Skip to content

Phuketdata

default color
Home arrow Search
ชีวิตสัตว์ที่เกาะภูเก็ต : ราชัน กาญจนะวณิช PDF พิมพ์ อีเมล์
เขียนโดย ปาณิศรา ชูผล มทศ.   
อาทิตย์, 16 มีนาคม 2008

ชีวิตสัตว์ที่เกาะภูเก็ต


ราชัน กาญจนะวณิช
---------
 

ความเด่นของภูเก็ตประการหนึ่งก็คือ การเป็นเกาะขนาดใหญ่พอสมควรที่มีทะเลล้อมรอบ และชายฝั่งด้านต่าง ๆ ของเกาะมีคลื่นลมไม่เหมือนกัน มีสภาพป่าไม่เหมือนกันทำให้มีสัตว์ที่แตกต่างกันไปด้วย

เมื่อผมย้ายครอบครัวจากกรุงเทพฯ ไปอยู่ภูเก็ตในปี พ.ศ.2494 ภูเก็ตยังมีสัตว์ป่าต่าง ๆ อาศัยอยู่เป็นจำนวนมาก ซึ่งทำให้ได้มีโอกาสพบอยู่เสมอ ผู้รักษาการแทนผู้อำนวยการเขตของบริษัทที่ผมไปฝึกหัดงานที่ภูเก็ตเป็นชาวนิวซีแลนด์ ชื่อแมคคลักเกจ ท่านเล่าว่าได้เคยไปนั่งห้างยิงเสือโคร่งแถวตำบลบางคู ห่างจากสะปำเพียง 2-3 กิโลเมตร เมื่อสมัยก่อนสงครามโลกครั้งที่สอง

ผมไม่ได้มีโอกาสเห็นเสือโคร่งจนกระทั่งมีการสร้างถนนไปป่าตองแล้ว แต่ที่เห็นนั้นก็เป็นเสือที่ถูกยิงตายเมื่อเข้ามาจะกินกวาง สัตว์ป่าที่ผมเห็นบ่อย ๆ เมื่อไปอยู่ภูเก็ตในปี พ.ศ. 2494 นั้นก็เป็นสัตว์จำพวกเหี้ยหรือแลน ซึ่งมีอยู่มากตามชายป่าโกงกางตัวหนึ่งยาวประมาณ 1 เมตร เข้ามาเดินในบ้านและขึ้นไปเกาะอยู่ข้างฝาบ้านแบบจิ้งจก แม้แต่ที่แหลมพันวาก็เคยมีตัวหนึ่งขึ้นไปอาศัยอยู่บนหลังคา การที่แลนมาเยี่ยมถึงบ้านนั้นผมไม่ถือว่าเป็นอาคันตุกะที่ไม่พึงปรารถนาเพราะแลนไม่มีพิษมีภัยอะไร แต่วันหนึ่งผมกลับมาที่บ้านตอนเที่ยง เห็นเชือกขดใหญ่กองอยู่ใต้โต๊ะอาหาร จึงคิดจะก้มลงไปลากออกมา พอเข้าใกล้จึงรู้ว่าสายตาไม่ดี เพราะที่เข้าใจว่าเชือกนั้นเป็นงูเห่าตัวใหญ่ อาคันตุกะชนิดนี้ผมไม่ยินดีต้อนรับ

สัตว์ป่าที่เห็นเดินข้ามถนนหลังบ้านที่เรียกว่าซอยสะพานหินในเวลาค่ำคืนก็คือ หมูสังหรืออีเห็น ซึ่งไม่อาจพิจารณาได้แน่ชัดเพราะมืดได้แต่อาศัยแสงสว่างจากไฟหน้ารถยนต์เท่านั้น กระจงนั้นก็มีอยู่ทั่วไปในภูเก็ต เคยมีตัวหนึ่งเข้าไปในสวน คนตัดหญ้าจับมาให้เด็กดูเล่นแต่กระจงตื่นเต้นง่าย เลี้ยงอย่างกระต่ายได้ยาก บางครั้งเวลาไม่มีคนอยู่บ้าน ผมพบลิงแสมขึ้นไปเดินอยู่ชั้นบน มันก็น่ารักดีถ้ามันไม่มาเยี่ยมบ่อย ๆ

ในบริเวณสนามและสวนรอบ ๆ บ้านก็มักจะมีนกกวักมาเดินให้ชมอยู่เป็นประจำ นกใหญ่ที่เห็นอยู่เสมอก็มีนกออก (SEA EAGLE) ที่ทำรังอยู่บนต้นมะพร้าวหน้าบ้าน นกตะกรุมนั้นมักจะลงเดินตามฝั่งทะเลเวลาน้ำลง ทางด้านเหนือและตะวันตกของเกาะภูเก็ต ก็มีนกเงือกขนาดใหญ่อยู่มาก เวลาบินก็จะสังเกตเห็นได้ง่ายเพราะมีเสียงประกอบ

