Skip to content

Phuketdata

default color
Home arrow News arrow กีฬาและนันทนาการ arrow ภาคผนวกปูมการท่องเที่ยว
ภาคผนวกปูมการท่องเที่ยว PDF พิมพ์ อีเมล์
เขียนโดย ปาณิศรา ชูผล มทศ.   
พฤหัสบดี, 05 พฤศจิกายน 2009

(ภาคผนวก)


ปูมการท่องเที่ยว


ของ
ชาญ วงศ์สัตยานนท์


แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ
(การท่องเที่ยว)

ตั้งแต่
ฉบับที่ ๑ (พ.ศ. ๒๕๐๗ – ๒๕๐๙)

 จนถึง
ฉบับที่ ๑๐ (พ.ศ. ๒๕๕๐ – ๒๕๕๔)

 

แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม ฉบับที่ ๑ (ระยะที่ ๒)
พ.ศ. ๒๕๐๗ – ๒๕๐๙

บทที่ ๑๓
รัฐวิสาหกิจและพัฒนาการเศรษฐกิจ
งบลงทุนเพื่อการพัฒนาของรัฐวิสาหกิจ
การส่งเสริมกิจการท่องเที่ยว เพื่อที่จะส่งเสริมกิจการท่องเที่ยวให้ก้าวหน้ายิ่งขึ้น ในระยะเวลาของแผนพัฒนาเศรษฐกิจ รัฐดำริจะจัดสรรเงินให้องค์การส่งเสริมการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทยเป็นจำนวนเงินประมาณ 21.5 ล้านบาท ซึ่งเป็นจำนวนเงินที่เพิ่มขึ้นมากกว่าร้อยละ 50 ของระยะแรกของแผนพัฒนา (2504-2506)
  ในอดีตการส่งเสริมการท่องเที่ยวมิได้เป็นที่สนใจมากนักที่จะส่งเสริมให้เป็นแหล่งเพิ่มพูนเงินตราต่างประเทศหรือในด้านคุณประโยชน์ทางด้านเศรษฐกิจ การค้า การอุตสาหกรรมภายในประเทศ แต่ในระยะเวลาสามปีที่แล้วมาได้เพิ่มความสนใจในด้านการท่องเที่ยวมากขึ้น จะเห็นได้ว่ามีการก่อตั้งองค์การส่งเสริมการท่องเที่ยว บริษัทการบิน และบริษัทการเดินทางท่องเที่ยวขึ้น และเป็นผลทำให้กรุงเทพฯ เป็นศูนย์กลางสำคัญของการท่องเที่ยวแห่งหนึ่งในภาคตะวันออกไกล จำนวนชาวต่างประเทศที่มาท่องเที่ยวในประเทศไทยได้เพิ่มขึ้นจากประมาณ 62,000 คน ในปี 2502 เป็นประมาณ 150,000 คน ในปี 2506 ในระยะเวลาเดียวกันนี้ โรงแรมชั้นหนึ่งได้เพิ่มจำนวนขึ้นจาก 858 ห้อง เป็น 1,687 ห้อง และคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุนเพื่อกิจการอุตสาหกรรมได้อนุญาตให้สร้างโรงแรมชั้นหนึ่งอีกประมาณ 1,500 ห้อง เพื่อสนองความต้องการของกิจการท่องเที่ยวซึ่งลังขยายตัวอย่างรวดเร็ว รายได้เป็นเงินตราต่างประเทศจากการท่องเที่ยวได้เพิ่มขึ้นจากจำนวน 155 ล้านบาท ในปี 2502 เป็นประมาณ 420 ล้านบาทในปี 2506


  อย่างไรก็ตาม อาจกล่าวได้ว่าการท่องเที่ยวยังเป็นกิจการที่เพิ่งจะได้เริ่มพัฒนาในประเทศไทยและอาจขยายได้อีกมาก นอกจากจะส่งเสริมกิจการโรงแรมและบริการเกี่ยวกับกิจการท่องเที่ยวต่างๆ ให้มีปริมาณและระดับมาตรฐานสูงขึ้นเหมาะแก่นักท่องเที่ยวชาวต่างประเทศแล้ว ยังสมควรที่จะส่งเสริมให้ประชาชนในประเทศให้ทำการท่องเที่ยวไปชมท้องที่และสถานที่งดงามตามธรรมชาติและในด้านศิลป์ โดยส่งเสริมการจัดตั้งโรงแรมที่พักอาศัยและบริการอื่นๆ ในราคาต่ำให้มีขึ้นทั่วไปในท้องที่ที่เหมาะสม ซึ่งจะเป็นประโยชน์ในการเพิ่มความรู้และความสัมพันธ์อันดีงามของประชาชนในท้องถิ่นต่างๆ ของประเทศอีกด้วย กิจการท่องเที่ยวที่ได้รับการส่งเสริมและพัฒนาตามแนวทางนี้ย่อมหมายถึงการฝึกฝนและการศึกษาในวิชาชีพต่างๆ ในกิจการท่องเที่ยว อาทิเช่น การโรงแรม การบริการเดินทางและการท่องเที่ยว เป็นต้น

 

 


แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ ๒
(พ.ศ. ๒๕๑๐ – ๒๕๑๔)

 

 

บทที่ ๑๓การพาณิชย์และบริการ

นโยบาย

ส่งเสริมอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวในประเทศให้กว้างขวางและเป็นปึกแผ่นยิ่งขึ้นเป้าหมาย

                การส่งเสริมการท่องเที่ยวของประเทศไทยเป็นบริการอย่างหนึ่งที่นับวันจะมีความสำคัญต่อกิจกรรมของเศรษฐกิจของประเทศมากขึ้นเป็นลำดับ ในปัจจุบันนี้การท่องเที่ยวได้นำรายได้เข้าสู่ประเทศเป็นอันดับที่เจ็ดของการค้าขาออก กล่าวคือ ใน พ.. 2507 มีจำนวนประมาณ 400 ล้านบาท และมีอัตราเพิ่มขึ้นร้อยละ 10–15 ต่อปี

 

ตารางที่ 3

 

จำนวนนักท่องเที่ยวและรายได้จากการท่องเที่ยว

 
 ปีจำนวนนักท่องเที่ยวรายได้จากนักท่องเที่ยว (ล้านบาท)
รวมจากโพ้นทะเลจากประเทศเพื่อนบ้านรวมจากโพ้นทะเลจากประเทศเพื่อนบ้าน
250425052506250725082509107,754103,809195,076211,924244,000281,000107,754130,809134,271158,588175,192201,000--60,80553,33668,80879,242250310506430522640250310282332384470--11298138170
25102511251225132514322,000371,000426,000490,000564,000241,000278,000319,000367,000422,00081,00093,000107,000123,000142.0006547528669961,148506582670770886138170196226262

ที่มา : สถิติ พ.. 2504–2509 ได้จากกองตรวจคนเข้าเมือง กรมตำรวจ และสำนักงานสถิติแห่งชาติ

               

 

-----------
 แนวทางการส่งเสริมอุตสาหกรรมท่องเที่ยวมีดังนี้
  1 ขยายงานโฆษณาและงานเผยแพร่ในต่างประเทศให้กว้างขวางยิ่งขึ้น โดยร่วมมือและประสานงานกับบริการเอกชนในด้านนี้และบริษัทการบินต่างประเทศ
  2 ปรับปรุงระเบียบการและพิธีการต่างๆ เพื่อจะอำนวยบริการและให้ความสะดวกทุกด้านแก่นักทัศนาจร โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเดินทางเข้าออกทั้งภายในและต่างประเทศ


แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ ๓
(พ.ศ. ๒๕๑๕ – ๒๕๑๙)


