Skip to content

Phuketdata

default color
Home arrow News arrow ถลางภูเก็จภูเก็ต arrow พม่าตีเมืองถลางป่าคลอก : สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ
พม่าตีเมืองถลางป่าคลอก : สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ PDF พิมพ์ อีเมล์
เขียนโดย ปาณิศรา ชูผล มทศ.   
อาทิตย์, 25 มีนาคม 2018
พม่าตีเมืองถลางป่าคลอก พ.ศ.๒๓๕๒
(จถล 2317)

สงครามครั้งที่ ๔๒ คราวรบพม่าตีเมืองถลาง ปีมะเส็ง พ.ศ. ๒๓๕๒

 ไทยรบพม่าครั้งที่ ๔๒  
← ไทยรบพม่าครั้งที่ ๔๑พระนิพนธ์ : สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ
 ไทยรบพม่าครั้งที่ ๔๒ ขัดตาทัพ →
 
              คำนำ                               อธิบายเหตุการณ์                               ภาคที่ ๑ สงครามครั้งกรุงศรีอยุธยาเป็นราชธานี                               ภาคที่ ๒ สงครามครั้งกรุงธนบุรี                               ภาคที่ ๓ สงครามครั้งกรุงรัตนโกสินทร์  

 

ไทยรบพม่าครั้งที่ ๔๒

มีความปรากฏในหนังสือพระราชพงศาวดารว่าเมื่อในรัชกาล ที่ ๑ พม่าได้ให้มาขอเป็นไมตรีกับไทยหลายครั้ง เมื่อแรกพระบาทสมเด็จ พระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกเสด็จปราบดาภิเษกได้ ๒ ปี พระเจ้าปดุงก็ให้ มาขอเป็นไมตรีในปีมะโรง พ.ศ. ๒๓๒๗ ที่จริงเวลานั้นไทยยังแค้นพม่า มาก แต่เพื่อไม่ให้เสียราชประเพณี พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก จึงโปรดให้ข้าหลวงออกไปพบกับข้าหลวงพม่าที่ตำบลอันเงียว ริมลำน้ำปิลอก ใกล้ด่านพระเจดีย์สามองค์ทั้ง ๒ ฝ่ายได้เจรกัน แต่ มิได้ตกลงทำทางไมตรี พอรุ่งปีขึ้น ถึงปีมะเส็ง พ.ศ. ๒๓๒๘ พระเจ้าปดุง ก็ยกกองทัพใหญ่เข้ามาตีเมืองไทย ไทยจึงจับได้ว่า ที่พม่าให้มาขอเป็น ไมตรีครั้งนั้นเป็นการล่อลวงจะให้ตายใจ หาได้เป็นความประสงค์โดย สุจริตไม่ เหตุเพราะพระเจ้าปดุงจะยกทัพไปตีเมืองยะไข่ในปีนั้น เกรง ไทยจะยกกองทัพไปตีเมืองพม่าข้างหลัง จึงแกล้งให้เข้ามาขอเป็นไมตรี หน่วงเหนี่ยวไว้ทางข้างนี้ ตั้งแต่นั้นก็ไม่ไว้ใจพม่าอีก ต่อมาครั้นถึงปีฉลู พ.ศ. ๒๓๓๖ พระเจ้าปดุงให้เจ้าเมืองเมาะตะมะมีหนังสือเข้ามาถึงพระยา กาญจนบุรี ชวนไทยเป็นไมตรีอีก จึงโปรดฯ ให้พระยากาญจนบุรีตอบ ไปว่า พม่าได้มาขอเป็นไมตรีครั้งหนึ่งแล้วก็จับได้ว่าเป็นกลอุบาย หาได้ ประสงค์จะเป็นไมตรีโดยสุจริตไม่ ถ้าพม่าประสงค์จะเป็นไมตรีจริง ให้ ทำอย่างไรให้ไทยไว้ใจได้แน่นอนก่อนจึงจะพูดด้วยต่อไป การก็เป็นอัน สงบกันมา ไม่ช้าพม่าก็ยกมาตีเชียงใหม่ ให้เห็นได้ว่าพม่าพูดเป็นอุบายอีก ต่อมาถึงปีจอ พ.ศ. ๒๓๔๕ เสนาบดีเมืองพม่าให้ทูตถือหนังสือ มาถึงพระยากาญจนบุรี ว่าจะขอเป็นไมตรีกับไทย ทรงขัดเคืองว่าพม่า ไม่ได้ขอเป็นไมตรีโดยสุจริต ให้มาขอเป็นไมตรีทีไร ต่อมาไม่ช้าก็ยกกองทัพมารบกวน จะใหเชื่อฟังอย่างไรได้ จึงโปรดฯ ให้มีตราสั่งพระยากาญจนบุรี ให้ขับไล่ทูตพม่าไปเสีย

