Skip to content

Phuketdata

default color
Home arrow News arrow ถลางภูเก็จภูเก็ต arrow เรือขุดแร่ลำแรกของโลก
เรือขุดแร่ลำแรกของโลก PDF พิมพ์ อีเมล์
เขียนโดย ปาณิศรา ชูผล มทศ.   
อังคาร, 15 มกราคม 2008
อนุสาวรีย์หลัก ๖๐ ปี เรือขุดแร่ดีบุกลำแรกของโลก
ไชยยุทธ ปิ่นประดับ
----------------
 บริษัททุ่งคาฮาเบอร์ทินเดร็ดยิ่งเบอร์ฮัด  ได้มีโอกาส และมีส่วนร่วมในการเฉลิมฉลองที่ระลึก ๖๐ ปี ของการทำเหมืองแร่เรือขุดด้วยการสร้างอนุสรณ์ซึ่งปรากฏอยู่  การสร้างอนุสาวรีย์นี้เป็นดำริของอธิบดีที่ใคร่จะเห็นถาวรวัตถุเกิดขึ้นที่เรือขุดลำแรกของโลกได้มาทำการขุดแร่ดีบุกในทะเลจนได้รับความสำเร็จ  ก่อให้เกิดการสร้างเรือขุดมาใช้ในการทำเหมืองดีบุกขึ้นทั่วไปในภูมิภาคเอเชียอาคเนย์  บริษัททุ่งคาฮาร์เบอร์ทินเดร็ดยิ่งเบอร์ฮัด ร่วมมือโดยรับภาระในการสร้างอนุสรณ์ให้  ทั้งนี้บริษัทถือว่าเป็นดำริที่ดี  บริษัทเองได้เข้ามาดำเนินกิจการทำเหมืองในบริเวณนี้สืบเนื่องมานับเป็นเวลา ๖๒ ปี ได้เห็นความสำเร็จของการทำเหมืองด้วยเรือขุดลำแรก  ซึ่งมีความยินดีเป็นพิเศษที่ได้มีบทบาทช่วยงานฉลอง ๖๐ ปีนี้
 Image
เรือขุดแร่ดีบุกลำแรกของโลก  
ในการดำเนินการก่อสร้างอนุสรณ์ได้ดำเนินการประกวดแบบที่สร้างขึ้นเพื่อให้ได้แบบที่มีความหมายอันเหมาะสมและสวยงาม  ให้ท่านอธิบดีกรมทรัพยากรธรณี และผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต มอบรางวัลให้แก่ผู้ชนะการออกแบบเป็นเงิน ๓,๐๐๐ บาท การประกวดได้เริ่มขึ้นตั้งแต่เดือนมิถุนายน ๒๕๑๑ กำหนดผู้ส่งแบบเข้าประกวดภายใน ๓๑ สิงหาคม ๒๕๑๑ ต่อมาได้ขยายเวลาออกไปจนถึงวันที่ ๑๕ ธันวาคม ในปีเดียวกัน  มีผู้ส่งแบบเข้าประกวดรวม ๖ ราย และได้รับคัดเลือกแบบที่เหมาะสมไว้พิจารณา ๒ ราย ซึ่งคณะกรรมการได้พิจารณาให้แบบของนายชวลิต  หัศพงษ์  ได้รับรางวัลที่ ๑ เนื่องจากได้พิจารณาเห็นว่าเป็นแบบที่มีศิลปะพร้อมมูล  ผู้ออกแบบได้นำเอารูปกะพ้อตักดินของเรือขุดและเปลือกหอยมาประยุกต์เข้าด้วยกัน  มองดูมีความหมายลึกซึ้ง  การออกแบบถูกต้องตามหลักวิชา และเหมาะสมกับสภาพภูมิประเทศ บริษัทจึงเริ่มลงมือก่อสร้างตั้งแต่วันที่ ๙ มิถุนายน ๒๕๑๒ แล้วเสร็จเมื่อวันที่ ๒๐ พฤศจิกายน ๒๕๑๒ ค่าก่อสร้างทั้งสิ้น ๑๕๐,๑๒๐ บาท ในการก่อสร้างครั้งนี้ได้รับความกรุณาจากคณะกรรมการจังหวัดให้สถานที่ซึ่งเรือขุดลำแรกได้ดำเนินการขุดเมื่อปี พ.ศ.๒๔๕๐  เป็นที่สร้าง  ตลอดจนได้รับความเอื้อเฟื้อจากบริษัทอ่าวขามตินจำกัด บริษัทซะเทินคินตาคอนโซลิเดเต็ดลิมิเต็ด  บริษัทกำมุนติงทินเดร็ดยิ่งลิมิเต็ด  บริษัทไทยแลนด์สเมลติ้งแอนด์ริไฟรนิ่ง จำกัด โรงกลึงกี่ฮวด และในปัจจุบันนี้บริเวณดังกล่าวนี้ทางเทศบาลเมืองจังหวัดภูเก็ตได้ดัดแปลงเป็นสวนธารณะจัดเป็นสถานที่พักผ่อนหย่อนใจของชาวจังหวัดภูเก็ตเป็นสถานที่ที่มีความเหมาะสมทั้งทางประวัติศาสตร์และอยู่ในที่อันควรแก่การรำลึก

