Skip to content

Phuketdata

default color
Home arrow Search
เหมืองโชน : ราชัน กาญจนะวณิช PDF พิมพ์ อีเมล์
เขียนโดย ปาณิศรา ชูผล มทศ.   
พุธ, 09 เมษายน 2008

เหมืองโชน

 

ราชัน กาญจนะวณิช
----------------

เมื่อผมไปเริ่มฝึกหัดงานที่บริษัท ทุ่งคาฮาเบอร์ทินเดรดยิงลิมิเต็ด ที่ภูเก็ตในปี พ.ศ. 2494 นั้น ได้มีโอกาสพบกับบุตรชายของคุพระอร่ามสาครเขตคนหนึ่งและได้มีโอกาสทราบว่า คุณพระอร่ามนั้นเมื่อครั้งยังมีชีวิตอยู่ได้พยายามปลุกปล้ำที่จะพัฒนาเหมืองแร่ดีบุกในหินแข็ง ที่เรียกกันว่า แหล่งแร่ปฐมภูมิ แห่งหนึ่ง ซึ่งเป็นที่รู้จักกันว่า เหมืองโชน ตั้งอยู่ติดกับเขตของจังหวัดระนอง พังงา และสุราษฎร์ธานี

คุณพระอร่ามเป็นนายเหมืองที่มีชื่อเสียงมาก เพราะเป็นเจ้าของเหมืองแร่คนไทยคนแรกที่ได้กล้าลงทุนซื้อเรือขุดมาทำเหมืองในลานแร่ ตระกูลของพระอร่ามสาครเขต เป็นที่รู้จักกันดีทั่วประเทศ เมื่อผมยังเป็นเด็กนักเรียนในกรุงเทพฯ เมื่อก่อนสงครามโลกครั้งที่สอง ก็มีธิดาของท่านคนหนึ่งแต่งงานกับ ม.จ.ดุลภากร วรวรรณ ซึ่งมีบ้านอยู่ในซอยหลังสวน ถนนเพลินจิต ในกรุงเทพฯ ไม่ไกลจากบ้านพ่อผมในซอยเดียวกัน เมื่อสมัยที่ยังมีบรรดาศักดิ์เป็น หลวงอร่ามสาครเขต ในปี พ.ศ. 2459 ได้รับพระราชทานนามสกุล “ตัณทัยย์” พระอร่ามมีบิดาชื่อ หลวงอร่ามสาครเขต (ตันเงินเจ่า) ปู่ชื่อ ตันม้าเอง และทวดชื่อ ตันเอียงฉ้อ

 

ถึงแม้ผู้แทนเจ้าของเหมืองจะได้เสนอขายเหมืองแร่ แห่งนี้ ในราคาเพียง 2 ล้านบาท ทางบริษัทก็มิได้สนใจ เพราะในปี พ.ศ.2494 นั้น กลุ่มบริษัทในเครือของลอนดอนทิน คอปเรชั่น ยังไม่สามารถขบปัญหาเหมืองแร่ปฐมภูมิของบริษัท ไทยแลนด์ ทินไมนส์ ที่ปินเยาะ จังหวัดยะลาได้สำเร็จ ทั้ง ๆ ที่เหมืองแร่นี้เป็นเหมืองใหญ่อยู่ติดทางหลวงสายยะลา-เบตง พร้อมทั้งอาคารที่พัก ตลอดจนสำนักงานและโรงแต่งแร่ที่ทันสมัย ซึ่งถ้าคุ้มทุนก็จะสามารถผลิตดีบุก เป็นโลหะ โดยวิธีกรรมเคมีและไฟฟ้า โดยไม่ต้องส่งแร่สะอาดไปขายโรงถลุง โครงการเปิดเหมืองแร่ดีบุกที่ปินเยาะนั้น เป็นโครงการตั้งแต่ก่อนสงครามมหาเอเชียบูรพาของญี่ปุ่น เมื่อค่าภาคหลวงยังอยู่ในระดับประมาณร้อยละสิบ แต่ในสงครามโลกครั้งที่ 2 ประเทศไทยได้ถูกกดดันให้ปรับลดค่าเงินบาทลงในระดับเดียวกันกับเงินเยนของญี่ปุ่น อัตราค่าภาคหลวงแร่ดีบุกจึงได้ถีบตัวขึ้นไปถึง ร้อยละ 25 ตามอัตราก้าวหน้าที่กำหนดไว้ การลดค่าเงินบาทมิได้หมายความว่าดีบุกมีค่าสูง แต่มีราคาเป็นเงินบาทสูงและค่าแรงงานรวมทั้งค่าวัสดุต่าง ๆ มีราคาสูงตามความตกต่ำของค่าเงินบาท และทางรัฐบาลหลังสงครามก็ยังไม่พร้อมที่จะหาทางแก้ไขสูตรการเก็บค่าภาคหลวงที่ได้ใช้มาห
ลายสิบปีนั้น ด้วยเหตุดังกล่าว บริษัทจึงมิได้ให้ความสนใจที่จะไปลงทุนในเหมืองโซนเพราะเหมืองปินเยาะของบริษัทเองก็คงจะขายได้ในราคาประมาณ 2 ล้านบาทเช่นเดียวกัน

แต่อย่างไรก็ดี ในฐานะที่ผมเป็นวิศวกรที่มาฝึกหัดงานใหม่ ๆ จึงค้นหลักฐานเก่า ๆ ดู ก็พอจะทราบว่าเหมืองโชนนั้นมีประวัติความเป็นมาอย่างไร

