Skip to content

Phuketdata

default color
Home arrow News arrow ถลางภูเก็จภูเก็ต arrow ผลงานชาวจีนในภูเก็ต
ผลงานชาวจีนในภูเก็ต PDF พิมพ์ อีเมล์
เขียนโดย ปาณิศรา ชูผล มทศ.   
อาทิตย์, 24 พฤษภาคม 2009

ผลงานชาวจีนในแผ่นดินภูเก็ต

หรินทร์ สุขวัจน์ สรุปจากคำบรรยายของสมหมาย ปิ่นพุทธศิลป์

เมื่อ ๒ เมษายน ๒๕๕๒

 

 

 

                ภูเก็ตเป็นจังหวัดที่มีคนเชื้อสายจีนอาศัยอยู่มากที่สุดในประเทศไทยมาตั้งแต่ราวรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 (2347-2411)  เพราะเกาะน้อยห้าร้อยตารางกิโลเมตรแห่งนี้มีการทำเหมืองเกือบครึ่งหนึ่งของพื้นที่ ซึ่งพัฒนาการการทำเหมืองหาบในช่วงเวลาดังกล่าวต้องใช้แรงงานกุลีจีนจำนวนมาก 

 

 

ในปี 2433 พระบาทสมเด็จฯ พระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาล 5 ได้เสด็จประพาสเมืองภูเก็จ ทรงพระราชนิพนธ์บันทึกความตอนหนึ่งว่า “...เป็นเมืองใหญ่โตแปลกกว่าที่เรามองเห็น 19 ปีมาแล้วมาก แต่เป็นเมืองจีนมีแต่เจ๊กมาก  ตึกรามบางแห่งเก่า บางแห่งใหม่ อยู่ข้างสกปรก  ถนนก็ว่าโทรมพึ่งแต่งขึ้นใหม่ แต่ทั้งแต่งแล้วเช่นนี้ก็ยังเต็มที ฝนตกลงมายังเป็นหล่มเป็นโคลนมาก จะต้องคิดแต่งใหม่ให้เสมออยู่จนได้ ...เหมืองที่ทำอยู่เดี๋ยวนี้ ยื่นบัญชีเป็นเหมืองใหญ่ 62 ตำบล เหมืองน้อย 69 ตำบล รวม 131 เหมือง มีคนทำการอยู่ในเหมืองทั้งสิ้น 8,984 คน มากกว่าที่ตะกั่วป่าเท่าตัวและที่ระนอง 3 เท่าตัว ...

 

             อาจารย์สมหมาย ปิ่นพุทธศิลป์ สมาชิกผู้ร่วมก่อตั้งกลุ่มผู้สนใจประวัติศาสตร์เมืองภูเก็จ รับเป็นองค์ปาฐกบรรยายให้แก่ชาวโรตารี่ทุ่งคาได้รับทราบเรื่องราวเกี่ยวกับคุณูปการของชาวจีนและชาวภูเก็ตเชื้อสายจีนแต่ในอดีตจนปัจจุบัน ณ โรงแรมภูเก็ตเมอร์ลิน เมืองภูเก็ต เมื่อคืนวันที่ 2 เมษายน 2552

นักประวัติศาสตร์นักสร้างพิพิธภัณฑ์ในภูเก็ตเริ่มการบรรยายด้วยการพาผู้ฟังย้อนกลับไปตั้งต้นตั้งแต่กำเนิดโลกเมื่อ 4,560 ล้านปีที่แล้ว เกิดปฐมชีวิตเมื่อ 4,300 ล้านปีที่แล้ว แล้วพัฒนาเป็นมนุษย์ยุคแรกๆ เมื่อ ๗ ล้านปีที่แล้ว จนมีมนุษย์ปักกิ่งที่ขุดค้นพบในประเทศจีน แล้วตั้งข้อสังเกตถึงความพิเศษของชาติพันธุ์อันอารยธรรมสืบทอดยืนยาวและมีจำนวนประชากรมากที่สุดในโลกว่า นักวิทยาศาสตร์ชั้นเยี่ยมยังไม่สามารถจะตรวจสอบในเรื่องภูมิปัญญาของพี่น้องชาวจีนในอดีตกาล เช่นเรื่องการฝังเข็ม  เทคโนโลยีในปัจจุบันยังตามไม่ทัน เค้ารู้ของเค้าอยู่นานแล้ว  บางทีพวกเราก็ละเลย ไปรับรู้ในเรื่องของทางฝ่ายยุโรปมากกว่า จนหลงลืมไปว่าพี่น้องชาวจีนในเอเชียมีอารยธรรมอันยิ่งใหญ่ค่อนข้างจะมาก แล้วก็ส่งผลสืบมาจนปัจจุบัน  

