Skip to content

Phuketdata

default color
Home arrow News arrow พมร.กะทู้ arrow ส่อง 'แร่ในหิน' มหัศจรรย์ธรรมชาติสร้าง!!
ส่อง 'แร่ในหิน' มหัศจรรย์ธรรมชาติสร้าง!! PDF พิมพ์ อีเมล์
เขียนโดย ปาณิศรา ชูผล มทศ.   
ศุกร์, 13 มิถุนายน 2008

ส่อง 'แร่ในหิน' มหัศจรรย์ธรรมชาติสร้าง!!

 


 
 
 หลายครั้งที่ธรรมชาติสร้างความประหลาด ใจให้กับผู้ที่พบเห็น ซึ่งในความแปลกแตกต่างไปจากสิ่งที่เห็นทั่วไปยังกลายเป็นประเด็นกล่าวขานมีความเคลื่อนไหวให้ติดตาม
 
จากกรณีพบหินแปลกที่เรียกกันว่า หินติดไฟ ซึ่งเมื่อนำขึ้นพ้นจากน้ำสัมผัสกับอากาศจะเกิดเป็นเปลวเพลิงลุกไหม้สร้างความแปลกใจจึงต้องแช่น้ำไว้ตลอด นอกจากนี้ยังมีรายงานสันนิษฐานถึงการ ติดไฟเนื่องจากสารประเภทฟอสฟอรัสตามที่มีข่าวปรากฏในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา
 
“ฟอสฟอรัสนั้นติดไฟง่าย ซึ่งฟอสฟอรัสสามารถจะเป็นหินได้ไหมสามารถเป็นไปได้เพราะจากคำจำกัดความของหิน แม้จะมีแร่ตั้งแต่หนึ่งชนิดขึ้นไปแล้วรวมกันเป็นก้อนเป็นมวลของแข็งก็เรียกว่า หิน”
 
ดร.กฤษณ์ วันอินทร์ อาจารย์ภาควิชาวิทยาศาสตร์พื้นพิภพ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์เริ่มบอกเล่าพร้อมให้ความรู้ถึงเรื่องหินและแร่ การศึกษาทางด้านธรณีวิทยาซึ่งมีความหมายความสำคัญว่า จากการที่ได้ตามดู ข่าวเช่นกันเท่าที่ทราบมีการพิสูจน์ก็คิดว่าน่าจะเป็นฟอสฟอรัส เพราะคุณสมบัติบางประการของฟอสฟอรัสติดไฟ แต่หากจะให้ชัดเจนว่าหินดังกล่าวเป็นแร่ชนิดใดคงจะต้องวิเคราะห์กันโดยตรง 
 
ฟอสฟอรัสพบได้หลายที่เกิดได้ทั้งจากสารอินทรีย์และสารอนินทรีย์ จากมูลค้างคาว มูลนก ฯลฯ อีกทั้งมีองค์ประกอบอยู่ในหินอย่างในทะเล ในน้ำจืดมาจากซากพืชซากสัตว์ ซาก กระดูก ซึ่งเหล่านี้มีฟอสฟอรัสอยู่และเมื่อรวมตัวอยู่ในน้ำก็กลายเป็นหินหรือแร่ได้
 
เท่าที่เคยได้ยินทางภาคเหนือจะเป็นกระเปาะเล็ก ๆ เป็นแร่ฟอสฟอรัสที่อยู่ในหินหรืออาจจะพบในมูลค้างคาวบริเวณตามพื้นถ้ำ แต่ฟอสฟอรัส ที่อยู่ในองค์ประกอบแร่จะมีอยู่ในรูปฟอสเฟตคือเป็นฟอส ฟอรัสรวมกับออกซิเจน ส่วนใหญ่นำมาใช้ทำปุ๋ย ทำพวกชนวนติดไฟ อย่างเช่นไม้ขีด เป็นต้น
 
