Skip to content

Phuketdata

default color
Home arrow Search
แนวคิดการจัดการวัฒนธรรมเผ่าพันธุ์ PDF พิมพ์ อีเมล์
เขียนโดย สมหมาย ปิ่นพุทธศิลป์   
อังคาร, 14 พฤษภาคม 2013
 

แนวคิดการจัดการวัฒนธรรมเผ่าพันธุ์

 

 

 

สมหมาย ปิ่นพุทธศิลป์

 โทร. 081 326 2549

 Facebook : Sommai Pinphutsin

 FB. : สมหมาย ปิ่นพุทธศิลป์

 www.phuketdata.net

 ๑๔ พฤษภาคม ๒๕๕๖

 

วัฒนธรรมมีหน้าที่รักษาวิถีชีวิตของเผ่าพันธุ์   แต่ละวิถีชีวิตของเผ่าพันธุ์มีเป้าหมายที่จะรักษาเผ่าพันธุ์ด้วยความเชื่อโดยองค์รวมแตกต่างกันไปตามเผ่าพันธุ์   เผ่าพันธุ์อื่นจะไปรักษาดูแลเผ่าพันธุ์ที่ไม่ใช่เผ่าพันธุ์ของตนได้เพียงภายนอก(วัฒนธรรมที่สัมผัสได้ทางทวาร ๕ (ตา หู จมูก ลิ้นและกาย))  ส่วนวัฒนธรรมทางจิตของเผ่าพันธุ์  ผู้เป็นเจ้าของวัฒนธรรม  จักต้องรักษาด้วยตนเอง

 

นักจัดการวัฒนธรรมต่างเผ่าพันธุ์สามารถเรียนรู้จิตของเผ่าพันธุ์อื่นได้  และใช้เทคนิควิธีของเผ่านั้นเป็นเครื่องมือสื่อสารถึงจิตของเผ่าพันธุ์ที่นักจัดการวัฒนธรรมพึงปรารถนาได้

 

พุทธภาษิต ตนเป็นที่พึ่งแห่งตน  จึงใช้ได้กับทุกคนของทุกเผ่าพันธุ์ที่จักเรียนรู้วัฒนธรรมของเผ่าตน  แม้กระบวนการเรียนรู้ก็เป็นไปตามนัยนี้  ครูไม่สามารถเรียนรู้ให้มีความรู้ (รวมทั้งทักษะและเจตคติ) แทนนักเรียนที่ครูสอนได้  ครูเป็นเพียงสื่อกระตุ้นให้นักเรียนเกิดกระบวนการเรียนรู้เพื่อนักเรียนจักได้มีความรู้ (ความจำ  ความเข้าใจ การนำไปใช้  การวิเคราะห์ การสังเคราะห์ และ/หรือการประเมินค่า) ทักษะและเจตคติ  เหล่านี้เป็นกระบวนการเรียนรู้ของนักเรียน  ไม่ใช่ของครู  แต่ครูมีผลพลอยได้คือทักษะในกระบวนการเปลี่ยนพฤติกรรมให้กับผู้เรียน  และหากในกระบวนการจัดการการเรียนรู้มีความรู้ใหม่เกิดขึ้นก็จักเป็นฐานความรู้ในการจัดการการเรียนรู้ในครั้งต่อไป

 

กระบวนการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของนักเรียน(ของเผ่าพันธุ์)ในอันที่จะเปลี่ยนข้อมูล (Data) ไปเป็นความรู้ (Knowledge)  เป็นไปตามลำดับ  เริ่มต้นจากความพร้อม(Readiness)  ประสบการณ์ (Experience) การรับรู้ (Perception)  มโนภาพ (Conception)  มโนคติ (Ideal)  จึงถึงเป้าหมายสูงสุด (Goal)  ข้อมูลจึงกลายเป็นความรู้ของผู้เรียน(ของเผ่าพันธุ์หรือของนักจัดการวัฒนธรรม)  เมื่อฝึกฝนจนชำนาญก็เป็นทักษะ (Skill) ของผู้เรียน  และผู้เรียนมีจิตสำนึกที่ดี (เจตคติ (Attitude)) ต่อวิถีชีวิตตนและในสังคมของเผ่าพันธุ์ได้ตามความแตกต่างของบุคคล (หรือดั่งดอกบัว ๓ เหล่าที่ปรากฏในพระไตรปิฎก)

