine) หยกหินโบราณทั้งสองอย่าง เป็นที่นิยมของชาวจีนในช่วงก่อนราชวงศ์หมิง ส่วนในทวีปอเมริกาและอเมริกาใต้ อารยธรรมอันซับซ้อนของชาวมายา ชาวอินคา และชนเผ่าอีกหลายต่อหลายกลุ่มวัฒนธรรม ตามแนวเทือกเขาแอนดีส ได้ประดิษฐ์ลูกปัดจากหยกหินเจดไดท์ เนพไฟท์ รวมทั้งผลิตลูกปัดและเครื่องประดับจากทองคำเป็นจำนวนมาก

          แต่อย่างไรก็ตาม หินกึ่งรัตนชาติอย่างอะเกตน้ำตาลวาวสลับเลื่อม คาเนเลี่ยนส้มสด และอื่น ๆ จากเอเซียใต้ ก็ยังคงครองหัวใจของชนดั้งเดิมทั่วโลกอยู่ อย่างไม่เสื่อมคลาย !!!

          ในช่วงระยะเวลาเดียว อารยธรรมโบราณในลุ่มน้ำสินธุของเอเซียใต้ ได้ผลิตและส่งออกลูกปัดเข้ามาสู่แผ่นดิน"สุวรรณภูมิ" พร้อม ๆ กับการเข้ามาของศิลปวัฒนธรรม ผู้คนหลากหลายและศาสนาความเชื่ออันสลับซับซ้อนในเวลาต่อมา

          แหล่งผลิตจากเอเซียใต้นี้ อยู่ที่ หุบเขาสินธุ (ประเทศอัฟกานิสถาน ปากีสถาน อินเดีย)บริเวณดังกล่าว มีการผลิตลูกปัดจากหินกึ่งรัตนชาติมาตั้งแต่ราว 4,500 ปี และยังคงผลิตกันอยู่จนถึงในปัจจุบัน

        ลูกปัดหินกึ่งรัตนชาติที่สำคัญของอารยธรรมเอเซียใต้ในยุคนี้แรก ๆ ก็คือ หินกึ่งรัตนชาติประเภทอะเกต สีน้ำตาลวาวสลับเลื่อม โอนิกซ์สีดำขาวตัดเส้นชั้นสวยงาม คาร์เนเลี่ยนสีส้มสด และคริโซเพรสสีเขียวตองอ่อนใส ลาปิสลาซูลี่สีน้ำเงิน อะเมทิสพลอยดอกตะแบกสีม่วง และอื่น ๆ

       หินกึ่งรัตนชาติที่เรียกว่า อะเกตหรือโอนิกซ์ รวมทั้งคาเนเลี่ยนนี้ ในภาษาไทยจะเรียกรวมว่า "โมรา" ก่อนจะถูกบรรจงแต่งแต้มประดิษฐกรรมเป็นลูกปัดเม็ดเล็กเม็ดน้อย จะต้องผ่านกรรมวิธีในการเปลี่ยนแปลงเนื้อใน จากการสังเกตและประสบการณ์ของคนในยุคโบราณ พวกเขาพบว่า เมื่อขุดหินกึ่งรัตนชาติดังกล่าวขึ้นมาจากพิ้นดิน สภาพเดิมของหินจะมีสีซีดจางและไม่มีสีสันสวยงามอย่างที่ต้องการ ชาวเอเซียใต้จะนำหินมาผ่านกรรมวิธีการ"หุง"โดยให้ความร้อนผ่านหินทีละน้อย แต่เป็นระยะเวลายาวนาน

