Skip to content

Phuketdata

default color
Home arrow Search
พรานลูกปัดอันดามัน PDF พิมพ์ อีเมล์
เขียนโดย ปาณิศรา ชูผล มทศ.   
เสาร์, 18 กรกฎาคม 2009

สัมภาษณ์ 10 คำตอบจาก

พรานลูกปัดอันดามัน

นพ.บัญชา พงษ์พานิช

นพ.บัญชา พงษ์พานิช แห่งสุธีรัตนามูลนิธิ และสวนสร้างสรรค์ นาคร-บวรรัตน์ นครศรีธรรมราช ผู้เขียนหนังสือรอยลูกปัด(Beyond Beads)ซึ่งเป็นหนังสือขายดีติดอันดับ ได้ให้สัมภาษณ์แก่ภูเก็ตภูมิ เมื่อ 2 มิถุนายน 2552   

กลุ่มผู้สนใจลูกปัดในเมืองไทยมีจำนวนไม่น้อย  พวกเขาและคุณหมอสนใจฝักใฝ่ในเรื่องนี้ได้อย่างไร 

มนุษย์เรามีศักยภาพตรงที่มีสติปัญญา รู้จักสังเกต จดจำ เรียนรู้แล้วก็ปรุงประกอบต่อ เป็นตัวเป็นตนเป็นเราเป็นเขา ยิ่งของเราสวยแปลกพิเศษยิ่งชอบใหญ่  แรกเกิดลูกปัดในโลกนี้เมื่อนับหมื่นปีที่แล้วก็มาจากเหตุนี้  หลังจากรู้จักล่าสัตว์ เพาะปลูก ตั้งถิ่นฐานชุมชนจนเริ่มมีผู้นำและจำแนกเป็นเผ่าพันธุ์ เครื่องประดับเพื่อบอกสถานะ รสนิยมและความต่างก็เริ่มพัฒนา  จากการเอาดอกไม้ ใบไม้ เมล็ดไม้มาเจาะรูร้อยห้อยซึ่งไม่มีหลักฐานของเก่าหลงเหลืออยู่นอกจากที่เรายังเห็นเป็นบรรดามาลัยร้อยของหลากเผ่าพันธุ์ที่ยังมีอยู่แม้กระทั่งของไทยเราที่วิจิตรบรรจงมากแล้ว  ในขณะที่เมื่อมนุษย์สามารถคิดค้นหาเครื่องเจาะและเสาะหาของแข็งแปลกๆ มากะเทาะกลึงแกะแล้วเกลาก่อนจะเจาะเป็นเม็ดลูกปัด ไม่ว่าจะเป็นกระดูก หอย จนกระทั่งหินชนิดต่างๆ ที่ยังหลงเหลือหลักฐานอยู่มาก รวมทั้งที่เป็นโลหะและแก้วที่ผ่านการหล่อหลอมสารพัดวิธี  จนลูกปัดมีความหลากหลายตามแต่ผู้ผลิตคิดค้นและเลือกใช้จะใส่ความหมาย

 

ผมเรียนรู้ว่าที่คนสนใจลูกปัดจะมีประมาณ 5 แบบ

 

แบบแรกนั้นชอบที่ความสวยความงามตลอดจนเรื่องราวประกอบต่างๆ ที่ถูกเสริมเติมแต่งเข้าไป รวมทั้งเรื่องคุณค่า ราคา และแฟชั่นตามสมัยนิยม

 

แบบสองนั้นสนใจในเรื่องประวัติศาสตร์ความเป็นมาคล้ายๆ นักประวัติศาสตร์โบราณคดี รวมทั้งนักสังคมมานุษยวิทยาด้วย คือมองเป็นหลักฐานเพื่อความเข้าใจมนุษย์เรานั่นเอง

 

แบบที่สาม พวกนี้สนใจในฐานะของหลักฐานการศึกษาเทคโนโลยีเพื่อนำกลับมาผลิตซ้ำหรือพัฒนาต่อเป็นผลิตภัณฑ์สินค้าต่างๆ

 

แบบที่สี่นี่เป็นพวกศิลปะนิยม ชมชอบที่ความงามและความสร้างสรรค์ นำรูปแบบและลีลาไปพัฒนางานการออกแบบศิลปะใหม่ๆ