๖๐ ปีของการทำเหมืองดีบุกด้วยเรือขุด
 บิดาแห่งการทำเหมืองดีบุกด้วยเรือขุด  กัปตัน EDWARD THOMAS MILES เกิดในปี พ.ศ.๒๓๙๒  ที่เมืองโฮบาร์ด บนเกาะทาสเมเนีย  ประเทศออสเตรเลีย เริ่มใช้ชีวิตอยู่กับท้องทะเลตั้งแต่อายุ ๑๔ ปี เขาได้รับประสบการณ์ต่าง ๆ ในการเดินเรือในสมัยนั้น ที่เรียกว่า “WOODEN SHIPS AND IRONMAN” เมื่ออายุได้ ๒๓ ปี ก็ได้รับประกาศนียบัตรในการเดินเรือ ต้องผจญภัยทั้งบนบกและในทะเล เขาเคยเดินเรือสินค้าเต็มลำเรือแล่นผ่านอ่าวฮัดสันในเขตมหาสมุทรอาร์คติกซึ่งเต็มไปด้วยน้ำแข็ง เคยเป็นกลาสีเรือ ARIEL ที่มีชื่อเสียงในการขนส่งชาจีน เมื่อเป็นรองต้นหนเรือ
 กัปตันไมล์ ได้มาเริ่มดำเนินการใหญ่หลายอย่าง เช่น เป็นเจ้าของเรือเดินทะเล เป็นพ่อค้า เป็นผู้รับเหมาก่อสร้างทางรถไฟ และเป็นสมาชิกรัฐสภาแห่งหนึ่งของเกาะทาสเมเนีย เมื่อเขาประสบความสำเร็จในการประดิษฐ์เรือขุดลำแรกขึ้นมา  แต่ไม่มีเรือลำใดพร้อมที่จะลากจูงเรือขุดลำนี้ จากเกาะปีนังไปยังเกาะภูเก็ต  ตลอดจนไม่มีบริษัทประกันภัยใดที่จะยอมเสี่ยงรับประกันเรือขุดลำนี้  เขาจึงดำเนินการเองโดยกล่าวว่า “AS ACERTIFICATED MASTER I WILL TOW HER MY SELF IF SHE CAN NOT SAIL INSURED SHE WILL HAVE TO GO UNINSURED BUTSAIL CHEWILL”
 กัปตันไมล์ถึงแก่กรรมในปี พ.ศ.๒๔๘๗  มีอายุได้ ๙๕ ปี เขาได้เห็นความสำเร็จชิ้นสำคัญของเขานั้นคือเรือขุดกลายมาเป็นเครื่องมือชิ้นสำคัญที่สุดอย่างหนึ่งในปัจจุบัน
 ในปี พ.ศ.๒๔๔๗  กัปตันไมล์ได้เดินทางมายังเกาะปีนังเป็นครั้งแรก  ได้ทำการค้าขายที่เกาะปีนังประสบความสำเร็จในการขายเรือกลไฟเก่า ๆ ของบริษัท UNION STEAMSHIP COMPANY ขายให้แก่พ่อค้าชาวจีนในระหว่างที่ทำการติดต่อค้าขายกับพ่อค้าจีน  กัปตันไมล์ได้รู้จักกับชาวจีนบางคนที่สนใจในฝั่งทะเลตะวันตกของประเทศไทยตั้งแต่ชายฝั่งเขตแดนพม่าลงไปจนถึงประเทศมลายู  พ่อค้าชาวจีนเหล่านั้นสนใจเป็นพิเศษ ได้แก่ บริเวณอ่าวทุ่งคาที่เกาะภูเก็ต ในสมัยนั้นสมุหเทศาภิบาลได้ปกครองอยู่ที่เกาะภูเก็ตคือพระยารัษฎานุประดิษฐ์ซึ่งมีเชื้อชาติเป็นจีนเคยทำการค้าของภาคใต้  จึงมักจะหารือกับเขาถึงวิธีการสำรวจแหล่งแร่ดีบุกในบริเวณเกาะภูเก็ตโดยใช้วิธีการที่ทันสมัยของประเทศยุโรป  