       ถ้าเป็นโอนิกซ์หรือแบน์ดอะเกต (Banded Agate) แล้ว จะนำไปผสมรวมอยู่กับภาชนะดินเผาที่บรรจุด้วยกากน้ำตาล (หรือน้ำผึ้ง)เคี่ยว ใช้ระยะเวลาหุงนานจนกระทั่งกรดน้ำตาลดังกล่าวจะแทรกซึมเข้าสู่เนื้อหินอย่างช้า ๆ ส่วนใดของหินที่มีความหนาแน่นกว่าก็จะรับน้ำตาลได้น้อยในขณะที่ส่วนที่มีความหนาแน่นน้อยก็จะรับน้ำตาลได้มากกว่า จนกลายเป็นสีน้ำตาลอ่อนใสไปจนถึงสีน้ำตาลเข้ม ในขณะที่บางส่วนของหินที่มีผลึกใหญ่จะปล่อยให้กรดน้ำตาลผ่านเลยไปทั้งหมด ส่วนที่ไม่ยอมให้น้ำตาลผ่านจึงยังคงปรากฏเป็นสีขาวหรือสีใสดังเดิม กรรมวิธีดังกล่าวจะสามารถกระทำต่อเนื่อง เมื่อนำลูกปัดไปแช่รวมกับกรดซัลฟูลิค(Sulphuric) ทำให้เนื้อของหินกลายเป็นสีดำ (Carbonize) ด้วยกระบวนการความร้อน โดยยังคงมีเส้นสีขาวปรากฏอยู่ตามชั้นที่ไม่ยอมรับกรดน้ำตาล

        ส่วนคาเนเลี่ยนสีส้มนั้น เป็นคาลซีโดนีเนื้อละเอียดที่มีแร่เฮมาไตท์ผสมอยู่ในอัตราสูง เมื่อนำมาหุงแล้วจะเพิ่มสีส้มให้แสดสดยิ่งขึ้นกว่าเดิม หลังจากนั้นจึงนำหินมาสกัด ขัดแต่งให้เป็นรูปร่างของลูกปัดตามที่ต้อง แล้วจึงนำไปเจาะรูด้วยวิธีสว่านเจาะหัวเพชร (bow drill)ใช้เครื่องมือที่ประดิษฐ์ขึ้นจากไม้ มีรอกและตัวหมุน มีแกนเหล็กสำหรับใส่หัวเจาะที่เป็นเพชร ใช้น้ำและผงอะเกตในการหล่อลื่นขัดสีในระหว่างขั้นตอนการเจาะครับ

       เมื่อลูกปัดถูกเจาะจนมี "รู" แล้ว จึงจะนำลูกปัดที่ผ่านการเจาะไปปัดเงาด้วยผงอะเกตละเอียดผสมน้ำ ขัดด้วยมือมนุษย์บนหนังสัตว์หรือบนหินขัดเพื่อเพิ่มความมันวาวของพื้นผิว ต่อมาก็พัฒนาวิธีการปัดเงา ด้วยการใช้ถุงหนังสัตว์เย็บ ด้านในบรรจุด้วยผงอะเกตละเอียดและน้ำที่มีส่วนผสมของสารขัดผิว นำลูกปัดใส่ถุงปัดเงา การขัดสีภายในถุงหนังสัตว์จะช่วยให้พื้นผิวของลูกปัดมันแวววาวเช่นเดียวกัน

         การผลิตลูกปัด Etched Beads หรือลูกปัดขีดเส้นสี เริ่มขึ้นเมื่อราว 3,500 ปี ลูกปัดดังกล่าวจะมี 2 กรรมวิธี คือ ในยุคแรก ๆ ของการผลิตลูกปัดขีดเส้นสี ใช้กรรมวิธีในการ ขีดสกัด (Etching) ลงไปบนลูกปัดทำให้เกิดเป็นร่องหินและเติมสารเคมีผสมบางตัวที่ให้สีขาวและสีดำ ลงไปบนเส้นที่ขีดสกัดนั้น พร้อมกับนำหินอะเกตไปผ่านกระบวนการหุงน้ำตาลหรือกรดซัลฟูลิคอีกที เป็นกรรมวิธีเริ่มแรกและเก่าแก่ที่สุดของการผลิตลูกปัดขีดเส้นสีขาว

        ต่อมาอีกประมาณ 500 ปี จึงเกิดกรรมวิธีทางเคมีโบราณในการใช้กรดโซดาเขียนไปบนลูกปัดอะเกตที่ยังไม่ได้ผ่านกระบวนการความร้อนหรือหุง ขีดลายตามความพอใจของผู้สร้างสรรค์งาน ตัวกรดโซดาจะซึมลงเฉพาะผิวหน้าของลูกปัด เมื่อผ่านกระบวนการหุงแล้ว จะปรากฏสนิมหินสีขาวบนเนื้อสีดำหรือสีส้มแสด(ในกรณีที่ใช้หินคาเนเลี่ยน) สีขาวจะเด่นชัดหรือไม่ก็จะขึ้นอยู่กับความเข้มข้นของกรดซัลฟูลิค

