Skip to content

Phuketdata

default color
Home arrow News arrow ถลางภูเก็จภูเก็ต arrow คอคอดกระ : ราชัน กาญจนะวณิช
คอคอดกระ : ราชัน กาญจนะวณิช PDF พิมพ์ อีเมล์
เขียนโดย ปาณิศรา ชูผล มทศ.   
พฤหัสบดี, 10 เมษายน 2008

คอคอดกระ

 

ราชัน กาญจนะวณิช

---------


เฟอร์ดินันต์ เดอ เลสเสปส์ (FERDINAND DE LESSEPS) เป็นชาวฝรั่งเศสที่มีชื่อเสียงรู้จักกันทั่วโลก ก็เพราะเป็นผู้มีความคิดการณ์ไกล สามารถขุดคลองจากทะเลเมดิเตอร์เรเนีนมาออกสู่ทะเลแดงได้สำเร็จในปี พ.ศ. 2521 เดอ เลสเสปส์ ต้องฝ่าฟันอุปสรรค์อย่างมากก่อนที่จะสร้างคลองยาวกว่า 150 กิโลเมตร ได้สำเร็จจทั้ง ๆ ที่เป็นเพื่อนกับโมหะเมด ซาอิด อุปราชแห่งอียิปต์มาช้านาน เดอ เลสเสปส์ ได้ตั้งบริษัทคลองสุเอช (COMPAGNIE UNIVERSALLE DU CANAL MARITIME DE SUEZ) มาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2397 เพราะอังกฤษไม่ประสงค์ที่จะเห็นฝรั่งเศสแผ่อิทธิพลเข้าไปในอียิปต์ คลองสุเอชได้ช่วยให้ชาวยุโรปติดต่อกับประเทศต่างๆ ในทวีปเอเชียได้สะดวกสบายขึ้นมาก โดยไม่ต้องแล่นเรืออ้อมทวีปอัฟริกาใต้

ความสำเร็จในการขุดคลองเพื่อย่นระยะทางเดินเรือนี้ ได้ทำให้เกิดความสนใจที่จะขุดคลองในลักษณะเดียวกันนี้ในที่อื่น ๆ เช่น ที่ปานามา ซึ่งเฟอร์ดินันด์ เดอ เลสเสปส์ ได้ตั้งบริษัทคลองสากลเชื่อมมหาสมุทร (COMPAGNIE UNEVERSALLE DU CANAL INTER OCEANIQUE) ขึ้นในปี พ.ศ. 2422 และเริ่มงานขุดคลองตามวิธีที่ได้ใช้ในการขุดคลองสุเอชมาแล้ว แต่ต้องประสบปัญหามากเพราะแนวสร้างคลองปานามาอยู่เขตร้อนที่มีโรคภัยไข้เจ็บมาก โดยเฉพาะไข้เหลืองซึ่งมียุงเป็นพาหะ ยิ่งกว่านั้นคลองปานามามิได้เป็นที่ราบเรียบเหมือนในทะเลทราบในอียิปต์ แต่มีสันเขาที่จะต้องระเบิดหินเป็นปริมาณมาก งานก่อสร้างจึงต้องเลิกล้มไปภายในปี พ.ศ. 2432 ประมาณสิบปีหลังจากที่ได้ก่อตั้งบริษัทขึ้น

 

ฝรั่งเศสได้ตั้งบริษัททำการขุดคลองขึ้นใหม่ มีชื่อว่า COMPAGNIE NOVVELLE DU CANAL ในปี พ.ศ. 2437 แต่ก็ไม่สามารถดำเนินงานให้ลุล่วงไปได้ ถึงแม้ว่าจะได้พิจารณาว่าน่าจะลองเปลี่ยนแนวคิดที่จะสร้างคลองในระดับน้ำทะเล มาเป็นคลองที่ประกอบด้วยประตูน้ำสลับกับทะเลสาบ ที่จะใช้ระดับน้ำยกเรือข้ามคลองไปเป็นขั้น ๆ

ในปี พ.ศ. 2446 รัฐบาลอเมริกันได้ทำสัญญากับปานามา ให้สิทธิรัฐบาลอเมริกันในการขุดคลองและควบคุมการดำเนินงานของคลองปานามาตลอดจนเขตแนวคลองทั้งสองฝั่ง รัฐบาลอเมริกันจึงได้รับโอนกิจการจากบริษัทขุดคลองของฝรั่งเศส และทำการขุดคลองตามแนวคิดใหม่โดยใช้ประตูน้ำยกระดับน้ำเป็นขั้น ๆ ไป จนเรือข้าสันเขาได้ และสร้างคลองได้สำเร็จจนเปิดให้เรือเดินผ่านได้ตลอด ในปี พ.ศ. 2457