ต่อมาถึงปลายรัชกาลที่ ๑ เมื่อปีมะโรง พ.ศ. ๒๓๕๑ พระเจ้าปดุง ให้ทูตานุทูต มีพระยาอินทรจักรเป็นหัวหน้า เข้ามาขอเป็นไมตรีอีกครั้งหนึ่ง มีเนื้อความในจดหมายเหตุเก่า[1] เวลานั้นเสนาบดีมีความวิตกอยู่ด้วย พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกทรงพระชราทุพพลภาพอยู่แล้ว จึงปรึกษากันเห็นว่าควรจะรับเป็นไมตรีกับพม่า ว่ามีทูตานุทูตไทย ออกไปถึงเมืองพม่า ได้เข้าเฝ้าพระเจ้าปดุง เมื่อเดือน ๓ แรม ๗ ค่ำ แต่ พม่าไปลงศักราชเป็นปีขาล พ.ศ. ๒๓๔๙ เร็วไป ๒ ปี ข้าพเจ้าสันนิษฐานว่า ครั้งหลังนี้ทำนองพม่าจะได้ทำอย่างไรให้พอพระราชหฤทัยพระบาทสมเด็จ พระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก เช่นแต่งราชทูตที่มีบรรดาศักดิ์เชิญพระราชสาสน์ และเครื่องราชบรรณาการมาถึงกรุงเทพฯ ตามเยี่ยงอย่างโบราณราชประเพณี จึงได้โปรดให้มีราชทูตไทยไปตอบแทนถึงเมืองพม่า ให้ต้องตาม โบราณราชประเพณีบ้าง แต่การที่จะเป็นไมตรีก็หาตกลงกันไม่ จะเป็น เพราะเหตุใดไม่มีหลักฐานที่จะทราบได้ ข้าพเจ้าสันนิษฐานว่า เห็นจะเป็น เพราะฝ่ายไทยจะให้พม่าส่งไทยที่พม่ากวาดต้อนไปกลับคืนมาให้ หรือ มิฉะนั้นจะให้พม่าคืนเมืองตะนาวศรี และเมืองมะริดให้ก่อน จึงจะยอมเป็นไมตรี ข้างพม่าไม่ยอมคืนจึงไม่ได้ทำทางไมตรีกัน


ในปีมะโรง พ.ศ. ๒๓๕๑ นั้นเอง พระเจ้าปดุงก็ให้เกณฑ์กองทัพ จะยกมาตีเมืองไทยอีก เห็นจะเป็นด้วยทูตพม่ากลับไปทูลว่าในเมืองไทย แม่ทัพนายกองที่เข้มแข็งทัพศึก เช่นกรมพระราชวังบวรมหาสุรสิงหนาทเป็นต้นหมดตัวแล้ว พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกก็ทรงชราทุพพลภาพจะเสด็จการพระราชสงครามไม่ได้ดังแต่ก่อน พระเจ้าปดุงเห็นเป็นโอกาส จึงเกิดจะมาตีเมืองไทยให้เป็นเกียรติยศ ลบล้างความอายที่มาแพ้ไทยหลายครั้งแต่ก่อนมา

