Skip to content

Phuketdata

default color
Home arrow Search
การเขียนการันต์ของนักศึกษาสาขาวิชาภาษาไทยเพื่อการสื่อสาร ชั้นปีที่ 1 PDF พิมพ์ อีเมล์
เขียนโดย ผศ. รุ่งรัตน์ ทองสกุล   
ศุกร์, 25 เมษายน 2014

การเขียนการันต์ของนักศึกษาสาขาวิชาภาษาไทยเพื่อการสื่อสาร

ชั้นปีที่ 1 คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏภูเก็ต

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

งานวิจัยในชั้นเรียน

รุ่งรัตน์  ทองสกุล

 

 

 

 

 

 

 

 

คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏภูเก็ต

2556

(งานวิจัยชิ้นนี้ได้รับงบประมาณจากคณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏภูเก็ต)


กิตติกรรมประกาศ

 

                      การศึกษาเรื่อง “การเขียนการันต์ของนักศึกษาสาขาวิชาภาษาไทยเพื่อการสื่อสาร ชั้นปีที่ 1 คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏภูเก็ต” เป็นการศึกษาลักษณะการเขียนคำที่มีตัวการันต์และสาเหตุในการเขียนคำที่มีตัวการันต์ของนักศึกษาสาขาวิชาภาษาไทยเพื่อการสื่อสาร ชั้นปีที่ 1 คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏภูเก็ต ที่กำลังเรียนในรายวิชา “การเขียนเพื่อการสื่อสาร” โดยเนื้อหาส่วนหนึ่งของรายวิชาได้กล่าวถึงการเขียนคำให้ถูกต้องซึ่งหมายรวมถึงการเขียนคำศัพท์ที่มีตัวการันต์ด้วย ทั้งนี้เพื่อเสริมสร้างทักษะการเขียนที่ถูกต้องให้แก่นักศึกษา ซึ่งจะเป็นพื้นฐานสำหรับการสร้างงานเขียนในรูปแบบอื่น ๆ ต่อไป

                     การศึกษาในครั้งนี้มีบุคคลหลายฝ่ายที่ได้อนุเคราะห์ข้อมูลที่เป็นประโยชน์รวมทั้งให้คำแนะนำในการทำงานวิจัยในชั้นเรียนทำให้ผู้วิจัยมีมุมมองในการทำงานที่ลึกซึ้งมากยิ่งขึ้น จึงขอขอบคุณอาจารย์สาขาวิชาภาษาไทยเพื่อการสื่อสารทุกท่าน นักศึกษาห้อง ทสส.54 ที่ช่วยตรวจทานอักษร รวมทั้งผู้ให้ความอนุเคราะห์ท่านอื่น ๆ อีกหลายท่าน 

                     ผู้วิจัยขอขอบคุณผู้บริหารของคณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏภูเก็ต ที่มีส่วนผลักดันให้เกิดผลงานวิจัยเล่มนี้ รวมทั้งสนับสนุนงบประมาณในการจัดทำ เพื่อให้งานวิจัยเล่มนี้เกิดประโยชน์ต่อการจัดการเรียนการสอน ซึ่งจะส่งผลต่อการพัฒนาคุณภาพนักศึกษา รวมทั้งเป็นการพัฒนาองค์ความรู้ของผู้วิจัย จึงขอขอบคุณมา ณ โอกาสนี้

 

  รุ่งรัตน์  ทองสกุล

                                                                                                                     ผู้วิจัย


สารบัญ 

บทที่ หน้า

กิตติกรรมประกาศ..................…………………………………… ……………………….............  (1)

บทคัดย่อ……………………………………………………………………………………….........  (3)

Abstract………………………………………………………………………................................       (5)

สารบัญ......................................................................................................................................       (7)

สารบัญตาราง.............................................................................................................................       (9)

บทที่ 1  บทนำ...........................................................................................................................         1

          ภูมิหลัง..............................................................................................................................        1

                วัตถุประสงค์ของการวิจัย....................................................................................................        3

  ข้อตกลงเบื้องต้น................................................................................................................        3

ขอบเขตของการวิจัย...........................................................................................................        4

                นิยามศัพท์เฉพาะ...............................................................................................................        5

                ความสำคัญของการวิจัย.....................................................................................................        6

บทที่ 2  เอกสารและงานวิจัยที่เกี่ยวข้อง......................................................................................        7

เอกสารและงานวิจัยที่เกี่ยวข้องกับการเขียน........................................................................        7

เอกสารที่เกี่ยวข้องกับสาขาวิชาภาษาไทยเพื่อการสื่อสาร คณะมนุษยศาสตร์

และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏภูเก็ต.......................................................................       24

บทที่ 3   วิธีดำเนินการวิจัย.......................................................................................................        29

ประชากรและกลุ่มตัวอย่าง................................................................................................       29 

วิธีการเก็บและรวบรวมข้อมูล............................................................................................       29


 สารบัญ  (ต่อ)

 

บทที่ หน้า

 

บทที่  4  ผลการวิจัย...................................................................................................................       40

ลักษณะการเขียนคำที่มีตัวการันต์.......................................................................................       40

สาเหตุในการเขียนคำที่มีตัวการันต์…………………………………………………………..       52

บทที่ 5  สรุป  อภิปรายผล  และข้อเสนอแนะ..............................................................................       61

สรุป..................................................................................................................................       61

อภิปรายผล.......................................................................................................................       63

ข้อเสนอแนะ.....................................................................................................................       66

บรรณานุกรม…………………………………………………………...……..…………………..       67

ภาคผนวก................................................................................................................................       73


 สารบัญตาราง 

ตารางที่ หน้า

3.1  การเขียนการันต์ของนักศึกษา............................................................................................       31

4.1  เพศของนักศึกษา…………………………………………...………………………………….     37

4.2  ภูมิลำเนาของนักศึกษา......................................................................................................       37

4.3  ผลการเรียนระดับมัธยมศึกษาตอนปลายหรือเทียบเท่าของนักศึกษา…………….....………..     38

4.4  คะแนนจากการทำแบบทดสอบของนักศึกษา……………………………………..…………       38

4.5  ความสัมพันธ์ของผลการเรียนกับผลจากการทำแบบทดสอบของนักศึกษา..........................       39

4.6  ลักษณะการเขียนอักษรการันต์ที่กำกับไม่ให้ออกเสียงพยัญชนะตัวเดียว..............................       40

4.7  ลักษณะการเขียนอักษรการันต์ที่กำกับไม่ให้ออกเสียงพยัญชนะและสระ.............................       42

4.8  ลักษณะการเขียนอักษรการันต์ที่กำกับไม่ให้ออกเสียงพยัญชนะหลายตัว………..…………       44

4.9  ลักษณะการเขียนการันต์………………………………………..……………………………       46

4.10  แสดงเหตุผลในการเขียนการันต์......................................................................................       53


 ชื่อเรื่องงานวิจัย การเขียนการันต์ของนักศึกษาสาขาวิชาภาษาไทยเพื่อการสื่อสาร ชั้นปีที่ 1

คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏภูเก็ต

ผู้วิจัย                ผศ.รุ่งรัตน์  ทองสกุล                                     

 

แหล่งทุน            คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏภูเก็ต

 

บทคัดย่อ 

วัตถุประสงค์

เพื่อศึกษาลักษณะการเขียนคำที่มีตัวการันต์ และสาเหตุในการเขียนคำที่มีตัวการันต์ ของนักศึกษาสาขาวิชาภาษาไทยเพื่อการสื่อสาร

ชั้นปีที่ 1 คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏภูเก็ต

การดำเนินงาน

เก็บข้อมูลจากการทำแบบทดสอบการเขียนคำที่มีตัวการันต์ จำนวน 60 คำ ของนักศึกษาสาขาวิชาภาษาไทยเพื่อการสื่อสาร ซึ่งเรียนในรายวิชาการเขียนเพื่อการสื่อสาร ภาคเรียนที่ 1/2556 และนำข้อมูลที่ได้ทั้งหมดมาวิเคราะห์ตามประเด็นที่ได้กำหนดไว้

สรุปผล      

1. ลักษณะการเขียนคำที่มีตัวการันต์

                          1.1 การเขียนอักษรการันต์ที่กำกับไม่ให้ออกเสียงพยัญชนะตัวเดียว นักศึกษาเขียนถูกต้องมากที่สุด คือ อารมณ์ ผิดมากที่สุด คือ ศิลป์ และคำที่มีรูปแบบในการเขียนผิดมากที่สุด คือ  กอล์ฟ

            1.2 ลักษณะการเขียนอักษรการันต์ที่กำกับไม่ให้ออกเสียงพยัญชนะและสระ นักศึกษาเขียนถูกต้องมากที่สุด คือ บริสุทธิ์ ผิดมากที่สุด คือ สฤษดิ์  และคำที่มีรูปแบบในการเขียนผิดมากที่สุด คือ สฤษดิ์

            1.3 ลักษณะการเขียนอักษรการันต์ที่กำกับไม่ให้ออกเสียงพยัญชนะหลายตัว นักศึกษาเขียนถูกต้องมากที่สุด คือ คณิตศาสตร์, พระจันทร์, วัชเรนทร์ และวารสารศาสตร์ ผิดมากที่สุด คือ สายสิญจน์ และคำที่มีรูปแบบในการเขียนผิดมากที่สุด คือ คเชนทร์ และธานินทร์

                      2. สาเหตุในการเขียนคำที่มีตัวการันต์

                          2.1 เขียนตามที่เคยเห็นมา นักศึกษาใช้เหตุผลนี้มากที่สุด คือ ต้นโพธิ์

  2.2 เขียนตามหลักภาษา นักศึกษาใช้เหตุผลนี้มากที่สุด คือ องค์

    2.3 เขียนตามการออกเสียง นักศึกษาใช้เหตุผลนี้มากที่สุด คือ พินทุ์อิ

               2.4 เขียนเทียบกับคำใกล้เคียง นักศึกษาใช้เหตุผลนี้มากที่สุด คือ กิตติมศักดิ์

               2.5 สาเหตุอื่น ๆ นักศึกษาใช้เหตุผลนี้มากที่สุด คือ สฤษดิ์

Research topic : Writing Orthography of Thai Language For Communication

Pragram 1st Year Students of Faculty of Humanities and Social

                Sciences of Phuket Rajabhat University

 

Researcher :       Asst.Prof.Rungrat Thongsakul

 

Research Fund : Faculty of Humanities and Social Sciences, Phuket Rajabhat University.

 

 

Abstract

Objective

To study manners of writing words with orthography and motive of writing words with the orthography of Thai Language For Communication Pragram 1st Year Students of Faculty of Humanities and Social Sciences of Phuket Rajabhat University

Research Methodology

Collect data from the quiz of writing 60 words with the orthography of Thai Language For Communication Pragram 1st Year Students, semester 1. Then, analyze issues in the proceedings.

Results

1. Manners of writing words with the orthography.

          1.1  Writing with orthography regulating without a single consonant. Words the students wrote the most correct were

“อารมณ์ (A-rom)and the most incorrect were  “ศิลป์ (Sin) and word with wrong form was “กอล์ฟ (Golf).

          1.2 Manner of writing with orthography regulating without a consonant and vowels. Students wrote the most correct was

“บริสุทธิ์ (Borisut), the most incorrect was “สฤษดิ์ (Sarit) and the most incorrect form was “สฤษดิ์ (Sarit).

          1.3 Manner of writing with orthography regulating without many consonants. Students wrote the most correct was  

“คณิตศาสตร์ (Kanittasart), พระจันทร์ (Prachan), วัชเรนทร์ (Watcaharen), and วารสารศาสตร์ (Warasarnsart) and  the most incorrect was “สายสิญจน์ (Saisin), and the most incorrect form was “คเชนทร์ (Kachen) and ธานินทร์ (Thanin)

         2. Motive of writing words with the orthography

             2.1 Write as ever seen. This motive students used the most for “ต้นโพธิ์ (Ton Poh)”.

            2.2 Written by grammar. This motive students used the most for “องค์ (Ong)”.

            2.3 Written by pronunciation.  This motive students used the most for “พินทุ์ (Pin)”.

            2.4 Written compared to the parts. This motive students used the most for “กิตติมศักดิ์ (Kitimasak)”.

           2.5 Other motives.  This motive students used the most for “สฤษดิ์  (Sarit)”.


 บทที่ 1

บทนำ

ภูมิหลัง

ภาษาไทยเป็นภาษาที่มีเอกลักษณ์ซึ่งสื่อถึงความเป็นไทยได้อย่างชัดเจน การใช้ภาษาไทยในการสื่อสารไม่ว่าจะเป็นการเขียน หรือการพูดจึงควรใช้ให้ถูกต้องเพื่อไม่ให้เอกลักษณ์ของภาษาไทยต้องลดถอยลงไป ถึงแม้จะมีคำกล่าวว่าภาษาทุกภาษาที่ยังคงมีผู้ใช้ย่อมจะมีการเปลี่ยนแปลง แต่การเปลี่ยนแปลงดังกล่าวก็ควรจะเป็นไปอย่างเหมาะสม เพื่อให้มีการพัฒนามากกว่าการทำลาย

การเปลี่ยนแปลงไปในทางทำลายภาษาไทยเกิดได้จากหลายสาเหตุ เช่น การออกเสียงไม่ชัดเจน  การเขียนสะกดการันต์ไม่ถูกต้อง เป็นต้น โดยเฉพาะสาเหตุที่เกิดจากการเขียนเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้การใช้ภาษาไทยอยู่ในสภาพที่เป็นปัญหา เพราะการเขียนปรากฏเป็นร่องรอยหลักฐานที่ชัดเจน การเขียนผิดจึงก่อให้เกิดการสื่อสารผิดพลาดในลักษณะอื่น ๆ ตามมาได้ สอดคล้องกับที่ ดวงใจ ไทยอุบุญ (2550, หน้า 25) กล่าวถึงปัญหาที่เกิดจากการเขียนผิดสรุปได้ว่า หากผู้เขียนไม่เอาใจใส่ในการสะกดคำให้ถูกต้อง หรือการเขียนตัวการันต์ผิดพลาดก็จะเกิดปัญหาทั้งต่อผู้เขียนและผู้อ่าน กล่าวคือผู้เขียนไม่สามารถสื่อความหมายจากสารนั้นให้ผู้อ่านรับทราบได้ รวมถึงผู้ที่รับทราบแล้วก็จะเกิดความรำคาญ และลดความเชื่อถือต่อผู้เขียน นอกจากนี้การเขียนกับการอ่านยังมีความสัมพันธ์กัน การเขียนที่ถูกต้องตามหลักการเขียนย่อมส่งผลไปถึงการอ่านที่ถูกต้องด้วย การเขียนจึงถือเป็นเรื่องสำคัญที่ควรจะต้องใส่ใจ ดังที่ วิเชียร เกษประทุม (2544, หน้า 10) ได้กล่าวถึงการให้ความสำคัญกับหลักการเขียนสะกดการันต์ สรุปได้ว่า การสะกดการันต์เป็นเรื่องที่ต้องย้ำเตือนให้ตระหนัก เพราะไม่ว่าจะเป็นการเขียนภาคนิพนธ์ สารนิพนธ์ หนังสือ ตำรา หรือการเขียนในลักษณะอื่นที่มุ่งเผยแพร่ต่อสาธารณชน หรือแม้แต่เขียนระหว่างบุคคลที่คุ้นเคยกัน ถ้ามีคำที่เขียนผิดก็อาจทำให้เกิดความเข้าใจคลาดเคลื่อน ส่งผลให้การสื่อสารไม่บรรลุผลตามวัตถุประสงค์ และทำให้ผู้อ่านเสื่อมความนิยมต่อผู้เขียนได้ ดังนั้นจึงต้องระมัดระวังและพิถีพิถันในการสะกดการันต์ให้ถูกต้อง หากไม่มั่นใจหรือสงสัยคำใดก็อย่าเขียนไปโดยประมาท ต้องตรวจสอบกับพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถานฉบับพิมพ์ครั้งหลังสุดทุกครั้

นักศึกษาสาขาวิชาภาษาไทยเพื่อการสื่อสาร เป็นนักศึกษาที่ศึกษาเรียนรู้ตามหลักสูตรเพื่อออกไปประกอบอาชีพที่หลากหลาย เช่น พิธีกร นักจัดรายการวิทยุ นักเขียน งานธุรการ เลขานุการ เป็นต้น นักศึกษากลุ่มนี้จึงจำเป็นต้องใช้ภาษาอย่างถูกต้อง ชัดเจน เพื่อเป็นแบบอย่างแก่คนอื่น ๆ รวมทั้งนำความรู้ไปใช้ประกอบอาชีพได้อย่างมีประสิทธิภาพ แต่ปัจจุบันมักจะพบว่านักศึกษาที่เลือกเรียนสาขาวิชาภาษาไทยเพื่อการสื่อสารมีปัญหาการใช้ภาษาไทย โดยเฉพาะปัญหาการเขียน ทั้งนี้อาจเป็นเพราะสาเหตุหลายประการ เช่น นักศึกษาไม่ชอบเขียน นักศึกษาเขียนตามแบบอย่างในสื่อออนไลน์ นักศึกษาไม่ใส่ใจที่จะเขียนให้ถูกต้อง เป็นต้น

  การเขียนสะกดการันต์ให้ถูกต้องจึงเป็นเรื่องที่สำคัญมากสำหรับนักศึกษาที่จะสำเร็จการศึกษาไปเป็นบัณฑิตที่ทำงานเกี่ยวกับการใช้ภาษาไทย แต่จากการเก็บข้อมูลเบื้องต้นในด้านการเขียนตัวการันต์ของนักศึกษาชั้นปีที่ 1  สาขาวิชาภาษาไทยเพื่อการสื่อสาร คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏภูเก็ต พบว่านักศึกษาเขียนการันต์ผิดเป็นจำนวนมาก ดังตัวอย่างคำต่อไปนี้

      คำถูก                                                                                               คำที่เขียนผิด

      คอลัมน์                                                                                            คอลัมม์

      ซีเมนต์                                                                                             ซีเม็นท์

                   ดอกจันทน์                                                                                      ดอกจันท์              

      ทศกัณฐ์                                                                                           ทศกัณฑ์

      ผลลัพธ์                                                                                            ผลลัพท์

      อัฒจันทร์                                                                                         อัฒจรรย์

จากตัวอย่างการเขียนคำการันต์ข้างต้น จะเห็นว่านักศึกษาเขียนคำการันต์บางคำซึ่งเป็นคำที่ใช้อยู่ในชีวิตประจำไม่ได้ ทั้งนี้อาจเป็นเพราะคำที่มีตัวการันต์ไม่ใช่คำไทยแท้ที่มีตัวสะกดตรงตามมาตรา แต่ส่วนใหญ่เป็นคำสันสกฤต หรือคำที่หยิบยืมจากภาษาต่างประเทศอื่น ๆ การจะเขียนให้ถูกต้องจึงต้องอาศัยหลักเกณฑ์การเขียนที่ดูเหมือนว่าจะเป็นเรื่องยากสำหรับนักศึกษา ด้วยเหตุนี้ผู้วิจัยจึงสนใจที่จะศึกษาการเขียนการันต์ของนักศึกษาชั้นปีที่ 1 สาขาวิชาภาษาไทยเพื่อการสื่อสาร คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏภูเก็ต ซึ่งงานวิจัยลักษณะนี้เท่าที่ผู้ศึกษาได้ศึกษาค้นคว้าพบว่ามีผู้ศึกษาน้อย เช่น การศึกษาของ

ปาริชาด นันทะวงษ์ (2548) เรื่อง“การศึกษาผลการใช้บทเรียนการสอนโดยใช้คอมพิวเตอร์ช่วยประเภทเกม กลุ่มสาระการเรียนรู้ภาษาไทย เรื่องการใช้ตัวการันต์การศึกษาขั้นพื้นฐาน ระดับช่วงชั้นที่ 2” การศึกษาของ ชนิศา แจ้งอรุณ (2552)  เรื่อง “การแก้ปัญหาการเขียนตัวสะกดคําและการใช้ตัวการันต์ โดยวิธีการใช้แบบทดสอบการเขียนคําถูก ของนักศึกษาระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูงชั้นปีที่ 1/1 แผนกคอมพิวเตอร์ธุรกิจ ที่เรียนในรายวิชาทักษะภาษาไทยเพื่ออาชีพ (3000 - 1101)” การศึกษาของ นันทิยา สังข์ขาว (2552) เรื่อง “การพัฒนาทักษะการอ่านและเขียน กลุ่มสาระการเรียนรู้ภาษาไทย ของนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 3 โรงเรียนบ้านพะวร โดยใช้แบบฝึกทักษะการอ่านและเขียนคำที่มีตัวการันต์” เป็นต้น

จะเห็นได้ว่าตัวอย่างงานวิจัยเกี่ยวกับการเขียนตัวการันต์สำหรับนักศึกษาในระดับอุดมศึกษายังไม่มีผู้ศึกษาไว้ ด้วยเหตุนี้ผู้วิจัยจึงเห็นความสำคัญที่จะศึกษาเรื่อง “การเขียนการันต์ของนักศึกษาสาขาวิชาภาษาไทยเพื่อการสื่อสารชั้นปีที่ 1 คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏภูเก็ต” ทั้งนี้เพื่อหาปัญหา และมูลเหตุในการเขียนตัวการันต์ผิด สำหรับใช้เป็นแนวทางในการปรับปรุง และแก้ไขการเขียนตัวการันต์ซึ่งเป็นความรู้พื้นฐานที่จะใช้ในการสร้างสรรค์งานเขียนอื่น ๆ ต่อไป

วัตถุประสงค์ของการวิจัย

เพื่อศึกษาลักษณะ และสาเหตุในการเขียนคำที่มีตัวการันต์ ของนักศึกษาสาขาวิชาภาษาไทย

เพื่อการสื่อสาร ชั้นปีที่ 1 คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏภูเก็ต

ข้อตกลงเบื้องต้น

1. ในการศึกษาครั้งนี้ ผู้ศึกษาจะเก็บข้อมูลการเขียนการันต์ของนักศึกษาสาขาวิชาภาษาไทย

เพื่อการสื่อสาร ชั้นปีที่ 1 คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏภูเก็ต เฉพาะนักศึกษาที่ลงทะเบียนเรียนในภาคเรียนที่ 1

ปีการศึกษา 2556 ซึ่งมาเรียนในวันที่ทำแบบทดสอบ และเป็นนักศึกษาที่มีเชื้อชาติไทย เท่านั้น

2. ในการศึกษาครั้งนี้ ผู้ศึกษาจะศึกษาคำศัพท์ที่มีตัวการันต์ จำนวน 60 คำ โดยปรับมาจากการเลือกคำตามเกณฑ์การแบ่งลักษณะตัวการันต์ของ ภาษิตา  วิสารสุข (2537, หน้า 30-34)  ซึ่งแบ่งไว้ 4 ประเภท ได้แก่ ตัวการันต์ที่ฆ่าพยัญชนะตัวเดียว ฆ่าสระ ฆ่าพยัญชนะและสระ

และฆ่าพยัญชนะและสระหลายตัว ซึ่งผู้วิจัยได้นำมาปรับใช้โดยแบ่งเป็น 3 ลักษณะ ดังนี้

    2.1 อักษรการันต์ที่กำกับไม่ให้ออกเสียงพยัญชนะตัวเดียว เช่น เสน่ห์ หุ่นยนต์ อารมณ์ อาจารย์ เป็นต้น     

    2.2 อักษรการันต์ที่กำกับไม่ให้ออกเสียงพยัญชนะและสระ เช่น พันธุ์ โพธิ์ สวัสดิ์ ยานัตถุ์ บริสุทธิ์ เป็นต้น

      2.3 อักษรการันต์ที่กำกับไม่ให้ออกเสียง พยัญชนะหลายตัว เช่น กษัตริย์ พระลักษณ์ ศาสตร์ ภาพยนตร์ จันทร์

ดังนั้น คำศัพท์ตัวการันต์ที่ผู้วิจัยเลือกมาใช้ในการศึกษาตามลักษณะข้างต้น ลักษณะละ 20 คำ

รวมเป็น 60 คำ

3. ในประเด็นของสาเหตุการเขียนการันต์ ผู้ศึกษาจะเก็บข้อมูลจากการทำแบบทดสอบของนักศึกษาที่ได้ให้เหตุผลในการเลือกเขียนคำที่มีตัวการันต์ โดยปรับมาจากการศึกษาของ สุนันทา  โสรัจจ์ (2511) เรื่อง “การศึกษามูลเหตุแห่งการเขียนสะกดการันต์ผิดโดยทดสอบจากนักเรียนระดับมัธยมศึกษาปีที่ 3 ในจังหวัดพระนคร” โดยสุนันทา  โสรัจจ์ ได้ศึกษามูลเหตุแห่งการเขียนสะกดการันต์ผิดไว้ 7 ประเด็น ได้แก่ การเคยเห็นแบบแผนหรือตัวอย่างเช่นนี้เสมอ  การเขียนตามความหมายของคำ  การเขียนเทียบกับคำบางคำ  การเขียนตามเสียงพูด  การเขียนตามหลักภาษา  การเดา  และประเด็นสุดท้ายเป็นประเด็นที่เว้นว่างเพื่อให้นักเรียนตอบ จากมูลเหตุดังกล่าวผู้วิจัยได้นำมาปรับใช้  ดังนี้

    3.1 เขียนตามที่เคยเห็นมา

    3.2 เขียนตามหลักภาษา

    3.3 เขียนตามการออกเสียง

    3.4 เขียนเทียบกับคำใกล้เคียง

    3.5 อื่น ๆ

4. ในการอธิบายความหมายของคำศัพท์ที่ปรากฏในแบบทดสอบ เพื่อให้นักศึกษาได้พิจารณาและเขียนคำศัพท์ที่มีตัวการันต์นั้น ผู้วิจัยจะอธิบายความหมายตามที่ปรากฏในพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2542 (ราชบัณฑิตยสถาน, 2546) เป็นหลัก โดยการอธิบายสั้น ๆ และเลี่ยงคำบางคำด้วยการตัดคำ หรือหาคำอื่นแทน ทั้งนี้เพื่อให้นักศึกษาเข้าใจความหมายของคำศัพท์ และไม่เป็นการชี้นำให้นักศึกษานำคำนั้น ๆ ไปใช้ในการเขียนคำศัพท์ เช่น เมื่อมีคำศัพท์ที่มีตัวการันต์คือคำว่า “สิทธิ์” ปรากฏอยู่ ในการเขียนอธิบายความหมายของคำทั้ง 60 คำ จะไม่ให้มีคำว่า “สิทธิ์” ปรากฏอยู่ เป็นต้น

ขอบเขตของการวิจัย

การศึกษาเรื่อง “การเขียนการันต์ของนักศึกษาสาขาวิชาภาษาไทยเพื่อการสื่อสารชั้นปีที่ 1

คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏภูเก็ต” ผู้วิจัยได้แบ่งขอบเขตของการศึกษาออกเป็น 2 ประเด็น ดังนี้

                   1. ขอบเขตด้านข้อมูล

ในการศึกษาครั้งนี้ผู้ศึกษาจะเก็บข้อมูลลักษณะการเขียนการันต์ของนักศึกษาสาขาวิชาภาษาไทยเพื่อการสื่อสาร ชั้นปีที่ 1 คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏภูเก็ต เฉพาะนักศึกษาที่ลงทะเบียนเรียนในภาคเรียนที่ 1 ปีการศึกษา 2556 ซึ่งมาเรียนในวันที่ทำแบบทดสอบ และเป็นนักศึกษาที่มีเชื้อชาติไทย จำนวน 33 คน  

      2. ขอบเขตด้านเนื้อหา

        2.1 ลักษณะการเขียนคำที่มีตัวการันต์

                  2.1.1 อักษรการันต์ที่กำกับไม่ให้ออกเสียงพยัญชนะตัวเดียว

                 2.1.2 อักษรการันต์ที่กำกับไม่ให้ออกเสียงพยัญชนะและสระ

                 2.1.3 อักษรการันต์ที่กำกับไม่ให้ออกเสียงพยัญชนะหลายตัว

                        2.2 สาเหตุในการเขียนคำที่มีตัวการันต์

                              2.2.1 เขียนตามที่เคยเห็นมา

                              2.2.2 เขียนตามหลักภาษา

                              2.2.3 เขียนตามการออกเสียง

                              2.2.4 เขียนเทียบกับคำใกล้เคียง

                              2.2.5 สาเหตุอื่น ๆ

 นิยามศัพท์เฉพาะ

การศึกษาเรื่อง “การเขียนตัวการันต์ของนักศึกษาสาขาวิชาภาษาไทยเพื่อการสื่อสาร

คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏภูเก็ต” ผู้วิจัยได้กำหนดนิยามศัพท์เฉพาะ ดังนี้

1. การันต์ หมายถึง ตัวอักษรที่ไม่ออกเสียง ซึ่งมีเครื่องหมายทัณฑฆาตกำกับอยู่ บนพยัญชนะตัวเดียว บนอักษรควบหรือบนอักษร 2 ตัว หรือ 3 ตัว เรียงกัน และอาจจะมีรูปสระกำกับอยู่ด้วย

2. ลักษณะการเขียนคำที่มีตัวการันต์ หมายถึง ข้อมูลคำศัพท์ที่มีตัวการันต์ของนักศึกษาซึ่งปรากฏจากการทำแบบทดสอบ

3. สาเหตุในการเขียนคำที่มีตัวการันต์  หมายถึง เหตุผลที่นักศึกษาเลือกเพื่อบอกถึงสาเหตุที่ตนเองเขียนคำศัพท์ที่มีตัวการันต์ในลักษณะนั้น ๆ ซึ่งปรากฏจากการทำแบบทดสอบ โดยมีรายละเอียดของสาเหตุที่เลือกดังนี้

    3.1 เขียนตามที่เคยเห็นมา หมายถึง การเขียนคำศัพท์ที่มีตัวการันต์ โดยอาศัยประสบการณ์เดิมที่ตนเองเคยเห็นมา

   3.2 เขียนตามหลักภาษา หมายถึง การเขียนคำศัพท์ที่มีตัวการันต์ โดยอาศัยหลักภาษาไทย ซึ่งเป็นหลักการเขียนตามที่ตนเองเคยเรียนมา

    3.3 เขียนตามการออกเสียง หมายถึง การเขียนคำศัพท์ที่มีตัวการันต์ โดยอาศัยการเทียบเคียงจากการออกเสียงของตนเอง

    3.4 เขียนเทียบกับคำใกล้เคียง หมายถึง การเขียนคำศัพท์ที่มีตัวการันต์ โดยอาศัยการเทียบเคียงกับคำที่มีรูปศัพท์ใกล้เคียงกัน

    3.5 สาเหตุอื่น ๆ หมายถึง สาเหตุที่เขียนคำศัพท์ที่มีตัวการันต์ซึ่งนอกเหนือจาก 4 สาเหตุข้างต้น เช่น ไม่แน่ใจว่าเขียนอย่างไร เดาว่าน่าจะเขียนเช่นนั้น เป็นต้น 

5. แบบทดสอบ หมายถึง ชุดทดสอบที่ใช้เป็นเครื่องมือในการประเมินความสามารถในการเขียนคำศัพท์ที่มีตัวการันต์พร้อมกับสาเหตุในการเขียนการันต์ จากการทำแบบทดสอบของนักศึกษา

ความสำคัญของการวิจัย

การศึกษาเรื่อง “การเขียนการันต์ของนักศึกษาสาขาวิชาภาษาไทยเพื่อการสื่อสารชั้นปีที่ 1 คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏภูเก็ต” มีความสำคัญดังนี้