เท่าที่มีหลักฐาน นายช่างตรวจเหมืองของแผนกโลหกิจ จังหวัดภูเก็ต ชื่อ วอร์เนอร์ ชานด์ (W. WARNER SHAND) ได้ไปตรวจบริเวณเหมืองแร่แห่งนี้ตอนปลายปี พ.ศ. 2459 และเขียนรายงานและรายละเอียดไว้ว่าได้ออกเดินทางจากจังหวัดภูเก็ตเมื่อวันที่ 22 กุมภาพันธ์ เพื่อไปตรวจเขตเรื่องราวขอประทานบัตรของหลวงอร่าม ที่เหมืองโชน จังหวัดสุราษฎร์ธานี นายช่างตรวจเหมืองได้ขึ้นเรือโดยสารชื่อ “มาลายา” (S.S.MALAYA) และไปถึงปากแม่น้ำตะกั่วป่า ในวันที่ 24 กุมภาพันธ์ และต้องคอยจนเช้าวันรุ่งขึ้น คือวันที่ 25 กุมภาพันธ์ จึงได้มีเรือเล็กมารับ เมื่อเวลา 09.00 น. และแล่นไปถึงบ้านนางย่อนเมื่อเวลา 13.30 น. จากบ้านนางย่อน นายช่างตรวจเหมืองต้องเดินไปจนถึงตีนเขา ซึ่งมีกงสีที่พักที่หลวงอร่ามได้สร้างเอาไว้ การเดินทางจากบ้านนางย่อนไปที่กงสีใช้เวลาเดิน 2 ชั่วโมง และค้างคืนที่กงสีนั้น ในบริเวณข้าง ๆ กงสี หลวงอร่ามได้เลี้ยงวัวควายหลายฝูงเพื่อเตรียมใช้เป็นพาหนะเมื่อเปิดเหมือง

จากกงสีแห่งนี้ มีทางเท้าเดินได้ตลอดถึงเหมืองโชน เป็นทางขึ้นเขาใช้เวลาเดินทางได้ในวันเดียว นายช่างตรวจเหมืองออกเดินทางจากกงสีเมื่อเวลา 08.30 น. เช้าวันที่ 26 กุมภาพันธ์ และถึงเหมืองโชน เวลา 17.30 น. ที่เหมืองโชนไม่มีกงสี จึงต้องนอนกลางแจ้งหรือสร้างเพิงเอาเอง

ในวันต่อมา จึงได้เดินตรวจบริเวณที่ขอประทานบัตรในที่สูง แหล่งแร่ดีบุกในเขาประเภทปฐมภูมิมีอยู่ในเนื้อที่ไม่เกิน 100 ไร่ ส่วนบริเวณที่เหลือนั้นอาจทำเหมืองแล่นได้ บริเวณที่ขอประทานบัตรอยู่สูงกว่าระดับน้ำทะเลเกินกว่า 3,000 ฟุต หรือประมาณ 1,000 เมตร รอบ ๆ บริเวณเป็นหน้าผาสูงชัน จนไม่มีทางที่จะเก็บขังมูลดินทรายและน้ำขุ่นข้นไว้ได้ เนื่องจากภูมิประเทศและที่ตั้งของแหล่งแร่อยู่ห่างไกลจากชุมชน จึงเชื่อได้ว่าถ้าอนุญาตให้ประทานบัตรตามขอ ก็คงจะไม่มีอันตรายต่อแม่น้ำบ้านดอน ไม่ว่าจะใช้วิธีทำเหมืองแบบใด การตรวจลำน้ำแสงไทยซึ่งเป็นต้นน้ำของแม่น้ำบ้านดอนก็ปรากฏว่าเป็นทางน้ำตกและหลุมลึก และมีหินใหญ่ ๆ มากมาย แม้แต่ภายในเขตเรื่องราวขอประทานบัตรก็มีน้ำตกจากระดับ 500 ถึง 600 ฟุต ซึ่งแสดงถึงความลาดชันของทางน้ำสายนี้ และการไม่สามารถที่จะสร้างทำนบกักกันมูลดินทราย จากยอดสูงสุดในเขตที่ขอประทานบัตรซึ่งอาจต้องทำเหมืองอุโมงค์ในหินแข็ง ผิวของเนื้อที่จะลาดลงสู่ลำน้ำแสงไทย