 

นักการจัดการวัฒนธรรมต้องมีความรู้ในเผ่าพันธุ์ที่ตนพึงปรารถนาจะไปจัดการวัฒนธรรมของเผ่าพันธุ์  นักจัดการวัฒนธรรมก็ต้องกระทำตนให้เป็นนักเรียนที่จะเปลี่ยนพฤติกรรมตนเองไปตามกระบวนการเรียนรู้  เพื่อให้ตนเองมีความรู้ในวัฒนธรรมของชนเผ่า  แล้วนำความรู้ของชนเผ่าไปหาเทคนิควิธีการ (อาจนำเทคนิควิธีการของชนเผ่าใดก็ได้เป็นสื่อ) นำสารไปจัดการวัฒนธรรมให้ชนเผ่า  เพื่อชนเผ่าจะได้เข้าสู่กระบวนการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของชนเผ่าให้ชนเผ่ามีความรู้ในวัฒนธรรม  มีทักษะที่จะบริโภควัฒนธรรม  และมีเจตคติที่ดีต่อวัฒนธรรมชนเผ่าแห่งตน

 

อัตราความเร็วในการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมทางจิตของเผ่าพันธุ์ได้อย่างน้อย ๑ ชั่วอายุคน  ช่วงวัยที่เหมาะสมคือช่วงวัยเด็กของทุกชนเผ่าดั่งที่รู้กันแล้วว่า ไม่อ่อนดัดง่าย ไม้แก่ดัดยาก  หากปล่อยทิ้งไว้ให้วัยผ่านไปนานเนิ่นดั่งไม้แก่แล้วไซร้  การเปลี่ยนแปลงวัฒนธรรมทางจิต(เจตคติ)ก็เป็นไปได้ด้วยความเฉื่อยชาและช้าเกินความจำเป็นกว่าถั่วจะสุก งาก็ไหม้หมดดั่งนี้ก็เสียการ

 

พระธรรมทูตในอินเดียมักกล่าวปลอบใจชาวพุทธไทยที่ไปแสวงบุญอยู่เสมอว่า  จงมองอินเดียอย่างที่อินเดียเป็น  อย่ามองอินเดียเหมือนที่ใจเราอยากให้เป็น  หากสรุปให้สั้นชนิดกำปั้นทุบดินก็จะได้  อินเดียคืออินเดีย  อินเดียไม่ใช่ไทย  และไทยก็ไม่ใช่อินเดีย  ก็ใช้แนวความคิดนี้เป็น จงมองชนเผ่าอย่างที่ชนเผ่าเป็น  อย่ามองชนเผ่าเหมือนที่ใจเราอยากให้เป็น  หรือ ชนเผ่าก็คือชนเผ่า  ชนเผ่าไม่ใช่เรา  และเราก็ไม่ใช่ชนเผ่า  แต่มีสัจจะอยู่หนึ่งคือ ทุกคนร่วมมือช่วยเหลือเกื้อกูลกันได้ด้วยภราดรภาพ

 

แม้วัฒนธรรมเดียวกันที่นักจัดการวัฒนธรรมประสงค์จะเร่งรัดให้เวลากระชั้นเข้า ก็ยังกระทำในหลายเรื่องไม่ได้  ยิ่งต่างวัฒนธรรมด้วยแล้ว  คงต้องทำใจก่อนการประเมินปลอบใจไว้ก่อนว่าประสิทธิภาพและสัมฤทธิผลที่ได้คงไม่เสถียรยั่งยืนแต่ประการใด

 

เมืองไทยเป็นเมืองร้อน  กลางวันวันใดที่มีอุณหภูมิสูง  ก็จักสวมใส่เสื้อผ้าบาง ๆ   หลายคนคงนึกจะเปลื้องผ้าทิ้ง  แต่ทำมิได้ดังใจนึก  เมื่อเห็นชาวยุโรปอาบแดดอยู่ชายหาด  ชาวไทยยังอายแทนคนอาบแดด (เพราะนึกว่าเราคือเขา หรือนึกว่าเขาคือเรา)  จะมีชาวไทยสักกี่คนที่จะเปลื้องผ้าดั่งชาวยุโรปที่อาบแดดนั้น  จะต้องใช้เวลากี่เดือนจึงจะปรับตนให้เปลื้องผ้าอาบแดดได้ดั่งชาวยุโรป

