Skip to content

Phuketdata

default color
Home arrow News arrow ถลางภูเก็จภูเก็ต arrow อันดามันเชื่อมอ่าวไทย
อันดามันเชื่อมอ่าวไทย PDF พิมพ์ อีเมล์
เขียนโดย ปาณิศรา ชูผล มทศ.   
ศุกร์, 22 พฤษภาคม 2009
 
ย่ำรอยว่าที่เมืองท่ามรดกโลก ปริศนาเส้นทางลัดอันดามันถึงอ่าวไทย
โดย ASTVผู้จัดการออนไลน์22 พฤษภาคม 2552 07:47 น.

เส้นทางข้ามคาบสมุทรตะกั่วป่า-อ่าวบ้านดอน
เส้นทางคาบสมุทรฝั่งอันดามันบรรจบอ่าวไทย เป็นที่กล่าวโจษขานมานาน ว่า เป็นเส้นทางการเดินเรือที่ยิ่งใหญ่ของโลกแห่งหนึ่ง และมีอดีตที่รุ่งโรจน์ อันปรากฏด้วยหลักฐานทางประวัติศาสตร์ที่ขุดค้นพบ ซึ่งมีที่มาหลากหลาย ทั้งเครื่องถ้วยเปอร์เซีย เครื่องเคลือบจากเมืองจีนอายุกว่าพันปี เทวรูปสัญลักษณ์สำคัญของการเผยแผ่ศาสนาจากอินเดีย รวมถึงลูกปัดที่บ่งบอกถึงความเป็นเมืองท่าที่มีการติดต่อค้าขายที่เจริญรุ่งเรืองในย่านนี้
 
http://www.norsorpor.com/ข่าว/n1487599/ย่ำรอยว่าที่เมืองท่ามรดกโลก%20ปริศนาเส้นทางลัดอันดามันถึงอ่าวไทย
 
 

 
 
http://www.norsorpor.com/ข่าว/n1487599/ย่ำรอยว่าที่เมืองท่ามรดกโลก%20ปริศนาเส้นทางลัดอันดามันถึงอ่าวไทย
 
คลิกที่ภาพเพื่อดูขนาดใหญ่ขึ้น
ลูกปัดหินและแก้วจากทุ่งตึกปัจจุบันอยู่ในครอบครองของเอกชน

เทวรูปพระนารายณ์ซึ่งพบที่เขาพะเหนอ

พระนารายณ์ที่เขาศรีวิชัย อ.พุนพิน จ.สุราษฎร์ธานี

ร.อ.บุณยฤทธิ์ ฉายสุวรรณ นักโบราณคดีสำนักที่ 15 ภูเก็ต

ป่าชายเลนบริเวณปากแม่น้ำตะกั่วป่า

ปากแม่น้ำตะกั่วป่าปัจจุบันกลายเป็นจุดพักเรือประมง และต้อนรับนักท่องเที่ยว


      

       อย่างไรก็ตาม เส้นทางประวัติศาสตร์เส้นทางนี้ยังคงเต็มไปด้วยปริศนา ซึ่งบรรดานักโบราณคดีกำลังเร่งศึกษาหาข้อมูลถึงความเชื่อมโยงของเส้นทางและเมืองท่าต่างๆ จากปากแม่น้ำตะกั่วป่า ฝั่งอันดามัน เรื่อยไปจนถึงปากอ่าวบ้านดอนที่ทะลุชายฝั่งอ่าวไทย เส้นทางสำคัญไปประเทศจีนและอินเดีย
       
       **อดีตเมืองท่าสู่เส้นทางมรดกโลก
       
       เกรียงไกร สัมปัชชลิต อธิบดีกรมศิลปากร บอกสาเหตุที่ต้องมีการตามรอยเส้นทางการค้าคาบสมุทรนั้น เพราะเป็นที่เชื่อได้ว่าจะต้องมีเส้นทางการค้าโบราณแหล่งต่างๆ ที่ตัดผ่านไปถึงประเทศมาเลเซีย กรมศิลปากรจึงได้เริ่มต้นที่เส้นทางการค้าข้ามคาบสมุทรก่อนเส้นทางอื่น ซึ่งหากประเทศไทยสามารถสำรวจและขุดค้นรวมทั้งพิสูจน์เส้นทางที่ตัดผ่านจากอันดามันสู่อ่าวไทยได้อย่างแน่ชัดแล้ว มีความเป็นไปได้ว่าเส้นทางการค้าที่มีอายุกว่าพันปีนี้จะขอขึ้นเป็นมรดกโลกอีกแห่งหนึ่งของไทย และเชื่อว่านี่จะเป็นตัวแปรสำคัญในการไขปริศนาที่ว่า ศูนย์กลางของอาณาจักรศรีวิชัยอยู่ที่ใดกันแน่ระหว่าง ภาคใต้ของไทย หรือประเทศมาเลเซีย
       