เช้าวันที่ 28 คณะสำรวจจึงได้ออกจากบริเวณเหมืองโชน เพื่อไปตรวจบริเวณอื่น ๆ ที่หลวงอร่ามได้ขอประทานบัตรไว้ การเดินทางต้องไต่ตามสันเขาซึ่งมีความกว้างไม่ถึง 10 ฟุต และสองข้างทางซ้ายขวาเป็นเหวลึก ถ้าเดินพลาดก็จะตกลงไปเป็นระยะไม่ต่ำกว่า 1,000 ฟุต เมื่อเดินตามสันเขาไปได้ระยะหนึ่งจึงมีทางลงทางทิศใต้ตามแนวลำธาร เรียกกันว่า คลองน้ำเต้า ซึ่งสองฝั่งมีร่องรอยแสดงว่าได้มีการทำเหมืองแร่มาช้านานแล้ว และบางแห่งก็มีรอยทำเหมืองขนาดใหญ่พอสมควร เช่นที่ เหมืองทวนสูง เหมืองห้อง และเหมืองส้มแป้น ลำน้ำเต้านี้ไหลผ่านตลอดเขตที่ขอประทานบัตรสองแปลงสุดยอดเขตเรื่องราวขอประทานบัตรตอนล่างนี้ก็อยู่ที่เชิงเทือกเขา เขตประทานบัตรทั้งสองแปลงนี้ ถ้าทำเหมืองก็คงจะต้องทำเหมืองแล่นและไม่มีทางที่จะป้องกันมิให้มูลดินทรายไหลลงสู่ทางน้ำ ถึงแม้ว่าหาทางเก็บมูลดินทรายบางส่วนในขุมเหมืองเก่าริมฝั่งทางน้ำในฤดูแล้ง แต่เมื่อถึงฤดูฝน ก็คงจะถูกน้ำพัดลงทางน้ำอย่างไม่มีปัญหา จากทิศใต้ของประทานบัตรที่ 4183 ไปถึงจุเชื่อมระหว่างลำน้ำแสงไทยและล้ำน้ำสำเภา มีเนื้อที่ดินประมาณ 80 ไร่ และล้ำน้ำ 2 สายนี้เมื่อพบกันแล้วก็เรียกว่าแควปลายแสง ซึ่งไหลไปลงแม่น้ำบ้านดอน ริมแควปลายแสง มีหมู่บ้านปลายแสง ซึ่งมีผู้คนอาศัยอยู่หลายครัวเรือน และเป็นหมู่บ้านสุดท้ายถ้ามาจากบ้านดอน ในหมู่บ้านปลายแสงมีชาวจีนอาศัยอยู่หลายคน และมีรอยทำเหมืองใหม่ ๆ ในทางน้ำปลายแสงและน้ำเต้า ถึงแม้จะไม่พบคนทำเหมือง แต่ก็พบกระท่อสองกระท่อม มีเด็กเฝ้า ซึ่งรับว่ามีคนมาพักอยู่ 15 คน ทางทิศใต้ของหมู่บ้านปลายแสงมีสายน้ำเรียกว่าคลองเมา ไหลมาพบกับแควปลายแสง ทั้งผู้ใหญ่บ้านและนายอำเภอท่าขนอมยืนยันว่าได้มีการทำเหมืองจริง ทั้ง ๆ ที่มิได้เคยมีการอนุญาตให้ทำเหมืองในเขตนี้เลย การที่มีคนจีนมาอาศัยอยู่ในดินแดนเช่นนี้ แสดงว่ามีการลักลอบทำเหมืองโดยเฉพาะในฤดูฝนซึ่งทางรัฐบาลไม่ได้รับผลประโยชน์ตอบแทนอย่างใด ที่หมู่บ้านปลายแสงนี้ มีน้ำพอที่เรือเล็ก ๆ จะพอผ่านไปได้ คณะสำรวจจึงได้เช่าเรือเล็กแล่นตามน้ำลงไป ออกจากหมู่บ้านปลายแสง 14.00 น. วันที่ 2 มีนาคม ไปถึงอำเภอท่าขนอมค่ำวันที่ 5 มีนาคม และจากท่าขนอมไปถึงทางรถไฟที่สุราษฎร์ธานี ใช้เวลาหนึ่งวัน คือถึงเมื่อ 17.00 น. วันที่ 6 มีนาคม แควปลายแสง จากบ้านปลายแสงนั้นตื้นมาก และเป็นแก่งต่างๆ หลายแห่งจากบ้านปลายแสงเป็นระยะทางเดินไกลใช้เวลาครึ่งวัน สองข้างฝั่งเป็นเทือกเขาหินปูนแม้แต่ในลำน้ำก็มีโขดหินปูนมากมาย นอกจากหินแล้วยังมีต้นไม้ใหญ่ ๆ และท่อนไม้กีดขวางการเดินทางด้วยเรือ บางแห่งหินปูนสองฝั่งเกือบจะปิดกั้นลำน้ำเอาไว้ จากอำเภอท่าขนอมลงไป แม่น้ำกว้างแต่ส่วนใหญ่ตื้น เรือขนาดกลางเดินทางได้ตลอด แควนี้ไหลไปลงแม่น้ำบ้านดอนใกล้ ๆ สถานีรถไฟสุราษฎร์ธานี

แควปลายแสงนี้ มีแก่งและหินมากมาย และตอนบนน้ำก็ไหลเชี่ยวมาก ถ้าหลวงอร่ามจะเปิดการทำเหมือง ก็คงจะไม่มีอันตราย เพราะถ้ามีมูลดินทรายตกค้างอยู่ เมื่อถึงฤดูฝนน้ำก็คงจะพัดพาไปหมด

ถึงแม้จะเชื่อว่ามีการทำเหมืองโดยไม่ได้รับอนุญาตอยู่ทางต้นน้ำ แต่ก็ไม่ปรากฏว่ามีมูลดินทรายอยู่ในลำน้ำ ทั้ง ๆ ที่ได้ทำเหมืองมาหลายปีแล้ว คณะสำรวจประมาณว่าเขตของประทานบัตรของหลวงอร่ามอยู่ห่างจากจุดที่แควปลายแสงไหลลงแม่น้ำนั้นเป็นระยะทางเกินกว่าหนึ่งร้อยไมล์ ฉะนั้นคณะสำรวจจึงลงความเห็นว่าสมควรอนุญาตให้ประทานบัตรแก่หลวงอร่ามได้ตามที่ขอ โดยไม่มีการบังคับให้กักขังมูลดินทราย และเนื่องจากการขนส่งติดต่อกับบริเวณที่จะทำเหมืองเป็นไปได้ยาก จึงไม่เชื่อว่าจะมีการทำเหมืองอย่างเป็นล่ำเป็นสัน นอกจากการทำเหมืองอุโมงค์ในหินแข็งซึ่งอาจเป็นไปได้

