Skip to content

Phuketdata

default color
Home arrow Search
รถโปท้อง PDF พิมพ์ อีเมล์
เขียนโดย ปาณิศรา ชูผล มทศ.   
ศุกร์, 25 เมษายน 2008
รถโปท้อง
 
ชื่อทั่วไปคือ  รถสองแถวทำด้วยไม้

รถโปท้อง เป็นภาษาจีนฮกเกี้ยน แปลว่ารถสองแถว  นำแบบอย่างมาจากอำเภอบ้านโป่ง  จังหวัดราชบุรี  ซึ่งเดิมเป็นรถสองแถวขนาดใหญ่  ในปัจจุบันยังสามารถพบเห็นรถโปท้องตามท้องถนนทั่วไปในจังหวัดภูเก็ต

ข้อมูลช่าง
นายไพบูลย์  เวชวานิชสนอง  อายุ ๖๔ ปี  เกิดวันที่  ๔  เดือนมีนาคม  พ.ศ. ๒๔๘๕  ที่อยู่  เลขที่ ๑๓/๑๑  หมู่ ๒ ถนนเทพกระษัตรี  ตำบลรัษฎา  อำเภอเมือง  จังหวัดภูเก็ต รหัสไปรษณีย์ ๘๓๐๐๐  เจ้าของสถานประกอบการอู่รวมพงศ์  งานที่ถนัดที่สุดคือ  งานออกแบบโครงสร้างตัวถังรถ  โดยได้รับการถ่ายทอดจากช่างรุ่นพี่ คือ นายมนัส  เกตุรักษา  ปัจจุบันยังมีชีวิตอยู่  อาศัยอยู่ที่บ้านลิพอน อำเภอถลาง จังหวัดภูเก็ต  และทำมานานกว่า ๔๐ ปี   ในปัจจุบันนอกจากจะทำตัวถังรถด้วยไม้แล้ว  ยังได้พัฒนาไปสู่การทำตัวถังรถด้วยเหล็ก เช่น รถบรรทุกอีกด้วย


รถโปท้อง
ตำบลรัษฎา  อำเภอเมืองภูเก็ต  จังหวัดภูเก็ต
โดย สภาวัฒนธรรมจังหวัดภูเก็ต
และ  สำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดภูเก็ต     โทร. ๐-๗๖๒๒-๓๖๑๗
โทรสาร ๐-๗๖๒๒-๓๖๕๔


สารบัญ

เรื่อง     
บทที่ ๑  บทนำ        
บทที่ ๒  เอกสารที่เกี่ยวข้อง       
บทที่ ๓  การทำตัวถังรถโปท้อง
บทที่ ๔  ข้อมูลภาพและเสียง
บรรณานุกรม
ภาคผนวก         
คณะผู้จัดทำ
สถานที่ผลิตผลงาน        

 

บทที่ ๑
บทนำ
ภูมิหลัง


การช่างมีมาตั้งแต่สมัยที่มนุษย์ยังพำนักอาศัยอยู่ตามป่าเขาและถ้ำ ดังปรากฎหลักฐานทางประวัติศาสตร์สมัยโบราณ เช่น คนสมัยหินรู้จักกะเทาะหินแหลมมาทำเป็นมีด พร้า และอาวุธล่าสัตว์ ต่อมาเมื่อคนเรามีความรู้มากขึ้น รู้จักสร้างบ้านเรือนเป็นที่พำนักอาศัย รู้จักนำดินเหนียวมาปั้นหม้อ ไห รู้จักการจักสานภาชนะใส่สิ่งของใช้ในบ้าน รู้จักการถักทอผ้าทำเครื่องนุ่งห่มแทนใบไม้และหนังสัตว์ สิ่งเหล่านี้เป็นหลักฐานว่า คนสมัยโบราณมีความสามารถในการช่างบ้างแล้ว ในเมื่อคนอยู่รวมกันเป็นกลุ่ม เป็นชุมชน เป็นเผ่า และดำเนินชีวิตความเป็นอยู่คล้ายคลึงกัน ย่อมคิดประดิษฐ์สิ่งของใช้สอยในลักษณะเดียวกัน เช่น หมู่บ้านคนไทยในที่ต่าง ๆ จะคิดประดิษฐ์สิ่งของเครื่องใช้มีลักษณะคล้ายคลึงกัน และมีวิธีการทำที่เป็นแบบอย่างเฉพาะของคนไทยสืบต่อๆ กันมา เรียกว่า "การช่างไทย"

ศิลปหัตถกรรมมีความเกี่ยวข้องกับการดำรงชีวิตโดยทางตรงและทางอ้อมของมนุษย์ชาติเพราะงานด้านศิลปหัตถกรรมเป็นผลพวงจากการประดิษฐ์อุปกรณ์ เครื่องมือ เครื่องใช้ ที่จำเป็นและใช้สอยในการดำเนินชีวิตประจำวันของมนุษย์ในสังคม ผู้ประดิษฐ์บางคนมีการจรรโลงความสวยงามและความประณีตเพิ่มขึ้นไปจากประโยชน์ทางด้านใช้สอย   เพื่อสะท้อนคุณค่าทางจิตใจ    เกิดสุนทรียรส สร้างความสุขและความเบิกบานใจเมื่อได้สัมผัสหรือพบเห็น สำหรับศิลปหัตถกรรมไทยนั้น มีความโดดเด่นหลากหลายและแตกต่างกันไปทั้งในรูปแบบที่พัฒนาขึ้นตามวัฒนธรรมท้องถิ่น วัสดุที่ใช้  ฝีมือ และจินตนาการของช่างผู้ทำหน้าที่ในการผลิตประเทศไทยเป็นประเทศหนึ่งที่เป็นแหล่งรวมของวัฒนธรรม  และมีศิลปหัตถกรรมเป็นเอกลักษณ์ของชาติสืบต่อกันมาโดยมีผู้สร้างงานศิลปหัตถกรรมที่เรียกว่า   “ช่าง”

การท่าอากาศยานแห่งประเทศไทย (2540 : 5)   ได้อัญเชิญพระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช ไว้ในหนังสือเรื่อง   “ช่างสิบหมู่” ซึ่งพระราชทานแก่ผู้ที่มาเข้าเฝ้าในพิธีเปิดงานแสดงแนะนำอาชีพของสโมสรโรตารี่กรุงเทพ เน้นสาระความหมายและให้ความสำคัญต่อช่างว่า    “คือผู้ทำงานใช้ฝีมือ หมายถึงผู้ใช้ผีมือเป็นบริการแก่ผู้อื่น ช่างทุกประเภทเป็นกลไกสำคัญยิ่งในชีวิตของบ้านเมืองของทุกคน  เพราะตลอดชีวิตต้องอาศัยและใช้บริการหรือสิ่งต่าง ๆ ที่มาจากฝีมือช่างทุกวัน”  และ ความสำคัญของช่างนั้น วิบูลย์ ลี้สุวรรณ  อธิบายว่าเป็นผู้ที่มีบทบาทสำคัญอย่างยิ่งในการสร้างงานศิลปหัตถกรรม  เพราะเป็นผู้สร้างและทำให้เกิดงานศิลปหัตถกรรมประเภทต่าง ๆ หากปราศจากช่างเสียแล้ว  ก็คงไม่มีงานเหล่านี้ให้เราได้ชื่นชม ใช้สอยอยู่ทุกวันนี้ ช่างไทยที่ผลิตงานศิลปหัตถกรรมนั้น ได้แบ่งออกเป็น 2 ประเภท คือ ช่างหลวง และ ช่างพื้นบ้าน โดยที่ช่างหลวงส่วนใหญ่เป็นผู้ที่มีฝีมือดีเพราะได้ผ่านการฝึกหัด และทดสอบฝีมือจนได้เข้ารับใช้ในราชสำนักหรือตามวังเจ้านาย ส่วนช่างพื้นบ้านก็จัดเป็นช่างที่มีฝีมือดีเช่นกันและมีจำนวนมากกระจายกันอยู่ตามท้องถิ่นต่าง ๆ ในทุกภาคของประเทศ ลักษณะเฉพาะที่สำคัญของช่างพื้นบ้านอย่างหนึ่งคือเป็นช่างที่ได้รับการฝึกฝนและถ่ายทอดงานช่างตามแบบแผนที่เป็นขนบธรรมเนียมของผู้คนในชุมชนที่ตนเองอาศัยอยู่