สุดท้ายเป็นแบบที่ผมเองเพิ่งคิดได้หลังจากเรียนรู้เรื่องลูกปัดมาได้ 4 ปีและพบว่าบรรพบุรุษของเราเอาลูกปัดไปร้อยห้อยไว้บนยอดพระบรมธาตุเจดีย์ที่เมืองนครศรีธรรมราชมากมายด้วยนัยยะว่าเป็นเสมือนดวงแก้วสูงสุดที่ควรใฝ่ให้ถึง หมายถึงนิพพานธรรมนั่นเอง  ของพวกนี้เป็นเพียงวัตถุสมมุติให้หมายเอาธรรมทั้งนั้น  ท่านอาจารย์พุทธทาสที่สวนโมกข์ก็เรียนรู้เรื่องโบราณคดีเพื่อเป็นเครื่องมือการเข้าถึงธรรมเช่นกัน


เมืองไทยเราพบเห็นก็เป็นกลุ่ม 1 แทบทั้งนั้น  กลุ่มสองเป็นพวกนักวิชาการโดยเฉพาะในแวดวงตะวันตก  กลุ่มสามกับสี่มีเห็นเด่นชัดในญี่ปุ่น  ส่วนกลุ่มห้าน่าจะมีร่องรอยในพุทธศาสนิกชนสมัยโบราณกระมัง


ความเชื่อที่ว่าคนโบราณพยายามหาเส้นทางลัดในการเดินเรือจากทะเลอันดามันไปประเทศจีน โดยมิต้องอ้อมแหลมมลายู เป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้ร่องรอยลูกปัดปรากฏชัดในแถบภาคใต้ตอนบนของประเทศไทย เชื่อถือได้มากน้อยเพียงไร

จะไม่เชื่อได้อีกหรือในเมื่อมีหลักฐานการหาทางลัดตัดคาบสมุทรที่ถูกทิ้งไว้มากมายไม่ใช่เฉพาะภาคใต้ประเทศไทยหรือในมาเลเซีย  แม้ในพม่าที่พาดผ่านตอนเหนือตรงแม่สอดไปออกสุโขทัย เพชรบูรณ์ แล้วข้ามภาคอีสานไปออกทะเลจีนใต้นั้นก็มีอยู่มากมาย

เอาเฉพาะที่ภาคใต้ของไทยเรานั้นเท่าที่ผมตามรอยผ่านหลักฐานเรื่องลูกปัดถึงทุกวันนี้ เราพบเส้นทางลัดแล้วสี่เส้นทาง  หนึ่ง เส้นทางกะเปอร์ ปากทรง ต้นน้ำพะโต๊ะ ไปออกทะเลอ่าวไทยที่ปากน้ำหลังสวนหรือไม่ก็ตรงไปเขาสามแก้ว  สอง เส้นทางบริเวณบางกล้วย ภูเขาทอง คุระบุรี ซึ่งต่อถึงต้นน้ำคลองแสงแล้วไปออกอ่าวบ้านดอนได้  สาม เส้นทางจากปากแม่น้ำตะกั่วป่าข้ามเขาสกไปออกคลองสกแล้วไปลงแม่น้ำตาปีที่อ่าวบ้านดอน
สี่ เส้นทางจากคลองท่อม กระบี่ ที่น่าจะขึ้นมาตามสายน้ำคลองสินปุน ลงแม่น้ำตาปีมาออกที่อ่าวบ้านดอนเช่นกัน

ทั้งสี่เส้นทางนี้พบหลักฐานลูกปัดและการผลิตอย่างมากมายแบบที่ไม่ใช่เป็นของประดับประจำตัว แต่เป็นสินค้าเพื่อการค้าทางไกลที่น่าจะเป็นทางทะเลซึ่งเป็นได้ทั้งการแล่นเรือเลาะชายฝั่งมาเรื่อยจนผ่านคาบสมุทรไป  แต่การพบหลักฐานตามสายน้ำที่เชื่อมต่อได้เช่นที่สันเขาสูงของต้นน้ำพะโต๊ะ หลังสวน ย่อมยืนยันว่าเมื่อ 2,000 ปีก่อนมีการเดินทางลัดข้ามคาบสมุทรมาแล้วแน่นอน