คณะสำรวจคณะนี้ได้เดินทางโดยรถไฟจากสุราษฎร์ธานีในวันที่ 7 มีนาคม ไปขึ้นเรือกลับภูเก็ต และถึงภูเก็ตในวันที่ 11 มีนาคม พ.ศ. 2459

นอกจากนายช่างวอร์เนอร์ ชานด์แล้ว ทางกรมโลหกิจยังได้ส่งนายแจฟฟรีย์ ลี (E. GEOFFREY LEE) ไปตรวจเหมืองโชน และนายเจฟฟรีย์ ลี ได้ทำรายงานลงวันที่ 8 ธันวาคม พ.ศ. 2460 กราบบังคมทูลกรมหลวงราชบุรีฯ ซึ่งทรงดำรงตำแหน่งเสนาบดีกระทรวงเกษตราธิการ มีใจความว่าได้ไปตรวจบริเวณที่ หลวงอร่ามสาคาเขต ได้ขอประทานบัตร จดทะเบียนเป็นเรื่องราว ที่ 3160 ที่แปลงนี้อยู่ในจังหวัดสุราษฎร์ธานี ทางตะวันออกของเขตด้านตะวันออกเฉียงเหนือของจังหวัดตะกั่วป่า เขตด้านตะวันออกของจังหวัดตะกั่วป่านั้นอยู่ตามแนวสันปันน้ำของเทือกเขา ซึ่งสังเกตเห็นได้ง่ายตลอดแนว ฉะนั้นจึงสามารถใช้เข็มทิศตรวจสอบกับมุมรังวัด และยอดเขาตามแผนที่ของกรมแผนที่ทหารได้ นายเจฟฟรีย์ ลี ได้บรรยายการเดินทางไว้ เพื่อให้เห็นถึงความยากลำบาก และความทุรกันดารของที่ตั้งของเหมืองโชนได้ เพื่อประกอบการพิจารณาในแง่ของการพัฒนาแหล่งแร่และรายงานว่าได้ออกเดินทางจากภูเก็ตบ่ายวันที่ 17 พฤศจิกายน และถึงตะกั่วป่าเช้า 08.00 น. เมื่อขนถ่ายสัมภาระลงเรือเล็กแล้วจึงได้ใช้เรือกลไฟของบริษัทอิสเอเชียติกลากจูงเมื่อเวลา 10.30 น. ไปทางทิศเหนือตามแนวร่องน้ำทางด้านตะวันออกของเกาะพระทอง จนไปถึงทุ่งนางดำ ที่ปากคลองนาง
ย่อนเวลาประมาณ 14.30 น. เรือเดินทางต่อไปไม่ได้เพราะเรือติดสันทรายที่ปากคลอง ต้องค้างคืน รุ่งเช้าเมื่อน้ำขึ้น จึงได้เดินทางต่อไปเมื่อเวลา 09.30 น. เรือกลไฟที่มาช่วยลากจูงนั้นได้ส่งกลับ คณะสำรวจเดินทางถึงวัดนางย่อนเวลา 13.30 น. ในวันที่ 19 พฤศจิกายน นายอำเภอได้มาช่วยเหลือจัดหาลูกหาบ แต่ต้องเสียเวลาอยู่นาน เพราะหาคนได้ยาก ชาวบ้านอยู่กันห่างๆ  ส่วนมากทำไร่ และไม่กล้าทิ้งไร่ไปเพราะพืชผักกำลังใกล้จะเก็บเกี่ยวได้ และมีช้างและหมูป่ารังควาญอยู่เสมอ ถ้าไม่มีอิทธิพลนายอำเภอแล้วคงจะไม่มีทางที่จะหาลูกหาบได้ ได้เคยมีนายช่างมาหาลูกหาบโดยให้ค่าจ้างวันละ 5 บาท ก็ยังหาไม่ได้

