Skip to content

Phuketdata

default color
Home arrow News arrow ถลางภูเก็จภูเก็ต arrow ร.7 เสด็จฯ ภูเก็ต
ร.7 เสด็จฯ ภูเก็ต PDF พิมพ์ อีเมล์
เขียนโดย ปาณิศรา ชูผล มทศ.   
พุธ, 28 มีนาคม 2018

พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว
การเสด็จเลียบมณฑลภูเก็ต
พ.ศ. ๒๔๗๑

 

(มห.ภูเก็จ ๒๓๓๑)  (2302 มห.ภูเก็จ ภาพ ร.๗ เสด็จฯภูเก็ต)  
เมืองพังงานี้ทั้งภูเขาและเกาะดูงามน่าดูผิดกับเมืองอื่น” [1] พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวได้มีพระราชดำริเช่นนี้ระหว่างที่พระองค์และสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินี เสด็จพระราชดำเนินเลียบมณฑลภูเก็ตเมื่อ พ.ศ. ๒๔๗๑ เสมือนว่าทรงจินตนาการได้ว่า ในกาลต่อมาดินแดนแห่งนี้จะมีชื่อเสียงระบือไกลในฐานะสถานที่ท่องเที่ยวซึ่งเป็นที่นิยมของชาวโลก ทั้งๆ ที่ในสมัยนั้น ความสำคัญต่อสยามของมณฑลนี้ ซึ่งประกอบด้วยภูเก็ต พังงา กระบี่ ตะกั่วป่า ตรัง และระนอง อยู่ที่การทำเหมืองแร่ดีบุก และการเป็นดินแดนแห่งความอุดมสมบูรณ์ของทรัพย์ในดิน สินในน้ำ” [2]

การเสด็จฯ ครั้งนี้เป็นการเสด็จเลียบมณฑลในพระราชอาณาจักรเป็นครั้งที่สองในรัชกาลระหว่างวันที่ ๒๔ มกราคม ถึงวันที่ ๑๑ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๔๗๑ รวมระยะเวลา ๑๘ วัน

ด้วยไม่มีการจัดพิมพ์จดหมายเหตุการเสด็จพระราชดำเนินครั้งนี้ขึ้นเป็นการเฉพาะ การเรียบเรียงในที่นี้จึงต้องอาศัยข้อมูลดิบที่กรมศิลปากรรวบรวม[3] และจดหมายเหตุพระราชกิจรายวัน[4] ประกอบเป็นหลักในการเรียบเรียงให้เป็นองค์

การเตรียมการเสด็จ

การเตรียมการเสด็จฯ เริ่มประมาณ ๔ เดือนก่อนการเสด็จฯ จริงโดยจอมพล สมเด็จพระเจ้าพี่ยาเธอ กรมพระนครสวรรค์วรพินิต เสนาบดีกระทรวงมหาดไทยทรงเป็นผู้รับพระราชทานพระราชกระแสทรงพระราชปรารภ มีมหาอำมาตย์เอก พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระดำรงราชานุภาพ อภิรัฐมนตรีและอดีตเสนาบดีกระทรวงมหาดไทย นายพลเอก พระเจ้าพี่ยาเธอ กรมหลวงกำแพงเพ็ชรอัครโยธิน เสนาบดีกระทรวงพาณิชย์และคมนาคม และมหาอำมาตย์โท หม่อมเจ้าสฤษดิเดช (ชยางกูร) สมุหเทศาภิบาลมณฑลภูเก็ตร่วมประชุม พิจารณาถึงกาลเวลา ระยะเวลา ระยะทาง พาหนะที่ประทับ และค่าใช้จ่าย ตกลงกันว่าให้เริ่มในวันที่ ๒๔ มกราคม เพื่อให้พ้นฤดูฝนในพื้นที่ของมณฑล เป็นต้น สำหรับพระราชพาหนะนั้นให้เป็นโดยรถไฟ เรือพระที่นั่ง และรถยนต์ตามสภาพภูมิประเทศและภูมิอากาศ โดยขนรถยนต์พระที่นั่งไปทางรถไฟเป็นการล่วงหน้า เสริมด้วยรถยนต์ของกรมทางและของกระทรวงมหาดไทยสำหรับข้าราชบริพารและการขนสัมภาระ

เมื่อได้จัดทำร่างกำหนดการเสด็จฯ แล้ว นำขึ้นทูลเกล้าฯ ถวาย มีพระราชกระแสพระราชทานลงมาว่าต้องพระราชประสงค์จะทรงมีเวลาออกกำลังพระวรกายโดยการทรงกอล์ฟหรือเทนนิส ซึ่งจะเป็นโอกาสให้บุคคลผู้มีฝีมือในพื้นที่จะได้พอใจด้วย และว่าทรงคุ้นเคยกับการบรรทมบนเรือพระที่นั่งมากกว่าในสถานที่แปลกที่บนบก[5] นับได้ว่าทรงพระกรุณาช่วยให้ประหยัดค่าใช้จ่ายในการก่อสร้างหรือปรับปรุงสถานที่ประทับ

ต่อมาเมื่อได้ปรับกำหนดการอีกครั้งหนึ่งทูลเกล้าฯ ถวายแล้ว นอกจากทรงมีข้อทรงสงสัยในประเด็นปลีกย่อยบางประการแล้วได้มีพระราชกระแสขอให้กรมพระดำรงราชานุภาพทรงร่างพระราชดำรัสต่างๆ [6]สุดท้ายในวันที่ ๒๘ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๗๑ พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าฯ มีพระราชกระแสว่าร่างที่สาม ดีแล้ว” [7]