ส่วนที่ ๒
บทที่ ๑๐
การพาณิชย์และบริการ
นโยบาย
รัฐจะส่งเสริมกิจการที่เกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยวโดยเฉพาะนักธุรกิจที่เกี่ยวข้องของเอกชน โดยรัฐจะเป็นผู้จัดสรรสภาพการสิ่งแวดล้อมภายในประเทศเพื่อจูงใจนักท่องเที่ยวมากขึ้น และจะทำให้นักท่องเที่ยวได้เกิดความพอใจและปลอดภัย พร้อมกันนั้นก็จะได้บำรุงรักษาและพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวให้มีมากขึ้น เพื่อดึงดูดนักท่องเที่ยวให้เพิ่มมากขึ้น  ตามลำดับ
แนวทางในการพัฒนา
การส่งเสริมการท่องเที่ยว การท่องเที่ยวได้เจริญก้าวหน้าจนกลายเป็นธุรกิจที่สำคัญในระยะ 10 ปีที่
ผ่านมา กล่าวคือ ก่อให้เกิดกิจกรรมทางเศรษฐกิจทั้งในส่วนของรัฐและของเอกชน ซึ่งเป็นแหล่งที่มาของรายได้ของชาติ และเป็นการเผยแพร่กิติคุณของประเทศไปพร้อมๆ กัน เมื่อปี 2513 มีนักท่องเที่ยวในประเทศไทยมีจำนวน 628,670 คน นักท่องเที่ยวพักอยู่ในประเทศไทยประมาณ 4.8 วันต่อคน และการมีการใช้จ่ายโดยเฉลี่ยต่อคนประมาณวันละ 28 เหรียญสหรัฐ วัตถุประสงค์ในการส่งเสริมการท่องเที่ยวเท่าที่ผ่านมาแล้ว ได้แก่ เป็นความพยายามที่จะให้ประเทศไทยเป็นจุดท่องเที่ยวที่สำคัญสำหรับนักท่องเที่ยวชาวต่างประเทศที่เดินทางระยะไกล  เพราะนักท่องเที่ยวทั้งหลายมักจะวางแผนในการท่องเที่ยวที่สำคัญสำหรับนักท่องที่ยวของตนโดยผ่านหลายๆ ประเทศ สำหรับปัญหาในปัจจุบันนั้น ส่วนใหญ่เกี่ยวกับสิ่งแวดล้อมต่างๆ  เพื่อให้ความอบอุ่นใจและความสะดวกสบายแก่นักท่องเที่ยวในฐานะเจ้าของบ้านยังไม่ดีเท่าที่ควร และมีแหล่งท่องเที่ยวต่างๆ ยังไม่ได้พัฒนาในด้านนี้ส่วนการดำเนินการส่งเสริมการท่องเที่ยวของรัฐ ในด้านการโฆษณาและเผยแพร่เพื่อจูงใจให้มีผู้มาท่องเที่ยวให้มากขึ้นนั้นเป็นมาตรการประการหนึ่ง ซึ่งจะต้องดำเนินการให้ถูกจุด
ในระยะของแผนฯ ฉบับที่ 3 คาดว่าจะมีนักท่องเที่ยวเข้ามาท่องเที่ยวในประเทศไทยมากขึ้น คือ
ประมาณ 660,000 คน ในปี 2515 จะเพิ่มขึ้นเป็นประมาณ 1 ล้านคน ในปี 2519 เพื่อส่งเสริมให้นักท่องเที่ยวพักอยู่ในเมืองไทยเป็นเวลานานและใช้จ่ายเพิ่มขึ้น รัฐบาลจึงจำเป็นจะต้องจัดหาบริการต่างๆ ให้เพียงพอ โดยรัฐบาลจะได้ส่งเสริมส่วนราชการและเอกชนให้ทำการพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวให้มีมากขึ้นทั้งในด้านคุณค่าและปริมาณ พร้อมกับร่วมสร้างบรรยากาศอันอบอุ่นในฐานะเจ้าของบ้านให้แก่นักท่องเที่ยว เช่น การหาที่พัก การแนะนำรายการนำเที่ยวน่าสนใจ ความสะดวกในการเดินทางการจองตั๋วและที่พัก ความสะอาด อนามัย อาหาร การดูแลความปลอดภัยของนักท่องเที่ยวและบริการอื่นๆ ที่เป็นการช่วยเหลือ และเอาใจใส่นักท่องเที่ยวให้ได้รับความสุขสบายและพอใจมากที่สุด ส่วนการโฆษณาเผยแพร่เพื่อจูงใจให้ชาวต่างประเทศมาเที่ยวมากขึ้นนั้น ควรให้ความสนับสนุนโดยร่วมมือกับเอกชนให้มากที่สุดที่จะกระทำได้
หน่วยงานของรัฐที่รับผิดชอบโดยตรง ที่จะให้การส่งเสริมเพื่อให้เป็นไปตามแผนการของรัฐ

ดังกล่าวนี้ ได้แก่ องค์การส่งเสริมการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย  ซึ่งได้จัดตั้งขึ้นเพื่อดำเนินการในการให้การส่งเสริมการท่องเที่ยวในประเทศไทยตั้งแต่ปี 2503 ปัจจุบันมีสำนักงานตั้งอยู่ภายในประเทศ 5 แห่ง และในต่างประเทศ 2 แห่ง คือ ที่นิวยอร์ค และที่ลอสแอนเจลิสสหรัฐอเมริกา การดำเนินการส่งเสริมการท่องเที่ยวในระยะของแผนฯ ฉบับที่ 2 มุ่งลงทุนส่งเสริมการขาย โดยการโฆษณาประชาสัมพันธ์ในตลาดท่องเที่ยวเพื่อจูงใจให้ชาวต่างประเทศมาเที่ยวมากขึ้นเป็นส่วนใหญ่ในระยะของแผนนี้จะต้องคำนึงถึงมาตรการอื่นๆ เข้าประกอบด้วย
ในระยะของแผนฯ ฉบับที่ 3 นี้ รัฐบาลมีนโยบายส่งเสริมการท่องเที่ยว ดังนี้
1. สำรวจและจัดทำแผนหลักการพัฒนาการส่งเสริมการท่องเที่ยวของประเทศไทยขึ้น เพื่อให้
แล้วเสร็จโดยด่วน
2. ประสานงานและส่งเสริมส่วนราชการและเอกชน เพื่อพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวภายในประเทศ
ให้เป็นที่ดึงดูดนักท่องเที่ยวให้มากขึ้น ทั้งนี้ จะได้ทำการสำรวจและกำหนดที่ให้เป็นแหล่งท่องเที่ยว  พร้อมกับศึกษารายละเอียดของแต่ละแห่ง แล้วทำโครงการตลอดวิธีการส่งเสริมการพัฒนาสถานที่กำหนดโดยดำเนินการตามแผนเป็นปีๆ ไป
3. ประสานงานและแก้ไขข้อบกร่องและข้อบังคับที่ล้าสมัยต่างๆ ที่มีอยู่เกี่ยวกับการบริการ
ท่องเที่ยวโดยรีบด่วน โดยเฉพาะระเบียบการที่ทำความระอาใจ
4. ให้ความปลอดภัยแก่นักท่องเที่ยวอย่างเพียงพอ
5. ส่งเสริมและริเริ่มในการตบแต่งบริเวณให้งดงาม การรักษาความสะอาด ส่งเสริมการจัด
สถานที่พักผ่อน เช่น สวนดอกไม้ สวนสาธารณะ สถานที่เดินเล่น (Promenade)
6. สนับสนุนและให้ความร่วมมือแก่วิสาหกิจบริการของเอกชน ตลอดทั้งคำแนะนำในด้านนี้แก่
นักท่องเที่ยว เช่น สมาคมโรงแรม และสมาคมบริการนักท่องเที่ยว โดยเฉพาะอย่างยิ่งในการโฆษณาเผยแพร่ เพื่อจูงใจให้มีผู้มาท่องเที่ยวมากขึ้น ทั้งนี้ รวมถึงการฝึกอบรมเจ้าหน้าที่มัคคุเทศก์และบริการของบริการเกี่ยวกับการท่องเที่ยวต่างๆ ด้วย

 

แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ ๔
(พ.ศ. ๒๕๒๐ – ๒๕๒๔)
ส่วนที่ ๓
บทที่ ๔
การส่งเสริมการท่องเที่ยว