1. ทำให้ทราบถึงลักษณะและสาเหตุของการเขียนการันต์ของนักศึกษา

2. ทำให้ทราบทักษะความรู้ด้านการเขียนตัวการันต์ของนักศึกษา

3. ทำให้มีข้อมูลที่จะใช้เป็นแนวทางในการแก้ไขข้อผิดพลาดจากการเขียนตัวการันต์ของนักศึกษา

4. เป็นแนวทางสำหรับการศึกษาวิจัยเพื่อแก้ปัญหาทักษะทางภาษาไทยอื่น ๆ ต่อไป 


บทที่  2

เอกสารและงานวิจัยที่เกี่ยวข้อง

 

                      การศึกษาเรื่อง “การเขียนการันต์ของนักศึกษาชั้นปีที่ 1 สาขาวิชาภาษาไทยเพื่อการสื่อสาร

คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏภูเก็ต” ผู้วิจัยได้ศึกษาเอกสารและงานวิจัย

ที่เกี่ยวข้อง ดังนี้

                      1. เอกสารและงานวิจัยที่เกี่ยวข้องกับการเขียน

                      2. เอกสารที่เกี่ยวข้องกับสาขาวิชาภาษาไทยเพื่อการสื่อสาร คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏภูเก็ต

 

เอกสารและงานวิจัยที่เกี่ยวข้องกับการเขียน

เอกสารที่เกี่ยวข้องกับการเขียน

                      ความหมายของการเขียน

                      นักวิชาการหลายท่านได้ให้ความหมายของการเขียน เช่น ราชบัณฑิตยสถาน (2546, หน้า 202) ได้ให้ความหมายของการเขียนว่า หมายถึง “แต่งหนังสือ” นพดล จันทร์เพ็ญ (2546, หน้า 11) ฉลวย สุรสิทธิ์ (2551, หน้า 3) ดวงใจ ไทยอุบล (2552, หน้า 15) สมชาย หอมยก (2542, หน้า 29) ให้ความหมายของ

การเขียนสอดคล้องกัน สรุปได้ว่า การเขียน หมายถึง การแสดงความรู้ ความคิด ความรู้สึก ความต้องการ

เป็นลายลักษณ์อักษรนำเสนอสู่ผู้อ่าน โดยมีจุดมุ่งหมายอย่างใดอย่างหนึ่ง

                      จากความหมายข้างต้นสามารถสรุปได้ว่า การเขียน หมายถึง การถ่ายทอดความรู้ ความคิด อารมณ์ ตลอดจนความรู้สึก เรียบเรียงออกมาเป็นลายลักษณ์อักษร ที่เรียกว่า “ภาษาเขียน” เพื่อให้ผู้อ่านได้รับรู้ และเกิดความรู้สึกอย่างใดอย่างหนึ่งต่องานเขียนชิ้นนั้น

 

                      ความมุ่งหมายของการเขียน

                      ความมุ่งหมายประเด็นหลักของการเขียน คือ เพื่อให้ผู้อื่นอ่าน ยิ่งมีผู้อ่านมากก็ถือว่างานเขียนนั้นประสบความสำเร็จ แต่ก็อาจจะมีผู้เขียนบางคนที่มีจุดมุ่งหมายในการเขียนเพื่อให้ตนเองอ่าน เช่น การเขียนบันทึกประจำวัน เป็นต้น อย่างไรก็ตามการเขียนโดยทั่วไปมีจุดมุ่งหมายดังนี้

                      1. เขียนเพื่อเล่าเรื่อง เป็นการนำเรื่องราวหรือเหตุการณ์ต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นมาถ่ายทอดในรูปของงานเขียน ผู้เขียนต้องใช้วิธีการเล่าเรื่องที่ชวนให้อ่าน น่าติดตาม และทำให้ผู้อ่านเห็นภาพเหตุการณ์ มีการเริ่มเรื่องด้วยการสร้างจุดสนใจหรือจุดดึงดูดใจ ลำดับเรื่องตามเหตุการณ์ก่อนหลัง จากใกล้ไปไกลอย่างรอบคอบ และต้องคำนึงถึงข้อเท็จจริงตามวัน เวลา และสถานที่ ตัวอย่างการเขียนแบบเล่าเรื่องที่ดี เช่น สารคดีพระนิพนธ์ในสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี นิทานโบราณคดีของสมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ เป็นต้น

                      2. เขียนเพื่ออธิบาย เป็นการเขียนประเภทตำราหรือวิชาการ มีความมุ่งหมายเพื่อให้ผู้อ่านเข้าใจ และสามารถนำไปใช้ได้จริง การเขียนประเภทนี้จึงต้องใช้ภาษาที่เข้าใจง่าย สั้น กะทัดรัด มีการจัดลำดับขั้นตอนตามเหตุการณ์ก่อนหลัง เช่น การอธิบายวิธีการจัดดอกไม้ หลักการแต่งคำประพันธ์ เป็นต้น

                      3. เขียนเพื่อโฆษณาจูงใจ การเขียนลักษณะนี้จะใช้ภาษาจูงใจผู้อ่าน อาจเป็นภาษาปาก

ภาษาท้องถิ่น หรือภาษาที่ไม่ถูกต้องตามหลักไวยากรณ์มากนัก เพราะมุ่งเน้นที่ความแปลกใหม่ น่าสนใจ มีการใช้ภาษาที่ติดหูผู้ฟังได้ง่าย ข้อความอาจจะมีขนาดสั้นหรือยาวขึ้นอยู่กับความมุ่งหมายและโอกาสที่เขียน เช่น

“ยาดม... ใช้ดม ใช้ทา ในหลอดเดียวกัน” “ยาหม่องตรา... มิตรคู่เรือน เพื่อนคู่ตัว” “ห่านดินกินหญ้า ห่านฟ้ากินยุง” เป็นต้น

                      4. เขียนเพื่อปลุกใจ เป็นการเขียนเพื่อให้ผู้อ่านเกิดความรู้สึกเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน มีความฮึกเหิม เข้มแข็ง พร้อมเพรียง พร้อมใจกันต่อสู้เพื่อความถูกต้อง งานเขียนลักษณะนี้อาจจะใช้ประโยคสั้น ๆ มีการเน้นย้ำและยกตัวอย่างประกอบเพื่อโน้มน้าวใจผู้อ่าน เช่น บทความปลุกใจให้รักชาติ  พระราชนิพนธ์ในรัชกาลที่หก เป็นต้น

                      5. เขียนเพื่อแสดงความคิดเห็น วิพากษ์วิจารณ์ หรือแนะนำ เช่น บทความในหนังสือพิมพ์ การแสดงความคิดเห็นต่อแวดวงการเมืองไทย การวิพากษ์วิจารณ์เหตุการณ์บ้านเมืองในสถานการณ์ต่าง ๆ การเขียนประเภทนี้ต้องคำนึงถึงข้อเท็จจริงที่แสดงให้เห็นได้อย่างชัดเจน ผู้เขียนต้องใช้วิจารณญาณอย่างถูกต้อง มีความเป็นธรรม มุ่งเน้นเพื่อประโยชน์ส่วนรวม และมีวิธีการชี้แจงแนะนำที่ตรงไปตรงมา

      6. เขียนเพื่อสร้างจินตนาการ เป็นการเขียนที่ผู้เขียนต้องการให้ผู้อ่านเกิดจินตนาการคล้อยตามหรือมองเห็นสิ่งที่ผู้เขียนนำเสนอ จึงต้องใช้วิธีการสร้างภาพเพื่อจูงใจผู้อ่าน การเขียนลักษณะนี้จำเป็นที่ผู้เขียนจะต้องเลือกสรรถ้อยคำอย่างพิถีพิถันเพื่อสร้างภาพพจน์ให้เกิดขึ้นแก่ผู้อ่าน เช่น  พระราชนิพนธ์ไกลบ้านในรัชกาลที่ห้า เป็นต้น

      7. เขียนเพื่อต้องการเสียดสี  เป็นการเขียนที่ต้องการนำเสนอสิ่งใดสิ่งหนึ่งที่อาจจะไม่ดี เป็นการนำความบกพร่องที่เกิดขึ้นในสังคมมาตำหนิ แต่ใช้วิธีการเขียนเชิงทีเล่นทีจริง ไม่รุนแรง แทนที่จะเขียนต่อว่าหรือบอกกล่าวตรง ๆ ซึ่งอาจจะมีความผิดฐานหมิ่นประมาทก็นำเสนอด้วยวิธีแฝงอารมณ์ขันไว้อย่างนุ่มนวลแต่ชวนให้ขบคิด เช่น ข้อเขียนล้อเลียนประกอบภาพการ์ตูนในหนังสือพิมพ์รายวัน เป็นต้น

 

      ความสำคัญของการเขียน

                      การเขียนมีความสำคัญทั้งต่อผู้เขียน และผู้อ่าน ดังนี้

                      1. เป็นเครื่องมือที่ใช้สื่อสารเรื่องราวทั้งในอดีต ปัจจุบัน และอนาคต ที่มีหลักฐานปรากฏอย่างชัดเจนสำหรับใช้ศึกษาค้นคว้า และเป็นเอกสารอ้างอิง ผู้อ่านสามารถจัดทำเป็นหลักฐานสำหรับใช้ศึกษาหรือใช้เพื่อวัตถุประสงค์อย่างอื่นได้ เป็นประโยชน์ต่อการจัดเก็บข้อมูลสำหรับการศึกษาของอนุชนรุ่นหลังดังจะเห็นว่า วรรณกรรมปากประเภทมุขปาฐะที่บอกเล่าต่อกันมาย่อมจะสูญหายหรือผิดเพี้ยนไปจากเดิมตามกาลเวลา แต่หากได้มีการเก็บบันทึกเป็นลายลักษณ์อักษรที่เรียกว่าวรรณกรรมลายลักษณ์ก็จะยังคงอยู่คู่ลูกหลานต่อไป

 

                      2. เป็นเครื่องแสดงออกของความรู้ ความคิด และความรู้สึกของมนุษย์ที่มีต่อกัน ระหว่างบุคคล

กลุ่มคน และในสังคมทุกระดับ เพื่อถ่ายทอดให้เกิดความรู้ ความเข้าใจที่ตรงกัน

                      3. เป็นสื่อที่ให้ความรู้ ความคิด และความเพลิดเพลิน การเขียนเป็นสื่อที่ทำให้ผู้อ่านเกิดความรู้สึกอย่างใดอย่างหนึ่งเกิดขึ้น ได้รับความรู้ แง่คิดที่แปลกใหม่ มีความหลากหลาย ซึ่งสามารถนำไปใช้ในชีวิต

ประจำวันได้ หรืออาจจะได้รับความเพลิดเพลิน สนุกสนาน  ผ่อนคลายความตึงเครียดจากข้อเขียนที่ผู้เขียนสื่อหรือถ่ายทอดออกมา

                      4. เป็นสื่อที่ช่วยแพร่กระจายความรู้ ความคิดให้กว้างไกล โดยไม่จำกัดอาณาเขตด้วยความเป็นสื่อที่ปรากฏเป็นลายลักษณ์อักษรมองเห็นเป็นรูปธรรม  จึงสามารถแพร่กระจายได้โดยง่าย โดยที่ข้อมูลต่าง ๆ ยังคงอยู่ครบถ้วน

                      5. เป็นสื่อที่สามารถถ่ายทอดเรื่องราวได้อย่างละเอียด ชัดเจน และเข้าใจง่ายเนื่องจากมี

ข้อจำกัดในด้านต่าง ๆ ไม่มากเหมือนกับการสื่อสารด้วยวิธีการอื่น ๆ เช่น การพูดที่มีข้อจำกัดในด้านเวลา ความหนักเบาของเสียง สถานที่ เป็นต้น

                      6. เป็นเครื่องมือสำคัญในการวัดความเจริญ หรืออารยธรรมของมนุษย์ในแต่ละยุคแต่ละ

สมัยเพราะเรื่องราวต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นในแต่ละยุคแต่ละสมัยคนรุ่นหลังจะทราบได้ก็โดยบันทึกหรือข้อเขียนที่ได้มีผู้ถ่ายทอดเก็บไว้ หากไม่มีงานเขียนปรากฏ หรือมีน้อยก็น่าจะสันนิษฐานในเบื้องต้นได้ว่าความเจริญของมนุษย์ในยุคสมัยนั้นเป็นไปในลักษณะใด

                      7. เป็นหลักฐานสำหรับการอ้างอิงหรือสืบค้นในทางนิติกรรม เพราะจะเห็นได้ว่าข้อตกลงใน

การกระทำใด ๆ ไม่ว่าจะระหว่างบุคคล หน่วยงานกับบุคคล หรือระหว่างหน่วยงานด้วยกัน จะมีผลเป็นข้อผูกพันต่อกันได้ก็เมื่อมีเอกสาร หรือหนังสือสัญญาจะยึดข้อตกลงทางวาจามิได้ การเขียนหนังสือสัญญา หรือเอกสารสิทธิ์ต้องมีความละเอียด ประณีต พิถีพิถัน และถูกต้องเพื่อมิให้เกิดความผิดพลาดในภายหลัง

                      8. เป็นงานอาชีพที่สำคัญอย่างหนึ่ง นั่นคือ อาชีพนักเขียน นักประพันธ์ รวมถึงนักข่าวที่จะ ต้องมีความสามารถสร้างสรรค์ผลงานเขียนถ่ายทอดเรื่องราวต่าง ๆ สู่ผู้อ่านได้อย่างน่าสนใจ ชวนให้ติดตามย่อมจะเป็นที่ชื่นชอบและได้รับการยอมรับจากนักอ่านโดยทั่วไป สามารถสร้างชื่อเสียงให้แก่ตนเองได้ หลายคนจึงยึดอาชีพนักเขียนเป็นอาชีพหลัก  ซึ่งกลุ่มคนเหล่านี้ในปัจจุบันก็มีให้เห็นอยู่เป็นจำนวนมาก

 

 

                      รูปแบบของการเขียน

                                ก่อนที่จะเริ่มต้นการเขียนใด ๆ สิ่งจำเป็นเบื้องต้นที่ผู้เขียนจะต้องกำหนด คือ การเลือกรูปแบบของการเขียน การกำหนดรูปแบบของการเขียนขึ้นอยู่กับประเภท หรือลักษณะของงานเขียน เช่น การเขียนบทความ การเขียนจดหมายธุรกิจ รูปแบบการเขียนย่อมจะแตกต่างจากการเขียนเรื่องสั้นหรือนวนิยาย เป็นต้น

                      รูปแบบของการเขียนจำแนกได้เป็น 2 รูปแบบ ดังนี้

                      1. การเขียนที่เป็นแบบแผน มีลักษณะสำคัญ คือ มีการใช้ถ้อยคำภาษาที่เป็นแบบแผนหรือภาษาที่เป็นทางการ มีรูปแบบการเขียนที่ชัดเจน เช่น การเขียนเรียงความ บทความ ย่อความหนังสือราชการ จดหมายธุรกิจ เป็นต้น

                      2. การเขียนที่ไม่เป็นแบบแผน มีลักษณะสำคัญ คือ มีการใช้ถ้อยคำ ภาษา สำนวน โวหารที่มีความหลากหลาย แม้จะมีรูปแบบที่ชัดเจนแต่ก็อาจประยุกต์ให้ผิดแบบออกไปได้บ้างตามเจตนารมณ์ของผู้เขียน เช่น การเขียนบันทึกส่วนตัว การเขียนเรื่องสั้น นวนิยาย สารคดี บทละคร การเขียนบทโฆษณา

เป็นต้น

 

                      ระดับของการเขียน

                      งานเขียนที่อ่านแล้วสามารถเข้าใจเนื้อหาได้โดยตลอด สื่อความหมายได้ครบถ้วนชัดเจน ใช้ภาษาได้ดี มีความสมเหตุสมผล น่าเชื่อถือ เป็นการแสดงให้เห็นถึงความสามารถของผู้เขียน แต่ในทางตรงกันข้ามงานเขียนที่อ่านแล้วไม่สามารถเข้าใจเนื้อหาได้โดยตลอด สื่อความหมายไม่ครบถ้วน ใช้ภาษาไม่เหมาะสม  ไม่สละสลวย และขาดความสมเหตุสมผลในการเขียนทำให้งานเขียนชิ้นนั้นไม่น่าเชื่อถือ ย่อมแสดงให้เห็นว่าผู้เขียนไม่มีศักยภาพหรือไม่มีความสามารถในการเขียนนั่นเอง

                      ประวีณ  ณ นคร (2531, หน้า 2) ได้แบ่งระดับความสามารถในการเขียนออกเป็น 3 ระดับ ดังนี้

                      1. ระดับเขียนได้ คือ เขียนพอเป็นตัวหนังสือ ให้อ่านออก แต่เข้าใจความหมายได้ยากเพราะขาดการสื่อความหมายที่ดี อาจเรียกว่าเขียนอย่างมี “ตัว” แต่ “ไม่มีชีวิต”

                      2. ระดับเขียนเป็น คือ เขียนแล้วอ่านเข้าใจ สื่อความหมายได้ แต่ยังไม่ถึงขั้นหวังผลที่จะได้จาก

การอ่านงานเขียนนั้น อาจเรียกว่าเขียนอย่างมี “ชีวิต” แต่ “ไม่มีวิญญาณ”

                      3. ระดับเขียนดี คือ เขียนโดยมีจุดหมายที่หวังผลอันเกิดขึ้นจากการอ่านหนังสือนั้นด้วยอาจเรียกว่าเขียนอย่างมี “วิญญาณ” เช่น ถ้าเขียนเล่าเรื่องใดเรื่องหนึ่งก็สามารถทำให้ผู้อ่านมองเห็นภาพได้อย่างชัดเจนเหมือนตนเองได้มีส่วนร่วมในเหตุการณ์นั้น ๆ เป็นการเขียนที่ถ่ายทอดได้ดีโดยมีจุดมุ่งหมาย และถ้าจะให้ดียิ่งกว่านั้นจะต้องเขียนอย่างมี “สติ” ด้วย คือ คำนึงถึงว่าเขียนแล้วจะต้องเกิดผลดี มิก่อให้เกิดผลเสียแก่บุคคล ส่วนรวม หรือผู้ที่เกี่ยวข้อง

 

                      ความสามารถในการเขียนทั้ง 3 ระดับ แสดงให้เห็นถึงศักยภาพของการเขียนซึ่งต้องอาศัยการฝึกฝน และเรียนรู้อย่างสม่ำเสมอ แต่นอกเหนือจากความสามารถในการถ่ายทอดผลงานเขียนในระดับต่าง ๆ ข้างต้นแล้ว สิ่งที่จะสะท้อนถึงศักยภาพของผู้เขียนได้อีกประการหนึ่งก็คือความประณีต ความรอบคอบ และความใส่ใจทุกตัวอักษรผ่านผลงานเขียน โดยเริ่มต้นจากการเขียนสะกดคำได้อย่างถูกต้อง เนื่องจากผู้วิจัยศึกษาเรื่อง “การเขียนการันต์ของนักศึกษาชั้นปีที่ 1 สาขาวิชาภาษาไทยเพื่อการสื่อสาร คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏภูเก็ต” ผู้วิจัยจึงนำเสนอเอกสารที่เกี่ยวข้องกับหลักการเขียนสะกดคำในประเด็นต่าง ๆ โดยสรุป และมุ่งเน้นเนื้อหาการเขียนตัวการันต์ดังต่อไปนี้

 

                      หลักการเขียนคำ

                      การเขียนคำให้ถูกต้องเป็นทักษะพื้นฐานที่สำคัญสำหรับการเขียนงานในทุกระดับ และทุกประเภท ซึ่งการเขียนคำผิดมักปรากฏให้เห็นอยู่ทั่วไป ดังที่ ดวงใจ ไทยอุบุญ (2550, หน้า 9) ได้กล่าวถึงปัญหาของการใช้ภาษาในการเขียนสรุปได้ดังนี้

                      1. การใช้คำผิด เป็นการใช้คำที่มีเสียงหรือความหมายใกล้เคียงกันผิด ใช้คำผิดความหมาย

ใช้คำผิดหน้าที่ ใช้คำและกลุ่มคำไม่คงที่ ใช้คำและกลุ่มคำฟุ่มเฟือย ใช้ภาษาพูดในภาษาเขียน ใช้สำนวนการเปรียบเทียบผิด ใช้สำนวนต่างประเทศในการเขียน และใช้คำผิดกาลเทศะ

                      2. การใช้ประโยคผิด เป็นการเรียงลำดับคำ และลำดับความผิด ขาดคำ กลุ่มคำ หรือข้อความที่จำเป็นในประโยค ใช้ประโยคไม่สมบูรณ์ และใช้ประโยคเกินความจำเป็น

                      3. การสะกดการันต์ผิด เป็นการใช้พยัญชนะ สระ วรรณยุกต์ และตัวการันต์ผิด

                      4. การใช้เครื่องหมายวรรคตอนผิด เป็นเพราะไม่รู้แน่ชัดว่าเครื่องหมายวรรคตอนต่าง ๆ นั้นใช้อย่างไร เช่น เครื่องหมายจุลภาค เครื่องหมายปรัศนี เครื่องหมายอัศเจรีย์ ไม้ยมก ไปยาลน้อย และการเว้นวรรคในที่ที่ไม่ควรเว้น

                      จะเห็นได้ว่าทั้ง 4 สาเหตุที่กล่าวไว้ข้างต้นล้วนมีความสำคัญต่อการเขียนทั้งสิ้น แต่เนื่องจากการวิจัยในครั้งนี้ผู้วิจัยมุ่งเน้นการเขียนตัวการันต์เป็นสำคัญจึงเน้นย้ำที่จะกล่าวถึงความสำคัญของการเขียนคำให้ถูกต้องว่าเป็นสิ่งสำคัญสำหรับผู้เขียนทุกคน เพราะการเขียนคำแบบผิด ๆ จะทำให้การสื่อความหมายคลาดเคลื่อน ทำให้การสื่อสารเกิดความผิดพลาดได้ง่าย สะท้อนถึงความไม่ประณีต ไม่รอบคอบของผู้เขียน และเป็นสาเหตุสำคัญประการหนึ่งที่ทำให้ภาษาไทยเปลี่ยนแปลงไปในทางที่เสื่อมลง ด้วยความคุ้นเคยกับลักษณะการเขียนที่ไม่ถูกต้อง และใช้สื่อสารต่อ ๆ กันไป ในอนาคตคำที่เขียนถูกต้องก็จะมีการเขียนที่ผิดแปลกไปจากเดิม ดังนั้นผู้เขียนจะต้องใส่ใจและระมัดระวังในการเขียนสะกดคำ หากสงสัยว่าคำใดเขียนอย่างไร ก็สามารถตรวจสอบได้จากแหล่งอ้างอิงที่น่าเชื่อถือ เช่น พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถานฉบับที่เป็นปัจจุบัน เป็นต้น

                      อย่างไรก็ตามการเขียนคำผิดก็ยังคงมีให้เห็นอยู่ทั่วไปจากแหล่งต่าง ๆ เช่น ป้ายประกาศ แผ่นพับโฆษณาสินค้า  สมุดรายการอาหาร  เป็นต้น ลักษณะของคำผิดที่ปรากฏ เช่น สะกดคำผิด ใช้วรรณยุกต์ผิด ดังที่ สุธิวงศ์  พงศ์ไพบูลย์  (2536, หน้า 290 - 310) ได้กล่าวถึงสาเหตุสำคัญที่ทำให้เขียนคำผิด สรุปได้ ดังนี้

      1. ออกเสียงผิด คือ พูดหรืออ่านออกเสียงผิด เพราะได้ยินมาแบบผิด ๆ หรือคิดเอาเองว่าน่าจะออกเสียงแบบนั้น เมื่อออกเสียงผิดก็ส่งผลให้การเขียนผิดตามไปด้วย เช่น

                         คำถูก                                        ออกเสียงถูก                                  ออกเสียงผิด

         เครื่องราง                                เครื่อง – ราง                                  เครื่อง – ลาง

         จัญไร                                       จัน – ไร                                          จัง – ไร

         นิจศีล                                       นิด – จะ – สีน                              นิด – จะ – สิน

         พรรณนา                                 พัน – นะ – นา                             พัน - นา

         หยิบหย่ง                                 หยิบ – หย่ง                                   หยิบ – โหย่ง

                      2. ไม่ทราบความหมายของคำ คือ คำที่ออกเสียงตรงกัน แต่มีลักษณะการเขียนที่ไม่เหมือนกัน ถ้าหากจำแต่เสียงโดยไม่พิจารณาความหมายเฉพาะของคำก็ทำให้เขียนผิดได้ง่าย เช่น

                      “ทะเลสาบ” มักเขียนผิดเป็น “ทะเลสาป” เพราะคำว่า “สาบ” แปลว่า “จืด” ส่วนคำว่า  “สาป” แปลว่า “คำให้ร้ายให้เป็นไปต่าง ๆ นานา”

      “เบญจเพส” มักเขียนผิดเป็น “เบญจเพศ” เพราะคำว่า “เพส” หมายถึง “ยี่สิบ” คำว่า “เบญเพส”  จึงหมายถึง “วัยยี่สิบห้า” ไม่ได้หมายถึง มีห้าเพศ    

                      “เวนคืน” มักเขียนผิดเป็น “เวรคืน” เพราะคำว่า “เวน”  แปลว่า “ยกให้หรือมอบให้” ส่วนคำว่า “เวร” แปลว่า “ความพยาบาทหรือปองร้ายกันหรือการผลัดเปลี่ยนกันเป็นคราว ๆ รอบ ๆ”

                      “อัฒจันทร์” มักเขียนผิดเป็น “อัฒจันทน์” เพราะคำว่า “อัฒ” แปลว่า “ครึ่ง”  “อัฒจันทร์” จึงหมายถึง “ที่นั่งสำหรับดูการแสดงเป็นรูปครึ่งวงกลมหรือรูปพระจันทร์ครึ่งเสี้ยว” ไม่ได้หมายถึง ที่นั่งที่ทำด้วยไม้จันทน์

      3. ใช้แนวเทียบผิด คือ คำบางคำเมื่อผู้เขียนไม่ทราบหรือไม่มั่นใจว่าจะเขียนอย่างไร ก็จะใช้การเทียบเคียงจากคำอื่นที่ออกเสียงเหมือนกัน เช่น

         คำถูก                                                                 คำที่ใช้เทียบ                                    

         โครงการ                                                           เหตุการณ์                                        

         ตานขโมย                                                         ต้นตาล                                             

         ผาสุก                                                                 ความสุข                                           

         ผูกพัน                                                               สัมพันธ์                                           

         ราคาเยา                                                             วัยเยาว์                                              

         ลำไย                                                                  ห่วงใย                                              

         อนุญาต                                                             เครือญาติ                                         

         อานิสงส์                                                           พระสงฆ์                                         

      4. คำไทยมีคำพ้องเสียงมาก คือ คำไทยที่มีเสียงอย่างเดียว แต่เขียนต่างกันได้หลายรูปและทำให้คำมีความหมายต่างกัน โอกาสที่เขียนผิดเพราะความสับสนหรือจำมาแบบผิด ๆ จึงเป็นไปได้ง่าย เช่น

      คำที่ออกเสียงว่า “กาน” เขียนได้หลายแบบ และหลายความหมาย

         กาญจน์                                         หมายถึง                                ทอง

         กาน                                               หมายถึง                                ราน  ตัด

         กานต์                                            หมายถึง                                เป็นที่รัก

         กานท์                                            หมายถึง                                บทกลอน

         การ                                                หมายถึง                                กิจ งาน  ธุระ

         การณ์                                            หมายถึง                                เหตุ

         กาล                                               หมายถึง                                เวลา

         กาฬ                                               หมายถึง                                ดำ

      5. ไม่สนใจเขียนให้ถูกต้อง คือ ไม่เห็นความสำคัญของการเขียนคำที่ถูกต้อง จึงไม่สนใจว่าคำที่เขียนนั้นถูกหรือผิดขอเพียงให้สื่อสารกันเข้าใจ คำที่มักจะเขียนผิด เช่น กรวดน้ำ  ต่าง ๆ นานา  ภารกิจ  โอกาส อเนกประสงค์ เป็นต้น                   

      นอกจากนี้ความตั้งใจเขียนให้ผิด โดยมีจุดมุ่งหมายเพื่อเรียกร้องความสนใจจากผู้อ่าน ทำให้เห็นเป็นเรื่องแปลกที่น่าสนใจ จนกระทั่งกลายเป็นความเคยชิน และเขียนผิดไปโดยปริยาย เช่น

      คำถูก                                                                    คำที่เขียนให้ผิด

      ความสุข                                                               ฟามสุก

      ทำไม                                                                    ทำมัย                                                

      เธอ                                                                        เทอร์

      น่ารัก                                                                    น่าร้าก

      หัวใจ                                                                     หัวจัย

      6. ไม่รู้หลักภาษาไทย คือ ผู้เขียนไม่เข้าใจหลักภาษาไทยซึ่งเป็นหัวใจสำคัญยิ่งในการเขียนหนังสือ การที่จะเขียนโดยไม่รู้หลักภาษาย่อมจะทำให้การเขียนคำผิดพลาดได้ง่าย หลักภาษาเบื้องต้นสำคัญที่ควรรู้เพื่อช่วยแก้ปัญหาการเขียนคำผิด เช่น

         6.1 หลักการประวิสรรชนีย์

                               วิสรรชนีย์ที่เราเรียกว่า สระอะ ใช้ประหลังพยัญชนะเพื่อให้อ่านออกเสียงสระอะ มีหลักการใช้ ดังนี้

                                     6.1.1 คำไทยแท้ที่อ่านออกเสียงสระอะอย่างชัดเจนให้ประวิสรรชนีย์ เช่น มะระ ทะเล  กะทะ  กะบะ  เป็นต้น

                                     6.1.2 คำประสมบางคำเสียงคำหน้ากร่อนลงเป็นเสียงอะให้ประวิสรรชนีย์ เช่น

         ตาวัน                            เป็น                        ตะวัน

         นกจาบ                         เป็น                        กะจาบ

         สายดือ                          เป็น                        สะดือ

         สาวใภ้                          เป็น                        สะใภ้

         หมากม่วง                    เป็น                        มะม่วง

                     6.1.3 คำที่เป็นภาษาบาลี สันสกฤต และเป็นคำที่มีหลายพยางค์เรียงกัน พยางค์ที่อ่านออกเสียงมีสระอะเกาะ ให้ประวิสรรชนีย์พยางค์หลังสุด เช่น มรณะ ศิลปะ สรณะ อมตะ อิสระ  เป็นต้น

    6.1.4 คำที่มาจากภาษาเขมรโดยมากไม่ต้องประวิสรรชนีย์ เช่น ฉบับ ฉบัง ลออ  สไบ  พเยีย  ขโมย  ผทม  เป็นต้น

                        6.2 หลักการใช้ ศ  ษ  ส

                             ปัญหาที่เกิดจากการใช้  ส ทั้งสามตัวนั้นมีอยู่เป็นจำนวนมาก และมักจะใช้สับสนกันทำให้เขียนหนังสือผิดอยู่เสมอ จึงมีหลักในการสังเกตการใช้ ดังนี้

                     6.2.1 คำไทยแท้ใช้ตัว ส เป็นหลัก เช่น เสือ  สุก สาย เสา แต่ก็มีบางคำที่ใช้ ศ ษ  บ้างแต่ก็มีจำนวนน้อย เช่น ศอก  ศึก  เศิก  ศอ  ศก  เศร้า  เป็นต้น

                     6.2.2 คำที่เป็นภาษาบาลีใช้ ส ตัวเดียว เพราะบาลีไม่มี ศ ษ ใช้ เช่น สัจจา สโมสร  มเหสี  กิเลส  สัตถา  รังสี  เป็นต้น