เมื่อผมไปอยู่ภูเก็ตใหม่ ๆ นั้น ผมรู้สึกดีใจทุกครั้งที่ได้มีโอกาสนั่งเรือเล็ก ๆ เพื่อเดินทางออกไปยังเรือขุดที่ทำงานอยู่ในอ่าวทุ่งคา เพราะในระหว่างเดินทางจะมีปลานกกระจอกกระโดดหรือบินหนีเรืออยู่เสมอ ปลานกกระจอกก็เป็นอาหารของปลาที่ใหญ่กว่าที่มีอยู่ในทะเลรอบเกาะภูเก็ต นอกจากปลานกกระจอกดังที่ได้กล่าวมาแล้ว ในทะเลรอบ ๆ เกาะภูเก็ตยังมีปลากระบอกชุกชุม ชาวบ้านมักจะใช้อวนหรือแหจับปลากระบอกจากชายฝั่ง ปลากระบอกตัวแรกที่ภูเก็ตที่ผมได้เห็นอย่างใกล้ชิดคือปลากระบอกขนาดใหญ่ที่กระโดดขึ้นมาบนเรือขนานยนต์ในคืนวันหนึ่งระหว่างที่ผมเดินทางจากท่านุ่นมายังท่าฉัตรชัยหลังจากที่รถของเราประสบอุบัติเหตุจนคุณวินเชนท์ วิมส์ ได้รับบาดเจ็บกระดูกซี่โครงหัก และผมกำลังขับรถพาผู้บาดเจ็บมาจังหวัดภูเก็ต ปลากระบอกตัวนี้ใหญ่และยาวมากจนผมเอาเข้าตู้เย็นไม่ได้ทั้ง ๆ ที่ตำราส่วนมากจะอธิบายว่าปลากระบอกมักจะยาวไมเกิน 60 เซนติเมตร อีกครั้งหนึ่งที่ผมเผชิญกับปลากระบอกก็คือในระหว่างแล่นเรือใบอยู่ในอ่างฉลองกับภรรยา ได้มีเพื่อนคือคุณสงวน ลิมปานนท์ แล่นเรือยนต์เข้ามาใกล้ ๆ แล้วโยนปลากระบอกมาให้ 2 ตัว ปลากระบอกชอบอยู่ในน้ำตื้น อยู่กันเป็นฝูงเล็ก ๆ และจะกระโดดเหนือน้ำเมื่อตกใจ

ปลาหน้าดิน (BENTHIC) ที่พนักงานบริษัททุ่งคาฮาเบอร์ ออกไปตกมาได้ในทะเลใกล้ๆ อ่าวทุ่งคามักจะเป็นปลาสีน้ำเงิน ปลากะรัง และปลาแดง ที่ชาวภูเก็ตเรียกว่าปลาสีเงินนั้น ก็คงจะเป็นปลาที่ทางกรมประมงเรียกว่ากะพงสีเงิน ปลากะรังก็คือปลาเก๋า ที่เรียกเป็นภาษาอังกฤษว่า GROUPER ในตระกูล SURANIDAE ปลากะรังมีสีหลายสีพร้อมทั้งจุดหรือลายต่าง ๆ กัน ชาวภูเก็ตนิยมเอามาทอดรับประทาน ปลาแดงเป็นปลาที่มีสีแดงสดสวยงดงาม ชาวต่างประเทศถือว่าเป็น RED SNAPPER ในตระกูล LUTJANIDAE แต่ก็ไม่เหมือนกับกะพงแดงที่ขายกันในตลาดกรุงเทพฯ ปลากะพงขาว (LATES CALCARIFER หรือ BARRAMUNDI) นั้นไม่คอยพบ

มีปลาหน้าดินชนิดหนึ่งที่พนักงานบริษัทส่วนใหญ่ไม่นิยมตก คือในบริเวณระหว่าวอ่าวมะขามกับแหลมพันวานั้น มีหลายแห่งที่ก้นทะเลเป็นดินหรือเลน และมีปลาดุกทะเลชุกชุมมากชาวภูเก็ตเรียกปลาชนิดนี้ว่า “ลูตู้” ปลาลูตู้มีลักษณะคล้ายปลากด นักตกปลาส่วนมากมักจะปล่อยปลาชนิดนี้ถ้าติดเบ็ดขึ้นมา เพราะไม่ค่อยมีคนชอบรับประทาน นอกจากจะเอาไปทำแกงเหลือที่เผ็ดจนไม่รู้รสชาติของปลา