คอคอดกระที่เชื่อมภาคกลางกับภาคใต้ของประเทศไทยนั้น ก็เป็นจุดที่มีคนสนใจกันมากทั้งในอดีตและปัจจุบัน หลายคนให้ความคิดว่า น่าจะขุดคลองตัดเพื่อให้เรือเดินทะเลสามารถแล่นติดต่อระหว่างทะเลอันดามันกับอ่าวสยามหรืออ่าวไทยได้โดยไม่ต้องเสียเวลาแล่นอ้อมแหลมมะลายู และสิงคโปร์

ในสมัยกรุงศรีอยุธยาเป็นราชธานี ชาวอินเดีย เปอร์เซีย และชาวยุโรปเดินเรือมาค้าขายกับคนไทยโดยข้ามอ่าวเบงกอลมายังเมืองมะริด ซึ่งมีที่จอดเรือได้ดี แล้วขนถ่ายสินค้าขึ้นบกเพื่อจะส่งไปกรุงศรีอยุธยา การที่เข้ามาจอดเรือที่เมืองมะริด เพราะนักเดินเรือในสมัยนั้นไม่ประสงค์จะแล่นใบผ่านช่องแคบมะละกา ที่มักจะอับลมและมีโจรสลัดคอยรังควานอยู่มาก

แต่อย่างไรก็ดี เมื่อพม่ายึดเมืองมะริดไปได้แล้ว การขนส่งสินค้าทางบกจากเมืองมะริดเข้ามายังประเทศสยามก็ต้องยุติลง

ในระยะเวลาอันใกล้กันนั้น อังกฤษก็ได้แผ่อิทธิพลเข้ามายังแหลมมะลายู จนสามารถปราบโจรสลัดในช่องแคบมะละกาได้สำเร็จ ความจำเป็นที่จะหาเมืองท่าสำคัญทางฝั่งทะเลอันดามันในดินแดนไทยจึงได้ลดน้อยลง เพราะอังกฤษสามารถใช้สิงคโปร์และปีนังเป็นท่าเรือในการค้าขายกับไทยได้ทั้งทางด้านอ่าวสยามและด้านทะเลอันดามัน กรุงเทพฯก็มีการค้าขายติดต่อกับสิงคโปร์เป็นสำคัญ ส่วนการค้าขายดีบุกจากภูเก็ตและหัวเมืองใกล้เคียง ก็เป็นการค้าติดต่อกับปีนัง

เมื่ออังกฤษเข้าปกครองพม่า ตลอดจนแหลมมะลายู และสามารถปราบโจรสลัดได้เรียบร้อยแล้ว จนถึงสมัยรัชกาลที่ห้าในราชวงศ์จักรี และเมื่อบริษัทฝรั่งเศสสามารถขุดคลองสุเอชร่นระยะการเดินเรือจากยุโรปมายังเอเชียตะวันออกได้สำเร็จ การค้าขายระหว่างยุโรปกับเอเชียก็มีความสำคัญมากยิ่งขึ้น ผู้คนต่าง ๆ ได้กล่าวขวัญถึงการขุดคลองผ่านคอดคอดกระ เพื่อเชื่อมทะเลอันดามันกับอ่าวสยามกันมาขึ้น โครงการขุดคลอง เช่นนี้ไม่น่าจะเป็นประโยชน์ต่อจักรภพอังกฤษ เพราะอาจจะทำให้มีเรือแวะใช้บริการที่ท่าเรือสิงคโปร์และปีนังน้อยลง แต่อย่างไรก็ดี อังกฤษก็ได้ส่งนายช่างมาสำรวจคอคอดกระ ตั้งแต่ปะ พ.ศ. 2401 (ค.ศ.1858) ก่อนที่ เดอ เลสเสปส์ จะขุดคลองสุเอชสำเร็จถึง 20 ปี ผู้ควบคุมหน่วยสำรวจชาวอังกฤษในครั้งนั้นคือ นายพันตรีเฟรเซอร์ (FRAZER) และนายพันตรีเฟอร์ลอง (FURLONG)