สำหรับค่าใช้จ่ายนั้น กรมพระดำรงราชานุภาพ ขณะทรงทำการแทนสมเด็จเจ้าฟ้ากรมพระนครสวรรค์ฯ ขณะเสด็จไปพักผ่อนรักษาพระองค์ ได้ทรงตรวจตัดลดงบประมาณต่อเนื่องมาจนสำเร็จเป็นยอดเงินรวมรวมทุกกระทรวงเป็นเงิน ๑๘๔,๕๐๐ บาท นับว่าต่ำกว่าในคราวเสด็จเลียบมณฑลพายัพเมื่อ พ.ศ. ๒๔๖๙ อยู่ ๑,๑๐๖ บาท และจากที่ได้ทรงทูลปรึกษาพระองค์เจ้าศุภโยคเกษม เสนาบดีกระทรวงพระคลังฯ ถึงหลักเกณฑ์การจ่ายเงิน ได้ความว่า ก. ถ้าเสด็จเลียบมณฑล หรือเสด็จยังต่างประเทศ จ่ายเงินแผ่นดินทั้งสิ้น ข. ถ้าเสด็จประพาส จ่ายเงินแผ่นดินฉะเพาะแต่เมื่อการก่อสร้างสิ้นเปลืองด้วยการรับเสด็จ เช่นปลูกสร้างที่ประทับแรมตามระยะทาง เป็นต้น ส่วนการใช้จ่ายในราชสำนัก จ่ายเงินพระคลังข้างที่ ค. ถ้าเสด็จแปรพระราชสำนัก ใช้เงินพระคลังข้างที่ทั้งสิ้นกรมพระดำรงฯ จึงได้ทรงวินิจฉัยตามเกณฑ์ดังกล่าวว่า เงินที่จ่ายในการเสด็จเลียบมณฑลครั้งนี้ แม้เงินตามงบประมาณกระทรวงวังก็ชอบที่จะจ่ายเงินแผ่นดินทั้งสิ้น [8]

ในการเสด็จฯ ครั้งนั้น มีผู้โดยเสด็จฯ รวมทั้งสิ้น ๙๑ องค์ (คน) เช่นพระเจ้าวรวงศ์เธอ กรมหมื่นอนุวัตรจาตุรนต์ ราชเลขานุการในพระองค์ นายพลตรี หม่อมเจ้าอมรทัต กฤดากร สมุหราชองครักษ์ พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าจิรศักดิ์สุประภาตและหม่อมเจ้าการวิก จักรพันธุ์ (ซึ่งสององค์หลังนี้เป็นเยาวราชวงศ์ในพระราชอุปการะ) หม่อมเจ้าถาวรมงคลวงษ์ ไชยันต์ แพทย์ประจำพระองค์ หม่อมหลวงคลองไชยันต์ นางสนองพระโอษฐ์ และหม่อมราชวงศ์พันธุ์ทิพย์ เทวกุล นางพระกำนัล เป็นต้น

ระยะทางเสด็จ และพระราชกรณียกิจ

โดยที่มณฑลภูเก็ตอยู่ทางฝั่งทะเลอันดามัน เรือพระที่นั่งจักรีจึงได้ล่วงหน้าอ้อมแหลมมลายูไปก่อน ทอดสมอรออยู่ที่ท่าน้ำอำเภอกันตัง จังหวัดตรัง รถพระที่นั่ง ๒ คัน ก็ได้ล่วงหน้าไปก่อนเช่นกันแต่ทางรถไฟ

วันที่ ๒๔ มกราคม พ.ศ. ๒๔๗๑ ทั้งสองพระองค์เสด็จฯ โดยขบวนรถไฟพระที่นั่งจากสถานีหลวงจิตรลดา ขบวนรถไฟมีหัวรถจักรกับอีก ๑๒ รถโบกี้ โดยรถโบกี้พระที่นั่งประทับกลางวันและบรรทมเป็นโบกี้ที่ ๑๐ และ ๑๑ ตามลำดับ [9]

วันที่ ๒๕ มกราคม เสด็จฯ ถึงสถานีพัทลุง มหาอำมาตย์โทหม่อมเจ้าสฤษดิเดช ชยางกูร สมุหเทศาภิบาลเฝ้าฯ อัญเชิญเสด็จเลียบมณฑลภูเก็ต ทรงรถยนต์พระที่นั่งไปยังถ้ำคูหาสวรรค์ ทรงสักการะบูชาพระพุทธรูปในถ้ำและทอดพระเนตรถ้ำ ทรงจารึกพระบรมนามาภิไธยย่อ ปปร ๒๔๗๑ที่ปากถ้ำใกล้ จปรซึ่งพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงไว้เมื่อ ร.ศ. ๑๐๘ (พ.ศ. ๒๔๓๓) แล้ว เสด็จฯ ต่อไปยังจังหวัดตรัง ประทับที่ตำหนักโปร่งหฤทัยให้ผู้ว่าราชการจังหวัดตรังถวายพระแสงราชศัสตราประจำเมืองให้ทรงเก็บไว้ระหว่างที่ประทับอยู่ในจังหวัด เสด็จธารน้ำตกทรงจารึกพระบรมนามาภิไธยย่อที่ข้างลำธารแล้ว เสด็จประทับแรมที่พระตำหนักผ่อนกาย จังหวัดตรัง [10]

วันที่ ๒๖ มกราคม เสด็จฯ ยังศาลากลางเมืองตรัง ผู้ว่าราชการจังหวัดตรัง (อ.ท. พระอรรถโกวิทวที) อ่านคำถวายชัยมงคล กราบบังคมทูลว่าชาวเมืองทุกชาติทุกชั้นบรรดาศักดิ์ได้พร้อมใจกันจัดการรับเสด็จด้วยความสวามิภักดิ์ มีพระราชดำรัสตอบความโดยสรุปว่า เป็นพระราชประสงค์ที่จะเสด็จฯ ทรงตรวจตราตามหัวเมืองให้ทั่วทุกมณฑลเพื่อทรงทราบด้วยพระองค์เข้าถึงกิจการและภูมิสถานบ้านเมือง ตลอดจนทุกข์สุขของพศกนิกร ทรงสังเกตตามทางว่าเป็นพื้นที่เหมาะแก่การกสิกรรม และจังหวัดตรังมีความมั่งมี ชาวเมืองดูแช่มชื่นเบิกบาน โรงเรียนดูมั่นคง มีนักเรียนชายหญิงจำนวนมาก ทรงขอให้พ่อค้าประกอบการค้าและเพียรหาประโยชน์โดยชอบธรรม เผื่อแผ่แก่ผู้ที่ขาดแคลน บริจาคทุนบำรุงบ้านเมืองตามควร ส่วนประชาชนพลเมืองก็ขอให้หมั่นเพียรประกอบอาชีพ สงวนทรัพย์ไว้ใช้สอยให้เป็นสาระประโยชน์ ประพฤติตนอยู่ในกรอบของกฎหมาย ไม่เบียดเบียนกัน สำหรับพระสงฆ์ก็ควรช่วยเป็นธุระสั่งสอนธรรมปฏิบัติ แต่สิ่งใดที่เกินกำลังความสามารถที่ชาวเมืองจะทำได้ ทรงรับเป็นพระราชภาระ [11] จากนั้นเสด็จทอดพระเนตรทุกแผนกที่ศาลากลาง และยังศาลยุติธรรม ช่วงบ่ายเย็น เสด็จโรงพยาบาลและโรงเรียนสตรีของคณะมิชชันนารีอเมริกันแล้ว เสด็จกลับประทับแรมที่พระตำหนักผ่อนกาย [12]