พนักงานบริษัทที่ชอบความตื่นเต้นมากกว่าที่จะหาปลามาเป็นอาหาร มักจะไม่ออกไปตกปลาโดยหย่อนเบ็ดลงก้นทะเล แต่มักจะใช้เรือลากเบ็ดโดยมีเหยื่อปลอมหรือผ้าขาวล่อปลาในจำพวกปลาที่หากินตามผิวน้ำ (PELAGIC) และหาได้ง่ายที่สุดในน่านน้ำภูเก็ตคงจะเป็นปลาสากหรือปลาน้ำดอกไม้ (BARRACUDA) และมีขนาดใหญ่ที่ยาวประมาณ 1 เมตรอยู่มากชาวต่างประเทศนิยมรับประทานปลาชนิดนี้โดยเอามาทอด นักตกปลาคนไทยที่เคยออกทะเลด้วยกันมักจะพยายามหลีกเลี่ยงปลาสาก เพราะปลากสากไม่ต่อสู้ และเมื่อตกได้ลากขึ้นเรือก็จะส่งกลิ่นเหม็นเขียว

ปลาที่สวยงามและรับประทานอร่อยที่สุดเห็นจะเป็นปลาโต้มอญ (DORAOD หรือ MAHI MAHI) ซึ่งมีขนาดใหญ่ยาวเกือบ 1 เมตร ในระยะหลัง ๆ ที่พบมักจะเล็กกว่านั้นและมีน้ำหนักไม่เกิน 10 กิโลกรัม ปลาโต้มอญตัวผู้มีหน้าผากตั้งและใหญ่กว่าตัวเมีย จึงเป็นปลาที่ดูเพศได้ง่าย ปลาชนิดนี้มีสีสวยงามมาก คือ จากส่วนบนจะมีสีน้ำเงิน เขียว ชมพู และลงไปถึงท้องจะเป็นสีเหลือง ปลาโต้มอญชอบกระโจนไล่ปลานกกระจอก เมื่อปลานกกระจอกหายไปจากน่านน้ำใกล้ฝั่งในจังหวัดภูเก็ต ก็ทำให้ปลาโต้มอญหาดูได้ยากขึ้น นอกจากจะแล่นเรือออกไปไกล ในตลาดภูเก็ตจะหาปลาโต้มอญได้ยาก ผมเคยเดินทางด้วยเรือมาราเรตลี ทางด้านตะวันออกของเกาะดอกไม้ ลูกเรือเอาสายเบ็ดผูกผ้าขาวลากจากท้ายเรือล่อปลาโต้มอญได้ 17 ตัว ภายในเวลาไม่ถึง 20 นาที ในหมู่เกาะฮาวายในสหรัฐอเมริกามีปลาชนิดนี้ขายตามร้านอาหารทั่วไป ชาวฮาวายเรียกปลาโต้มอญว่า MAHI MAHI และชอบชุบแป้งทอดเป็นอาหารที่นิยมกันมาก

ปลาอีกชนิดหนึ่งที่มักจะพบในการลากเบ็ดรอบ ๆ เกาะรายาใหญ่ คือปลามงพร้าว หรือ โฉมงามในตระกูลCARANGIDAE ปลาชนิดนี้ใช้เป็นอาหารได้ดี ในระยะหลังๆ นี้ยังมีชุกชุมอยู่ที่เกาะเก้า ซึ่งนักตกปลายังมีโอกาสพบปลามงพร้าวขนาดใหญ่เป็นจำนวนมาก พนักงานบริษัททุ่งคาฮาเบอร์ที่ได้ไปตรวจงานเรือขุด มักจะหาโอกาสไปลากเบ็ดล่อปลาอินทรีในบริเวณรอบ ๆ เกาะดอกไม้นอกอ่าวทุ่งคา ซึ่งเคยมีปลาอินทรี (SPANISH MACKERAL) ชุกชุมมากบางวันแล่นเรือรอบเกาะเล็กๆ นี้ จะได้ปลาอินทรีรอบละตัว จนต้องเลิกไปเอง ปลาอินทรีที่ไม่มีจุดนั้นชาวต่างประเทศใช้ภาษาอังกฤษเรียกว่า KING MACKERAL ส่วนที่ตัวเป็นลายก็จะเรียกว่า WAHOO ชาวเลที่ยังรู้ภาษามลายูเรียกรวมกันว่า TENGIRI การเรียกชื่อต่าง ๆ นี้ยังสับสนไม่แน่นอน เช่นที่เรียกว่าอินทรีหรืออินทรา ปลาชนิดนี้รับประทานได้เช่นเดียวกับปลาอื่น ๆ ในตระกูล SCOMBRIDAE

ปลาที่ต้องใช้สายเบ็ดล่อยังมีอีกชนิดหนึ่งที่มีมากในตอนสิ้นฤดูมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ ก็คือปลากล้วย (RAINBOW RUNNER) ตัวยาวประมาณ 60 เซนติเมตร จนเกือบถึง 1 เมตร สีสวยหลังสีเขียวฟ้า ลำตัวเหลือสลับสีน้ำทะเล จึงมีชื่อภาษาอังกฤษเปรียบเทียบกับรุ้งกินน้ำ ปลาชนิดนี้มีรสชาติดีกว่าและเนื้อแน่นกว่าปลาสำลี (SERIOLA NIGROFASCIATA) ซึ่งอยู่ในตระกูล CARANGIDAE ด้วยกัน ปลากล้วยไม่ค่อยมีขายในตลาดภูเก็ต เมื่อก่อนนี้มักจะใช้ทำปลาเค็ม