        กรรมวิธีที่สองอยู่ในช่วงประมาณ 2,000 ปีที่แล้ว การผลิตลูกปัดขีดเส้นสีจะใช้แค่ขี้ผึ้งผสมกรดโซดาหรือสารเคมีบางอย่างติดทับไว้บนพื้นผิวที่ต้องการสร้างลวดลายก่อนจะนำไปหุงกับกรดน้ำตาลหรือหุงเฉพาะความร้อน คล้าย ๆ กับการทำลวดลายผ้าบาติกในปัจจุบัน กรรมวิธีนี้เป็นที่นิยมอย่างแพร่หลายในเอเซียใต้ ทั้งยังแพร่กระจายตัวออกไปสู่ พุกาม ธิเบตและเขตวัฒนธรรมหิมาลัยในเวลาต่อมา

         ในบรรดาลูกปัดขีดเส้นสีขาว Etched Beads ลูกปัดสีส้ม – ดำ ขีดเส้นขาว หรือ "จุงซี (Chung dZi)" เป็นลูกปัดที่หาได้ยากและน่าจะเกี่ยวข้องกับพิธีกรรมทางความเชื่อในสมัยโบราณ เนื่องจากมีกรรมวิธีการผลิตที่ซับซ้อนขึ้นกว่าเดิม มีจำนวนน้อยและหายาก ทั้งยังคงปรากฏความเชื่อสืบเนื่องมาในเขตเอเซียใต้อย่างชัดเจน ในเรื่องของพลัง อำนาจเหนือธรรมชาติ จึงเชื่อได้ว่าลูกปัดขีดเส้นสีแบบดังกล่าวเป็นตัวแทนแสดงสถานะอันสูงส่งทางสังคมและอำนาจวาสนาของผู้ครอบครอง

         ซึ่งในเวลาต่อมา ลูกปัดส้มดำขีดขาวรวมทั้งลูกปัดลายขีดเส้นสีขาวแบบโซดากัดผิวได้กระจายตัวเข้าสู่ธิเบต เนปาล กลายมาเป็นลูกปัดที่ทรงคุณค่าในโลกแห่งอำนาจเหนือธรรมชาติที่เราเรียกว่า ซีบรีซ (dZi Beads) หรือ "เพียวซี"(Pure dZi) ซึ่งนั่นก็คือ "ลูกปัดมนต์ตา (Magical Eye Beads)" อีกประเภทหนึ่ง มีสีดำหรือสีน้ำตาลเข้ม มีเส้นขีดขาว เป็นจังหวะลวดลายเฉพาะ มีวงกลมเป็นความหมาย "ตา" ตั้งแต่ 1 – 12 ตา ลูกปัดซีบรีซแบบนี้ เป็นที่รู้จักกันดีของผู้ที่นิยมและชื่นชอบลูกปัดโบราณและลูกปัดตระกูลธิเบตเนปาลในปัจจุบันครับ

         หลายท่านก็คงเคยเห็น เพราะขายอยู่ดาษดื่นในช่วงนี้!!!

       ในช่วงนับตั้งแต่ 2,500 ปีเป็นต้นมา เกิดความนิยมในลูกปัดแก้วเป็นอย่างมาก มีเหตุผลมาจากอิทธิพลสำคัญของสถานีการค้ากรีกในสมัยพระเจ้าอเล็กซานเดอร์มหาราชที่ตั้งขึ้นที่อินเดียใต้

          สถานีการค้าดังกล่าวยังคงดำเนินการอย่างต่อเนื่อง เป็นผลให้ลูกปัดแก้วของชาวกรีก - โรมัน - เอเซียไมเนอร์ได้แพร่กระจายเข้าสู่อินเดียและส่งต่อมายังสุวรรณภูมิในรูปของการค้าและการติดต่อทางวัฒนธรรม