อย่างที่กล่าวมา หินเป็นของแข็งที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติเป็นสารผสมที่เกิดจากการเกาะตัวกันแน่นของแร่ตั้งแต่หนึ่งชนิดขึ้นไป ในการจำแนกหินที่อยู่บนเปลือกโลกไม่ว่าจะเป็นเมืองไทยหรือทั่วโลกนั้นจะไม่แตกต่างกันซึ่งในทางธรณีวิทยาแบ่งออกเป็น 3 ลักษณะใหญ่คือ หินอัคนี หินตะกอน และหินแปร ซึ่งแต่ละประเภทประกอบด้วยหินชนิดต่าง ๆ เป็นจำนวนมาก
 
“หินอัคนี เป็นหินชนิดแรกที่เกิดขึ้นในโลกซึ่งแบ่งตามลักษณะของการเกิดออกเป็น สองแบบ คือ แมกมา ซึ่งถ้าเย็นตัวในใต้โลกเรียกว่า พลูโตนิคร็อค หรือหินอัคนีระดับลึก อย่างเช่น หินแกรนิต อีกอันหนึ่งของหินอัคนีคือหินภูเขาไฟ ซึ่งตัวนี้เกิดจากแมกมาที่ปะทุขึ้นมาบนโลกหรือที่เรียกกันว่าลาวา แล้วเกิดการเย็นตัวกลายเป็นหินภูเขาไฟ อย่างที่ได้เห็นกันก็คือ บะซอลต์ ซึ่งเนื้อหินค่อนข้างละเอียด มีสีค่อนข้างเข้ม ที่พบในประเทศไทย อย่างพบใน อ.ลำนารายณ์ จ.ลพบุรี ทางภาคตะวันออกอย่างที่ จ.จันทบุรี ซึ่งหินชนิดนี้จะพบพลอยชนิดต่าง ๆ ได้ด้วย”
 
ขณะที่ หินตะกอน เกิดจากการทับถมของสสารต่าง ๆ ซึ่งสลายตัวมาจากหินหรือจากสิ่งมีชีวิตสามารถจำแนกตามลักษณะองค์ประกอบของตะกอนที่สามารถมองเห็นได้ด้วยตาเปล่า ได้แก่ประเภทที่เห็น (คลาสติก) เป็นเม็ดอย่างหินทรายหินกรวด กับอีกประเภท เป็นหินตะกอนเนื้อประสาน (นอนคลาสติก) ซึ่งถ้าให้เห็น ภาพอาจนึกถึงน้ำเชื่อมหรือเกลือที่ค่อย ๆ แข็งตัวเป็นผลึก อย่างเช่นพวกหินปูน หินดินดาน เป็นต้น

 
 หินแปรในหินประเภทนี้เกิดจากแรงอัดตัวของเปลือกโลก แปรสภาพจากหินอัคนี หินตะกอนทำให้เกิดหินชนิดนี้ขึ้น ซึ่งมีลักษณะคดโค้งมีริ้ว ลาย รวมทั้งไม่มีริ้วลาย อย่างที่ทราบกันได้แก่ หินอ่อน หินชนวน หินควอร์ตไซต์ ฯลฯ การศึกษาเรื่องหินจึงมีความสัมพันธ์ไปถึงการสำรวจแหล่งแร่ และ ปิโตรเลียม อีกทั้งการศึกษาเรื่องหิน อายุของหินก็เพื่อจะได้ทราบถึงประวัติทางธรณีวิทยาทราบถึงภัยพิบัติที่เกิดขึ้นในอดีตซึ่งอาจเกี่ยวข้องกับแผ่นดินไหว สึนามิก็ได้
 
ในความน่าสนใจของหินที่มีอยู่ในเมืองไทยมีหลายยุค อย่างหินที่มีอายุเก่าสุดในโลกที่เรียกกันว่า หินมหายุคพรีแคมเบียน ซึ่งก็มีพบในเมืองไทย
 