ในตอนปลายเดือนตุลาคม หรือต้นเดือนพฤศจิกายนทุกปี จะมีปลาขนาดใหญ่เริ่มมากกระโดดโลดโผนให้พนักงานเรือขุดนอกอ่าวทุ่งคาได้ดู ปลาใหญ่พวกนี้คือปลากระโทงแทงกล้วยหรือกระโทงแทงร่ม พนักงานเรือขุดมักจะเรียกปลาชนิดนี้ว่าปลาใบตามภาษาต่างประเทศที่เรียกว่า SAILFISH ในภาษาอังกฤษ หรือ IKAN LAYER ในภาษามลายู ที่เรียกเช่นนี้คงจะเป็นเพราะครีบสันหลังของปลากระโทงแทงกล้วยมีขนาดใหญ่และมีลักษณะคล้ายใบเรือ ในบริเวณทะเลจากเกาะดอกไม้ เกาะไข่ เลยไปจนถึงเกาะพีพีดอน จะมีปลาชนิดนี้มากระโดดโลดเต้นเป็นจำนวนหลายสิบตัว โดยเฉพาะในช่วงเดือนมกราคมและกุมภาพันธ์ ซึ่งเป็นช่วงที่ปลาวางไข่ นักประพันธ์ชาวอเมริกันชื่อ เซน เกร (ZANE GREY) ที่ตกปลากระโทงแทงร่มขนาด 133 ปอนด์ ได้เมื่อปี พ.ศ. 2472 ที่เกาะโบราโบรา ในมหาสมุทรแปซิฟิคได้บรรยายการต่อสู้ของปลาชนิดนี้จนนักกีฬาตกปลาทั่วโลกเกิดความสนใจ นักตกปลาที่ถือการตกปลาเป็นกีฬานิยมลากเหยื่อปลอมล่อปลาชนิดนี้ และถ้าติดปลาก็จะปล่อยเพื่อมิให้มันสูญพันธ์ สายเบ็ดก็จะใช้ขนาดเล็ก 10-30 ปอนด์ ซึ่งทำให้ต้องใช้เวลานานกว่าจะลากปลาที่ติดเบ็ดมาถึงเรือได้ และในระหว่างนั้นปลาก็จะกระโดดหรือเดินด้วยหางให้ดู ผมเคยเห็นเพื่อน ๆ ใช้เวลา 30 ถึง 50 นาที กว่าจะลากปลาขึ้นเรือได้

ทางด้านโลกภาพยนตร์ ดาราสตรีล่ำสัน RAQUEL WELCH เคยตกได้ปลากระโทงแทงร่ม ทำลายสถิติเหมือนกัน ที่ภูเก็ตคุณธารินทร์ นิมมานเหมินท์ และคุณชำนาญ ปจันตบุตร (แดง) เป็นผู้เชี่ยวชาญในการตกปลาชนิดนี้ ส่วนปลาดาบหรือ “เซตูฮุก” หรือ MARLIN ซึ่งเป็นปลาใหญ่กว่าปลากระโทงแทงร่มนั้นก็มีอยู่บ้างในน่านน้ำภูเก็ต แต่ขนาดไม่สามารถเทียบเคียงกับที่นักท่องเที่ยวนิยมเช่นในควีนแลนด์ ฮาวาย หรือมอริเซียสได้ คุณทอม แมคนารามา เจ้าของภัตตาคารที่ภูเก็ตเคยตกได้ตัวใหญ่มาหนึ่งตัว ซึ่งยังตั้งไว้ให้ชมที่โรงแรมภูเก็ตคาบานา คุณทอมเล่าว่าต้องใช้เวลาดึงสายเบ็ดอยู่ประมาณ 3 ชั่วโมง ก่อนจะเอาปลาขึ้นเรือได้

ปลาที่ใหญ่ที่สุดที่ผมเคยเห็นที่จังหวัดภูเก็ต ได้แก่ปลาฉลามวาฬ (WHALE SHARK) ที่ผมเห็นนั้นเป็นปลาสีน้ำตาลลำตัวมีจุดทั่วไป ปลาใหญ่ตัวนี้ได้เข้ามาลอยตัวอยู่ใกล้ผิวน้ำทางฝั่งตะวันออกของเกาะโหลน เมื่อเอาเรือเข้าไปเทียบใกล้ ๆ ปลาตัวนี้ก็สงบนิ่งไม่ตื่นเต้นและเมื่อเทียบความยาวของเรือแล้วประมาณได้ว่ายาวไม่ต่ำกว่า 12 เมตร ม.ล. เสรี ปราโมช อดีตผู้แทนฯ พรรคประชาธิปัตย์ ซึ่งเคยไปพักต่อเรืออยู่ที่เกาะโหลนหลายเดือนก็เล่าว่าได้เคยพบหลายครั้ง แต่จะเป็นตัวเดียวกันหรือไม่ก็ไม่อาจทราบได้ กล่าวกันว่าฉลามวาฬไม่ทำอันตรายคน และเมื่อมีนักท่องเที่ยวนิยมมาชมทะเลที่ภูเก็ตมากขึ้นจึงได้มีการจัดทัวร์นักดำน้ำออกไปดูปลาชนิดนี้ในทะเลด้านตะวันตกเพื่อหาโอกาสลงไปสัมผัสปลาชนิดนี้