 

 

 

 

อาจารย์สมหมายเล่าถึงความรับรู้ที่เปลี่ยนไปและชี้ให้เห็นบทบาทของภูเก็ตในทางการเมืองยุคนั้นว่า ตอนผมเรียนหนังสือ ผมยังเข้าใจว่าโปรตุเกสคือชาติแรกเมื่อ 500 ปีที่แล้ว ที่เดินทางเข้ามาในแถบนี้ ฮอลันดาตามมา ฝรั่งเศสตามมา แล้วก็อังกฤษ  ผมเข้าใจว่า 4 ชาตินี้เข้าไปที่กรุงเทพฯ และอยุธยาก่อน  แต่เมื่อได้ศึกษาแผนที่แล้ว ภูเก็ตหรือถลางเป็นที่รับแขกบ้านแขกเมืองเป็นแห่งแรกมาตั้งแต่อดีตกาล โปรตุเกส เข้ามา พ.ศ.๒๐๕๔ ในรัชสมัยสมเด็จพระรามาธิบดีที่ ๒  กระทั่งถึงสมัยสมเด็จพระเอกาทศรถ ในปี พ.ศ.๒๑๕๐ มีชาวฮอลันดาเข้ามาเป็นชาติที่ ๒ และในปี พ.ศ.๒๒๒๘ มีการซื้อขายแร่ดีบุกอย่างเป็นล่ำเป็นสันในสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช โดยมีชาวฝรั่งเศสมาตั้งห้างรับซื้อแร่ดีบุกเป็นการผูกขาดแต่เพียงผู้เดียวในจังหวัดภูเก็ต เมื่อต่างชาติเข้ามา เมืองถลางจึงได้ส่งข่าวไปยังเจ้าพญาเมืองนครศรีธรรมราชว่ากลุ่มชาติเหล่านั้น ประสงค์จะเข้าไปยังกรุงศรีอยุธยา สมควรที่จะให้เข้าไปอยุธยาไหม  นี่คือความสัมพันธ์ระหว่างถลางเมืองแรกที่รับแขกเมืองกับนครศรีธรรมราชและเมืองหลวง 

 

 

 

 

ชื่อเกาะถลางมีปรากฏหลักฐานจังค์ซีลอนจากแผนที่เดินเรือของคลอดิอุส ปโตเลมี มาตั้งแต่ พ.ศ.๗๐๐  หลวงจีนผ่านไปสืบพระพุทธศาสนาในลังกา เรียกเกาะถลางเป็นสำเนียงจีนว่า ซิลัน  ภายหลังชาวไทยเรียกเป็นสลางและฉลาง  หลังรัชกาลที่ 3 เมื่อพี่น้องชาวจีนทะลักเข้ามาอยู่ในเกาะภูเก็ตมากแล้วก่อน 150 ปีนั้น ฉลางก็เป็นถลางสืบมา

 

 

องค์ปาฐกยังได้ฟื้นประวัติศาสตร์การเมืองยุคอาณานิคมตะวันตกถึงสาเหตุหนึ่งของการอพยพออกนอกประเทศของชาวจีนว่า ฝิ่นเป็นพืชที่เกิดขึ้นในย่านทะเลเมดิเตอเรเนียน เข้ามาสู่เอเชียโดยแพทย์ชาวอาหรับ แพทย์ใช้ฝิ่นเป็นยารักษาโรค แล้วนำไปขยายพันธุ์เจริญงอกงามในประเทศอินเดีย  เมื่ออังกฤษครอบครองอินเดียแล้วก็บังคับให้อินเดียปลูกฝิ่น แล้วก็เอาฝิ่นไปมอมเมาชาวจีนต่อ  ฮ่องเต้ราชวงศ์ชิงจำเป็นต้องรักษาแผ่นดินจีนรักษาคนจีนไม่ให้เสพติดฝิ่นอันเป็นต้นเหตุให้เศรษฐกิจจีนตกต่ำอย่างมาก จักรพรรดิเต้ากวง(道光) จึงทรงสั่งให้ทำลายฝิ่น เมื่อ พ.ศ.2382  อังกฤษไม่ยอมรับ จึงหาเรื่องข่มเหงรังแกจีนทุกประการ  ในที่สุดชาวจีนก็เหมือนกับผึ้งแตกรัง อพยพจากมาตุภูมิออกไปทั่วโลกตั้งแต่ก่อน 150 ปีที่แล้ว พี่น้องชาวจีนฮกเกี้ยนก็ทะลักเข้ามาไทย ผ่านทางสิงคโปร์ มะละกา ปีนัง แล้วเข้าสู่เกาะภูเก็ต

 

 