                     6.2.3 คำที่มาจากภาษาสังสกฤตใช้ทั้ง ศ ษ และ ส เช่น อัศจรรย์ มัศยา ปราศจาก  วิษณุ  ขนิษฐา  เจษฎา  ราษฎร  พัสถาน  วาสนา  เป็นต้น

                         6.3 หลักการใช้ รร

                                     6.3.1 เมื่อคำนั้นแผลงมาจากคำซึ่งมีตัว ร กล้ำกับพยัญชนะอื่น และหลัง ร เป็นสระอะ เช่น

                         กระเชียง                      เป็น                        กรรเชียง

                         กระหาย                       เป็น                        กรรหาย

         คระไล                                          เป็น                        ครรไล

                         ประสบ                         เป็น                        บรรสบ

                   บางคำที่มีตัว ร และประสมกับสระอื่นหากไม่มีสระ อะ หลัง ร ก็อาจจะแผลงเป็น รร ได้ เช่น

                         บริษัท                           เป็น                        บรรษัท

                         ปริยาย                           เป็น                        บรรยาย

                                      6.3.2 ใช้  รร เมื่อคำนั้นมาจาก ร  เรผะ เช่น 

                         ครฺภ                               เป็น                        ครรภ

                         ธรฺม                               เป็น                        ธรรม

                         วรฺค                               เป็น                        วรรค

                         6.4 หลักการใช้ บรร – บัน

                   บรร  เป็นคำที่เขียนเมื่อคำนั้นแผลงมาจาก ประ หรือ  บริ  หรือ  ปริ  เช่น

                         ประจุ                            เป็น                        บรรจุ

                         ประจบ                         เป็น                        บรรจบ

                         บริหาร                          เป็น                        บรรหาร

                   ส่วนคำที่ใช้ “บัน” อวยชัย ผกามาศ (2537, หน้า 141) ได้แต่งเป็นบทเพลง ทำนองเพลงมาเลเซีย และเพลงชาวใต้ฮาเฮ เพื่อประโยชน์ในการจำ ดังนี้

                    บันดล  บันดาล  บันได  บันเดิน  บันโดย  บันเทิง (ซ้ำ)  บันลือ ในงานรื่นเริง บันทึง

บันเหิน  บันเบา  บันจวบ บันยะบันยัง พึงระวังบันทึกเอาไว้

                         6.5 หลักการใช้ น  ณ

                                     6.5.1 ใช้  น  ในคำที่เป็นคำไทยแท้ เช่น  นี่  นั่น  นวม  นิด  น้อง  เป็นต้น

                                     6.5.2 ใช้  น  ในคำที่มาจากภาษาบาลี สันสกฤตที่ใช้ น มาแต่เดิม เช่น ขนิษฐา  นัยนา  อาชาไนย  เป็นต้น

                                     6.5.3 ใช้ ณ ในคำที่มาจากภาษาบาลี สันสกฤต ซึ่งใช้ ณ มาแต่เดิม เช่น กรุณา  คณิต  ทักษิณ  โบราณ  มาณพ  เป็นต้น

               6.5.4 ใช้  น  ในคำที่มาจากภาษาอื่นนอกเหนือจากภาษาบาลี และสันสกฤต ซึ่งมีใช้อยู่ทั่วไป เช่น  กานพลู  จันอับ  ไนบอน  โนรี  ลอนดอน  เป็นต้น

                   ในข้อ 6.5.3  และ 6.5.4  มีหลักสังเกตว่า ในคำบาลี สันสกฤต ให้ใช้  ณ เมื่อตามหลัง ร  ษ  ฤ  ซึ่งเป็นพยัญชนะเศษวรรค เช่น  โฆษณา ลักษณะ ผิวพรรณ กฤษณา เป็นต้น แม้คำเดิมใช้ น เมื่อสร้างคำใหม่ก็ต้องเปลี่ยน น เป็น ณ เช่น นม เป็น ประณม  นิธาน เป็น ประณิธาน  นาม เป็น  ประณาม  ส่วน  กริน  ปักษิน  แม้จะมี น เป็นตัวสะกด ภาษาเดิมเขาอ่านไม่ออกเสียงจึงยังคงใช้ น

                         6.6 หลักการใช้ ใอ ไอ  อัย  ไอย

                               ใอ ใช้เฉพาะกับคำไทยที่ใช้มาแต่เดิมซึ่งมีเพียง 20 คำ ดังบทร้อยกรองที่เด็ก ๆ หรือนักเรียนท่องจำกันมาตั้งแต่สมัยอดีต จาก “หนังสือประถม ก กา” ว่า

                                   ผู้ใหญ่หาผ้าใหม่                              ให้สะใภ้ใช้คล้องคอ

                         ใฝ่ใจเอาใส่ห่อ                                             มิหลงใหลใครขอดู

                         จะใคร่ลงเรือใบ                                          ดูน้ำใสและปลาปู

                         สิ่งใดอยู่ในตู้                                                                มิใช่อยู่ใต้ตั่งเตียง

                         บ้าใบ้ถือใยบัว                                              หูตามัวมาใกล้เคียง

                         เล่าท่องอย่าละเลี่ยง                                    ยี่สิบม้วนจำจงดี

                      ไอ ใช้กับคำไทยแท้ เช่น  ไกล  ไพ  ไฟ  ไร  ไส  เป็นต้น  ใช้กับคำที่มาจากภาษาสันสกฤตซึ่งเดิมใช้ ไอ  อยู่แล้ว เช่น  ไศล  ไพบูลย์  ไอศวรรย์  เป็นต้น  คำที่มาจากภาษาอื่น ๆ ใช้ ไอ ทั้งหมด เช่น  ไมล์  กงไฉ่  ไพรำ  เป็นต้น

                      อัย  ถ้าคำเดิมเป็นเสียง  อี  หรือ  อย  ไทยใช้  อัย  เช่น 

                                ขย                           เป็น                        ขัย

                ชย                           เป็น                        ชัย

                                อติสย                     เป็น                        อดิศัย

                      ไอย  ถ้าคำเดิมเป็นภาษาบาลี หรือสันสกฤต  ซึ่งรูปเดิมเป็น เ-ยฺย  ใช้  ไ-ย เช่น

                                เทยฺย                       เป็น                        ไทย

                                เสยฺยาสน               เป็น                        ไสยาสน์               

                อุปเมยฺย                 เป็น                        อุปไมย

                         6.7 หลักการใช้ไม้ไต่คู้

                                     6.7.1 ใช้แทนวิสรรชนีย์ ในคำที่ประสมด้วยสระเอะ และมีตัวสะกดบางตัวเพื่อให้ออกเสียงสั้นกว่าปกติ ทำให้เสียงต่างกับคำที่มี เอ ซึ่งมีตัวสะกด เช่น  เข็ม  เป็ด เล็ก เล็น เป็นต้น แต่ถ้าคำที่ออกเสียงสั้นนั้นเป็นคำที่มาจากภาษาบาลี สันสกฤต ไม่ต้องใช้ไม้ไต่คู้ เช่น เบญจ เพชร  อเนจอนาถ เป็นต้น

 

                                     6.7.2 ใช้ประสมกับ ก สระเอาะ เสียงวรรณยุกต์โท คือ  ก็

                          6.8 หลักการใช้  อำ  อัม

                                     6.8.1 การใช้ อำ ใช้เมื่อคำนั้นเป็นคำไทย เช่น ทองคำ  ระกำ  ลูกประคำ รำมะนาด  เป็นต้น  ใช้กับคำภาษาเขมร  เช่น กำเนิด  บำเพ็ญ อำนาจ  เป็นต้น ใช้กับคำที่แผลงไปจากคำอื่น เช่น  แข็ง เป็น กำแหง  ตรวจ เป็น ตำรวจ  ทรุด เป็น ชำรุด เป็นต้น ใช้กับคำที่เป็นรูปบาลี สันสกฤต ซึ่งแผลงมาจากเสียงอะ เช่น  ขจร เป็น กำจร  อมาตย์ เป็น อำมาตย์  อมรินทร์ เป็น อำมรินทร์  เป็นต้น

                                     6.8.2 การใช้  อัม  ใช้กับคำที่เกิดจากคำนฤคหิตสนธิกับพยัญชนะในวรรค ปะ ซึ่งมี  ม เป็นนาสิกยะ ได้แก่ตัว  ป  ผ  พ  ภ  ว  เช่น 

                         สํ  + ปทา     เป็น                        สัมปทา

                         สํ  + ผสฺส    เป็น                        สัมผัส

                         สำ + มนา    เป็น                        สัมมนา

                      และใช้กับคำที่มาจากบาลี สันสกฤต ที่ประสมด้วย  สระอะ และ ม สะกด เช่น  คัมภีร์  อัมพร  อุปถัมภ์ เป็นต้น

                         6.9 หลักการใช้ไม้ยมก

                                     6.9.1 ใช้แทนคำซ้ำที่เป็นคำชนิดเดียวกัน เช่น กล้วย ๆ เด็ก ๆ หนุ่ม ๆ สาว ๆ

งู ๆ ปลา ๆ เป็นต้น

                                     6.9.2 ใช้แทนความซ้ำ เช่น จะกี่ปี ๆ เธอก็ไม่เคยเปลี่ยน จะต้องอ่านว่า จะกี่ปีกี่ปีเธอก็ไม่เคยเปลี่ยน เป็นต้น

                                     6.9.3 คำต่างชนิดกันจะใช้ไม้ยมกไม่ได้ เช่น นี่คือสถานที่ที่ห้ามเข้า เป็นต้น

                                     6.9.4 ไม่ใช้ไม้ยมกกับคำว่า นานา เพราะ นานา เป็นคำที่มาจากภาษาบาลี

                                     6.9.5 ไม่นิยมใช้ไม้ยมกในคำประพันธ์

                      7. เขียนหนังสือผิดเพราะวรรณยุกต์ ด้วยเหตุที่พยัญชนะของไทยมีเสียงสูงต่ำต่างกันไป ซึ่งประกอบด้วยอักษรสูง อักษรกลาง และอักษรต่ำ เมื่อใช้วรรณยุกต์รูปเดียวกันกำกับเสียงจึงต่างไป บางคำใช้วรรณยุกต์โท เสียงเป็นเสียงตรีก็มี  จึงมักจะเกิดการเข้าใจผิดว่าหากใช้วรรณยุกต์อะไรก็มีเสียงตรงตามนั้นเสมอ  ตัวอย่างคำที่มักจะเขียนผิดเพราะวรรณยุกต์ เช่น  คะ คุกกี้  เค้ก  เชิ้ต ซีฟู้ด โน้ต เป็นต้น                     

                      8. เขียนหนังสือผิดเพราะมีคำยืมภาษาต่างประเทศ เพราะลักษณะของภาษาไทยที่ใช้อยู่ในปัจจุบันส่วนใหญ่เป็นคำยืมภาษาต่างประเทศ ซึ่งได้ยืมเข้ามานานจนบางครั้งแทบจะแยกไม่ออกว่าคำใดเป็นคำไทย คำใดเป็นคำที่มาจากต่างประเทศ นอกจากนี้ยังมีการปรับเปลี่ยนคำที่ยืมเข้ามาให้กลมกลืนกับลักษณะของภาษาไทย โดยมีการยืมเข้ามาใน 3 ลักษณะ คือ การทับศัพท์ การแปลความ และการยืมความหมาย ปัญหาที่เกิดขึ้นจากการเขียนมากที่สุดก็คือการยืมแบบทับศัพท์ เพราะเป็นการยืมที่ไม่ต้องมีการเปลี่ยนแปลงรูป จึงต้องอาศัยการจดจำหรือตรวจสอบการเขียนจากหนังสือของราชบัณฑิตยสถาน เช่น กงเต๊ก ก๋วยเตี๋ยว ก๊อก โคม่า โควตา เซนติเมตร ลิฟต์ เป็นต้น

 

                      การเขียนตัวการันต์

                      ความหมายของการันต์

                      บุญยงค์  เกศเทศ (2539, หน้า 6 - 11) ได้กล่าวถึงความหมายของการันต์ สรุปได้ว่า การันต์

มาจากคำว่า การ + อันต์  ซึ่งแปลว่า กระทำในที่สุด ทำให้สุดศัพท์ ดังนั้นการันต์จึงหมายถึงตัวอักษรที่ไม่ออกเสียง ซึ่งมีเครื่องหมายทัณฑฆาต กำกับไว้ จำนงค์ ทองประเสริฐ (2528, หน้า 356 - 357) ได้กล่าวถึงความหมายของการันต์สอดคล้องกัน โดยสรุปได้ว่า การันต์คือตัวอักษรที่ไม่ต้องการออกเสียง ถ้าเป็นคำบาลีและสันสกฤต คำว่า “การันต์” หมายถึง เสียงที่อยู่พยางค์สุดท้ายของคำ เพราะคำว่า “การันต์” เกิดจากการนำคำว่า “การ” ซึ่งแปลว่า “ตัวอักษร” กับ “อันต” ซึ่งแปลว่า “ที่สุด” มาสนธิเข้าด้วยกัน เช่น คำว่า “ชายา” เป็นอาการันต์ เพราะพยางค์สุดท้ายลงเสียง อา “ราชินี” เป็น อีการันต์ คือคำลงท้ายด้วยเสียงอี เป็นต้น กำชัย ทองหล่อ (2554, หน้า 88 - 89) ได้กล่าวถึงตัวการันต์ไว้สอดคล้องกันว่า คือตัวอักษรที่ไม่ออกเสียง และมีไม้ทัณฑฆาตกำกับไว้ด้านบนโดยเสียงนั้นได้ถูกบังคับไว้จนกว่าจะมีพยางค์อื่นมาประสมข้างหลัง เช่น ทุกข์ สงฆ์ ทันต์  เป็นต้น

                      จากความหมายข้างต้นจะเห็นว่าการันต์มีความเกี่ยวเนื่องกับเครื่องหมายทัณฑฆาต ดังที่ จำนงค์ ทองประเสริฐ ได้กล่าวถึงเครื่องหมายทัณฑฆาตเพิ่มเติมจากการอธิบายความหมายของการันต์ว่า เครื่องหมาย “  ์ ” ซึ่งใช้เขียนไว้บนตัวอักษร หรือตัวการันต์สำหรับบังคับไม่ให้ออกเสียง หรือจะกล่าวอีกอย่างหนึ่งก็คือ “การันต์” หมายถึง ตัวอักษรที่ไม่ออกเสียง ซึ่งมีไม้ทัณฑฆาตกำกับอยู่ ตัวการันต์นี้อาจจะเป็นพยัญชนะตัวเดียว เป็นอักษรควบหรือนำมีอักษรสองตัว สามตัวเรียงกัน หรือจะมีรูปสระกำกับอยู่ด้วยก็ได้ เมื่อไม่ต้องการออกเสียงคำใด ก็ใส่ไม้ทัณฑฆาตบนอักษรตัวนั้น เพื่อเป็นการฆ่าเสียง สอดคล้องกับที่ สุธิวงศ์ พงศ์ไพบูลย์ (2536, หน้า 307) ได้กล่าวถึงเครื่องหมายทัณฑฆาตว่าเป็นเครื่องหมายซึ่งไทยคิดขึ้นเพื่อใช้เขียนบนตัวพยัญชนะสุดศัพท์ของภาษาบาลี สันสกฤต เราเรียกตัวสุดศัพท์ว่า ตัวการันต์ เช่น จันทร์ ประเล่ห์ ปรัศว์ วิเคราะห์ ศุกร์  ถ้าตัวสะกดนั้นเป็นตัวควบ เมื่อต้องการอ่านออกเสียงตัวสะกดไม่ต้องใช้ทัณฑฆาต เช่น กอปร  จักร  ฉัตร  ภัทร  ธนบัตร  เนตร  อัคร เป็นต้น และสอดคล้องกับที่ วันเพ็ญ  เทพโสภา (2554, หน้า 17) ได้กล่าวถึงไม้ทัณฑฆาตในทำนองเดียวกันว่า เป็นเครื่องหมายที่ใช้เพื่อฆ่าเสียงพยัญชนะที่ไม่ต้องการให้ออกเสียงคำที่มาจากภาษาต่างประเทศ เช่น ภาษาอังกฤษ ภาษาบาลี และสันสกฤต เนื่องจากในภาษาต่างประเทศดังกล่าวมีหลายพยางค์ทำให้ออกเสียงยาก การจะตัดพยางค์ออกก็จะทำให้เสียรูปศัพท์เดิม ดังนั้นเพื่อให้เข้ากับระเบียบของภาษาไทยจึงต้องนำไม้ทัณฑฆาตมาใช้ ภาษิตา  วิสารสุข (2537, หน้า 29) ได้กล่าวถึงไม้ทัณฑฆาตไว้ใกล้เคียงกันว่า ทัณฑฆาต มาจากคำว่า ทัณฑ หมายถึง อาชญา  ฆาต หมายถึง ฆ่า ดังนั้น ทัณฑฆาตจึงหมายถึงเครื่องหมายที่ใช้ฆ่าอักษรที่ไม่ต้องการออกเสียง เมื่อใส่ไม้ทัณฑฆาตที่พยัญชนะตัวใดพยัญชนะตัวนั้นก็จะถูกฆ่าเสียงนั่นเอง

                                 จากความหมายข้างต้นสรุปได้ว่า การันต์คือตัวอักษรที่ไม่ออกเสียงโดยมีเครื่องหมายทัณฑฆาตกำกับอยู่ ซึ่งตัวการันต์อาจจะมีสอง หรือสามตัวเรียงกัน หรือมีรูปสระกำกับอยู่ด้วยก็ได้

 

 

                                 ประเภทของการันต์

      สมชาย หอมยก (2550, หน้า 10) ได้กล่าวถึงการแบ่งประเภทการันต์ออกเป็น 3 ลักษณะ

สรุปได้ดังนี้ คือ                            

                      1. กำกับเพื่อไม่ให้ออกเสียงพยัญชนะตัวเดียว เช่น  เสน่ห์  หุ่นยนต์  อารมณ์  อาจารย์  เป็นต้น     

                      2. กำกับเพื่อไม่ให้ออกเสียงพยัญชนะเเละสระ เช่น  พันธุ์  โพธิ์  สวัสดิ์  ยานัตถุ์  บริสุทธิ์  เป็นต้น

                      3. กำกับเพื่อไม่ให้ออกเสียงตัวพยัญชนะหลายตัว เช่น  กษัตริย์  พระลักษณ์  ศาสตร์  ภาพยนตร์ จันทร์ เป็นต้น

 

                      จำนงค์  ทองประเสริฐ (2528, หน้า 357) และกำชัย ทองหล่อ (2554, หน้า 89 )ได้จำแนกการันต์เป็น 6 ชนิด สรุปได้ดังนี้

                      1. เป็นพยัญชนะตัวเดียว เช่น  สงฆ์  สิงห์  องค์  ศิลป์  ไมล์  เป็นต้น

                      2. เป็นพยัญชนะสองตัวเรียงกัน เช่น  เมืองกาญจน์  สายสิญจน์  เป็นต้น

                      3. เป็นพยัญชนะสามตัวเรียงกัน เช่น  พระลักษมณ์  เป็นต้น

                      4. เป็นอักษรควบแท้ เช่น  พักตร์  พระอินทร์  พัสตร์  เป็นต้น

                      5. เป็นอักษรควบไม่แท้ เช่น  ธรรม์  สรรพ์  สรรค์  ครรภ์  เป็นต้น

                      6. เป็นอักษรนำ เช่น  เอกลักษณ์  สัญลักษณ์ เป็นต้น

                     

                      จากประเภทของการันต์ข้างต้น ผู้วิจัยได้นำไปปรับใช้ในการศึกษาครั้งนี้โดยการนำไปจัดทำเป็นแบบทดสอบการเขียนคำศัพท์ที่มีตัวการันต์ของนักศึกษาสาขาวิชาภาษาไทยเพื่อการสื่อสาร ซึ่งมีอยู่ 3 ประเภทตามที่ สมชาย หอมยก ได้กล่าวไว้ ได้แก่ คำศัพท์ที่มีการันต์ซึ่งเป็นพยัญชนะตัวเดียว คำศัพท์ที่มีการันต์ซึ่งเป็นพยัญชนะเเละสระ และคำศัพท์ที่มีการันต์ซึ่งเป็นพยัญชนะหลายตัว

 

                      หลักของการเขียนการันต์

                      มีนักวิชาการหลายท่านได้กล่าวถึงหลักการเขียนการันต์ หรือการใช้เครื่องหมายทัณฑฆาต ซึ่งส่วนใหญ่จะใช้หลักการเดียวกัน แต่มีการอธิบายรายละเอียดแตกต่างกันไปดังตัวอย่างต่อไปนี้

                      กำชัย  ทองหล่อ  (2554, หน้า 88 - 89) ได้กล่าวถึงตัวการันต์สรุปได้ว่า ตัวการันต์เป็นตัวที่มีเสียงเดียวกับพยัญชนะอื่น ๆ โดยมากมาจากภาษาบาลีสันสกฤต และภาษาอังกฤษ ซึ่งเป็นภาษาที่นิยมใช้คำที่มีพยางค์มาก ซึ่งแตกต่างจากภาษาไทยที่เป็นภาษาคำโดด นิยมใช้คำพยางค์เดียว เมื่อนำคำภาษาบาลีสันสกฤตมาใช้จึงต้องหาวิธีลดพยางค์ของคำให้น้อยลง หากจะตัดพยัญชนะออกไปก็ทำให้รูปศัพท์เสียไป จึงต้องใช้เครื่องหมายทัณฑฆาตกำกับไว้เพื่อไม่ให้ออกเสียง พยางค์ที่ใช้เครื่องหมายทัณฑฆาตบังคับต้องเป็นพยางค์ที่มีเสียงเบา จึงต้องใช้สระเสียงสั้นที่ไม่มีตัวสะกด ได้แก่ อะ อิ อุ เช่น

 

                      วงศ์   อินทร์  เป็นสระอะลดรูป

                      ฤทธิ์  สฤษฎิ์  เป็นสระอิลดรูป

                      พันธุ์  พัสดุ์  เป็นสระอุลดรูป

 

                      กำชัย  ทองหล่อ  ยังได้กล่าวถึงคำไทยโดยทั่วไปว่าไม่มีตัวการันต์ เพราะเป็นภาษาคำโดดที่มีพยางค์น้อย นอกจากคำ 3 คำที่ส่วนใหญ่ปรากฏอยู่ในบทกลอน ได้แก่

                      ผี้ว์  หมายถึง  ถ้าว่า  หากว่า  แม้นว่า  มาจากคำว่า ผิว (ผิวะ)  ปรากฏอยู่ในหนังสือลิลิต

ตะเลงพ่าย

                      ม่าห์  หมายถึง  ผี  ยักษ์  อมนุษย์  ดิรัจฉาน

                      เยียร์  หมายถึง  งามยิ่ง งามพริ้ง

                      นอกจากนี้ กำชัย  ทองหล่อ  ยังได้กล่าวถึงตัวการันต์ที่อยู่ข้างหลังคำบาลีสันสกฤตว่า ถ้ามีคำอื่นมาประสมข้างหลัง ให้ตัดทัณฑฆาตออก โดยยังคงออกเสียงได้เหมือนพยางค์ปกติ เช่น

                      ทันต์ + แพทย์                เป็น  ทันตแพทย์

                      พันธ์ + รัต                      เป็น  พันธุรัต

                      โอษฐ์ + ภัย                     เป็น  โอษฐภัย

 

                      ภาษิตา  วิสารสุข (2537, หน้า 30-34) ได้กล่าวถึงหลักการเขียนตัวการันต์ หรือการใช้เครื่องหมายทัณฑฆาต สรุปได้ดังนี้

                      1. ใช้เครื่องหมายทัณฑฆาตในภาษาบาลีสันสกฤตที่มีหลายพยางค์ โดยจะใส่ในพยัญชนะตัวท้าย เช่น พระสงฆ์  อรหันต์  ประโยชน์  เป็นต้น

                      2. ใช้เครื่องหมายทัณฑฆาตในภาษาบาลีสันสกฤตที่มีพยัญชนะซ้อนกันสองตัว ซึ่งไม่ได้เป็นตัวสะกด เมื่อใส่เครื่องหมายทัณฑฆาตที่ตัวท้ายแล้วจะถือว่าฆ่าเสียงพยัญชนะตัวหน้าด้วยเสมอ เช่น จันทร์  ศาสตร์  ภาพยนตร์ เป็นต้น

                      3. ใช้เครื่องหมายทัณฑฆาตในภาษาบาลีสันสกฤตที่ไม่ต้องการออกเสียงพยางค์ท้ายที่ประสมด้วยสระ อะ อิ อุ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นพยางค์ท้าย เช่น 

                      กาญจน            เป็น        กาญจน์

                      จันทร               เป็น        จันทร์

                      เยาว                  เป็น        เยาว์

                      4. เครื่องหมายทัณฑฆาตเดิมใช้เขียนในภาษาบาลี เพื่อให้รู้ว่าเป็นตัวสะกด เช่น

                      พฺท์โธ               อันว่า     พระพุทธเจ้า

                      ภวัน์ตา             อันว่า      ท่านทั้งหลาย

                      5. เครื่องหมายทัณฑฆาตใช้สำหรับฆ่าตัวอักษรที่ไม่ต้องการออกเสียง ดังนี้

                          5.1 ฆ่าพยัญชนะตัวเดียว เช่น  ทรัพย์  การันต์  การณ์  มนต์  เป็นต้น

                          5.2 ฆ่าสระ ซึ่งปัจจุบันไม่นิยมใช้ เช่น  มหาหิงคุ์  เป็นต้น

                          5.3 ฆ่าพยัญชนะและสระ เช่น  โพธิ์  บริสุทธิ์  สวัสดิ์  พิชพันธุ์  เป็นต้น

                          5.4 ฆ่าพยัญชนะและสระหลายตัว เช่น  กษัตริย์  ฉันทลักษณ์  ศาสตร์  เป็นต้น

                      6. คำที่ใช้ รร มีพยัญชนะอื่น ๆ นอกจาก ณ สะกด ซึ่งต้องการให้ออกเสียงในแม่กน โดยส่วนมากมักจะใช้ในการประพันธ์เพื่อช่วยให้เกิดความถูกต้องตามฉันทลักษณ์ เช่น

                      กรรม                เป็น        กรรม์

                      ธรรม                                เป็น        ธรรม์

                      สรรพ์               เป็น        สรรพ์

                      สำหรับคำที่เดิมใช้ ณ ตามหลัง รร ก็ไม่จำเป็นต้องใช้เครื่องหมายทัณฑฆาตเพราะออกเสียงเป็น แม่กน อยู่แล้ว เช่น สุบรรณ  สุพรรณ  เป็นต้น

                      7. คำที่ยืมมาจากภาษาอังกฤษใช้เครื่องหมายทัณฑฆาตฆ่าเสียงที่ไม่ต้องการออกเสียง อาจจะเป็นพยัญชนะกลางคำ หรือท้ายคำก็ได้ เช่น  กอล์ฟ (golf)  ชอล์ก (chalk)  เบียร์ (beer)  ฟิล์ม (film) เป็นต้น

                      ภาษิตา  วิสารสุข  ยังได้กล่าวถึงกรณียกเว้นที่ไม่ต้องใช้เครื่องหมายทัณฑฆาต สรุปได้ว่า เมื่อตัวสะกดเป็นอักษรควบ เช่น จักร  บัตร  เนตร  สมุทร  เป็นต้น ไม่ต้องใช้เครื่องหมายทัณฑฆาต ยกเว้นคำ

บางคำ เช่น  ศุกร์  เทเวศร์  เป็นต้น

 

                      วันเพ็ญ  เทพโสภา (2554, หน้า 18) ได้กล่าวถึงการใช้เครื่องหมายทัณฑฆาต สอดคล้องกับที่

ภาษิตา  วิสารสุข ได้กล่าวไว้ สรุปได้ว่า การใช้เครื่องหมายทัณฑฆาตจะใช้ในภาษาบาลีสันสกฤตที่มีหลายพยางค์โดยใส่บนพยัญชนะตัวท้าย หรือใช้ในกรณีที่พยัญชนะซ้อนกันสองตัวซึ่งไม่ได้เป็นตัวสะกดเมื่อใส่เครื่องหมายทัณฑฆาตที่ตัวท้ายแล้วจะถือว่าเป็นการฆ่าเสียงพยัญชนะตัวหน้าด้วย และใส่บนพยัญชนะกลางคำ หรือท้ายคำที่ไม่ออกเสียงซึ่งเป็นคำที่มาจากภาษาอังกฤษ  อรุณรัตน์  ดวงสร้อยทอง  (ม.ป.ป., หน้า 39) ได้กล่าวถึงหลักการใช้เครื่องหมายทัณฑฆาตไว้ในทำนองเดียวกันกับที่ได้นำเสนอไว้ข้างต้น แต่มีหลักการใช้ที่เพิ่มเติมซึ่งแตกต่างจากที่กล่าวไว้คือ คำบาลีสันสกฤตที่ตัวสะกดมีรูปสระกำกับไม่ต้องใส่เครื่องหมายทัณฑฆาต เช่น  โลกนิติ  พยาธิ  จักรพรรดิ เป็นต้น

 

งานวิจัยที่เกี่ยวข้องกับการเขียน

                      งานวิจัยที่เกี่ยวข้องกับการเขียนมีอยู่เป็นจำนวนมาก แต่เนื่องจากผู้วิจัยศึกษาการเขียนการันต์ของนักศึกษา งานวิจัยที่เกี่ยวข้องที่จะนำมากล่าวไว้ในการศึกษาครั้งนี้จึงมุ่งเน้นที่มีการศึกษาในส่วนของการเขียนการันต์เป็นหลัก ส่วนการวิจัยที่เกี่ยวกับการเขียนในประเด็นอื่น ๆ จะนำเสนอเฉพาะการเขียนสะกดการันต์ผิดซึ่งมีความเกี่ยวข้องกับการศึกษาในครั้งนี้เท่านั้น ดังตัวอย่างงานวิจัยที่เกี่ยวข้องต่อไปนี้

      การศึกษาของ สุธา  ขวัญพุฒ (2550) เรื่อง “การเปรียบเทียบผลสัมฤทธิ์การเขียนสะกดคำภาษาไทยที่มีการันต์ ของนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 3 ที่เรียนแบบบูรณาการทักษะกับเรียนแบบร่วมมือ” โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเปรียบเทียบผลสัมฤทธิ์การเขียนสะกดคำภาษาไทยที่มีการันต์ของนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 3 ที่เรียนแบบบูรณาการทักษะกับเรียนแบบร่วมมือ ของนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 3 ภาคเรียนที่ 2 ปีการศึกษา 2440 โรงเรียนวัดเลียบราษฎร์บำรุง สำนักงานเขตบางซื่อ กรุงเทพฯ จำนวน 2

ห้องเรียน ผลการศึกษาพบว่า ผลสัมฤทธิ์ในการเขียนสะกดคำภาษาไทยที่มีการันต์ของนักเรียนที่เรียนแบบบูรณาการทักษะก่อนเรียนและหลังเรียนแตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .04 โดยผลสัมฤทธิ์หลังเรียนสูงกว่าก่อนเรียน ผลสัมฤทธิ์ในการเขียนสะกดคำภาษาไทยที่มีการันต์ของนักเรียนที่เรียนแบบร่วมมือก่อนเรียนและหลังเรียนแตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .04 โดยผลสัมฤทธิ์หลังเรียนสูงกว่าก่อนเรียน ดังนั้นผลสัมฤทธิ์ในการเขียนสะกดคำภาษาไทยที่มีการันต์ของนักเรียนที่เรียนแบบร่วมมือกับนักเรียนที่เรียนแบบบูรณาการทักษะแตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .04 โดยผลสัมฤทธิ์ของนักเรียนที่เรียนแบบร่วมมือสูงกว่านักเรียนที่เรียนแบบบูรณาการทักษะ