ฉลามชนิดอื่น ๆ นั้น ก็มีอยู่ทั่วไปในน่านน้ำภูเก็ต แต่ไม่ค่อยมีข่าวว่ามีผู้ใดเสียชีวิตเพราะถูกฉลามทำร้าย นอกจากข่าวเมื่อ 60 ปีก่อน ที่ว่ามีฉลามขนาดใหญ่ฉายาว่า “อ้ายควาย” ที่ได้มากัดคนเรือที่ทำความสะอาดท้องเรือในคลองบางใหญ่ สะพานอร่ามหรือโรงแรมถาวร

ปลาวาฬนั้นความจริงไม่ใช่ปลา แต่เป็นสัตว์ทะเลที่เลี้ยงลูกด้วยนม มีอยู่น้อยในน่านน้ำภูเก็ตนาน ๆ ครั้งจะมีโอกาสพบเห็น ปลาโลมานั้นมีมากที่ภูเก็ตเช่นเดียวกับน่านน้ำทั่วไป

ปลาประเภทสวยงามหรือมีรูปร่างแปลก ๆ เช่น ปลาการ์ตูนและปลาสวยงามที่อาศัยอยู่ตามปะการังนั้นเคยมีอยู่เป็นจำนวนมาก และมีคนนิยมจับไปเลี้ยงไว้ตามตู้กระจกแหล่งที่สำคัญก็คือที่เกาะไข่และอ่าวสาคูหรือในยางใกล้ๆ สนามบินไม้ขาว แต่ต่อมาเมื่อมีการจับปลาประเภทนี้เป็นเชิงพาณิชย์และใช้ยาหรือเคมีภัณฑ์ในการจับปลา ซึ่งทำให้ปลาสลบและตายไปเป็นจำนวนมาก ปลาประเภทนี้จึงหาดูได้ยากขึ้น

นอกจากปลาแล้วภูเก็ตยังมีปูอีกหลายประเภท ปูที่เห็นดาษดื่นที่สุดที่ชายฝั่งอ่าวทุ่งคา คือปูเสฉวน ซึ่งเป็นปูที่อาศัยซากหอยเป็นที่อยู่หรือเกาะกำบังภัย เมื่อผมไปอยู่ภูเก็ตใหม่ ๆ มีปูเสฉวนเป็นจำนวนมากเดินขวักไขว่ ไม่เว้นแม้แต่พื้นชั้นล่างบ้านพักของบริษัททุ่งคาฮาเบอร์ที่ซอยสะพานหิน นอกจากนั้นที่บ่อเล็กๆ ริมป่าชายเลนหน้าบ้านก็มีคนมาจับปูทะเลในเวลาค่ำคืนเสมอ แต่ปูทะเลที่คนชอบรับประทานก็เป็นปูมทองหลางตัวใหญ่ มีมากที่กระโสม จังหวัดพังงา แม้ต่อมาเมื่อมีราคาขายกันกิโลกรัมละ 4 บาทก็ยังมีเพื่อนฝากซื้อทุกครั้งที่ผมเดินทางไปคุมงานก่อสร้างเรือขุดที่จังหวัดพังงา ปูอีกชนิดหนึ่งที่ทำให้ภูเก็ตเป็นที่รู้จักกันทั่วประเทศคงจะเป็นจักจั่นทะเล ซึ่งสัตว์ชนิดนี้ทางสหรัฐอเมริกามักเรียกกันว่า MOLE CRAB จักจั่นทะเลอาศัยอยู่ตามชายหาดด้านตะวันตกของภูเก็ต เช่น ที่หาดไม้ขาว ถึงแม้จักจั่นทะเลจะเป็นปูขนาดเล็กและซ่อนตัวอยู่ในทราย แต่ก็ไม่วายตกเป็นอาหารโปรดของคน และมีขายกันตามร้านอาหารให้รับประทานเป็นเครื่องแกล้ม โดยจิ้มซอสพริกให้มีรสชาติ เคยมีข่าวว่าได้มีการส่งจักจั่นทะเลไปในการเลี้ยงรับรองสำคัญ ๆ ในกรุงเทพฯครั้งละ 20,000 ตัว