คณะสำรวจจึงต้องเสียเวลา และออกเดินทางต่อได้เมื่อเวลา 11.00 น. ตลอดทางเป็นที่เปลี่ยวไม่มีผู้คน และไปถึงเชิงเขาบางวันเมื่อค่ำ จึงได้กางเต้นท์พักค้างคืนเช้าเวลา 09.30 น. จึงสามารถออกเดินทางขึ้นเขาต่อ ทางช่วงนี้ชันที่สุดเท่าที่ได้พบมาจึงเดินทางได้ช้า ๆ และให้ลูกหาบขนสัมภาระคนหนึ่ง ๆ หนักไม่เกิน 20 ชั่ง ซึ่งเวลาต่อมาอีก 15 นาที ลูกหาบคนหนึ่งก็ป่วยเป็นไข้ ต้องจัดแบ่งสัมภาระให้ลูกหาบคนอื่น ๆ และถึงสันเขาเวลาประมาณ 10.00 น. มีเสาไม้เหลี่ยมเป็นเครื่องหมายแย่งเขตระหว่างจังหวัดตะกั่วป่ากับสุราษฎร์ธานี คณะสำรวจเดินต่อไปจนถึงคลองเอก เมื่อเวลาประมาณ 15.30 น. จีงได้ถางป่าตั้งค่าย ก่อนถึงคลองเอกประมาณหนึ่งชั่วโมง ได้พบบริเวณที่ได้มีการทำเหมืองมาแล้ว แต่ได้กลายเป็นเหมืองร้าง มีข่าวว่ามีแหล่งแร่วูลแฟรม แต่คณะสำรวจไม่พบแร่วูลแฟรม อากาศที่ค่ายของคณะสำรวจเย็นในเวลากลางคืน อุณหภูมิต่ำสุด 59 องศาฟาเรนไฮท์ เช้าวันที่ 22 เวลา 08.10 น. จึงได้เดินทางต่อไปถึงจะดหมายตอนเที่ยงวัน และสามารถทำการตรวจบริเวณที่ขอประทานบัตรได้ในตอนบ่าย ลูกหาบเดินทางด้วยความลำบาก เพราะภูมิประเทศเป็นทางเขาชัน เขาบริเวณนี้มีสันเขาแคบ หน้าผาสูงที่ช่องลม สันเขากว้างเพียง 4 ฟุต สูง 1,500-2,000 ฟุต แต่ยังดีที่มีต้นไม้ปกคลุมอยู่บ้าง พอมองเห็นทะเลได้ ในการเดินทางกลับ คณะสำรวจใช้ทางอีกทางหนึ่ง และต้องรีบเดินเพราะตั้งใจไว้ว่าจะพยายามไปให้ทันเรือเมล์ ที่จะออกจากตะกั่วป่า เวลา 10.00 น. ในวันที่ 28 ในการเดินทางกลับนี้เดินได้เร็วขึ้น เพราะลูกหาบมีสัมภาระน้อยลง เมื่อถึงเชิงเขาด้านตะวันตกจึงเดินกลับทางเก่าไปถึงวัดนางย่อน เมื่อได้จ่ายค่าแรงลูกหาบแล้วจึงได้ออกเดินทางด้วยเรือเล็กในเวลากลางคืน และไปถึงที่ทอดสมอเรือเมล์ในเวลา 10.00 น. ทันตามกำหนด

เมื่อก่อนเดินทางไปนั้น คณะสำรวจเข้าใจว่าเหมืองโชนนี้เป็นแหล่งแร่ดีบุกที่พบใหม่ แต่เมื่อไปตรวจดูแล้วกลับปรากฏว่ามีหลักฐานแน่ชัดว่าได้มีการทำเหมืองมานานแล้วหลายแห่ง ในเขตที่หลวงอร่ามของประทานบัตร บริเวณที่คณะสำรวจไปตั้งค่ายแห่งแรกหรือค่ายที่ 1 นั้นเป็นที่ตั้งกงสีเก่า สร้างด้วยหินแกรนิต ฝาบางด้านเป็นฝาไม้ใหม่กว่าอยู่ได้ประมาณ 20 คน แต่คงเลิกใช้มานานแล้ว ที่เรียกกันว่าเหมืองโชนนั้นหมายถึงเหมืองต่าง ในบริเวณนั้นรวมกัน และคำว่า “โชน” นั้นก็คงมาจากบริเวณที่มีต้นไม้ปกคลุมพื้นที่ต้นน้ำแสงไทย ที่พุ่งแรงไหลโชกโชนออกมา เหมืองเก่า ๆในบริเวณนี้เป็นเหมืองแล่นที่ใช้น้ำล้างผิวดินแดงข้างเขาหินแกรนิต ในบริเวณที่หินแกรนิตสัมผัสกับหินทราย ซึ่งมักจะมีหินแกรนิตผุและอ่อน ก็ได้มีการขุดทำเหมืองในหินแกรนิต ซึ่งแสดงว่ามีแร่ดีบุกอยู่ทั้งตามผิวดินและในหินแกรนิต มีการทำเหมืองแร่แห่งเดียว ที่ใกล้ ๆ ค่ายที่ 1 ที่มีคราสีขาว นอกนั้นจากมีการขุด “ครา” ใกล้ ๆ มุมที่ 7 และที่ 8 ของแผนที่เรื่องราวขอประทานบัตร

ทางด้านทิศตะวันออกเฉียงเหนือของค่ายที่ 1 มีสายควอทซ์ใกล้ ๆ ขอดเขาและมีรอยการขุดทำเหมืองตัวสายควอทซ์ และบริเวณใกล้เคียงมีรอยแตกร้าวอยู่ทั่วไปจนไม่อาจวัดกำหนดทิศทางได้แน่นอน แต่ประมาณว่าอยู่ในแนวตะวันตกเฉียงเหนือ-ตะวันออกเฉียงใต้ และดิ่งเกือบ 90 องศา (DIP) สายควอทซ์นี้กว้าง 6-8 ฟุต มีเกล็ดแคซิเตอไรท์ขนาดใหญ่พร้อมด้วย ทัวร์มาลีน ไพไรทส์ของเหล็ก และมีวูลแฟรมปนเล็กน้อย สายควอทซ์นี้มีสีขาวใสเหมือนแก้ว (VITREOUS) ซึ่งจากประสบการณ์ของนายเจฟฟรีย์ ลี ในประเทศอื่น ๆ แล้วมักจะพบว่าไม่มีความสม่ำเสมอและไม่อยู่ลึก ถ้าเปิดทำเหมืองขุดลงไปแล้ว สายควอทซ์จะตีบและหายไปเลย