 

สุภาพสตรีชาวจีนเข้าห้องน้ำในชนบทจีน  เธอจะหันหน้ามาทางที่คนอื่นกำลังรอคิวอยู่  เธอก็ทำธุระส่วนตนไปตามปรารถนา  เมื่อสตรีไทยเข้าไปใช้บริการบ้าง  เหตุไฉนคุณหล่อนจึงหันข้างให้คนรอคิว  เหตุไฉนคุณหล่อนไทยจึงไม่เข้าเมืองตาหลิ่วแล้วก็หลิ่วตาตาม

 

บางเรื่องที่พบกับตนเอง  ผ่านไปเป็นยี่สิบปี  ก็ยังหาเหตุผลมาให้พึงใจมิได้ว่าเป็นเพราะอันใดฤๅ  นอกจะตอบว่าคงเป็นวัฒนธรรมชองชนเผ่าเขากระมัง  เรื่องมีว่า  นักศึกษา ๒๐ คนจะไปเช่าเรือหางยาวของชาวเลที่บ้านราไวย์ไปเกาะบอน  เรือรับคนได้ ๑๕ ๒๐ คน  กราบเรือก็ลดระดับลงใกล้ผิวน้ำทะเล  ชาวเลเจ้าของเรือ ๕ คนก็ขึ้นเรือไปด้วย  นักศึกษาไม่กล้าไปถ้ามีคนบนเรือถึง ๒๕ คน  จะเช่าเรือ ๒ ลำก็เสียค่าเช่าเรือสูงขึ้น  จึงร่วมกันต่อรองให้ชาวเลเจ้าของเรือไปเพียง ๒ คนก็พอจะทำใจไปด้วยกันได้(บ้าง)  ชาวเลบอกว่า  ทั้ง ๕ คนเป็นเจ้าของเรือ  ไปไหนต้องไปด้วยกัน  ขาดคนใดคนหนึ่ง จะให้เช่าเรือไม่ได้  นั่งเจรจา  ยืนเจรจา  นักศึกษามาช่วยเจรจาต่อรอง  ยกตัวอย่าง  สาธกโวหาร  ให้ชาวเลยืมกล้องส่องทางไกล(ที่นักศึกษาติดตัวมา)ดูเรือเมื่อออกไปไกล ๆ  เรือไปถึงเกาะบอนก็สามารถดูเห็นได้จากกล้อง  หากเรือจะกลับมารอคนอื่นคณะอื่นเช่าเรือก็กลับได้ ...  ทุกกระบวนท่าเพียงว่าให้ชาวเลไปเพียง ๒ คน  ให้ชาวเลมั่นใจว่า เรือไม่หายไปไหน  เงินค่าเช่าเรือก็แบ่งเท่ากันทุกคน  เจ้าของเรือที่ไม่ขึ้นบนเรือก็ได้เงินเท่ากับคนที่ไป  เกือบชั่วโมงผ่านไป  ผลคือ  ชาวเลเจ้าของเรือต้องไปทั้ง ๕ คนจึงจะให้เช่าเรือ  นักศึกษาก็ไม่ประสบผลในการเช่าเรือลำนั้น  เสียเวลาเกือบชั่วโมงเพราะช่วยกันคิดแทนชาวเลชนเผ่าเจ้าของเรือ

 

พระครูสิทธิปรียัติวิเทศ (พระมหา ดร.ฉลอง จันทสิริ)  เจ้าอาวาสวัดไทยไวสาลี ปรารภอยู่เสมอว่า  พระภิกษุจากเมืองไทย(พระธรรมทูต) มาเผยแผ่พุทธธรรมในอินเดีย  เห็นผลได้ในระดับหนึ่ง  ไม่ยั่งยืนเท่ากับให้ยุวชนชาวอินเดียมาบรรพชาเป็นสามเณร  เมื่อครบอายุที่จะอุปสมบทได้  ก็หาทุนหาผู้อุปัฏฐากแนะแนวให้มีโอกาสอุปสมบทเป็นพระภิกษุ จะได้เป็นกำลังในการแผ่พุทธธรรมเข้าไปในหมู่ชนชาวอินเดีย  แผ่ธรรมด้วยภาษาของเขาเอง จะได้ผลในการแผ่ธรรมสูงมาก  แม้ลาสิกขามาเป็นฆราวาส  พุทธะก็ยังอยู่กับเขา  มีโอกาสก็ได้แสดงธรรมแก่ผู้ใกล้ชิดแวดล้อมไปตามธรรมชาติ  มีโอกาสก็เข้าไปร่วมกิจกรรมกับชาวพุทธชาติอื่น  สืบเนื่องไปอย่างนี้  ก็จะมีชาวพุทธที่ยั่งยืนในแผ่นดินอินเดีย