มนุษย์ได้รู้จักนำไม้มาใช้ประโยชน์ในการดำรงชีวิตมาเป็นเวลานาน โดยเฉพาะนำมาสร้างที่อยู่อาศัย และสิ่งอำนวยความสะดวกต่าง ๆ  ช่างไม้เป็นผู้มีบทบาทสำคัญที่สุด ในการสร้างสรรค์ผลงานในด้านนี้ ลักษณะที่ดีของช่างไม้ จะต้องเป็นผู้มีความรู้ ประสบการณ์ เกี่ยวกับไม้ชนิดต่าง ๆเป็นอย่างดี ในการเลือกไม้มาใช้งานได้อย่างเหมาะสม ต้องมีทักษะ ความสามารถ ความชำนาญการในการใช้เครื่องมือต่าง ๆ ของช่างไม้ และกระบวนการทำงาน มีความรู้เกี่ยวกับการอ่านแบบ ออกแบบ คิดคำนวณได้อย่างถูกต้อง ตลอดจนเป็นผู้มีความรับผิดชอบต่องานสูง มีความขยัน อดทน ละเอียดประณึต รอบคอบและประหยัด  
งานช่างไทย เป็นมรดกและทรัพย์สินทางปัญญาจากความคิดสร้างสรรค์ ศิลปกรรม อันล้ำค่าของช่างในอดีต และได้สืบทอดต่อมายังชนรุ่นหลัง รูปแบบของงาน ที่เป็นต้นฉบับอันแท้จริง กับบุคลากรที่มีความรู้ ความชำนาญ นับวันจะหมดสูญไป ควรมีการเร่งดำเนินการรวบรวมข้อมูล ที่เกี่ยวข้องกับงานช่างศิลป์ไทยทั้งปวง ซึ่งในอดีตได้ผ่านพัฒนาการ เรื่อยมาตามลำดับ จนถึงปัจจุบัน ข้อมูล งานช่างศิลป์ไทยเหล่านี้จะถูกจัด ในรูป สื่อต่างๆที่ทันสมัย เพื่อทำการเผยแพร่ให้กว้างขวาง อันจะนำมาซึ่ง ความเข้าใจซาบซึ้ง เป็นประโยชน์แก่การสืบสานงานช่างศิลป์ไทยต่อไป ไม่ว่าในด้านการอนุรักษ์ศิลปะตามแบบแผนไทยโบราณก็ดี ในด้าน ศิลปะไทยประยุกต์ก็ดี หรือแม้ในแง่มุมของการสร้างสรรค์ศิลปะ ตามสภาวะแวดล้อมของปัจจุบัน

กระบวนการเรียนรู้เกิดขึ้นจากศักยภาพของชาวบ้านในการแสวงหาทางแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นในชีวิต ประจำวัน สามาถทำได้โดยการวิเคราะห์ คิดค้น ทดลองและสรุปบทเรียนจากภูมิปัญญาท้องถิ่น ผสมผสานกับความรู้และเทคโนโลยีจากภายนอก หรืออาจกล่าวได้ว่าชุมชนมีความรู้ ความเข้าใจ สังเกตถึงสภาพของชุมชนและได้ใช้ความรู้ สติปัญญา จนเกิดเป็นองค์ความรู้ที่ ถ่ายทอดสืบต่อกันมา จนเกิดกระบวนการสะสมความรู้หรือสั่งสมความรู้ขึ้นกระบวนการสะสมความรู้ มี 2 วิธีการ คือ การสั่งสมด้วยตนเองโดยเรียนรู้มาจากประสบการณ์ในชีวิต การอยู่ร่วมกันในสังคม และมีผู้ถ่ายทอดให้ในรูปของวัฒนธรรมประเพณีและวิถีการดำรงชีวิต ความรู้จะถูกสะสมไว้ในตัวคนๆ หนึ่ง เรียกว่า ปราชญ์ชาวบ้าน ได้ถ่ายทอดประสบการณ์ที่ได้สั่งสมไว้ไปสู่คนอีกรุ่นหนึ่งและรุ่นถัดๆ ไปตามลำดับอีกรุ่นหนึ่ง การสั่งสมประสบการณ์เหล่านี้เป็นการถ่ายทอดมาจากบรรพบุรุษผ่านการลองผิดลองถูก และปรับให้ใช้ได้ภายใต้เงื่อนไขทางเศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อมของท้องถิ่น และสอดคล้องกับระบบนิเวศ ภูมิปัญญาหรือประสบการณ์ที่สั่งสมนี้สามารถนำไปใช้ในการปรับตัวให้เข้ากับธรรมชาติ และการดำรงเผ่าพันธุ์ การถ่ายทอดและกระจายความรู้หรือภูมิปัญญาจากรุ่นหนึ่งไปสู่อีกรุ่นหนึ่งกันต่อ ๆ มาเป็นวัฒนธรรม เช่น เครื่องมือ เครื่องใช้ ศาสนา  ขนบธรรมเนียม จารีตประเพณี พิธีกรรม ศิลปะ โดยผ่านความเชื่อทางศาสนา ความเชื่อเรื่องผีและความสัมพันธ์กับชีวิต สังคม สิ่งแวดล้อม วิถีชีวิตทั้งมวล เป็นวิถีชีวิตของสังคมในระบบนิเวศเดียวกันซึ่งไม่ได้ มีการเขียนบันทึกไว้เป็นลายลักษณ์อักษร แต่มีปราชญ์ชาวบ้านเป็นผู้ถ่ายทอดและสืบสานภูมิปัญญาอย่างต่อเนื่องมาหลายชั่วอายุคน เมื่อภูมิปัญญาได้รับการถ่ายทอดสืบต่อกันมา จึงได้มีการปรับเปลี่ยนและการประยุกต์ใช้ความรู้เพื่อการอนุรักษ์ โดยมากจะเป็นการประยุกต์จากวัฒนธรรม ซึ่งมองไม่เห็น คือ การประยุกต์ตัวคุณค่าที่แฝงเร้นอยู่ภายใน ซึ่งต้องอาศัยความเข้าใจที่ละเอียดอ่อนอันเกิดจากภูมิปัญญาของชาวบ้านเองเป็นหลัก