        เมื่อความนิยมลูกปัดแก้วมีมากขึ้น จึงเกิดการผลิตลูกปัดแก้วในอินเดียโบราณ กรรมวิธีการผลิตเป็นการนำซิลิกา(ทรายขาวละเอียด)และด่างขี้เถ้า ปูนขาวรวมกับออกไซค์แร่ธาตุอื่น ๆ มาหลอมรวมด้วยวิธีที่แตกต่างกัน ชุมชนดั้งเดิมในแต่ละภูมิภาคก็จะค้นพบวิธีหลอมแก้วแตกต่างกันไป บ้างก็หลอมเข้าเบ้าหลอม บ้างก็หลอมพันแกนเหล็ก บ้างก็หลอมแบบม้วน แบบดึงแล้วยืดตัด และอีกหลากหลายรูปแบบวิธีการ

        การกำเนิดลูกปัดแก้วในช่วงเริ่มต้น เกิดขึ้นจากการลองผิดลองถูกของช่างโบราณในการหลอมโลหะ และบังเอิญเกิดแก้วขึ้นเคลือบผิวโลหะก่อนในช่วงแรก ๆ จนเมื่อช่างผู้ผลิตลูกปัดแก้วได้คันพบวัตถุดิบหลักรวมทั้งสนิมโลหะ และแร่ธาตุ ที่นำมาผสมทำให้เกิดสีสันต่าง ๆ แล้ว จึงเกิดการประดิษฐ์ลูกปัดแก้วอย่างเป็นล่ำเป็นสัน เนื่องจากมีสีสวยงามกว่า มันวาวกว่าเมื่อนำไปปัดเงา หาวัตถุดิบได้ง่ายกว่า และกรรมวิธีที่ซับซ้อนน้อยกว่า ความนิยมลูกปัดแก้วจึงกระจายตัวไปพร้อม ๆ กับลูกปัดหินในช่วงแรก ๆ ของเส้นทางการค้า กระจายตัวทั่วมหาสมุทรอินเดียจรดแปซิฟิค เราจึงเรียกลูกปัดแก้วอินเดียนี้ว่า ลูกปัดแบบอินโด - แปซิฟิค (Indo-Pacific Beads) หรือลูกปัด"ลมทะเลสินค้า" เนื่องจากความง่ายของเทคนิคในการผลิต รวมถึงวัตถุดิบ 

        ในเวลาต่อมาแหล่งผลิตลูกปัดแก้วหลายหลากสีนี้จึงได้ขยายตัวมาอยู่ที่อินเดียภาคใต้ ลังกาและหลาย ๆ แห่งในภาคใต้ของประเทศไทย รวมทั้งในพม่า เวียดนาม ฟิลลิปปินส์ อินโดนิเซีย และหมู่เกาะต่าง ๆ ในแปซิคฟิค

          เมื่อจักรวรรดิโรมันตะวันออกสิ้นสุดลง อำนาจของจักรวรรดิอิสลามขยายตัวขึ้น โลกอิสลามแห่งเอเซียตะวันตกหรือเอเซียไมเนอร์เป็นแหล่งกำเนิดเครื่องประดับและลูกปัดแก้วอันงดงามของโลกอีกแห่งหนึ่ง จึงได้เกิดการผสมผสานวัฒนธรรมระหว่างอารยธรรมเอเซียและยุโรปขึ้น โลกแห่งสีสันของลูกปัดแก้วอันงดงามในช่วง1,000 ปีที่ผ่านมาต่างความหลากหลายอยู่ที่จินตนาการของรูปแบบและแรงบันดาลใจ

          ส่วนความหมายของ"ลูกปัด"นั้นก็ยังคงอยู่ที่ความสวยงาม ความเชื่อทางศาสนา ประเพณี ใช้ประกอบในพิธีกรรมของแต่ละชุมชน ในช่วงยุคมืดจนถึงยุคฟื้นฟูของยุโรป เมื่อสงครามครูเสดสิ้นสุดลง อารยธรรมของทั้งยุโรปและอิสลามต่างแลกเปลี่ยนวัฒนธรรมซึ่งกันและกัน ลูกปัดแก้วของยุโรปผลิตขึ้นที่เมืองเวเนเซียของอิตาลี เป็นลูกปัดแก้วที่ผลิตลอกเลียนแบบมาจากความรุ่งเรืองของโรมันในอดีต ผสมผสานกับลวดลายใหม่ ๆ หลากหลายจากตะวันออก

        เมื่อถึงยุคของการล่าอาณานิคม ลูกปัดแก้วจากยุโรปได้กระจายตัวเข้าสู่แอฟริกาอย่างรวดเร็ว ลัทธิล่าอาณานิคมได้นำลูกปัดแก้วที่ผลิตเป็นจำนวนมากเกินความต้องการนี้ เป็นสินค้าไปแลกกับความอุดมสมบูรณ์ของชนเผ่าล้าหลังในทวีปแอฟริกา

          ดูเหมือนว่าชนเผ่าต่าง ๆ จะยอมรับและนิยมชมชอบในความสวยงามของลูกปัดแก้วหลากหลายแบบของยุโรปอย่างจริงจัง ถึงขนาดยอมตีค่ามนุษย์เป็นทาส แลกกับลูกปัดเลยทีเดียว!!!