 

วัดไทยนาลันทา นครราชคฤห์  ก็สืบการเผยแผ่ธรรมดั่งวัดไทยไวสาลี  พระครูปริยัติธรรมวิเทศ (พระมหา ดร.พัน แตะกระโทก) ได้บรรพชายุวชนชาวอินเดียเป็นสามเณร   ซึ่งเดิมยุวชนชาวอินเดียเหล่านั้นมีอยู่รอบวัดไทยนาลันทาเข้ามาเพื่อขอรับบริจาคทานจากผู้มาแสวงบุญ  ยุวชนหญิงก็ได้มีโอกาสบวชชีพราหมณ์  ทั้งสามเณรและชีพราหมณ์ได้รับการศึกษาอบรมแทนการมารอขอรับบริจาคทาน  เมื่อคณะพระคุณเจ้าได้เห็นคุณสมบัติพิเศษของยุวชนชาวอินเดียบางคน  ก็จะได้รับการคัดเลือกเพื่อสนับสนุนส่งเสริมพัฒนาให้เหมาะกับที่คาดว่าจะพึงเป็น  (ดูใน http://www.youtube.com/watch?v=9Z2dmiEj2Rs)  

 

บาทหลวงที่เข้ามาแผ่คริสตธรรมในสยามด้วยการรักษาสุขภาพให้กลุ่มเป้าหมาย  ชาวโปรตุเกสชาติแรกและชาวฮอลันดาชาติที่สอง ที่เข้ามาในเกาะถลางตั้งแต่สมัยสมเด็จพระรามาธิบดีที่ ๒  ชาวฝรั่งเศสและชาวอังกฤษเข้ามาเกาะถลางเป็นชาติที่สามและสี่ มามีความสำคัญขึ้นในรัชสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช  สมเด็จพระเพทราชไม่ทรงโปรดชาวฝรั่งเศสที่ลุแก่อำนาจ  เป็นเหตุให้นายพลเดฟาสต์นำเรือรบไปยึดเกาะถลางเพื่อต่อรองอำนาจบางประการกับสยาม  มีสิ่งปรากฏหลายอย่างที่ชาวเลรับไว้สืบมาให้เห็นร่องรอยของชาวยุโรปมาเกาะถลางคือท่าเต้นรองเง็ง  ทำนองเพลงรองเง็ง  ไวโอลิน  และกายูผฮาดั๊กเป็นไม้กางเขนจำนวน ๗ เสาแทนจำนวน ๗ วันปักไว้ในวันพิธีลอยเรือชาวเลกลาง เดือน ๖ และกลางเดือน ๑๑

 