ภูมิปัญญาเป็นสินทรัพย์ของประชาชนและชุมชนที่มีการสั่งสมทุนทางปัญญา ความรู้ วัฒนธรรม ทักษะฝีมือธรรมชาติของชุมชน ความสงบ วิถีชีวิต วัสดุตามธรรมชาติ    สิ่งเหล่านี้เป็นพื้นฐานหรือทุนทางสังคมของชุมชน เพราะเป็นสิ่งที่ได้รับการสร้างสมและสืบทอดต่อ ๆ มาเป็นสมบัติของคนในชุมชนซึ่งมีอยู่มาก สิ่งที่จะต้องเร่งทำในวันนี้ คือ การส่งเสริมภูมิปัญญา รักษาภูมิปัญญาเดิมแล้วต่อยอดภูมิปัญญาด้วยวิทยาการและความรู้สมัยใหม่ เพื่อให้พื้นฐานของไทยแข็งแกร่งอยู่ได้อย่างมั่นคง

จากข้อมูลดังกล่าวแสดงให้เห็นว่า งานช่างฝีมือพื้นบ้านหรือหัตถกรรมพื้นบ้าน ที่ถือเป็นภูมิปัญญาของคนในท้องถิ่น   โดยเฉพาะการทำรถโปท้อง ในจังหวัดภูเก็ต  ที่ได้รับการถ่ายทอดมาเป็นระยะเวลายาวนาน  ทั้งยังสอดคล้องกับวิถีชีวิตของชุมชนภายใต้ระบบสังคม และวัฒนธรรมของชุมชน  ในปัจจุบันกลับปัจจุบันซบเซาลงไปมาก  เพราะความเจริญทางวิทยาการและเทคโนโลยีแผนใหม่ที่หลั่งไหลเข้ามา  และเป็นที่ยอมรับกันทั่วไป ทำให้คนในสังคมหันไปนิยมสิ่งของเครื่องใช้ในชีวิตประจำวันที่ผลิตจากโรงงานอุตสาหกรรมมากขึ้น  งานหัตถกรรมพื้นบ้านเหล่านี้ หลายประเภทมีทีท่าว่าจะเสื่อมหายหรือสูญหายไปตามกาลเวลาเพราะขาดคนสืบทอด  โดยเฉพาะการทำรถโปท้อง  ซึ่งนับวันจะหาคนที่ทำได้ยากมากขึ้น หรือแทบจะไม่มีเลย  จึงมีความเหมาะสมที่จะได้รับการศึกษา และบันทึกไว้ เพื่อไม่ให้สูญหายไปกับกาลเวลา  ซึ่งผลจากการศึกษาค้นคว้าครั้งนี้จะทำให้ทราบถึงภูมิปัญญาของชาวบ้านในการสร้างสรรค์งานช่างฝีมือหรืองานหัตถกรรมพื้นบ้าน   และเป็นการรวบรวมองค์ความรู้เกี่ยวกับวัตถุดิบ  วิธีการ ขั้นตอน ของการทำรถโปท้องที่มีการถ่ายทอดแบบมุขปาฐะนำมาจัดระบบไว้เป็นลายลักษณ์อักษร  อันจะเป็นประโยชน์ต่อการศึกษาและสืบค้นทางวิชาการต่อไป  หน่วยงานราชการ และเอกชน สามารถใช้ผลการศึกษาเป็นข้อมูลในการนำมาพัฒนา ปรับปรุงรูปแบบของการทำรถโปท้องให้สอดคล้องและเหมาะสมกับวิถีชีวิตของชาวภูเก็ตในปัจจุบัน  เป็นประโยชน์ทางวิชาการในการใช้เป็นเอกสารอ้างอิง และเป็นแนวทางในการศึกษาเรื่องทำนองเดียวกัน หรือประเด็นอื่นกับพื้นที่อื่น ๆ ต่อไป

 

ความมุ่งหมายของการศึกษาค้นคว้า

 การศึกษาครั้งนี้มีความมุ่งหมายเพื่อศึกษาการทำรถโปท้อง  จังหวัดภูเก็ต  ในประเด็นต่อไปนี้

๑. เพื่อศึกษาประวัติของช่างทำรถโปท้อง

๒. เพื่อศึกษาขั้นตอนและกระบวนการผลิตรถโปท้อง

 

ความสำคัญของการศึกษาค้นคว้า

 ผลของการศึกษาค้นคว้ามีความสำคัญดังต่อไปนี้

๑. เพื่อให้ทราบถึงภูมิปัญญาในการสร้างสรรค์งานช่างฝีมือพื้นบ้าน  และเป็นการเก็บรวบรวมองค์ความรู้ในการทำรถโปท้อง จังหวัดภูเก็ต  ซึ่งมีการถ่ายทอดแบบมุขปาฐะนำมาจัดระบบเป็นลายลักษณ์อักษร

๒. หน่วยงานราชการและเอกชนสามารถใช้ผลการศึกษาเป็นข้อมูลประกอบการพัฒนางานฝีมือทางด้านนี้ให้สอดคล้อง และเหมาะสมกับสภาพปัญหาและวิถีชีวิตของชาวภูเก็ตในปัจจุบัน

๓. เป็นประโยชน์ในทางวิชาการที่จะใช้เป็นเอกสารอ้างอิง และเป็นแนวทางในการศึกษาเรื่องในทำนองเดียวกันหรือในประเด็นอื่นกับพื้นที่อื่น ๆ ต่อไป

 

ขอบเขตของการศึกษาค้นคว้า

 การศึกษาค้นคว้าครั้งนี้ได้กำหนดขอบเขตของการศึกษา ดังนี้

๑. ขอบเขตด้านข้อมูล  โดยการเก็บรวบรวมข้อมูลภาคสนามจากแหล่งข้อมูลในอำเภอเมืองภูเก็ต ตำบลรัษฎา   อำเภอเมืองภูเก็ต   จังหวัดภูเก็ต

๒. ขอบเขตด้านเนื้อหา  การศึกษาครั้งนี้ได้กำหนดประเด็นที่จะศึกษา  ดังนี้
     ๑. เพื่อศึกษาประวัติของช่างทำรถโปท้อง
     ๒. เพื่อศึกษาขั้นตอน และกระบวนการทำรถโปท้อง

 

นิยามศัพท์เฉพาะ

 ช่าง   หมายถึง  คนที่มีฝีมือในการทำรถโปท้อง ของจังหวัดภูเก็ต
รถโปท้อง  หมายถึง  รถสองแถวที่ผลิตขึ้นในจังหวัดภูเก็ต  และมีลักษณะเฉพาะถิ่นของภูเก็ต

 