การศึกษาพัฒนาการของลูกปัดในเรื่องวัตถุดิบที่ใช้ผลิต โดยเริ่มจากวัสดุไม่คงทนถาวร เช่น เมล็ดพืช ท่อนไม้ ไปจนถึงวัสดุที่คงทนถาวรและวัสดุที่มีค่าสูง จะบ่งบอกถึงพัฒนาการทางด้านอารยธรรมของมนุษย์ในแถบนี้ได้มากน้อยอย่างไร

ที่สำคัญคือว่า เดิมเราเคยคิดว่าภาคใต้ของไทยเรานั้นเป็นป่าดงแดนไกลจากศูนย์กลางแผ่นดินใหญ่ มีแต่เงาะป่าซาไกกับชาวเลทั้งหลาย  หลักฐานเรื่องลูกปัดที่มีอายุร่วม 2,000 ปีและมีความหลากหลายไม่ว่าจะเป็นวัสดุ เทคนิควิธี ที่มา เทียบเคียงได้กับนานาอารยธรรมของโลกไม่ว่าจะเป็นอียิปต์ โรมัน เปอร์เซีย อินเดียและจีน  เหล่านี้อย่างน้อยก็บ่งบอกถึงความสัมพันธ์มากมาย ควรศึกษาพัฒนาการอารยธรรมของมนุษย์บนผืนแผ่นดินไทยโดยเฉพาะในภาคใต้ใหม่หมด เพราะมีเบาะแสมากมายว่าที่นี่เคยเป็นที่ตั้งถิ่นฐานของผู้มีอารยธรรมที่สูงมากมาก่อน


ความน่าเชื่อถือเรื่องการศึกษาอายุลูกปัด โดยการใช้วิธีคาร์บอน 14 ได้รับการยอมรับทั่วไปหรือไม่  ถ้าไม่ใช้วิธีนี้พอจะมีวิธีพิสูจน์อื่นอีกหรือไม่

เท่าที่ผมทราบวิธีคาร์บอน 14 ทำได้กับวัสดุที่เป็นอินทรียวัตถุ  ในภาคใต้เราพบลูกปัดอินทรียวัตถุน้อยมาก  คาร์บอน 14 จะช่วยได้ต่อเมื่อมาจาการขุดค้นทางโบราณคดี โดยนำอินทรียวัตถุที่พบในชั้นเดียวกันกับลูกปัดไปพิเคราะห์  ซึ่งมีนักโบราณคดีจำนวนหนึ่งได้ทำไว้แล้วที่เขาสามแก้ว(ชุมพร) ภูเขาทอง(ระนอง) น่าจะมีอายุในช่วงพุทธศตวรรษที่ 3-14  ที่คลองท่อม(กระบี่)และควนบางโร(พังงา)ราวพุทธศตวรรษที่ 4-13  ส่วนที่เกาะคอเขา ตะกั่วป่า และไชยา ก็ประมาณพุทธศตวรรษที่ 13-16 ซึ่งจะเห็นถึงความต่อเนื่องและเคลื่อนย้ายได้ด้วย

วิธีที่ดีที่สุดของการศึกษาวิเคราะห์คือการเก็บรักษาพื้นที่ไว้ทำการขุดค้นทางโบราณคดี  แต่เนื่องจากในภาคใต้มีหลายพื้นที่มากจนเกินกำลังของทางการและนักวิชาการ  โจทย์สำคัญน่าจะอยู่ที่ชุมชนท้องถิ่นทั้งหลายจะเห็นและให้ความสำคัญอย่างไร รวมทั้งทางการเองจะปรับวิธีการได้หรือไม่ หลังจากล่วงเลยมากกว่า 30 ปีแล้วที่พบและมีการขุดค้นค้าขายกันขนานใหญ่


หลักฐานร่องรอยของมนุษย์โบราณอยู่อาศัยกันมาอย่างต่อเนื่องของบริเวณที่พบลูกปัด จนกระทั่งเข้าสู่ยุคประวัติศาสตร์เมื่อประมาณสองพันปีที่ผ่านมา แสดงว่าผู้คนในแถบนี้ ยังมีความสัมพันธ์กับชนชาติอื่นด้วย ทำให้ขัดแย้งกับประวัติศาสตร์ที่เชื่อว่าคนไทยอพยพมาจากทางภาคใต้ของประเทศจีนหรือไม่


