Skip to content

Phuketdata

default color
Home arrow Search
หลังคามุงด้วยดีบุก PDF พิมพ์ อีเมล์
เขียนโดย สมหมาย ปิ่นพุทธศิลป์   
เสาร์, 02 มิถุนายน 2018

พระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท (ตอนที่1)

(จถล.๒๓๔๐) 

ช่วงเวลาที่ผ่านมา ทุกๆ คนคงจะได้ยินนามของพระที่นั่งดุสิตมหาปราสาทกันอย่างบ่อยครั้งมาก ทั้งยังมีอีกหลายท่านไถ่ถามกันมาถึงประวัติและความสำคัญของพระที่นั่งองค์นี้ ผมจึงขอถือโอกาสเล่าเรื่องราวของพระที่นั่งดุสิตมหาปราสาทให้ท่านได้เข้าใจกันครับ

เมื่อพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช รัชกาลที่ 1 สถาปนากรุงรัตนโกสินทร์และพระราชวงศ์จักรีขึ้นเมื่อพุทธศักราช 2325  ในครั้งนั้นได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สร้างวัดพระศรีรัตนศาสดารามเพื่อเป็นที่ประดิษฐานพระพุทธมหามณีรัตนปฏิมากร พระแก้วมรกต ที่อัญเชิญมาจากนครเวียงจันทน์ตั้งแต่ครั้งกรุงธนบุรีราวพุทธศักราช 2321  และสร้างพระบรมมหาราชวัง เพื่อทรงใช้เป็นที่ประทับและทรงงานว่าราชการแผ่นดินต่างๆ

สำหรับพระบรมมหาราชวังนั้น  ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สร้างหมู่พระที่นั่งขึ้น 2 หมู่  คือหมู่พระมหามณเฑียร เพื่อทรงใช้เป็นที่ประทับและว่าราชการต่างๆ เป็นการส่วนพระองค์ ประกอบด้วยพระที่นั่งจักรพรรดิพิมาน พระที่นั่งไพศาลทักษิณ และพระที่นั่งอมรินทรวินิจฉัยมไหยสูรยพิมาน  กับหมู่พระมหาปราสาท เพื่อทรงใช้ในกิจการสำคัญของบ้านเมือง และเพื่อให้ความเป็น "พระบรมมหาราชวัง" ถูกต้องครบถ้วนตามราชประเพณี ที่สืบกันมาว่า  พระบรมมหาราชวังที่สมบูรณ์ ต้องประกอบด้วยพระมหามณเฑียรและพระมหาปราสาท

ดังนั้นพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช จึงทรงพระกรุณา โปรดเกล้าฯ ให้สร้างพระที่นั่งอมรินทราภิเษกมหาปราสาท หรือพระที่นั่งอินทราภิเษกมหาปราสาทขึ้น เมื่อพุทธศักราช 2326 มีลักษณะเป็นอาคารไม้ทั้งหลัง  รูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า ทอดตัวไปตามแกน เหนือ-ใต้  ยกยอดปราสาทขึ้นตรงค่อนกลางขององค์พระที่นั่ง คล้ายพระที่นั่งสรรเพชญปราสาทที่กรุงศรีอยุธยาเรียกว่า อาคารทรงจตุรมุขยาว โดยมีมุขหน้าและมุขหลัง  คือ มุขด้านทิศเหนือและมุขด้านทิศใต้ยาวกว่ามุขด้านข้าง คือมุขด้านทิศตะวันออกและทิศตะวันตก  สำหรับมุขหน้าจะสั้นกว่ามุขหลัง  มุขหลังจะทอดยาวลึกเข้าไปในเขตพระราชฐานชั้นใน  ที่ปลายสุดของมุขหลังขององค์พระที่นั่งนี้  จะขนาบด้วยอาคารทรงสี่เหลี่ยมผืนผ้าเล็กๆ ทางด้านซ้ายและขวา มีลักษณะเป็นหอขนาดย่อมเรียกว่า พระปรัศว์ซ้าย  พระปรัศว์ขวา และเรือนจันทน์

เมื่อพระที่นั่งอินทราภิเษกมหาปราสาทสร้างแล้วเสร็จ เมื่อวันที่ 18 กุมภาพันธ์ พุทธศักราช 2327  พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตั้งการพระราชพิธีบรมราชาภิเษกเต็มตามขัติยราชประ เพณีปฏิบัติตามแต่ครั้งกรุงศรีอยุธยาอีกคำรบหนึ่ง ในพุทธศักราช 2328 ทั้งนี้เพราะเมื่อปราบดาภิเษกขึ้นครองราชสมบัติ  เมื่อพุทธศักราช 2325 นั้น ยังไม่ได้สร้างเครื่องเบญจราชกกุธภัณฑ์และเครื่องราชูปโภคได้ครบถ้วนสมบูรณ์ตามขัตติยราชประเพณี กับทั้งสมณชีพราหมณ์เองก็ยังมิได้พระราชทานแต่งตั้งให้ครบถ้วนและสถานที่ประกอบพระราชพิธีก็ยังไม่เสร็จสมบูรณ์