 


                      การศึกษาของ ชนิศา แจ้งอรุณ (2552) เรื่อง “การแก้ปัญหาการเขียนตัวสะกดคำ และการใช้ตัวการันต์ โดยวิธีการใช้แบบทดสอบการเขียนคำถูก ของนักศึกษาระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูงชั้นปี ที่ 1/1 แผนกคอมพิวเตอร์ธุรกิจ ที่เรียนในรายวิชาทักษะภาษาไทยเพื่ออาชีพ (3000 - 1101)” โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อปรับปรุงแก้ไขปัญหาการสื่อสารด้านการเขียนตัวสะกดการันต์ให้แก่ผู้เรียนและให้ผู้เรียนมีพัฒนาการด้านการเขียนที่ดีขึ้น ซึ่งผู้สอนได้ใช้แบบทดสอบการเขียนคำถูก จำนวน 4 ชุด ชุดละ 10 คำ รวมจำนวน 40 คำ ทดสอบผู้เรียนเป็นเวลา 4 สัปดาห์ คิดคะแนนคำละ 1 คะแนน หากคนใดเขียนคำผิด จะให้คัดคำที่ถูกต้องด้วยตัวบรรจงเต็มบรรทัด คำละ 20 จบ และสัปดาห์สุดท้ายที่กำหนดให้เขียนคำถูก ได้นำคำในแบบทดสอบทั้ง 4 ชุด มาให้ผู้เรียนสอบใหม่ โดยเลือกคำถูกจำนวน 20 คำ คิดคะแนน 2 คำต่อ 1 คะแนน และเปรียบเทียบถึงพัฒนาการของผู้เรียน ผลการศึกษาพบว่า ผู้เรียนมีพัฒนาการในการเขียนตัวสะกด ตัวการันต์ดีขึ้นค่อนข้างมาก อันเนื่องมาจากมีความรอบคอบและมีความตั้งใจในการเขียนคำมากกว่าช่วงก่อนทำแบบทดสอบ แต่ก็ยังมีบางคนที่ยังมีพัฒนาการการเขียนคำถูกที่ค่อนข้างต่ำ ซึ่งจากการที่ได้ทดสอบการเขียนคำถูกทั้ง 5 ชุด และให้ผู้เรียนคัดคำผิดด้วยตัวบรรจงเต็มบรรทัด คำละ 20 จบ นั้น พบว่า ผู้เรียนมีความรอบคอบในการเขียนมากขึ้นเพราะไม่อยากคัดคำที่เขียนผิด และยังเป็นส่วนหนึ่งในการพัฒนาลายมือให้อ่านง่ายอีกด้วย

 

                      การศึกษาของ สุนันทา  โสรัจจ์ (2511) เรื่อง “การศึกษามูลเหตุแห่งการเขียนสะกดการันต์ผิดโดยทดสอบจากนักเรียนระดับมัธยมศึกษาปีที่ 3 ในจังหวัดพระนคร” โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษามูลเหตุแห่งการเขียนสะกดการันต์ผิดของนักเรียนระดับมัธยมศึกษาปีที่ 3 ในจังหวัดพระนคร ผลการศึกษาพบว่า นักเรียนเขียนสะกดการันต์ผิดเพราะมีประสบการณ์มาผิด หมายความว่า นักเรียนเคยเห็นคำนั้น ๆ เขียนสะกดการันต์เช่นนี้มาเสมอ นักเรียนเขียนสะกดการันต์ผิดเพราะไม่ทราบความหมายของคำ หมายความว่า คำในภาษาไทยนั้นมีเสียงตรงกันมาก แต่เขียนสะกดการันต์ต่างกัน หากจำได้แต่เสียงโดยไม่พิจารณาความหมายเฉาะของคำที่มีเสียงพ้องกัน ก็ทำให้เขียนสะกดการันต์ผิดได้ นักเรียนเขียนสะกดการันต์ผิดเพราะรู้หลักภาษาไทยไม่ดีพอ หมายความว่า ในการเขียนคำบางคำให้ถูกต้องนั้นต้องอาศัยความแม่นยำในทางหลักภาษา โดยเฉพาะหลักการประวิสรรชนีย์ หลักการใช้วรรณยุกต์ และหลักการใช้ บรร–บัน นักเรียนเขียนสะกดการันต์ผิดเพราะออกเสียงผิด คำบางคำคนทั่วไปเขียนตามความสะดวก และตามความเคยชินของแต่ละคน เมื่อเขียนตามเสียงพูดนั้นจะไม่ตรงกับรูปที่เขียนตามพจนานุกรม นักเรียนเขียนสะกดการันต์ผิดเพราะใช้แนวแทบผิด หมายความว่า คำบางคำนั้นเขียนด้วยความไม่มั่นใจว่าเขียนอย่างไรจึงจะถูกต้อง จึงเขียนเทียบกับคำอื่น ๆ จึงทำให้เขียนผิด เพราะคำบางคำนั้นมีความหมายตามรูปศัพท์ ตลอดจนหลักในการเขียนต่างกันจะใช้กฎเดียวกันไม่ได้

 

                      การศึกษาของ จุฬารัตน์ เสงี่ยม และวิไลวรรณ แสงแก้ว (2444) เรื่อง “ปัญหาในการเขียนสะกดการันต์ และมูลเหตุในการเขียนสะกดการันต์ผิดของนักศึกษาสาขาวิชาเทคโนโลยีอินเทอร์เน็ต สาขาวิชา

ชีววิทยาประยุกต์ และสาขาวิชาเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ ชั้นปีที่ 1 มหาวิทยาลัยราชภัฏภูเก็ต ภาคเรียนที่ 1

ปีการศึกษา 2554” โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาปัญหาในการเขียนสะกดการันต์ และมูลเหตุในการเขียนสะกดการันต์ผิดของนักศึกษาสาขาวิชาเทคโนโลยีอินเทอร์เน็ต สาขาวิชาชีวะวิทยาประยุกต์ และสาขาวิชาการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำชั้นปีที่ 1 มหาวิทยาลัยราชภัฏภูเก็ต ภาคเรียนที่ 1 ปีการศึกษา 2554 ผลการศึกษาพบว่า นักศึกษามีปัญหาในการเขียนสะกดการันต์ จากคำศัพท์ในแบบทดสอบภาคตัวสะกด 100 คำ นักศึกษาเขียนสะกดตัวการันต์ถูก คิดเป็นร้อยละ 38.81 นักศึกษาเขียนสะกดการันต์ผิด คิดเป็นร้อยละ 61.18 และจากการวิเคราะห์ข้อมูลแบบทดสอบภาคเหตุผลที่กลุ่มตัวอย่างเลือกตอบเมื่อจะเขียนสะกดคำการันต์ตัวหนึ่ง ๆ จะเห็นได้ว่าในการเขียนสะกดการันต์นักศึกษาเลือกเหตุผลเขียนตามการออกเสียง มากที่สุด  คิดเป็นร้อยละ 31.08 รองลงมา นักศึกษาเลือกเหตุผล เขียนตามที่เคยเห็นมา คิดเป็นร้อยละ 24.32 และนักศึกษาเลือกเหตุผลไม่ทราบความหมายของคำที่เขียนน้อยที่สุด คิดเป็นร้อยละ 4.05 สรุปจากการวิเคราะห์ ปัญหาในการเขียนสะกดการันต์ผิดของนักศึกษามีความสัมพันธ์กับการออกเสียง และปัญหาในการเขียนสะกดการันต์ผิดของนักศึกษามีความสัมพันธ์กับสื่อต่าง ๆ ที่นักศึกษาพบเห็นในชีวิตประจำวัน

 

                      การศึกษาของ ปาริชาด  นันทะวงษ์ (2548) เรื่อง “การศึกษาผลการใช้บทเรียนการสอนโดยใช้คอมพิวเตอร์ช่วย ประเภทเกมกลุ่มสาระการเรียนรู้ภาษาไทย เรื่องการใช้ตัวการันต์การศึกษาขั้นพื้นฐาน ระดับช่วงชั้นที่ 2” โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างและหาประสิทธิภาพของบทเรียนการสอนโดยใช้คอมพิวเตอร์ช่วยประเภทเกม กลุ่มสาระการเรียนรู้ภาษาไทย เรื่องการใช้ตัวการันต์ การศึกษาขั้นพื้นฐานระดับช่วงชั้นที่ 2 ชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 มีประสิทธิภาพตามเกณฑ์มาตรฐาน 80/80 และเพื่อเปรียบเทียบผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน กลุ่มสาระการเรียนรู้ภาษาไทย เรื่อง การใช้ตัวการันต์ การศึกษาขั้นพื้นฐานระดับช่วงชั้นที่ 2 ชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 ของนักเรียนที่เรียนด้วยบทเรียนการสอนโดยใช้คอมพิวเตอร์ช่วยประเภทเกมกับการเรียนแบบปกติ ผลการศึกษาพบว่า บทเรียนการสอนโดยใช้คอมพิวเตอร์ช่วยประเภทเกม กลุ่มสาระการเรียนรู้ภาษาไทย เรื่องการใช้ตัวการันต์ การศึกษาขั้นพื้นฐานระดับช่วงชั้นที่ 2 ชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 มีประสิทธิภาพตามเกณฑ์มาตรฐาน 80.33/82.00 ซึ่งเป็นไปตามเกณฑ์มาตรฐาน 80/80 และมีผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนกลุ่มสาระการเรียนรู้ภาษาไทย เรื่องการใช้ตัวการันต์ การศึกษาขั้นพื้นฐานระดับช่วงชั้นที่ 2 ชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 ของนักเรียนที่เรียนด้วยบทเรียนการสอนโดยใช้คอมพิวเตอร์ช่วย ประเภทเกม เรื่องการใช้ตัวการันต์กับการเรียนแบบปกติไม่แตกต่างกัน อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ 0.04 ซึ่งไม่เป็นไปตามสมมติฐานที่ตั้งไว้

 

                      การศึกษาของ ศรีจันทร์  วิชาตรง (2542) เรื่อง “ศึกษาวิเคราะห์ข้อผิดพลาดในการเขียนภาษาไทยของนักศึกษา” ผลการศึกษาพบว่า  ข้อผิดพลาดในการเขียนภาษาไทยจากมากไปหาน้อยเรียงตามลำดับ คือ การสะกดการันต์  การใช้คำ การแต่งประโยค  การเว้นวรรค  การใช้เครื่องหมายอื่น ๆ การใช้อักษรย่อ  และการใช้ตัวเลข  ข้อผิดพลาดในส่วนของการสะกดการันต์ที่พบมากคือ การใช้พยัญชนะต้น และพยัญชนะสะกดผิด

                     

                      การศึกษาของ วิลัยวรรณ จุติประภาค (2542) เรื่อง “ลักษณะข้อผิดพลาดในการเขียนภาษาไทยของนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 4 ในโรงเรียนสังกัดเทศบาลเมืองสงขลา อำเภอเมือง จังหวัดสงขลา

ปีการศึกษา 2442” โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาลักษณะข้อผิดพลาดในการเขียนภาษาไทยของนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 4 ในโรงเรียนสังกัดเทศบาลเมืองสงขลา อำเภอเมือง จังหวัดสงขลา ปีการศึกษา 2442 ในประเด็นของการใช้คำ ประโยค และรูปแบบของการเขียน ผลการศึกษาพบว่า ลักษณะการใช้คำประกอบด้วยการใช้คำไม่ตรงความหมาย การใช้คำไม่สุภาพ และไม่เหมาะสมกับฐานะของบุคคล การใช้คำฟุ่มเฟือย การใช้ลักษณะคำนามผิด การใช้สะกดการันต์ผิด ลักษณะข้อผิดพลาดในการใช้ประโยคประกอบด้วยการใช้ประโยคที่ขาดบทประธาน ขาดบทกริยา ขาดบทเชื่อม ใช้บทเชื่อมผิด บทประธานซ้อนเรียงลำดับคำผิด สำนวนภาษาต่างประเทศ คำบอกอดีตกาลเกินความจำเป็น ลักษณะข้อผิดพลาดในการใช้รูปแบบการเขียนประกอบด้วยการแบ่งข้อความผิด การใช้เครื่องหมายผิดและการไม่ได้ใช้เครื่องหมาย

 

                      การศึกษาของ สุชาดา  ชาทอง (2534) เรื่อง “ศึกษาลักษณะข้อผิดพลาดในการเขียนภาษาไทยของนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 ในโรงเรียนสังกัดสำนักงานการประถมศึกษาจังหวัดสงขลา ปีการศึกษา 2533” โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาลักษณะข้อผิดพลาดในการเขียนภาษาไทยของนักเรียนชั้นประถมศึกษา 6 ในโรงเรียนสังกัดสำนักงานการประถมศึกษาจังหวัดสงขลา ปีการศึกษา 2533 ในประเด็นของการใช้คำ ประโยค และรูปแบบของการเขียน ผลการศึกษาพบว่า ลักษณะข้อผิดพลาดในการใช้คำประกอบด้วย การใช้คำไม่ตรงความหมาย การใช้คำและสำนวนภาษาต่างประเทศปะปนในการเขียนภาษาไทย การใช้คำฟุ่มเฟือย การใช้คำลักษณนามผิด การใช้คำ สำนวน และวลีที่สร้างขึ้นใหม่แทนคำ สำนวนที่มีอยู่แล้วในภาษาไทย การใช้คำที่มีความหมายขัดแย้งกันในประโยคเดียวกัน การเปลี่ยนคำบางคำที่ไม่ควรเปลี่ยนในประโยคหรือข้อความเดียว และการใช้สะกดการันต์ผิด

 

เอกสารที่เกี่ยวข้องกับสาขาวิชาภาษาไทยเพื่อการสื่อสาร คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏภูเก็ต

                      สาขาวิชาภาษาไทยสาขาวิชาภาษาไทยเพื่อการสื่อสาร คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏภูเก็ต เป็นสาขาวิชาที่มุ่งพัฒนานักศึกษาอย่างรอบด้าน ทั้งด้านความรู้ทางวิชาการ

ด้านคุณธรรมจริยธรรม และด้านอื่น ๆ เพื่อให้นักศึกษาเป็นผู้มีคุณลักษณะที่พึงประสงค์ โดยมีรายละเอียดของสาขาวิชาตามหลักสูตร ดังนี้

                 1. วัตถุประสงค์สาขาวิชาภาษาไทยเพื่อการสื่อสาร

                            1.1 มีความรู้ ความสามารถในการใช้ภาษาไทยในการสื่อสาร และสามารถนำทักษะการใช้ภาษาไทยเพื่อการสื่อสารไปประกอบอาชีพได้อย่างมีประสิทธิภาพ

                            1.2 มีความรู้ และความสามารถในการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศเพื่อการสื่อสารได้อย่างเหมาะสม

                            1.3 มีความภาคภูมิใจในความเป็นไทย และมีเจตคติที่ดีต่อประเทศและวัฒนธรรมไทย

                            1.4 มีทักษะการคิดวิเคราะห์ สังเคราะห์ และสามารถประยุกต์ใช้ภาษาไทยเพื่อการสื่อสารได้อย่างเหมาะสม

                            1.5 มีคุณธรรม จริยธรรม และมีจิตสำนึกในการพัฒนาสังคม

                            1.6 มีบุคลิกภาพที่เหมาะสม มีโลกทัศน์กว้างไกล และสามารถอยู่ร่วมกับผู้อื่นได้อย่างมีความสุข

                      2. อาชีพที่สามารถประกอบได้หลังสำเร็จการศึกษา

                            2.1 นักวิชาการด้านภาษาไทยในสถาบันการศึกษา

                            2.2 งานประชาสัมพันธ์ นักเขียน

                            2.3 งานสื่อสารมวลชน นักจัดรายการ

                            2.4 งานธุรการ งานสารบรรณ

                            2.5 งานเลขานุการ

                            2.6 งานสอนภาษาไทยสำหรับชาวต่างประเทศ

                            2.7 ประกอบธุรกิจส่วนตัว

                            2.8 อาชีพอื่น ๆ ที่ใช้ความรู้ความสามารถทางภาษาไทยเพื่อการสื่อสารเป็นส่วนใหญ่

 

                      3. รายวิชาที่เกี่ยวข้องกับการเขียน

                        หลักสูตรสาขาวิชาภาษาไทยเพื่อการสื่อสารมุ่งเน้นทักษะทางภาษาไทยทั้งด้านการฟัง การพูด การอ่าน และการเขียน รวมถึงการใช้เทคโนโลยีต่าง ๆ โดยมีหน่วยกิตรวมตลอดหลักสูตรไม่น้อยกว่า 130 หน่วยกิต มีรายวิชาที่เกี่ยวข้องกับการเขียนหรือมุ่งเน้นการเขียนประมาณ 31 หน่วยกิต จำนวน 12 วิชา ซึ่งเป็นรายวิชาที่ปรากฏให้เรียนตามแผนการเรียนของนักศึกษาสาขาวิชาภาษาไทยเพื่อการสื่อสาร โดยมีรายละเอียดของวิชาดังกล่าว ดังนี้

                            3.1 การเขียนเพื่อการสื่อสาร  จำนวน 3 หน่วยกิต

                               ศึกษาหลักการเขียน การลำดับความคิด การวางโครงเรื่อง การเขียนย่อหน้า การเขียนบทความ การเขียนข่าว การเขียนจดหมายประเภทต่าง ๆ การเขียนเรียงความ การเขียนสรุปความจากการฟังและการอ่าน ฝึกการเขียนในรูปแบบต่าง ๆ

                            3.2 ภาษาไทยเพื่อการสื่อสาร  จำนวน 3 หน่วยกิต

                               ศึกษาหลักการเบื้องต้นในการสื่อสารภาษาไทย ฝึกทักษะการใช้ภาษาทั้งการฟัง การพูด การอ่าน และการเขียน ให้สามารถสื่อสารได้อย่างมีประสิทธิภาพ และสามารถนำความรู้ความคิดที่ได้รับมาพัฒนาตนเองอย่างสร้างสรรค์

                            3.3 หลักภาษาไทย จำนวน 3 หน่วยกิต

                               ศึกษาความหมายและขอบข่ายของหลักภาษาไทย ศึกษาลักษณะภาษาไทยในด้านเสียง พยางค์ คำ วลี ลักษณะประโยค หลักเกณฑ์การอ่านการเขียน คำไทย คำราชาศัพท์ คำสุภาพ และสามารถใช้ภาษาให้ถูกต้องตามความนิยมของสังคมไทย

                      3.4 การเขียนเชิงวิชาการ จำนวน 2 หน่วยกิต

                               ศึกษาหลักการเขียนเชิงวิชาการ การเขียนภาคนิพนธ์ การเลือกเรื่อง การวางโครงเรื่อง

การสำรวจ และการรวบรวมข้อมูล การบันทึกข้อมูล การวิเคราะห์ข้อมูล การเรียบเรียงข้อมูล การเขียนเชิงอรรถ และบรรณานุกรม ฝึกปฏิบัติการเขียนเชิงวิชาการ

                 3.5 การย่อ และสรุปความ จำนวน 2 หน่วยกิต

                                ศึกษาการจับใจความสำคัญจากการฟัง  และการอ่าน  เทคนิคการเขียนย่อความรูปแบบต่าง ๆ   ฝึกการย่อ และสรุปความรูปแบบต่าง ๆ

                            3.6 การเขียนเชิงธุรกิจ จำนวน 2 หน่วยกิต

                               ศึกษาการเขียนเพื่อการสื่อสารเชิงธุรกิจ การเขียนหนังสือติดต่อราชการ การเขียนจดหมายธุรกิจต่าง ๆ การเขียนจดหมายแสดงมิตรไมตรีจิต การเขียนแบบฟอร์มต่าง ๆ ฝึกปฏิบัติการเขียนเชิงธุรกิจรูปแบบต่าง ๆ

 

                            3.7 เทคนิคบรรณาธิการ จำนวน 3 หน่วยกิต

                               ศึกษาประเภทของสิ่งพิมพ์ รูปแบบ หลักเกณฑ์และกลวิธีการเขียนในสื่อสิ่งพิมพ์ บทบาทและหน้าที่ของบรรณาธิการ หลักการพิสูจน์อักษร กฎหมายเกี่ยวกับการพิมพ์ การจัดทำวารสาร และฝึกปฏิบัติการ

                            3.8 พื้นฐานงานเลขานุการ จำนวน 2 หน่วยกิต

                               ความรู้เบื้องต้นเกี่ยวกับงานเลขานุการ การจัดองค์กรในสำนักงาน งานเกี่ยวกับ

การบริหารด้านการสื่อสาร การเขียนรายงานต่าง ๆ การจัดระบบงานเอกสาร การพัฒนาบุคลิกภาพ และมนุษยสัมพันธ์สำหรับเลขานุการ

                            3.9 หลักการอ่านและการเขียนคำไทย จำนวน 2 หน่วยกิต

                         ศึกษาหลักเกณฑ์ต่าง ๆ ในการอ่านและเขียนคำไทย ฝึกการอ่านและการเขียน

เก็บรวบรวมคำที่มักเขียนหรืออ่านผิดเพี้ยนไปจากกฎเกณฑ์เท่าที่มีอยู่ในปัจจุบัน วิเคราะห์มูลเหตุ ที่ทำให้เกิดการอ่านและเขียนอย่างนั้น อภิปราย และสรุปผลเพื่อนำไปใช้ให้เกิดประโยชน์ในชีวิตประจำวัน

                            3.10 การวิจัยทางภาษาไทย จำนวน 3 หน่วยกิต

                                 ศึกษาระเบียบวิธี และรูปแบบการวิจัยทางภาษาไทย การเลือกหัวข้อ และการเขียน

เค้าโครงวิจัย การกำหนดวัตถุประสงค์ และกรอบความคิด วิธีการเก็บรวบรวมข้อมูลแบบต่าง ๆ การจำแนก     การวิเคราะห์ และการตีความข้อมูล ฝึกการเขียนรายงานการวิจัย

                            3.11 การเขียนเพื่อการโฆษณาและประชาสัมพันธ์ จำนวน 3 หน่วยกิต

                                 ศึกษาลักษณะของสื่อโฆษณาและประชาสัมพันธ์ หลักการเขียนโฆษณาและประชาสัมพันธ์ วิเคราะห์สารประชาสัมพันธ์ และสื่อโฆษณาประเภทต่าง ๆ ในด้านจิตวิทยา และศิลปะการใช้ภาษา ฝึกการเขียนสื่อเพื่อการโฆษณาและประชาสัมพันธ์

                   3.12 สัมมนาการการใช้ภาษาไทย จำนวน 3 หน่วยกิต

                               ศึกษาความรู้พื้นฐานเกี่ยวกับกระบวนการศึกษาค้นคว้า วิธีการจัดสัมมนา ศึกษาข้อมูล

สภาพการใช้ภาษาไทยปัจจุบันจากสื่อต่าง ๆ การใช้ภาษาเฉพาะอาชีพ  ปัญหาการใช้ภาษาไทยด้านการฟัง  การพูด  การอ่าน  และการเขียน  การแก้ไขปรับปรุง  และพัฒนาการใช้ภาษาไทย

 

                      นอกจากนี้ยังมีการประเมินนักศึกษาว่ามีคุณสมบัติเหมาะสมในเรื่องต่าง ๆ ทั้งด้านบุคลิกภาพ มารยาททางสังคม และมนุษยสัมพันธ์ ด้านการใช้ภาษาไทยพื้นฐาน ด้านการใช้ภาษาไทยเฉพาะด้าน ด้านทักษะพิเศษอื่น ๆ รวมทั้งการสอบประเมินความรู้ก่อนสำเร็จการศึกษา ซึ่งในด้านการใช้ภาษาไทยพื้นฐาน และการสอบประเมินความรู้ก่อนสำเร็จการศึกษานั้น จะมีการประเมินการเขียนคำศัพท์ด้วย

 

                จะเห็นได้ว่านักศึกษาสาขาวิชาภาษาไทยเพื่อการสื่อสารต้องฝึกฝนการเขียนหนังสือให้ถูกต้องตามหลักภาษาไทยในหลายรายวิชาดังที่ได้นำเสนอไว้ข้างต้น ดังนั้น การเขียนหนังสือให้ถูกต้องจึงเป็นเรื่องจำเป็น

 

                      จากการศึกษาเอกสารและงานวิจัยที่เกี่ยวข้อง ทำให้ผู้ศึกษาได้รับความรู้ในศาสตร์ของการเขียน  โดยเฉพาะการเขียนการันต์ที่ผู้วิจัยสามารถนำองค์ความรู้ไปใช้ในการสร้างแบบทดสอบ และวิเคราะห์ลักษณะการเขียนการันต์ของนักศึกษาที่เป็นกลุ่มเป้าหมายในการศึกษาครั้งนี้ได้ ส่วนข้อมูลที่เกี่ยวกับสาขาวิชาภาษาไทยเพื่อการสื่อสารนั้น ทำให้เห็นว่านักศึกษาในสาขาวิชาดังกล่าวจำเป็นต้องใช้ความรู้ในการเขียนเป็นอย่างมาก โดยเริ่มต้นจากความรู้พื้นฐานที่ใช้ในการเขียน ซึ่งการเขียนการันต์ก็เป็นพื้นฐานที่สำคัญประการหนึ่งที่นักศึกษาจำเป็นต้องรู้ เพื่อให้สามารถสร้างงานเขียนได้อย่างมีคุณค่า ดังนั้นการศึกษาค้นคว้าเอกสารและงานวิจัยที่เกี่ยวข้องในบทนี้จึงช่วยให้ผู้วิจัยมีทิศทาง และองค์ความรู้ที่จะนำไปใช้ในการศึกษาวิเคราะห์ได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น 


บทที่ 3

วิธีดำเนินการวิจัย

 

                      ในการศึกษาเรื่อง “การเขียนการันต์ของนักศึกษาสาขาวิชาภาษาไทยเพื่อการสื่อสาร ชั้นปีที่ 1

คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏภูเก็ต” ผู้วิจัยได้ดำเนินการตามลำดับขั้นตอนดังนี้

 

ประชากรและกลุ่มตัวอย่าง

                      1. ประชากร

       นักศึกษาชั้นปีที่ 1 สาขาวิชาภาษาไทยเพื่อการสื่อสาร คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏภูเก็ต ที่เรียนรายวิชาการเขียนเพื่อการสื่อสาร ในภาคเรียนที่ 1/2556 ซึ่งเป็นนักศึกษามีสัญชาติ และเชื้อชาติไทย จำนวน 41 คน  

                      2. กลุ่มตัวอย่าง

       นักศึกษาชั้นปีที่ 1 สาขาวิชาภาษาไทยเพื่อการสื่อสาร คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏภูเก็ต ที่เรียนรายวิชาการเขียนเพื่อการสื่อสาร ในภาคเรียนที่ 1/2556 ซึ่งเป็นนักศึกษามีสัญชาติ เชื้อชาติไทย และมาเรียนในวันที่มีการทำแบบทดสอบ จำนวน 33 คน

 

วิธีการเก็บและรวบรวมข้อมูล

                   1. สำรวจแหล่งข้อมูล นักศึกษาสาขาวิชาภาษาไทยเพื่อการสื่อสาร ชั้นปีที่ 1 คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏภูเก็ต เฉพาะคนที่มาเรียนในวันทำแบบทดสอบที่เป็นนักศึกษาชนชาติไทย และเชื้อชาติไทย ซึ่งลงทะเบียนเรียนภาคเรียนที่ 1 ปีการศึกษา 2556

                      2. สำรวจและรวบรวมคำที่เขียนตัวการันต์เป็นแบบทดสอบที่ใช้สำรวจนักศึกษาภาษาไทยเพื่อการสื่อสารชั้นปีที่ 1 คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏภูเก็ต โดยรวบรวมคำที่เขียนตัวการันต์จากพจนานุกรมราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2542 จำนวน 60 คำ ได้แก่

                        2.1 การเขียนตัวการันต์เพื่อกำกับไม่ให้ออกเสียง พยัญชนะตัวเดียว จำนวน 20 คำ               

                            2.2 การเขียนตัวการันต์เพื่อกำกับไม่ให้ออกเสียง พยัญชนะหลายตัว จำนวน 20 คำ

                           2.3 การเขียนตัวการันต์เพื่อกำกับไม่ให้ออกเสียง พยัญชนะและสระ จำนวน 20 คำ

                      3. เครื่องมือที่ใช้ในการศึกษาค้นคว้า

                         แบบทดสอบการเขียน “ศึกษาการเขียนการันต์ของนักศึกษาสาขาวิชาภาษาไทย

เพื่อการสื่อสาร ชั้นปีที่ 1 คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏภูเก็ต” เพื่อใช้ประกอบการศึกษาวิจัย โดยมีรายละเอียดดังนี้

 

แบบทดสอบเรื่อง

“การเขียนการันต์ของนักศึกษาสาขาวิชาภาษาไทยเพื่อการสื่อสาร ชั้นปีที่ 1

คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏภูเก็ต

 

คำชี้แจง

                      1. แบบทดสอบนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อสำรวจลักษณะการเขียนการันต์ และสาเหตุการเขียนการันต์ ในลักษณะนั้น ๆ ของนักศึกษาสาขาวิชาภาษาไทยเพื่อการสื่อสาร ชั้นปีที่ 1 คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏภูเก็ต

                      2. คำตอบหรือความคิดเห็นของนักศึกษาจะไม่ทำให้เกิดผลเสียใด ๆ แต่จะเป็นข้อมูลที่มีประโยชน์สำหรับนำไปใช้ในการจัดการเรียนการสอนที่เกี่ยวกับการเขียนให้มีประสิทธิภาพต่อไป

 

ตอนที่ 1 ข้อมูลทั่วไปของนักศึกษา

1. เพศ          O ชาย                              O หญิง

2. ภูมิลำเนาเดิม อำเภอ.................................... จังหวัด.................................... 

3. สำเร็จการศึกษาจากโรงเรียน............................................... จังหวัด....................................