       จนถึงในปัจจุบัน เราจะพบเห็นถึงความหลากหลายของเครื่องประดับที่เราเรียกว่าลูกปัดนี้ ทั้งรูปแบบและวัตถุดิบที่ถูกนำมาใช้ ในทุกสังคมและวัฒนธรรมของโลกครับ

        ในตะวันออกกลางและเอเซีย ลูกปัดยังคงเป็นเครื่องใช้ในการคลายความเครียดและแสดงสถานะทางสังคม ชาวอิสลาม ชาวคริสเตียน ชาวพุทธและหลากลัทธิศาสนา ลูกปัดยังคงปรากฏอยู่ในความเชื่อของการปฏิบัติธรรม ในการสวดภาวนา ในประเพณีการแต่งกาย พิธีกรรมของกลุ่มชาติพันธ์

       ส่วนในเอเซียตะวันตกและยุโรป ลูกปัดรูปมนต์ตายังคงเป็นเครื่องหมายคุ้มครองภัยอันตรายจากการเดินทาง ส่วนมากจะทำขึ้นจากแก้วสีน้ำเงิน มีตากลมขาวมีตาดำด้านใน แขวนหรือพกติดตัวไปบนพาหนะเวลาเดินทาง หรือบ้างก็ประดับไว้ตามประตูทางเข้าออกของที่อยู่อาศัย

       ในสังคมแห่งความทันสมัย เราจะเห็น วัยเด็ก วัยรุ่น หรือแม้แต่วัยรุ่นแรก ที่ยังคงสนุกสนานกับการถักร้อย สอยเรียงเม็ดลูกปัด นำมาทำเครื่องใช้สอยและเครื่องประดับที่สร้างสรรค์ น่ารัก หลากหลายด้วยวัตถุดิบสีสันสวยงาม ไม่ว่าจะเป็น แก้ว เซรามิค พลาสติกและวัสดุสังเคราะห์อื่น ๆ ทั้งที่ทำใช้เองและนำมาเป็นอาชีพเสริม

         ย้อนกลับมาอีกสักนิดนะครับ ประเทศไทยหรือแผ่นดินของลุ่มน้ำเจ้าพระยาและลุ่มน้ำต่าง ๆ ของภูมิภาคสุวรรณภูมิ เริ่มปรากฏร่องรอยของลูกปัดโบราณเมื่อราว 4,000 – 5,000 ปีที่ผ่านมาครับ

        ชุมชนโบราณในประเทศไทยมีหลักฐานการสร้างสรรค์ประดิษฐ์ลูกปัด  ถึงแม้ว่าจะขาดแคลนด้วยหินกึ่งรัตนชาติสีสันสวยงาม อารยธรรมแห่งความเอื้ออาทรเพราะความอุดมสมบูรณ์แห่งนี้ได้สร้างงานประดิษฐกรรมลูกปัดและเคื่องประดับอื่น ๆ จากเปลือกหอยทะเลนานาชนิด หินจากท้องถิ่นในรูปของหลอดหิน (Long Cylindrical Stone Beads) ลูกปัดดินปั้นเผา กระดูกสัตว์ เขา ฟันสัตว์และวัสดุอื่น ๆ จากธรรมชาติ