วันที่ ๒๗ มกราคม เวลา ๑๐.๐๐ น. ทรงรถยนต์พระที่นั่งไปยังกันตังแล้ว ทรงเรือยนต์พระที่นั่งล่องลงไปตามลำน้ำถึงเกาะลิบงเวลา ๑๕.๐๐ น. ทรงเรือพระที่นั่งมหาจักรีไปยังจังหวัดระนอง มีพระยาราชวังสัน (ศรี กมลนาวิน) เสนาธิการราชนาวี เป็นผู้บังคับทางเรือ เรือเดินทางตลอดคืน

วันที่ ๒๘ มกราคม เวลา ๑๕.๒๐ น. เรือพระที่นั่งถึงอ่าวระนอง ผู้ว่าราชการจังหวัดเฝ้าบนเรือ ประทับแรมบนเรือ

วันที่ ๒๙ มกราคม เช้า ทรงเรือยนต์พระที่นั่งเสด็จประพาสลำน้ำปากจีนเลียบฝั่ง บ่าย ทรงเรือกรรเชียงมีเรือยนต์จูงตามลำน้ำระนองเทียบที่ท่าเมือง ผู้ว่าราชการจังหวัดเฝ้าฯ แล้วเสด็จฯ โดยรถยนต์พระที่นั่ง มีราษฎรเฝ้ารายทางเป็นอันมาก สู่พระที่นั่งรัตนรังสรรค์ ซึ่งเป็นวังเก่าที่ได้รับการซ่อมแซมถวายเป็นที่ประทับแรม เวลาบ่ายเสด็จประพาสบ่อน้ำร้อน ประทับพลับพลา ที่ซึ่งตระกูล ณ ระนอง ถวายเครื่องว่าง ตามที่ได้กราบบังคมทูลไว้ล่วงหน้าว่าจะจัดถวายทุกมื้อตลอดเวลาที่ประทับอยู่ในจังหวัดระนอง และได้ทรงตอบรับโดยทรงแจ้งไว้ด้วยว่า ด้วยพระนาภีไม่เป็นปกติ จึงต้องทรงมีพระกระยาหารพิเศษจากห้องเครื่องต้นอยู่บ้าง [13]ระหว่างเสวยมีกระบวนช้างบรรทุกแร่พื้นเมืองเดินแถวผ่านหน้าพระที่นั่งเพื่อทรงถ่ายรูป เวลาค่ำหลังเสวย ประทับทอดพระเนตรการแห่โคมไฟ มหรสพพื้นเมือง และละครพม่า ตามที่จัดถวาย

วันที่ ๓๐ มกราคม เวลา ๑๐.๓๐ น. ประทับพลับพลาให้ข้าราชการ พ่อค้า ประชาราษฎรเฝ้าฯ ผู้ว่าราชการจังหวัด (อ.ท. พระยาอมรศักดิ์ประสิทธิ์) อ่านคำถวายชัยมงคล พระยาทวีวัฒนากร (คอยู่เพี้ยน ณ ระนอง) ผู้แทนสมาชิกสกุล ณ ระนอง อ่านคำถวายชัยมงคล เท้าความถึงพระยาดำรงสุจริตมหิศรภักดี (คอซูเจียง) ต้นสกุล ที่มาจากประเทศจีน ตั้งถิ่นฐาน รับราชการและประกอบกิจการต่างๆปกครองดูแลผู้คน จนมีชื่อเสียงและโภคทรัพย์ โดยได้รับพระมหากรุณาธิคุณสืบมาหลายชั่วคน บุคคลในสกุลนี้จึงมีความจงรักภักดียิ่งและมีความปิติยินดีที่ได้เข้าเฝ้าฯ มีพระราชดำรัสตอบอย่างสอดคล้อง แล้วรับสั่งว่า เมืองระนองมีความสำคัญตรงที่อยู่ ณ เขตชายแดนกับต่างประเทศ มีแร่ดีบุกมาก และมีชนต่างด้าวชาวต่างประเทศมาทำเหมืองอยู่มาก จึงทรงขอให้ข้าราชการเอาใจใส่ปกครองโดยบำรุงรักษามิตรภาพกับหัวเมืองต่างประเทศ และทำนุบำรุงผู้คนทุกจำพวกให้ร่มเย็นเป็นสุข ตั้งตนให้เที่ยงตรงและมีเมตตาอารี ให้ได้รับความยุติธรรมเสมอหน้ากันทุกชาติทุกภาษา [14] จากนั้นเสด็จโดยรถยนต์พระที่นั่งไปยังฮวงซุ้ยสกุล ณ ระนอง ทรงวางพวงมาลา ณ ที่ฝังศพพระยาดำรงสุจริตฯ[15] ครั้นเวลา ๑๖.๐๐ น. เสด็จลงเรือพระที่นั่งออกจากอ่าวระนองเดินทางตลอดคืนสู่จังหวัดภูเก็ต