การส่งเสริมการท่องเที่ยว
ในช่วงระยะของแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 3 จำนวนนักท่องเที่ยวที่เดินทางเข้ามาประเทศไทยยังคงเพิ่มสูงขึ้นในอัตรา
ร้อยละ 17 ต่อปี แต่ต่ำกว่าอัตราเฉลี่ยร้อยละ 22 ในระยะของแผน-พัฒนาฯ ฉบับที่ 2 เนื่องจากผลกระทบจากภาวะ
เศรษฐกิจตกต่ำทั่วโลก และความไม่สงบภายในประเทศเอง อย่างไรก็ตามนักท่องเที่ยวที่เดินทางเข้ามาประเทศ
ไทยในช่วงระยะของแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 3 ก็ยังมีจำนวนโดยเฉลี่ยปีละประมาณ 1 ล้านคน และสูงเป็นอันดับที่ 3
ของประเทศในภูมิภาคนี้ การท่องเที่ยวเป็นแหล่งที่มาของรายได้เข้าประเทศถึงประมาณปีละ 4 พันล้านบาท ซึ่งสูง
เป็นอันดับ  4 เมื่อเทียบกับรายได้จากการส่งออกอื่นๆ
 1 นโยบาย
นโยบายในการเร่งรัดการพัฒนาบริการท่องเที่ยวในระยะของแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 4 รัฐจะให้ความสำคัญในด้าน
การเพิ่มรายได้ในรูปเงินตราต่างประเทศจากการท่องเที่ยวให้สูงขึ้นเพื่อช่วยลดภาระการขาดดุลการค้าและ
ดุลการชำระเงินระหว่างประเทศ
                2   ปัญหา
ในระยะเวลาที่ผ่านมามีปัญหาสำคัญๆ ซึ่งเป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาการท่องเที่ยวและสมควรต้องได้รับการแก้ไข
ดังต่อไปนี้
                        2.1 ปัญหาการพัฒนาแหล่งท่องเที่ยว
(1) สถานที่ท่องเที่ยวซึ่งมีอยู่เดิม เช่น พัทยา ตลาดน้ำวัดไทร
ได้เสื่อมโทรมลงไปอย่างรวดเร็วโดยมิได้รับการพัฒนาอย่างจริงจัง มีบริการและสิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ จำกัด และขาดการอนุรักษ์วัฒนธรรม ธรรมชาติ และสภาพแวดล้อมให้เหมาะสมกับการท่องเที่ยวอย่างแท้จริง
(2) ขาดการวางแผนพัฒนาโดยมีเป้าหมายที่แน่นอนเพื่อเป็นแนวทาง
ในการปฏิบัติทั้งภาครัฐบาลและเอกชนในส่วนที่เกี่ยวกับสถานที่ท่องเที่ยวแหล่งใหม่ ซึ่งอยู่ในความสนใจของนักลงทุน เช่น ภูเก็ต เพื่อป้องกันปัญหาความเสื่อมโทรมและแออัดที่จะเกิดขึ้นเหมือนสถานที่ท่องเที่ยวที่มีอยู่เดิม
(3) นักท่องเที่ยวไม่ได้รับความสะดวกในการเดินทางท่องเที่ยวไปยังแหล่งต่างๆ แหล่งท่องเที่ยวไม่มีสิ่งอำนวยความสะดวกขั้นพื้นฐานรองรับอย่างเพียงพอ เช่น หาดใหญ่มีสนามบินซึ่งสายการบินนานาชาติไปลงแห่งละเพียงสายเดียว คือ มาเลเซียแอร์ไลน์ เพราะสนามบินเล็กเครื่องบินขนาดใหญ่ไม่สามารถลงจอดได้ หรือ เช่น ที่พัทยายังไม่มีระบบประปาใช้ ระบบระบายน้ำเสียและการวางผังเมือง เป็นต้น
                          2.2 ปัญหาการควบคุมมาตรฐาน และจัดระเบียบธุรกิจท่องเที่ยว 
ถึงแม้ประเทศไทยจะเป็นที่ยอมรับกันว่ามีบริการของโรงแรมในกกลุ่มที่เป็นอันดับหนึ่งของโลกก็ตาม แต่ยังมี
ปัญหาในด้านมาตรฐานและจัดระเบียบของธุรกิจที่เกี่ยวกับการท่องเที่ยวต่างๆ ทั้งธุรกิจโรงแรม บริษัทนำเที่ยว
ร้านค้าของที่ระลึก มัคคุเทศก์ เป็นต้น ตลอดจนขาดแผนพัฒนาธุรกิจต่างๆ อย่างแน่ชัด ทำให้เกิดการแข่งขันอย่าง
รุนแรง และมีบริการที่หลอกลวงนักท่องเที่ยวเกิดขึ้นมาก เพราะไม่มีหน่วยราชการใดที่รับผิดชอบและติดตาม
ผลงานโดยตรง อำนาจหน้าที่ขององค์การส่งเสริมการท่องเที่ยวมีอยู่ในขอบเขตที่จำกัด ไม่สามารถควบคุมการเปิด
กิจการต่างๆ ที่เกี่ยวกับการท่องเที่ยวได้ ตลอดจนปัจจุบันยังขาดกฎหมายควบคุมระเบียบธุรกิจท่องเที่ยวที่จำเป็น
เพื่อให้การดำเนินงานเป็นไปในลักษณะอำนวยความสะดวก สร้างความพึงใจ ให้ความยุติธรรมและปลอดภัยใน
การใช้บริการต่างๆ แก่นักท่องเที่ยวได้
a. ปัญหาการยกระดับมาตรฐานกำลังคนในธุรกิจโรงแรม การขยายตัวหรือการผลิตแรงงาน
ของผู้ปฏิบัติงานธุรกิจโรงแรมไม่ได้สัดส่วนกับการขยายตัวของอุตสาหกรรมท่องเที่ยว กำลังคนในธุรกิจโรงแรม
ส่วนใหญ่เกิดจากความชำนาญ และการฝึกงานภายในโรงแรมเอง จากผู้ที่สำเร็จการศึกษาสาขาต่างๆกัน ถึงแม้จะมี
สถาบันการศึกษาบางแห่งเปิดหลักสูตรวิชาการเกี่ยวกับธุรกิจการท่องเที่ยวและโรงแรมก็ตาม แต่อยู่ในระดับที่จะ
เป็นพนักงานบริการในโรงแรมเท่านั้นมิได้มีสถาบันใดที่มีการฝึก และให้ความรู้ถึงขนาดที่จะเป็นเจ้าหน้าที่
ระดับสูงได้ จึงทำให้กำลังคนที่เป็นคนไทยอยู่ในขอบเขตที่จำกัด เมื่อธุรกิจโรงแรมขยายตัวขึ้นย่อมเกิดความ
ต้องการเจ้าหน้าที่ระดับสูงและเกิดปัญหาการซื้อตัวเจ้าหน้าที่กันอยู่เสมอ
                            2.4ปัญหาเรื่องความปลอดภัยเกี่ยวกับชีวิตและทรัพย์สินของนักท่องเที่ยว
(1) นักท่องเที่ยวจะให้ความสำคัญเรื่องความปลอดภัยเป็นอันดับแรก
ที่ตัดสินใจในการที่จะมาท่องเที่ยว เหตุการณ์ที่วุ่นวายที่เกิดขึ้นกับประเทศรอบๆ บ้าน เป็นเรื่อง
ที่ไม่อยู่ในขอบเขตที่จะแก้ไขได้ แต่ความไม่ปลอดภัยที่เกิดขึ้นภายในประเทศ ซึ่งนักท่องเที่ยวประสบอยู่เสมอจากการถูกชิงทรัพย์ ถูกทำร้ายร่างการเพื่อชิงทรัพย์ในย่านชุมชน ถูกล่อลวงโดยไกด์ผี การซื้อของปลอมจากร้านขายของที่ระลึก การถูกล่อลวงในการท่องเที่ยวทางน้ำ ตลอดจนทรัพย์สินที่หายไปจากกระเป๋าเดินทางในช่วงขนขึ้นลงเครื่องที่สนามบิน เป็นเรื่องที่ถูกร้องเรียนอยู่เสมอ ประกอบกับประเทศผู้แข่งขันมักจะออกข่าวเกินความเป็นจริงถึงความไม่ปลอดภัยที่จะเกิดขึ้นถ้ามาท่องเที่ยวเมืองไทย และการแถลงข่าวของนักท่องเที่ยวที่มีประสบการณ์เอง ทำให้นักท่องเที่ยวเกิดความรู้สึกไม่ปลอดภัยและเปลี่ยนเส้นทางไม่แวะลงท่องเที่ยวทั้งๆ ที่เหตุการณ์ต่างๆ เมื่อเทียบกันกับประเทศอื่นแล้ว ประเทศไทยนับว่ายังอยู่ในสภาวะที่ดีและปลอดภัยกว่า
(2) ระเบียบพิธีการในการแจ้งความและดำเนินคดีต้องใช้เวลา
นักท่องเที่ยวไม่สามารถอยู่ชี้ตัวผู้ต้องหาได้ เนื่องจากมีจำนวนวันพักจำกัด ตามเวลาที่ได้จัดไว้แล้วทำให้ไม่สามารถลงโทษผู้ต้องหาได้ เพราะไม่มีเจ้าทุกข์ ก่อให้เกิดความได้ใจในการชิงทรัพย์จากนักท่องเที่ยวเป็นการเฉพาะ
                        2.5ปัญหาหน้าที่ความรับผิดชอบของหน่วยงานที่จะพัฒนาการท่องเที่ยวของรัฐ 
องค์การส่งเสริมการท่องเที่ยวเป็นรัฐวิสาหกิจประเภทที่ไม่มีรายได้จากการดำเนินงานของตนเอง งบประมาณใน
การบริหารและดำเนินงานขึ้นอยู่กับงบประมาณที่ได้รับ และเป็นรัฐวิสาหกิจขนาดเล็กเมื่อเทียบกับภาระงานด้าน
การท่องเที่ยวที่กว้างขวาง และการที่จะพัฒนาการท่องเที่ยวในอนาคต ปัจจุบันทำหน้าที่แต่เพียงส่งเสริมและ
โฆษณานักท่องเที่ยวจากต่างประเทศเป็นหลัก ไม่มีอำนาจในการควบคุมธุรกิจที่เกี่ยวกับการท่องเที่ยว เมื่อเกิด
ปัญหาขึ้นก็ไม่มีอำนาจตามกฎหมายที่จะเข้าไปจัดการได้ เพราะมิได้เป็นส่วนราชการโดยตรง จึงปรากฏว่ายัง
ไม่ได้รับความร่วมมือและการประสานงานจากส่วนราชการต่างๆ และธุรกิจเอกชนเท่าที่ควร
              3 เป้าหมาย
เมื่อคำนึงถึงนโยบายดังกล่าวข้างต้นเห็นสมควรกำหนดเป้าหมายให้มีนักท่องเที่ยวจากต่างประเทศเพิ่มขึ้นโดย
เฉลี่ยร้อยละ 11 หรือเพิ่มจาก 1.4 ล้านคนในปี 2520 เป็น 2.2 ล้านคน ในปี 2524 มีจำนวนวันพักเฉลี่ยเพิ่มจาก 4.9
วัน เป็น 5.5 วัน ค่าใช้จ่ายของนักท่องเที่ยวแต่ละคนในหนึ่งวันเพิ่มขึ้นโดยเฉลี่ยร้อยละ 5 หรือเพิ่มขึ้นจาก 800
บาท เป็น 966 บาท ทำให้มีรายได้จากการท่องเที่ยวซึ่งจะกระจายไปยังธุรกิจต่างๆ เพิ่มขึ้น โดยเฉลี่ยร้อยละ 19
หรือเพิ่มขึ้นจาก 5,500 ล้านบาท เป็น 11,700 ล้านบาท
             4 แนวทางและมาตรการในการดำเนินงาน
                         4.1 ในการส่งเสริมการท่องเที่ยว
(1) เผยแพร่และโฆษณาในตลาดการท่องเที่ยวที่มีอยู่เดิม และในตลาดใหม่ที่มีแนวโน้มที่จะเป็นตลาดการท่องเที่ยวที่สำคัญ เช่น ฮ่องกง สิงคโปร์ และฝรั่งเศส
(2) โฆษณาและชักจูงให้มีการจัดประชุมนานาชาติในประเทศไทย
ในสาขาต่างๆ จากต่างประเทศให้มากขึ้น ตลอดจนจัดให้มีสิ่งอำนวยความสะดวกและสถานที่ในการจัดประชุมให้สัมพันธ์กับขนาดของการประชุมที่จะมีขึ้น
(3) สนับสนุนให้คนไทยนิยมท่องเที่ยวภายในประเทศมากขึ้น
(4) พัฒนาระบบการขนส่งเพื่อเพิ่มการทัศนาจรทั้งภายในประเทศและระหว่างประเทศ
(5) ให้ความสำคัญในการส่งเสริมการท่องเที่ยวทางบกระหว่างประเทศในกลุ่มเอเซียอาคเนย์ เช่น ไทย มาเลเซีย และสิงคโปร์
                         4.2 ในการพัฒนาแหล่งท่องเที่ยว
(1) จัดลำดับความสำคัญและความเหมาะสมในการพัฒนาแหล่ง
ท่องเที่ยวที่มีอยู่เดิมและที่จะพัฒนาให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวใหม่ โดยแบ่งเขตของการพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวให้มีศูนย์การท่องเที่ยวและมีเมืองท่องเที่ยวที่เป็นบริวาร เพื่อให้สามารถเดินทางท่องเที่ยวเป็นวงรอบในแต่ละภาค
(2) กำหนดให้มีการวางแผนพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวเฉพาะแห่ง ที่มีอยู่เดิมและมีลำดับความสำคัญสูง ทั้งในแง่ความสำคัญของแหล่งท่องเที่ยวและความเร่งด่วนของปัญหา โดยให้แผนพัฒนาดังกล่าวครอบคลุมถึงการจัดทำรายละเอียดของแผนงานด้านการใช้ที่ดิน การรักษาและอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม การควบคุมแผนการก่อสร้างอาคาร การวางผังเมือง การลงทุนของเอกชนและรัฐบาลในด้านปัจจัยขั้นพื้นฐาน โดยให้การดำเนินงานอยู่ในขอบเขตที่จำกัด และสอดคล้องกับการพัฒนาภาคและเมืองโดยเฉพาะที่พัทยา ภูเก็ต และสงขลา-หาดใหญ่ ซึ่งจะต้องเริ่มดำเนินการอย่างเร่งด่วน ส่วนแหล่งท่องเที่ยวอื่นๆ ที่อยู่ตามเขตต่างๆ จะมีการสำรวจทางกายภาพเบื้องต้นเพื่อพิจารณาจัดลำดับความสำคัญในการจัดทำแผนขั้นรายละเอียดที่จะทำการพัฒนาต่อไป
(3) กำหนดหลักการในการปฏิบัติงานตามแผนพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวเฉพาะแหล่งขึ้นให้สอดคล้องกับการพัฒนาในสาขาอื่นที่เกี่ยวข้อง โดยจัดให้มีหน่วยงานขึ้นโดย-เฉพาะเพื่อรับผิดชอบในการดำเนินงานพัฒนาตามแผน และให้การปฏิบัติงานสอดคล้องสัมพันธ์กับการดำเนินงานขององค์การบริหารส่วนจังหวัด ซึ่งจะได้มีการจัดทำแผนพัฒนาจังหวัดของแต่ละจังหวัดขึ้นด้วย
(4) ให้ประชาชนในท้องถิ่นมีส่วนร่วมในการพัฒนาการท่องเที่ยวทั้งในด้านการลงทุน เพื่อจัดสร้างสิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ การฟื้นฟูศิลปวัฒนธรรม และประเพณีของท้องถิ่นตลอดจนผลิตผลที่เป็นสินค้าพื้นเมืองในท้องถิ่นนั้นๆ เพื่อให้ได้รับผลประโยชน์จากการพัฒนาการท่องเที่ยวได้อย่างทั่วถึง โดยสนับสนุนให้มีสถาบันหรือสมาคมส่งเสริมการท่องเที่ยวขึ้นในแต่ละภูมิภาคหรือท้องถิ่นเพื่อให้การดำเนินงานสอดคล้องและประสานงานกับการดำเนินงานในส่วนของรัฐ
            5 ในการจัดรูปธุรกิจต่างๆ ที่เกี่ยวกับการท่องเที่ยว
5.5.1 ปรับปรุงหน่วยงานส่งเสริมการท่องเที่ยวให้สามารถควบคุมธุรกิจ
ที่เกี่ยวกับการท่องเที่ยวต่างๆ ได้ และสามารถปฏิบัติงานให้เป็นไปตามแผนที่วางไว้ เพื่อการนี้จำเป็นต้องปรับปรุงอำนาจหน้าที่ของ อ.ส.ท. ให้สามารถดำเนินงานตามวัตถุประสงค์ที่เปลี่ยนแปลงได้ด้วยการเปลี่ยนฐานะ อ.ส.ท. จากรัฐวิสาหกิจเป็นส่วนราชการ และจัดตั้งบรรษัทพัฒนาการท่องเที่ยวขึ้น เพื่อจัดวางโครงการและลงทุนพัฒนาแหล่งท่องเที่ยว โดยมุ่งเน้นในด้านการพัฒนาปัจจัยพื้นฐานต่างๆ เป็นสำคัญ
5.5.2 เพื่อเป็นเครื่องมือในการจัดระเบียบประกอบธุรกิจที่เกี่ยวกับ
การท่องเที่ยวต่างๆ ได้อย่างมีประสิทธิภาพ จะจัดให้มีกฎหมายแม่บทของการท่องเที่ยวขึ้นโดยเฉพาะ เช่น กฎหมายเกี่ยวกับการควบคุมการลงทุนและการดำเนินงานของโรงแรม บริษัทนำเที่ยว มัคคุเทศก์ ธุรกิจการขนส่ง ตลอดจนร้านค้าของที่ระลึก
5.5.3 ส่งเสริมการรวมตัวของเอกชนเพื่อความคล่องตัวในการประสาน-งานกับหน่วยงานของรัฐ และให้การดำเนินงานสอดคล้องกับนโยบายการพัฒนาการท่องเที่ยวที่กำหนดขึ้นเพื่อพัฒนาการท่องเที่ยวโดยส่วนรวม
               6 ในการยกมาตรฐานกำลังคนในธุรกิจท่องเที่ยว
กำลังคนในธุรกิจการท่องเที่ยวต่างๆประกอบด้วยผู้ที่ทำงานเกี่ยวกับการท่องเที่ยวโดยตรงและผู้ที่ทำงานเกี่ยวกับ
การท่องเที่ยวทางอ้อมที่สำคัญและให้บริการแก่นักท่องเที่ยวโดยตรงที่สุด คือ กำลังคนในธุรกิจโรงแรมและ
มัคคุเทศก์ ซึ่งมีแนวโน้มที่จะขยายตัวเพื่อรับนักท่องเที่ยวในอนาคต สำหรับกำลังคนในธุรกิจโรงแรมปัจจุบันมีอยู่
ประมาณ 22,200 คน และประมาณว่าในช่วงระยะของแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 4 จะเพิ่มขึ้นอีกประมาณ 11,000 คน
ทั้งในกรุงเทพฯ และต่างจังหวัด จึงจะมีการวางแผนเพื่อพัฒนากำลังคนให้สอดคล้องกับความต้องการ
นอกเหนือจากการฝึกอบรมของสถาบันต่างๆ ซึ่งเน้นหนักทางภาคทฤษฎีแล้วจะวางโครงการเพื่อจัดให้มีโรงเรียน
ธุรกิจโรงแรมขึ้นโดยเฉพาะ เพื่อเปิดบริการด้วยการใช้นักศึกษาเป็นเจ้าพนักงานทั้งสิ้น โดยรับนักศึกษาจาก
สถาบันต่างๆ เข้าฝึกภาคปฏิบัติทั้งงานระดับบริหารและระดับเจ้าพนักงาน เพื่อผลิตกำลังคนให้ได้มาตรฐานและ
ให้สอดคล้องกับความต้องการทั้งในกรุงเทพฯ และต่างจังหวัด