4. เกรดเฉลี่ยชั้นมัธยมศึกษาตอนปลาย หรือเทียบเท่า

                      O ต่ำกว่า 1.51                                                                O 1.51 – 2.00

                      O ต่ำกว่า 2..01 – 2.50                                 O 2.51 – 3.00

                      O ต่ำกว่า 3.01 – 3.50                                   O 3.51 – 4.00

 

ตอนที่ 2 การเขียนการันต์ของนักศึกษา

                      จงเขียนคำที่ถูกต้องลงในช่องว่างพร้อมทำเครื่องหมาย ในช่องเหตุผลที่เลือกดังนี้

                 ก. เขียนตามที่เคยเห็นมา                            

                      ข. เขียนตามหลักภาษา

                      ค. เขียนตามการออกเสียง                          

                      ง. เขียนเทียบกับคำใกล้เคียง                      

                      จ. อื่น ๆ

ตารางที่ 3.1 การเขียนการันต์ของนักศึกษา

ข้อ

คำอ่าน

ความหมาย

คำที่ถูกต้อง

เหตุผลที่เลือก

อื่น ๆ (ระบุ)

1

ก๊อบ

น. ชื่อกีฬาชนิดหนึ่งใช้ไม้ตีลูกกลมผ่านพื้นที่ที่กำหนด

โดยมุ่งหลุมเป็นเป้า 

 

 

 

 

 

 

2

แช

น. การลงหุ้นเป็นจํานวนเงินและตามวาระที่กําหนดแล้วประมูลว่าจะให้ดอกเบี้ยเท่าไร

 

 

 

 

 

 

3

ซี – เมน

น. วัสดุใช้ในการก่อสร้างชนิดหนึ่ง ลักษณะเป็นผง เมื่อผสมคลุกกับน้ำแล้วทิ้งไว้จะเกิดปฏิกิริยาเคมี เป็นผลให้เกิดการก่อตัวและแข็งตัวได้

 

 

 

 

 

 

4

เต็น

น. กระโจมชั่วคราวทำด้วยผ้าหนา ๆ สำหรับกันแดด ฝน

 

 

 

 

 

 

5

ทิบ

ว. เป็นของเทวดา, ดีวิเศษอย่างเทวดา, ดีวิเศษเหนือปกติธรรมดา

 

 

 

 

 

 

6

เบีย

น. น้ำเมาอย่างหนึ่งเป็นชนิดเมรัย

 

 

 

 

 

 

7

เปอ เซ็น

น. ส่วนร้อย, ร้อยละ

 

 

 

 

 

 

8

ฟิว

น. อุปกรณ์ไฟฟ้าชนิดหนึ่งที่ใช้ลักษณะเป็นโลหะเจือที่มีขีดหลอมตัวต่ำ

 

 

 

 

 

 

9

ไม

น. ชื่อมาตราวัดของอังกฤษ

 

 

 

 

 

 

10

รัด

น. แก้ว, เพชร, พลอย

 

 

 

 

 

 

 

11

สิน

น. การประดับ, การทำให้วิจิตรพิสดารต่าง ๆ, การช่างทั่วไป

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 


ตารางที่ 3.1 (ต่อ)

ข้อ

คำอ่าน

ความหมาย

คำที่ถูกต้อง

เหตุผลที่เลือก

อื่น ๆ (ระบุ)

12

สิด

น. ผู้ศึกษาวิชาความรู้จากครู

 

 

 

 

 

 

13

สง

น. พระภิกษุ

 

 

 

 

 

 

14

สิง

น. สัตว์ร้ายประเภทเสือ แต่มีกำลังมากกว่า มีขนสร้อยคอ

 

 

 

 

 

 

15

สะ - เหน่

น. ลักษณะที่ชวนให้รัก 

 

 

 

 

 

 

16

หุ่น - ยน

น. หุ่นที่ทำเป็นรูปคนมีเครื่องกลไกภายใน สามารถทำงานหลายอย่างแทนมนุษย์ได้

 

 

 

 

 

 

17

อง

น. ส่วนของร่างกาย, อวัยวะ

 

 

 

 

 

 

18

อะ นุ - รัก

ก. รักษาให้คงเดิม

 

 

 

 

 

 

19

อา – พอน

น. เครื่องประดับ

 

 

 

 

 

 

20

อา - รม

น. เครื่องยึดหน่วงจิตใจ ความคิด, ความรู้สึก, เรื่องหรือสิ่งที่คิด

 

 

 

 

 

 

21

กัม มะ - พัน

ว. เกี่ยวเนื่องด้วยกรรมของตนเอง

 

 

 

 

 

 

22

กา ละ - สิน

. ดินแดนที่มีความหมายว่า เมืองน้ำดำ 

 

 

 

 

 

 

23

กิด – ติ –

มะ - สัก

ว. ยกย่องเพื่อเป็นเกียรติยศ

 

 

 

 

 

 

24

จะ เริน -พัน

ว. มีความสามารถในการสืบสายสกุล

 

 

 

 

 

 

25

ต้น - โพ

. ชื่อต้นไม้เป็นที่ตรัสรู้ของพระพุทธเจ้า

 

 

 

 

 

 

26

บอริ - สุด

ว. แท้ ไม่มีอะไรเจือปน 

 

 

 

 

 

 


 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 

ตารางที่ 3.1 (ต่อ)

ข้อ

คำอ่าน

ความหมาย

คำที่ถูกต้อง

เหตุผลที่เลือก

อื่น ๆ (ระบุ)

27

เปรม - ปรี

. ความยินดี, ความปรีดา

 

 

 

 

 

 

28

แผลง - ริด

. แสดงอำนาจโดยการแผลงเดช, อาละวาด

 

 

 

 

 

 

29

พิน - อิ

. เสียงในภาษาหมายถึงเสียงที่มนุษย์เปล่งออกมาเพื่อสื่อความหมาย สื่อความเข้าใจ

 

 

 

 

 

 

30

พืด – พัน

น. สิ่งที่จะขยายเติบโตเป็นพืชต่อไป

 

 

 

 

 

 

31

ราม – มะ – เกียน

น. ชื่อวรรณคดีเรื่องหนึ่งว่าด้วยพระรามทำศึกกับทศกัณฐ์เพื่อชิงนางสีดา

 

 

 

 

 

 

32

ลิก ขะ - สิด

น. ความเป็นเจ้าของทางวรรณกรรม, ผู้เป็นต้นคิดได้รับความคุ้มครองตามกฎหมาย

 

 

 

 

 

 

33

วิ - สุด

ว. สะอาด, ใส, ขาว, หมดจด, หมดมลทิน

 

 

 

 

 

 

 

34

สัก - สิด

ว. เชื่อถือว่ามีอำนาจอาจบันดาลให้สำเร็จได้ดังประสงค์ ขลัง

 

 

 

 

 

 

35

สะ - หริด

น. การทำ, การสร้าง

 

 

 

 

 

 

36

สะ - หฺวัด

น. ความดี, ความงาม, ความเจริญรุ่งเรือง

 

 

 

 

 

 

37

สะ หวา –

มิ - พัก

. ยอมตนหรือมอบตนอยู่ใต้อำนาจ

 

 

 

 

 

 

38

สัม - ริด

น. ความสําเร็จ

 

 

 

 

 

 

39

สิน

น. ลำน้ำ, แม่น้ำ, สายน้ำ, น้ำ, ทะเล, มหาสมุทร

 

 

 

 

 

 

 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 

ตารางที่ 3.1 (ต่อ)

ข้อ

คำอ่าน

ความหมาย

คำที่ถูกต้อง

เหตุผลที่เลือก

อื่น ๆ (ระบุ)

40

อะ พิ - สิด

น. นอกเหนือขอบเขตรับผิดชอบเหนือกฎระเบียบ

 

 

 

 

 

 

41

คะ - เชน

น. พญาช้าง

 

 

 

 

 

 

42

คะ นิด ตะ - สาด

. วิชาว่าด้วยการคำนวณ

 

 

 

 

 

 

43

ฉัน – ทะ – ลัก

น. ลักษณะแบบแผน

คำประพันธ์ประเภทร้อยกรอง

 

 

 

 

 

 

44

เชา

น. ปัญญาหรือความคิด

ฉับไว

 

 

 

 

 

 

45

ทา – นิน

น. เมืองใหญ่

 

 

 

 

 

 

46

พระ  - จัน

. ดวงเดือน

 

 

 

 

 

 

47

พระ - อิน

. ชื่อเทวราชผู้เป็นใหญ่ในสวรรค์ชั้นดาวดึงส์

 

 

 

 

 

 

48

พราม

น. คนในวรรณะในสังคมฮินดู

 

 

 

 

 

 

49

พัก

. หน้า, ใบหน้า

 

 

 

 

 

 

50

ภู – มิ– สาด

น. วิชาที่ศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างสิ่งแวดล้อมทางธรรมชาติกับสังคมที่ปรากฏในดินแดนต่าง ๆ

 

 

 

 

 

 

51

เมือง - กาน

. สถานที่ตั้งสะพานข้ามแม่น้ำแคว

 

 

 

 

 

 

52

ยุด – ทะ – สาด

น. วิชาว่าด้วยการพัฒนาและการใช้อำนาจทางการเมืองฯลฯ

 

 

 

 

 

 

53

วัด – ชะ – เรน

น. ชื่อเทวราชผู้เป็นใหญ่ในสวรรค์ชั้นดาวดึงส์

 

 

 

 

 

 

54

วา – ระ – สาน - สาด

น. วิชาว่าด้วยการทำหนังสือพิมพ์, นิตยสาร ฯลฯ

 

 

 

 

 

 

 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 

ตารางที่ 3.1 (ต่อ)

ข้อ

คำอ่าน

ความหมาย

คำที่ถูกต้อง

เหตุผลที่เลือก

อื่น ๆ (ระบุ)

55

เสด – ถะ – สาด

น. วิชาว่าด้วยการผลิต,

การจำหน่ายและบริโภค

ใช้สอยต่าง ๆ ของชุมชน

 

 

 

 

 

 

56

สัน ยะ - ลัก

. เครื่องแสดง, เครื่องหมาย

 

 

 

 

 

 

57

สาย - สิน

. เส้นด้ายยาว ๆ ที่พระถือ เมื่อเวลาสวดมนต์หรือที่เอามาวนรอบบ้านเพื่อให้เป็นมงคล

 

 

 

 

 

 

58

สุ - ราด

น. ผู้ควรซึ่งเขต คือ ผู้ครองเขต, ผู้มีอำนาจอย่าง พระราชา

 

 

 

 

 

 

59

สุ – ริ – เยน

น. พระอาทิตย์

 

 

 

 

 

 

60

เอก กะ - ลัก

น. สิ่งที่กําหนดนิยมกันขึ้นเพื่อให้ใช้หมายความแทนอีกสิ่งหนึ่ง 

 

 

 

 

 

 

 

ตอนที่  3  แสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับการเขียนคำศัพท์ที่มีตัวการันต์

.......................................................................................................................................................................................................................................................................................................................................................................................................................................................................................................................................... ........................................................................................................................................................................................................................................................................................................................................................................................................................................................................................................................................................................................................................................................................................................................

ขอบคุณนักศึกษาที่ให้ความร่วมมือในการทำแบบทดสอบทุกคน

 

 

 

 

                      4. เก็บรวบรวมข้อมูลการเขียนการันต์จากนักศึกษาโดยให้นักศึกษาทำแบบทดสอบ

                      5. นำข้อมูลที่ได้มาวิเคราะห์ตามประเด็นที่กำหนดไว้ในขอบเขตของเนื้อหาดังนี้

                         5.1 ลักษณะการเขียนคำที่มีตัวการันต์

  5.1.1 อักษรการันต์ที่กำกับไม่ให้ออกเสียงพยัญชนะตัวเดียว

            5.1.2 อักษรการันต์ที่กำกับไม่ให้ออกเสียงพยัญชนะและสระ

            5.1.3 อักษรการันต์ที่กำกับไม่ให้ออกเสียงพยัญชนะหลายตัว

                         5.2 สาเหตุในการเขียนคำที่มีตัวการันต์

                     5.2.1 เขียนตามที่เคยเห็นมา

                     5.2.2 เขียนตามหลักภาษา

                     5.2.3 เขียนตามการออกเสียง

                     5.2.4 เขียนเทียบกับคำใกล้เคียง

                     5.2.5 สาเหตุอื่น ๆ

                     6. สรุปผลการวิเคราะห์ อภิปรายผล และข้อเสนอแนะ

                    7. รายงานผลการศึกษาวิจัย


บทที่ 4

ผลการวิจัย

 

                      การศึกษาเรื่อง “การเขียนการันต์ของนักศึกษาสาขาวิชาภาษาไทยเพื่อการสื่อสารชั้นปีที่ 1

คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏภูเก็ต” ก่อนที่จะนำเสนอผลการศึกษาในด้าน

ลักษณะการเขียนคำที่มีตัวการันต์ และสาเหตุในการเขียนคำที่มีตัวการันต์ตามลำดับ ผู้วิจัยจะนำเสนอข้อมูลทั่วไปของนักศึกษาทั้ง 33 คน ที่ทำแบบทดสอบดังต่อไปนี้

 

ตารางที่ 4.1 เพศของนักศึกษา

เพศ

จำนวน (คน)

ร้อยละ

ชาย

3

9.09

หญิง

30

90.90

รวม

33

99.99

 

                      จากตารางที่ 4.1 แสดงให้เห็นว่านักศึกษาที่ทำแบบทดสอบจำนวน 33 คน เมื่อจำแนกตามเพศ ปรากฏว่า นักศึกษาเพศชายมีจำนวนน้อยกว่าเพศหญิง คือ เพศชายมีจำนวน 3 คน คิดเป็นร้อยละ 9.09 ในขณะที่เพศหญิงมีจำนวน 30 คน คิดเป็นร้อยละ 99.99

 

ตารางที่ 4.2 ภูมิลำเนาของนักศึกษา

ภูมิลำเนา

จำนวน (คน)

ร้อยละ

ภูเก็ต

2

6.06

พังงา

3

9.09

ระนอง

4

12.12

กระบี่

5

15.15

ตรัง

10

30.30

พัทลุง

1

3.03

สตูล

2

6.06

นครศรีธรรมราช

4

12.12

นราธิวาส

2

6.06

รวม

33

99.99

 

 

                      จากตารางที่ 4.2 แสดงให้เห็นว่านักศึกษาที่ทำแบบทดสอบจำนวน 33 คน เมื่อจำแนกตามภูมิลำเนา ปรากฏว่า นักศึกษาที่มาจากจังหวัดตรังมีจำนวนมากที่สุด คือ 10 คน คิดเป็นร้อยละ 30.30 รองลงมา คือ นักศึกษาที่มาจากจังหวัดกระบี่ จำนวน 5 คน คิดเป็นร้อยละ 15.15 และจังหวัดพัทลุงเป็นจังหวัดที่นักศึกษาน้อยที่สุด จำนวน 1 คน คิดเป็นร้อยละ 3.03

 

ตารางที่ 4.3 ผลการเรียนระดับมัธยมศึกษาตอนปลายหรือเทียบเท่าของนักศึกษา

ผลการเรียนระดับมัธยมศึกษา

ตอนปลายหรือเทียบเท่า

จำนวน (คน)

ร้อยละ

3.51 – 4.00

2

6.06

3.01 – 3.50

3

9.09

2.51 – 3.00

15

45.45

2.01 – 2.50

13

39.39

รวม

33

99.99

 

                      จากตารางที่ 4.3 แสดงให้เห็นว่านักศึกษาที่ทำแบบทดสอบจำนวน 33 คน เมื่อจำแนกตามผลการเรียนระดับมัธยมศึกษาตอนปลายหรือเทียบเท่าของนักศึกษา ปรากฏว่า นักศึกษาที่มีผลการเรียน 2.51 – 3.00 มีมากที่สุด คือ 15 คน คิดเป็นร้อยละ 45.45 รองลงมาเป็น 2.01 – 2.50 จำนวน 13 คน คิดเป็นร้อยละ 39.39 และนักศึกษาที่มีผลการเรียน 3.51 – 4.00 มีจำนวนน้อยที่สุด คือ 2 คน คิดเป็นร้อยละ 6.06

 

ตารางที่ 4.4 คะแนนจากการทำแบบทดสอบของนักศึกษา

ผลการเรียนระดับมัธยมศึกษา

ตอนปลายหรือเทียบเท่า

จำนวน (คน)

ร้อยละ

55 - 60

0

0.00

50 - 54

3

9.09

45 - 49

7

21.21

40 - 44

9

27.27

35 - 39

8

24.24

30 - 34

4

12.12

25 - 29

1

3.03

20 - 24

1

3.03

รวม

33

99.99

 

                      จากตารางที่ 4.4 แสดงให้เห็นว่านักศึกษาที่ทำแบบทดสอบจำนวน 33 คน เมื่อจำแนกคะแนนจากการแบบทดสอบ ปรากฏว่า นักศึกษาที่ทำคะแนนจากแบบทดสอบได้ 40 - 44 คะแนน มีจำนวนมากที่สุด คือ 9 คน คิดเป็นร้อยละ 27.27 รองลงมาคือ 35-39 คะแนน มีจำนวน 8 คน คิดเป็นร้อยละ 24.24 และรองลงมาคือ 45 - 49 คะแนน มีจำนวน 7 คน คิดเป็นร้อยละ 21.21 ส่วนนักศึกษาที่ทำคะแนนได้สูงสุด คือ 50 - 54 คะแนน มีจำนวน 3 คน คิดเป็นร้อยละ 9.09 และนักศึกษาที่ทำคะแนนได้น้อยที่สุด คือ 20 - 24 คะแนน

มีจำนวน 1 คน คิดเป็นร้อยละ 3.03

 

ตารางที่ 4.5 ความสัมพันธ์ของผลการเรียนกับผลจากการทำแบบทดสอบของนักศึกษา

ผลการเรียนระดับมัธยมศึกษา

ตอนปลายหรือเทียบเท่า

คะแนน

รวม

(คน)

50-54

(คน)

45-49

(คน)

40-44 (คน)

35-39 (คน)

30-34

(คน)

25-29

(คน)

20-24

(คน)

3.51 – 4.00

1

1

0

0

0

0

0

2

3.01 – 3.50

0

1

1

0

0

1

0

3

2.51 – 3.00

1

3

5

3

2

0

1

15

2.01 – 2.50

1

2

3

5

2

0

0

13

รวม

3

7

9

8

4

1

1

33

 

                      จากตารางที่ 4.5 แสดงให้เห็นว่านักศึกษาที่ทำแบบทดสอบจำนวน 33 คน เมื่อจำแนกความสัมพันธ์ของผลการเรียนกับผลจากการทำแบบทดสอบของนักศึกษา ปรากฏว่า นักศึกษาที่มีผลการเรียนระดับดีมาก คือ 3.51 – 4.00 สามารถทำคะแนนได้ 50 - 54 คะแนน มีจำนวน 1 คน และ 45 - 49 คะแนน มีจำนวนเท่ากัน คือ 1 คน ส่วนนักศึกษาที่มีผลการเรียนระดับอื่น ๆ มีผลการทำคะแนนจากการทำแบบทดสอบที่หลากหลาย เช่น ผู้ที่มีผลการเรียนระดับดี คือ 3.01 - 3.50 สามารถทำคะแนนสอบได้ 45 - 49 คะแนน

40 - 44 คะแนน และ 25 - 29 คะแนน ส่วนผู้ที่มีผลการเรียน 2.01 - 2.50 สามารถทำคะแนนสอบได้ 50 - 54 คะแนน 45 - 49 คะแนน 40 - 44 คะแนน 35 - 39 คะแนน และ 30 - 34 คะแนน  แสดงให้เห็นว่าผู้ที่มีผลการเรียนระดับมัธยมศึกษาตอนปลายหรือเทียบเท่า 2.01 - 3.50 ยังไม่สามารถจำแนกความสามารถในการทำแบบทดสอบได้อย่างชัดเจน

 

 

 

 

 

 

ลักษณะการเขียนคำที่มีตัวการันต์

                      ผลการศึกษาลักษณะการเขียนการันต์ของนักศึกษาสาขาวิชาภาษาไทยเพื่อการสื่อสารชั้นปีที่ 1 คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏภูเก็ต จำนวน 33 คน ผลปรากฏดังต่อไปนี้

 

      1. ลักษณะการเขียนอักษรการันต์ที่กำกับไม่ให้ออกเสียงพยัญชนะตัวเดียว

        การเขียนอักษรการันต์ที่กำกับไม่ให้ออกเสียงพยัญชนะตัวเดียว เช่น การณ์  รัตน์  พงศ์  รักษ์  เป็นต้น ผลการทำแบบทดสอบปรากฏดังตารางที่ 4.6

 

ตารางที่ 4.6 ลักษณะการเขียนอักษรการันต์ที่กำกับไม่ให้ออกเสียงพยัญชนะตัวเดียว

ข้อ

คำ

จำนวนคำที่เขียนถูก

จำนวนคำที่เขียนผิด

รูปแบบที่เขียนผิด

ความถี่ (คน)

ร้อยละ

ความถี่ (คน)

ร้อยละ

1

ก๊อบ

22

66.66

11

33.33

กอบ, ก๊อป, ก๊อบท์, กลร์ป, ก็อลฟ, ก็อฟท์, ก๊อบบ์, ก็อล์ฟ, ก๊อฟส์, ก๊อปส์

2

แช

32

96.96

1

3.03

แช

3

ซี – เมน

29

87.87

4

12.12

ซีเเมนท์, ซีเมนท์

4

เต็น

27

81.81

6

18.18

เต็นซ์, เต็ทน์

5

ทิบ

32

96.96

1

3.03

ทิพ

6

เบีย

31

93.93

2

6.06

เบิร์ย

7

เปอ เซ็น

11

33.33

22

66.66

เปอเซ็นร์, เปอเซนต์

8

ฟิว

24

72.72

9

27.27

ฟิวซ์ ,ฟิวล์

9

ไม

11

33.33

22

66.66

ไมค์, ไม, มัยตร์

10

รัด

32

96.96

1

3.03

รัต

11

สิน

10

30.30

23

69.69

สินษ์, สิน, สินทร์, สินธุ, สินต์

12

สิด

25

75.75

8

24.24

สิทธิ, สิทธิ์

13

สง

32

96.96

1

3.03

ฆงฆ์

14

สิง

19

57.57

14

42.42

สิงค์, สิง

15

สะ – เหน่

24

72.72

9

27.27

เสหน่ย์, สเหน่, เสหน์, สเหน่ห์

16

หุ่น – ยน

31

93.93

2

6.06

หุ่นยนตร์

17

อง

31

93.93

2

6.06

อง, องก์

18

อะ – นุ – รัก

32

96.96

1

3.03

อนุรักษ

 

ตารางที่ 4.6 (ต่อ)

ข้อ

คำ

จำนวนคำที่เขียนถูก

จำนวนคำที่เขียนผิด

รูปแบบที่เขียนผิด

ความถี่ (คน)

ร้อยละ

ความถี่ (คน)

ร้อยละ

19

อา – พอน

26

78.78

7

21.21

อาพรณ์, อาภร, อาพร

20

อา – รม

33

100.00

0

0.00

 

 

 

                      จากตารางที่ 4.4 แสดงให้เห็นว่านักศึกษาที่ทำแบบทดสอบจำนวน 33 คน เมื่อพิจารณาจากลักษณะการเขียนอักษรการันต์ที่กำกับไม่ให้ออกเสียงพยัญชนะตัวเดียวแล้ว ปรากฏว่า นักศึกษาเขียนอักษรการันต์ที่กำกับไม่ให้ออกเสียงพยัญชนะตัวเดียวถูกต้องมากที่สุดเป็นลำดับที่ 1 คือ นักศึกษาเขียนถูกต้องทั้ง

33 คน คิดเป็นร้อยละ 100.00 ได้แก่ อารมณ์ เขียนถูกต้องเป็นลำดับที่ 2 จำนวน 32 คน คิดเป็นร้อยละ 96.96 ซึ่งมีอยู่ 5 คำ ได้แก่ แชร์ ทิพย์ รัตน์ สงฆ์ และอนุรักษ์ เขียนถูกต้องเป็นลำดับที่ 3 จำนวน 31 คน คิดเป็นร้อยละ 93.93 ซึ่งมีอยู่ 3 คำ ได้แก่ เบียร์ หุ่นยนต์ และองค์

                      นักศึกษาเขียนอักษรการันต์ที่กำกับไม่ให้ออกเสียงพยัญชนะตัวเดียวผิดมากที่สุดเป็นลำดับที่ 1จำนวน 23 คน คิดเป็นร้อยละ 69.69 ได้แก่ ศิลป์  เขียนผิดเป็นลำดับที่ 2 จำนวน 22 คน คิดเป็นร้อยละ 66.66 ซึ่งมีอยู่ 2 คำ ได้แก่ เปอร์เซ็นต์ และไมล์ เขียนผิดเป็นลำดับที่ 3 จำนวน 14 คน คิดเป็นร้อยละ 42.42 ได้แก่ สิงห์

                      รูปแบบของการเขียนอักษรการันต์ที่กำกับไม่ให้ออกเสียงพยัญชนะตัวเดียวผิดมากที่สุดเป็นลำดับที่ 1 มีจำนวน 10 รูปแบบ ได้แก่ กอล์ฟ ซึ่งเขียนผิดเป็น กอบ, ก๊อป, ก๊อบท์, กลร์ป, ก็อลฟ, ก็อฟท์, ก๊อบบ์, ก็อล์ฟ, ก๊อฟส์, และก๊อปส์  รูปแบบที่เขียนผิดเป็นลำดับที่ 2 มีจำนวน 5 รูปแบบ ได้แก่ ศิลป์ ซึ่งเขียนผิดเป็น สินษ์, สิน, สินทร์, สินธุ และสินต์  รูปแบบที่เขียนผิดเป็นลำดับที่ 3 มีจำนวน 4 รูปแบบ ได้แก่ เสน่ห์ ซึ่งเขียนผิดเป็น เสหน่ย์, สเหน่, เสหน์ และสเหน่ห์

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

      2. ลักษณะการเขียนอักษรการันต์ที่กำกับไม่ให้ออกเสียงพยัญชนะและสระ

       การเขียนอักษรการันต์ที่กำกับไม่ให้ออกเสียงพยัญชนะและสระ เช่น พันธุ์  สัมฤทธิ์  สิทธิ์

เป็นต้น ผลการทำแบบทดสอบปรากฏดังตารางที่ 4.7

 

ตารางที่ 4.7 ลักษณะการเขียนอักษรการันต์ที่กำกับไม่ให้ออกเสียงพยัญชนะและสระ

ข้อ

คำ

จำนวนคำที่เขียนถูก

จำนวนคำที่เขียนผิด

รูปแบบที่เขียนผิด

ความถี่ (คน)

ร้อยละ

ความถี่ (คน)

ร้อยละ

1

กัม มะ - พัน

19

57.57

14

42.42

กะมา, กรรมพันธ, กรรมพันธุ์,

กามพันธ์

2

กาละ - สิน

10

30.30

23

69.69

กาฬสินทร์, กาลสินทร์, กาฬสินธ์, กาญษินธ์, กาลสินธิ์, กาญสินธุ์, กาฬสิน, กาลสินธ์, กาลาสิน,

กาฬสินธิ์

3

กิด – ติ – มะ - สัก

25

75.75

8

24.24

กิติมศักดิ์, กิติมาศักดิ์, กิตติมาศักษ์, กิตติมาศักย์

4

จะเริน - พัน

21

63.63

12

36.36

ชรินทพันธ์, เจริญพันธ์

5

ต้น - โพ

28

84.84

5

15.15

ต้นโพธ์. ต้นโพ

6

บอ ริ - สุด

32

96.96

1

3.03

บริสุทธ์

7

เปรม - ปรี

23

69.69

10

30.30

เปรมปรีด์, เปรมปรีย์, เปรมษปี, เปรมปรี

8

แผลง - ริด

29

87.87

4

12.12

แผลงฤทธ์, แผลงริด, แผลงริษย์

9

พิน - อิ

1

03.03

32

96.96

พินอิฐ, พิณอีก, พินอิ์, พินอิ,

พินอินท์, พิณอิ, พินธุอิ, พินอินทร์

10

พืด – พัน

26

78.78

7

21.21

พืชพันธ์, พืช, พืชพันธิ์

11

ราม – มะ – เกียน

20

60.60

13

39.39

รามาเกียติ์, รามเกีย, รามเกียรต์, รามเกียรติ, รามเกียต์ร, รามเกียร์, รามเกีรตย์

12

ลิกขะ - สิด

23

69.69

10

30.30

ลิกขศิษย์, ลิกขสิทธิ, ลิขสิทธิ,

ลิกขสิทษ์, ลิขสิทธ์

13

วิ - สุด

30

90.90

3

 9.09

วิสุทธ์, วิสุดต์, วิศุทธ์

 

 

ตารางที่ 4.7 (ต่อ)

ข้อ

คำ

จำนวนคำที่เขียนถูก

จำนวนคำที่เขียนผิด

รูปแบบที่เขียนผิด

ความถี่ (คน)

ร้อยละ

ความถี่ (คน)

ร้อยละ

14

สะ - หริด

0

0.00

33

100.00

สริทธ์, สริด, สหริด, สฤทธิ์, สริตน์, สฤษธิ์, สหริษ, สะริทร์, สหริดร์,

สะริด, สริธ, สะหริด, สริดซ์,

สะฤทธิ์, สฤษ, สฏิท, สฤทธ์, สฏิษดิ์  

15

สะ - หฺวัด

20

60.60

13

39.39

สวาท, สวัส, สหวัด, สะหวาด, สวาส

16

สะ หวา – มิ - พัก

10

30.30

23

69.69

สหวามิพักตร์, สวามิพักตร์,

สหวามิพักต์, สหวามิพักษ์,

สหามิภักดิ์, ศวาภักษ์,

สักหวามิภักดิ์, สวามิพักต์,

สวามิภัก, สวาทมิพักตร์  

17

สัก - สิด

22

66.66

11

33.33

สักสิทธิ์, ศักดิ์สิทธ์, ศักดิ์สิทธ์,

ศักสิทธิ์, ศักดิ์ศิษย์, สักสิทธิ์

18

สัม - ริด

31

93.93

2

6.06

สัมฤท์, สำฤทธิ

19

สิน

11

33.33

22

66.66

สินธุ์, สินทร์, สินท์, สิน, สินธ์, ศีล, สินต์

20

อะ พิ - สิด

30

90.90

3

 9.09

อภิสิทธ์, อภิเษก

 

      จากตารางที่ 4.5 แสดงให้เห็นว่านักศึกษาที่ทำแบบทดสอบจำนวน 33 คน เมื่อพิจารณาจากลักษณะการเขียนอักษรการันต์ที่กำกับไม่ให้ออกเสียงพยัญชนะและสระแล้ว ปรากฏว่า นักศึกษาเขียนอักษรการันต์ที่กำกับไม่ให้ออกเสียงพยัญชนะและสระถูกต้องมากที่สุดเป็นลำดับที่ 1 จำนวน 32 คน คิดเป็นร้อยละ 96.96 ได้แก่ บริสุทธิ์ เขียนถูกต้องเป็นลำดับที่ 2 จำนวน 31 คน คิดเป็นร้อยละ 93.93 ได้แก่ สัมฤทธิ์ เขียนถูกต้องเป็นลำดับที่ 3 จำนวน 30 คน คิดเป็นร้อยละ 90.90 ซึ่งมีอยู่ 2 คำ ได้แก่ วิสุทธิ์ และอภิสิทธิ์

      นักศึกษาเขียนอักษรการันต์ที่กำกับไม่ให้ออกเสียงพยัญชนะและสระผิดมากที่สุดเป็นลำดับที่ 1 คือ นักศึกษาเขียนผิดทั้ง 33 คน คิดเป็นร้อยละ 100 ได้แก่ สฤษดิ์  เขียนผิดเป็นลำดับที่ 2 จำนวน 32 คน คิดเป็นร้อยละ 96.96 ได้แก่ พินทุ์อิ  เขียนผิดเป็นลำดับที่ 3 จำนวน 23 คน คิดเป็นร้อยละ 69.69 ซึ่งมีอยู่ 2 คำ ได้แก่ กาฬสินธุ์ และสวามิภักดิ์

 

      รูปแบบของการเขียนอักษรการันต์ที่กำกับไม่ให้ออกเสียงพยัญชนะและสระผิดมากที่สุดเป็นลำดับที่ 1 มีจำนวน 18 รูปแบบ ได้แก่ สฤษดิ์ ซึ่งเขียนผิดเป็น สริทธ์, สริด, สหริด, สฤทธิ์, สริตน์, สฤษธิ์, สหริษ,

สะริทร์, สหริดร์, สะริด, สริธ, สะหริด, สริดซ์, สะฤทธิ์, สฤษ, สฏิท, สฤทธ์ และสฏิษดิ์ รูปแบบที่เขียนผิดเป็นลำดับที่ 2 มีจำนวน 10 รูปแบบ ซึ่งมีอยู่ 2 คำ ได้แก่ กาฬสินธุ์ ซึ่งเขียนผิดเป็น กาฬสินทร์, กาลสินทร์,