ปูอีกชนิดหนึ่งที่เกือบจะสูญหายไปจากบริเวณภูเก็ตก็คือปูมะพร้าว (COCONUT CRAB-BIRGUS BATRO) ปูชนิดนี้มีรูปร่างคล้ายปูเสฉวน (HERMIT CRAB) แต่ตัวใหญ่กว่ามากและไม่อาศัยเปลือกหอยเป็นเกราะ ปูพวกนี้เคยมีอยู่ตามเกาะเล็กต่างๆ สามารถปีนไต่ต้นไม้ได้ คงชอบปีนต้นมะพร้าวจึงได้ชื่อว่าปูมะพร้าว ผมเคยเห็นครั้งเดียวเมื่อคณะของคุณธารินทร์ นิมมานเหมินทร์ นำมาจากเกาะเก้า และถวายแต่สมเด็จพระราชชนนีศรีสังวาลย์ ซึ่งประทับอยู่ในเรือนอกฝั่งแหลมพันวา ทางศูนย์วิจัยทางทะเลนำไปเลี้ยงไว้แต่อยู่ได้ไม่กี่วันก็ตายไป ปูมะพร้าวเป็นปูบกจะลงทะเลนาน ๆ ครั้ง เฉพาะในช่วงที่จะวางไข่เท่านั้น ปูมะพร้าวเมื่อมีอายุขึ้นตัวจะใหญ่ถึง 4-8 กิโลกรัม ชาวเกาะต่าง ๆ ชอบรับประทานเพราะมีรสชาติดี จึงเกรงว่าจะสูญพันธ์ไปจากภูเก็ต ชาวบ้านเล่าว่าเคยพบที่เกาะสิเหร่เมื่อหลายปีมาแล้ว

อาหารจากสัตว์ทะเลที่มีชื่อของภูเก็ตก็คือไข่เต่า และภูเก็ตก็เคยมีเต่าหลายชนิดชุกชุม นักท่องเที่ยวและชาวภูเก็ตเองก็นิยมไปดูเต่าไข่ตามชายหาดด้านตะวันตกในฤดูปลอดมรสุม ผมเองนั้นไม่ชอบที่จะไปกวนเต่า แต่เต่าก็อุตส่าห์มาให้ดูอยู่หลายครั้งในปี พ.ศ. 2501 ผมได้เห็นเต่ากระขึ้นมาไข่ในกองทรายหรือที่เรียกกันว่าอะมัง (AMANG)หรือกากแร่ข้างๆ โรงล้างแร่ของบริษัททุ่งคาฮาเบอร์ที่ซอยสะพานหินในเขตเทศบาลและแม้กระทั่งปี พ.ศ. 2512 ก็ได้พบเต่าชนิดเดียวกันขึ้นมาไข่ที่หาดทรายหน้าบ้านที่อ่าวต้นไทร แหลมพันวา เต่าใหญ่ ๆ ที่เรียกว่าเต่าตนุนั้นก็เคยมีมามากในน่านน้ำภูเก็ต ในปี พ.ศ. 2511 ระหว่างที่มีการแข่งเรือใบจากอ่าวมะขามไปยังอ่าวฉลอง มีเต่าใหญ่ตัวหนึ่งว่ายน้ำตามมาดูเรือใบของผม ซึ่งเกือบจะแล่นไม่ได้เพราะไม่มีลม ในเวลาลมสงบเต่าชอบโผล่มาดูเรือใบเสมอ ในช่วงที่มีนักท่องเที่ยวมาเยี่ยมภูเก็ต และมีโอกาสไปเที่ยวชายทะเลและนิยมใช้ถุงพลาสติกใส่อาหารกันมากขึ้นเมื่อขาดวินัย ขาดความรักสวยรักงาม ทิ้งถุงพลาสติกกันเกลื่อนกลาด ตลอดจนถึงยุคสมัยที่นิยมเอาขยะซึ่งรวมถึงถุงพลาสติกใช้ทิ้งในบริเวณที่น้ำทะเลท่วมถึง เต่าเคยรับประทานแมงกะพรุนเป็นอาหาร เห็นถุงพลาสติกเข้าก็สำคัญผิดว่าเป็นแมงกะพรุน เต่าผู้สามารถกลืนแมงกะพรุนไฟหรือแมงกะพรุนพิษได้ก็พยายามกลืนถุงพลาสติกและต้องเสียชีวิตไปเป็นจำนวนมาก เพราะเต่าไม่สามารถย่อยถุงพลาสติกได้

สัตว์ทะเลที่มีพิษร้ายแรงที่สุดในโลกชนิดหนึ่งก็คือแมงกะพรุน ในน่านน้ำภูเก็ตมีแมงกะพรุนน้อยกว่าทางด้านอ่าวไทย ทั้งนี้อาจเป็นเพราะลักษณะของน้ำทะเลหรืออาหารของแมงกะพรุน การที่ภูเก็ตเคยมีเต่าชุกชุมก็อาจเป็นเหตุผลอีกข้อหนึ่งที่ทำให้ภูเก็ตมีแมงกะพรุนน้อยกว่าทางด้านอ่าวไทย แมงกะพรุนเป็นอาหารที่เต่าชอบรับประทาน แม้แต่แมงกะพรุนไฟที่มีพิษร้ายแรงแต่ก็ยังคงรับประทานได้ ถ้าจะเทียบกับอาหารของคน ก็คงเป็นอาหารประเภทเผ็ดร้อนเท่านั้น ในการค้นคว้าในประเทศออสเตรเลียได้ผลปรากฏว่าแม้แต่แมงกะพรุนที่มีพิษร้ายแรงที่สุดที่สามารถฆ่ามนุษย์ได้ภายใน 4 นาที คือแมงกะพรุน BOX JELLY FISH (CHIRONEX FLECKERI) ก็ยังคงเป็นอาหารที่โปรดปรานของเต่าทะเล แต่นักวิทยาศาสตร์ก็ไม่สามารถชี้แจงได้ว่าทำไมเต่าจึงมีภูมิคุ้มกันพิษได้