       “จากการศึกษาเมืองท่าในสุราษฎร์ธานีถึงประเทศมาเลเซียจะทำให้เราจะมีคำตอบเกี่ยวกับอาณาจักรศรีวิชัยที่ชัดเจนมากขึ้น การร้อยเรียงเรื่องดังกล่าวอาจจะเป็นสัญญาณที่ดีหากจะขอขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกเชื่อมโยง 2 ประเทศ ซึ่งจะมีแต่ข้อดีทั้งเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างประเทศและการอนุรักษ์มรดกทางวัฒนธรรมร่วมกัน” อธิบดีกรมศิลปากร บอกอย่างมีความหวัง
       
       **ย่ำรอยอดีตแห่งเมืองท่าเก่า
       
       ร.อ.บุณยฤทธิ์ ฉายสุวรรณ นักโบราณคดี หัวหน้ากลุ่มโบราณคดีสำนักศิลปากรที่ 15 ภูเก็ต ทำหน้าที่เล่าย้อนถึงอดีตดินแดนภาคใต้ของไทยว่า เส้นทางเมืองท่าในภาคใต้มีเรื่องราวยาวนานนับ 2,000 ปีมาแล้ว โดยในระยะเริ่มต้นความรู้ด้านเส้นทางเดินเรือตลอดจนทิศทางลมของชาวเรือยังไม่แน่นอน ภูเขาทอง จ.ระนอง เนินเขาเล็กๆ ที่ซ่อนตัวหากจากฝั่งทะเลลึกเข้าไปในแผ่นดิน จึงเป็นจุดเมืองท่าแห่งแรกที่มีหลักฐานแสดงให้เห็นถึงความรุ่งเรืองของฝั่งอันดามัน ลูกปัดแก้ว และเครื่องเคลือบจากลุ่มน้ำคงคาในอินเดีย
       
       จากนั้นราวพุทธศตวรรษที่ 13 ชาวเรือพัฒนาการเรียนรู้ลมมรสุมที่แน่นอน ทำให้เกิดท่าเรือแห่งใหม่ ภูเขาทองจึงเริ่มได้รับความนิยมลดลง โดยมีเมืองท่าใหม่คือ ทุ่งตึก จ.พังงา ซึ่งตั้งอยู่บริเวณปากแม่น้ำตะกั่วป่า และเป็นทำเลทองที่สามารถหลบลมตะวันออกเพื่อจอดพักเรือและประกอบพิธีกรรมทางศาสนาได้
       
       “สิ่งที่บอกว่าทุ่งตึกเคยรุ่งเรืองมากคือมีเทวสถานที่ประดิษฐานเทวรูปพระนารายณ์ และเจอโบราณสถานอีก 8 แห่ง และพบสินค้าฟุ่มเฟือยของชนชั้นสูง เช่น โถแก้วที่ทรงคอคอดคาดว่าน่าจะใส่น้ำหอม เครื่องถ้วยจีนสมัยราชวงศ์ถัง ลูกปัดแก้วที่หาได้ยากและสวยงามที่สุดในประเทศไทย หากดูจากสิ่งที่เราพบบอกได้ว่าแถบนี้เคยเป็นจุดพักเรือที่สำคัญและมีชุมชนขนาดใหญ่อาศัยอยู่”
       
       ร.อ.บุณยฤทธิ์ บอกอีกว่า ทุ่งตึก หรือปากแม่น้ำตะกั่วป่าที่ถูกค้นพบนั้นเป็นจุดเริ่มต้นที่เหมาะสมที่สุดที่จะเป็นเส้นทางถ่ายสินค้าข้ามคาบสมุทรจากอันดามันออกปากอ่าวไทยในขณะนั้นโดยไม่ต้องอ้อมเรือไกลไปถึงช่องแคบมะละกา จึงมีการขนถ่ายสินค้าผ่านลำเรือเล็กและล่องไปตามแม่น้ำซึ่งเป็นวิธีการหลบเลี่ยงกลุ่มโจรสลัดที่ชุกชุม
       
       “ความเป็นไปได้ของเส้นทางตะกั่วป่า ถึงอ่าวบ้านดอนมีค่อนข้างสูงเพราะเป็นเส้นทางที่มีหลักฐานทางโบราณคดีรองรับและโดยส่วนใหญ่เป็นโบราณวัตถุและโบราณสถานที่อยู่ร่วมสมัยเดียวกันชัดเจนคืออยู่ในราวพุทธศตวรรษที่ 13-14 ทั้งหมดต่างจากเส้นทางอื่นๆ ที่เคยขุดสำรวจ” หัวหน้ากลุ่มโบราณคดีภูเก็ต ยืนยัน
       