         จนเมื่อราว 2,500 ปีที่แล้ว ผู้เจริญจากอารยธรรมทางตะวันตก (อินเดีย - กรีก -โรมัน) เริ่มเดินทางเข้ามาสู่แหลมทองอาณานิคม เข้าปฏิสังสรรค์กับชุมชนดั้งเดิม ยังผลให้เกิดวัฒนธรรมใหม่ๆ ผลักดันให้สังคมเกิดวิวัฒนาการขึ้นอย่างรวดเร็ว การค้า การปกครอง ความรู้ ภูมิปัญญา และสินค้าประเภทต่าง ๆ รวมทั้งลูกปัดที่มีรูปแบบหลากหลาย มีสีสันสวยงาม ต่างพรั่งพรูเข้าสู่แผ่นดินลุ่มเจ้าพระยา ลูกปัดและเครื่องประดับเนื้อเนพไพท์ เซอร์เพนทายน์หรือหยกหินและควอทซ์ใสจากชาวจีนทางตอนเหนือ อะเกตและโอนิกส์น้ำตาลวาวสลับเลื่อม คาเนเลี่ยนส้มแดงสดจากชมพูทวีป ลูกปัดขีดเส้นสีขาว (Etched beads)รวมด้วยลูกปัดแก้วหลากสีสัน จากดินแดนโพ้นทะเล ได้สร้างประสบการณ์ใหม่ ๆ ให้กับผู้คนในสุวรรณภูมิ

        เวลาล่วงเข้า 1,500 – 2,000 ปี ที่ผ่านมา ในยุคสมัยก่อนทวารวดี (Pre Daravati Preriod) ยุคก่อนที่ชนชั้นและการแบ่งแยกมนุษย์จะเริ่มต้นอย่างชัดเจนในลุ่มน้ำเจ้าพระยา เวลานี้ อาจจะกล่าวได้ว่า เป็นยุครุ่งเรืองที่สุดของลูกปัดโบราณ ๆ ในภูมิภาคนี้

        รัตนชาติของโลกโบราณที่มีคุณค่ายิ่งกว่าสิ่งอื่นใด ชุมชนหมู่บ้านชายฝั่งทะเลโบราณต่างกลายเป็น "สถานีการค้า" เป็นสถานที่แลกเปลี่ยนและสะสมความงดงามไว้เป็นเวลายาวนาน ดังปรากฏหลักฐานมากมายในพื้นที่ปัจจุบัน ได้แก่ ชุมชนในลุ่มที่รอบลอนลูกคลื่นลุ่มน้ำลพบุรี ป่าสัก ชุมชนอู่ทองในลุ่มจระเข้สามพันและลุ่มแม่กลอง ชุมชนในลุ่มสงคราม,มูล,ชี ผู้คนในแหลมโพธิ์ตลอดทั้งฝั่งทะเลอันดามัน ฯลฯ

         อารยธรรมเริ่มสมานขึ้น มีการสร้างบ้านแปลงเมือง จัดระเบียบสังคมและแบ่งชนชั้นแรงงาน เข้าสู่อารยธรรม"ทวารวดี" และเมื่อเริ่มปรากฏรูปเคารพทางศาสนาและความเชื่อจากอินเดียอย่างชัดเจนในราวพุทธศตวรรษที่ 9 – 10 เป็นต้นมา ลูกปัดโบราณก็เริ่มสาบสูญไป คติความเชื่อในลัทธิ ศาสนาใหม่ ๆ เข้ามาสู่รัฐในสุวรรณภูมิ

       ถึงผู้คนจะเริ่มหมดความนิยมในลูกปัดจากอินเดียและจีน แต่หลาย ๆ ส่วนของชุมชนดั้งเดิมที่ยังล้าหลังทางวัฒนธรรม ก็ยังคงปรากฏการฝังลูกปัดโบราณ วิญญาณและกาลเวลา รวมไว้กับผู้วายชนม์ครับ

       จนเมื่อประเพณีการฝังศพสิ้นสุดลง พร้อม ๆ กับการเปลี่ยนแปลงครั้งยิ่งใหญ่ของรัฐต่าง ๆ กลุ่มชนกลุ่มใหม่เข้าผสมผสาน ครอบครองและปกครอง อัญมณี โลหกรรมและรัตนชาติใหม่ ๆ ต่างเข้ามาแทนที่ลูกปัดโบราณ เกิดรูปแบบของเครื่องประดับใหม่ตาม แฟชั่น ศาสนา ความเชื่อ ประเพณีของแต่ละท้องถิ่น สืบต่อมา 