กัปตันไมล์มีประสบการณ์ในการทำเหมืองแร่ดีบุกที่เกาะทาสเมเนียมาแล้ว  เขาจึงสนใจในปัญหาต่าง ๆ ที่พ่อค้าชาวจีนนำมาปรึกษาหารือ  เมื่อเขาทำธุระเสร็จสิ้นลง  กัปตันไมล์จึงเดินทางไปยังเกาะภูเก็ต เขาได้รับการต้อนรับเป็นอย่างดีจากพระยารัษฎานุประดิษฐ์ฯ ซึ่งเป็นสมุหเทศาภิบาลมณฑลภูเก็จ  ในระหว่างนั้นกัปตันไมล์ได้ใช้เวลาไปในการสำรวจพื้นที่บนเกาะภูเก็ต และได้ทราบว่าวิธีการทำเหมืองแร่ดีบุกส่วนใหญ่ ทำโดยวิธีล้าสมัยแบบเหมืองเปิด (OPEN CAST MINE) ดำเนินการโดยชาวจีนและทำเป็นกิจการใหญ่  นอกจากที่ตั้งของตัวเมืองแล้วไม่มีที่ว่างจากการทำเหมืองเลย  ราคาโลหะดีบุกที่ซื้อขายกันประมาณ ๑๒๐ ปอนด์ต่อตัน  การทำเหมืองแร่แบบเก่าแก่และง่าย ๆ ของนายเหมืองชาวจีน  แหล่งแร่ที่สมบูรณ์จริง ๆ จะสามารถดำเนินการได้กำไร
 การสำรวจแหล่งแร่ดีบุก  กัปตันไมล์ได้มีโอกาสไปดูเหมืองของชาวจีนผู้หนึ่งอยู่ชายฝั่งทะเลของเกาะภูเก็ต  การสร้างเขื่อนกั้นน้ำเป็นส่วน ๆ แล้วสูบน้ำทะเลออกโดยใช้รหัสทดน้ำแบบโบราณของชาวจีน เมื่อน้ำลดจึงขุดแร่ดีบุกได้  กรรมกรในเหมืองนี้มีประมาณ ๒๐๐–๓๐๐ คน ส่วนใหญ่เป็นชาวจีนเกือบทั้งหมด
 กัปตันไมล์สนใจการทำเหมืองในทะเลมาก  ดังนั้นเขาจึงตกลงใจพิสูจน์ โดยไปเช่าเครื่องมือเจาะเพื่อตรวจสอบแหล่งแร่จากรัฐบาล  และว่าจ้างช่างไม้ชาวจีน ๒ คน โดยไม่เข้าใจภาษาอังกฤษ ก็เริ่มสำรวจแหล่งแร่ดีบุกในทะเลภายใน ๒-๓ อาทิตย์ต่อมา  เขาประสบความสำเร็จในการสำรวจแหล่งแร่ดีบุก
 การยื่นขอประทานบัตรการทำเหมืองแร่จากรัฐของไทยไม่มีเหตุขัดข้อง  แล้วปัญหาต่อไปอยู่ที่ว่าเขาจะดำเนินการอย่างไร  ข้อนี้กัปตันไมล์จำได้ว่าประเทศออสเตรเลียและนิวซีแลนด์นั้น  เขาเคยได้เห็นการทำเหมืองทองในแม่น้ำโดยใช้เรือขุดแบบ BUCKET DREDGE เขาจึงได้วิธีคิดดังกล่าวโดยจะใช้วิธีการของเรือขุดดำเนินการขุดแร่ดีบุกในทะเล  การขุดแร่ดีบุกในอ่าวทุ่งคาลึกกว่า ๓๐ ฟุต ซึ่งต้องประสบปัญหาต่าง ๆ
 กัปตันไมล์ได้ไปพบกับพระยารัษฎานุประดิษฐ์และหยั่งเสียงเกี่ยวกับการขอสัมปทานการทำเหมืองแร่จากรัฐบาลโดยการใช้เรือขุดแร่ดำเนินการในระยะแรกพระยารัษฎาฯ ไม่รับข้อเสนอ โดยทั่วไปแล้วรัฐบาลจะต้องได้ค่าตอบแทนและค่าภาคหลวงดีบุกที่ผลิตได้และส่งออกนอกประเทศ  ก็จะสามารถสร้างเมืองให้ใหม่และดีขึ้นได้