วิธีการดำเนินการศึกษาค้นคว้า 

 การศึกษาค้นว้าครั้งนี้   ได้ดำเนินการศึกษาค้นคว้าตามขั้นตอนดังต่อไปนี้

๑. ขั้นสำรวจข้อมูลที่เกี่ยวข้อง  โดยการสำรวจและศึกษาเอกสารที่ให้ความรู้พื้นฐานเกี่ยวกับเรื่องที่ศึกษา  จากแหล่งเอกสารต่าง ๆ เพื่อเป็นความรู้พื้นฐานในการเขียนเค้าโครง
๒. ขั้นเก็บรวบรวม
๒.๑  การเก็บรวบรวมข้อมูลจากแหล่งข้อมูลภาคสนาม  โดยการเก็บรวบรวมข้อมูลภาคสนามจากพื้นที่ที่กำหนดไว้ในขอบเขตด้านแหล่งข้อมูล  โดยใช้การสัมภาษณ์ สังเกต บันทึกวิดิทัศน์ และถ่ายภาพประกอบ ตามลำดับขั้นตอนดังนี้
  ๒.๑.๑ สำรวจผู้บอกข้อมูลในแหล่งข้อมูลที่ศึกษา  โดยกำหนดผู้บอกข้อมูลจากบุคคลดังต่อไปนี้  ผู้ที่มีความสามารถในการปั้นหม้อ 
  ๒.๑.๒ สัมภาษณ์ผู้บอกข้อมูลตามข้อ ๒.๑.๑ โดยการสัมภาษณ์ตามประเด็นที่กำหนดไว้ในขอบเขตด้านเนื้อหา  โดยการจดบันทึกและ/หรือบันทึกลงแถบบันทึกเสียงและ/หรือวิดิทัศน์  พร้อมทั้งใช้วิธีสังเกต และถ่ายภาพประกอบ 
  ๒.๑.๓ สังเกตการทำรถโปท้องในพื้นที่ศึกษา  บันทึกผลโดยวิธีจดบันทึก  ถ่ายวิดิทัศน์ และถ่ายภาพประกอบ
 ๓. ขั้นจัดกระทำกับข้อมูล
  ๓.๑ ถอดข้อความการสัมภาษณ์ที่บันทึกไว้ในแถบบันทึกเสียงด้วยวิธีสรุปสาระสำคัญ
  ๓.๒ สรุปสาระสำคัญตามขอบเขตด้านเนื้อหา  จากการจัดบันทึก ถ่ายวิดิทัศน์ และถ่ายภาพประกอบ
  ๓.๓ วิเคราะห์ข้อมูล  นำข้อมูลที่ได้จากข้อ ๓.๑ และ ๓.๒ มาจัดหมวดหมู่ และวิเคราะห์ข้อมูลตามขอบเขตเนื้อหาที่กำหนดไว้
  ๓.๔ ขั้นเสนอผลการศึกษาค้นคว้า  นำเสนอผลการศึกษาด้วยวิธีพรรณาวิเคราะห์ และมีภาพประกอบ

 

บทที่ ๒

เอกสารและงานวิจัยที่เกี่ยวข้อง

 

การศึกษาครั้งนี้  ผู้ศึกษาได้ศึกษาเอกสารที่เกี่ยวข้อง  และนำเสนอโดยแยกประเด็น  ดังนี้
 ๑. เอกสารที่เกี่ยวกับช่างพื้นบ้าน
 ๒. เอกสารที่เกี่ยวกับประเภทของช่างพื้นบ้าน
 ๓. เอกสารที่เกี่ยวกับจังหวัดภูเก็ต

๑.๑ ความหมายของช่างพื้นบ้าน
 นักวิชาการได้กล่าวถึงความหมายของคำว่าช่างพื้นบ้านไว้  ซึ่งพอจะประมวลได้ ดังนี้

คำว่า “ช่างพื้นบ้าน”  สำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติได้ให้ความหมายไว้ว่า ช่างที่ผลิตงานด้วยมือและเทคโนโลยีพื้นบ้าน เพื่อประโยชน์ใช้สอยในชีวิตประจำวัน ด้วยวัสดุที่หาได้ในท้องถิ่น มีลักษณะเฉพาะถิ่น สะท้อนถึงภูมิปัญญา  และคุณค่าทางประวัติศาสตร์  ส่วนสารานุกรมไทยสำหรับเยาวชน (๒๕๔๙ : ๗) ได้ให้ความหมายของคำว่าการช่างไว้ว่า “การใช้ฝีมือหรือศิลปะอย่างใดอย่างหนึ่ง ประดิษฐ์สิ่งของหรือเครื่องมือเครื่องใช้เพื่อนำมาใช้ประโยชน์ต่าง ๆ ตามที่ต้องการ”

๑.๒ ประเภทของช่างพื้นบ้าน
 วิบูลย์  ลี้สุวรรณ  (๒๕๔๙ : ๑๒)  ได้กล่าวถึงช่างพื้นบ้านว่ามีหลายประเภท  เช่น   ช่างไม้   ช่างเหล็ก  ช่างจักสาน ช่างปั้นดินเผา ช่างทอผ้า ช่างทอง ช่างเงิน ช่างปั้น  และช่างแกะสลัก เป็นต้น
จากหนังสืองานช่างศิลปกรรมในท้องถิ่น (๒๕๔๒ : ๑๐) ได้กล่าวถึงเหตุผลสำคัญที่ทำให้เกิดงาน
ช่างศิลปกรรมท้องถิ่นหรือช่างพื้นบ้านขึ้นว่ามีอยู่หลายสาเหตุ  สรุปได้ดังนี้
๑. งานช่างศิลปกรรมเกิดเพราะความเชื่อของมนุษย์ 
๒. งานช่างศิลปกรรมเกิดเพราะมนุษย์ต้องการสิ่งใช้สอย
 ๓. งานช่างศิลปกรรมเกิดเพราะมนุษย์ต้องการสร้างมิติ
 ๔. งานช่างศิลปกรรมเกิดเพราะมนุษย์ต้องการเลียนแบบธรรมชาติ
 ๕. งานช่างศิลปกรรมเกิดเพราะมนุษย์ต้องการความสวยงาม
 ๖. งานช่างศิลปกรรมเกิดเพราะมนุษย์ต้องการสร้างรูปแบบศิลปกรรมจากการจำหรือการนึก หรือฝึกฝนของตน
 ๗. งานช่างศิลปกรรมเกิดขึ้นเพราะมนุษย์ต้องการผลทางเศรษฐกิจเลี้ยงชีพ

 หนังสืองานศิลปกรรมช่างโลหะ (๒๕๔๔ : ๒๐ )  ได้แบ่งประเภทของโลหะที่แยกเป็นประเภทได้ดังนี้
 ๑. ประเภทเครื่องมือเครื่องใช้ประกอบอาชีพเพื่อการดำรงชีวิต  เช่น เบ็ด ฉมวก มีด พร้า ใบหอก ลูกศร ขวาน เสียม เป็นต้น
 ๒. ประเภทเครื่องใช้ในบ้าน  เช่น  ผอบ ตลับ กล่องใส่ของ กระเป๋าถือ ขัน หม้อน้ำ หม้อหุงต้ม กระโถน แจกัน เชี่ยนหมาก ถาด เป็นต้น
  ๓. ประเภทเครื่องประดับตกแต่งร่างกาย  เช่น กำไลข้อมือ แหวน ปิ่นปักผม สายสร้อยและจี้ห้อยคอ  กิ๊บหนีบผม  กำไลข้อเท้า สร้อยข้อมือ ลูกกระพรวน เข็มขัด  เป็นต้น
  ๔. ประเภทเครื่องดนตรีที่เป็นโลหะ  เช่น  ระนาดทุ้มเหล็ก ฉิ่ง ฉาบ โหม่ง ฆ้อง ปี่ชวา ปี่มอญ เบสทรอมโบน เทนเออะ แซคเซอะโฟน ฟเร็นซ ฮอน ฟลุต ทรัมเปต เป็นต้น
  ๕. ประเภทเครื่องอาวุธต่าง ๆ ที่เป็นโลหะ เช่น  ใบหอก ขวานเหล็ก กริช มีดดาบ มีดพก หอก ง้าว ปืนแก๊บ  ปืนใหญ่  เกราะโลหะ เป็นต้น
  ๖. ประเภทโลหะที่ใช้เพื่อการตกแต่งอาคารสถานที่และเพื่อความแข็งแรงปลอดภัย  เช่น แผงโลหะ  แผงเหล็กระดิษฐ์  แผงรั้วเหล็ก ประตูเหล็ก  แผงลูกกรง เป็นต้น
  ๗. ประเภทเครื่องเล่นของเด็กที่ประดิษฐ์จากโลหะ  เช่น ทำจากดีบุก – ตะกั่ว  ทำจากสังกะสี  เป็นต้น
  ๘. ประภทเงินตราที่สร้างด้วยโลหะ  เช่น โลหะเงิน  เงินก้อน เหรียญปี้โลหะ เงินเหรียญ  เป็นต้น
  ๙. ประเภทการใช้โลหะเกี่ยวกับศาสนาและความเชื่อ  เช่น  กลองมโหระทึก  ระฆัง กังสดาล  กระดิ่ง  สถูป พระพุทธรูป  เทวรูป เป็นต้น
 ๑๐. ประเภทศิลปวัตถุโลหะที่เกี่ยวข้องกับสถาบันกษัตริย์  เช่น พระอนุราชมงกุฏ พระแสงดาบ พานพระศรี  โกศ  พานหมาก ขันน้ำ  พระแสงราชศาสตราประจำเมือง พระราชลัญจกร บุษบก สายสร้อย เครื่องราชอิสริยาภรณ์  เป็นต้น
 ๑๑. ประเภทของที่ระลึกที่ประดิษฐ์จากโลหะ เช่น งานโลหะสายสร้อย แหวน กำไลข้อมือ เข็มขัด กระเป๋า  ถาดโลหะเคลือบสี เป็นต้น
 ๑๒. ประเภทเครื่องมืองานช่างและงานอื่น ๆ ที่เป็นโลหะ เช่น ค้อนเหล็ก  ใบกบไสไม้  สิ่วเหล็ก เลื่อยเหล็ก  เป็นต้น
 ๑๓. ประเภทงานศิลปกรรมที่สร้างด้วยโลหะ  เช่น พระพุทธรูป  เทวรูป เป็นต้น
 ๑๔. ประเภทเครื่องยนต์ จักรกลและกลไกต่าง ๆ เช่น รถยก รถไถนา รถตักดิน  รถบดถนน  เป็นต้น
 ๑๕. ประเภทยานพาหนะขนส่งต่าง ๆ ที่สร้างด้วยโลหะ  เช่น  รถไฟ รถลาก รถบรรทุก   และรถยนต์ต่าง ๆ เป็นต้น

 มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช (๒๕๔๗ : ๓๐๗)  ได้จำแนกประเภทของช่างตามลักษณะงานช่าง ได้ดังนี้
 ๑. ช่างประเภททำของใช้   คือ ช่างที่มีความชำนาญในการทำสิ่งของเครื่องใช้สำหรับการทำงานในชีวิตประจำวัน  เช่น ช่างตีมีด ช่างปั้นหม้อ ช่างจักสาน  เป็นต้น 
 ๒. ช่างประเภททำของชม  คือ ช่างที่มีความสามารถความชำนาญในการประดิษฐ์สร้างสรรค์ผลงานที่มีความสวยงาม  เช่น ช่างทำเครื่องสด ช่างปักสะดึง ช่างรัก ช่างโลหะพรรณ  ช่างมุก ช่างถม เป็นต้น
 และมหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช (๒๕๔๗ : ๓๑๗ – ๓๒๓) ยังได้แบ่งประเภทของช่างพื้นบ้าน แยกตามประเภทของงานช่างพื้นบ้าน  ตามวิธีการผลิตและประโยชน์ใช้สอยไว้ ๑๐ ประเภท ดังนี้
๑. เครื่องปั้นดินเผา  เป็นงานช่างที่ใช้ดินเป็นวัตถุสำคัญในการผลิต  เช่น หม้อดินเผา โอ่งมังกร  เป็นต้น
๒. สิ่งทอ  เป็นงานช่างที่ใช้เส้นใยธรรมชาติจากสัตว์  และพืช มาทำเป็นเครื่องนุ่งห่ม และสิ่งของเครื่องบูชาตามความศรัทธาและความเชื่อ
 ๓. งานแกะสลัก  เป็นงานช่างแกะสลักวัสดุต่าง ๆ ที่มีอยู่ตามธรรมชาติในแต่ละท้องถิ่นทำเป็นเครื่องใช้ในชีวิตประจำวัน  หรือเครื่องเล่น สิ่งของในคติความเชื่อ เช่น การแกะสลักไม้เครื่องเรือน และรูปต่าง ๆ เป็นของที่ระลึก  เป็นต้น
 ๔. เครื่องโลหะ  เป็นงานช่างที่ใช้โลหะประเภทต่าง ๆ ทำเครื่องใช้ประเภทต่าง ๆ
 ๕. เครื่องจักสาน  เป็นงานช่างพื้นบ้านที่ทำด้วยวิธีการจักสาน โดยใช้วัสดุธรรมชาติที่มีอยู่ในท้องถิ่นต่าง ๆ  เช่น  หวาย  ไผ่  กก  กระจูด  ย่านลิเพา  ใบเตย  เป็นต้น  นำมาทำเป็นภาชนะ  เช่น กระจาด กระบุง ตะกร้า  และสมุก เป็นต้น  นำมาทำเครื่องมือจับสัตว์  เช่น  กระชัง ลอบ ไซ   เป็นต้น ทำเครื่องปูลาด เช่น เสื่อ ลำแพน  เสื่อจันทบูรณ์  เสื่อกระจูดทพเลน้อย  เป็นต้น  และทำเป็นเครื่องเล่น  เช่น  ตะกร้อ  ปลาตะเพียน ตุ๊กตารูปสัตว์ต่าง ๆ เป็นต้น
 ๖. สถาปัตยกรรมพื้นบ้าน  เป็นงานช่างก่อสร้างบ้านเรือนที่อยู่อาศัย  ด้วยวัสดุที่หาได้ง่ายในท้องถิ่น
มีรูปทรงเรียบง่าย  กลมกลืน เหมาะกับสภาพแวดล้อมของพื้นถิ่น  เช่น เรือนกาแลในภาคเหนือ เรือนเสาลอยใน
ภาคใต้  เรือนไทยภาคกลาง  เรือนไทยภาคอีสาน เป็นต้น
 ๗. ภาพเขียน  เป็นภาพลายเส้น  ภาพเขียนสี มักจะเขียนเกี่ยวกับพระพุทธศาสนา ตกแต่งฝาผนังโบสถ์ วิหาร ศาลาการเปรียญ เป็นต้น  และยังมีการเขียนตกแต่งเครื่องมือเครื่องใช้เพื่อความสวยงาม  เช่น ตกแต่งรถม้า  เรือ เกวียน  เป็นต้น 
 ๘. งานประติมากรรม  เป็นงานช่างพื้นบ้านที่ทำด้วยการหล่อ  การปั้น และการแกะสลัก  มีจุดประสงค์เพื่อพระศาสนา และความเชื่อ
 ๙. งานเครื่องกระดาษ  งานช่างทำกระดาษ แบ่งได้ป็น ๒ ประเภท ประเภทแรกคือนำวัสดุธรรมชาติ เช่น ต้นข่อย  ต้นสา  มาทำเป็นกระดาษข่อย  กระดาษสา  ประเภทที่สอง คือการนำเครื่องกระดาษมาตกแต่งตามเทศกาลในงานบุญประเพณี  งานเทศกาล 
 ๑๐. ประเภทเบ็ดเตล็ด  เป็นงานช่างที่ไม่เข้าประเภทกับที่กล่าวมาข้างต้น  ได้แก่  การแทงหยวก  การแกะสลักผลไม้   การทำเครื่องดนตรี  เครื่องเขิน  รวมไปถึงการทำยานพาหนะ เช่น  เรือ เกวียน ล้อเลื่อน หรือเป็นเครื่องดนตรี  เช่น  โปงลาง พิณเปี๊ยะ  กลองแอว  เป็นต้น

 สำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ  ได้แบ่งประภทของงานช่างฝีมือพื้นบ้านออกเป็น ๑๐ ประเภท  ดังนี้
๑. ผ้าและผลิตภัณฑ์จากผ้า  เช่น ผ้าทอ  ผ้าปัก ผ้าถัก  เพื่อใช้ในชีวิตประจำวันและพิธีกรรม
๒. เครื่องจักสาน  ได้แก่  เครื่องใช้ในชีวิตประจำวันและใช้ในพิธีกรรม
๓. เครื่องรัก  ได้แก่  เครื่องใช้ในชีวิตประจำวัน  เช่น เครื่องเรือน  เครื่องใช้ในการทำมาหากินและใช้ในพิธีกรรม
๔. เครื่องปั้นดินเผา  ประเภทเคลือบ และไม่เคลือบ  สำหรับใช้ในชีวิตประจำวันและพิธีกรรม
๕. เครื่องโลหะ  ได้แก่  เครื่องประดับ  เครื่องใช้ในชีวิตประจำวันและพิธีกรรม
๖. เครื่องไม้  ประเภทสิ่งก่อสร้าง  ยานพาหนะ  ของใช้ในชีวิตประจำวัน  ของตกแต่งและเครื่องใช้ในพิธีกรรม
๗. เครื่องหนัง  ประเภทของใช้ในชีวิตประจำวัน  การแสดง  และพิธีกรรม
๘. อัญมณีและเครื่องประดับ  ได้แก่  หิน  พลอย  แก้ว   และวัสดุมีค่า
๙. งานศิลปกรรมพื้นบ้าน  เช่น  ภาพเขียน  งานปั้น  งานแกะสลัก  และงานหล่อ
๑๐. ผลิตภัณฑ์อื่น ๆ เช่น  ผลิตจากเปลือกหอย  กระดูกสัตว์  กะลามะพร้าว  เป็นต้น

 

๑.๓ เอกสารที่เกี่ยวกับจังหวัดภูเก็ต

      ๑. ประวัติความเป็นมา

 จังหวัดภูเก็ตเดิมเป็นแหลมเชื่อมต่อกับแผ่นดินใหญ่ของประเทศ  เป็นดินแดนที่อุดมไปด้วยทรัพยากรธรรมชาติ คือ แร่ดีบุก  ในสมัยศรีวิชัย  ภูเก็ตรู้จักกันในชื่อเมืองสิลัน ต่อมาได้เปลี่ยนเป็นถลาง  สมัยกรุงศรีอยุธยา  มีชาวต่างชาติเข้ามาค้าขายที่เกาะภูเก็ต และในสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้นได้ปรากฎวีรกรรมของสองวีรสตรีคือท้าวเทพกระษัตรีและท้าวศรีสุนทร  ในการทำสงครามกับพม่า เมื่อปี พ.ศ.๒๓๒๘  และได้อพยพเคลื่อนย้ายคนจากเมืองถลางมาตั้งบ้านเรือนอยู่บริเวณที่ราบเหนืออ่าวทุ่งคา ในเขตอำเภอเมืองภูเก็ตในปัจจุบัน  และในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวมีการรวบหัวเมืองชายทะเลตั้งเป็นมณฑลภูเก็ตเมื่อ พ.ศ.๒๔๓๕  และต่อมา พ.ศ.๒๔๗๕  มีการเปลี่ยนแปลงการปกครองมาเป็นระบอบประชาธิปไตย ได้จัดระเบียบบริหารราชการเป็นจังหวัดและอำเภอ  จึงยกเลิกมณฑลภูเก็ตและเปลี่ยนเป็นจังหวัดภูเก็ตตั้งแต่นั้นมา


  ๒. ที่ตั้งและอาณาเขต 

  จังหวัดภูเก็ตเป็นเกาะตั้งอยู่ชายฝั่งตะวันตกของภาคใต้ในทะเลอันดามัน   มหาสมุทรอินเดีย ตั้งอยู่ระหว่างเส้นรุ้งที่ ๗ องศา ๔๕ ลิปดา ถึง ๘๐ องศา ๑๕ ลิปดาเหนือ  เหนือ และเส้นแวงที่ ๙๘ องศา ๑๕ ลิปดา  ถึง ๙๘ องศา ๔๐ ลิปดา ตะวันออก อยู่ห่างจากกรุงเทพมหานคร ๘๙๐  กิโลเมตร  เป็นเกาะที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย  มีเกาะบริวารอีก ๓๒ เกาะ  เช่น เกาะสิเหร่  เกาะแก้ว เกาะมะพร้าว เกาะโหลน เกาะเฮ เกาะ
ราชาใหญ่ และเกาะราชาน้อย เป็นต้น  รวมเนื้อที่ประมาณ ๕๗๐ ตารางกิโลเมตร  ส่วนกว้างที่สุดของเกาะเท่ากับ  ๒๑.๓ กิโลเมตร  ส่วนยาวที่สุดของเกาะภูเก็ตเท่ากับ ๔๘.๗ กิโลเมตร  มีอาณาเขตดังนี้
  ทิศเหนือ จดช่องปากพระจังหวัดพังงา  เชื่อมโดยสะพานสารสินและ
    สะพานท้าวเทพกระษัตรี
  ทิศใต้  จดทะเลอันดามัน
  ทิศตะวันออก จดทะเลเขตจังหวัดพังงา
  ทิศตะวันตก จดทะเลอันดามัน
  
  ๓. การปกครอง  
  แบ่งการปกครองออกเป็น ๓ อำเภอ  คือ  อำเภอเมืองภูเก็ต  อำเภอถลาง  และอำเภอกะทู้

๔. ลักษณะภูมิประเทศและภูมิอากาศ
ภูมิประเทศของจังหวัดภูเก็ต มีลักษณะยาวเรียวจากเหนือไปใต้  สภาพพื้นที่จังหวัดภูเก็ตประมาณร้อยละ ๗๐ เป็นภูเขาสลับซับซ้อน  ทอดจากแนวทิศเหนือลงทิศใต้ ส่วนใหญ่อยู่ทางทิศตะวันตกของเกาะ  มียอดสูงสุดประมาณ ๕๒๙ เมตร  คือยอดเขาไม้เท้าสิบสอง  อยู่ในเขตตำบลป่าตอง  อำเภอกะทู้  อีกประมาณร้อยละ ๓๐  เป็นที่ราบอยู่ตอนกลาง  และตะวันออกของเกาะ  ส่วนพื้นที่ฝั่งตะวันตกเป็นภูเขาและหาดทราย  นอกจากนั้นยังมีลำคลองเล็กๆ อาทิ  คลองบางใหญ่  คลองท่าจีน  คลองท่าเรือ  คลองบางโรง  เป็นต้น 
  สภาพภูมิอากาศ โดยทั่วไปอบอุ่นตลอดปี  มีฤดุกาลสำคัญเพียง ๒ ฤดู คือ ฤดูฝน  ประมาณ ๗ – ๘ เดือน  ตั้งแต่เดือนเมษายนถึงเดือนพฤศจิกายน และฤดูร้อนประมาณ ๔ – ๕ เดือน ตั้งแต่เดือน
ธันวาคม - เดือนมีนาคม  
  ๕. สภาพสังคมและวัฒนธรรม
       ๕.๑ ประชากรส่วนใหญ่  เป็นชาวพุทธเชื้อสายจีน  รองลงมาคือ  การนับถือศาสนาอิสลาม  และศาสนาอื่น ๆ  คือ ศาสนาคริสต์  ซิกข์  และฮินดู  การนับถือศาสนาของชาวภูเก็ตนับถือตามบรรพบุรุษและการแต่งงานระหว่างกลุ่มทำให้เกิดการผสมผสานระหว่างชาติพันธุ์ที่ไม่ก่อให้เกิดความขัดแย้งใด ๆ
     ๕.๒ ขนบธรรมเนียมประเพณี  ประชาชนจังหวัดภูเก็ตมีประเพณีที่ถือปฏิบัติสืบทอดกันมาแต่โบราณที่มีลักษณะเฉพาะท้องถิ่น  เช่น ประเพณีกินผัก  ประเพณีตรุษจีน ประเพณีไหว้เทวดา ประเพณีเช็งเม้ง ประเพณีพ้อต่อ  ประเพณีปล่อยเต่า   ประเพณีสารทไทย และประเพณีลอยเรือชาวเล เป็นต้น
 ๕.๓ ศิลปวัฒนธรรม   รูปแบบทางด้านสถาปัตยกรรมของชาวภูเก็ตที่ยังมีให้เห็นในปัจจุบัน  ทั้งบ้านเรือนที่อยู่อาศัย สถานที่ราชการ  วัดวาอาราม  มีอยู่ด้วยกัน ๓ แบบ ได้แก่  รูปแบบบ้านเรือนภูเก็ต   รูปแบบสถาปัตยกรรมแบบจีน  ซึ่งบ้านเรือนแบบจีนสร้างด้วยดิน  เรียกว่า ตึกดิน หรือกว้านดิน  เนื่องจากวัสดุที่ใช้ก่อสร้างทำด้วยดินหรือดินเผา  ดินที่ใช้ในการสร้างบ้านเรือนแบบนี้  นัยว่าเป็นดินที่ผสมด้วยวัสดุบางอย่าง