วันที่ ๓๑ มกราคม เวลา ๑๐.๐๐ น. เรือพระที่นั่งถึงอ่าวภูเก็ต เสด็จขึ้นบกไปประทับแรมที่พลับพลา เวลาค่ำเสด็จทอดพระเนตรการตกแต่งโคมไฟ

วันที่ ๑ กุมภาพันธ์ เวลาเช้า เสด็จออกศาลารัฐบาล ม.อ.ท. หม่อมเจ้าสฤษดิเดช สมุหเทศาภิบาลมณฑลภูเก็ตอ่านคำถวายชัยแล้วเสด็จทอดพระเนตรสถานที่ราชการโดยที่มีพระราชดำรัสตอบ ความสำคัญว่า ด้วยประเพณีการปกครองสยามถือสืบมาแต่โบราณว่า พระเจ้าแผ่นดินกับประชาชนย่อมร่วมทุกข์สุขเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันจึงได้เสด็จฯ มาเพื่อที่จะได้ทรงทราบกิจการในมณฑลด้วยพระองค์เองเพื่อประกอบพระราชภารกิจ ในการปกครองบ้านเมืองให้ประชาชนทั้งหลายในมณฑลนี้มีความเจริญสุขยิ่งขึ้นไปและรับสั่งเช่นเดิมเกี่ยวกับการที่มีชนต่างด้าวทั้งจีนและฝรั่งมาทำการขุดแร่ด้วยวิธีขุดที่เจริญขึ้นตามลำดับมา ถ้าการค้าขายและการทำเหมืองแร่ได้ผลมาก รัฐบาลก็ได้ประโยชน์มากขึ้นด้วย ถ้าผลตกต่ำก็ต่ำลงด้วยกัน สำคัญอยู่แต่ให้มีความปรองดองด้วยเห็นอกกันในระวางบุคคลต่างหน้าที่และต่างจำพวก กับช่วยกันรักษาความเรียบร้อยแลความสุขของบ้านเมือง...” [16] เสด็จศาลยุติธรรมประทับบัลลังก์ทรงฟังการชำระคดีถวาย ทรงลงพระบรมนามาภิไธยในคำพิพากษานั้น เวลาบ่ายเสด็จวัดโฆสิตวิหาร ประพาสบริเวณเมืองแล้วไปตามถนนสายตะวันตกถึงอ่าวฉลอง ทอดพระเนตรเรือขุดแร่ดีบุก นายเอ.เลียต หัวหน้าบริษัททุ่งคาฮาร์เบอร์ถวายของและกราบบังคมทูลชี้แจงกิจการแล้วประทับเรือยนต์ไปทอดพระเนตรเรือขุดทำการขุดแร่ในอ่าว แล้วเสด็จกลับสู่ที่ประทับแรม [17]

อนึ่ง การทำเหมืองแร่ดีบุก ในสยามเริ่มมีมาตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยาต่อเนื่องมา ในยุคแรกใช้แรงงานคนเป็นหลัก แล้วจึงใช้เทคโนโลยีต่างๆ ตามลักษณะเหมืองแต่ละประเภท เช่น เหมืองรูหรือเหมืองปล่องใช้การเจาะรูหรือปล่องให้คนลอดเข้าไปบนหินดินทรายออกมาเพื่อล้าง หาแร่ เหมืองฉีดใช้เครื่องดูดหินทรายปนแร่ขึ้นมาแล้วฉีดสู่รางกู้แร่ เหมืองสูบและการใช้เรือขุดต้องใช้เครื่องจักรทันสมัยที่มีราคาสูงมาก จึงเป็นของชาวตะวันตกโดยมาก นอกจากนั้น มีเหมืองหาบและเหมืองเจาะงัน เป็นต้น [18] พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าฯ และสมเด็จฯ เสด็จฯ ทอดพระเนตรการทำเหมืองประเภทต่างๆ ด้วยความสนพระราชหฤทัยและพระราชมานะ ดังจะเห็นได้ต่อไป

วันที่ ๒ กุมภาพันธ์ เวลา ๑๐.๑๐ น. เสด็จฯ ตำบลกระทู้ ทอดพระเนตรการทำเหมืองแร่ด้วยเรือขุดขนาดใหญ่ของบริษัทกระทู้หินจนถึงเวลา ๑๒.๓๐ น. เสด็จกลับ เวลา ๒๐.๐๐ น. เสด็จเสวยพระกระยาหารค่ำที่ศาลารัฐบาล พ่อค้าจีนและแขกอินเดีย และผู้แทนนายเหมืองแร่เฝ้าฯ หัวหน้าพ่อค้าถวายพระพรชัยมงคล มีพระราชดำรัสตอบ ความตอนหนึ่งว่า จีนกับไทยที่จริงเหมือนกันญาติกัน ด้วยร่วมศาสนาแลมีจารีตประเพณีคล้ายคลึงกัน...จีนที่เข้ามาอยู่ในประเทศสยามจึงเข้ากันได้สนิทสนม จนถึงร่วมสมพงศ์มีวงศ์วารเป็นไทยอยู่ในประเทศสยามเป็นอันมาก...ส่วนตัวเราก็ชอบจีน และปรารถนาจะรักษาประเพณีอันดีซึ่งมีมาแต่โบราณไว้ให้ถาวรสืบไป...พวกแขกชาวอินเดีย ถึงมีมาอยู่ในประเทศสยามน้อยกว่า จำนวนจีนก็ดีไทยเราถือว่าเป็นพวกที่ได้มีไมตรีกันมาแต่ดึกดำบรรพ์ ศาสนาและขนบธรรมเนียมต่างๆ ของไทยก็ได้มาจากอินเดียเป็นพื้น...ควรหวังใจได้ว่าจะได้รับความอุปถัมภ์บำรุงในประเทศสยาม ไม่น้อยหน้ากว่าชาวอินเดียไปอยู่ในประเทศอื่น” [19]นับเป็นอีกครั้งหนึ่งที่ทรงมีพระราชปรารภถึงความหลากหลายทางวัฒนธรรมแต่กลมกลืนกันในสยามหนึ่งเดียว