ความสำเร็จของ เดอ เลสเสปส์ ได้ทำให้ชาวฝรั่งเสสและอังกฤษสนใจในการขุดคลองต่าง ๆ มากยิ่งขึ้น ชาวฝรั่งเศสผู้หนึ่งชื่อ ฟรังซัวส์ เดอลองเคล (FRANCOIS DELONCLE) เป็นผู้ที่มีบทบาทสำคัญในเรื่องนี้ อันจะมีผลถึงการเมืองระหว่างฝรั่งเศสและประเทศสยามในระยะต่อมา ฟรังซัวส์ เดอลองเคล สำเร็จการศึกษาจากวิทยาลัยภาษาตะวันออก (ECOLE DES LANGUES ORIENTRALES) และเริ่มเข้าทำงานในกระทรวงการต่างประเทศของฝรั่งเศส ในปี พ.ศ.2423 และก้าวหน้าในหน้าที่ราชากรอย่างรวดเร็วจากตำแหน่งกงสุลชั้นหนึ่ง มาเป็นผู้ชำนาญด้านตะวันออกและการพาณิชย์ นอกจากการทำงานในกระทรวงที่กรุงปารีสแล้ว เขายังได้รับสิทธิพิเศษให้ลางานออกมายังพม่าและสยามได้ในปี พ.ศ. 2425, 2426 และ 2427

ในการเดินทางไปประชุมพาณิชย์ที่กรุงลอนดอน ในปี พ.ศ. 2424 เดอลองเคลได้มีโอกาสเข้าร่วมการสัมมนาเกี่ยวกับความเป็นไปได้ของการขุดคลองตัดคอคอดกระในประเทศสยาม ในช่วงนั้นเป็นสมัยตื่นคลอง ซึ่งฝรั่งเศสกำลังสนใจที่จะขุดคลองปานามามาหลังจากที่ได้พบความสำเร็จมาแล้วในการขุดคลองสุเอช ได้มีการรวมทุนตั้งบริษัทเพื่อสำรวจแนวคลองปานามาโดยมี เฟอร์ดินันด์ เดอ เลสเสปส์ เป็นที่ปรึกษา เข้าใจว่า เดอลองเคล ได้รับเอกสารบางอย่างเกี่ยวกับการสำรวจคอคอดกระของอังกฤษเมื่อ 20 ปีก่อนหน้านั้น เช่น รายงานของพันตรีเฟรเซอร์ และ เฟอร์ลอง ที่กล่าวมาแล้ว เดอลองเคลจึงหวังว่าจะชักชวนนักลงทุนสร้างคลองปานามา ให้เอาโครงการขุดคลองคอคอดกระเข้ามาดำเนินงานเสียด้วย เพราะเป็นโครงการเล็ก ๆ พร้อมด้วยหนังสือแนะนำตัวจากเฟอร์ดินันด์ เดอ เลสเสปส์ เขาได้เดินทางมาถึงกรุงเทพฯ เพื่อที่จะเริ่มงานสำรวจขุดคลองคอคอดกระในประเทศสยาม เมื่อเดือนกรกฎาคม พ.ศ. 22425