ผมเห็นว่าน่าจะได้เวลาสังคายนาประวัติศาสตร์กันใหม่หมด ไม่ใช่เฉพาะของไทยเท่านั้น แต่ตลอดจนเอเชียอาคเนย์และของโลกด้วยกระมังครับ


ถ้าลูกปัดที่พบบ่งบอกถึงเส้นทางการค้าในอดีตบริเวณภาคใต้ ย่อมแสดงว่าดินแดนแห่งนี้เคยเจริญมาก่อน แต่ยุคเสื่อมของบริเวณนี้กลับไม่แน่ชัดทั้งระยะเวลาและสาเหตุ

ปัญหาไม่ใช่เฉพาะเพียงยุคเสื่อมเท่านั้น ยุคแรกเริ่มก็เป็นปริศนาเหมือนกัน  ตลอดช่วงประมาณ 1,000 ปี ระหว่างพุทธศตวรรษที่ 3-4-16 นี้มีอะไรเกิดขึ้นบ้างต้องไปเทียบกับเหตุการณ์โลก  ตอนนั้นโรมันพยายามจะหาเส้นทางทะเลให้ถึงจีน ในขณะที่ทางจีนเองก็เริ่มออกทะเลลงมาทางใต้เพื่อเลี่ยงเส้นทางกลางทะเลทรายที่มีโจรมาก  ในขณะเดียวกันในอินเดียก็กำลังเกิดศึกใหญ่ของพระเจ้าอโศกมหาราช  เหล่านี้อาจเป็นร่องรอยของการเข้ามาตั้งฐานการผลิตและเรือสินค้าที่คาบสมุทรไทย  ส่วนการหายไปที่ดูเหมือนจะหายสูญอย่างกะทันหันจนสิ้นเชิงเมื่อประมาณพุทธศตวรรษที่ 16 นั้น น่าเชื่อได้ว่ามาจากครั้งพระเจ้าราเชนทรโจฬะจากอินเดียใต้กรีฑาทัพเรือมาไล่โจมตี 12 เมืองแห่งอาณาจักรศรีวิชัยตลอดคาบสมุทรลงไปถึงดินแดนสุมาตราเมื่อพันปีที่แล้ว  ส่วนที่บางคนสันนิษฐานว่ามาจากคลื่นยักษ์สึนามินั้นผมเห็นว่าเป็นไปได้เหมือนกัน แต่น่าจะน้อยกว่าการเกิดโรคระบาด หรือการอพยพย้ายกลับอินเดียด้วยซ้ำ

 

เรื่องนี้ก็ต้องมีการศึกษาเพิ่มเติมอีกมากเช่นเดียวกัน


ทุกวันนี้“ตะโกลา”คือความภูมิใจอย่างหนึ่งในความเป็นเมืองโบราณของชาวตะกั่วป่า แต่จากการศึกษาเรื่องรอยลูกปัดที่ผ่านมา เป็นไปได้ไหมว่าเมืองตะโกลา นอกจากตะกั่วป่าในปัจจุบันแล้ว ยังรวมถึงเมืองท่าชายฝั่งอันดามันต่างๆ ตั้งแต่จังหวัดระนองลงมาถึงคลองท่อม จังหวัดกระบี่ เพราะหลักฐานจากลูกปัดที่ค้นพบมีลักษณะใกล้เคียงกัน