พิธีลอยเรือชาวเลเป็นประเพณีในการถ่ายทอดการสร้างเรือไว้เป็นที่อาศัยและใช้งาน  เป็นเรือนหอของหนุ่มสาวที่เริ่มชีวิตการมีครอบครัว  เป็นวันรวมญาติที่ห่างหายไปเป็นเวลา ๖ เดือน  เป็นการหลีกภัยธรรมชาติที่กระแสลมแปรปรวนเปลี่ยนทิศเปลี่ยนทางลมจากมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ไปเป็นลมมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือ   และการนับประชากรจากตุ๊กตาต่างตัวที่แต่ละครอบครัวนำมาใส่ไว้ในเรือ  รำลึกถึงบรรพชนชาวเลและเคารพอำนาจศักดิ์สิทธิ์ของผู้ดูแลเผ่าพันธุ์ตามความเชื่อเช่นโต๊ะทาหมี้  สุภาพสตรีชาวเลฝึกทำและถ่ายทอดการปรุงอาหารจากสัตว์ปีกสัตว์บกและขนมให้ยุวชน   นันทนาการด้วยการร้องรำทำเพลงรองเง็ง  ยิ่งเต้นรำรองเง็งรอบลำเรือได้มากรอบถือว่าได้บุญมาก  จึงให้โอกาสหนุ่มชาวเลคัดเลือกสาวชาวเลเป็นคู่ครองเพื่อรักษาประชากรเผ่าพันธุ์สืบไป  ยุวชนชาวเลไม่สามารถสร้างเรือพิธีได้เพราะชาวเลไม่ได้ใช้เรือเพื่อชีวิตดั่งบรรพชน  เพลงรองเง็งเป็นสื่อเกี้ยวสาวที่เคยใช้ภาษาชาวเลเปลี่ยนมาเป็นเพลงตนโหย้ง(ตันหยง)  และเปลี่ยนเป็นเพลงไทยเดิม  เพลงลูกทุ่งและเพลงสตริง  เล่นกีตาร์ตามแนวเพลงในสังคมเมืองทิ้งไวโอลินบรานาไว้เป็นของศักดิ์สิทธิ์ประจำเผ่าพันธุ์โดยไม่รู้ความหมาย  ทิ้งภาษาชาวเลที่ฝังวิญญาณวิถีชาวเลไว้อย่างแยบยลมาใช้ภาษาถิ่นไทยใต้  ทิ้งนิทานพญานาคพ่นน้ำที่เคยเป็นเครื่องเตือนภัยสึนามิ  พิธีลอยเรือชาวเลเริ่มหมดหน้าที่ในการถ่ายทอดวิถีชาวเล  พิธีลอยเรือชาวเลมีหน้าที่รับใช้เผ่าพันธุ์ตามวิถีดั้งเดิม ไม่อาจรับใช้ชีวิตชาวเลรุ่นใหม่ที่เปลี่ยนวิถีตามอำนาจการสื่อสารมวลชนให้เป็นพลเมืองเลียนแบบชาวเมืองชนบทชาวเมืองใหญ่และชาวเมืองหลวง  ในช่วงเดียวกับที่ชาวเมืองชนบทชาวเมืองใหญ่และชาวเมืองหลวงรับวิถีศิวิไลซ์ต่างชาติ  ชาวเลจะตามศิวิไลซ์ไปทันกันที่กาลเวลาใด

 

เด็กหญิงยาวัตยุวชนเงาะมันนิเทือกเขาบรรทัดที่อำเภอปะเหลียน จังหวัดตรัง มีแขนกางออกไม่ได้เพราะผิวหนังและเนื้อเยื่อสมานติดแขนท่อนบนไว้กับท่อนปลายแขน  สาเหตุจากแม่เงาะมันนิกลัวลูกสาวยาวัตเจ็บปวดที่ล้มลงในกองไฟจึงพันผ้าไว้เป็นแรมเดือน  ลูกสาวยาวัตหายเจ็บปวดแล้วจึงแก้ผ้าพันแผล(ผ้าถุงเก่า)ออก  สะท้อนให้เห็นว่านักสมุนไพรมือหนึ่งในเผ่าพันธุ์มันนิขาดการถ่ายทอดไปโดยสิ้นเชิง  ชาวมันนิคงจำได้เพียงชื่อพืชพันธุ์ที่ไม่สามารถเปลี่ยนมาเป็นภาคปฏิบัติการสมุนไพรได้อีกแล้ว

 