ความปรากฏในหนังสือพระราชพงศาวดารว่าถึงปลายปีมะโรง พ.ศ. ๒๓๕๑ พระเจ้าปดุงให้อะเติงหวุ่นเป็นแม่ทัพใหญ่ลงมาเกณฑ์คน ตามหัวเมืองพม่าและเมืองมอญข้างใต้ ตลอดลงมาจนถึงเมืองทวาย เป็นจำนวนพล ๔,๐๐๐ ให้ตั้งประชุมทัพที่เมืองเมาะตะมะ แต่ความคิดพม่า ในครั้งนั้นจะยกมาทางไหนหาปรากฏไม่ ปรากฏแต่ว่าเมื่ออะเติงหวุ่นลง มาตั้งรวบรวมกองทัพครั้งนั้นจัดการไม่ดี ผู้คนที่ต้องเกณฑ์หลบหนีคราว ละ ๔๐๐ บ้าง ๕๐๐ บ้าง มัวต้องเที่ยวไล่จับผู้คนที่หลบหนี การประชุมทัพ ไม่พรักพร้อมได้ทันตามกำหนด อะเติงหวุ่นเกรงความผิดจึงวิงวอน เสนาบดีพม่า ให้ช่วยกราบทูลเบี่ยงบ่ายแก่พระเจ้าปดุง เสนาบดีพากันกราบ ทูลว่า เมื่อแต่ก่อนมาไม่ช้านักได้โปรดให้ราชทูตไปเจริญทางพระราชไมตรี กับพระเจ้ากรุงศรีอยุธยา ยังไม่มีเหตุอริอันใดเกิดขึ้นจะยกกองทัพเข้าไป รบพุ่งไทยในเวลานี้จะเกิดข้อครหาให้เสื่อมเสียพระเกียรติยศ ขอให้ทรง พระราชวินิจฉัยเสียก่อน พระเจ้าปดุงก็เห็นชอบด้วย จึงมีรับสั่งให้มีตรา บอกเลิกกองทัพมิให้ยกมา ทำนองในเวลาเมื่อกองทัพยังไม่ปล่อยคนไปหมด พม่าได้ข่าวว่าในเมืองไทยเปลี่ยนรัชกาลใหม่ อะเติงหวุ่นจึงมีใบบอก ย้อนขึ้นไปว่า กองทัพได้เตรียมแล้ว ทุนรอนก็ได้ลงไปเป็นอันมาก ถ้าไม่โปรดให้ เข้ามาตีกรุงศรีอยุธยาจะขอเข้ามาตีหัวเมืองไทยที่ต่อแดนพม่าข้างด้านใต้ เก็บกวาดเอาผู้คนและทรัพย์สมบัติให้คุ้มทุนที่ได้ลงไป พระเจ้าปดุงจึง อนุญาตให้อะเติงหวุ่นยกมาตีหัวเมืองไทยข้างปักใต้ฝ่ายทะเลตะวันตก ด้วยเหตุนี้ถึงเดือน ๑๑ ปีมะเส็ง พ.ศ. ๒๓๕๒ อะเติงหวุ่นจึงให้ แยค่องเป็น นายทัพถือพล ๔,๐๐๐ ยกมาทางเรือ ให้มาตีหัวเมืองฝ่ายทะเลตะวันตกกอง ๑ ให้ดุเรียงสาระกยอเป็นนายทัพถือพล ๓,๐๐๐ ยก มาทางบก มาตี หัวเมืองปักษ์ใต้อีกทาง ๑