สัตว์ทะเลประเภทหนึ่งซึ่งเมื่อก่อนทางภูเก็ตไม่นิยมใช้เป็นอาหาร แต่ปัจจุบันได้กลายเป็นอาหารสำคัญสำหรับนักท่องเที่ยวก็คือปลาหมึก เช่น หมึกกล้วย หรือหมึกลอด ตามฝั่งที่มีปะการังหรือหินในจังหวัดภูเก็ต เมื่อน้ำลงจะมีคนออกไปหา “โวยวาย” โดยใช้ไม้แหลมแทงตามซอกหิน โวยวายเป็นปลาหมึกในตระกูล OCTOPODIDAE หรือบางแห่งเรียกว่าปลาหมึกทราย ชาวภูเก็ตไม่นิยมรับประทานโวยวาย แต่มักจะใช้เป็นเหยื่อในการตกปลา สัตว์ทะเลประเภทนี้เป็นอาหารที่ชาวยุโรปตอนใต้ เช่น ชาวฝรั่งเศส อิตาเลียน หรือ ชาวกรีกชอบรับประทาน ชาวต่างประเทศที่มาพักที่แหลมพันวาหลายคนลงความเห็นว่าภัตตาคาร “ยามเย็น” ที่ปลายแหลมพันว่าสามารถทอดปลาหมึกใส่กระเทียมพริกไทยได้เป็นที่ยอดเยี่ยม อีกไม่นานก็อาจมีโวยวายทอดขึ้นชื่อได้อีกจานหนึ่ง

ร้านขายเปลือกหอยใหญ่ในภูเก็ตเป็นพยานยืนยันให้เห็นถึงความชุกชุมของหอยในน่านน้ำทะเลภูเก็ต ซึ่งมีมากมายหลายชนิดที่จะต้องใช้ตำราเล่าใหญ่บรรยาย นักสะสมเปลือกหอยนั้น พร้อมที่จะใช้เงินเป็นจำนวนมากที่จะซื้อหาเปลือกหอยแปลก ๆ การสะสมหอยนั้นเป็นพฤติกรรมเก่าแก่เป็นที่นิยมมานับร้อยปี เพราะหอยมีประเภทต่าง ๆ นับกว่าหนึ่งแสนประเภท (SPECIES) และเปลือกหอยจำพวก CONUS GLORIA – MARIS ก็เคยมีการซื้อขายกันในราคาตัวละหลายหมื่นบาท

เมื่อประมาณสามสิบปีมาแล้ว หอยที่เราต้องระวังกันก็คือหอย TRIDACHIDAE (GIANT CLAM) ขนาดหนึ่งเมตร ซึ่งมีมากในน้ำตื้นนอกฝั่งเกาะไข่ ชาวเรือขู่ว่าถ้าเอาเท้าลงไปอาจจะถูกหอยหนีบนิ้วเท้าเอาได้ หอยที่ใช้เป็นอาหาร เช่น หอยแครง หอยนางรมนั้นภูเก็ตไม่ค่อยจะได้เลี้ยงเป็นกิจการใหญ่ และมักจะมีตัวเล็กๆ ตามธรรมชาติแต่หอยตัวเล็กๆ ก็เหมาะสำหรับใช้ทำหอยทอด หรือโอตะซึ่งร้านหมี่สะปำเคยมีชื่อในการปรุงอย่างไรก็ดีภูเก็ตยังคงเป็นสวรรค์ของนักรับประทานและนักสะสมเปลือกหอย