 กัปตันไมล์เสนอจะขุดท่าเรือให้ลึกพอที่จะให้เรือใหญ่เข้าได้ ซึ่งเรือจอดขนถ่ายสินค้าอยู่ขณะนี้เรือก็สามารถเข้ามายังท่าเรือโดยไม่ต้องขนถ่ายสินค้าจากเรือเล็ก
 พระยารัษฎานุประดิษฐ์ ฯ มองดูกัปตันไมล์และเริ่มเข้าใจราง ๆ แล้วจึงถามว่า “แล้วจะคิดค่าตอบแทนจากรัฐบาลเท่าไร” กัปตันไมล์ตอบว่า “ไม่คิดเลย” ดังนั้น “สัมปทานทุ่งคาฮาเบอร์” จึงเริ่มมีการวางรากฐานตั้งแต่บัดนั้น  บริษัท  TONG KAH COMPOUND N.L.  ได้ก่อตั้งขึ้นใน MELBOURNE ในปี พ.ศ.๒๔๕๒ และได้ทำการขุดแร่ในแถบนี้และได้รับผลตอบแทนเป็นกำไรดียิ่ง ได้สร้างที่ทำการรัฐบาลใหม่สวยงามมาก ทั้งนี้เนื่องมาจากส่วนกำไรจาก “TONG KAH COMPOUND N.L.”
 เมื่อสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพเสด็จมาถึงได้ทรงพบปะสนทนากับกัปตันไมล์ และหลังจากที่ทรงเจรจาและตรวจตราที่ทำเลของท่าเรือ  กัปตันไมล์ก็ได้รับอนุญาตขอเวลาเพื่อเจรจากับหุ้นส่วนเรื่องการลงทุนต่อไป  กรมพระยาดำรง ฯ ทรงต้องศึกษาและจะต้องทำความกราบบังคมทูลพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว  กัปตันไมล์จึงออกเดินทางไปยังทาสเมเนียและผ่านปีนัง  เพื่อนชาวจีนแสดงความจำนงร่วมลงทุนด้วย พ่อค้าชาวจีนหลายคนจึงมีชื่อเป็นผู้ถือหุ้นหลายคน
 ต่อมาอีกไม่นานพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงลงพระปรมาภิไธย  อนุมัติข้อตกลงสัมปทานการทำเหมืองแร่ดีบุกในบริเวณทุ่งคา  กัปตันไมล์ได้โทรเลขไปถึงหุ้นส่วนในทาสเมเนียเพื่อแจ้งข้อตกลงได้รับอนุมัติแล้วและรีบเดินทางไปยังทาสเมเนีย เพื่อจัดการเรื่องการตั้งบริษัท  จากนั้นบริษัท TONGKAH HARBOURTIN DREDGING COMPANY N.L. ก็ได้ก่อตั้งขึ้น
 การนำเรือไปขุดถึงจุดหมายปลายทางได้ตลอดรอดฝั่งไม่ได้หมายความว่าปัญหาและความเดือดร้อนทุกอย่างจะต้องหมดสิ้นไป แต่ทว่าปัญหาอื่น ๆ ยังมีอยู่  ปัญหาประการแรกคือคนงาน   ภาษา และยังมีปัญหาอีกหลายอย่างเกี่ยวกับการเดินเรือขุดที่จะต้องแก้ไข  หลังจากเรือขุดได้มาถึงเพียงไม่กี่วัน  การทำงานก็เริ่มขึ้นโดยตั้งต้นขุดจากที่ที่เรือขุดมาจอดทอดสมออยู่ในวันแรกมาถึง ก่อนที่จะลงมือจำเป็นจะต้องตรึงเรือให้อยู่กับที่เสียก่อนโดยใช้สมอขนาดใหญ่ ๕ เส้น เส้นหนึ่งอยู่ที่หัวเรือ  อีก ๔ เส้นจะอยู่ข้างละ ๒ เส้น