ขณะนั้นทางเมืองไทย พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก เสด็จสวรรคต เมื่อเดือน ๙ แรม ๑๑ ค่ำ ปีมะเส็งนั้น พระบาทสมเด็จ พระพุทธเลิศล้านภาลัยเสด็จผ่านพิภพได้ ๒ เดือน พม่าก็ยกกองทัพมา ครั้นใบบอกข่าวศึกเข้ามาถึงกรุงเทพฯ จึงโปรดให้พระยาทศโยธา พระยา ราชประสิทธิ์ เป็นข้าหลวงรีบลงไปเกณฑ์กองทัพเมืองไชยา แล้วให้ยกข้ามแหลมมาลายูไปทางปากพนม ไปช่วยรักษาเมืองถลางก่อน แล้วเกณฑ์กองทัพกรุงเทพฯ ให้พระยาท้ายน้ำเป็นทัพหน้า เจ้าพระยายมราช น้อย ซึ่งคราวหลังได้เป็นเจ้าพระยาอภัยภูธรเป็นแม่ทัพลงเรือไปขึ้นที่เมือง นครศรีธรรมราชเกณฑ์กองทัพเมืองนครฯ และเมืองขึ้นไปช่วยเมืองถลาง อีกทัพ ๑ แล้วให้เกณฑ์กองทัพวังหน้า ให้เจ้าพระยาจ่าแสนยากร บัว เป็นแม่ทัพถือพล ๕,๐๐๐ ยกเดินบกลงไปช่วยเมืองปักษ์ใต้ทัพ ๑ ให้เจ้าฟ้ากรมหลวงพิทักษมนตรีกับเจ้าพระยาพลเทพลงไปรวบรวมพล จัดเป็นกองทัพที่เเมืองเพชรบุรีอีกทัพ ๑ คอยต่อสู้พม่าเผื่อจะยกมาทางด่านสิงขร แล้วให้เกณฑ์คนเข้ากองทัพหลวง ให้สมเด็จพระอนุชาธิราช กรมพระราชวังบวรฯ เป็นจอมพล ทัพนี้เข้าใจว่าเดิมเตรียมสำหรับต่อสู้พม่า ที่จะยกเข้ามาทางด่านพระเจดีย์สามองค์ก่อน ครั้นสืบได้ความแน่ว่าพม่า ไม่ได้ตระเตรียมจะยกมาทางอื่น นอกจากลงไปตีหัวเมืองปักษ์ใต้ฝ่ายตะวันตก จึงโปรดให้กรมพระราชวังบวรฯ เสด็จยกกองทัพหลวงลงไป ทรงบัญชาการ สงครามฃ้างฝ่ายใต้ รวมจำนวนพลที่ยกไปจากกรุงเทพฯ ทุกทัพ เป็นคน ๒๐,๐๐๐ กรมพระราชวังบวรฯ เสด็จยกออกจากกรุงเทพฯ เมื่อ ณ วันอังคารเดือนอ้าย ขึ้น ๑๓ ค่ำ เวลานั้นมรสุมลงเสียแล้ว เสด็จโดย ทางชลมารคได้เพียงเมืองเพชรบุรี[2] แล้วจึงเสด็จขึ้นบกตามกองทัพพระยาจ่าแสนยากร ลงไปทางเมืองชุมพร

ฝ่ายกองทัพพม่า ที่ยกไปตีหัวเมืองฝ่ายทะเลตะวันตก ตีได้เมือง ตะกั่วป่าเมื่อวันอังคาร เดือน ๑๑ ขึ้น ๙ ค่ำ แล้วยกไปตีเมืองตะกั่วทุ่ง ได้อีกเมือง ๑ ด้วย ๒ เมืองนั้นผู้คนพลเมืองน้อย พอกองทัพพม่าไปถึง ผู้คนก็พากันอพยพหลบหนีเข้าป่า ไม่มีผู้ใดต่อสู้ พม่าได้เมืองตะกั่วป่า ตะกั่วทุ่งแล้ว จึงยกข้ามไปเกาะถลาง ขึ้นตั้งค่ายใหญ่อยู่ที่ปากพระ ฝ่ายพระยาถลาง ตั้งแต่รู้ข่าวศึกพม่า ก้บให้บอกเข้ามากรุงเทพฯ แล้วเกณฑ์ กรมการและไพร่พลเข้าประจำรักษาเมืองคอยต่อสู้ข้าศึก พม่ายกขึ้นไปตั้งค่าย เมืองถลางไว้ ๒๕ ค่าย ให้เข้าปล้นเมืองหลายครั้ง พวกเมืองถลางต่อสู้แข็งแรง พม่าตั้งล้อมเมืองอยู่จนแรมเดือน ๑๒ ไม่ได้เมืองจึงคิดอุบายเลิกทัพกลับลงเรือออกจากเกาะถลางไป ทำเหมือนหนึ่งว่าจะกลับไปบ้านเมือง ฝ่ายพระยาถลางกับกรมการ เข้าใจว่าพม่าเลิกทัพกลับไปหมดแล้ว เวลานั้นคนในเมืองถลางถูกพม่าล้อมไว้ ได้ความอดอยาก พระยาถลางจึงปล่อยไพร่พลไปหาเสบียงอาหารตามภูมิลำเนา ฝ่ายพม่าเห็นจะไปซุ่มกองทัพอยู่ที่เกาะยาว อยู่ข้างใต้ไม่ห่างกับเกาะถลางนัก พอถึงเดือนอ้ายก็ยกกองทัพหวนกลับมาที่เกาะถลางอีกครั้งหนึ่ง ขึ้นที่ท่ายามูแขวงเมืองภูเก็ต บ้าง ขึ้นที่ท่าเรือปากพระบ้าง พระยาถลางรู้ว่าพม่ากลับมาอีกก็ตกใจ ให้เรียกไพร่พลกลับเข้ามารักษาเมืองไม่ได้พรักพร้อมเหมือนคราวก่อน แต่ที่เมืองภูเก็ตผู้รักษาเมืองตั้งมั่นอยู่ในค่าย พม่าจึงเข้าล้อมไว้ทั้งค่ายที่เมืองภูเก็ต และที่เมืองถลาง