หลักฐานอย่างหนึ่งที่ยืนยันว่าชาวจีนเข้ามาอยู่ในภูเก็ตมานานคือคำเรียกแตงโมว่า ลูกแตงจีนปรากฏในหนังสือจดหมายเหตุแม่ปรางลูกสาวหัวปีของท้าวเทพกระษัตรีกว่า 200 ปีมาแล้ว

 

 

 

ความเข้มแข็งและการสืบทอดอารยธรรมของจีนมิได้มาจากปัจจัยของจำนวนประชากรมหาศาล ดินแดนอันกว้างใหญ่ กำลังทางทหาร และวิทยาการที่ก้าวหน้าเท่านั้น หากแต่ความลุ่มลึกในทางปรัชญาและการให้ความสำคัญกับสรรพวิชาอันรวมถึงภูมิปัญญาและจารีตในอดีตทั้งมวล คือเสาหลักแห่งความมั่นคง  

 

 

 

 

อินเดียให้พญานาคเป็นผู้ยิ่งใหญ่ ในจีนก็ให้พญามังกรเป็นผู้ยิ่งใหญ่ จึงให้เกาะภูเก็ตได้ชื่อว่าเป็นเกาะพญามังกร เขาชี้แผนที่ให้ดูว่าส่วนตรงบริเวณแหลมพรหมเทพเป็นหัวพญามังกร ขาหน้าก็คือแถวแหลมพันวาและเกาะสิเหร่  แหลมยามูกับบริเวณ 3 แหลม(ที่เครื่องบินตกที่อ่าวปอ)นั้นเป็นขาหลัง เกาะนี้ก็เลยกลายเป็นพญามังกร

 

 

 

 

พวกเราก็คงจะทราบว่ามังกรตัวนี้มีหัวใจอยู่ตรงบริเวณใกล้โรงเรียนสตรีภูเก็ตที่ทำน้ำประปาติดกันกับเรือนจำ ตรงนี้ซินแสหมอดูบอกว่าหัวใจของพญามังกรอยู่ตรงเรือนจำเป็นสิ่งที่ไม่เป็นมงคล ซินแสหมอดูจึงให้แก้ดวงเมืองด้วยการสร้างถนนต่อจากถนนมนตรีไปเชื่อมถนนดำรงที่หน้าเรือนจำ คือถนนสุทัศน์ให้เป็นหอกเสียบตรึงหัวใจมังกร 

 

 

 

 

อาจารย์สมหมายยังแนะนำให้ผู้สนใจศึกษาชีวิตชาวจีนรากหญ้าในภูเก็ตอ่านหนังสือซินแขะ วรรณกรรมเชิงสารคดีประวัติศาสตร์ชาวจีนภูเก็ตเล่มสำคัญของประสิทธิ ชิณการณ์ ทายาทชาวจีนผู้เป็นขุมทรัพย์วัฒนธรรมเมืองภูเก็จที่ได้ถ่ายทอดชีวิตกุลีจีนโพ้นทะเลที่ต้องดิ้นรนต่อสู้ ความรักขนบธรรมเนียมของคนจีนธรรมดาสามัญแห่งเกาะแก้วอันดามันในอดีตนับร้อยปี ที่ตรึงใจผู้อ่านชาวภูเก็ตโดยเฉพาะผู้ที่มีสำนึกผูกพันกับรากเหง้าวัฒนธรรมของท้องถิ่น

 

 

 

ชาวจีนยังได้ร่วมสร้างบ้านแปงเมืองด้วยสถาปัตยกรรมผสมยุโรปเสมือนพิพิธภัณฑ์กลางเมืองที่เรามักเรียกว่าชิโน-โปรตุกิส(ซึ่งเป็นการบัญญัติศัพท์ขัดกับหลักการนิยามทางวิชาการของสากล ที่ยังเป็นที่ถกเถียงในปัจจุบันว่าควรเรียกชิโน-ยูโรเปียน) ซึ่งหมู่ตึกแถวย่านเมืองเก่าของภูเก็ต ตรงบริเวณทางเดินหลังคาคลุมหน้าอาคารที่เรียกหง่อก่ากี่ หรืออาเขดนั้น อาจารย์ยืนยันว่า เท่าที่ตรวจสอบดูแล้วนะครับ ทั่วทั้งแผ่นดินสยามไม่มีอาเขดที่ไหนจะยาวเท่ากับอาเขดที่มีปรากฏอยู่ที่ถนนถลาง

 

 

ในทางอักษรศาสตร์ ผู้บรรยายได้แสดงหนังสือที่มีความสำคัญยิ่งของชาวบูรพา เรียกว่าสมุดจีน นั่นก็คือวรรณคดีอันยิ่งใหญ่เรื่องรามเกียรติ์ ซึ่งเป็นสำนวนของภูเก็ตเกือบทั้งสิ้น  กล่าวได้ว่าเป็นหนังสือรามเกียรติ์ฉบับแรกฉบับเดียวของโลกที่เป็นภาษาของภูเก็ตในสมุดจีน