สำหรับภูมิประเทศที่มีเขาสูงชันเช่นนี้ ถ้าสายแร่ควอทซ์อยู่ลึกติดต่อลงไป ก็จะเปิดเหมืองได้ง่ายและสะดวก แต่เท่าที่เห็นอยู่ในปัจจุบัน เขตที่ขอประทานบัตรนี้ก็จะเปิดเหมืองได้แต่เพียงผิวดินในชั้นต้น ปัญหาเรื่องการถ่ายมูลดินทรายจึงต้องได้รับการพิจารณาก่อนที่จะอนุญาตประทานบัตรหรือไม่ จากแผนที่จะเห็นได้ว่าบริเวณที่ขอประทานบัตรคลุมถึงต้นน้ำคลองพุมเรียง การถ่ายเทมูลดินทายก็จะคล้ายกับเหมืองที่พะโต๊ะ และปากช่อง ในจังหวัดหลังสวน จากภูมิประเทศที่เห็น ซึ่งมีเขาสูงชัน หุบเขาแคบ ๆ และทางน้ำที่มีน้ำไหลแรง คงจะทำให้ไม่สามารถกั้นทำนบกักขังมูลดินทรายให้มีผลได้ แต่น่าจะใช้เวลาสำรวจป่าที่หนาแน่นในบริเวณก่อนที่จะตัดสินได้ว่าจะมีผลกระทบอย่างไร

สำหรับการอนุญาตให้ทำเหมืองนั้น นายเจฟฟรีย์ ลี เห็นว่าการทำเหมืองตามไหล่เขาในที่กันดารที่ไม่มีชุมชน เช่นที่ทำมาแล้ว ในที่อื่น ๆ ในจังหวัดสุราษฎร์ธานี และนครศรีธรรมราชก็ไม่เกิดผลกระทบที่เป็นอันตรายร้ายแรงแต่อย่างใด สำหรับที่เหมืองโชนนี้ มีน้ำบริบูรณ์เหมาะแก่การทำโรงไฟฟ้าจากกำลังน้ำ และการใช้น้ำในการสูบฉีด เท่าที่ทราบลานแร่ตามไหล่เขามีแร่ดีบุกสมบูรณ์ เพราะเท่าที่ได้รับรายงานแจ้งว่าเหมืองเก่า ๆ เคยผลิตแร่ได้คนละห้าชั่งต่อวัน ทั้ง ๆ ที่ทำงานเพียงวันละไม่กี่ชั่วโมง คนงานจีนทั้งหมดไม่ชอบลมหนาว และสูบฝิ่นทุกคน

ปัญหาสำคัญของการทำเหมืองในบริเวณนี้ คงจะเป็นการขนส่ง กล่าวกันว่าที่ทำเหมืองครั้งก่อนนั้น ต้องใช้ช้าง 10 เชือก และเพียงแต่ขนส่งเดือนละ 2 เที่ยวเท่านั้น ช้างเองก็ยังสู้ไม่ไหว ในระหว่างที่ไปสำรวจ ไม่มีอาหารหรือไร่ในบริเวณที่ขอประทานบัตรแต่ถ้าเปิดเหมือง ก็คงจะปลูกพืชผลได้บ้าง อย่างไรก็ดี ถ้าแหล่งแร่สมบูรณ์จริง ก็ย่อมจะสามารถแก้ปัญหาเรื่องการขนส่งได้

นายเจฟฟรีย์ ลี ไม่ทราบว่าผู้ขอประทานบัตร จะดำเนินการอย่างไร แต่มีความรู้สึกว่าโครงการทำเหมืองโชนนี้ มีปัญหามาก ซึ่งน่าจะเกินความสามารถของผู้ขอที่จะดำเนินให้ได้ผลสำเร็จได้ โครงการใหญ่ ๆ ที่มีปัญหาและความเสี่ยงเช่นนี้ ถ้าจะทำให้สำเร็จน่าจะต้องจัดตั้งบริษัทมหาชน ซึ่งจะอยู่ในฐานะที่ดีกว่าที่จะเริ่มลงทุนได้ ยกตัวอย่าง เช่น การขนส่งระหว่างเหมือง และคลองนางย่อน ตามแนวทางปัจจุบันให้ใช้ฬ่อหรือม้าได้จ้ะต้องลงทุนอีกไม่น้อยกว่า 200,000 บาท และถ้าจะเปิดเหมืองขนาดเล็กในสายแร่ก็จะต้องลงทุนเครื่องบดหินและแต่งแร่อีกเท่าตัวจากที่กล่าวมาแล้ว นอกจากนั้น ยังจะต้องลงทุนในการวางท่อชักน้ำมาใช้อีกเพื่อจะได้ใช้ในการล้างแร่ และการทำเหมืองผิวดินตามไหล่เขา

เนื้อที่บริเวณที่ขอประทานบัตรทั้งหมด รังวัดได้กว่า 9,000 ไร่ ฉะนั้นจะต้องเข้าใจว่า เนื้อที่ตามแผนที่นั้นเป็นเนื้อที่ตามผิวราบ และถ้าจะวัดจากผิวดินจริง ๆ แล้ว บริเวณดังกล่าวเป็นเขาสูงชันทั่วไป จึงจะมีผิวดินคิดเป็นเนื้อที่มากมายกว่าการรังวัดตามผิวราบ

ความกว้างใหญ่ของบริเวณที่ขอประทานบัตรนี้ จะเห็นได้ชัดจากการสำรวจว่าคณะสำรวจต้องย้ายค่ายในการเดินไปตรวจมุมต่างๆ เช่นมุมที่ 7 ถ้าแหล่งแร่ไม่สมบูรณ์พอแล้ว ก็ไม่อาจคุ้มกับค่าขนส่ง ค่าดอกเบี้ย ตลอดจนค่าชักทุนคืน และการบริหารจัดการก็จะต้องใช้ผู้ที่มีความสามารถ หลวงอร่ามผู้ขอประทานบัตรได้เริ่มถางแนวทางในที่ราบได้ประมาณ 300 เส้น แต่ยังไม่ได้ถางแนวทางขึ้นเขาที่สูงประมาณ 2,500 ฟุต

