Skip to content

Phuketdata

default color
Home arrow News arrow ถลางภูเก็จภูเก็ต arrow มทศ.จห. 1 จดหมายซื้อผ้า
มทศ.จห. 1 จดหมายซื้อผ้า PDF พิมพ์ อีเมล์
เขียนโดย ปาณิศรา ชูผล มทศ.   
พุธ, 26 มีนาคม 2014
จดหมายเหตุถลาง  ศวภ. ๑
Click at the image to view full size
ฝากรูป

คำอ่าน ๐ วัน (ต้นฉบับชำรุดอ่านไม่ได้) ขึ้น ๖ ค่ำ เดือน ๗ ปีวอก อัฐศก ข้าพเจ้านายญวงผู้ผัว อำแดง จิกผู้เมีย ทำหนังสือมารับผ้าขาว ๓ หัว ผ้ามะลิลา ๔ หัว ยาฝิ่น ๒ ชั่ง ค่าเป็นดีบุก ๔ แผ่น สัญญาถึงเดือน ๕/๖ จะเอาดีบุก ๔ แผ่น มาส่งให้แก่ท่านราชโตะเมื่อนั้น ถ้ามิได้ส่งให้ไซร้ ขอให้เกาะจำเร่งรัดเอาตามหนังสือนี้เถิด ข้าพเจ้าขีดแกงไดให้ไว้เป็นสำคัญ   
วิเคราะห์ ๐ วันขึ้น ๖ ค่ำ เดือน ๗ ปีวอก อัฐศก อยู่ในปีจุลศักราช ๑๑๓๘ ตรงกับ พ.ศ. ๒๓๑๙ ก่อนเกิดสงครามพม่ากับถลาง ๙ ปี   
นายญวงเจ้าของหนังสือฉบับนี้ คงจะต้องเป็นคหบดีสำคัญคนหนึ่งของเมืองถลางในยุคนั้น จึงได้รับอนุญาตจากเจ้าเมืองถลางให้รับช่วงทำการค้าขายกับพ่อค้าต่างประเทศได้   
สินค้าที่นายญวงต้องการ นอกจากผ้าขาวแล้ว ยังมีผ้ามะลิลา (ซึ่งจะเป็นผ้าประเภทใดนั้น จะต้องศึกษาค้นคว้าต่อไป) แล้วยังมียาฝิ่นอีกด้วย  
เอกสารฉบับนี้แสดงให้เห็นว่า สมัยนั้นเมืองถลางมีการค้าฝิ่นโดยมีอังกฤษเป็นผู้ค้าส่งอยู่ประจำแล้ว ส่วนนายญวงจะซื้อฝิ่น ๒ ชั่ง มาเพื่อบริโภค (คือสูบ)เองหรือจำหน่ายขายต่อนั้น ไม่อาจทราบได้  
สมัยนั้นมีการค้าขายโดยแลกเปลี่ยนสินค้าซึ่งกันและกัน โดยนำสินค้ามาคำนวณราคาเทียบกันแล้วจัดดีบุกตอบแทนให้ตามมูลค่าสินค้า  
ดีบุกตามนัยแห่งสัญญาฉบับนี้มีรูปลักษณะเป็น "แผ่น" ตีความว่าสมัยนั้นการหลอมดีบุกของเมืองถลางคงจะหลอมออกมาเป็นแผ่น คล้าย ๆ แผ่นอิฐ แผ่นกระเบื้องกระมัง แต่ละแผ่นคงจะมีน้ำหนักจำกัด โดยเทียบกับมาตราหลวงที่ทำการซื้อขายดีบุกซึ่งเรียกว่า "ภารา" โดยน้ำหนัก ๑ ภารา คิดเป็นหาบจีนได้เท่ากับ ๔ หาบจีน หรือ ๒๐๐ ชั่ง (คุณอุษณีย์ ฉวีกุลรัตน์กล่าวไว้ในหนังสือ "ระบบเหมาเมืองในหัวเมืองฝ่ายทะเลตะวันตก" พิมพ์ พ.ศ. ๒๕๒๙ มหาวิทยาลัยศิลปากร ว่า ๑ ภารา เท่ากับ ๓๕๐ ชั่ง) แต่จะมีอัตรากี่แผ่นต่อหนึ่งภารายังค้นหาไม่พบ  