ตะโกลาตามตำราภูมิศาสตร์ของปโตเลมีที่เขียนเมื่อพุทธศตวรรษที่ 7 นั้น ชวนให้นึกถึงตะกั่วป่าที่สุดเพราะชื่อคล้ายมาก ทั้งยังพบโบราณวัตถุสถานมากมายทั้งที่เกาะคอเขา เขาพระเหนอ และเขาพระนารายณ์ จนข้ามเขาสกไปออกที่อ่าวบ้านดอน ควนพุนพิน เขาศรีวิชัย และไชยา  นักวิชาการแต่ก่อนรวมทั้งในต่างประเทศก็เชื่อและลอกกันต่อๆ มาว่าตะโกลาคือตะกั่วป่า เราก็ว่าตามกันมา  จนล่าสุด ร้อยเอกบุณยฤทธิ์ ฉายสุวรรณ แห่งสำนักโบราณคดีที่ภูเก็ตทำการขุดค้นทางโบราณคดีที่เกาะคอเขาจนสรุปได้ว่าโบราณวัตถุสถานทั้งหมดเหล่านี้มีอายุเพียงเมื่อพุทธศตวรรษที่ 13-16 ซึ่งสอดคล้องกับหลักฐานลูกปัดต่างๆ ที่ผมศึกษา ซึ่งล่ากว่าปโตเลมีตั้ง 6-9 ศตวรรษ  หากตะกั่วป่าจะเป็นตะโกลาจริง ก็อาจเป็นในช่วงปลายที่น่าจะย้ายมาจากที่อื่น ซึ่งมีนักวิชาการหลายท่านคาดว่าน่าจะเป็นที่คลองท่อมซึ่งมีหลักฐานร่วมสมัยมากกว่า ในขณะที่บางท่านพาไกลไปถึงบริวณตรังซึ่งยังไม่พบหลักฐานอะไร

ผมพบหลักฐานมากมายทั้งลูกปัดและสิ่งของเครื่องมือในบริเวณตอนเหนือจากปากแม่น้ำตะกั่วป่าที่เขตอำเภอคุระบุรีต่อแดนกะเปอร์ ตั้งแต่คุระ นางย่อน บางโร บางแบก ทับช้าง แสงทอง ท่าเรือ เขาคอก ไล่ไปจนถึงภูเขาทองและบางกล้วย ซึ่งถ้าดูแผนที่ให้ดีจะพบว่าบริเวณนี้เป็นลุ่มปากแม่น้ำสำคัญที่มีเกาะคอเขา เกาะพระทอง และเกาะระวางเรียงบังลมอยู่แล้วค่อยๆ ตื้นเขิน  ข้ามเขาไปทางตะวันออกก็เป็นต้นน้ำคลองแสงที่น่าเสียดายว่าตอนนี้จมอยู่ใต้เขื่อนเชี่ยวหลานหมดแล้ว  มิหนำซ้ำชื่อสถานที่ต่างๆ ก็ช่างพ้องกับตะโกลาไม่น้อยกว่าตะกั่วป่า เช่น คุระ ท่าคุระ เกาะระ และเกาะหระ  เป็นไปได้อย่างยิ่งที่จะสันนิษฐานว่าตะโกลาเอ็มโพรีอุม(ในหนังสือของปโตเลมี เขียนถึง Tacola Emporeum ซึ่งหมายถึงชุมนุมที่พักของพ่อค้าวานิช)อันยิ่งใหญ่ของนักเดินเรือทะเลสมัยสองพันปีก่อนอาจอยู่ที่นี่ก่อนที่จะเคลื่อนลงใต้ไปที่ลุ่มแม่น้ำตะกั่วป่าและกาะคอเขาในสมัยศรีวิชัย

ทั้งหมดนี้นักวิชาการจำนวนหนึ่งกำลังตามรอยอยู่

ลูกปัดย่านอันดามันเท่าที่มีการพบ คุณหมอพอจะทราบราคาสูงสุดที่มีผู้ซื้อขายกันไหม

เรื่องนี้ตอบยาก นานาจิตตังครับ  เท่าที่มีประสบการณ์ ผมก็จำใจขอแลกรับมาบางเม็ดก็ตัวเลขหกหลัก  บางครั้งยกกรุก็เจ็ดหลัก ขึ้นกับหลายเหตุปัจจัยประกอบการพิจารณาครับ