เพื่อที่จะยืนยันถึงปัญหาการขนส่งติดต่อกับเหมืองโชนนี้ คณะสำรวจรายงานสรุปว่าการเดินทางเข้าเหมืองจากบ้านดอนนั้นต้องใช้เวลามาก ถ้าดินฟ้าอากาศอำนวย อาจเดินทางด้วยเรือจากบ้านดอนตามคลองปลายแสงไปประมาณ 12 วัน และเดินไต่เขาต่อไปอีก 2 วัน รวมเป็น 14 วัน แต่ถ้าเป็นฤดูน้ำไหลเชี่ยว อาจต้องใช้เวลาถึงประมาณหนึ่งเดือน ในการเดินทางไปสำรวจครั้งนั้น นายเจฟฟรีย์ ลี เดินทางไปกับ ม.ร.ว.เถาและนายออสู่

ในหนังสือ “เรื่องเมืองเก่า ๆ นำมาเล่าใหม่” ของ ม.จ. พิริยดิศ ดิศกุล ในข่าวสารการธรณีฉบับพิเศษ – 100 ปี กรมทรัพยากรธรณี ได้อธิบายไว้ว่า พระอร่ามสาครเขต เชื่อว่าแหล่งแร่เหมืองโชนนี้เป็นแม่แร่ ที่ให้กำเนิดลานแร่ดีบุกต่างๆ ที่ชาวเหมืองได้ทำมาหากินกัน และถ้าหากคุณพระอร่ามฯ หาชีวิตไม่แล้ว จะขายทรัพย์สินอะไรอื่นก็ขายไป แต่อย่าขายเหมืองโชนก็แล้วกัน ตอนหนึ่ง ม.จ. พิริยดิศได้ทรงเขียนไว้ว่า “ประทานบัตรตกเป็นของกองมรดก และได้จัดสรรแบ่งปันกันมาจนถึงบุตรชายคนเล็ก คุณดิลก (ตัณทัย) ที่เป็นสถาปนิก ในที่สุด สู้ค่าใช้จ่ายไม่ไหวก็จำใจปล่อยให้อยู่ในความครอบครอง ของคุณเจียร วานิช คหบดีที่ตั้งตัวขึ้นมาจากการทำเหมืองดีบุกในยุคหลัง_ _ _ _ _ _ด้วยกิตติศัพท์ของเหมืองโชน บริษัท เหมืองแร่บูรพาเศรษฐกิจ จึงประเดิมเริ่มแรกด้วยการซื้อกรรมสิทธิ์ของเหมืองโชนมาจากคุณเจียร ในวงเงิน 10 ล้านบาท และได้ว่าจ้างอาจารย์เป้า ขำอุไร ซึ่งเป็นหัวหน้าแผนกวิชาการเหมืองแร่ คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ออกมาเป็น ผู้จัดการ”

หลังจากการรัฐประหารในปี พ.ศ. 2490 คณะรัฐประหารหลายคนได้ตั้งบริษัททำการค้าขึ้นตามนโยบายเศรษฐกิจที่คนไทยเรียกว่า จับเสือมือเปล่า โดยอาศัยอภิสิทธิ์เป็นหลักการบริหารธุรกิจ หนึ่งในบริษัทจับเสือนี้ ก็คือบริษัท บูรพาสากลเศรษฐกิจ ซึ่งเป็นที่รู้จักกันดี ในสมัยหลังการโค่นรัฐบาลนายกหลวงธำรงนาวาสวัสดิ์

บริษัทเหมืองแร่บูรพาเศรษฐกิจ ก็คงจะเป็นบริษัทที่ตั้งขึ้นในทำนองเดียวกันกับบริษัทบูรพาสากลเศรษฐกิจ