หนังสือสัญญาฉบับนี้อ้างถึงผู้รับสัญญาว่า "ท่านราชโตะ"  ซึ่งตีความว่าคงเป็นพระยาราชกปิตัน (กัปตันฟรานซิส ไลท์) เนื่องจากบุคคลผู้ใกล้ชิดเจ้าเมืองถลางขณะนั้น มักจะเอ่ยสรรพนามบุคคลผู้นี้ว่า "ดาโต๊ะ" หรือ "ลาโตก" หรือ "ราชโตะ" ทำนองนี้ ในเอกสารหลายฉบับที่รวบรวมไว้เป็นชุดเดียวกันนี้  
หนังสือสัญญานี้เป็น "สัญญาซื้อขาย" ซึ่งพ่อค้าเมืองถลาง ทำขึ้นไว้กับพ่อค้าชาวอังกฤษ นายญวงผู้ทำสัญญานี้ คงจะได้เขียนสัญญาด้วยลายมือของตนเองจึงลงท้ายสัญญาว่า "ข้าพเจ้าได้ขีดแกงไดให้ไว้เป็นสำคัญ" เนื่องจากสมัยนั้นไม่มีกฎหมายว่าด้วยการประทับลายนิ้วมือหรือการเซ็นชื่อเป็นลายเซ็นเฉพาะตัวเพียงแต่ยึดถือกันว่าการทำเครื่องหมายขีดข่วนไว้อย่างใดอย่างหนึ่ง ซึ่งเรียกเครื่องหมาย "แกงได" ก็ยึดถือกันว่าเป็นการถูกต้องยอมรับกันได้แล้ว  
ชาวถลางซื้อยาฝิ่นจากพ่อค้าอังกฤษ ซึ่งเป็นเจ้าจำนำใหญ่ในการค้าฝิ่นเนื่องจากอังกฤษได้เข้าไปมีอิทธิพลทางการค้าเหนือประเทศอินเดียตอนใต้เมื่อประมาณ พ.ศ. ๒๓๐๐ และมีฝิ่นเป็นสินค้าสำคัญที่นำออกจำหน่ายในตลาดย่านเอเชียอย่างเป็นล่ำเป็นสันจนเกิดข้อพิพาทกับประเทศจีนโดยรัฐบาลจีนสั่งเผาทำลายสินค้ายาฝิ่นของอังกฤษจำนวนมาก จึงเกิดสงครามขึ้นระหว่างจีนกับอังกฤษใน พ.ศ.๒๓๘๓ เป็นผลให้จีนต้องเสียเปรียบอังกฤษสืบต่อมาจนถึง พ.ศ. ๒๔๘๙ จึงมีการผ่อนคลายลงเนื่องจากจีนได้เข้าร่วมสงครามโลกครั้งที่สองใน พ.ศ. ๒๔๘๓ ช่วยให้อังกฤษมีชัยชนะเหนือประเทศญี่ปุ่นได้ในครั้งนั้น  

 *********

ประวัติศาสตร์ :ประวัติศาสตร์ 

 

 

 
< ก่อนหน้า   ถัดไป >

News

สมุดภาพเหมืองแร่

Counter

mod_vvisit_countermod_vvisit_countermod_vvisit_countermod_vvisit_countermod_vvisit_countermod_vvisit_countermod_vvisit_countermod_vvisit_countermod_vvisit_counter
mod_vvisit_counterวันนี้4760
mod_vvisit_counterเมื่อวาน3893
mod_vvisit_counterทั้งหมด11016595