ในจำพวกสัตว์ทะเลที่สำคัญที่สุดของภูเก็ตแล้ว คงไม่มีอะไรที่จะขึ้นชื่อไปกว่ากุ้ง ถึงแม้การเลี้ยงกุ้งลายหรือกุ้งกุลาดำจะเป็นอุตสาหกรรมสำคัญของภูเก็ตในปัจจุบัน แต่กุ้งที่ทำให้ภูเก็ตมีชื่อเสียงคงจะเป็นกุ้งมังกร (PANULIRUS POLYPHAGUS) เพราะกุ้งมังกรเป็นกุ้งขนาดใหญ่ที่หายากทางด้านอ่าวไทย สมัยก่อนไม่ค่อยมีคนนิยมรับประทาน ชาวเลดำน้ำจับได้ก็ขายไม่ได้ราคาและมักจะเอาเปลือกมาขายเป็นของที่ระลึกจากภูเก็ต กุ้งอีกประเภทหนึ่งก็คือ “กั้ง” (THENUS ORIENTALIS) ซึ่งไม่เคยเป็นอาหารที่นิยม ก็มีมากในน่านน้ำภูเก็ต และขณะนี้ภัตตาคารใหญ่ ๆ ในกรุงเทพฯ รวมทั้งสโมสรโปโลก็ใช้กั้งเป็นอาหารราคาแพงให้ชื่อว่า LOBSTER THERMIDOR กุ้งอีกประเภทหนึ่งที่เรียกว่ากั้งตั๊กแตน (HARPIOSQUILLA RAPHIDES) ก็ยังมีอยู่มากโดยเฉพาะในทะเลด้านตะวันออกของภูเก็ต เช่น ในน้ำตื้นระหว่างเกาะพนัก และเกาะฝรั่งเศส กั้งตั๊กแตนยังมีอยู่มากเพราะยังไม่ได้รับการส่งเสริมให้ขึ้นโต๊ะอาหารในภัตตาคารหรือตามโรงแรม

สัตว์ทะเลอีกประเภทหนึ่ง ซึ่งกำลังจะสูญพันธุ์ไปจากภูเก็ตก็คือ หมูน้ำหรือดูกอง (DUGONG) ผมเคยเห็นครั้งสุดท้ายประมาณ 20 ปีมาแล้วในอ่าวทุ่งคา เขาจับมาเป็นอาหารและอธิบายว่ารสชาติเหมือนหมู หมูน้ำเป็นสัตว์ทะเลหากินพืชในน้ำริมฝั่ง รูปร่างครึ่งช้างครึ่งหมูตัวยาวไม่เกิน 3 เมตร หมูน้ำเป็นมังสะวิรัตของกินสาหร่ายทะเล เมื่อก่อนมักเข้ามาใกล้เกาะสิเหร่ทางด้านทิศใต้ของแหลมพับผ้าที่มี “งาว” ขึ้นอยู่หนาแน่น งาวเป็นพืชน้ำชนิดหนึ่ง ดูกองจะกินงาวหรือไม่หรือเลือกกินพืชอื่นที่ขึ้นอยู่กับงาวก็ยังมิได้มีการค้นคว้าเนื่องจากดูกองมีผิวพรรณสีขาวปนชมพูคล้ายผิวของสตรีชาวยุโรป นักเดินเรือชาวยุโรปโบราณ เมื่อนั่งดื่มสุรามองดูทะเลเห็นดูกองโผล่ขึ้นมาหายใจ ก็ปล่อยอารมณ์ให้เคลิบเคลิ้มเห็นเป็นนางเงือกสาวขึ้นมาโต้คลื่น

เมื่อห้าสิบปีก่อนนี้ ภูเก็ตคงมีสัตว์อยู่ให้มนุษย์ชุมอย่างเพลิดเพลิน ในเมื่อรัฐนิวยอร์ค สหรัฐอเมริกากำลังอยู่ในสภาพที่สัตว์กำลังจะสูญพันธุ์ ปัจจุบันนี้รัฐนิวยอร์คกลับมีสัตว์ป่าเช่นกวางอย่างอุดมสมบูรณ์ ปลากะพงลาย (STRIPED BASS) ก็กลับมาโผล่ที่เกาะแมนแฮตตันกลางนครนิวยอร์ค และในแม่น้ำฮัดสัน ฉะนั้นชีวิตสัตว์ต่าง ๆ ในภูเก็ตจึงน่าจะมีหวังที่จะกลับมาอีก

เมื่อเพื่อน ๆ ได้เลือกให้ผมเป็นนายกก่อตั้งสโมสรไลออนส์ภูเก็ต เมื่อปี พ.ศ.2514 ผมมีความรักและชอบที่จะเห็นสัตว์ป่าทั้งสัตว์บกและสัตว์ทะเลอยู่คู่คงเป็นเครื่องประดับภูเก็ตต่อไปให้ลูกหลานดู ผมจึงได้ประกาศอนุรักษ์สัตว์ป่า เป็นนโยบายที่สำคัญนโยบายหนึ่งของสโมสร ผมหวังว่าความพยายามนี้คงจะได้รับตอบสนองเพราะในปัจจุบันการอนุรักษ์สัตว์ป่าและสิ่งแวดล้อมกำลังได้รับความสนใจตามสมัยนิยม

 

 
< ก่อนหน้า   ถัดไป >

สมุดภาพเหมืองแร่

Counter

mod_vvisit_countermod_vvisit_countermod_vvisit_countermod_vvisit_countermod_vvisit_countermod_vvisit_countermod_vvisit_countermod_vvisit_countermod_vvisit_counter
mod_vvisit_counterวันนี้3255
mod_vvisit_counterเมื่อวาน3893
mod_vvisit_counterทั้งหมด11015090