กาฬสินธ์, กาญษินธ์, กาลสินธิ์, กาญสินธุ์, กาฬสิน, กาลสินธ์, กาลาสิน, กาฬสิน และกาฬสินธิ์ และสวามิภักดิ์ ซึ่งเขียนผิดเป็น สหวามิพักตร์, สวามิพักตร์, สหวามิพักต์, สหวามิพักษ์, สหามิภักดิ์, ศวาภักษ์, สักหวามิภักดิ์, สวามิพักต์, สวามิภัก และสวาทมิพักตร์  รูปแบบที่เขียนผิดเป็นลำดับที่ 3 มีจำนวน 8 รูปแบบ ได้แก่ พินทุ์อิ ซึ่งเขียนผิดเป็น พินอิฐ, พิณอีก, พินอิ์, พินอิ, พินอินท์, พิณอิ, พินธุอิ และพินอินทร์

 

      3. ลักษณะการเขียนอักษรการันต์ที่กำกับไม่ให้ออกเสียงพยัญชนะหลายตัว

        การเขียนอักษรการันต์ที่กำกับไม่ให้ออกเสียงพยัญชนะหลายตัว เช่น จันทร์  ลักษณ์ พราหมณ์ เป็นต้น ผลการทำแบบทดสอบปรากฏดังตารางที่ 4.8

 

ตารางที่ 4.8 ลักษณะการเขียนอักษรการันต์ที่กำกับไม่ให้ออกเสียงพยัญชนะหลายตัว

ข้อ

คำ

จำนวนคำที่เขียนถูก

จำนวนคำที่เขียนผิด

รูปแบบที่เขียนผิด

ความถี่ (คน)

ร้อยละ

ความถี่ (คน)

ร้อยละ

1

คะ - เชน

8

24.24

25

75.75

คเชนญ์, เคชนทร์, เคชน, คเชน์, เขซฐ์, ขะเสนษ์, เชญฐ์, คเชร, คเชนต์, คเชน, ขเชน, คเชนท์, เขชธ, คเชนณ์, คเชรธิ์

2

คะ นิดตะ -สาด

33

100.00

0

0.00

 

3

ฉัน – ทะ –  ลัก

29

87.87

4

12.12

ฉันท์ลักษณ์, ชัทลักษณ์

4

เชา

14

42.42

19

57.57

เฉาว์

5

ทา – นิน

7

21.21

26

78.78

ทานินทร์, พานินท์, ถานิตย์, ธานินท์, ทาณิชย์, ธาณิน,

ฐานินทร์, ธานินท์, ธาร์นิน, นานิล, ธานิน, ทานินต์, ธานิล, ถานิลา,

ทานินท์

6

พระ - จัน

33

100.00

0

0.00

 

7

พระ - อิน

31

93.93

2

6.06

ฟิมส์, พระอินท์

 

 

ตารางที่ 4.8 (ต่อ)

ข้อ

คำ

จำนวนคำที่เขียนถูก

จำนวนคำที่เขียนผิด

รูปแบบที่เขียนผิด

ความถี่ (คน)

ร้อยละ

ความถี่ (คน)

ร้อยละ

8

พราม

14

42.42

19

57.57

พรามหม, รามย์, ปราม์, พามต์,

พามษ์, พราห์ม, พรามหณ์, รามต์, พรามณ์, พราหม์

9

พัก

18

54.54

15

45.45

พักต์, พักษตร์, พากต์, พักท์, ภักก์, พินต์, พัก, ภักตร์

10

ภู – มิ – สาด

33

100.00

0

0.00

 

11

เมือง - กาน

15

45.45

18

54.54

เมืองกานญ์, เมืองกาณ์, เมืองกาญ, เมืองกาญจ์, เมืองกานต์

12

ยุด – ทะ – สาด

23

69.69

10

30.30

ยุทศาสตร์, ยุดทศาสตร์, ยุตถศาสตร์, ยุธศาสตร์, ยุตศาสต

13

วัด – ชะ – เรน

33

100.00

0

0.00

 

14

วา – ระ – สาน -สาด

33

100.00

0

0.00

 

15

เสด – ถะ – สาด

27

81.81

6

18.18

เศรษศาสตร์, เศษฐศาสตร์, เสด, เศษฐศาสตร์

16

สัน ยะ -  ลัก

25

75.75

8

24.24

สัญญาลักษณ์, สันญลักษณ์,

สันลักษณ์

17

สาย - สิน

0

0.00

33

100.00

สายสินธ์, สายสินต์, สายสิญธุ์,

สายสินท์, สายสินทร์

18

สุ - ราด

14

42.42

19

57.57

สุราชฎร์, สุราษฎ์, สุราษ, สุราษฏ์, สุราษณ์, สุราษ, สุราษฎธานี

19

สุ – ริ – เยน

5

15.15

28

84.84

สุริเย็น, สุริเยนต์, สุริเยน, สุริเยน์,

สุริเย, สุริเยศ, สุริเยณ, สุริเยนธ์,

สุริเยศิ

20

เอก กะ - ลัก

32

96.96

1

3.03

เอกลัษณ์

 

 

 

 

ลักษณะการเขียนอักษรการันต์ที่กำกับไม่ให้ออกเสียงพยัญชนะหลายตัว ปรากฏว่า นักศึกษาเขียนอักษรการันต์ที่กำกับไม่ให้ออกเสียงพยัญชนะหลายตัวถูกต้องมากที่สุดเป็นลำดับที่ 1 คือ นักศึกษาเขียนถูกต้องทั้ง 33 คน คิดเป็นร้อยละ 100 ซึ่งมีอยู่ 4 คำ ได้แก่ คณิตศาสตร์, พระจันทร์, วัชเรนทร์ และวารสารศาสตร์ เขียนถูกต้องเป็นลำดับที่ 2 จำนวน 32 คน คิดเป็นร้อยละ 96.96 ได้แก่ เอกลักษณ์ เขียนถูกต้องเป็นลำดับที่ 3 จำนวน 31 คน คิดเป็นร้อยละ 93.93 ได้แก่ พระอินทร์

      นักศึกษาเขียนอักษรการันต์ที่กำกับไม่ให้ออกเสียงพยัญชนะหลายตัวผิดมากที่สุดเป็นลำดับที่ 1 คือ นักศึกษาเขียนผิดทั้ง 33 คน คิดเป็นร้อยละ 100 ได้แก่ สายสิญจน์ เขียนผิดเป็นลำดับที่ 2 จำนวน 28 คน คิดเป็นร้อยละ 84.84 ได้แก่ สุริเยนทร์  เขียนผิดเป็นลำดับที่ 3 จำนวน 26 คน คิดเป็นร้อยละ 78.78 ได้แก่ ธานินทร์

                      รูปแบบของการเขียนอักษรการันต์ผิดมากที่สุดเป็นลำดับที่ 1 มีจำนวน 15 รูปแบบ ซึ่งมีอยู่ 2 คำ ได้แก่ คเชนทร์ ซึ่งเขียนผิดเป็น คเชนญ์, เคชนทร์, เคชน, คเชน์, เขซฐ์, ขะเสนษ์, เชญฐ์, คเชร, คเชนต์, คเชน, ขเชน, คเชนท์, เขชธ, คเชนณ์ และคเชรธิ์ คำว่า ธานินทร์ ซึ่งเขียนผิดเป็น ทานินทร์, พานินท์, ถานิตย์,

ธานินท์, ทาณิชย์, ธาณิน, ฐานินทร์, ธานินท์, ธาร์นิน, นานิล, ธานิน, ทานินต์, ธานิล, ถานิลา และทานินท์ รูปแบบที่เขียนผิดเป็นลำดับที่ 2 มีจำนวน 10 รูปแบบ ได้แก่ พราหมณ์ ซึ่งเขียนผิดเป็น พรามหม, รามย์, ปราม์, พามต์, พามษ์, พราห์ม, พรามหณ์, รามต์, พรามณ์ และพราหม์ รูปแบบที่เขียนผิดเป็นลำดับที่ 3 มีจำนวน 9 รูปแบบ ได้แก่ สุริเยนทร์ ซึ่งเขียนผิดเป็น สุริเย็น, สุริเยนต์, สุริเยน, สุริเยน์, สุริเย, สุริเยศ, สุริเยณ, สุริเยนธ์ และสุริเยศิ       

 

                      จากการเขียนการันต์ของนักศึกษาทั้ง 3 ลักษณะข้างต้น เมื่อนำมาพิจารณาการเขียนการันต์ในภาพรวม ปรากฏดังตารางที่ 4.9

 

ตารางที่ 4.9 ลักษณะการเขียนการันต์

ข้อ

คำ

จำนวนคำที่เขียนถูก

จำนวนคำที่เขียนผิด

รูปแบบที่เขียนผิด

ความถี่ (คน)

ร้อยละ

ความถี่ (คน)

ร้อยละ

 

 

 

 

 

1

การเขียนอักษรการันต์ที่กำกับไม่ให้ออกเสียงพยัญชนะตัวเดียว

 

ก๊อบ

 

 

 

 

 

22

 

 

 

 

 

66.66

 

 

 

 

 

11

 

 

 

 

 

33.33

 

 

 

 

 

กอบ, ก๊อป, ก๊อบท์, กลร์ป, ก็อลฟ, ก็อฟท์, ก๊อบบ์, ก็อล์ฟ, ก๊อฟส์, ก๊อปส์

ตารางที่ 4.9 (ต่อ)

ข้อ

คำ

จำนวนคำที่เขียนถูก

จำนวนคำที่เขียนผิด

รูปแบบที่เขียนผิด

ความถี่ (คน)

ร้อยละ

ความถี่ (คน)

ร้อยละ

2

แช

32

96.96

1

3.03

แช

3

ซี - เมน

29

87.87

4

12.12

ซีเเมนท์, ซีเมนท์

4

เต็น

27

81.81

6

18.18

เต็นซ์, เต็ทน์

5

ทิบ

32

96.96

1

3.03

ทิพ

6

เบีย

31

93.93

2

6.06

เบิร์ย

7

เปอ เซ็น

11

33.33

22

66.66

เปอเซ็นร์, เปอเซนต์

8

ฟิว

24

72.72

9

27.27

ฟิวซ์ ,ฟิวล์

9

ไม

11

33.33

22

66.66

ไมค์, ไม, มัยตร์

10

รัด

32

96.96

1

3.03

รัต

11

สิน

10

30.30

23

69.69

สินษ์, สิน, สินทร์, สินธุ, สินต์

12

สิด

25

75.75

8

24.24

สิทธิ, สิทธิ์

13

สง

32

96.96

1

3.03

ฆงฆ์

14

สิง

19

57.57

14

42.42

สิงค์, สิง

15

สะ - เหน่

24

72.72

9

27.27

เสหน่ย์, สเหน่, เสหน์, สเหน่ห์

16

หุ่น - ยน

31

93.93

2

6.06

หุ่นยนตร์

17

อง

31

93.93

2

6.06

อง, องก์

18

อะ นุ - รัก

32

96.96

1

3.03

อนุรักษ

19

อา – พอน

26

78.78

7

21.21

อาพรณ์, อาภร, อาพร

20

อา - รม

33

100.00

0

0.00

 

 

 

 

 

 

21

การเขียนอักษรการันต์ที่กำกับไม่ให้ออกเสียงพยัญชนะและสระ

 

กัม มะ - พัน

 

 

 

 

 

19

 

 

 

 

 

57.57

 

 

 

 

 

14

 

 

 

 

 

42.42

 

 

 

 

 

กะมา, กรรมพันธ, กรรมพันธุ์,

กามพันธ์

 

 

 

ตารางที่ 4.9 (ต่อ)

ข้อ

คำ

จำนวนคำที่เขียนถูก

จำนวนคำที่เขียนผิด

รูปแบบที่เขียนผิด

ความถี่ (คน)

ร้อยละ

ความถี่ (คน)

ร้อยละ

22

กา ละ - สิน

10

30.30

23

69.69

กาฬสินทร์, กาลสินทร์, กาฬสินธ์, กาญษินธ์, กาลสินธิ์, กาญสินธุ์, กาลสินธ์, กาลาสิน, กาฬสิน,

กาฬสินธิ์

23

กิด – ติ – มะ - สัก

25

75.75

8

24.24

กิติมศักดิ์, กิติมาศักดิ์, กิตติมาศักษ์, กิตติมาศักย์

24

จะ เริน - พัน

21

63.63

12

36.36

ชรินทพันธ์, เจริญพันธ์

25

ต้น - โพ

28

84.84

5

15.15

ต้นโพธ์, ต้นโพ

26

บอ ริ - สุด

32

96.96

1

3.03

บริสุทธ์

27

เปรม - ปรี

23

69.69

10

30.30

เปรมปรีด์, เปรมปรีย์, เปรมษปี, เปรมปรี

28

แผลง - ริด

29

87.87

4

12.12

แผลงฤทธ์, แผลงริด, แผลงริษย์

29

พิน - อิ

1

03.03

32

96.96

พินอิฐ, พิณอีก, พินอิ์, พินอิ,

พินอินท์, พิณอิ, พินธุอิ, พินอินทร์

30

พืด – พัน

26

78.78

7

21.21

พืชพันธ์, พืช, พืชพันธิ์

31

ราม – มะ – เกียน

20

60.60

13

39.39

รามาเกียติ์, รามเกีย, รามเกียรต์, รามเกียรติ, รามเกียต์ร, รามเกียร์, รามเกีรตย์, รามเกียร์

32

ลิก ขะ - สิด

23

69.69

10

30.30

ลิกขศิษย์, ลิกขสิทธิ, ลิขสิทธิ,

ลิกขสิทษ์, ลิขสิทธ์

33

วิ - สุด

30

90.90

3

 9.09

วิสุทธ์, วิสุดต์, วิศุทธ์

34

สัก - สิด

22

66.66

11

33.33

สักสิทธิ์, ศักดิ์สิทธ์, ศักดิ์สิทธ์,

ศักสิทธิ์, ศักดิ์ศิษย์, สักสิทธิ์

35

สะ - หริด

0

0.00

33

100.00

สริทธ์, สริด, สหริด, สฤทธิ์, สริตน์, สฤษธิ์, สหริษ, สะริทร์, สหริดร์,

สะริด, สริธ, สะหริด, สริดซ์,

สะฤทธิ์, สฤษ, สฏิท, สฤทธ์, สฏิษดิ์  

 

 

ตารางที่ 4.9 (ต่อ)

ข้อ

คำ

จำนวนคำที่เขียนถูก

จำนวนคำที่เขียนผิด

รูปแบบที่เขียนผิด

ความถี่ (คน)

ร้อยละ

ความถี่ (คน)

ร้อยละ

36

สะ - หฺวัด

20

60.60

13

39.39

สวาท, สวัส, สหวัด, สะหวาด, สวาส

37

สะ หวา – มิ - พัก

10

30.30

23

69.69

สหวามิพักตร์, สวามิพักตร์,

สหวามิพักต์, สหวามิพักษ์,

สหามิภักดิ์, ศวาภักษ์,

สักหวามิภักดิ์, สวามิพักต์,

สวามิภัก, สวาทมิพักตร์  

38

สัม - ริด

31

93.93

2

6.06

สัมฤท์, สำฤทธิ

39

สิน

11

33.33

22

66.66

สินธุ์, สินทร์, สินท์, สิน, สินธ์, ศีล, สินต์

40

อะ พิ - สิด

30

90.90

3

 9.09

อภิสิทธ์, อภิเษก

 

 

 

 

 

41

การเขียนอักษรการันต์ที่กำกับไม่ให้ออกเสียงพยัญชนะหลายตัว

 

คะ - เชน

 

 

 

 

 

8

 

 

 

 

 

24.24

 

 

 

 

 

25

 

 

 

 

 

75.75

 

 

 

 

 

คเชนญ์, เคชนทร์, เคชน, คเชน์, เขซฐ์, ขะเสนษ์, เชญฐ์, คเชร, คเชนต์, คเชน, ขเชน, คเชนท์, เขชธ, คเชนณ์, คเชรธิ์

42

คะ นิด ตะ -สาด

33

100.00

0

0.00

 

43

ฉัน – ทะ – ลัก

29

87.87

4

12.12

ฉันท์ลักษณ์, ชัทลักษณ์

44

เชา

14

42.42

19

57.57

เฉาว์

45

ทา – นิน

7

21.21

26

78.78

ทานินทร์, พานินท์, ถานิตย์, ธานินท์, ทาณิชย์, ธาณิน, นานิล,

ฐานินทร์, ธานินท์, ธาร์นิน, ธานิน, ทานินต์, ธานิล, ถานิลา, ทานินท์

 

ตารางที่ 4.9 (ต่อ)

ข้อ

คำ

จำนวนคำที่เขียนถูก

จำนวนคำที่เขียนผิด

รูปแบบที่เขียนผิด

ความถี่ (คน)

ร้อยละ

ความถี่ (คน)

ร้อยละ

46

พระ - จัน

33

100.00

0

0.00

 

47

พระ - อิน

31

93.93

2

6.06

ฟิมส์, พระอินท์

48

พราม

14

42.42

19

57.57

พรามหม, รามย์, ปราม์, พามต์,

พามษ์, พราห์ม, พรามหณ์, รามต์, พรามณ์, พราหม์

49

พัก

18

54.54

15

45.45

พักต์, พักษตร์, พากต์, พักท์, ภักก์, พินต์, พัก, ภักตร์

50

ภู – มิ – สาด

33

100.00

0

0.00

 

51

เมือง - กาน

15

45.45

18

54.54

เมืองกานญ์, เมืองกาณ์, เมืองกาญ, เมืองกาญจ์, เมืองกานต์

52

ยุด – ทะ – สาด

23

69.69

10

30.30

ยุทศาสตร์, ยุดทศาสตร์,

ยุตถศาสตร์, ยุธศาสตร์, ยุตศาสต

53

วัด – ชะ – เรน

33

100.00

0

0.00

 

54

วา – ระ – สาน -สาด

33

100.00

0

0.00

 

55

เสด – ถะ – สาด

27

81.81

6

18.18

เศรษศาสตร์, เศษฐศาสตร์,

เศษฐศาสตร์

56

สัน ยะ - ลัก

25

75.75

8

24.24

สัญญาลักษณ์, สันญลักษณ์,

สันลักษณ์

57

สาย - สิน

-

-

33

100.00

สายสินธ์, สายสินต์, สายสิญธุ์,

สายสินท์, สายสินทร์

58

สุ - ราด

14

42.42

19

57.57

สุราชฎร์, สุราษฎ์, สุราษ, สุราษฏ์, สุราษณ์, สุราษ, สุราษฎธานี

59

สุ – ริ – เยน

5

15.15

28

84.84

สุริเย็น, สุริเยนต์, สุริเยน, สุริเยน์,

สุริเย, สุริเยศ, สุริเยณ, สุริเยนธ์,

สุริเยศิ

60

เอก  -กะ - ลัก

32

96.96

1

3.03

เอกลัษณ์

      จากตารางที่ 4.7 แสดงให้เห็นว่านักศึกษาที่ทำแบบทดสอบจำนวน 33 คน เมื่อพิจารณาจากการเขียนอักษรการันต์ทั้ง 3 ลักษณะแล้ว ปรากฏว่า นักศึกษาเขียนอักษรการันต์ถูกต้องมากที่สุดเป็นลำดับที่ 1 จำนวน 33 คน คิดเป็นร้อยละ 100 ซึ่งมีอยู่ 6 คำ ได้แก่ อารมณ์, คณิตศาสตร์, พระจันทร์, ภูมิศาสตร์, วัชเรนทร์ และวารสารศาสตร์ เขียนถูกต้องเป็นลำดับที่ 2 จำนวน 32 คำ คิดเป็นร้อยละ 93.93 ซึ่งมีอยู่ 7 คำ ได้แก่ แชร์, ทิพย์, รัตน์, สงฆ์, อนุรักษ์, บริสุทธิ์ และเอกลักษณ์ เขียนถูกต้องเป็นลำดับที่ 3 จำนวน 31 คน

คิดเป็นร้อยละ 90.90 ซึ่งมีอยู่ 4 คำ ได้แก่ เบียร์, หุ่นยนต์, องค์ และสัมฤทธิ์

      นักศึกษาเขียนอักษรการันต์ที่กำกับไม่ให้ออกเสียงพยัญชนะและสระผิดมากที่สุดเป็นลำดับที่ 1 คือ นักศึกษาเขียนผิดทั้ง 33 คน คิดเป็นร้อยละ 100 ซึ่งมีอยู่ 2 คำ ได้แก่ สฤษดิ์ และสายสิญจน์ เขียนผิดเป็นลำดับที่ 2 จำนวน 32 คน คิดเป็นร้อยละ 96.96 ได้แก่ พินทุ์อิ  เขียนผิดเป็นลำดับที่ 3 จำนวน 28 คน คิดเป็นร้อยละ 84.84 ได้แก่ สุริเยนทร์

                      รูปแบบของการเขียนอักษรการันต์ผิดมากที่สุดเป็นลำดับที่ 1 มีจำนวน 18 รูปแบบ ได้แก่ สฤษดิ์ ซึ่งเขียนผิดเป็น สริทธ์, สริด, สหริด, สฤทธิ์, สริตน์, สฤษธิ์, สหริษ, สะริทร์, สหริดร์, สะริด, สริธ, สะหริด, สริดซ์, สะฤทธิ์, สฤษ, สฏิท, สฤทธ์ และสฏิษดิ์  รูปแบบที่เขียนผิดเป็นลำดับที่ 2 มีจำนวน 15 รูปแบบ ซึ่งมีอยู่ 2 คำ ได้แก่ คเชนทร์ ซึ่งเขียนผิดเป็น คเชนญ์, เคชนทร์, เคชน, คเชน์, เขซฐ์, ขะเสนษ์, เชญฐ์, คเชร, คเชนต์, คเชน, ขเชน, คเชนท์, เขชธ, คเชนณ์ และคเชรธิ์  คำว่า ธานินทร์ ซึ่งเขียนผิดเป็น ทานินทร์,  พานินท์,

ถานิตย์, ธานินท์, ทาณิชย์, ธาณิน, ฐานินทร์, ธานินท์, ธาร์นิน, นานิล, ธานิน, ทานินต์, ธานิล, ถานิลา และทานินท์ รูปแบบที่เขียนผิดเป็นลำดับที่ 3 มีจำนวน 10 รูปแบบ ซึงมีอยู่ 2 คำ ได้แก่ กอล์ฟ ซึ่งเขียนผิดเป็น กอบ, ก๊อป, ก๊อบท์, กลร์ป, ก็อลฟ, ก็อฟท์, ก๊อบบ์, ก็อล์ฟ, ก๊อฟส์, ก๊อปส์ และกาฬสินธุ์ ซึ่งเขียนผิดเป็น กาฬสินทร์,

กาลสินทร์, กาฬสินธ์, กาญษินธ์, กาลสินธิ์, กาญสินธุ์, กาฬสิน, กาลสินธ์, กาลาสิน, และกาฬสินธิ์  

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

สาเหตุในการเขียนคำที่มีตัวการันต์ 

                      สาเหตุในการเขียนคำที่มีตัวการันต์ เป็นการแสดงเหตุผลที่นักศึกษาเลือกเขียนคำศัพท์ที่มีตัวการันต์ในลักษณะนั้น ๆ ซึ่งปรากฏจากการตอบแบบทดสอบ โดยมีรายละเอียดของสาเหตุที่เลือก 5 สาเหตุ ดังนี้

                      1. เขียนตามที่เคยเห็นมา เป็นการเขียนคำศัพท์ที่มีตัวการันต์โดยอาศัยประสบการณ์เดิมที่ตนเองได้เคยพบเห็นมา

                      2. เขียนตามหลักภาษา เป็นการเขียนคำศัพท์ที่มีตัวการันต์โดยอาศัยหลักภาษาไทยซึ่งเป็นหลักการเขียนตามที่ตนเองเคยเรียนและจดจำมา

                      3. เขียนตามการออกเสียง เป็นการเขียนคำศัพท์ที่มีตัวการันต์โดยอาศัยการเทียบเคียงจากการออกเสียงของตนเอง

                      4. เขียนเทียบกับคำใกล้เคียง เป็นการเขียนคำศัพท์ที่มีตัวการันต์โดยอาศัยการเทียบเคียงกับคำที่มีรูปศัพท์ใกล้เคียงกันซึ่งตนเองคุ้นเคย และมีประสบการณ์ในการเขียนคำนั้น ๆ  

                      5. สาเหตุอื่น ๆ เป็นสาเหตุที่เขียนคำศัพท์ที่มีตัวการันต์ซึ่งนอกเหนือจาก 4 สาเหตุข้างต้น เช่น ไม่แน่ใจว่าเขียนอย่างไร เดาว่าน่าจะเขียนเช่นนั้น เป็นต้น  

                      ผลการศึกษาเหตุผลในการเขียนการันต์ของนักศึกษาสาขาวิชาภาษาไทยเพื่อการสื่อสารชั้นปีที่ 1 คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏภูเก็ต จำนวน 33 คน ผลปรากฏดังต่อไปนี้

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 


ตารางที่ 4.10 แสดงเหตุผลในการเขียนการันต์

ข้อ

คำ

เขียนตามที่เคยเห็นมา

เขียนตามหลักภาษา

เขียนตามการออกเสียง

เขียนเทียบกับคำใกล้เคียง

สาเหตุอื่น ๆ

ความถี่ (คน)

ร้อยละ

ความถี่ (คน)

ร้อยละ

ความถี่ (คน)

ร้อยละ

ความถี่ (คน)

ร้อยละ

ความถี่ (คน)

ร้อยละ

1

กอล์ฟ

18

54.54

8

24.24

1

3.03

0

0.00

6

18.18

2

แชร์

22

66.66

6

18.18

0

0.00

3

9.09

2

6.06

3

ซีเมนต์

23

69.69

6

18.18

2

6.06

1

3.03

1

3.03

4

เต็นท์

16

48.48

5

15.15

5

15.15

4

12.12

3

9.09

5

ทิพย์

21

63.63

6

18.18

4

12.12

0

0.00

2

6.06

6

เบียร์

21

63.63

11

33.33

1

3.03

0

0.00

0

0.00

7

เปอร์เซ็นต์

26

78.78

6

18.18

1

3.03

0

0.00

0

0.00

8

ฟิวส์

22

66.66

3

9.09

4

12.12

2

6.06

2

6.06

9

ไมล์

19

57.57

7

21.21

2

6.06

3

9.09

2

6.06

10

รัตน์

22

66.66

11

33.33

0

0.00

0

0.00

0

0.00

11

ศิษย์

21

63.63

12

36.36

0

0.00

0

0.00

0

0.00

12

ศิลป์

16

48.48

5

15.15

3

9.09

6

18.18

3

9.09

13

สงฆ์

22

66.66

9

27.27

1

3.03

0

0.00

1

3.03

14

สิงห์

21

63.63

3

9.09

6

18.18

3

9.09

0

0.00

15

เสน่ห์

19

57.57

7

21.21

3

9.09

3

9.09

1

9.09

16

หุ่นยนต์

22

66.66

11

33.33

0

0.00

0

0.00

0

0.00

17

องค์

17

51.51

16

48.48

0

0.00

0

0.00

0

0.00

 

ตารางที่ 4.10 (ต่อ)

ข้อ

คำ

เขียนตามที่เคยเห็นมา

เขียนตามหลักภาษา

เขียนตามการออกเสียง

เขียนเทียบกับคำใกล้เคียง

สาเหตุอื่น ๆ

ความถี่ (คน)

ร้อยละ

ความถี่ (คน)

ร้อยละ

ความถี่ (คน)

ร้อยละ

ความถี่ (คน)

ร้อยละ

ความถี่ (คน)

ร้อยละ

18

อนุรักษ์

17

51.51

14

42.42

1

3.03

1

3.03

0

0.00

19

อาภรณ์

20

60.60

6

18.18

3

9.09

2

6.06

2

6.06

20

อารมณ์

18

54.54

14

42.42

1

3.03

0

0.00

0

0.00

21

กรรมพันธุ์

13

39.39

8

24.24

4

12.12

4

12.12

4

12.12

22

กาฬสินธุ์

16

48.48

4

12.12

4

12.12

3

9.09

6

18.18

23

กิตติมศักดิ์

8

24.24

2

6.06

6

18.18

7

21.21

10

30.30

24

เจริญพันธุ์

15

45.45

7

21.21

5

15.15

4

12.12

2

6.06

25

ต้นโพธิ์

27

81.81

3

9.09

1

3.03

1

3.03

1

3.03

26

บริสุทธิ์

20

60.60

12

36.36

0

0.00

1

3.03

0

0.00

27

เปรมปรีดิ์

20

60.60

6

18.18

3

9.09

2

6.06

2

6.06

28

แผลงฤทธิ์

15

45.45

8

24.24

3

9.09

0

0.00

7

21.21

29

พินทุ์อิ

8

24.24

0

0.00

9

27.27

3

9.09

13

39.39

30

พืชพันธุ์

23

69.69

5

15.15

4

12.12

1

3.03

0

0.00

31

รามเกียรติ์

20

60.60

4

12.12

0

0.00

4

12.12

5

15.15

32

ลิขสิทธิ์

20

60.60

9

27.27

2

6.06

0

0.00

2

6.06

33

วิสุทธิ์

16

48.48

5

15.15

3

9.09

2

6.06

7

21.21

34

ศักดิ์สิทธิ์

19

57.57

5

15.15

1

3.03

3

9.09

5

15.15

35

สฤษดิ์

1

3.03

2

6.06

5

15.15

0

0.00

25

75.75

ตารางที่ 4.10 (ต่อ)

ข้อ

คำ

เขียนตามที่เคยเห็นมา

เขียนตามหลักภาษา

เขียนตามการออกเสียง

เขียนเทียบกับคำใกล้เคียง

สาเหตุอื่น ๆ

ความถี่ (คน)

ร้อยละ

ความถี่ (คน)

ร้อยละ

ความถี่ (คน)

ร้อยละ

ความถี่ (คน)

ร้อยละ

ความถี่ (คน)

ร้อยละ

36

สวัสดิ์

16

48.48

7

21.21

2

6.06

1

3.03

7

21.21

37

สวามิภักดิ์

13

39.39

1

3.03

4

12.12

5

15.15

10

30.30

38

สัมฤทธิ์

19

57.57

10

30.30

1

3.03

0

0.00

3

9.09

39

สินธุ์

11

33.33

6

18.18

3

9.09

4

12.12

9

27.27

40

อภิสิทธิ์

15

45.45

3

9.09

4

12.12

6

18.18

5

15.15

41

คเชนทร์

7

21.21

0

0.00

5

15.15

3

9.09

18

54.54

42

คณิตศาสตร์

18

54.54

15

45.45

0

0.00

0

0.00

0

0.00

43

ฉันทลักษณ์

23

69.69

8

24.24

1

3.03

0

0.00

1

3.03

44

เชาวน์

18

54.54

4

12.12

3

9.09

2

6.06

6

18.18

45

ธานินทร์

7

21.21

1

3.03

6

18.18

2

6.06

17

51.51

46

พระจันทร์

18

54.54

13

39.39

0

0.00

0

0.00

2

6.06

47

พระอินทร์

20

60.60

11

33.33

1

3.03

0

0.00

1

3.03

48

พราหมณ์

19

57.57

3

9.09

2

6.06

2

6.06

7

21.21

49

พักตร์

12

36.36

7

21.21

3

9.09

1

3.03

10

30.30

50

ภูมิศาสตร์

19

57.57

11

33.33

1

3.03

0

0.00

2

6.06

51

เมืองกาญจน์

18

54.54

3

9.09

5

15.15

1

3.03

6

18.18

52

ยุทธศาสตร์

21

63.63

5

15.15

1

3.03

2

6.06

4

12.12

 

 ตารางที่ 4.10 (ต่อ)

ข้อ

คำ

เขียนตามที่เคยเห็นมา

เขียนตามหลักภาษา

เขียนตามการออกเสียง

เขียนเทียบกับคำใกล้เคียง

สาเหตุอื่น ๆ

ความถี่ (คน)