พระธรรมทูตไทยในอินเดียได้ใช้วิธีการเผยแผ่พุทธธรรมดั่งบาทหลวงในอดีตด้วยการรักษาสุขภาพ  ปฐมพยาบาลบำบัดความเจ็บป่วยให้ชาวอินเดียในละแวกรอบวัดไทยในอินเดีย  จัดแพทย์อาสาไปจากเมืองไทย  รับเวชภัณฑ์ไปจากเมืองไทย  ในระยะเริ่มงานพยาบาลเมื่อ ๒๐ ปีที่ผ่านมาก็ส่งผลให้เห็นว่าเวชภัณฑ์ไทยใช้ได้ผลน้อยกว่าเวชภัณฑ์อินเดีย เพราะสารเคมีในร่างผู้ป่วยชาวอินเดียมีขนาดแตกต่างจากสารเคมีที่อยู่ในร่างคนไทย  และสารเคมีในร่างผู้ป่วยอินเดียก็ไม่เหมาะกับเวชภัณฑ์ไทยหลายขนาน   แพทย์ไทยอาสาสื่อสารกับชาวอินเดียผู้ป่วยเจ็บสื่อสารกันไม่เข้าใจ  สื่อสารจนเมื่อยมือก็ยังจัดเวชภัณฑ์บำบัดรักษาไม่ตรงโรค  ปัญหาที่จะให้แพทย์ไทยอาสาศึกษาภาษาฮินดีก่อนไปรักษาชาวอินเดียนั้น  แม้จะไม่ถึงหนทางตันแต่ก็เป็นอุปสรรคที่จะต้องแก้กันต่อไป  ทางออกในขณะนี้ก็คือรับแพทย์ชาวอินเดียมาดูแลรักษาโรคของชาวอินเดีย และใช้เวชภัณฑ์ของอินเดียแทนเวชภัณฑ์ในเมืองไทย  แต่เวชภัณฑ์สมุนไพรไทยหลายขนานยังคงใช้ได้ดีกับชาวอินเดีย และเวชภัณฑ์สมุนไพรอินเดียหลายขนานก็สามารถใช้ได้ดีกับชาวไทย  ก็ให้เป็นหน้าที่ของเภสัชกรปฏิบัติงานไปตามวิถีหน้าที่แห่งตนสนับสนุนงานแผ่พุทธธรรมของพระคุณเจ้าพระธรรมทูตในต่างแดน

 

วัฒนธรรมของทุกชนเผ่ามีการเกิดและพัฒนารับใช้วิถีชีวิตชนเผ่าจนหมดหน้าที่ ก็จักเสื่อมสลายไปเป็นดั่งนี้ดังส่วนหนึ่งในไตรลักษณ์คือความเป็นอนิจจัง วัฒนธรรมไม่ได้เป็นของเที่ยงแท้แน่นอน  มีเกิดมีปรากฏก็เสื่อมลดบทบาทสูญหายสลายไปตามกาล   แต่การลดบทบาทจะค่อย ๆ เป็น ค่อย ๆ ไปตามบทบาทที่รับใช้ผู้คนที่ยังคงมีความจำเป็นที่ต้องใช้วัฒนธรรมดั้งเดิมนั้น  เมื่อคนที่ใช้วัฒนธรรมเก่าลดจำนวนลงไปตามธรรมชาติ    การค่อย ๆ ลดบทบาทนั้นเป็นธรรมชาติของผู้คนที่รับวัฒนธรรมนั้น  หากลดหายไปทันทีทันใดอย่างผิดธรรมชาติ  จะก่อให้เกิดปัญหาแก่สังคมชนเผ่าทันทีด้วยเช่นกัน  เพราะคนที่ยังคงใช้วัฒนธรรมยังมีชีวิตอยู่  การหายไปทันที  จะเกิดความเครียดซึ่งมีผลไปสู่การทำลายชีวิตอย่างฉับพลันด้วย  นักจัดการวัฒนธรรมที่รู้เท่าถึงการณ์จึงไม่ควรละเลยในประเด็นนี้  ในพุทธศาสนาที่สอนให้คนละเว้นความชั่ว๑  กระทำความดี๑  และต้องกระทำจิตให้บริสุทธิ์ด้วย๑  ก็เพื่อรักษาชีวิตให้ยั่งยืนและสิ้นสูญไปตามอายุขัย  การทำจิตใจให้บริสุทธิ์เป็นการรักษาชีวิตให้ยืนยาว  มีผู้คนช่วยสร้างประโยคให้ฟังง่ายขึ้นเป็น หัวเราะวันละนิดจิตแจ่มใส ก็เป็นส่วนหนึ่งของการกระทำจิตให้บริสุทธิ์  ในทางกลับกัน  การทำจิตให้หมองไม่ผ่องใส (เครียด) ก็จักเป็นหนทางแห่งความตาย  ผู้สูงวัยยังต้องการวัฒนธรรมเพื่อหล่อเลี้ยงชีวิตให้ผ่องใส  ผู้ใดทำลายวัฒนธรรมอันเป็นเชื้อแห่งความสุขของผู้สูงวัย  ก็ถือได้ว่าเป็นผู้ยื่นความตายให้ผู้สูงวัยก่อนกาล