วันที่ ๔ กุมภาพันธ์ เวลา ๙.๔๐ น. เสด็จไปตำบลสระเงง (ระเงะ) ทอดพระเนตรการทำเหมืองสูบแล้ว เสด็จประพาสน้ำตกถลางและหาดสุรินทร์ แล้วเสด็จกลับสู่ที่ประทับแรม

วันที่ ๕ กุมภาพันธ์ เวลา ๑๐.๓๐ น. เสด็จยังตำบลนาลิกใกล้หาดสุรินทร์ ทอดพระเนตรการทำเหมืองหาบและเหมืองปล่อง แล้วเสด็จกลับ เวลา ๑๕.๔๐ เสด็จยังยูไนเต็ดคลับ พ่อค้านายเหมืองฝรั่งเฝ้าฯ กงสุลอังกฤษหัวหน้าคณะอ่านคำถวายชัย ทรงตอบแล้ว ประทับทอดพระเนตรการแข่งขันลอนเทนนิสแล้ว เสด็จกลับสู่ที่ประทับแรม

อนึ่ง กงสุลอังกฤษกราบบังคมทูลเป็นภาษาอังกฤษ ความสำคัญว่า รำลึกพระมหากรณาธิคุณอยู่เสมอที่ชาติไทยได้โอบอ้อมอารี...และรู้สึกเอิบใจนักที่ใต้ฝ่าละอองธุลีพระบาทได้ทรงติดต่อคุ้นเคยกับบ้านเกิดเมืองนอนของข้าพระพุทธเจ้ามาแต่ดั้งเดิม...พระองค์สมเด็จพระบรมราชินีเป็นผู้ทรงไว้ซึ่งพระอัธยาศัยอันงาม เป็นที่จงรักภักดีแห่งไพร่ฟ้าข้าแผ่นดินทั่วไป และได้ทรงปฏิบัติพระราชกรณียกิจร่วมกับใต้ฝ่าละอองธุลีพระบาท ด้วยความสง่างามสมกับที่ได้ทรงดำรงพระอิสสริยยศอันสูงศักดิ์และได้ทูลเกล้าฯ ถวายหีบทำจากดีบุกแร่ทั้งแท่งและทำด้วยเนื้อโลหะและด้วยฝีมือในภูเก็ตเองด้วย มีพระราชดำริตอบเป็นภาษาอังกฤษเช่นกัน ความตอนหนึ่งว่า ข้าพเจ้าเองก็มีความยินดีที่ได้มาถึงที่นี่ ได้ไปดูบริษัทต่างๆ ทำการขุดแร่ และได้เห็นวิธีการขุดหาแร่ด้วยตนเอง บริษัทของชาวอังกฤษที่เข้ามาทำการอยู่ในประเทศสยามได้นำเอาวิธีใหม่ๆ เข้ามาใช้ เป็นเหตุให้มณฑลนี้และพลเมืองในประเทศสยามสมบูรณ์ขึ้นเป็นอันมาก นอกจากนั้นบริษัทยังได้เป็นผู้นำความยุตติธรรมและความซื่อตรงซึ่งกันและกันเข้ามาใช้ในการติดต่อต่างๆ เป็นเครื่องสอนใจแก่คนทั่วไป” [20]

วันที่ ๖ กุมภาพันธ์ เป็นวันที่ทรงว่างจากพระราชกิจจนกระทั่งเวลา ๑๖.๑๕ น. โปรดให้พ่อค้าประชาราษฎรเฝ้าถวายของ พระราชทานเสมาเงินแก่เด็กชายหญิงที่มาเฝ้าทั่วกัน[21] นับเป็นการทรงแสดงพระเมตตาแก่เด็กอันเป็นพระราชอุปนิสัย

วันที่ ๗ กุมภาพันธ์ เวลา ๙.๓๐ น. เสด็จโดยรถยนต์พระที่นั่งไปตามถนนสายเหนือและถนนบุรฉัตรที่ตัดใหม่ถึงท่าฉัตรชัยแล้ว รถพระที่นั่งลงเรือขนานยนต์ข้ามช่องปากพระไปยังฝั่งท่านุ่น [22] อ.ท. พระอาดมคุติกร ผู้ว่าราชการจังหวัดพังงา อ่านคำกราบบังคมทูล ความสำคัญว่า จังหวัดพังงาตั้งอยู่ห่างทางไปมาค้าขาย และเมื่อการทำเหมืองแร่มีมากขึ้น น้ำพัดทรายที่ล้างออกจากแร่ตามเหมืองไหลลงมาถมทางเรือ การคมนาคมจึงยากขึ้น แต่บัดนั้นได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สร้างทางหลวงจากภูเก็ตถึงพังงาและมีเรือสำหรับรถข้ามช่องทะเล การติดต่อกันจึงรวดเร็วและสะดวกกว่าแต่ก่อนมาก มีพระราชดำรัสตอบว่า เมืองพังงานี้มีทั้งภูเขาและเกาะงามน่าดู ผิดกับเมืองอื่นสำหรับทางน้ำที่ตื้นเขินนั้น เราก็จะคิดพยายามขุดให้คืนดีด้วยวิธีประสานงานกับการที่ได้อนุญาตให้ขุดแร่ดีบุกด้วยใช้เครื่องจักร หวังว่าการคมนาคมทางน้ำจะพ้นความลำบากได้ด้วยส่วนทางหลวงนั้น จะได้โปรดให้สร้างต่อไปถึงเมืองตรังทางทิศใต้ จะเป็นการเปิดพื้นที่ให้เป็นประโยชน์ยิ่งขึ้นอีก[23] เห็นได้ว่าแม้จะทรงเสริมการพัฒนาเศรษฐกิจ แต่ก็ตั้งพระราชหฤทัยจะรักษาสภาพแวดล้อมทางธรรมชาติ โดยจะทรงชักชวนให้ผู้ประกอบการเหมืองได้มีส่วนร่วมรับผิดชอบในการแก้ปัญหาอันเกิดจากการทำเหมือง มุ่งสู่ประโยชน์โดยทั่วหน้า