ในกรุงเทพฯ สมัยนั้น รัฐบาลฝรั่งเศส มีนาน จูลส์ อาร์มันต์ (JULES HARMANE) เป็นกงสุลประจำอยู่ นายฮาร์มันมีประสบการณ์เป็นแพทย์ทหารมาก่อน และเป็นผู้ที่มีความสามารถเป็นอย่างยิ่งที่จะรับใช้ประเทศชาติโดยไม่คำนึงถึงศีลธรรมใด ๆ เขาเพิ่งมารับงานในกรุงเทพฯ เมื่อปี พ.ศ. 2424 และก็รู้สึกตัวว่าจะต้องรับงานใหญ่ เพราะอังกฤษเป็นผู้มีอิทธิพลในการพาณิชย์อยู่ในประเทศสยาม ส่วนฝรั่งเศสนั้นมีแต่ธุรกิจเล็กน้อย เช่น โรงสี โรงเลื่อย และบริษัทส่งข้างเป็นสินค้าออก ยิ่งกว่านั้นทางการทูต กงสุลอังกฤษรุ่นก่อน ๆ เช่น โรเบิร์ต ชอนเบิร์ค (ROBERT SHCONSBURGK) และธอมัส ยอร์ช น็อกซ์ (THOMAS GEORGE KNOX) ก็มีอิทธิพลในวงการรัฐบาลสยาม ซึ่งปรึกษากงสุลอังกฤษ ในกิจการต่าง ๆ อยู่เสมอ เช่น ในการเจรจาปัญหาเรื่องดินแดนเขมรระหว่างฝรั่งเศสและสยาม ในปี พ.ศ. 2406 และ 2410 ยิ่งกว่านั้นในปี พ.ศ. 2413 รัฐบาลสยามยังได้สั่งเรือปืนจากประเทศอังกฤษถึง 6 ลำ กงสุลฝรั่งเศสในสมัยนั้นเรียกกงสุลน็อกซ์ว่า พระเจ้าแผ่นดินองค์ที่ 3 ของสยาม เพราะน็อกซ์ได้เข้าไปไกล่เกลี่ยปัญหาระหว่างวังหน้าและวังหลวง (LE SIOR A’CIN O HEURES NOUS ALLONS FAIRE NOTRDE VISITE AU 3 IE’ME ROI DU DIAM AINSI QUE BEAUCOUP ONT SURNOMME ET NON SANS RAISON, LE CONSUL D’ANGLETERRE – EMILE NKECHT PAPERS – PAGE 344) กงสุลน็อกซ์ผู้นี้ต่อมาได้ถูกรัฐบาลอังกฤษเรียกตัวกลับหลังจากที่ลูกสาวชื่อ แฟนนี่ ได้แต่งงานกับพระปรีชากลการ เมื่อกล่าวถึงพระปรีชากลการ ก็จำเป็นที่จ้ะต้องอธิบายเพิ่มเติมเพื่อให้ความเป็นธรรมแก่วิศวกรรุ่นเก่า ในเรื่องนี้ ม.จ. พิริยดิศ ดิสกุล โอรสในสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ได้ทรงเขียนไว้ว่า “ในปี พ.ศ. 2415 ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้มีผู้พบทองคำในเขตเมืองกบินทร์บุรีหลายแห่ง จึงได้เกณฑ์แรงงานที่นั่นและในหัวเมืองใกล้เคียงให้มาทำการขุดหาแร่งทองคำส่งกรุงเทพฯ โดยมอบหมายให้เจ้าเมืองปราจีนบุรีเป็นผู้รับผิดชอบ ซึ่งนับได้ว่าเป็นการปฏิบัติการเหมืองแร่ครั้งแรกของรัฐ แต่การก็มิได้เป็นไปอย่างราบรื่น เพราะว่ามีการกล่าวโทษเรื่องการใช้แรงงานที่ไม่ชอบ จนเป็นเหตุให้ผู้คนอพยพหลบหนีราชการกันมาก และที่สำคัญผลผลิตทองคำที่ได้ดูไม่เหมาะสมกับแรงงานที่นำไปใช้ จนเป็นเหตุให้มีการสอบสวนถึงกับลงโทษตั้งแต่ตัวเจ้าเมืองลงไป แต่ก็ได้มีการแก้ไขปรับปรุงโดยมีการนำวิศวกรฝรั่งไปช่วย และบุคคลที่ออกไปกับกับการขุดแร่ทองคำที่กบินทร์บุรีในตอนหลังนี้ จำเป็นจะต้องเอ่ยนามให้ปรากฏไว้อีกคือ คุณพระปรีชากลการ ซึ่งเป็นผู้มีการศึกษาอย่างดีจากต่างประเทศ และเข้าใจว่ามีความรู้ด้านช่างดี จึงได้ราชทินนามเช่นนั้น การดำเนินงานครั้งนี้ได้มีการเปิดบ่อขุดเอาหินติดทองล่องลงตามลำน้ำพระปรง มาตำและแยกที่ตัวจังหวัดปราจีนเลยทีเดียว แต่การก็มิได้ประสบผลตามที่ประสงค์จำนงหมายไว้อีก และยิ่งไปกว่านั้นได้เกิดโศกนาฏกรรมขึ้นในภายหลัง โดยคุณพระปรีชากลการต้องพระราชอาญาถึงกับถูกประหารชีวิตและถูกถอดบรรดาศักดิ์เป็นนายสำอาง บ่อแร่ทองคำที่คุณพระปรีชากลการกำกับการขุดในสมัยนั้นจึงเรียกกันว่า “บ่อสำอาง” มาจนถึงการขุดแร่ในสมัยหลัง