       **ไขปริศนาอดีต
       
       เพื่อพิสูจน์คำบอกเล่าเราได้เดินทางตามเส้นทางจากปากแม่น้ำตะกั่วป่าฝั่งอันดามันตามเส้นทางตัดข้ามเพื่อออกไปเมืองท่าอีกแห่งหนึ่ง สิ้นสุด ณ อ่าวบ้านดอน เมืองสุราษฎร์ธานี ที่นักโบราณคดีบอกว่าพบจุดพักเรือ ได้แก่ เขาพะเหนอ จุดตรงข้ามกับทุ่งตึก บริเวณที่พบเทวรูปพระนารายณ์ที่มีความสมบูรณ์งดงามมากองค์หนึ่ง
       
       นอกจากนี้ ในบริเวณต้นแม่น้ำตะกั่วป่าจุดที่คลองเหล และคลองรมณีย์ไหลมาบรรจบกันไม่ไกลจากทุ่งตึกมากนัก เนินเขาที่ชื่อว่าเขาเวียงคาดว่าจะเป็นจุดพักถ่ายสินค้าที่สำคัญอีกจุดหนึ่ง เนื่องจากพบเทวรูปพระนารายณ์อีก 1 องค์ โดยมีหลักศิลาจารึกหลักที่ 26 ด้วย
       
       “ตามเส้นทางของการเดินทางในอดีตนั้นเป็นที่น่าสังเกตว่าจุดพักเรือหรือที่ตั้งเทวสถานนั้นส่วนใหญ่เป็นเทวรูปพระนารายณ์ ควนพุนพิน จ.สุราษฎร์ธานี ที่ตั้งอยู่ใกล้ลุ่มน้ำพุมดวงและแม่น้ำตาปี ซึ่งพบพระพิมพ์ดินดิบ และเหรียญเงินอาหรับ พ.ศ.1310 เพิ่มเติมด้วย โดยจุดสิ้นสุดการถ่ายโอนสินค้า ณ แหลมโพธิ์ หรืออ่าวบ้านดอน เพื่อล่องทะเลต่อไปในอ่าวไทย”
       

       สมฤทธิ์ ลือชัย นักวิชาการอุษาคเนย์ สรุปถึงความสำคัญของเส้นทางข้ามคาบสมุทร ว่า สาเหตุที่เส้นทางตะกั่วป่าถึงอ่าวบ้านดอนมีความสำคัญเป็นอย่างยิ่งจนถึงขั้นเป็นเมืองท่าที่สำคัญของโลกนั้น เพราะเส้นทางข้ามคาบสมุทรเส้นนี้น่าจะถูกควบคุมด้วยอำนาจทางการเมืองโดยเมืองไชยา ซึ่งแผ่อำนาจไพศาลด้วยอาณาจักรศรีวิชัย ซึ่งต่อมาเส้นทางการค้านี้เป็นตัวแปรสำคัญเพื่อใช้อธิบายการก่อเกิด ความรุ่งเรือง ตลอดจนความเสื่อมถอยของเมืองไชยา
       
       ทั้งนี้ อธิบดีกรมศิลปากร เชื่อว่า การขุดค้นเส้นทางข้ามคาบสมุทรของสำนักโบราณคดีที่ 15 ภูเก็ต จะทำให้คนในท้องถิ่นสนใจและเริ่มหันมาเรียนรู้ ตลอดจนเห็นความสำคัญของการอนุรักษ์โบราณสถานและโบราณวัตถุในแต่ละท้องที่ มีความภูมิใจในท้องถิ่น เข้าใจในความรู้ดั้งเดิมมากขึ้น ตลอดจนใช้ความคิดสร้างสรรค์ต่อยอดและพัฒนาเศรษฐกิจบนพื้นฐานวัฒนธรรม
       
       “เราไม่จำเป็นต้องอยู่กับอดีตตลอดไป แต่เราจำเป็นต้องศึกษาอดีตเพื่อนำมารับใช้ปัจจุบันและนำมาขับเคลื่อนและผลักดันอนาคต” อธิบดีกรมศิลปากร ทิ้งท้าย
       
       ..ถึงตรงนี้ คงต้องบอกว่ายังมีปริศนาอีกมากมายที่รอการค้นพบ ภายในหุบเขาลูกเล็กอีกนับไม่ถ้วนที่อาจซุกซ่อนตัวห่างจากชายทะเล รอเพียงผู้เสาะแสวงหาเรื่องราวมาบอกเล่ามายังสู่คนปัจจุบัน

http://www.norsorpor.com/ข่าว/n1487599/ย่ำรอยว่าที่เมืองท่ามรดกโลก%20ปริศนาเส้นทางลัดอันดามันถึงอ่าวไทย
 
< ก่อนหน้า   ถัดไป >

News

สมุดภาพเหมืองแร่

Counter

mod_vvisit_countermod_vvisit_countermod_vvisit_countermod_vvisit_countermod_vvisit_countermod_vvisit_countermod_vvisit_countermod_vvisit_countermod_vvisit_counter
mod_vvisit_counterวันนี้4644
mod_vvisit_counterเมื่อวาน3893
mod_vvisit_counterทั้งหมด11016478