ร้อยละ

ความถี่ (คน)

ร้อยละ

ความถี่ (คน)

ร้อยละ

ความถี่ (คน)

ร้อยละ

ความถี่ (คน)

ร้อยละ

53

วัชเรนทร์

14

42.42

1

3.03

5

15.15

1

3.03

12

36.36

54

วารสารศาสตร์

8

24.24

4

12.12

4

12.12

5

15.15

12

36.36

55

เศรษฐศาสตร์

21

63.63

9

27.27

1

3.03

0

0.00

2

6.06

56

สัญลักษณ์

18

54.54

14

42.42

0

0.00

1

3.03

0

0.00

57

สายสิญจน์

14

42.42

1

3.03

8

24.24

1

3.03

9

27.27

58

สุราษฎร์

15

45.45

7

21.21

1

3.03

4

12.12

6

18.18

59

สุริเยนทร์

7

21.21

1

3.03

7

21.21

3

9.09

15

45.45

60

เอกลักษณ์

17

51.51

15

45.45

0

0.00

1

3.03

0

0.00

 

 


                      จากตารางที่ 4.7 แสดงเหตุผลในการเขียนการันต์ของนักศึกษาทั้ง 5 ประเด็น สามารถอธิบายตามประเด็นต่าง ๆ ได้ดังต่อไปนี้

                      1. เขียนตามที่เคยเห็นมา

                         จากสาเหตุในการเขียนคำที่มีตัวการันต์ ตามที่เคยเห็นมา เป็นการเขียนคำศัพท์ที่มีตัวการันต์โดยอาศัยประสบการณ์เดิมที่ตนเองได้เคยพบเห็นมา ปรากฏว่า นักศึกษาใช้เหตุผลในการเขียนคำที่มีตัวการันต์

ตามที่เคยเห็นมามากที่สุดเป็นลำดับที่ 1 จำนวน 27 คน คิดเป็นร้อยละ 81.81 ได้แก่  ต้นโพธิ์  มากเป็นลำดับที่ 2 จำนวน 26 คน คิดเป็นร้อยละ 78.78 ได้แก่ เปอร์เซ็นต์ และลำดับที่ 3 จำนวน 23 คน คิดเป็นร้อยละ 69.69 ซึ่งมีอยู่ 3 คำ ได้แก่ ฉันทลักษณ์, พืชพันธุ์ และซีเมนต์

                      นักศึกษาใช้เหตุผลในการเขียนคำที่มีตัวการันต์ตามที่เคยเห็นมาน้อยที่สุดเป็นลำดับที่ 1 คือ จำนวน 1 คน คิดเป็นร้อยละ 3.03 ได้แก่ สฤษดิ์ น้อยเป็นลำดับที่ 2 จำนวน 7 คน คิดเป็นร้อยละ 21.21 ซึ่งมีอยู่ 3 คำ ได้แก่ คเชนทร์, ธานินทร์ และสุริเยนทร์ และน้อยเป็นลำดับที่ 3 จำนวน 8 คน คิดเป็นร้อยละ 24.24 ซึ่งมีอยู่ 3 คำ ได้แก่ กิตติมศักดิ์, พินทุ์อิ และวารสารศาสตร์

 

                      2. เขียนตามหลักภาษา

                         จากสาเหตุในการเขียนคำที่มีตัวการันต์ ตามหลักภาษา เป็นการเขียนคำศัพท์ที่มีตัวการันต์โดยหลักภาษาไทยซึ่งเป็นหลักการเขียนตามที่ตนเองเคยเรียนและจดจำมา ปรากฏว่า นักศึกษาใช้เหตุผลในการเขียนคำที่มีตัวการันต์ตามหลักภาษามากที่สุดเป็นลำดับที่ 1 จำนวน 16 คน คิดเป็นร้อยละ 48.48 ได้แก่ องค์  มากเป็นลำดับที่ 2 จำนวน 15 คน คิดเป็นร้อยละ 45.45 ซึ่งมีอยู่ 2 คำ ได้แก่ คณิตศาสตร์ และเอกลักษณ์ และลำดับที่ 3 จำนวน 14 คน คิดเป็นร้อยละ 42.42 ซึ่งมีอยู่ 3 คำ ได้แก่ อนุรักษ์, อารมณ์ และสัญลักษณ์

                      นักศึกษาใช้เหตุผลในการเขียนคำที่มีตัวการันต์ตามหลักภาษาน้อยที่สุดเป็นลำดับที่ 1 คือ ไม่มีผู้ตอบในประเด็นนี้ ซึ่งมีอยู่ 2 คำ ได้แก่ พินทุ์อิ และคเชนทร์ น้อยเป็นลำดับที่ 2 จำนวน 1 คน คิดเป็นร้อยละ 3.03 ซึ่งมีอยู่ 5 คำ ได้แก่ สวามิภักดิ์,  ธานินทร์, วัชเรนทร์, สายสิญจน์ และสุริเยนทร์ และน้อยเป็นลำดับที่ 3 จำนวน 2 คน คิดเป็นร้อยละ 6.06 ซึ่งมีอยู่ 2 คำ ได้แก่ กิตติมศักดิ์ และสฤษดิ์

 

                      3. เขียนตามการออกเสียง

                         จากสาเหตุในการเขียนคำที่มีตัวการันต์ ตามการออกเสียง เป็นการเขียนคำศัพท์ที่มีตัวการันต์โดยอาศัยการเทียบเคียงจากการออกเสียงของตนเอง ปรากฏว่า นักศึกษาใช้เหตุผลในการเขียนคำที่มี

ตัวการันต์ตามการออกเสียงมากที่สุดเป็นลำดับที่ 1 จำนวน 9 คน คิดเป็นร้อยละ 27.27 ได้แก่ พินทุ์อิ  มากเป็นลำดับที่ 2 จำนวน 8 คน คิดเป็นร้อยละ 24.24 ได้แก่ สายสิญจน์ และลำดับที่ 3 จำนวน 7 คน คิดเป็นร้อยละ 21.21 ได้แก่ สุริเยนทร์

 

 

                      นักศึกษาใช้เหตุผลในการเขียนคำที่มีตัวการันต์ตามการออกเสียงน้อยที่สุดเป็นลำดับที่ 1 คือ ไม่มีผู้ตอบในประเด็นนี้ ซึ่งมีอยู่ 6 คำ ได้แก่ แชร์, รัตน์, ศิษย์, หุ่นยนต์, องค์ และบริสุทธิ์  น้อยเป็นลำดับที่ 2 จำนวน 1 คน คิดเป็นร้อยละ 3.03 ซึ่งมีอยู่ 14 คำ ได้แก่  เบียร์, เปอร์เซ็นต์, สงฆ์, อนุรักษ์, อารมณ์, ต้นโพธิ์, ศักดิ์สิทธิ์, สัมฤทธิ์, ฉันทลักษณ์, พระอินทร์, ภูมิศาสตร์, ยุทธศาสตร์, เศรษฐศาสตร์ และสุราษฎร์ และน้อยเป็นลำดับที่ 3 จำนวน 2 คน คิดเป็นร้อยละ 6.06 ซึ่งมีอยู่ 3 คำ ได้แก่ ไมล์, สวัสดิ์ และพราหมณ์

 

                      4. เขียนเทียบกับคำใกล้เคียง

                 จากสาเหตุในการเขียนคำที่มีตัวการันต์ เทียบกับคำใกล้เคียง เป็นการเขียนคำศัพท์ที่มีตัวการันต์โดยอาศัยการเทียบเคียงกับคำที่มีรูปศัพท์ใกล้เคียงกันซึ่งตนเองคุ้นเคย และมีประสบการณ์ในการเขียนคำ

นั้น ๆ ปรากฏว่า นักศึกษาใช้เหตุผลในการเขียนคำที่มีตัวการันต์เทียบกับคำใกล้เคียง มากที่สุดเป็นลำดับที่ 1 จำนวน 7 คน คิดเป็นร้อยละ 27.27 ได้แก่ กิตติมศักดิ์ มากเป็นลำดับที่ 2 จำนวน 6 คน คิดเป็นร้อยละ 18.18 ซึ่งมีอยู่ 2 คำ ได้แก่ ศิลป์ และอภิสิทธิ์ และลำดับที่ 3 จำนวน 5 คน คิดเป็นร้อยละ 15.15 ซึ่งมีอยู่ 2 คำ ได้แก่ สวามิภักดิ์ และวารสารศาสตร์

                      นักศึกษาใช้เหตุผลในการเขียนคำที่มีตัวการันต์เทียบกับคำใกล้เคียงน้อยที่สุดเป็นลำดับที่ 1 คือ

ไม่มีผู้ตอบในประเด็นนี้ ซึ่งมีอยู่เป็นจำนวนมาก คือ 20 คำ ได้แก่ กอล์ฟ, ทิพย์, เบียร์, เปอร์เซ็นต์, รัตน์, ศิษย์,

สงฆ์, หุ่นยนต์, องค์, อารมณ์, แผลงฤทธิ์, ลิขสิทธิ์, สฤษดิ์, สัมฤทธิ์, คณิตศาสตร์, ฉันทลักษณ์, พระจันทร์,

พระอินทร์, ภูมิศาสตร์ และเศรษฐศาสตร์ น้อยเป็นลำดับที่ 2 จำนวน 1 คน คิดเป็นร้อยละ 3.03 ซึ่งมีอยู่

11 คำ ได้แก่ ซีเมนต์, อนุรักษ์, ต้นโพธิ์, บริสุทธิ์, พืชพันธุ์, สวัสดิ์, พักตร์, เมืองกาญจน์, สัญลักษณ์, สายสิญจน์ และเอกลักษณ์ และน้อยเป็นลำดับที่ 3 จำนวน 2 คน คิดเป็นร้อยละ 6.06 ซึ่งมีอยู่ 8 คำ ได้แก่ ฟิวส์, อาภรณ์, เปรมปรีดิ์, วิสุทธิ์, เชาว์, ธานินทร์, พราหมณ์ และวัชเรนทร์

 

                      5. สาเหตุอื่น ๆ

                         จากสาเหตุที่เขียนคำศัพท์ที่มีตัวการันต์ซึ่งนอกเหนือจาก 4 สาเหตุข้างต้น เช่น ไม่แน่ใจว่าเขียนอย่างไร เดาว่าน่าจะเขียนเช่นนั้น เป็นต้น  ปรากฏว่า นักศึกษาใช้เหตุผลที่มาจากสาเหตุอื่น ๆ มากที่สุดเป็นลำดับที่ 1 จำนวน 25 คน คิดเป็นร้อยละ 75.75 ได้แก่ สฤษดิ์ มากเป็นลำดับที่ 2 จำนวน 18 คน คิดเป็น

ร้อยละ 54.54 ได้แก่ ธานินทร์ และลำดับที่ 3 จำนวน 17 คน คิดเป็นร้อยละ 51.51 ได้แก่ คเชนทร์

                      นักศึกษาใช้เหตุผลในการเขียนคำที่มีตัวการันต์จากสาเหตุอื่น ๆ น้อยที่สุดเป็นลำดับที่ 1 คือ ไม่มีผู้ตอบในประเด็นนี้ ซึ่งมีอยู่เป็นจำนวนมาก คือ 14 คำ ได้แก่ เบียร์, เปอร์เซ็นต์, รัตน์, ศิษย์, สงฆ์, หุ่นยนต์, องค์, อนุรักษ์, อารมณ์, บริสุทธิ์, พืชพันธุ์, คณิตศาสตร์ และสัญลักษณ์ น้อยเป็นลำดับที่ 2 จำนวน 1 คน

คิดเป็นร้อยละ 3.03 ซึ่งมีอยู่ 6 คำ ได้แก่ ซีเมนต์, สงฆ์, เสน่ห์, ต้นโพธิ์, ฉันทลักษณ์ และพระจันทร์ และน้อยเป็นลำดับที่ 3 จำนวน 2 คน คิดเป็นร้อยละ 6.06 ซึ่งมีอยู่ 10 คำ ได้แก่ แชร์, ทิพย์, ฟวส์, ไมล์, อาภรณ์,

เจริญพันธุ์, เปรมปรีดิ์, ลิขสิทธิ์, ภูมิศาสตร์ และเศรษฐศาสตร์

 

                      จากสาเหตุการเขียนคำศัพท์ที่มีตัวการันต์ทั้ง 5 ประเด็นข้างต้น เมื่อวิเคราะห์โดยภาพรวม พบว่า

นักศึกษาแสดงสาเหตุในการเขียนคำศัพท์ที่มีตัวการันต์มากเป็นลำดับที่ 1 คือ เขียนตามที่เคยเห็นมา จำนวน 27 คน คิดเป็นร้อยละ 81.81 ได้แก่  ต้นโพธิ์  มากเป็นลำดับที่ 2 คือ เขียนตามที่เคยเห็นมาเช่นเดียวกัน จำนวน 26 คน คิดเป็นร้อยละ 78.78 ได้แก่ เปอร์เซ็นต์ และมากเป็นลำดับที่ 3 คือ มาจากสาเหตุอื่น ๆ จำนวน 25 คน คิดเป็นร้อยละ 75.75 ได้แก่ สฤษดิ์

                      จากสาเหตุการเขียนคำศัพท์ที่มีตัวการันต์ทั้ง 5 ประเด็นข้างต้น เมื่อวิเคราะห์โดยภาพรวม พบว่า

นักศึกษาแสดงสาเหตุในการเขียนคำศัพท์ที่มีตัวการันต์น้อยเป็นลำดับที่ 1, 2 และ 3 ทั้ง  5 ประเด็นจะใกล้เคียงกัน คือ ไม่มีผู้ตอบในประเด็นดังกล่าว มีผู้ตอบ จำนวน 1 คน และ 2 คน ตามลำดับ ซึ่งจำนวนนักศึกษาที่ตอบในลักษณะนี้ปรากฏในคำศัพท์ที่มีการันต์หลายคำ โดยเฉพาะสาเหตุอื่น ๆ แสดงให้เห็นว่านักศึกษามีเหตุผลที่ชัดเจนในการเลือกแสดงเหตุผลในการเขียนคำที่มีการันต์ 


 บทที่ 5

สรุป อภิปรายผล และข้อเสนอแนะ

 

      การศึกษาเรื่อง การเขียนการันต์ของนักศึกษาสาขาวิชาภาษาไทยเพื่อการสื่อสารชั้นปีที่ 1

คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏภูเก็ต  ผลการศึกษาสามารถสรุป อภิปรายผล และข้อเสนอแนะ ดังนี้

 

สรุป

                 วัตถุประสงค์ของการวิจัย

                      1. ลักษณะการเขียนคำที่มีตัวการันต์

                      2. สาเหตุในการเขียนคำที่มีตัวการันต์

 

                 วิธีการดำเนินการวิจัย 

                   1. สำรวจแหล่งข้อมูล นักศึกษาสาขาวิชาภาษาไทยเพื่อการสื่อสาร ชั้นปีที่ 1 มหาวิทยาลัยราชภัฏภูเก็ต เฉพาะคนที่มาเรียนในวันทำแบบทดสอบที่เป็นนักศึกษาชนชาติไทยและเชื้อชาติไทย ซึ่งลงทะเบียนเรียนภาคเรียนที่ 1 ปีการศึกษา 2556 จำนวน 33 คน

                      2. สำรวจและรวบรวมคำที่เขียนตัวการันต์เป็นแบบทดสอบที่ใช้สำรวจนักศึกษาภาษาไทยเพื่อการสื่อสารชั้นปีที่ 1 มหาวิทยาลัยราชภัฏภูเก็ต โดยรวบรวมคำที่เขียนตัวการันต์จากพจนานุกรมราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2542 จำนวน 60 คำ

                      3. จัดทำแบบทดสอบการเขียนศึกษาการเขียนการันต์ของนักศึกษาสาขาวิชาภาษาไทย

เพื่อการสื่อสาร ชั้นปีที่ 1 มหาวิทยาลัยราชภัฏภูเก็ต เพื่อใช้ประกอบการศึกษาวิจัย

                      4. เก็บรวบรวมข้อมูลการเขียนการันต์จากนักศึกษาโดยให้นักศึกษาทำแบบทดสอบ

                      5. นำข้อมูลที่ได้มาวิเคราะห์ตามประเด็นที่กำหนดไว้ในขอบเขตของเนื้อหา

                     6. สรุปผลการวิเคราะห์ อภิปรายผล และข้อเสนอแนะ

                    7. รายงานผลการศึกษาวิจัย

 

      สรุปผล

                      1. ลักษณะการเขียนคำที่มีตัวการันต์

                         1.1 การเขียนอักษรการันต์ที่กำกับไม่ให้ออกเสียงพยัญชนะตัวเดียว นักศึกษาเขียนอักษรการันต์ที่กำกับไม่ให้ออกเสียงพยัญชนะตัวเดียวถูกต้องมากที่สุดทั้ง 33 คน คิดเป็นร้อยละ 100.00 ได้แก่ อารมณ์

ผิดมากที่สุด จำนวน 23 คน คิดเป็นร้อยละ 69.69 ได้แก่ ศิลป์  และคำที่มีรูปแบบในการเขียนผิดมากที่สุด จำนวน 10 รูปแบบ ได้แก่ กอล์ฟ

            1.2 ลักษณะการเขียนอักษรการันต์ที่กำกับไม่ให้ออกเสียงพยัญชนะและสระ นักศึกษาเขียนอักษรการันต์ที่กำกับไม่ให้ออกเสียงพยัญชนะและสระถูกต้องมากที่สุด จำนวน 32 คน คิดเป็นร้อยละ 96.96 ได้แก่ บริสุทธิ์ ผิดมากที่สุดทั้ง 33 คน คิดเป็นร้อยละ 100.00 ได้แก่ สฤษดิ์  และคำที่มีรูปแบบในการเขียนผิดมากที่สุด จำนวน 18 รูปแบบ ได้แก่ สฤษดิ์

            1.3 ลักษณะการเขียนอักษรการันต์ที่กำกับไม่ให้ออกเสียงพยัญชนะหลายตัว นักศึกษาเขียนอักษรการันต์ที่กำกับไม่ให้ออกเสียงพยัญชนะหลายตัวถูกต้องมากที่สุดทั้ง 33 คน คิดเป็นร้อยละ 100.00 ซึ่งมีอยู่ 4 คำ ได้แก่ คณิตศาสตร์, พระจันทร์, วัชเรนทร์ และวารสารศาสตร์ ผิดมากที่สุดทั้ง 33 คน คิดเป็นร้อยละ 100.00 ได้แก่ สายสิญจน์ และคำที่มีรูปแบบในการเขียนผิดมากที่สุด จำนวน 15 รูปแบบ ซึ่งมีอยู่ 2 คำ ได้แก่ คเชนทร์ และธานินทร์

                      2. สาเหตุในการเขียนคำที่มีตัวการันต์

                    2.1 เขียนตามที่เคยเห็นมา นักศึกษาใช้เหตุผลในการเขียนคำที่มีตัวการันต์ตามที่เคยเห็นมามากที่สุด จำนวน 27 คน คิดเป็นร้อยละ 81.81 ได้แก่ ต้นโพธิ์ น้อยที่สุด จำนวน 1 คน คิดเป็นร้อยละ 3.03 ได้แก่ สฤษดิ์

                            2.2 เขียนตามหลักภาษา นักศึกษาใช้เหตุผลในการเขียนคำที่มีตัวการันต์ตามหลักภาษามากที่สุด จำนวน 16 คน คิดเป็นร้อยละ 48.48 ได้แก่ องค์ น้อยที่สุด คือ ไม่มีผู้ตอบในประเด็นนี้ ซึ่งมีอยู่ 2 คำ ได้แก่ พินทุ์อิ และคเชนทร์

                            2.3 เขียนตามการออกเสียง นักศึกษาใช้เหตุผลในการเขียนคำที่มีตัวการันต์ตามการออกเสียงมากที่สุด จำนวน 9 คน คิดเป็นร้อยละ 27.27 ได้แก่ พินทุ์อิ น้อยที่สุด คือ ไม่มีผู้ตอบในประเด็นนี้ ซึ่งมีอยู่ 6 คำ ได้แก่ แชร์, รัตน์, ศิษย์, หุ่นยนต์, องค์ และบริสุทธิ์ 

                      2.4 เขียนเทียบกับคำใกล้เคียง นักศึกษาใช้เหตุผลในการเขียนคำที่มีตัวการันต์เทียบกับคำใกล้เคียง มากที่สุด จำนวน 7 คน คิดเป็นร้อยละ 27.27 ได้แก่ กิตติมศักดิ์ น้อยที่สุด คือ ไม่มีผู้ตอบในประเด็นนี้ ซึ่งมีอยู่เป็นจำนวนมาก คือ 20 คำ ได้แก่ กอล์ฟ, ทิพย์, เบียร์, เปอร์เซ็นต์, รัตน์, ศิษย์, สงฆ์, หุ่นยนต์, องค์, อารมณ์, แผลงฤทธิ์, ลิขสิทธิ์, สฤษดิ์, สัมฤทธิ์, คณิตศาสตร์, ฉันทลักษณ์, พระจันทร์, พระอินทร์, ภูมิศาสตร์ และเศรษฐศาสตร์

                        2.5 สาเหตุอื่น ๆ นักศึกษาใช้เหตุผลที่มาจากสาเหตุอื่น ๆ มากที่สุด จำนวน 25 คน คิดเป็น

ร้อยละ 75.75 ได้แก่ สฤษดิ์ น้อยที่สุด คือ ไม่มีผู้ตอบในประเด็นนี้ ซึ่งมีอยู่เป็นจำนวนมาก คือ 14 คำ ได้แก่ เบียร์, เปอร์เซ็นต์, รัตน์, ศิษย์, สงฆ์, หุ่นยนต์, องค์, อนุรักษ์, อารมณ์, บริสุทธิ์, พืชพันธุ์, คณิตศาสตร์ และสัญลักษณ์

 

 

 

                     

 

อภิปรายผล

      1. ลักษณะการเขียนคำที่มีการันต์ของนักศึกษาเมื่อพิจารณาจากคำศัพท์ที่มีการันต์ทั้ง 3 ลักษณะ จะเห็นว่า ลักษณะที่ 1 การเขียนอักษรการันต์ที่กำกับไม่ให้ออกเสียงพยัญชนะตัวเดียว และลักษณะที่ 3

การเขียนอักษรการันต์ที่กำกับไม่ให้ออกเสียงพยัญชนะหลายตัว มีคำศัพท์จำนวน 5 คำ ที่นักศึกษาสามารถเขียนได้ถูกต้องทั้ง 33 คน ได้แก่ อารมณ์, คณิตศาสตร์, พระจันทร์, วัชเรนทร์ และวารสารศาสตร์ รองลงมามีคำศัพท์จำนวน 7 คำ ที่นักศึกษาเขียนถูกต้อง จำนวน 32 คน ได้แก่ แชร์, ทิพย์, รัตน์, สงฆ์, อนุรักษ์, บริสุทธิ์ และเอกลักษณ์ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นการเขียนอักษรการันต์ที่กำกับไม่ให้ออกเสียงพยัญชนะตัวเดียว จากข้อมูลดังกล่าวแสดงให้เห็นได้ว่า นักศึกษาจะเขียนคำศัพท์การันต์ที่กำกับไม่ให้ออกเสียงพยัญชนะตัวเดียว และพยัญชนะหลายตัวได้มากกว่าการเขียนอักษรการันต์ที่กำกับไม่ให้ออกเสียงพยัญชนะและสระ แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นเมื่อพิจารณาคำศัพท์ที่นักศึกษาเขียนได้ถูกต้อง ส่วนใหญ่จะเป็นคำศัพท์ที่นักศึกษาคุ้นเคย และใช้อยู่เป็นประจำในชีวิตประจำวัน ยกเว้นคำว่าวัชเรนทร์ ที่แม้จะไม่คุ้นเคยแต่ก็ใช้วิธีการเทียบเคียงในการเขียนจากคำ

อื่น ๆ

                      2. ลักษณะการเขียนคำที่มีการันต์ของนักศึกษาเมื่อพิจารณาจากคำศัพท์ที่มีการันต์ทั้ง 3 ลักษณะ จะเห็นว่า ลักษณะที่ 2 และ 3 การเขียนอักษรการันต์ที่กำกับไม่ให้ออกเสียงพยัญชนะและสระ และการเขียนอักษรการันต์ที่กำกับไม่ให้ออกเสียงพยัญชนะหลายตัว มีคำศัพท์จำนวน 2 คำ ที่นักศึกษาเขียนผิดทั้ง 33 คน

ได้แก่ สฤษดิ์ และสายสิญจน์ รองลงมานักศึกษาเขียนผิดจำนวน 32 คน ได้แก่ พินทุ์อิ เป็นการเขียนอักษรการันต์ที่กำกับไม่ให้ออกเสียงพยัญชนะและสระ จากข้อมูลดังกล่าวสอดคล้องกับที่ได้นำเสนอไว้ข้างต้นในข้อ 1 ว่านักศึกษาจะเขียนอักษรการันต์ที่กำกับไม่ให้ออกเสียงพยัญชนะและสระผิดมากกว่าการเขียนอักษรการันต์ในลักษณะอื่น ๆ และเมื่อพิจารณาคำศัพท์ที่นักศึกษาเขียนผิดทั้ง 33 คน ได้แก่ สายสิญจน์ นั้น พบว่า คำว่า สิญจน์ เป็นคำที่มีเสียงพ้องกันหลายคำ ได้แก่  สิน  ศิลป์  สินธุ์ โอกาสที่จะเขียนผิดเพราะไม่ทราบความหมายของคำหรือเทียบเคียงจากคำที่คุ้นเคยจึงเกิดขึ้นได้

                      3. จำนวนรูปแบบของการเขียนคำศัพท์ที่มีตัวการันต์ผิด เมื่อพิจารณาจากคำศัพท์ที่มีการันต์ทั้ง 3 ลักษณะ จะเห็นว่า ลักษณะที่ 2 เป็นการเขียนอักษรการันต์ที่กำกับไม่ให้ออกเสียงพยัญชนะและสระ มีรูปแบบการเขียนผิดมากที่สุด จำนวน 18 รูปแบบ ได้แก่ สฤษดิ์ ซึ่งเป็นคำที่นักศึกษาเขียนผิดทั้ง 33 คน โดยเขียนผิดเป็น สริทธ์, สริด, สหริด, สฤทธิ์, สริตน์, สฤษธิ์, สหริษ, สะริทร์, สหริดร์, สะริด, สริธ, สะหริด, สริดซ์, สะฤทธิ์, สฤษ, สฏิท, สฤทธ์ และสฏิษดิ์ รองลงมาเป็นการเขียนอักษรการันต์ที่กำกับไม่ให้ออกเสียงพยัญชนะหลายตัวมีจำนวน 15 รูปแบบ ซึ่งมีอยู่ 2 คำ ได้แก่ คเชนทร์ ซึ่งเขียนผิดเป็น คเชนญ์, เคชนทร์, เคชน, คเชน์, เขซฐ์,

ขะเสนษ์, เชญฐ์, คเชร, คเชนต์, คเชน, ขเชน, คเชนท์, เขชธ, คเชนณ์ และคเชรธิ์ คำว่า ธานินทร์ ซึ่งเขียนผิดเป็น ทานินทร์, พานินท์, ถานิตย์, ธานินท์, ทาณิชย์, ธาณิน, ฐานินทร์, ธานินท์, ธาร์นิน, นานิล, ธานิน,

ทานินต์, ธานิล, ถานิลา และทานินท์ ซึ่งคำศัพท์ทั้ง 2 คำนักศึกษาเขียนผิด จำนวน 25 คน และ 26 คน ตามลำดับ

 

                       

      4. จากการทำแบบทดสอบของนักศึกษามีข้อสังเกตว่าคำศัพท์ที่มีตัวการันต์ที่นักศึกษาเขียนได้ถูกต้องส่วนใหญ่เป็นคำที่คุ้นเคย และใช้บ่อยในชีวิตประจำวัน เช่น อารมณ์, คณิตศาสตร์, พระจันทร์ และวารสารศาสตร์ ยกเว้นคำว่า วัชเรนทร์ ที่แม้จะไม่คุ้นเคยแต่นักศึกษาเขียนได้ถูกต้อง ทั้งนี้เพราะเกิดจากการเทียบเคียงการเขียนกับคำศัพท์อื่น ๆ ส่วนคำที่นักศึกษาเขียนผิด และรู้สึกว่าเขียนยาก คือ คำศัพท์ที่มีตัวการันต์ที่กำกับไม่ให้ออกเสียงพยัญชนะและสระ นอกจากนี้ยังมีข้อสังเกตว่าคำบางคำที่ใช้บ่อยในชีวิตประจำวันแต่นักศึกษาก็ยังเขียนผิด เช่น ศิลป์ ทั้งนี้เพราะนักศึกษาไม่เข้าใจความหมายของคำศัพท์ที่อธิบายว่าหมายถึง การประดับ, การทำให้วิจิตรพิสดารต่าง ๆ, การช่างทั่วไป รวมทั้งยังมีคำศัพท์ที่ออกเสียงเหมือนกันคือคำว่า สินธุ์ ที่หมายถึง ลำน้ำ, แม่น้ำ, สายน้ำ, น้ำทะเล, มหาสมุทร ด้วยเหตุนี้จึงทำให้นักศึกษาที่ทำแบบทดสอบเกิดความสับสนส่งผลให้มีผู้เขียนผิดเป็นจำนวนมาก

      5. การให้เหตุผลในการเขียนคำศัพท์ที่มีตัวการันต์จากการทำแบบทดสอบของนักศึกษา พบว่า ส่วนใหญ่นักศึกษาจะให้เหตุผลว่าเขียนตามที่เคยเห็นมามากที่สุด รองลงมาคือเขียนตามหลักภาษา ส่วนเขียนตามการออกเสียง เขียนเทียบเคียงกับคำใกล้เคียง และสาเหตุอื่น ๆ จะมีจำนวนที่ใกล้เคียงกัน โดยเฉพาะคำว่า

ต้นโพธิ์ ที่นักศึกษาให้เหตุผลว่าเขียนตามที่เคยเห็นมามากที่สุด จำนวน 27 คน คิดเป็นร้อยละ 81.81 คำที่นักศึกษาให้เหตุผลว่าเขียนตามหลักภาษามากที่สุด คือ องค์ จำนวน 16 คน คิดเป็นร้อยละ 48.48 คำที่นักศึกษาให้เหตุผลว่าเขียนตามออกเสียงมากที่สุด คือ พินทุ์อิ จำนวน 9 คน คิดเป็นร้อยละ 27.27  คำที่นักศึกษาให้เหตุผลว่าเขียนเทียบเคียงกับคำใกล้เคียงมากที่สุด คือ กิตติมศักดิ์ จำนวน 7 คน คิดเป็นร้อยละ 21.21 และคำที่นักศึกษาให้เหตุผลด้วยสาเหตุอื่น ๆ มากที่สุด คือ สฤษดิ์ จำนวน 25 คน คิดเป็นร้อยละ 75.75 ซึ่งการให้เหตุผลด้วยสาเหตุอื่น ๆ นั้น นักศึกษาเขียนแสดงความคิดเห็นว่าเป็นการเดา และความไม่แน่ใจในคำตอบของตนเองซึ่งสอดคล้องกับผลการเขียนที่นักศึกษาทั้งหมดเขียนคำว่า สฤษดิ์ ไม่ถูกต้อง