------------------

 

------------------ 


    แผนงาน                          ลักษณะและสาระสำคัญ                                    วงเงิน  (ล้านบาท)
                                                                                                 งบประมาณ   เงินกู้ต่าง   เงินช่วยเหลือ   รวมทั้งสิ้น
                                                                                                      แผ่นดิน       ประเทศ    ต่างประเทศ
การพัฒนาท่องเที่ยว                                                                                                                                                                                  
    เพื่อศึกษาวิจัยตลาดท่องเที่ยวต่างประเทศ และตลาดในประเทศ    375           250               20                  645  
    การขยายตลาดและบุกเบิกตลาดการท่องเที่ยวใหม่ให้กว้างขวางยิ่งขึ้น
    ด้วยการเผยแพร่  บริการข่าวสาร 
    การยกมาตรฐานธุรกิจและกำลังคนที่เกี่ยวกับการท่องเที่ยว                  
    นอกจากนี้ได้เน้นหนักในการอนุรักษ์การจัดให้มีแหล่งท่องเที่ยวขึ้นใหม่ 
    และพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวเดิมในส่วนภูมิภาคทั้งระบบภาค  จังหวัด 
    และเมืองบริวาร 

 

 

แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ ๕
(พ.ศ. ๒๕๒๕ – ๒๕๒๙)
ส่วนที่ ๓
บทที่ ๕
แผนการปรับโครงสร้างการค้าต่างประเทศและบริการ