เพื่อให้มีคุณสมบัติเกาะยึดติดแน่นไม่เปราะและไม่ผุพังง่าย  ชาวจีนใช้ดินผสมนี้อัดกระทุ้งให้เรียบสนิท  เสริมให้สูงขึ้นจากพื้นดินจนเป็นรูปกำแพง  และใช้เป็นฝาผนังบานทั้งสี่ด้าน  มีประตู หน้าต่าง  ใช้ไม้แก่นเนื้อแข็ง  เป็นวงกบประตูหน้าต่างและบานประตู  และแบบสถาปัตยกรรมผสมที่เรียกว่า “ชิโนโปรตุกีสสไตส์” ซึ่ง     ลักษณะบ้านเป็นแบบผสมผสานระหว่างสถาปัตยกรรมจีนกับสถาปัตยกรรมโปรตุเกส  อังกฤษ อินเดีย และฮอลันดา ฝรั่งเศสบ้างเล็กน้อย
ผลจากการศึกษาเอกสารดังกล่าว  ทำให้มีพื้นฐานเกี่ยวกับเรื่องที่ศึกษา  ซึ่งเป็นประโยชน์ต่อการศึกษาค้นคว้าเรื่องการทำรถโปท้อง  สามารถนำไปใช้กำหนดกรอบแนวคิดในการจัดทำเค้าโครงการศึกษา  และเป็นแนวทางในการวิเคระห์ข้อมูล

 

บทที่ ๓
การทำตัวถังรถโปท้อง
 
ชื่อทั่วไป  รถสองแถวทำด้วยไม้

ชื่อเฉพาะของท้องถิ่น  รถโปท้อง

ประเภทผลงาน  เครื่องไม้

ความเป็นมา

รถโปท้อง เป็นภาษาจีนฮกเกี้ยน แปลว่ารถสองแถว  นำแบบอย่างมาจากอำเภอบ้านโป่ง  จังหวัดราชบุรี  ซึ่งเดิมเป็นรถสองแถวขนาดใหญ่  ในปัจจุบันยังสามารถพบเห็นรถโปท้องตามท้องถนนทั่วไปในจังหวัดภูเก็ต

ข้อมูลช่าง
 นายไพบูลย์  เวชวานิชสนอง  อายุ ๖๔ ปี  เกิดวันที่  ๔  เดือนมีนาคม  พ.ศ. ๒๔๘๕  ที่อยู่  เลขที่ ๑๓/๑๑  หมู่ ๒ ถนนเทพกระษัตรี  ตำบลรัษฎา  อำเภอเมือง  จังหวัดภูเก็ต รหัสไปรษณีย์ ๘๓๐๐๐  เจ้าของสถานประกอบการอู่รวมพงศ์  งานที่ถนัดที่สุดคือ  งานออกแบบโครงสร้างตัวถังรถ  โดยได้รับการถ่ายทอดจากช่างรุ่นพี่ คือ นายมนัส  เกตุรักษา  ปัจจุบันยังมีชีวิตอยู่  อาศัยอยู่ที่บ้านลิพอน อำเภอถลาง จังหวัดภูเก็ต  และทำมานานกว่า ๔๐ ปี   ในปัจจุบันนอกจากจะทำตัวถังรถด้วยไม้แล้ว  ยังได้พัฒนาไปสู่การทำตัวถังรถด้วยเหล็ก เช่น รถบรรทุกอีกด้วย

ประโยชน์/หน้าที่ใช้สอย
 เพื่อใช้เป็นตัวถังรถโดยสาร  และรถบรรทุก โดยผลิตตามความต้องการของลูกค้า ในราคาคันละ ๑๐,๐๐๐- ๑๔,๐๐๐ บาท

ลักษณะพิเศษของการทำตัวถังรถโปท้อง
 เป็นงานประดิษฐ์กรรม ซึ่งเป็นเอกลักษณ์เฉพาะของจังหวัดภูเก็ต

วัสดุที่ใช้ในการผลิตผลงาน    ไม้หลุมพอ  ไม้เต็ง และสี

แหล่งที่มาของวัสดุ    ไม่สามารถหาได้ในท้องถิ่น  จึงต้องนำเข้าจากประเทศอินโดนีเซีย และมาเลเซีย 
      
เครื่องมือที่ใช้ในการผลิต 
 

 ๑. เครื่องผ่าไม้ ใช้สำหรับผ่าไม้ให้แผ่นใหญ่เป็นแผ่นเล็กตามขนาดที่ต้องการ
  
 ๒. เครื่องไสไม้  ใช้สำหรับไสไม้หลังจากผ่าแล้ว  เพื่อให้ผิวไม้เรียบ

         ๓. เครื่องเชื่อมเหล็ก  ใช้สำหรับเชื่อมเหล็กแต่ละชิ้นให้ติดกัน 
                        
 ๔. เครื่องลับมีด  ใช้สำหรับลับใบมีดของเครื่องมือต่างๆ เช่น เครื่องไสไม้ เครื่องผ่าไม้  และกบไสไม้เป็นต้น