      6. จากผลการทำแบบทดสอบของนักศึกษากับข้อมูลผลการเรียนในระดับมัธยมปลายหรือเทียบเท่าของนักศึกษา ผู้วิจัยพบว่า มีทั้งที่สอดคล้องสัมพันธ์ และไม่สอดคล้องสัมพันธ์กัน กล่าวคือ นักศึกษาที่มีผลการเรียนเฉลี่ยสูง คือ 3.51 – 4.00 เมื่อทำแบบทดสอบการเขียนคำศัพท์ตัวการันต์จะมีผลคะแนน

50 – 54 และ 45 – 49 ซึ่งถือว่าเป็นคะแนนที่อยู่ในระดับค่อนข้างสูงเมื่อเทียบกับคนอื่น ๆ แสดงให้เห็นว่าผลการเรียนและคะแนนสอบมีความสอดคล้องสัมพันธ์กัน ส่วนนักศึกษาบางคนมีผลการเรียนต่ำ คือ 2.01 – 2.50 แต่สามารถทำแบบทดสอบการเขียนคำศัพท์ตัวการันต์ได้คะแนน 50 – 54 แสดงว่าแม้จะมีผลการเรียนต่ำแต่นักศึกษาก็สามารถทำแบบทดสอบได้ ดังนั้นสำหรับนักศึกษาบางคนผลการเรียนในระดับมัธยมศึกษาตอนปลายหรือเทียบเท่าไม่สามารถวัดความสามารถในการเขียนคำศัพท์ที่มีตัวการันต์ได้ ทั้งนี้อาจเป็นเพราะหลายสาเหตุ เช่น มาตรฐานการให้ผลการเรียนของแต่ละโรงเรียนไม่เท่ากัน ศักยภาพ ประสบการณ์การเขียนของนักศึกษาแตกต่างกัน เป็นต้น

 

 

 

                      7. จากผลการทำแบบทดสอบการเขียนคำศัพท์ที่มีตัวการันต์พบว่านักศึกษาส่วนใหญ่มีผลคะแนนอยู่ในช่วง 35 -44 คะแนน หรือคิดเป็นร้อยละ 58.33 – 73.33 แม้จะเป็นคะแนนที่เกินกว่าร้อยละ 50 แต่ก็ไม่ใช่คะแนนที่สูงมากนักสำหรับนักศึกษาในสาขาวิชาภาษาไทยเพื่อการสื่อสาร ทั้งนี้เพราะการเขียนคำศัพท์ที่มีตัวการันต์เป็นเรื่องยากสำหรับนักศึกษา เนื่องจากคำดังกล่าวไม่ใช่คำไทยแท้ที่เขียนสะกดตรงตามมาตรา

ดังที่ กำชัย  ทองหล่อ  (2554, หน้า 88 - 89) ได้กล่าวไว้ว่า ตัวการันต์โดยมากมาจากภาษาบาลีสันสกฤต และภาษาอังกฤษ ซึ่งเป็นภาษาที่นิยมใช้คำที่มีพยางค์มาก ซึ่งแตกต่างจากภาษาไทยที่เป็นภาษาคำโดด นิยมใช้คำพยางค์เดียว เมื่อนำคำภาษาบาลีสันสกฤตมาใช้จึงต้องหาวิธีลดพยางค์ของคำให้น้อยลง หากจะตัดพยัญชนะออกไปก็ทำให้รูปศัพท์เสียไป จึงต้องใช้เครื่องหมายทัณฑฆาตกำกับไว้เพื่อไม่ให้ออกเสียง พยางค์ที่ใช้เครื่องหมายทัณฑฆาตบังคับต้องเป็นพยางค์ที่มีเสียงเบา จึงต้องใช้สระเสียงสั้นที่ไม่มีตัวสะกด ได้แก่ อะ อิ อุ สอดคล้องกับที่ วันเพ็ญ  เทพโสภา (2554, หน้า 17) ได้กล่าวถึงคำศัพท์ที่มีตัวการันต์ว่ามีการใช้เครื่องหมายทัณฑฆาตเพื่อฆ่าเสียงพยัญชนะที่ไม่ต้องการให้ออกเสียง ซึ่งคำที่มาจากภาษาต่างประเทศ เช่น ภาษาอังกฤษ ภาษาบาลี และสันสกฤต เนื่องจากในภาษาต่างประเทศดังกล่าวมีหลายพยางค์ทำให้ออกเสียงยาก การจะตัดพยางค์ออกก็จะทำให้เสียรูปศัพท์เดิม ดังนั้นเพื่อให้เข้ากับระเบียบของภาษาไทยจึงต้องนำไม้ทัณฑฆาตมาใช้

                      นอกจากลักษณะของคำศัพท์ตัวการันต์ที่เขียนยากเพราะไม่ใช่คำไทยแท้แล้ว ตัวนักศึกษาเองก็ขาดความรู้ ความเข้าใจในการเขียนคำศัพท์ที่มีตัวการันต์ รวมถึงมีประสบการณ์การเขียนที่ไม่ถูกต้อง ซึ่งสอดคล้องกับงานวิจัยของ สุนันทา  โสรัจจ์ (2511) ได้ศึกษามูลเหตุแห่งการเขียนการันต์ผิด โดยทดสอบจากนักเรียนระดับมัธยมศึกษาปีที่ 3 ในจังหวัดพระนคร ผลการศึกษาสรุปได้ว่า นักเรียนเขียนการันต์ผิด เพราะมีประสบการณ์มาผิด หมายความว่า นักเรียนเคยเห็นคำนั้น ๆ เขียนการันต์เช่นนี้เสมอ นักเรียนเขียนการันต์ผิดเพราะไม่ทราบความหมายของคำ หมายความว่า คำในภาษาไทยนั้นมีเสียงตรงกันมาก แต่เขียนการันต์ต่างกัน หากจำได้แต่เสียงโดยไม่พิจารณาความหมายเฉพาะของคำที่มีเสียงพร้อมกัน ก็ทำให้เขียนการันต์ผิดได้ นักเรียนเขียนการันต์ผิดเพราะรู้หลักภาษาไม่ดีพอ หมายความว่า ในการเขียนคำบางคำให้ถูกต้องนั้นต้องอาศัยความแม่นยำในทางหลักภาษา นักเรียนเขียนสะกดการันต์ผิดเพราะออกเสียงผิด คำบางคำคนทั่วไปเขียนตามความสะดวก และตามความเคยชินของแต่ละคน เมื่อเขียนตามเสียงพูดนั้นจะไม่ตรงกับรูปที่เขียนตามพจนานุกรม นักเรียนเขียนสะกดการันต์ผิดเพราะใช้แนวเทียบผิด หมายความว่า คำบางคำนั้นเขียนด้วยความไม่มั่นใจว่าเขียนอย่างไรจึงจะถูกต้อง จึงเขียนเทียบกับคำอื่น ๆ จึงจะทำให้เขียนผิด เพราะคำบางคำนั้นมีความหมายตามรูปศัพท์ ตลอดจนหลักในการเขียนต่างกัน จะใช้กฎเดียวกันไม่ได้

                      8. ผลของการศึกษาในครั้งนี้มีความแตกต่างจากการศึกษาของ จุฬารัตน์ เสงี่ยม และวิไลวรรณ แสงแก้ว (2444) ที่ได้ศึกษาปัญหาในการเขียนสะกดการันต์ และมูลเหตุในการเขียนสะกดการันต์ผิดของนักศึกษาสาขาวิชาเทคโนโลยีอินเทอร์เน็ต สาขาวิชาชีววิทยาประยุกต์ และสาขาวิชาเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ

ชั้นปีที่ 1  มหาวิทยาลัยราชภัฏภูเก็ต ภาคเรียนที่ 1 ปีการศึกษา 2554 ซึ่งมีวัตถุประสงค์ในการศึกษาที่ใกล้เคียงกัน โดยผลการศึกษาดังกล่าวพบว่า นักศึกษาส่วนใหญ่เขียนสะกดการันต์ผิด คิดเป็นร้อยละ 61.18 และจากการวิเคราะห์ข้อมูลแบบทดสอบภาคเหตุผลที่กลุ่มตัวอย่างเลือกตอบเมื่อจะเขียนสะกดคำการันต์

ตัวหนึ่ง ๆ จะเห็นได้ว่าในการเขียนสะกดการันต์นักศึกษาเลือกเหตุผลเขียนตามการออกเสียงมากที่สุด ส่วนการศึกษาในครั้งนี้พบว่า นักศึกษาส่วนใหญ่เขียนคำศัพท์ตัวการันต์ได้ถูกต้อง โดยพิจารณาจากคะแนนการทำแบบทดสอบที่ส่วนใหญ่ได้คะแนนมากกว่าร้อยละ 50 ส่วนเหตุผลที่นักศึกษาใช้ประกอบในการเลือกเขียนคำศัพท์ที่มีตัวการันต์ คือ เขียนตามที่เคยเห็นมามากที่สุด รองลงมาคือเขียนตามหลักภาษา ส่วนเหตุผลการเขียนตามการออกเสียงมีจำนวนผู้เลือกตอบไม่มากนัก เมื่อพิจารณาจากผลการวิจัยที่ออกมาแตกต่างกันนั้นเป็นเพราะนักศึกษากำลังเรียนในรายวิชาที่แตกต่างกัน และสังกัดสาขาวิชาที่แตกต่างกัน กล่าวคือ นักศึกษาสาขาวิชาภาษาไทยเพื่อการสื่อสารกำลังเรียนในรายวิชาการเขียนเพื่อการสื่อสาร ซึ่งมุ่งเน้นเนื้อหาที่ว่าด้วยทักษะการเขียนในระดับต่าง ๆ ตั้งแต่ระดับพื้นฐาน จนถึงระดับที่ต้องสร้างผลงานเขียนในรูปแบบต่าง ๆ ได้ ในขณะที่นักศึกษาสาขาวิชาเทคโนโลยีอินเทอร์เน็ต สาขาวิชาชีววิทยาประยุกต์ และสาขาวิชาเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ เรียนในรายวิชาภาษาไทยเพื่อการสื่อสาร ซึ่งเป็นวิชาในหมวดการศึกษาทั่วไป จึงมีเนื้อหาที่ว่าด้วยทักษะทางภาษาไทยในด้านต่าง ๆ ทั้งการฟัง การพูด การอ่าน และการเขียน ซึ่งการเขียนเป็นเพียงส่วนหนึ่งของทักษะอื่น ๆ เท่านั้น ดังนั้นผู้สอนจึงไม่ได้มุ่งเน้นเนื้อหาการเขียนเป็นการเฉพาะแต่ต้องเนื้อหาทักษะอื่น ๆ ประกอบกันไปด้วย ด้วยเหตุนี้เมื่อพื้นฐานของนักศึกษา และรายละเอียดของการจัดการเรียนการสอนที่แตกต่างกันจึงทำให้ผลการวิจัยมีความแตกต่างกัน

 

ข้อเสนอแนะ

                      1. ข้อเสนอสำหรับนำผลการศึกษาค้นคว้าไปใช้

                          1.1 คำศัพท์ที่มีตัวการันต์แม้ส่วนใหญ่จะไม่ใช่คำไทยแท้ แต่คำเหล่านั้นก็มีใช้ปะปนอยู่ในภาษาไทยเป็นจำนวนมาก ผู้ที่ใช้ภาษาไทยจึงจำเป็นต้องเขียนให้ถูกต้อง หากคำใดไม่แน่ใจว่าจะเขียนอย่างไรก็ต้องเปิดพจนานุกรม ทั้งนี้ก็เพื่อเสริมสร้างทักษะ และค่านิยมการเขียนให้ถูกต้อง เป็นการเพิ่มความน่าเชื่อถือให้แก่ผู้เขียน

                          2.1 ผู้สอนภาษาไทย รวมถึงผู้ที่ใช้ภาษาไทยเป็นเครื่องมือในการนำเสนอข้อมูลต่าง ๆ สู่ผู้อ่านนั้น ควรจะได้ตระหนัก และให้ความสำคัญกับการเขียนภาษาไทยให้ถูกต้อง เพื่อเป็นแบบอย่างที่ดีแก่ผู้อื่น                     2. ข้อเสนอแนะสำหรับการศึกษาครั้งต่อไป

                          2.1 ควรมีการศึกษาวิธีการแก้ปัญหาการเขียนคำศัพท์ที่มีตัวการันต์ เพื่อให้สามารถนำไปใช้ประโยชน์กับกลุ่มเป้าหมายอื่น ๆ ได้

                          2.2 ควรมีการศึกษาการเขียนคำศัพท์ที่มีตัวการันต์กับกลุ่มเป้าหมายอื่น ๆ เช่น นักเขียน

นักสื่อสารมวลชน เป็นต้น


 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

บรรณานุกรม

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 


บรรณานุกรม

 

กำชัย  ทองหล่อ. (2554). หลักภาษาไทย. พิมพ์ครั้งที่ 53. กรุงเทพฯ : อมรการพิมพ์.

ไขสิริ  ปราโมช ณ อยุธยา. (2543). การเปลี่ยนแปลงความหมายของถ้อยคำและความหมายของ                สำนวนไทย. พิมพ์ครั้งที่ 4. กรุงเทพ ฯ : จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.

จุฬารัตน์  เสงี่ยม  และวิไลวรรณ  แสงแก้ว. ปัญหาในการเขียนสะกดการันต์ และมูลเหตุในการเขียนสะกด             การันต์ผิดของนักศึกษาสาขาวิชาเทคโนโลยีอินเทอร์เน็ต สาขาวิชาชีววิทยาประยุกต์

                      และสาขาวิชาเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ ชั้นปีที่ 1  มหาวิทยาลัยราชภัภูเก็ต ภาคเรียนที่ 1

                      ปีการศึกษา 2554. ภูเก็ต : มหาวิทยาลัยราชภัฏภูเก็ต.

จำนงค์  ทองประเสริฐ. (2546). ภาษาของเรา เล่ม 1. กรุงเทพฯ : เซเว่น พริ้นติ้ง กรุ๊ป.

--------------- (2528). ภาษาไทยไขขาน. กรุงเทพฯ : แพร่พิทยา.

ฉลวย  สุรสิทธิ์. (2551). ศิลปะการเขียน. กรุงเทพ ฯ : โอเดียนสไตร์.

ฉันทนัทธ์  เงินจันทร์. (2547). การวิเคราะห์การใช้ภาษาเขียนของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาตอนปลาย        โรงเรียนเขมะสิริอนุสสรณ์. วิทยานิพนธ์ศึกษาศาสตรมหาบัณฑิต มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์.

ชนิศา  แจ้งอรุณ. (2552). การแก้ปัญหาการเขียนตัวสะกดคําและการใช้ตัวการันต์ โดยวิธีการใช้  แบบทดสอบการเขียนคําถูก ของนักศึกษาระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูงชั้นปีที่ 1/1           แผนกคอมพิวเตอร์ธุรกิจ ที่เรียนในรายวิชาทักษะภาษาไทยเพื่ออาชีพ (3000 - 1101).               วิจัยในชั้นเรียน สถาบันสันติราษฎร์บริหารธุรกิจในพระอุปถัมภ์.

ดวงใจ  ไทยอุบุญ. (2550). ทักษะการเขียนภาษาไทย. พิมพ์ครั้งที่ 4. กรุงเทพฯ : จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.

นววรรณ  พันธุเมธา. (2551). ไวยากรณ์ไทย. พิมพ์ครั้งที่ 4. กรุงเทพฯ : โครงการเผยแพร่ผลงานวิชาการ

                      คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.

นภดล  จันทร์เพ็ญ. (2546). การใช้ภาษาไทย. พิมพ์ครั้งที่ 3. กรุงเทพฯ : แสงศิลป์การพิมพ์

นันทิยา  สังข์ขาว. (2552). การพัฒนาทักษะการอ่านและเขียน กลุ่มสาระการเรียนรู้ภาษาไทย

                      ของนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 3 โรงเรียนบ้านพะวร โดยใช้แบบฝึกทักษะการอ่านและเขียน

                      คำที่มีตัวการันต์. กลุ่มสาระการเรียนรู้ภาษาไทย โรงเรียนบ้านพะวร จังหวัดศีรษะเกษ.

นิตยา  กาญจนะวรรณ. (2547). เสน่ห์ภาษาไทย. พิมพ์ครั้งที่ 4. กรุงเทพฯ : มติชน.

พงศ์เกษม  สนธิไทย. (2550). ภาษาไทย 1. กรุงเทพฯ : โอ เอส พริ้นติ้ง เฮ้าส์.

บุญยงค์  เกศเทศ. (2539). ภาษาวิทยานิพนธ์. กรุงเทพฯ : แสงศิลป์การพิมพ์.

ประวีณ ณ นคร. (2531). การเขียนหนังสือราชการ. พิมพ์ครั้งที่ 8. กรุงเทพฯ : ประชาชน.

ปาริชาด  นันทะวงษ์. (2548). การศึกษาผลการใช้บทเรียนการสอนโดยใช้คอมพิวเตอร์ช่วยประเภทเกม    กลุ่มสาระการเรียนรู้ภาษาไทย เรื่องการใช้ตัวการันต์การศึกษาขั้นพื้นฐาน ระดับช่วงชั้นที่ 2.                 วิทยานิพนธ์ศึกษาศาสตรมหาบัณฑิต มหาวิทยาลัยรามคำแหง.

ภาษิตา  วิสารสุข, บก. (2537). ภาษาไทย คนไทยต้อง พูด-อ่าน-เขียน เป็น. กรุงเทพฯ : อมรินทร์

                      บุ๊ค เซ็นเตอร์.

รสริน  ดิษฐบรรจง. (2552). โครงการผลงานวิชาการมหาวิทยาลัยราชภัฏธนบุรีเฉลิมพระเกียรติเนื่องใน

                      วโรกาสพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงครองสิริราชสมบัติ ครบ 60 ปี.

                      กรุงเทพฯมหาวิทยาลัยราชภัฏธนบุรี.

ราชบัณฑิตยสถาน. (2546). พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2542. กรุงเทพฯ :                                                นานมีบุ๊คส์พับลิเคชั่น.

รุ่งรัตน์  ทองสกุล. (2550). การเขียน. ภูเก็ต : มหาวิทยาลัยราชภัฏภูเก็ต.

วารุณี  เศวตาลัย. (2523). การศึกษาวิเคราะห์ลักษณะข้อผิดพลาดด้านภาษาในวิทยุสารประจำวัน              ปี พ.ศ. 2520. กรุงเทพฯ : จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.

วันเพ็ญ  เทพโสภา. (2554). หลักภาษาไทย ฉบับนักเรียน นักศึกษา. กรุงเทพฯ : ธนธัชการพิมพ์.

วิเชียร  เกษประทุม. (2544). ภาษาไทยที่มักใช้ผิด. กรุงเทพฯ : พัฒนาศึกษา.

วิลัยวรรณ  จุติประภาค. (2542). ศึกษาลักษณะข้อผิดพลาดในการเขียนภาษาไทย ของนักเรียน

                      ชั้นประถมศึกษาปีที่ 5 ในโรงเรียนสังกัดเทศบาลเมืองสงขลาอำเภอเมืองจังหวัดสงขลา.         ปริญญานิพนธ์การศึกษามหาบัณฑิต  มหาวิทยาลัยทักษิณ.

ศรีจันทร์ วิชาตรง. (2542). การวิเคราะห์ข้อผิดพลาดในการเขียนภาษาไทย ของนักศึกษาสถาบันราชภัฏ

                      พระนคร ปีการศึกษา 2540. กรุงเทพฯ : คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ สถาบันราชภัฏ

                      พระนคร.

สมชาย หอมยก. (2542). การเขียนเพื่อการสื่อสาร. กรุงเทพฯ : คณะมนุษยศาสตร์และสังคม

                      ศาสตร์ สถาบันราชภัฏเพชรบุรีวิทยาลงกรณ์ ในพระบรมราชูปถัมภ์.

--------------- (2550). ภาษาไทยเพื่อการสื่อสาร. กรุงเทพฯ : โครงการตำรามหาวิทยาลัยราชภัฏ

                   วไลยอลงกรณ์ในพระบรมราชูปภัมภ์.

สมพร  มันตะสูตร  แพ่งพิพัฒน์. (2540). การเขียนเพื่อการสื่อสาร. กรุงเทพฯ :  ไอ เอส.พริ้นติ้ง เฮ้าส์.

สุชาดา  ชาทอง. (2534). การศึกษาลักษณะข้อผิดพลาดในการเขียนภาษาไทยของนักเรียนชั้น

                      ประถมศึกษาปีที่ 6  ในสังกัดสํานักงานการประถมศึกษาจังหวัดสงขลาปีการศึกษา 2533.         ปริญญานิพนธ์การศึกษามหาบัณฑิต มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒสงขลา สงขลา.

สุธิวงศ์  พงศ์ไพบูลย์. (ม.ป.ป.). การเขียน. กรุงเทพฯไทยวัฒนาพานิช.

--------------- (2536). หลักภาษาไทย. พิมพ์ครั้งที่ 11. กรุงเทพฯ : ไทยวัฒนาพานิช.

 

 

สุธา  ขวัญพุฒ. (2550). การเปรียบเทียบผลสัมฤทธิ์การเขียนสะกดคำภาษาไทยที่มีการันต์ของนักเรียน   

                      ชั้นประถมศึกษาปีที่ 3. วิทยานิพนธ์ศึกษาศาสตรมหาบัณฑิต มหาวิทยาลัยรามคำแหง.

สุนันทา  โสรัจจ์. (2511). การศึกษามูลเหตุแห่งการเขียนสะกดการันต์ผิดโดยทดสอบจากนักเรียน            ระดับมัธยมศึกษาปีที่ 3 ในจังหวัดพระนคร. วิทยานิพนธ์การศึกษามหาบัณฑิต

                      มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ประสานมิตร.

โสภณ  สาทรสัมฤทธิ์ผล. (2550). ภาษาไทย 1. กรุงเทพฯ : ทริปเพิ้ล เอ็ดดูเคช็น.

อรุณรัตน์  ดวงสร้อยทอง. (ม.ป.ป.). เขียนไทย อ่านไทย ให้ถูกต้อง. สงขลา : วิทยาลัยครูสงขลา. 

อวยชัย ผกามาศ. (2537). เพลงประกอบการเรียนการสอนภาษาไทย. พิมพ์ครั้งที่ 5. ภูเก็ต :

                      ภาควิชาภาษาไทย สถาบันราชภัฏภูเก็ต.

 

 


 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

ภาคผนวก

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 


เฉลยแบบทดสอบ

 

1. อักษรการันต์ที่กำกับไม่ให้ออกเสียงพยัญชนะตัวเดียว

ข้อ

คำอ่าน

ความหมาย

คำที่ถูกต้อง

1

ก๊อบ

น. ชื่อกีฬาชนิดหนึ่งใช้ไม้ตีลูกกลมผ่านพื้นที่ที่กำหนด

โดยมุ่งหลุมเป็นเป้า 

กอล์ฟ

2

แช

น. การลงหุ้นเป็นจํานวนเงินและตามวาระที่กําหนดแล้วประมูลว่าจะให้ดอกเบี้ยเท่าไร

แชร์

3

ซี – เมน

น. วัสดุใช้ในการก่อสร้างชนิดหนึ่ง ลักษณะเป็นผง เมื่อผสมคลุกกับน้ำแล้วทิ้งไว้จะเกิดปฏิกิริยาเคมี เป็นผลให้เกิดการก่อตัวและแข็งตัวได้

ซีเมนต์

4

เต็น

น. กระโจมชั่วคราวทำด้วยผ้าหนา ๆ สำหรับกันแดด ฝน

เต็นท์

5

ทิบ

ว. เป็นของเทวดา, ดีวิเศษอย่างเทวดา, ดีวิเศษเหนือปกติธรรมดา

ทิพย์

6

เบีย

น. น้ำเมาอย่างหนึ่งเป็นชนิดเมรัย

เบียร์

7

เปอ เซ็น

น. ส่วนร้อย, ร้อยละ

เปอร์เซ็นต์

8

ฟิว

น. อุปกรณ์ไฟฟ้าชนิดหนึ่งที่ใช้ลักษณะเป็นโลหะเจือที่มีขีดหลอมตัวต่ำ

ฟิวส์

9

ไม

น. ชื่อมาตราวัดของอังกฤษ

ไมล์

10

รัด

น. แก้ว, เพชร, พลอย

รัตน์

11

สิน

น. การประดับ, การทำให้วิจิตรพิสดารต่าง ๆ, การช่างทั่วไป

ศิลป์

12

สิด

น. ผู้ศึกษาวิชาความรู้จากครู

ศิษย์

13

สง

น. พระภิกษุ

สงฆ์

14

สิง

น. สัตว์ร้ายประเภทเสือ แต่มีกำลังมากกว่า มีขนสร้อยคอ

สิงห์

15

สะ - เหน่

น. ลักษณะที่ชวนให้รัก 

เสน่ห์

16

หุ่น - ยน

น. หุ่นที่ทำเป็นรูปคนมีเครื่องกลไกภายใน สามารถทำงานหลายอย่างแทนมนุษย์ได้

หุ่นยนต์

17

อง

น. ส่วนของร่างกาย, อวัยวะ

องค์

18

อะ นุ - รัก

ก. รักษาให้คงเดิม

อนุรักษ์

19

อา – พอน

น. เครื่องประดับ

อาภรณ์

20

อา - รม

น. เครื่องยึดหน่วงจิตใจ ความคิด, ความรู้สึก, เรื่องหรือ

สิ่งที่คิด

อารมณ์

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 


2. อักษรการันต์ที่กำกับไม่ให้ออกเสียงพยัญชนะและสระ

ข้อ

คำอ่าน

ความหมาย

คำที่ถูกต้อง

1

กัม มะ - พัน

ว. เกี่ยวเนื่องด้วยกรรมของตนเอง

กรรมพันธุ์

2

กา ละ - สิน

. ดินแดนที่มีความหมายว่า เมืองน้ำดำ 

กาฬสินธุ์

3

กิด – ติ –

มะ - สัก

ว. ยกย่องเพื่อเป็นเกียรติยศ

กิตติมศักดิ์

4

จะ เริน -พัน

ว. มีความสามารถในการสืบสายสกุล

เจริญพันธุ์

5

ต้น - โพ

. ชื่อต้นไม้เป็นที่ตรัสรู้ของพระพุทธเจ้า

ต้นโพธิ์

6

บอริ - สุด

ว. แท้ ไม่มีอะไรเจือปน 

บริสุทธิ์

7

เปรม - ปรี

. ความยินดี, ความปรีดา

เปรมปรีดิ์

8

แผลง - ริด

. แสดงอำนาจโดยการแผลงเดช, อาละวาด

แผลงฤทธิ์

9

พิน - อิ

. เสียงในภาษาหมายถึงเสียงที่มนุษย์เปล่งออกมาเพื่อสื่อความหมาย สื่อความเข้าใจ

พินทุ์อิ

10

พืด – พัน

น. สิ่งที่จะขยายเติบโตเป็นพืชต่อไป

พืชพันธุ์

11

ราม – มะ – เกียน

น. ชื่อวรรณคดีเรื่องหนึ่งว่าด้วยพระรามทำศึกกับทศกัณฐ์เพื่อชิงนางสีดา

รามเกียรติ์

12

ลิก ขะ - สิด

น. ความเป็นเจ้าของทางวรรณกรรม, ผู้เป็นต้นคิดได้รับความคุ้มครองตามกฎหมาย

ลิขสิทธิ์

13

วิ - สุด

ว. สะอาด, ใส, ขาว, หมดจด, หมดมลทิน

วิสุทธิ์

14

สัก - สิด

ว. เชื่อถือว่ามีอำนาจอาจบันดาลให้สำเร็จได้ดังประสงค์ ขลัง

ศักดิ์สิทธิ์

15

สะ - หริด

น. การทำ, การสร้าง

สฤษดิ์

16

สะ - หฺวัด

น. ความดี, ความงาม, ความเจริญรุ่งเรือง

สวัสดิ์

17

สะ หวา –

มิ - พัก

. ยอมตนหรือมอบตนอยู่ใต้อำนาจ

สามิภักดิ์

18

สัม - ริด

น. ความสําเร็จ

สัมฤทธิ์

19

สิน

น. ลำน้ำ, แม่น้ำ, สายน้ำ, น้ำ, ทะเล, มหาสมุทร

สินธุ์

20

อะ พิ - สิด

น. นอกเหนือขอบเขตรับผิดชอบเหนือกฎระเบียบ

อภิสิทธิ์

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 


3. อักษรการันต์ที่กำกับไม่ให้ออกเสียง พยัญชนะหลายตัว

ข้อ

คำอ่าน

ความหมาย

คำที่ถูกต้อง

1

คะ - เชน

น. พญาช้าง

คเชนทร์

2

คะ นิด

ตะ - สาด

. วิชาว่าด้วยการคำนวณ

คณิตศาสตร์

3

ฉัน – ทะ – ลัก

น. ลักษณะแบบแผน

คำประพันธ์ประเภทร้อยกรอง

ฉันทลักษณ์

4

เชา

น. ปัญญาหรือความคิด

ฉับไว

เชาวน์

5

ทา – นิน

น. เมืองใหญ่

ธานินทร์

6

พระ  - จัน

. ดวงเดือน

พระจันทร์

7

พระ - อิน

. ชื่อเทวราชผู้เป็นใหญ่ในสวรรค์ชั้นดาวดึงส์

พระอินทร์

8

พราม

น. คนในวรรณะในสังคมฮินดู

พราหมณ์

9

พัก

. หน้า, ใบหน้า

พักตร์

10

ภู – มิ– สาด

น. วิชาที่ศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างสิ่งแวดล้อมทางธรรมชาติกับสังคมที่ปรากฏในดินแดนต่าง ๆ

ภูมิศาสตร์

11

เมือง - กาน

. สถานที่ตั้งสะพานข้ามแม่น้ำแคว

เมืองกาญจน์

12

ยุด – ทะ – สาด

น. วิชาว่าด้วยการพัฒนาและการใช้อำนาจทางการเมืองฯลฯ

ยุทธศาสตร์

13

วัด – ชะ – เรน

น. ชื่อเทวราชผู้เป็นใหญ่ในสวรรค์ชั้นดาวดึงส์

วัชเรนทร์

14

วา – ระ – สาน - สาด

น. วิชาว่าด้วยการทำหนังสือพิมพ์, นิตยสาร ฯลฯ

วารสารศาสตร์

15

เสด – ถะ – สาด

น. วิชาว่าด้วยการผลิต,

การจำหน่ายและบริโภคใช้สอยต่าง ๆ ของชุมชน

เศรษฐศาสตร์

16

สัน ยะ - ลัก

. เครื่องแสดง, เครื่องหมาย

สัญลักษณ์

17

สาย - สิน

. เส้นด้ายยาว ๆ ที่พระถือ เมื่อเวลาสวดมนต์หรือที่เอามาวนรอบบ้านเพื่อให้เป็นมงคล

สายสิญจน์

18

สุ - ราด

น. ผู้ควรซึ่งเขต คือ ผู้ครองเขต, ผู้มีอำนาจอย่าง พระราชา

สุราษฎร์

19

สุ – ริ – เยน

น. พระอาทิตย์

สุริเยนทร์

20

เอก กะ - ลัก

น. สิ่งที่กําหนดนิยมกันขึ้นเพื่อให้ใช้หมายความแทนอีกสิ่งหนึ่ง 

เอกลักษณ์

 

แก้ไขล่าสุดเมื่อ ( ศุกร์, 25 เมษายน 2014 )
 
< ก่อนหน้า   ถัดไป >

สมุดภาพเหมืองแร่

Counter

mod_vvisit_countermod_vvisit_countermod_vvisit_countermod_vvisit_countermod_vvisit_countermod_vvisit_countermod_vvisit_countermod_vvisit_countermod_vvisit_counter
mod_vvisit_counterวันนี้2957
mod_vvisit_counterเมื่อวาน3893
mod_vvisit_counterทั้งหมด11014792