ต่อจากนั้นได้เสด็จยังวัดถ้ำแขวงอำเภอตะกั่วทุ่ง (วัดสุวรรณคูหา) ทรงจารึกพระบรมนามาภิไธยย่อ อนึ่ง ในการเสด็จฯ ถึงเมืองพังงานี้ ได้พระราชทานพระแสงราชศัตราสำหรับเมืองพังงา ด้วยยังไม่เคยได้รับพระราชทานมาแต่รัชกาลก่อนๆ เพื่อเป็นที่สักการะบูชาต่างพระองค์และใช้ชุบทำน้ำพิพัฒนสัตยาตามประเพณี ส่วนที่จังหวัดอื่นๆ ในระยะทางเสด็จฯ ซึ่งได้รับพระราชทานแล้ว ผู้ว่าราชการจังหวัดได้ถวายคืนเพื่อทรงเก็บไว้ระหว่างที่ประทับอยู่ในจังหวัดนั้น และพระราชทานคืนเมื่อเสด็จฯ จากไป

เวลา ๑๖.๐๐ น. เสด็จประพาสเมืองเก่าแล้วเสด็จลงเรือพระที่นั่งจักรีซึ่งทอดอยู่หลังเกาะปันหยี มีเรือมหรศพมาลอยลำเล่นถวายทอดพระเนตรและมีเรือแต่งโคมรูปสัตว์ต่างๆด้วย ประทับชมบนเรือพระที่นั่งมหาจักรี และได้เสด็จยังดาดฟ้าเรือทรงถ่ายภาพเกาะปันหยีซึ่งมีหมู่บ้านชาวประมงปลูกสร้างลงในน้ำใต้เงาเกาะซึ่งมีลักษณะเป็นก้อนภูเขาซึ่งเป็นที่กำบังลมได้ดี ไว้ด้วย [24]

วันที่ ๘ กุมภาพันธ์ เวลา ๑๐.๐๐ น. ทรงเรือยนต์พระที่นั่ง เสด็จถ้ำลอด ณ ตำบลปากน้ำจังหวัดพังงา แล้วเสด็จบนเรือถลางซึ่งทอดอยู่ ณ อ่าวตะกั่วทุ่ง ทอดพระเนตรการแข่งเรือ แล้วเสด็จกลับสู่เรือพระที่นั่งมหาจักรี เดินจักรเคลื่อนออกไป เดินสายในอย่างช้าเพื่อทอดพระเนตรหมู่เกาะตามระยะทาง[25] จึงจินตนาการได้ว่าได้ทรงบุกเบิกการท่องเที่ยวธรรมชาติในอ่าวพังงาอันงดงามนี้ หลายสิบปีก่อนที่จะได้กลายมาเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่ลืมนามไปทั่วโลกในปัจจุบัน

วันที่ ๙ กุมภาพันธ์ เวลา ๑๐.๐๐ น. ทรงเรือยนต์พระที่นั่งออกจากเกาะลิบงเข้าลำน้ำจังหวัดตรังเทียบท่ารถไฟกันตัง เวลา ๑๗.๐๐ น. มีกรมพระดำรงราชานุภาพเฝ้ารับเสด็จฯ ด้วย จากนั้น อ.ต. พระยาสุรพลพิพิธ ผู้ว่าราชการจังหวัดรับเสด็จฯ ไปพระตำหนักผ่อนกาย เวลา ๑๖.๐๐ น. เสด็จตำบลสระพังซึ่งเป็นสระใหญ่อยู่กลางมีป่าล้อมรอบ เสวยที่พลับพลา ทอดพระเนตรรอบบริเวณแล้ว เสด็จกลับสู่พระตำหนักผ่อนกายที่ประทับแรม

วันที่ ๑๐ กุมภาพันธ์ เวลา ๙.๔๕ น. เสด็จฯ ทอดพระเนตรทางหลวงที่จะทำต่อไปถึงจังหวัดกระบี่และพังงา เสด็จถึงถ้ำเขาปินะอำเภอห้วยยอด ทอดพระเนตรแล้ว ทรงจารึกพระบรมนามาภิไธยที่ถ้ำ เสด็จกลับที่ประทับแรม

วันที่ ๑๑ กุมภาพันธ์ เวลา ๙.๐๐ น. เสด็จออกพระตำหนักผ่อนกายแล้ว เสด็จขึ้นรถไฟพระที่นั่งเคลื่อนจากสถานีตรังเพื่อกลับคืนสู่พระนคร ประทับแรมบนรถไฟ

วันที่ ๑๒ กุมภาพันธ์ เวลา ๑๗.๓๕ น. รถไฟพระที่นั่ง ถึงสถานีหลวงจิตรลดา เจ้านายและข้าราชการเฝ้าฯ รับเสด็จ ทรงได้รับโทรเลขเมื่อเสด็จถึงหัวหินจากสมุหเทศาภิบาลมณฑลภูเก็ตแสดงความปลื้มปิติเป็นล้นเกล้าฯ ที่ได้เฝ้าแทนใกล้ชิดและถวายพระพรชัยมงคล ทรงมีพระราชโทรเลขตอบความตอนหนึ่งว่า ขอบใจชาวมณฑลภูเก็ตทุกชาติทุกชั้นบรรดาศักดิ์อีกครั้งหนึ่ง...ฉันได้มีความพอใจทั้งการต้อนรับกับที่ได้เห็นความเจริญมีตามจังหวัดที่ได้ไปทุกแห่ง” [26]