สำหรับผมนั้นเน้นที่การเป็นหลักฐานสำคัญทางประวัติศาสตร์ของแผ่นดิน ยอมเจ็บเพื่อเก็บไว้เป็นกลุ่มก้อนหลักฐานก่อนที่จะหายสูญไป ดังที่หายไปแล้วไม่รู้เท่าไหร่ตลอดเวลากว่า 30 ปีที่ผ่านมา  ความจริงเรื่องนี้อยากชวนทุกท่านที่สนใจและมีไว้ครอบครองเอาออกมาให้ได้ดูและทำทะเบียนเอาไว้ ส่วนต่อไปข้างหน้าจะอย่างไรค่อยว่ากัน  คิดดูก็แล้วกันเพียง 4 ปีที่ผมรวบรวมยังได้เรื่องราวขนาดนี้ หากได้ทั้งหมดตลอด 30 ปี จะไม่ต้องทบทวนประวัติศาสตร์กันครั้งใหญ่เลยหรือครับ


มีเบาะแสเกี่ยวกับอาถรรพ์หรือปรากฏการณ์พิเศษบ้างไหม

มีแต่เรื่องเล่าของชาวบ้านในการค้นพบซึ่งส่วนใหญ่บอกว่าท่านมาเข้าฝันให้ไปขุดไปหาที่นั่นที่นี่แล้วพบตรงตามฝัน  หรือกรณีที่กระทำการอันไม่ดีงามแล้วท่านมากล่าวว่าตักเตือน  ชาวบ้านส่วนใหญ่นิยมทำบุญอุทิศส่วนกุศลให้ผู้เป็นเจ้าของก่อนๆ โดยค่อนข้างอุ่นใจว่าของที่พบในภาคใต้นั้นไม่ได้พบในหลุมฝังศพ พบกระจัดกระจายคล้ายเป็นแหล่งผลิตหรือคลังสินค้ามากกว่า จึงไม่น่ากลัวเท่าที่พบในภาคอื่น

สำหรับผมนั้นนอกจากการทำบุญอุทิศอยู่ประจำแล้วยังฝากชาวบ้านช่วยทำบุญเผื่อ พร้อมทั้งมั่นใจในเจตนาว่าที่กำลังทำนั้นเพื่อประโยชน์สาธารณะ ซึ่งท่านทั้งหลายน่าจะอนุโมทนา ประกอบกับไม่ค่อยคิดเรื่องเหลือเชื่อเหนือธรรมชาติตามประสาเด็กสวนโมกข์ ก็เลยไม่เคยพบพานอะไรเลย  ที่พิเศษสุดก็เมื่อคราวสุริยเทพถูกลักจากมิวเซียมสยาม การตื่นตัวสนใจทั่วสังคมไทยจนดลใจให้คนเอาไปไม่ทำลายและส่งกลับคืนมาโดยไม่บุบสลายนั้น ผมว่าเป็นปาฏิหาริย์ยิ่งแล้วครับ


คุณหมอมีสิ่งใดจะกรุณาแนะนำผู้สนใจลูกปัดโบราณหน้าใหม่บ้างไหมครับ

   มาช่วยกันหาหนทางพิทักษ์รักษาและพัฒนาการเรียนรู้ตลอดจนแหล่งเรียนรู้เรื่องลูกปัดและอีกหลายเรื่องซึ่งมีอยู่มากมายในแทบทุกพื้นที่ของประเทศไทยที่ใกล้บ้านท่านกันเถิดครับ

 ถ้าเราไม่ทำแล้วใครจะทำ กรมศิลปากร ราชการ แม้กระทั่งท้องถิ่นทั้งหลายเขาทำโดยลำพังไม่ไหวหรอกครับ  ช่วยกันคนละไม้คนละมือแล้วค่อยมาต่อภาพความรู้เป็นพัฒนาการใหม่ให้สังคมไทยกันดีกว่า เพียงแค่ลูกปัดเหล่านี้ก็มีอะไรไม่น้อยแล้วนะครับ.

แก้ไขล่าสุดเมื่อ ( เสาร์, 18 กรกฎาคม 2009 )
 
< ก่อนหน้า   ถัดไป >

สมุดภาพเหมืองแร่

Counter

mod_vvisit_countermod_vvisit_countermod_vvisit_countermod_vvisit_countermod_vvisit_countermod_vvisit_countermod_vvisit_countermod_vvisit_countermod_vvisit_counter
mod_vvisit_counterวันนี้5116
mod_vvisit_counterเมื่อวาน3893
mod_vvisit_counterทั้งหมด11016951