         เป็นอย่างไรบ้างครับ เมื่อท่านได้อ่านและคงเริ่มเข้าใจเรื่องราวของ "ลูกปัด" ถนิมพิมพาภรณ์แห่งโลกโบราณกันบ้างแล้วนะครับ ท่านคงได้เห็นเรื่องราวของลูกปัด ที่เป็นเพียงแค่เครื่องประดับและรัตนชาติตัวเล็ก ๆ แต่ได้โลดแล่นไปบนละครฉากใหญ่ … อันได้แก่ประวัติศาสตร์ของมนุษยชาติเสมอมา

        เขาได้แสดงบทบาทมาแล้วทั่วโลกมากกว่าตัวแสดงใด ๆ เท่าที่เคยปรากฏ เขาแสดงให้เห็นถึงความละเอียดอ่อนในอารมณ์และจิตใจของมนุษย์ ไม่ว่าจะอยู่ในช่วงเวลาหรือสถานการณ์ใด ๆ ก็ตาม

       เขาเฝ้าติดตามสังคมและวัฒนธรรมของมนุษย์ การเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยี การเกษตรกรรม การตั้งถิ่นฐาน การต่อสู้กับสภาพแวดล้อม การค้าและการปกครอง ทั้งยังสะท้อนภาพของกลุ่มชนดั้งเดิม – กลุ่มชาติพันธุ์โบราณ ความเชื่อ ประเพณีและพิธีกรรมในภูมิภาคและในช่วงเวลาต่าง ๆ ของโลก

       "ลูกปัด"จึงมักจะไปปรากฏตัวร่วมอยู่ในเหตุการณ์สำคัญ ๆ ของการเปลี่ยนแปลงทางสังคมและวัฒนธรรมของมนุษย์ในแต่ละอารยธรรมเสมอ

          เมื่อเราได้เพ่งมองลูกปัดที่ต้องมี "รูเจาะ" ในมือของเราเพียงเม็ดเดียวอย่างชื่นชมและใส่ใจแล้ว  ก็เสมือนกับว่า เรากำลังได้สัมผัสกับความยิ่งใหญ่ของมนุษยชาติในอดีต อรุณรุ่งของความเป็นมนุษย์จนถึงพวกเราในปัจจุบัน…......ที่บอกกับเราว่า

         ที่ใดที่มี"ลูกปัด"…ที่นั่นย่อมมีมนุษย์ และที่แห่งใดมีมนุษย์.... ที่แห่งนั้นย่อมมีวัฒนธรรม....ร่วมอยู่ด้วยเสมอครับ!!!

 

พรานลูกปัดอันดามัน

สุริยเทพลูกปัดจากอุบลราชธานี

อันดามันเชื่อมอ่าวไทย

โดย ศุภศรุต

 

อ้างอิง

http://images.google.co.th/imgres?imgurl=http://www.oknation.net/blog/home/blog_data/192/7192/images/Beads/Bd16.jpg&imgrefurl=http://www.oknation.net/blog/print.php%3Fid%3D97710&usg=__YhWZvM1NB5QDySDrveNtqh4Hs0A=&h=332&w=510&sz=29&hl=th&start=6&um=1&tbnid=ZE15cQcEV3VMTM:&tbnh=85&tbnw=131&prev=/images%3Fq%3D%25E0%25B8%25A5%25E0%25B8%25B9%25E0%25B8%2581%25E0%25B8%259B%25E0%25B8%25B1%25E0%25B8%2594%25E0%25B8%25AB%25E0%25B8%2599%25E0%25B9%2589%25E0%25B8%25B2%25E0%25B8%25AD%25E0%25B8%25B4%25E0%25B8%2599%25E0%25B9%2580%25E0%25B8%2594%25E0%25B8%25B5%25E0%25B8%25A2%25E0%25B9%2581%25E0%25B8%2594%25E0%25B8%2587%26hl%3Dth%26sa%3DN%26um%3D1
แก้ไขล่าสุดเมื่อ ( พุธ, 02 กันยายน 2009 )
 
< ก่อนหน้า   ถัดไป >

สมุดภาพเหมืองแร่

Counter

mod_vvisit_countermod_vvisit_countermod_vvisit_countermod_vvisit_countermod_vvisit_countermod_vvisit_countermod_vvisit_countermod_vvisit_countermod_vvisit_counter
mod_vvisit_counterวันนี้5613
mod_vvisit_counterเมื่อวาน3893
mod_vvisit_counterทั้งหมด11017447