ฝ่ายพระยาทศโยธา พระยาราชประสิทธิ์ ลงไปเกณฑ์คนเมืองไชยาได้แล้ว ยกข้ามแหลมมาลายูไปทางปากพนม เดินไปถึงปากน้ำพังงา ไปติดขัด ด้วยไม่มีเรือจะบรรทุกกองทัพข้ามไปเกาะถลาง ต้องตั้งพักเที่ยวหาเรืออยู่เพียงนั้น กองทัพเจ้าพระยายมราชไปถึงเมืองนครศรีธรรมราช แล้วสมทบกับกองทัพเจ้าพระยานครฯ ข้างฝ่ายทะเลตะวันตก ก็ไปติดขัด ด้วยเรือไม่พอจะบรรทุกกองทัพไปอย่างเดียวกัน เจ้าพระยายมราชจึง ให้รวบรวมเรือของราษฎร ตามแต่จะหาได้บรรทุกกองพล ๑ ให้พระยาท้ายน้ำรีบยกไปช่วย เมืองถลางก่อน พระยาท้ายน้ำยกไปถึงเกาะชะนัก พบเรือกองทัพพม่าที่ตั้งอยู่เมืองภูเก็ต ทำลองจะมาเที่ยวลาดหาเสบียงอาหาร ได้รบกับพม่าที่ในทะเล เรือพม่าไม่มีปืนใหญ่ด้วยเอาขึ้นไปตั้งที่ค่ายล้อมเมืองภูเก็ตเสียทั้งหมด สู้กองทัพไทยไม่ได้ก็เลยถอยหนี แต่ขณะเมื่อรบกันอยู่นั้นละอองไฟปลิวไปตกในถังดินปืนในเรือพระยาท้ายน้ำ ดินปืนระเบิดถูกพระยาท้ายน้ำกับคนที่ไปในเรือลำนั้นตายเกือบหมดทั้งลำ เรือก็แตกจมลงในทะเล หลวงสุนทรกับหลวงกำแหงที่คุมเรือไปกับพระยาท้ายน้ำ เห็นว่าแม่ทัพเรือถึงอนิจกรรมเสียแล้ว เหลือกำลังที่ยกไปรบพุ่งพม่า ถึงเมืองถลาง ก็ให้เรือแล่นเข้าอ่าวไปทางตะวันออก ไปรวบรวมกัน อยู่ที่ปากน้ำลาวแขวงเมืองกระบี่

ฝ่ายกองทัพพม่าที่ดุเรียง สาระกอคุมมาตีหัวเมืองปักษ์ใต้นั้น ยกมาทีหลัง ตีได้เมืองมะลิวัน เมืองระนอง และเมืองกระบี่แล้ว ก็ยกข้ามแหลมมาลายู มาตีได้เมืองชุมพรอีกทาง ๑ ยังไม่ทันจะตีต่อไปที่อื่น กองทัพไทยก็ยกลงไปถึง กรมพระราชวังบวรฯ มีรับสั่งให้กองทัพพระยาจ่าแสนยากร ยกเข้าตีพม่า รบกันอยู่วันเดียวพม่าก็แตกพ่าย พากันหนีกลับไป ที่หนีไม่ทันถูกกองทัพไทยฆ่าฟัน และจับเป็นได้ก็มาก กองทัพกรมพระราชวังบวรฯ ปราบปรามข้าศึกลงไปจนถึงเมืองตะกั่วป่า ครั้นพม่าแตกหนีไปหมดแล้ว ก็ตั้งกองทัพหลวงรอฟังข่าวทางเมืองถลางอยู่ที่เมืองชุมพร