“หินในยุคนี้เป็นยุคกำเนิดโลกตามที่มีการคาดการณ์ไว้มีอายุประมาณมาก กว่า 540 ล้านปี พบที่อุทยาน แห่งชาติลาง สาน จังหวัดตาก ดอยอินทนนท์เส้นทางน้ำตกแม่กลางไปดอยอินทนนท์ เส้นฮอดออบหลวง ทางด้านตะวันตกของเชียงใหม่ก็พบ บริเวณเขื่อนภูมิพล จังหวัดกาญจนบุรี ภาคใต้ก็พบอยู่มากอย่าง อ.หัวหิน อ.ปราณบุรี อ.สิชล ซึ่งในความน่าสนใจนั้นนอกจากอายุที่เก่าแก่ หินพวกนี้มักจะมีแร่ธาตุที่หายากซึ่งอาจมีอยู่ในตัวหินและนอกตัวหินพื้นที่ข้างเคียง”
 
นอกจากมหายุคพีแคมเบียนยุคที่มีความเก่าแก่ที่พบในประเทศไทย อีกหลายสถานที่ที่เป็นสถานที่พักผ่อนท่องเที่ยวยังพบหินที่มีอายุมากไม่แพ้กัน อย่างบริเวณเกาะตะรุเตา พบหินยุคแคมเบียน อายุประมาณ 490-540 ล้านปี ซึ่งบริเวณนี้พบฟอสซิลไตโรไบท์ที่หายากร่วมด้วย
 
ยุคไดโนเสาร์ตั้งแต่เริ่มจวบถึงยุคสูญพันธุ์ ทางธรณีวิทยาคาดว่าน่าจะมีอายุอยู่ที่ประมาณ 248-65 ล้านปีที่ผ่านมา ซึ่งหินที่พบในยุคไทรแอสซิกได้แก่หินตะกอนบางส่วนในจังหวัดลำปาง หินแกรนิตทางภาคตะวันตกของประเทศ ยุคจูราสิค ครีเตเชียสพบในหลายสถานที่ทางภาคอีสาน อย่างหมวดหินทราย พระวิหาร พบที่ภูเวียง อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ ภูเก้า จ.หนองบัวลำภู เป็นต้น
 
ส่วนหินยุคที่มีอายุประมาณ 1.8-65 ล้านปีที่ผ่านมาเรียกว่า ยุคเทอร์เชียรี ในยุคนี้ทางธรณีวิทยาที่น่าสนใจ จะเป็น แหล่งน้ำมัน แหล่งถ่านหิน ฯลฯ หินในยุคปัจจุบันเรียกกันว่า ยุคควอเทอร์นารี มีอายุประมาณ 1.8 ล้านปีถึงปัจจุบันซึ่งในการกำเนิดหินขึ้นอยู่กับองค์ประกอบหลายอย่างเช่น เวลา สถานที่ สิ่งแวดล้อม รวมทั้งองค์ประกอบของแร่ มารวมเข้าด้วยกันมีบางกรณีพบว่า แร่อยู่รวมกันมากกว่าสองชนิดซึ่งเวลาอยู่ด้วยกันนั้นไม่มีพิษ แต่ถ้าหลุดออกจากกันเมื่อไหร่จะมีพิษทันที 
 
ดังนั้นหากมีความจำเป็นต้องการเปลี่ยนแปลงลักษณะภูมิประเทศโดยการขุด เจาะหรือเปิดหน้าดินตามบริเวณที่  มีหินหรือแร่ธาตุอยู่เพื่อจะนำ  พื้นที่นั้นไปใช้ในกิจกรรมต่าง ๆ อย่างใช้พื้นที่ทำการเกษตร ปลูก สร้างอาคารที่พักอาศัย ฯลฯ ควรศึกษาธรณีวิทยาสิ่งแวดล้อมก่อนเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดภัยอันตรายต่าง ๆ ที่จะเกิดขึ้นมาในอนาคต
 
นอกจากนี้ในการศึกษาหินอย่างเดียวก็อาจยังไม่พอควรศึกษาถึงโครงสร้างทางธรณีวิทยาร่วมด้วยอย่างช่วงเวลานี้ซึ่งมีข่าวภัยพิบัติทางธรรมชาติให้ติดตาม
 