 

นักจัดการวัฒนธรรมก็มีหน้าที่จัดเก็บวัฒนธรรมไว้เป็นมรดก  วัฒนธรรมนั้นก็มีหน้าที่แสดงอัตลักษณ์ในความหมายของ มรดก ( มร=ตาย, ด=แล้ว =ผู้ (เป็นประธานของคำที่ขยาย)) วัฒนธรรมใดที่หมดหน้าที่ในวิถีชีวิตก็เก็บรักษาไว้เป็นมรดก  รอนักจัดการสร้างสรรค์ให้มรดกนั้นมีหน้าที่ในสังคม  วัฒนธรรมนั้นก็ฟื้นคืนชีพกลับเข้าสู่สังคมได้อีก  ในพหุวัฒนธรรมบางวัฒนธรรม ที่เสื่อมสลายไปแล้วของชนเผ่าหนึ่งอาจจะรื้อฟื้นคืนชีพไปอยู่กับอีกชนเผ่าหนึ่งได้  วัฒนธรรมด้อยรวมกับวัฒนธรรมด้อยเป็นวัฒนธรรมประสมก็อาจกลายเป็นวัฒนธรรมแข็งสืบทอดต่อไปได้อีก

 

การท่องเที่ยวเป็นวัฒนธรรมใหม่  นักท่องเที่ยวมีเป้าหมายเปลี่ยนพื้นที่อันจำเจของตนไปแสวงหาท้องถิ่นใหม่เป็นท้องถิ่นที่มีวัฒนธรรมแตกต่างไปจากวิถีชีวิตของตน  ทรัพยากรทางการท่องเที่ยวมี ๒ ประเภทคือทรัพยากรทางธรรมชาติ (ทะเล หาดทราย แหลม ป่าไม้) และทรัพยากรทางด้านวัฒนธรรม   วัฒนธรรมที่เสื่อมสลายไปเพราะหมดหน้าที่รับใช้ชนเผ่าจะฟื้นกลับมารับใช้นักท่องเที่ยวได้  มรดกวัฒนธรรมที่จัดเก็บรักษาไว้ในมิติหนึ่ง  สามารถนำมาปรับเปลี่ยนให้เหมาะกับหน้าที่ใหม่  ให้คนรุ่นใหม่เป็นผู้แสดงวัฒนธรรมมรดกเพื่อเสนอให้เป็นวัฒนธรรมทางการท่องเที่ยว  การกระทำเยี่ยงนี้ก็คือการจัดการวัฒนธรรม (ให้มีหน้าที่ใหม่) อันยังประโยชน์แก่ชนเผ่าได้อีกสืบไป

 

การจัดการวัฒนธรรมของชนเผ่ายังคงรอนักจัดการมือสร้างสรรค์ที่จักใช้เทคนิควิธีการหรือนิรมิตวิธีการให้วัฒนธรรมที่ยังความสงบสันติสุขปรากฏขึ้นรับใช้มวลมนุษยชาติสืบผาสุกสืบกาล.

 

 

 

***

มนุษยศาสตร์  จริยธรรม 2

ดูภาพประกอบการเสนอบทความนี้ใน ดูเพิ่มใน https://www.facebook.com/photo.php?fbid=422144261217820&set=a.422143787884534.1073741861.100002667505315&type=1&theater

เมื่อ ๒๑ พฤษภาคม ๒๕๕๖ ณ โรงแรมพาวีเลี่ยน สงขลา

สามเณรนาลันทา

แก้ไขล่าสุดเมื่อ ( อังคาร, 28 พฤษภาคม 2013 )
 
< ก่อนหน้า   ถัดไป >

สมุดภาพเหมืองแร่

Counter

mod_vvisit_countermod_vvisit_countermod_vvisit_countermod_vvisit_countermod_vvisit_countermod_vvisit_countermod_vvisit_countermod_vvisit_countermod_vvisit_counter
mod_vvisit_counterวันนี้5289
mod_vvisit_counterเมื่อวาน3893
mod_vvisit_counterทั้งหมด11017123