สรุป

การเสด็จเลียบมณฑลภูเก็ตเมื่อ พ.ศ. ๒๔๗๑ ครั้งนี้ เป็นครั้งที่ ๒ หลังการเสด็จเลียบมณฑลฝ่ายเหนือและมณฑลพายัพใน พ.ศ. ๒๔๖๙ แม้ว่าครั้งนี้จะทรงใช้เวลาน้อยกว่าครั้งก่อนแต่ด้วยการเตรียมการอย่างดี จึงสำเร็จลุล่วงได้โดยไม่มีความติดขัด ทั้งด้วยงบประมาณที่ประหยัด พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินี ได้ทรงประกอบพระราชกรณียกิจนานาประการที่ประทับใจแก่อาณาประชาราษฎรในทุกตำแหน่งแห่งที่ในมณฑลภูเก็ต ตลอดจนชาวต่างชาติที่มาทำมาหากินอยู่ภายใต้พระบรมโพธิสมภาร ที่สำคัญได้ทอดพระเนตรกิจกรรมทางเศรษฐกิจหลักในมณฑลคือการทำเหมืองแร่ดีบุกอย่างละเอียด ทั้งได้ทอดพระเนตรภูมิประเทศอันงามตามธรรมชาติ และดูเหมือนว่าจะได้ทรงมีพระราชวิสัยทัศน์ว่าดินแดนแห่งนี้จะเป็นสถานที่ท่องเที่ยวที่สำคัญของประเทศในเวลาต่อมา จึงได้มีพระบรมราโชบายที่จะทำนุบำรุงการคมนาคมและแก้ไขความเสียหายอันเกิดจากการทำเหมืองให้ธรรมชาติกลับคืนดี การที่ได้เสด็จพระราชดำเนินทอดพระเนตรภูมิสถานบ้านเมืองและทรงทำความคุ้นเคยกับผู้คนในมณฑลนี้ จึงนับว่ามีอานิสงค์ต่อปัจจุบันนี้ภูเก็ตและพังงา ตลอดจนตรัง เป็นสถานที่ท่องเที่ยวระบือนาม ซึ่งควรค่าแก่การรักษาไว้ให้ดีมีความสมดุลกับการพัฒนาเศรษฐกิจ

อ้างอิง

1.     กระโดดขึ้น ศิลปากร, กรม. (๒๕๔๓) . พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จเลียบมณฑลภูเก็ต. กรุงเทพฯ: สถาบันพระปกเกล้า , หน้า ๑๘๐.

2.     กระโดดขึ้น พฤทธิสาณ ชุมพล, ม.ร.ว. (๒๕๔๘) . เบิกฟ้ามณฑลภูเก็ต THE SKY OPENS OVER PHUKET. เอกสาร ประกอบนิทรรศการ). กรุงเทพฯ: พิพิธภัณฑ์พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว สถาบันพระปกเกล้า, หน้า ๑.

3.     กระโดดขึ้น ศิลปากร, กรม. (๒๕๔๓) . พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จเลียบมณฑลภูเก็ต. กรุงเทพฯ: สถาบันพระปกเกล้า.

4.     กระโดดขึ้น บรรเจิด อินทุจันทร์ยง (บรรณาธิการ). (๒๕๓๗). จดหมายเหตุพระราชกิจรายวันพระบาทสมเด็จพระปรมินทร์มหาประชาธิปก พระปกเกล้าเจ้าอยุ่หัว รัชกาลที่ ๗ (ภาคปลาย). กรุงเทพฯ: วัชรินทร์การพิมพ์.

5.     กระโดดขึ้น ศิลปากร, กรม. (๒๕๔๓) . พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จเลียบมณฑลภูเก็ต. กรุงเทพฯ: สถาบันพระปกเกล้า , หน้า ๓๕-๓๖.

6.     กระโดดขึ้น ศิลปากร, กรม. (๒๕๔๓) . พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จเลียบมณฑลภูเก็ต. กรุงเทพฯ: สถาบันพระปกเกล้า , หน้า ๔๕.

7.     กระโดดขึ้น ศิลปากร, กรม. (๒๕๔๓) . พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จเลียบมณฑลภูเก็ต. กรุงเทพฯ: สถาบันพระปกเกล้า , หน้า ๕๕.

8.     กระโดดขึ้น ศิลปากร, กรม. (๒๕๔๓) . พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จเลียบมณฑลภูเก็ต. กรุงเทพฯ: สถาบันพระปกเกล้า , หน้า ๖๘-๖๙.

9.     กระโดดขึ้น ศิลปากร, กรม. (๒๕๔๓) . พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จเลียบมณฑลภูเก็ต. กรุงเทพฯ: สถาบันพระปกเกล้า , หน้า ๙๒ ๙๓.

10. กระโดดขึ้น บรรเจิด อินทุจันทร์ยง (บรรณาธิการ). (๒๕๓๗). จดหมายเหตุพระราชกิจรายวันพระบาทสมเด็จพระปรมินทร์มหาประชาธิปก พระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๗ (ภาคปลาย). กรุงเทพฯ: วัชรินทร์การพิมพ์, หน้า ๔๘๐.

11. กระโดดขึ้น ศิลปากร, กรม. (๒๕๔๓) . พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จเลียบมณฑลภูเก็ต. กรุงเทพฯ: สถาบันพระปกเกล้า , หน้า ๑๑๓-๑๑๐.

12. กระโดดขึ้น บรรเจิด อินทุจันทร์ยง (บรรณาธิการ). (๒๕๓๗). จดหมายเหตุพระราชกิจรายวันพระบาทสมเด็จพระปรมินทร์มหาประชาธิปก พระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๗ (ภาคปลาย). กรุงเทพฯ: วัชรินทร์การพิมพ์, หน้า ๔๘๑.

13. กระโดดขึ้น ศิลปากร, กรม. (๒๕๔๓) . พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จเลียบมณฑลภูเก็ต. กรุงเทพฯ: สถาบันพระปกเกล้า , หน้า ๕๘.

14. กระโดดขึ้น ศิลปากร, กรม. (๒๕๔๓) . พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จเลียบมณฑลภูเก็ต. กรุงเทพฯ: สถาบันพระปกเกล้า , หน้า ๑๓๖-๑๓๙.

15. กระโดดขึ้น บรรเจิด อินทุจันทร์ยง (บรรณาธิการ). (๒๕๓๗). จดหมายเหตุพระราชกิจรายวันพระบาทสมเด็จพระปรมินทร์มหาประชาธิปก พระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๗ (ภาคปลาย). กรุงเทพฯ: วัชรินทร์การพิมพ์, หน้า ๔๘๒.