“การมีความรู้ความเข้าใจทางธรณีวิทยา ซึ่งเน้นการศึกษาทางด้านหิน โครงสร้างของหิน แร่ แหล่งแร่ แหล่งน้ำมันรวมไปถึงปัจจุบันศึกษาทางด้านโบราณคดี พิบัติภัยทางธรรมชาติ ซึ่งเหล่านี้มีความสำคัญ อย่างบริเวณที่ราบเชิงเขา แนวรอยเลื่อนเมื่อเกิดฝนตกหนักฟ้าคะนอง แผ่นดินไหวก็อาจส่งผลกระทบถึงได้ จึงควรมีความรู้ความเข้าใจปรับตัวอยู่ร่วมกับธรรมชาติอย่างสมดุล”
 
ในความน่าสนใจของหินที่ปรากฏความงามตามธรรมชาติ หลากหลายสถานที่ยังเป็นที่รู้จักกล่าวขานเป็นจุดหมายการพักผ่อนท่องเที่ยว อย่าง ถ้ำหินปูน หินงอกหินย้อย ภูเขา สุสานหอยที่ปรากฏซากฟอสซิลสิ่งมีชีวิต ฯลฯ นอกจากนี้ยังมีความหมายต่อการเกษตรกรรม ซึ่งในสภาพพื้นที่ที่มีหินต่างกันก็จะปลูกพืชได้ต่างกัน
 
นอกจากนี้ในความงามของหินหลากหลายชนิดไม่ว่าจะเป็น หินอ่อน หินแกรนิต ฯลฯ ยังนำมาใช้ประโยชน์ทั้งทางตรงและทางอ้อม ในภาคอุตสาหกรรมใช้ในการก่อสร้าง ทำเฟอร์นิเจอร์ ถมถนน ฯลฯ ส่วนประโยชน์ทางอ้อมในหินอาจมีแหล่งแร่อยู่อย่าง ทองคำ พลอย ดีบุก โปแตส ฯลฯ
 
ท้ายที่สุดไม่ว่าจะเป็นหินหรือแร่ต่างก็มีความสวยงามในตัว เห็นได้ว่าหินบางชนิดแม้ดูเหมือนจะไม่มีมูลค่ามีราคา แต่มีความหมายต่อจิตใจมีประวัติศาสตร์ ซึ่งอาจผูกโยง ไปถึงเรื่องราวของความเชื่อ  ก่อเกิดความศรัทธา มีกำลังใจซึ่งหินก้อนหนึ่งแทนความหมายได้มากมาย และบางครั้งในความหมายนี้อาจมีอายุมากกว่าช่วงอายุคน ๆ หนึ่งด้วยซ้ำไป อาจารย์นักธรณีวิทยากล่าว  ทิ้งท้าย
 
จากหินที่มีเกิดขึ้นมายาวนานและถูกนำมาใช้เป็นเครื่องมือเครื่องใช้ ตลอดจนเป็นสิ่งของมีค่าแลกเปลี่ยนกันและกันมา ทั้งหมดเหล่านี้ต่างเกิดขึ้นจากธรรมชาติซึ่งเป็นผู้สร้างทรัพยากรธรรมชาติที่ครบพร้อมด้วยคุณค่าความหมายทั้งการใช้ประโยชน์ การท่องเที่ยวซึ่งฝากความประทับใจไว้ให้ ชื่นชม มหัศจรรย์ที่ธรรมชาติสร้างเหล่านี้จึงควรค่าแก่การรักษาไว้ให้ยืนยาว.
พงษ์พรรณ  บุญเลิศ
นสพ.เดลินิวส์ วันที่ 11 มิถุนายน 2551
 http://www.dailynews.co.th/web/html/popup_news/Default.aspx?Newsid=166661&NewsType=1&Template=1
 
< ก่อนหน้า   ถัดไป >

News

สมุดภาพเหมืองแร่

Counter

mod_vvisit_countermod_vvisit_countermod_vvisit_countermod_vvisit_countermod_vvisit_countermod_vvisit_countermod_vvisit_countermod_vvisit_countermod_vvisit_counter
mod_vvisit_counterวันนี้2075
mod_vvisit_counterเมื่อวาน3893
mod_vvisit_counterทั้งหมด11013909