  ๕. แม่แรง  ใช้สำหรับยกตัวถังรถขณะที่กำลังประกอบเป็นตัวถัง

  ๖. หน้ากาก ใช้สำหรับบังใบหน้าและสายตาในขณะที่เชื่อมเหล็ก  เพื่อป้องกันประกายไฟ

 ๗. สว่าน ใช้สำหรับเจาะไม้ให้เป็นรูเพื่อความสะดวกในการตอกตะปู

  ๘. น็อต และ ตะปู  ใช้สำหรับเชื่อมและยึดไม้ให้ติดกัน

  ๙. ค้อน  ใช้สำหรับตอกตะปูลงไปในเนื้อไม้

 ๑๐. ชะแลง ใช้สำหรับงัดไม้ที่มีขนาดใหญ่จากโครงสร้างเดิมให้แยกออกจากกัน


 ๑๑. ค้อนปอนด์  ใช้สำหรับหรับทุบไม้และเหล็กที่มีขนาดใหญ่

   
 ๑๓. เลื่อย  ใช้สำหรับเลื่อยไม้จากแผ่นใหญ่ให้เป็นแผ่นเล็กตามต้องการ

  ๑๔. ที่จับไม้  ใช้สำหรับจับไม้ในขณะทำลวดลายไม้

  ๑๕. คีมเลื่อน  ใช้สำหรับยึดเหล็กและไม้ให้อยู่กับที่ในขณะใส่น็อตที่มีขนาดเล็ก

 ๑๖. คีมปากจระเข้  ใช้สำหรับยึดเหล็กและไม้ให้อยู่กับที่ในขณะใส่น็อตที่มีขนาดใหญ่

 ๑๗. สิ่ว  ใช้สำหรับทำลวดลายไม้

 ๑๘.  กบไสไม้  ใช้สำหรับไส้ไม้ที่มีขนาดเล็กให้เรียบ

 ๑๙. เครื่องตัดเหล็ก ใช้สำหรับตัดเหล็กให้มีขนาดเล็กตามต้องการ 

 ๒๐. ราวเตอร์เดินลายไม้  ใช้สำหรับทำลวดลายไม้ตามต้องการ

             ๒๑. กระดาษทราย  ใช้สำหรับขัดพื้นผิวไม้

 ๒๒.  ไม้บรรทัด  ใช้สำหรับวัดขนาดตามต้องการ

  ๒๓. ดินสอ ใช้สำหรับวาดลวดลายตามต้องการ

 ๒.๔ แปรงทาสี ใช้สำหรับทาสี

ขั้นตอนกระบวนการผลิต
  ขั้นเตรียมการ
๑)  คำนวณขนาดความกว้าง ความยาว และจำนวนไม้ ที่จะประกอบเป็นตัวถังรถตามแบบมาตรฐานของกรม
การขนส่งทางบก
๒)  สร้างแบบโครงสร้างตามความต้องการของลูกค้า
      ขั้นการผลิต
๑)  นำไม้มาเลื่อย และไสให้ได้ขนาดตามที่กำหนดไว้
๒) นำไม้ที่ผ่านการไสเรียบร้อยแล้วมาประกอบเป็นตัวถังรถตามแบบที่กำหนดไว้
๓) นำตัวถังรถที่ประกอบแล้วมาสลักลวดลายฉลุ
๔) ทาสี
    ระยะเวลาการผลิต   ๒๐  วัน


การวิวัฒนาการ
 ในปัจจุบันได้พัฒนาไปสู่การทำตัวถังรถด้วยเหล็ก  ซึ่งได้รับความนิยมมากกว่าตัวถังรถที่ทำด้วยไม้  เนื่องจากมีความแข็งแรงทนทาน  และสามารถบรรทุกของที่มีน้ำหนักมาก  ส่วนใหญ่จะทำในลักษณะรถบรรทุกมากกว่ารถโดยสาร


บทที่ ๔
ข้อมูลภาพและเสียง

 แผ่น CD ภาพเคลื่อนไหว ถ่ายวิธีการประกอบตัวถังรถ   ที่อู่รวมพงศ์ ต.รัษฎา อ.เมือง จ.ภูเก็ต  โดยมีนายไพบูลย์  เวชวานิชสนอง  เป็นเจ้าของกิจการ
 เสียงจากการบันทึกเล่าเรื่องราวประวัติความเป็นมา  และเรื่องราวการประกอบตัวถังรถของนายไพบูลย์  เวชวานิชสนอง 
 ภาพนิ่งที่ได้จากการบันทึกการประกอบตัวถังรถโปท้อง  ดังนี้


บรรณานุกรม

นพรัตน์  สมฟื้น. งานศิลปกรรมช่างโลหะ.  กรุงเทพ ฯ : กรมศิลปากร, ๒๕๔๔.
นพรัตน์  สมฟื้น. งานช่างศิลปกรรมในท้องถิ่น. กรุงเทพ ฯ : กรมศิลปากร, ๒๕๔๒.
การท่าอากาศยานแห่งประเทศไทย. ช่างสิบหมู่. กรุงเทพ ฯ:  อมรินทร์พริ้นติ้งแอนด์พับลิชชิ่ง, ๒๕๔๐
ศิลปากร,กรม.  วัฒนธรรมพัฒนาการทางประวัติศาสตร์และภูมิปัญญาจังหวัดภูเก็ต. กรุงเทพ ฯ :   โรงพิมพ์คุรุ    สภาลาดพร้าว, ๒๕๔๕.
สารานุกรมไทยสำหรับเยาวชน โดยพระราชประสงค์ในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว  เล่มที่ ๒๑
กรุงเทพ ฯ  : โครงการสารานุกรมไทยสำหรับเยาวชน  โดยพระประสงค์ในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว , ๒๕๔๙.  ๒๐๐ หน้า  ภาพประกอบ  
สุโขทัยธรรมมาธิราช, มหาวิทยาลัย. ประมวลสาระชุดวิชาไทยศึกษา หน่วยที่ ๘ – ๑๕. นนทบุรี : โรงพิมพ์สุโขทัยธรรมมาธิราช,๒๕๔๗.
วิบูลย์  ลี้สุวรรณ “การช่างและหมู่บ้านช่าง”  ใน  สารานุกรมไทยสำหรับเยาวชน ฉบับเสริมการเรียนรู้  เล่ม ๔.   หน้า ๗  กรุงเทพ ฯ  : โครงการสารานุกรมไทยสำหรับเยาวชน  โดยพระประสงค์ในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว, ๒๕๔๙.  ๒๐๐ หน้า  ภาพประกอบ  
 

ภาคผนวก

คณะผู้จัดทำ

ที่ปรึกษา
 ๑. นายทวิชาติ  อินทรฤทธิ์
 ๒. นายสุพจน์  สงวนกิตติพันธุ์ 
 ๓. นายมงคล  รัตนะ
 ๔. นางปัทมา  รุจีวงศ์

เจ้าของกิจการ
นายไพบูลย์  เวชวานิชสนอง  

ผู้บันทึกภาพนิ่ง
 นายสุริยา  ไชยพิทักษ์  

ผู้บันทึกภาพเคลื่อนไหว
 นายธรรมนูญ  แสวงวิทย์  

ผู้บรรยายภาพ
 นายชยต  วิสาร์ทพงศ์  

ผู้จัดทำข้อมูล
 นางสาวอรุณรัตน์  สรรเพ็ชร 

ผู้สำรวจ/เก็บข้อมูล/เรียบเรียง
  นางพรรณรัตน์  ยิ้มประเสริฐ 

วันที่เก็บ/สำรวจข้อมูล  ๑๖ มีนาคม  ๒๕๔๙

แก้ไขล่าสุดเมื่อ ( เสาร์, 26 เมษายน 2008 )
 
< ก่อนหน้า   ถัดไป >

สมุดภาพเหมืองแร่

Counter

mod_vvisit_countermod_vvisit_countermod_vvisit_countermod_vvisit_countermod_vvisit_countermod_vvisit_countermod_vvisit_countermod_vvisit_countermod_vvisit_counter
mod_vvisit_counterวันนี้2167
mod_vvisit_counterเมื่อวาน3893
mod_vvisit_counterทั้งหมด11014002