ครั้งถึงพุทธศักราช 2332 เกิดฟ้าผ่าลงที่หน้ามุขเด็จขององค์พระที่นั่ง เกิดไฟไหม้และลุกลามไปติดเครื่องบนและโครงสร้างหลังคาที่เป็นไม้ จากนั้นจึงได้ลุกลามไหม้ต่อไปทั้งองค์พระที่นั่งรวมทั้งองค์พระปรัศว์ซ้ายด้วย

กล่าวกันว่าพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชได้เสด็จพระราชดำเนินมาทรงดับเพลิงครั้งนั้นด้วยพระองค์เอง พร้อมหมู่เสนาบดีและข้าราชการ ทรงอำนวยการและโปรดฯ ให้อัญเชิญพระแท่นราชบัลลังก์และพระแท่นปัญจถรประดับมุขหนีไฟรอดออกมาได้ แต่เมื่อไฟลุกโหมแรงและกระเบื้องมุงหลังคาของพระที่นั่งองค์นี้เป็นแผ่นกระเบื้องดีบุกหล่อทั้งแผ่น  ตามราชประเพณีปฏิบัติมาแต่ครั้งกรุงศรีอยุธยา แผ่นกระเบื้องมุงหลังคาที่เป็นดีบุกเหล่านี้ เมื่อถูกความร้อนจากเปลวไฟ ก็ละลายย้อยหยดลงมาประหนึ่งสายฝน  ถูกต้องตามร่างกายของผู้ที่เข้าไปสาดน้ำดับเพลิงจนไม่อาจเข้าไปใกล้ได้ เมื่อเหลือวิสัยที่จะเข้าไปดับเพลิงในระยะประชั้นชิดได้ พระที่นั่งองค์นี้ก็มอดไหม้ย่อยยับอัปราลงอย่างสิ้นเชิง

พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้รื้อซากพระที่นั่งทั้งหมดลง   แล้วให้ยกเดินหน้ามาตั้งใหม่ด้านหน้าพระที่นั่งเดิม จากนั้นจึงสร้างพระที่นั่งองค์ใหม่ให้มีขนาดย่อมกว่าองค์ก่อน ให้มีขนาดสูงใหญ่เท่ากับพระที่นั่งสุริยาสน์อมรินทร์ที่กรุงศรีอยุธยา เป็นอาคารทรงปราสาทจตุรมุข มีมุขทั้งสี่ทิศยื่นออกมาเสมอกันและมีขนาดกว้างยาวเท่ากันทั้งสี่มุข  หลังคายกเป็นยอดปราสาทซ้อนชั้นกัน 7 ชั้น จึงเรียก "มหาปราสาท"  พระราชทานนามว่า "พระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท" และสร้างพระที่นั่งเพิ่มขึ้นอีกหนึ่งองค์ ตามแนวของมุขพระที่นั่งองค์เดิมที่ไฟไหม้ไป ที่เคยสร้างยื่นเข้าไปในฝ่ายใน ให้มีความกว้างยาวเสมอมุขหลังเดิม รวมทั้งให้สร้างพระปรัศว์ซ้ายและพระปรัศว์ขวาตามเดิมด้วย พระราชทานนามว่า "พระที่นั่งพิมานรัถยา" ทั้งองค์พระที่นั่งที่สร้างใหม่ที่พระราชทานนามว่า พระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท รวมทั้งพระที่นั่งพิมานรัถยา พระปรัศว์ซ้ายและพระปรัศว์ขวา โปรดฯ ให้มุงกระเบื้องหลังคาเป็นแผ่นกระเบื้องดีบุกหล่อทั้งสิ้น

เล่ามาถึงตรงนี้ก็รู้สึกว่ายืดยาวมากพอสมควรแก่เวลาแล้ว  ผมจะขอยกยอดไปเล่าเรื่องราวของพระที่นั่งดุสิตมหาปราสาทต่อในครั้งต่อไปนะครับ รับรองว่าสนุกสนานและมีเกร็ดเล็กเกร็ดน้อยผสมผสานกันอย่างจุใจครับ สำหรับครั้งนี้ขอกราบลาทุกท่านก่อนครับ...สวัสดีครับ

  
อ้างอิง
https://www.muangthai.co.th 
การช่างฝีมือ  สถาปัตยกรรม  ๕ 
แก้ไขล่าสุดเมื่อ ( จันทร์, 03 กันยายน 2018 )
 
< ก่อนหน้า   ถัดไป >

สมุดภาพเหมืองแร่

Counter

mod_vvisit_countermod_vvisit_countermod_vvisit_countermod_vvisit_countermod_vvisit_countermod_vvisit_countermod_vvisit_countermod_vvisit_countermod_vvisit_counter
mod_vvisit_counterวันนี้428
mod_vvisit_counterเมื่อวาน2572
mod_vvisit_counterทั้งหมด11006357