เรื่องเหมืองโชน กับอิทธิพลการเมืองนั้น “ไทยน้อย” ในหนังสือประชาธิปไตย 42 ปี ได้เขียนไว้อย่างละเอียดในบท 52 โดยกล่าวว่า “กลุ่มข้าราชการกลุ่มหนึ่งปรึกษาวางแผนกันเงียบ ๆ ที่จะหาเงินเข้ากระเป๋าโดยจะฉวยโอกาสหลังปฏิวัติ เพราะเข้าใจว่า คณะปฏิวัติคงจะต้องการจับจ่ายใช้สอยเงินทองเป็นจำนวนมาก เพื่อรักษาสถานการณ์มั่นคงของคณะปฏิวัติไว้ แผนการดังกล่าวคือ การนำเหมืองโชนซึ่งอยู่ระหว่างภูเก็ตและระนองไปเสนอขาย พณ.ท่าน_ _ _ _ _ _ _ เมื่อตกลงกันแล้ว พณ.ท่านก็จะเซ็นเช็คจากแบงก์เอเชียมา 6 ล้านบาท ส่วนอีก 4 ล้านบาทเป็นเงินลงทุนร่วมของข้าราชการกลุ่มนั้น _ _ _ _ _ _ _ _ _ ดังนั้นกิจการเหมืองโชนจึงได้เริ่มขึ้น และได้เริ่มขึ้นอย่างผิดหวังร้อยเปอร์เซ็นเพราะในที่สุดก็ขาดทุนไปเกือบ 30 ล้านบาท_ _ _ _ _ _ _ จนกระทั่งต้องตั้งโควตาลมรับซื้อแร่เถื่อนมาเข้าโควตา ซึ่งได้รับอยู่ 300 – 500 หาบ ในนามของบริษัทบูรพาเหมืองแร่เศรษฐกิจ ซึ่ง พณ.ท่าน เป็นประธาน_ _ _ _ _ _ _ ลักลอบขายแร่เถื่อนให้สฤษดิ์การวางแผนของข้าราชการชั้นผู้ใหญ่กลุ่มนั้นซ้อนแผนเดิมได้รีบกระทำขึ้นโดยด่วน เพื่อที่จะหลีกเลี่ยงการถูกยิงเป้า ซึ่งจะเป็นการขู่ของ พณ.ท่าน จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัตน์
หรือมิใช่ก็ตาม แต่ทว่าในระยะหน้าสิ่วหน้าขวาน เพิ่งปฏิวัติหยก ๆ เช่นนั้น ก็นับว่าเป็นการเสี่ยงอันตรายชนิดที่ไม่ควรเสี่ยงทีเดียว _ _ _ _ _ _ _แต่อย่างไรก็ดี ปรากฏว่า จากผลของการลักลอบจำหน่ายดีบุกในปี 2501 และการแลกเปลี่ยนใบยาเอาขี้ใบยาเข้ามาในระหว่างปี 2500-2501 กลุ่มบุคคลที่ร่วมมือกันในการนี้ มี พณ.ท่านและข้าราชการชั้นสูงอีก 2 รายได้ประโยชน์จากการนี้_ _ _ _ _ _ _ก็เป็นอันว่า พณ.ท่านหายจากความโกรธแค้นไปทันที และข้าราชการชั้นสูงก็รอดพ้นจากการไปยืนพิงกำแพงวัดมหาธาตุเป็นเป้ากระสุนปืนได้อย่างหวุดหวิดพร้อมกับฐานะเศรษฐกิจก็เคลื่อนติดตามมาถึงอย่างรวดเร็ว”

ในเรื่องเหมืองโชน ซึ่งผลของการทำเหมืองขาดทุนเพราะไม่มีแร่นี้ เอกสารของทางราชการ คือ “ข่าวสารการธรณี ฉบับพิเศษ 100 ปี กรมทรัพยากรธรณี” หน้า 202 ก็ได้กล่าวไว้ว่า “เป็นอันสรุปได้ว่า เหมืองโชน ที่คุณพระอร่ามสาครเขตตั้งความหวังไว้หนักหนาก็ได้มีส่วนให้เกิดอุบัติการณ์ทั้งดีและร้ายในวงการเหมืองแร่ และมีผลหระทบไปถึงการเมือง ทำให้เกิดยุคที่เรียกกันว่า ยุคประชาธิปไตยเบ่งบาน ซึ่งหมายถึงการที่รัฐมนตรีกระทรวงอุตสาหกรรม นิธิพัฒน์ ชาลีจันทร์ ได้สั่งยกเลิกเพิกถอนประทานบัตรของบริษัทเทมโก ในเดือนมิถุนายน พ.ศ. 2518 เพราะเหตุว่าได้รับประทานบัตรมาโดยการฉ้อฉล และไม่ชอบด้วยกฎหมาย จนได้เกิดการแตกตื่นแย่งกันทำเหมืองแร่ในทะเล ในน่านน้ำจังหวัดภูเก็ตและพังงา”

ประวัติเหมืองโชนนี้ ย่อมเป็นตัวอย่างที่แสดงให้เห็นว่า เมื่อนักธุรกิจที่อยู่ในภาคเอกชน หรือข้าราชการ ได้เข้าไปทำธุรกิจร่วมกับนักการเมืองชั้นผู้ใหญ่แล้ว ถ้าเกิดพยากรณ์ผลผิดพลาด ก็จะต้องหาทางทำให้ธุรกิจนั้น ๆ มีกำไรจนเป็นที่พอใจของนักการเมืองจนได้โดยไม่ต้องคำนึงถึงว่า วิธีการดังกล่าวจะผิดกฎหมายหรือศีลธรรมก็ตาม


เอกสารอ้างอิง

W. WARNER SHAND  –     รายงานการตรวนเรื่องราวของประทานบัตรของหลวงอร่าม ที่เหมืองโชน จังหวัดสุราษฎร์ธานี มีนาคม 2459

E. GEOFFREY LEE  –     รายงานลงวันที่ 8 ธันวาคม พ.ศ. 2460 กราบบังคมทูลกรมหลวงราชบุรี ฯ เสนาบดีกระทรวงเกษตราธิการ เรื่อง หลวงอร่ามสาครเขต ยื่น ร.ร. ขอประทานบัตร ที่ 3163

ม.จ. พิริยดิศ ดิศกุล  –  เรื่องเหมืองแร่เก่า ๆ นำมาเล่าใหม่ ข่าวสารการ   ธรณีฉบับพิเศษ – 100 ปี กรมทรัพยากรธรณี

INTERNATIONAL   –     331 EXCOM NO. 35 (REVISED)
           TIN COUNCIL                         DECEMBER 3, 1959 PAGE 15, ILLEGAL               SIPMENTS OF TIN FROM THAILAND.

“ไทยน้อย”  –  ประชาธิปไตย 42 ปี

 

 
< ก่อนหน้า   ถัดไป >

สมุดภาพเหมืองแร่

Counter

mod_vvisit_countermod_vvisit_countermod_vvisit_countermod_vvisit_countermod_vvisit_countermod_vvisit_countermod_vvisit_countermod_vvisit_countermod_vvisit_counter
mod_vvisit_counterวันนี้624
mod_vvisit_counterเมื่อวาน5656
mod_vvisit_counterทั้งหมด11018114