ฝ่ายแยค่องนายทัพพม่า รู้ว่ากองทัพไทยยกไปช่วยเมืองถลาง เห็นว่ารอช้าจะเสียที จึงแบ่งกำลังที่ตั้งล้อมเมืองถลางมาเพิ่มเติมตีเมืองภูเก็ต ครั้นได้เมืองภูเก็ตแล้วก็รวบรวมกองทัพพม่าไประดมตีเมืองถลาง พระยาถลางกับกรมการต่อสู้เป็นสามารถ แต่กำลังที่รักษาเมืองน้อยกว่าคราวก่อน เพราะเรียกคนไม่ทันดังกล่าวมาแล้ว ต่อสู้รักษาเมืองมาได้ ๒๗ วัน สิ้นเสบียงอาหาร ก็เสียเมืองถลางแก่พม่าเมื่อเดือนยี่ ขึ้น ๘ ค่ำ พม่าเที่ยวให้จับผู้คนพลเมืองทั้งชายหญิงและเก็บริบทรัพย์สมบัติทั้งปวงเอาไป รวบรวมไว้ที่ค่าย แล้วให้เผาเมืองเสีย

ขณะนั้นพอกองทัพพระยาทศโยธา พระยาราชประสิทธฺ์ที่ยกไป จากปากน้ำพังงา และกองทัพเมืองนครศีธรรมราช ซึ่งเจ้าพระยานครฯ น้อย แต่ยังเป็นพระบริรักษ์ภูเบศร์ ผู้ช่วยราชการเมืองคุมไปจากเมืองตรัง และกองทัพแขกมาลายูยกไปช่วยจากเมืองไทรบุรีใกล้จะถึงเกาะทั้ง ๓ ทัพ ชะรอยพม่าจะได้ข่าวอยู่แล้ว ครั้นคืนวันหนึ่งเกิดลมกล้าพม่าอยู่ที่เมืองถลาง ได้ยินเสียงคลื่นกระทบฝั่งสำคัญว่าเสียงปืนกองทัพไทย นายทัพพม่าก็ตกใจ รีบสั่งให้อพยพผู้คนขนทรัพย์สิ่งของลงเรือหนีไปโดยด่วน พม่ายังไปไม่หมดกองทัพไทยก็ไปถึง เข้าล้อมไล่ฟันและจับพม่าที่ยังเหลืออยู่ ได้ผู้คนและทรัพย์สิ่งของคืนมาเป็นอันมาก ต่อมาอีก ๔ - ๕ วัน พม่ากองลำเลียงเสบียงอาหาร คุมเรือเสบียงมาส่งกัน ไม่รู้ว่ากองทัพพม่าหนีไปแล้ว มาถึงเข้า ไทยก็จับได้หมดทั้งเรือและผู้คนเสบียงอาหาร

เมื่อมีชัยชนะพม่าคราวนั้นแล้ว กรมพระราชวังบวรมหาเสนานุรักษ์ ทรงพระราชดำริว่า เมืองถลางพม่าก็เผาเสียแล้ว จะกลับตั้งขึ้นใหม่ก็ไม่เป็นที่ไว้ใจได้ ด้วยกำลังที่จะรักษาบ้านเมืองอ่อนลงกว่าแต่ก่อน ถ้ากองทัพพม่ายกจู่มาอีก ก็จะรักษาไว้ไม่ได้ หัวเมืองจะไปช่วยก็ไม่ทัน เพราะเมืองถลางเป็นเกาะ จึง โปรดให้รวบรวมผู้คนพลเมืองถลางที่หลบหนีอยู่ รับเข้ามาตั้งภูมิลำเนาที่ตำบลลำน้ำพังงา แขวงเมืองตะกั่วทุ่ง จัดการปกครองที่นั่น ยกขึ้นเป็นเมือง ส่วนเกาะถลางนั้น ให้เมืองนครศรีธรรมราชดูแลรักษาต่อมา จนถึงรัชกาลที่ ๓ จึงกลับตั้งเมืองถลางขึ้นอย่างเดิม ส่วนเมืองที่มาตั้งขึ้นชั่วคราวยังมีผู้คน คงอยู่เป็นภูมิลำเนาจึงโปรดให้ตั้งเป็นเมืองพังงาขึ้นอีกเมืองหนึ่ง

อ้างอิง


ประวัติศาสตร์  ประวัติศาสตร์
จถล ๒๓๑๗
 
< ก่อนหน้า   ถัดไป >

News

สมุดภาพเหมืองแร่

Counter

mod_vvisit_countermod_vvisit_countermod_vvisit_countermod_vvisit_countermod_vvisit_countermod_vvisit_countermod_vvisit_countermod_vvisit_countermod_vvisit_counter
mod_vvisit_counterวันนี้4735
mod_vvisit_counterเมื่อวาน3893
mod_vvisit_counterทั้งหมด11016570