16. กระโดดขึ้น ศิลปากร, กรม. (๒๕๔๓) . พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จเลียบมณฑลภูเก็ต. กรุงเทพฯ: สถาบันพระปกเกล้าฯ , หน้า ๑๕๔-๑๕๖.

17. กระโดดขึ้น บรรเจิด อินทุจันทร์ยง (บรรณาธิการ). (๒๕๓๗). จดหมายเหตุพระราชกิจรายวันพระบาทสมเด็จพระปรมินทร์มหาประชาธิปก พระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๗ (ภาคปลาย). กรุงเทพฯ: วัชรินทร์การพิมพ์, หน้า ๔๘๓.

18. กระโดดขึ้น พิพิธภัณฑ์พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว. (๒๕๔๘). เบิกฟ้ามณฑลภูเก็ต THE SKY OPENS OVER PHUKET. เอกสารประกอบนิทรรศการ. กรุงเทพฯ: พิพิธภัณฑ์ฯ สถาบันพระปกเกล้าฯ, หน้า ๑๑.

19. กระโดดขึ้น ศิลปากร, กรม. (๒๕๔๓) . พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จเลียบมณฑลภูเก็ต. กรุงเทพฯ: สถาบันพระปกเกล้าฯ , หน้า ๑๕๙-๑๖๑.

20. กระโดดขึ้น ศิลปากร, กรม. (๒๕๔๓) . พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จเลียบมณฑลภูเก็ต. กรุงเทพฯ: สถาบันพระปกเกล้า , หน้า ๒๒๑-๒๒๔.

21. กระโดดขึ้น บรรเจิด อินทุจันทร์ยง (บรรณาธิการ). (๒๕๓๗). จดหมายเหตุพระราชกิจรายวันพระบาทสมเด็จพระปรมินทร์มหาประชาธิปก พระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๗ (ภาคปลาย). กรุงเทพฯ: วัชรินทร์การพิมพ์, หน้า ๔๘๕.

22. กระโดดขึ้น บรรเจิด อินทุจันทร์ยง (บรรณาธิการ). (๒๕๓๗). จดหมายเหตุพระราชกิจรายวันพระบาทสมเด็จพระปรมินทร์มหาประชาธิปก พระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๗ (ภาคปลาย). กรุงเทพฯ: วัชรินทร์การพิมพ์, หน้า ๔๘๕.

23. กระโดดขึ้น ศิลปากร, กรม. (๒๕๔๓) . พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จเลียบมณฑลภูเก็ต. กรุงเทพฯ: สถาบันพระปกเกล้า , หน้า ๑๗๘-๑๘๑.

24. กระโดดขึ้น ภาพฝีพระหัตถ์ อ้างถึงใน ศิลปากร, กรม. (๒๕๔๓). พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จเลียบมณฑลภูเก็ต. กรุงเทพฯ: สถาบันพระปกเกล้า , หน้า ๑๗๓.

25. กระโดดขึ้น บรรเจิด อินทุจันทร์ยง (บรรณาธิการ). (๒๕๓๗). จดหมายเหตุพระราชกิจรายวันพระบาทสมเด็จพระปรมินทร์มหาประชาธิปก พระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๗ (ภาคปลาย). กรุงเทพฯ: วัชรินทร์การพิมพ์, หน้า ๔๘๕-๔๘๖.

26. กระโดดขึ้น ศิลปากร, กรม. (๒๕๔๓). พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จเลียบมณฑลภูเก็ต. กรุงเทพฯ: สถาบันพระปกเกล้า , หน้า ๑๙๘.

บรรณานุกรม

บรรเจิด อินทุจันทร์ยง (บรรณาธิการ). ๒๕๓๗. จดหมายเหตุพระราชกิจรายวันพระบาทสมเด็จพระ ปรมินทร์มหาประชาธิปก พระปกเกล้าเจ้าอยุ่หัว รัชกาลที่ ๗ (ภาคปลาย). กรุงเทพฯ: วัชรินทร์การ พิมพ์.

พฤทธิสาณ ชุมพล, ม.ร.ว. (๒๕๔๘). เบิกฟ้ามณฑลภูเก็ต THE SKY OPENS OVER PHUKET. เอกสาร ประกอบนิทรรศการ). กรุงเทพฯ: พิพิธภัณฑ์พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว สถาบัน พระปกเกล้า.

พิพิธภัณฑ์พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว. (๒๕๔๘). เบิกฟ้ามณฑลภูเก็ต THE SKY OPENS OVER PHUKET. เอกสารประกอบนิทรรศการ. กรุงเทพฯ: พิพิธภัณฑ์พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวสถาบันพระปกเกล้า.

ศิลปากร, กรม. (๒๕๔๓). พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จเลียบมณฑลภูเก็ต. กรุงเทพฯ: สถาบัน พระปกเกล้า.

 

ดึงข้อมูลจาก "http://wiki.kpi.ac.th/index.php?title=การเสด็จเลียบมณฑลภูเก็ต_พ.ศ._๒๔๗๑&oldid=12393"

วิกิพีเดีย


***
ประวัติศาสตร์  
ประวััติศาสตร์
ร.7
รัชกาลที่ ๗
ร.๗
เสด็จภูเก็ต
พระเจ้าแผ่นดิน
ถนนศักดิเดชน์

ฉบับ PDF เป็น JPG ร.7 เสด็จภูเก็ต

แก้ไขล่าสุดเมื่อ ( พุธ, 28 มีนาคม 2018 )
 
< ก่อนหน้า   ถัดไป >

News

สมุดภาพเหมืองแร่

Counter

mod_vvisit_countermod_vvisit_countermod_vvisit_countermod_vvisit_countermod_vvisit_countermod_vvisit_countermod_vvisit_countermod_vvisit_countermod_vvisit_counter
mod_vvisit_counterวันนี้4595
mod_vvisit_counterเมื่อวาน3893
mod_vvisit_counterทั้งหมด11016429