 ในการดำเนินงานนั้นสิ่งตอบแทนที่เราหวังไว้คือก็คือสินแร่ดีบุกที่บริสุทธิ์  ในเรือขุดจะมีอุปกรณ์อย่างหนึ่งเรียกว่าโต๊ะเก็บแร่   ปัญหาจึงเกิดขึ้นว่าจะทำอย่างไรดีเราสามารถขุดดีบุกได้แล้ว  แต่ไม่มีหนทางที่จะเก็บมันไว้ได้  ดังนั้นจึงจะต้องเรียกประชุมเพื่อเสนอทางแก้ไขต่าง ๆ แต่ก็ดูเหมือนว่าไม่มีข้อเสนออันใดเป็นที่น่าพอใจเลย  ต่อมาก็มีคนงานชาวจีนผู้หนึ่งซึ่งได้จ้างไว้ควบคุมคนงานที่โต๊ะเก็บแร่  ได้เสนอแนวคิดอันหนึ่งโดยที่ตัวของเขาเองก็ไม่เคยรู้เรื่องเกี่ยวกับโต๊ะเก็บแร่มาก่อนเลย  แต่เขาก็เสนอให้แยกโต๊ะเหล่านี้ออกไปเป็นส่วน ๆ และทำรางขึ้น ๒ ราง ข้าง ๆ กราบเรือทั้ง ๒ ข้าง ลักษณะเหมือนที่ใช้ในการทำเหมืองแร่บนฝั่งและเขาเชื่อว่าจะสามารถเก็บแร่ดีบุกที่ขุดได้ทั้งหมด  กัปตันไมล์จึงซักถามกรรมกรผู้นั้น ๒-๓ ปัญหา เช่น “เราไม่มีแผ่นเหล็กที่จะทำรางแล้วเราจะใช้อะไรทำรางแทน” คำตอบที่ได้ทันทีก็คือ “ใช้ไม้"
 งานดำเนินไปอย่างเร่งรีบจนถึงประมาณปีใหม่ พ.ศ.๒๔๕๑ เรือขุดจึงเริ่มดำเนินกิจการอีกครั้งหนึ่ง ภายใน ๒-๓ วันต่อมาสามารถขุดเอากรวดทรายเหล่านั้นขึ้นมาได้ กรรมกรชาวจีนผู้นั้นให้คำแนะนำพร้อมด้วยลูกน้องของเขาจะช่วยกันใช้จอบด้ามยาว ๆ เขี่ยให้ก้อนกรวดในรางไม้เคลื่อนไปมาซึ่งจะได้สินแร่ดีบุกตกอยู่ในตะแกรงไม้ตามที่ต้องการในวันที่ ๖ มกราคม พ.ศ.๒๔๕๑ เราก็ได้แร่ดีบุกที่สะอาดบริสุทธิ์ท่ามกลางความตื่นเต้นของพวกเราทั้งชาวยุโรปและเอเซีย  จำนวนดีบุกที่ได้มีไม่มากนักคือประมาณ ๖ หาบ แต่ในความคิดของพวกเรามันมีค่าเท่ากับทองทีเดียว

หนังสืออ้างอิง
อนุสรณ์เรือขุดแร่ดีบุกลำแรกของประเทศไทย หลัก ๖๐ ปี THE MILESTONE 28 พฤศจิกายน 2512
โรงพิมพ์ชุมนุมสหกรณ์การซื้อและการขาย (แห่งประเทศไทย) จำกัด กรุงเทพ ฯ 2512, 61 หน้า
แก้ไขล่าสุดเมื่อ ( อาทิตย์, 30 สิงหาคม 2009 )
 
< ก่อนหน้า   ถัดไป >

News

สมุดภาพเหมืองแร่

Counter

mod_vvisit_countermod_vvisit_countermod_vvisit_countermod_vvisit_countermod_vvisit_countermod_vvisit_countermod_vvisit_countermod_vvisit_countermod_vvisit_counter
mod_vvisit_counterวันนี้199
mod_vvisit_counterเมื่อวาน5656
mod_vvisit_counterทั้งหมด11017689