  การพัฒนาการท่องเที่ยว
 1 สรุปผลการพัฒนาการท่องเที่ยวที่ผ่านมา ในช่วงแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 4 การขยายตัวของการท่องเที่ยวอยู่ในอัตราที่สูงกว่าการขยายตัวของเศรษฐกิจส่วนรวม จำนวนนักท่องเที่ยวต่างประเทศสูงถึง 1.85 ล้านคน ในปี 2523 และมีรายได้จากนักท่องเที่ยวต่างประเทศประมาณ 17,800 ล้านบาทในปีเดียวกันซึ่งสูงกว่าเป้าหมายเฉลี่ย 11,700 ล้านบาทที่กำหนดไว้ในช่วงแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 4 ลักษณะการเติบโตของการท่องเที่ยวที่ผ่านมาได้กระจายออกไปสู่แหล่งท่องเที่ยวในส่วนภูมิภาคมากขึ้น ได้มีการลงทุนในกิจการโรงแรมในส่วนภูมิภาคที่สำคัญๆ ไม่น้อยกว่า 2,500 ล้านบาท นอกจากนั้นรัฐได้ส่งเสริมสิ่งอำนวยความสะดวกขั้นพื้นฐานในแหล่งท่องเที่ยวเหล่านี้ด้วย อย่างไรก็ตาม เนื่องจากการลงทุนของภาคเอกชนแหล่งท่องเที่ยวใหม่ๆ ได้เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว จึงทำให้การควบคุมการลงทุนมีปัญหาอีกทั้ง กฎหมายของการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทยที่มีอยู่ยังไม่มีอำนาจในการควบคุมรักษาพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวอย่างจริงจัง ต้องอาศัยกฎหมายของหน่วยงานอื่น ซึ่งไม่ทันกับการขยายตัวในด้านการท่องเที่ยว และได้ผลเสียให้แก่สภาพแวดล้อมทั่วไปของแหล่งท่องเที่ยวต่างๆ ถึงแม้ว่าการขยายกิจการบริการท่องเที่ยวทำให้ความต้องการกำลัง-คนที่มีมาตรฐานเพิ่มขึ้น แต่การฝึกอบรมยังมีอยู่น้อยและถึงแม้รัฐจะได้ตั้งสถาบันฝึกอบรมวิชาการโรงแรมและท่องเที่ยวเพิ่มขึ้นก็ยังไม่ทันความต้องการของตลาด
 2 ประเด็นปัญหาการท่องเที่ยว มีดังต่อไปนี้
(1) ปัญหาการบำรุงรักษาและพัฒนาแหล่งท่องเที่ยว โดยเฉพาะอย่างยิ่งทางการไม่สามารถควบคุมการใช้ที่ดินและการก่อสร้างในแหล่งท่องเที่ยวที่กำหนดไว้ได้ นอกจากนั้นยังขาดการลงทุนปัจจัยพื้นฐานในแหล่งท่องเที่ยวหลายแห่ง
(2) ปัญหาการพัฒนาด้านการบริการท่องเที่ยว โดยเฉพาะด้านความปลอดภัยต่อชีวิตและทรัพย์สินของนักท่องเที่ยว และขาดการจัดระเบียบธุรกิจการท่องเที่ยว ตลอดจนปัญหาขาดกำลังคนด้านบริการที่มีมาตรฐานเพียงพอ
 3 เป้าหมายการพัฒนาการท่องเที่ยว ในช่วงแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 5 มีดังนี้
(1) ขยายจำนวนนักท่องเที่ยวต่างประเทศให้เพิ่มขึ้นเฉลี่ยร้อยละ 8.5 ต่อปี
(2) ขยายวันพักของนักท่องเที่ยวชาวต่างประเทศเฉลี่ยคนละ 5.1 วันในปี 2525 เป็น 5.5 วันในปี 2529
(3) กำหนดให้รายได้จากการท่องเที่ยวเพิ่มขึ้นในอัตราเฉลี่ยร้อยละ 21.5 ต่อปี คิดเป็น
รายได้ประมาณ 50,000 ล้านบาท ในปี 2529
 4 นโยบาย เพื่อสนองตอบเป้าหมายการขยายตัวด้านการท่องเที่ยวในอนาคต รัฐมีนโยบายทางการท่องเที่ยว ดังต่อไปนี้
(1) ส่งเสริมและชักจูงให้นักท่องเที่ยวชาวต่างประเทศเดินทางสู่ประเทศไทยมากขึ้น และให้มีการเดินทางท่องเที่ยวนานวันและใช้จ่ายมากขึ้น ส่วนนักท่องเที่ยวชาวไทยจะดำเนินมาตรการชะลอการเดินทางไปท่องเที่ยวต่างประเทศให้น้อยลง เพื่อเป็นการสงวนเงินตราต่างประเทศ
(2) และจะเร่งส่งเสริมให้คนไทยหันมาท่องเที่ยวภายในประเทศแทน
(3) ส่งเสริมการลงทุนทั้งภาครัฐบาลและเอกชน เพื่อพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวทั้งที่มีอยู่แล้ว และพัฒนาใหม่ให้สอดคล้องกัน
(4) สนับสนุนภาคเอกชนลงทุนด้านบริการท่องเที่ยวให้มีต้นทุนไม่สูงและสามารถแข่งขันในตลาดต่างประเทศได้ รวมทั้งการสร้างความมั่นใจและความปลอดัยต่อชีวิตและทรัยพ์สินของนักท่องเที่ยว
 5 มาตรการ เพื่อให้เป็นไปตามเป้าหมายและนโยบายที่กำหนดไว้ในช่วงแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 5 มีมาตรการพัฒนาการท่องเที่ยวที่สำคัญ ดังนี้
                5.1 การบำรุงรักษาและพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวเพื่อรักษาสภาพแวดล้อมและปรับปรุงแหล่งท่องเที่ยวให้เป็นที่ดึงดูดแก่นักท่องเที่ยวมากขึ้น จะดำเนินการ
(1) ปรับปรุงพระราชบัญญัติการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย พ.ศ. 2522 ให้มีขอบเขตอำนาจในการควบคุมการใช้ที่ดินและการก่อสร้างในแหล่งท่องเที่ยวที่ได้ประกาศเอาไว้ แต่ในระหว่างการแก้ไขก็ให้ใช้อำนาจกฎหมายอื่นไปพลางก่อน นอกจากนั้นต้องพิจาณาแหล่งเงินทุนและเร่งรัดให้มีการลงทุนในกิจการพื้นฐานที่จำเป็นตามที่กำหนดไว้ในแผนแม่บทของแหล่งท่องเที่ยวต่างๆ
(2) จัดทำแผนและลำดับความสำคัญของแหล่งท่องเที่ยวทุกๆ ภาคอย่างเป็น
ขั้นตอน และมีรายละเอียดปฏิบัติอย่างชัดเจนตลอดจนกำหนดให้มีการติดตามและประเมินผลการดำเนินงานที่ทำไปแล้ว
               5.2 พัฒนาบริการท่องเที่ยวเพื่อทำให้การแข่งขันของอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวของไทยดีขึ้นโดยจะ
ดำเนินการ
(1) ให้ความคุ่มครองป้องกันและปราบปรามเป็นพิเศษ เพื่อสร้างความมั่นใจในความปลอดภัยของนักท่องเที่ยว โดยการส่งเสริมงานตำรวจเฉพาะกิจเพื่อ
ปราบปรามป้องกันและดำเนินการให้ความสะดวกในเรื่องคดีแก่นักท่องเที่ยวให้รวดเร็วยิ่งขึ้น
(2) ปรับปรุงพระราชบัญญัติการท่องเที่ยวให้มีอำนาจควบคุมและจัดระเบียบธุรกิจ เพื่อป้องกันการแข่งขันที่ไม่เป็นธรรม ทำลายอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว และให้มีการประสานงานระหว่างภาครัฐบาลและเอกชนในการปรับปรุงงานบริการ และอำนวยความสะดวกแก่การท่องเที่ยวให้มีมาตรฐานและเพียงพอ
(3) เร่งรัดให้มีการพัฒนากำลังคนในอุตสาหกรรมท่องเที่ยวทุกระดับอย่างมี
มาตรฐานและพอเพียง เพื่อลดแรงงานจากต่างประเทศโดยเฉพาะในระดับบริการ
                5.3 การส่งเสริมการท่องเที่ยวเพื่อชักจูงใจให้นักท่องเที่ยวทั้งต่างประเทศและในประเทศเที่ยวใน
เมืองไทยมากขึ้น จะดำเนินการ
(1) ปรับปรุงเทคนิคและวิธีการด้านการส่งเสริมการตลาดให้ทันสมัย ตลอดจนการวางกกลไกการบริหารให้ภาคเอกชนมีส่วนร่วมรับผิดชอบมากขึ้นและทุกขั้นตอน ตั้งแต่การหาความรู้ ความเข้าใจ การวางแผนและขั้นปฏิบัติดำเนินงานด้านการตลาด
(2) จัดการเผยแพร่ให้ความรู้ความเข้าใจในเรื่องอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ และศิลปวัฒนธรรมของชาติ เพื่อให้เกิดความรักและหวงแหนในทรัพยากรที่มี
คุณค่าต่อการท่องเที่ยว
(3) จัดให้มีศูนย์ประสานและติดตามข่าวที่จะมีผลกระทบกระเทือนต่ออุตสาหกรรมท่องเที่ยวอย่างใกล้ชิด โดยให้เอกชนและสถาบันสื่อมวลชนมีส่วนร่วมอย่าง
ใกล้ชิด
(4) ใช้มาตรการชะลอการเดินทางไปเที่ยวต่างประเทศของคนไทย เพื่อป้องกันการสูญเสียเงินตราต่างประเทศ และชักชวนให้คนไทยเที่ยวในประเทศมากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งต้องปรับปรุงกิจการสาธารณะ เช่น รถไฟ รถโดยสาร ให้สะดวกเพื่อให้นักท่องเที่ยวมาใช้บริการดังกล่าว เป็นการสนับสนุนการประหยัดพลังงาน

 


แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ ๖
(พ.ศ. ๒๕๓๐ – ๒๕๓๔)
บทที่ ๔
การกระจายการผลิตและบริการ
แนวทางการพัฒนา
แนวทางการพัฒนาการบริการในระยะของแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 6 จะเน้นการบริการเฉพาะด้าน ดังนี้คือ
การท่องเที่ยว
(1) การบริการประเภทนี้ ยังคงมีบทบาทสำคัญในระยะของแผน
พัฒนาฯ ฉบับที่ 6 ทั้งในแง่ของการนำมาซึ่งรายได้เงินตราต่างประเทศ และการสร้างงาน จากการประมาณการของการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย ในปี 2534 ซึ่งเป็นปีสุดท้ายของแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 6 นั้น นักท่องเที่ยวจากต่างประเทศจะเพิ่มขึ้นเป็นจำนวนกว่า 3.7 ล้านคน และประมาณว่าการขยายตัวของนักท่องเที่ยวต่างประเทศและในประเทศจะสามารถสร้างงานได้เพิ่มขึ้นอีกไม่น้อยกว่า 150,000 คน
(2) แนวทางการพัฒนาการบริการท่องเที่ยวที่สำคัญ คือ
(2.1) กิจกรรมด้านการตลาด
กิจกรรมการตลาดการท่องเที่ยวนั้น จะให้ความสำคัญในเรื่องการเพิ่มค่าใช้จ่ายด้านการตลาดต่างประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการศึกษาวิจัยตลาด การโฆษณาประชาสัมพันธ์ การเผยแพร่แหล่งท่องเที่ยวภายในประเทศ โดยมีเป้าหมายเพื่อขยายเวลาพำนักของนักท่องเที่ยวจากต่างประเทศ โดยเฉพาะตลาดนักท่องเที่ยวประเภทที่มีคุณภาพ คือ นำเงินมาใช้จ่ายในประเทศไทยสูง
(2.2) กิจกรรมกระจายการผลิตและการบริการท่องเที่ยว
เน้นการอนุรักษ์และพัฒนาทรัพยากรการท่องเที่ยว ปรับปรุงสิ่งอำนวยความสะดวกที่จำเป็นสำหรับการท่องเที่ยวของแหล่งท่องเที่ยวในภูมิภาค สนับสนุนให้มีแผนพัฒนาและส่งเสริมการท่องเที่ยวในภูมิภาคและระดับจังหวัด ปรับปรุงรูปแบบและคุณภาพของสินค้าหัตถกรรมพื้นบ้านและของที่ระลึกในแหล่งท่องเที่ยว รวมทั้งสนับสนุนการจัดให้มีสถานีบริการผู้โดยสารขาออกทางอากาศในเมือง (City Air Terminal) เพื่อรองรับการขยายตัวของนักท่องเที่ยวในระยะต่อไป