 

 

ผลงานของพี่น้องชาวจีนยังปรากฏอยู่ที่วัดพระทอง อำเภอถลาง โดยผู้ที่มาเป็นเจ้าเมืองและสร้างวัดพระทองก็คือพระยาถลางคางเซ้งในสมัยกรุงศรีอยุธยาตอนปลายซึ่งเชื่อว่าเป็นชาวจีนแต้จิ๋ว  ในอดีต วัดพระทองมีการจัดงานวันตรุษจีนทุกปี มีหลักฐานเป็นปริศนาลายแทง ยักสามยักสี่ หามผีไปเผา ผีไม่ทันเน่า หอมฟุ้งตรลบผู้ใดคิดสบ ให้รับที่กบปากแดง ผู้ใดอยากมีแรง รับที่แล่งล่อคอ อธิบายได้ว่ามีการนำรูปเทพเจ้าจีนแกะสลักไม้ไปร่วมขบวนพิธีแห่พระด้วย  ทั้งนี้ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 ครั้งยังทรงดำรงพระอิสริยยศเป็นสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิราวุธ สยามมกุฎราชกุมาร  เคยเสด็จวัดพระทองเมื่อวันที่ 27 เมษายน 2452 และพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลปัจจุบันได้เสด็จฯวัดพระทองเมื่อวันที่ 11 มีนาคม 2502

 

 

 

อาจารย์ผู้มีลมหายใจเข้าออกเป็นประวัติศาสตร์ยังได้เชื้อเชิญผู้ฟังไปชมพิพิธภัณฑ์เหมืองแร่ที่กะทู้ ซึ่งท่านเป็นผู้มีบทบาทสำคัญที่สุดมาตั้งแต่ก่อนมีโครงการตราบจนใกล้เสร็จสมบูรณ์ในปัจจุบัน  โดยชี้ว่าสถานที่แสดงมรดกที่มีค่ามากของภูเก็ตแห่งนี้ก็นับเป็นผลงานของลูกหลานชาวจีนภูเก็ตอีกสิ่งหนึ่ง.

 

 

 

 

ภาพประกอบและอ้างอิงภาพ

 

 จักรพรรดิเต้ากวงhttp://th.wikipedia.org/wiki/%E0%B9%80%E0%B8%95%E0%B9%89%E0%B8%B2%E0%B8%81%E0%B8%A7%E0%B8%87 

สงครามฝิ่น พ.ศ.2382  (ภาพวาดเรือรบจีนถูกทำลายในสงครามฝิ่นครั้งแรก (พ.ศ. 2382 - พ.ศ. 2385)  ในhttp://upload.wikimedia.org/wikipedia/th/1/16/Opiumwar.jpg 

จดหมายเหตุ  แตงจีน ในฉบับพญาเพชรคีรีhttp://culture.pkru.ac.th/~culture/picture/view.php?pid=3997 

จดหมายเหตุ แม่ปรางลูกสาวท้าวเทพกระษัตรี กล่าวถึงลูกแตงจีนhttp://culture.pkru.ac.th/~culture/picture/view.php?pid=194 ภาพฝังเข็มhttp://www.acupuncturelongevity.com/db5/00483/acupuncturelongevity.com/_uimages/AcupunctureMeridians.jpg 

ฝังเข็มhttp://media.photobucket.com/image/%25E0%25B8%2581%25E0%25B8%25B2%25E0%25B8%25A3%25E0%25B8%259D%25E0%25B8%25B1%25E0%25B8%2587%25E0%25B9%2580%25E0%25B8%2582%25E0%25B9%2587%25E0%25B8%25A1/i-m-nobody/20050725134710.jpg 

พระทองhttp://culture.pkru.ac.th/~culture/picture/view.php?pid=417 

กล้องสูบฝิ่นhttp://www.phuketdata.net/main/index.php?option=com_easygallery&act=photos&cid=3407&Itemid=26      

แก้ไขล่าสุดเมื่อ ( อังคาร, 09 มิถุนายน 2009 )
 
< ก่อนหน้า   ถัดไป >

News

สมุดภาพเหมืองแร่

Counter

mod_vvisit_countermod_vvisit_countermod_vvisit_countermod_vvisit_countermod_vvisit_countermod_vvisit_countermod_vvisit_countermod_vvisit_countermod_vvisit_counter
mod_vvisit_counterวันนี้4761
mod_vvisit_counterเมื่อวาน3893
mod_vvisit_counterทั้งหมด11016596