 

 

แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ ๗
(พ.ศ. ๒๕๓๕ – ๒๕๓๙)
บทที่ ๓
การพัฒนาอุตสาหกรรมการค้าและบริการ
การท่องเที่ยว
(1) ดำเนินการให้ไทยเป็นศูนย์กลางการท่องเที่ยวในภูมิภาคเอเชียตะวันออก-
เฉียงใต้
(1.1) ร่วมมือกับประเทศในอาเซียนเพื่อพัฒนาวงจรท่องเที่ยวในภูมิภาค
อาเซียนมากขึ้น โดยเน้นการร่วมมือทางการตลาดแทนการแข่งขันระหว่างประเทศในภูมิภาคนี้
(1.2) กำหนดแนวทางสนับสนุนให้ไทยเป็นประตูทางออกสู่การพัฒนา
วงจรท่องเที่ยวในกลุ่มประเทศอินโดจีนและประเทศเพื่อนบ้าน
(1.3) สนับสนุนการลงทุนของภาคเอกชนในการพัฒนากิจกรรมการ
ท่องเที่ยวประเภทใหม่ๆ เพื่อเพิ่มจุดดึงดูดความสนใจนอกจากอาศัยแหล่งธรรมชาติและแหล่งศิลปวัฒนธรรม เช่น การท่องเที่ยวทางทะเลและแม่น้ำ การท่องเที่ยวเพื่อการกีฬาและสุขภาพ การประชุมและการแสดงสินค้านานาชาติ
(2) อนุรักษ์และพัฒนาทรัพยากรและปัจจัยที่เกี่ยวข้องในแหล่งท่องเที่ยว
(2.1) ให้มีแผนแม่บทเพื่อพัฒนาฟื้นฟูสภาพแหล่งท่องเที่ยวและระบบสาธารณูปโภคบริการพื้นฐานต่างๆ ทั้งในแหล่งท่องเที่ยวหลักและแหล่งท่องเที่ยวใหม่ที่มีศักยภาพในระบบเดียวกับการพัฒนาเมืองหลัก ได้แก่ เมืองพัทยา ภูเก็ต เชียงใหม่ หาดใหญ่ ชะอำ-หัวหิน เชียงราย เกาะสมุย/สุราษฎร์ธานี กาญจนบุรี พระนครศรีอยุธยา และพื้นที่อีสานตอนล่าง
(2.2) นำมาตรการทางกฎหมายควบคุมอาคารผังเมือง อุทยานแห่งชาติและโบราณสถานมาใช้กำกับการใช้ประโยชน์ที่ดินเพื่อกิจกรรมต่างๆ ของธุรกิจเอกชนในบริเวณรอบๆ แหล่งท่องเที่ยว เพื่อ
ป้องกันผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมจากการลงทุนประกอบการของธุรกิจต่างๆ
(2.3) สนับสนุนองค์กรของรัฐ ภาคเอกชนและประชาชนในระดับท้องถิ่นเข้ามามีส่วนร่วมในการบริหาร บูรณะจัดการทรัพยากรธรรมชาติและอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมธรรมชาติ เช่น น้ำตก เกาะและหาดทราย ตลอดจนอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม ศิลปกรรม เช่น โบราณสถาน แหล่งประวัติศาสตร์ เป็นต้น
(2.4) สนับสนุนบทบาทของภาคเอกชนให้เข้ามามาส่วนร่วมในการพัฒนาพื้นที่แหล่งท่องเที่ยวต่างๆ มากขึ้น พร้อมกับการปรับปรุงกฎระเบียบที่เกี่ยวข้องให้เอื้อต่อการลงทุนของภาคเอกชน โดยเฉพาะการลงทุนเพื่อพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวใหม่เพื่อสนับสนุนการพัฒนาวงจรท่องเที่ยวในภูมิภาค
(2.5) เพิ่มประสิทธิภาพการบริการด้านสาธารณูปโภค สาธารณูปการ โดยมุ่งการใช้ประโยชน์ในระยะยาวและความปลอดภัยของนัก
ท่องเที่ยว รวมทั้งการปรับปรุงกฎหมายต่างๆ เพื่อคุ้มครองนักท่องเที่ยวและผู้ประกอบธุรกิจที่เกี่ยวข้องให้ดำเนินการอยู่ในกรอบไม่เอาเปรียบนักท่องเที่ยว จนเกิดภาพพจน์ทางลบต่อประเทศโดยส่วนรวม
(3) พัฒนาและยกระดับคุณภาพกำลังคนด้านการท่องเที่ยว
(3.1) ขยายการผลิตกำลังคนทั้งในระดับอุดมศึกษาและวิชาชีพให้ได้ปริมาณ และมีคุณภาพที่สอดคล้องกับความต้องการของตลาดของธุรกิจท่องเที่ยวทั้งในส่วนกลางและในส่วนภูมิภาค
(3.2) สนับสนุนภาคเอกชนเข้ามามีบทบาทในการลงทุนผลิตและฝึก
อบรมกำลังคนด้านต่างๆ ให้มีคุณภาพมาตรฐานการบริการในระดับสูง พร้อมทั้งปรับปรุงกฎหมายต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้การพัฒนากำลังคนเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ โดยเฉพาะแก้ไข
พระราชบัญญัติโรงแรม พ.ศ. 2478 เพื่อเปิดโอกาสให้ใช้โรงแรมที่มีมาตรฐานสูงเป็นสถานที่ผลิตและฝึกอบรมได้มากขึ้น

 


แผนพัฒนาเศรษฐกิจแห่งชาติ ฉบับที่ ๘
(พ.ศ. ๒๕๔๐ – ๒๕๔๔)
ส่วนที่ ๕ พัฒนาสมรรถนะทางเศรษฐกิจ
บทที่ ๓
   การเพิ่มขีดความสามารถในสาขาบริการ
    (1) พัฒนาคุณภาพแหล่งท่องเที่ยว โดยการร่วมมือกันระหว่างภาครัฐ เอกชน และชุมชน ให้คงไว้ซึ่งความมีเอกลักษณ์ทางประวัติศาสตร์ ความเป็นธรรมชาติ ความสะอาด ความปลอดภัย ตลอดจนพัฒนาสิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ ทางด้านการท่องเที่ยวให้มีเพียงพอ     (2) ส่งเสริมการท่องเที่ยวสำหรับนักท่องเที่ยวที่มีคุณภาพจากต่างประเทศให้มีช่วงพำนักในประเทศไทยนานขึ้น และให้มีบริการด้านแหล่งจับจ่ายใช้สอยสำหรับนักท่องเที่ยว รวมทั้งส่งเสริมการท่องเที่ยวในประเทศและปลูกฝังจิตสำนึกในการเป็นนักท่องเที่ยวที่มีคุณภาพ มีความรักและหวงแหนในทรัพยากรแหล่งท่องเที่ยวให้กับคนไทย     (3) ร่วมมือกับกลุ่มประเทศอาเซียนและอินโดจีนเพื่อพัฒนาวงจรการท่องเที่ยวในภูมิภาคอาเซียนและอินโดจีน โดยใช้กลยุทธ์ด้านการตลาดร่วมกัน     (4) พัฒนาโครงข่ายการคมนาคมและโครงข่ายโครงสร้างพื้นฐานระหว่างเมืองศูนย์กลางการท่องเที่ยวในแต่ละภูมิภาคให้เชื่อมโยงกับเมืองอื่นๆ ในประเทศและประเทศเพื่อนบ้าน     (5) พัฒนาธุรกิจประกันภัยให้พร้อมรับการเปิดเสรีด้านบริการประกันภัย สามารถเป็นแหล่งระดมเงินออมของประชาชนและสนับสนุนการขยายตัวด้านการค้าและการลงทุน โดย
พัฒนาการขนส่งทางอากาศ ให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางการขนส่งในภูมิภาค    (1) ก่อสร้างท่าอากาศยานสากลกรุงเทพแห่งที่สองให้เปิดบริการได้ภายในช่วงของแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 8 ตลอดจนพัฒนาระบบเชื่อมโยงการขนส่งต่างๆ ระหว่างเมืองกับสนามบินให้มีความสะดวกเพื่อให้สนามบินแห่งใหม่เป็นศูนย์กลางการขนส่งทางอากาศของภูมิภาคที่สมบูรณ์    (2) ประสานความร่วมมือระหว่างภาครัฐและเอกชนในการพัฒนาการใช้ประโยชน์เชิงพาณิชย์ของสนามบินอู่ตะเภา
   (3) ส่งเสริมให้ภาคเอกชนเข้ามามีบทบาทในการจัดตั้งสายการบินแห่งชาติเพิ่มขึ้นเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการให้บริการแก่ประชาชน ตลอดจนวางแผนและส่งเสริมการเปิดเส้นทางการบินใหม่ทั้งของภาครัฐและเอกชนที่มีความเป็นไปได้ให้เชื่อมเมืองสำคัญของไทยกับประเทศเพื่อนบ้าน    (4) พัฒนาสนามบินภายในประเทศแห่งใหม่เพิ่มขึ้นตามความจำเป็นและเหมาะสม พร้อมไปกับการพัฒนาระบบโครงข่ายขนส่งทางบกเชื่อมโยงสนามบินใหม่กับชุมชนขนาดใหญ่โดยรอบเพื่อให้สนามบินสามารถบริการประชาชนได้เป็นกลุ่มจังหวัด    (5) เพิ่มประสิทธิภาพการให้บริการต่างๆ แก่ผู้โดยสารในการเดินทางเข้าออกจากท่าอากาศยาน ให้เกิดความสะดวกต่อประชาชนและได้มาตรฐานสากล    (6) ประสานความร่วมมือระหว่างรัฐและเอกชนในการพัฒนากิจกรรมทางเศรษฐกิจอื่นๆ เพื่อสนับสนุนการให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางการขนส่งทางอากาศในภูมิภาค ได้แก่ กิจกรรมการท่องเที่ยว การจัดประชุมนานาชาติ และกิจกรรมการกีฬาระหว่างประเทศ ปรับบทบาทของการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทยไปสู่การพัฒนาและปรับปรุงแหล่งท่องเที่ยวในประเทศ ตลอดจนเป็นแกนกลางในการแก้ไขปัญหาของธุรกิจการท่องเที่ยวอย่างเป็นระบบ และให้หน่วยงานในท้องถิ่นสร้างกลไกการพัฒนาและอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสถานที่ท่องเที่ยวในระดับพื้นที่เพื่อระดมความร่วมมือจากประชาชนและชุมชนในท้องถิ่นในการพัฒนาคุณภาพของแหล่งท่องเที่ยว


แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ ๙
(พ.ศ. ๒๕๔๕ – ๒๕๔๙)
ส่วนที่ ๔
บ ท ที่  ๗

ยุทธศาสตร์การเพิ่มสมรรถนะและขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ
 ในด้านบริการ แม้ว่าการท่องเที่ยวจะเป็นแหล่งทำรายได้และการจ้างงานที่สำคัญ แต่ก็ได้ส่งผลกระทบในเชิงลบทางสังคมและสิ่งแวดล้อมหลายประการ อาทิ ความเสื่อมโทรมของแหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติ รวมทั้งวิถีชีวิตและความเป็นอยู่ของชุมชนท้องถิ่นที่เปลี่ยนแปลงไป อย่างไรก็ตาม ธุรกิจบริการที่ต่อเนื่องกับการท่องเที่ยว ยังไม่ได้รับการพัฒนาให้เต็มศักยภาพ นอกจากนี้ ยังต้องเผชิญกับข้อจำกัดด้านบริการการท่องเที่ยวที่ไม่เพียงพอและขาดคุณภาพ การเอารัดเอาเปรียบนักท่องเที่ยว ความไม่ปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน ตลอดจนภาพพจน์ด้านลบของประเทศด้านยาเสพติดและโสเภณีเด็ก
 การสร้างความเข้มแข็งทางเศรษฐกิจและความมั่นคงทางสังคมอย่างยั่งยืน ในส่วนการเพิ่มสมรรถนะและขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศของแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ ๙ จำเป็นต้องให้ความสำคัญกับการปรับโครงสร้างการผลิตและการค้าของประเทศให้ดำเนินไปในทิศทางเดียวกันในการที่จะใช้ทรัพยากรที่มีอยู่ให้เกิดมูลค่าเพิ่มในทุกขั้นตอนของการผลิตและการตลาด ในขณะเดียวกันต้องคำนึงถึงการผสมผสานและความสอดคล้องกับหลัก “ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง” โดยการสนับสนุนและผลักดันให้เกิดการเพิ่มผลผลิตอย่างเป็นขบวนการในระดับชาติ การมีส่วนร่วมของทุกฝ่ายในกระบวนการทำงาน การแบ่งปันประโยชน์ร่วมกันของทุกฝ่ายในสังคม สนับสนุนธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อมให้สามารถพึ่งพาตนเอง รวมถึงการรับถ่ายทอดเทคโนโลยีที่ทันสมัยจากธุรกิจขนาดใหญ่ โดยผสมผสานภูมิปัญญาไทยกับวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีสมัยใหม่ การพัฒนานวัตกรรมอย่างต่อเนื่อง และการปรับปรุงประสิทธิภาพ คุณภาพและความรวดเร็วของบริการโครงสร้างพื้นฐาน ควบคู่ไปกับการพัฒนาความเชื่อมโยงด้านเศรษฐกิจและสังคมเพื่อบรรลุผลประโยชน์ร่วมกันกับประเทศเพื่อนบ้าน
๑. วัตถุประสงค์ เพื่อให้ประเทศมีรากฐานการผลิตที่แข็งแกร่ง มีความสามารถในการแข่งขันในตลาดโลก และ
กระจายผลสู่ประชาชนทั้งในเมืองและชนบทอย่างทั่วถึง สามารถวางรากฐานให้คนไทยมีความพร้อมด้านทุนทาง
ปัญญาในการก้าวเข้าสู่เงื่อนไขที่เปลี่ยนแปลงไปของโลกและประเทศได้อย่างเชื่อมั่น เห็นควรกำหนวัตถุประสงค์
การพัฒนา ดังนี้
 ๑.๑ พัฒนาสมรรถนะและขีดความสามารถการแข่งขันในระดับประเทศ ระดับวิสาหกิจและหน่วยผลิตพื้นฐาน โดยการปรับโครงสร้างของภาคการผลิต ทั้งภาคเกษตร อุตสาหกรรม และการบริการ บนพื้นฐานการใช้ทรัพยากรธรรมชาติอย่างมีประสิทธิภาพและยั่งยืน ให้ความสำคัญกับการเพิ่มผลผลิต และการสร้างมูลค่าเพิ่มของสินค้า ที่มุ่งเน้นการพัฒนาในเชิงคุณภาพควบคู่ไปกับการกระจายผลประโยชน์อย่างทั่วถึง
 ๑.๒ สร้างความเชื่อมโยงและความสมดุลระหว่างเศรษฐกิจภายในประเทศและเศรษฐกิจระหว่างประเทศ โดยการวางรากฐานและสร้างภูมิคุ้มกันเพื่อรองรับระบบเศรษฐกิจเสรี นำไปสู่การยกระดับรายได้และคุณภาพชีวิตของคนส่วนใหญ่ของประเทศ
            ๒ เป้าหมาย รายได้จากนักท่องเที่ยวต่างประเทศเพิ่มขึ้น โดยเฉลี่ยร้อยละ ๗-๘ ต่อปี และให้คนไทยท่องเที่ยวในประเทศเพิ่มขึ้นไม่ต่ำกว่าร้อยละ ๓ ต่อปี
     ๓ แนวทางในการพัฒนา 
ส่งเสริมการค้าบริการที่มีศักยภาพเพื่อสร้างงาน กระจายรายได้ และหารายได้จากเงินตราต่างประเทศ
  (๑) พัฒนาการท่องเที่ยวที่ยั่งยืนเพื่อเพิ่มการจ้างงาน และกระจายรายได้สู่ชุมชน โดย
   (๑.๑) พัฒนาคุณภาพแหล่งท่องเที่ยวให้สามารถรองรับการขยายตัวของนักท่องเที่ยวไทยและต่างประเทศ โดยการพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวเชิงกลุ่มพื้นที่ พร้อมทั้งสนับสนุนการพัฒนากิจกรรมการท่องเที่ยวรูปแบบใหม่ที่สอดคล้องกับศักยภาพเชิงวัฒนธรรมและทรัพยากรธรรมชาติที่มีอยู่ในพื้นที่และไม่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม โดยคำนึงถึงขีดความสามารถของพื้นที่ในการรองรับนักท่องเที่ยว เช่น การท่องเที่ยวเชิงนิเวศน์อย่างถูกวิธี การท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมและประเพณี การท่องเที่ยวเชิงเกษตร กิจกรรมการท่องเที่ยวเพื่อการกีฬา สวนสุขภาพ และสวนสนุก
 (๑.๒) ปรับปรุงคุณภาพด้านการบริการและผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวเนื่องกับการท่องเที่ยวทั้งทางตรงและทางอ้อมให้ได้มาตรฐานและเพียงพอ โดยให้ความสำคัญต่อการเพิ่มและกวดขันมาตรฐานด้านความปลอดภัยของนักท่องเที่ยว การแก้ไขปัญหาการหลอกลวงเอารัดเอาเปรียบนักท่องเที่ยว การพัฒนาสิ่งอำนวยความสะดวกทางการท่องเที่ยว โดยเฉพาะด้านการเข้าออกประเทศ การเดินทางในประเทศ การให้บริการข้อมูลข่าวสารที่ทันสมัย รวมทั้งพัฒนาบุคลากรทางการท่องเที่ยวให้มีคุณภาพและปริมาณสอดคล้องกับกิจกรรมการท่องเที่ยวแต่ละประเภท
 (๑.๓) ส่งเสริมบทบาทชุมชนและองค์กรชุมชนในท้องถิ่น มีส่วนร่วมในการบริหารจัดการแหล่งท่องเที่ยวอย่างครบวงจร ทั้งการพัฒนาแหล่งท่องเที่ยว การบำรุงรักษา และการพัฒนาสิ่งอำนวยความสะดวกด้านการท่องเที่ยว โดยรณรงค์สร้างจิตสำนึกและเสริมสร้างความรู้ ความเข้าใจที่ถูกต้องแก่ชุมชนและท้องถิ่นในการพัฒนาการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน รวมทั้งสนับสนุนให้มีการพัฒนาสินค้าหัตถกรรมพื้นบ้านและบริการในท้องถิ่น ที่เชื่อมโยงกับธุรกิจการท่องเที่ยว
 (๑.๔) ให้ความสำคัญกับกลุ่มเป้าหมายนักท่องเที่ยวที่มีระยะพักนาน และนักท่องเที่ยวที่มีคุณภาพจากต่างประเทศ โดยเฉพาะนักท่องเที่ยวกลุ่มการประชุม การจัดนิทรรศการนานาชาติ การท่องเที่ยวเพื่อเป็นรางวัล เพื่อเพิ่มสัดส่วนของรายได้ต่อนักท่องเที่ยวและเพิ่มประสิทธิภาพในการใช้ประโยชน์ทรัพยากรการท่องเที่ยว โดยให้มีระบบบริหารจัดการเฉพาะขึ้นมารับผิดชอบ รวมทั้งให้มีศูนย์ประชุม และศูนย์แสดงสินค้านานาชาติในเมืองหลักที่มีศักยภาพขึ้นมารองรับ
 (๑.๕) ประชาสัมพันธ์และสร้างจิตสำนึกการท่องเที่ยวอย่างมีคุณภาพ เพื่อส่งเสริมให้คนไทยเที่ยวเมืองไทยมากขึ้น และเร่งรัดการกระจายตัวของนักท่องเที่ยวไปยังแหล่งท่องเที่ยวต่างๆ ที่ได้รับการพัฒนาให้เชื่อมโยงกับแหล่งท่องเที่ยวหลักในพื้นที่ เพื่อการสร้างงานและกระจายรายได้ไปสู่ชุมชนและท้องถิ่น
  (๒) พัฒนาธุรกิจบริการที่มีศักยภาพ เพื่อเป็นแหล่งสร้างและกระจายรายได้ใหม่ที่สำคัญ โดย
 (๒.๑) สนับสนุนบริการรักษาพยาบาลและส่งเสริมสุขภาพสำหรับชาวต่างประเทศ โดยจัดให้มีองค์กรทำหน้าที่ควบคุมดูแล กำหนดมาตรฐานรองรับคุณภาพบริการของโรงพยาบาลและสถานพยาบาลของเอกชน รวมทั้งส่งเสริมการศึกษา วิจัย และพัฒนาคุณภาพบริการด้านการรักษาพยาบาลและส่งเสริมสุขภาพของไทยให้ทันสมัย โดยเฉพาะแพทย์แผนไทยและยาสมุนไพร โดยปรับปรุงกฎ ระเบียบ ให้สามารถรับรองมาตรฐานการขึ้นทะเบียนยาได้
   (๒.๒) สนับสนุนธุรกิจด้านภัตตาคารและร้านอาหาร โดยให้มีมาตรการจูงใจเพื่อกระตุ้นให้ผู้ประกอบการภัตตาคารและร้านอาหารทั้งในประเทศและต่างประเทศ หันมาควบคุมดูแลมาตรฐานและสุขอนามัยของตนเองให้มากขึ้นเพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีของผู้บริโภคทั้งชาวไทย และชาวต่างประเทศ พร้อมทั้งส่งเสริมและประชาสัมพันธ์การจัดงานเทศกาลอาหารไทยให้เป็นที่รู้จักอย่างแพร่หลาย อย่างเป็นระบบและต่อเนื่อง
   (๒.๓) ส่งเสริมบริการด้านการศึกษาของประเทศให้มีมาตรฐานเป็นที่ยอมรับ รวมทั้งสนับสนุนการศึกษานานาชาติและฝึกอบรมวิชาชีพเฉพาะด้านสำหรับชาวต่างประเทศ โดยปรับปรุงกฎระเบียบให้เอื้ออำนวยต่อการเดินทางเข้ามาศึกษาและฝึกอบรมในประเทศ โดยเฉพาะหลักสูตรระยะสั้น และจัดระบบการศึกษาและฝึกอบรม ให้เป็นมาตรฐานสากลที่สามารถเชื่อมโยงและประสานกับสถาบันการศึกษาระหว่างประเทศ สำหรับเป็นทางเลือกสำหรับผู้ต้องการศึกษาต่อต่างประเทศ
   (๒.๔) ส่งเสริมการออกแบบทางสถาปัตยกรรม วิศวกรรม และงาน
ออกแบบอื่นๆ รวมทั้งสนับสนุนการออกไปรับงานธุรกิจก่อสร้างในต่างประเทศ เพื่อเป็นการส่งออกด้านบริการ โดยให้เป็นไปตามระเบียบของทางราชการ

 

แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ ๑๐
(พ.ศ. ๒๕๕๐ – ๒๕๕๔)
บทที่ ๔
การปรับโครงสร้างภาคบริการ ให้เป็นแหล่งสร้างรายได้หลักของประเทศ โดยพัฒนาการท่องเที่ยวไทย ให้เป็นศูนย์กลางการท่องเที่ยวทางธรรมชาติและวัฒนธรรมของภูมิภาค บนฐานความโดดเด่นและหลากหลายของทรัพยากรธรรมชาติ วัฒนธรรม และ ความเป็นไทย และพัฒนาขีดความสามารถในการแข่งขันของธุรกิจบริการที่มีศักยภาพ เพื่อขยายฐานการผลิตและการตลาดธุรกิจบริการครอบคลุมระดับภูมิภาค บนฐานความแตกต่างและความชำนาญเฉพาะด้านของบริการที่สำคัญ ได้แก่ ธุรกิจบริการด้านการศึกษา บริการสุขภาพและสปา ธุรกิจค้าส่งและปลีก ธุรกิจบริการทางการเงิน ธุรกิจบริการด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ ธุรกิจการก่อสร้าง และ ธุรกิจภาพยนตร์ไทย เป็นต้น
๑. ฟื้นฟู พัฒนา แหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติ ประวัติศาสตร์ โบราณสถานในเชิงกลุ่มพื้นที่ และเสริมสร้างเอกลักษณ์ความเป็นไทย ทั้งการอนุรักษ์วัฒนธรรมท้องถิ่น วิถีชีวิตชุมชน และ ภูมิปัญญาชาวบ้าน เพื่อสร้างสินค้าท่องเที่ยวใหม่าๆแก่ธุรกิจการท่องเที่ยวไทย และ เป็นแหล่งท่องเที่ยวของตลาดท่องเที่ยวโลก
๒. ส่งเสริมการลงทุน พัฒนาธุรกิจบริการที่เกี่ยวเนื่องกับการท่องเที่ยว เพื่อรองรับตลาดกลุ่มนักท่องเที่ยวที่มีความสนใจเฉพาะด้าน และ สร้างมูลค่าเพิ่มแก่ธุรกิจ ได้แก่ ธุรกิจบริการสุขภาพ ธุรกิจศูนย์ประชุมและแสดงสินค้า การพำนักระยะยาว การจับจ่ายซื้อสินค้า สินค้าโอท๊อป และ แหล่งท่องเที่ยวที่มนุษย์สร้างขึ้น เป็นต้น
๓. พัฒนาคุณภาพและมาตราฐานขอธุรกิจและบริการที่มีศักยภาพให้เป็นที่ยอมรับ น่าเชื่อถือ และตอบสนองความต้องการของตลาดโลก รวมทั้งเพื่อรองรับนโยบายการเปิดเสรีภาคบริการ บนฐานความโดดเด่นทางวัฒนธรรมและความเป็นไทย โดยเฉพาะธุรกิจบริการที่มีศักยภาพในการดึงกลุ่มลูกค้ามาใช้บริการในประเทศ เช่น ธุรกิจการท่องเที่ยว ธุรกิจบริการด้านการศึกษา บริการด้านสุขภาพ และ ธุรกิจภาพยนตร์ไทย เป็นต้น
๔. ส่งเสริมตลาดการท่องเที่ยวและกลุ่มลูกค้าธุรกิจบริการอย่างต่อเนื่อง เพื่อรักษา,นตลาดเดิมและขยายตลาดใหม่ๆที่มีคุณภาพ เช่นตลาดรัสเซีย และ กลุ่มประเทศที่เคยเป็นอาณานิคมของรัสเซีย ตลาดตะวันออกกลาง และตลาดนักท่องเที่ยวเฉพาะกลุ่ม โดยอาศัยเครือข่ายความร่วมมือทั้งจากภาครัฐและภาคเอกชน เพื่อดำเนินกลยุทธ์ทางการตลาดร่วมกัน
๕. พัฒนาปัจจัยสนับสนุนให้เอื้อต่อการดำเนินธุรกิจการท่องเที่ยว ทั้งการพัฒนาโครงข่ายการคมนาคมเพื่อการเข้าถึง และเชื่อมโยงแหล่งท่องเที่ยว มาตรฐานความปลอดภัยในชีวิต และทรัพย์สิน สิ่งอำนวยความสะดวกพื้นฐาน และการปรับปรุงกฏระเบียบข้อกฏหมาย การพัฒนาบุคลากรให้สอดคล้องกับความต้องการของธุรกิจ และการเสริมสร้างขีดความสามารถในการดำเนินธุรกิจของผู้ประกอบการ และขีดความสามารถการบริหารการจัดการขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น
๖. สร้างเครือข่ายความร่วมมือระหว่างภาครัฐ ภาคเอกชน และ องค์กรชุมชนในท้องถิ่น เพื่อการอนุรักษ์และพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวธรรมชาติ ประวัติศาสตร์ และ วัฒนธรรม รวมทั้งการสนับสนุนการรวมกลุ่มของชุมชนในรูปแบบต่างๆ เพื่อเชื่อมโยงการประกอบอาชีพของคนในท้องถิ่นกับกิจกรรรมการท่องเที่ยวองเที่ยว เพื่อช่วยสร้างงาน สร้างรายได้แก่ชุมชน

 

แก้ไขล่าสุดเมื่อ ( พฤหัสบดี, 05 พฤศจิกายน 2009 )
 
< ก่อนหน้า   ถัดไป >

News

สมุดภาพเหมืองแร่

Counter

mod_vvisit_countermod_vvisit_countermod_vvisit_countermod_vvisit_countermod_vvisit_countermod_vvisit_countermod_vvisit_countermod_vvisit_countermod_vvisit_counter
mod_vvisit_counterวันนี้279
mod_vvisit_counterเมื่อวาน5656
mod_vvisit_counterทั้งหมด11017770