ถึงคราวนี้ต้องขอผนวกความคิดที่ได้ข้อมูลจากแหล่งอื่น ๆ และจากการที่กรมทรัพยากรธรณีได้เข้าไปทำการสำรวจใหม่ในชั้นหลัง ประกอบกับข้อวินิจฉัยส่วนตัวบ้างดังนี้ ในชั้นเดิมจากการพบทองคำในเขตเมืองกบินทร์บุรี คงเป็นที่เข้าใจกันที่กรุงเทพฯ ว่าแหล่งแร่ที่นั่งคงเป็นแบบเดียวกับที่บางสะพาน กล่าวคือ ต้องใช้วิธีร่อนแร่เอา จึงได้เกณฑ์แรงงานราษฎรไปใช้ และการที่ไม่ได้เป็นไปด้วยดี มีทั้งราษฎรหลบหนี และได้ทองคำไม่มากจนถึงกับต้องมีการไต่สวน ก็สืบเนื่องมากจากแหล่งแร่เป็นคนละแบบอย่างกันกับที่บางสะพานเพราะเป็นแหล่งแร่ในหินแข็งที่ไม่ธรรมดาเสียด้วย ทองคำที่ชาวบ้านพบก็เป็นเพียงบางแห่งบางที่ ไม่ได้ถูกพัดมากับน้ำแต่อย่างใด เพราะฉะนั้นการปฏิบัติต่อราษฎรที่ถูกเกณฑ์มาขุดจึงเข้มงวดและรุนแรง เป็นชนวนให้มีการไต่สวนขึ้นได้ ส่วนที่คุณพระปรีชากลการต้องอาญาจนถึงกับถูกถอดบรรดาศักดิ์ถูกประหารชีวิตนั้น แม้ประวัติศาสตร์จะไม่ให้รายละเอียดไว้ แต่ก็มีหลักฐานที่พอจะนำมาวิเคราะห์ได้ว่า มูลเหตุมิได้เกี่ยวกับทองคำที่กบินทร์บุรีแต่อย่างใดซึ่งถ้าจะให้พูดอย่างภาษาปัจจุบันแล้ว ต้องเรียกว่า กรณีของคุณพระปรีชากลการเป็นเรื่องของการเมืองแท้ ๆ โดยต้องย้อนรำลึกไว้ในใจว่า
เคราะห์กรรมบันดาลให้คุณพระปรีชาฯที่มีการศึกษาดีเยี่ยมของสมัยนั้น และก็คงเป็นคนสมาร์ทตามสมควร ได้ไปแต่งงานกับนางสาวแฟนนี่ น็อกซ์ บุตรีนายธอมัส ยอร์ช น็อกซ์ กงสุลใหญ่อังกฤษ ร.ศ. 112 ตัวนายน็อกซ์เองก็เป็นทหารรับจ้างมาจากอินเดีย แล้วมาสังกัดอยู่กับกรมพระราชวังบวรวิชัยชาญ วังหน้าและได้รับพระราชทานผู้หญิงไทยให้เป็นภรรยา ชื่อ แม่ปราง จนบังเกิดนางสาวแฟนนี่ นี้ขึ้นมาครอบครัวนี้จึงเข้านอกออกในและคุ้นเคยกับราชสำนักของวังหน้าดี แม้จะพ้นหน้าทีไปเป็นกงสุลใหญ่แล้วก็ตาม นักประวัติศาสตร์คงพอจะทราบด้วยว่ายังมี มองซิเออร์ปาวี ชาวฝรั่งเศสอีกผู้หนึ่งที่ร่วมสังกัดเป็นทหารรับจ้างสังกัดวังหน้า และต่อมาก็กลับไปทำงานให้กับรัฐบาลฝรั่งเศสที่อินโดจีน เป็นตัวก่อเหตุคดีเสียดินแดนเมื่อ ร.ศ.112 เพราะฉะนั้นถ้าเอาวิจารณญาณเกี่ยวกับเรื่อเบื้องหลังเหล่านี้มาประมวลกันเข้า คงจะพอเห็นภาพได้ลาง ๆ ถึงสาเหตุที่คุณพระปรีชากลการต้องรับพระราชอาญาในครั้งนั้นถึงชีวิต ด้วยข้อกล่าวหานัยว่าเพราะภรรยาแม่แฟนนี้นั่งเรือตัดหน้าฉานขบวนเรือพระที่นั่ง

หนังสือต่างประเทศบางฉบับ เช่น FANNY AND THE REGENT OF SIAM อ้างว่า เหตุที่พระปรีชากลการ ต้องอาญาจนถึงถูกถอดบรรดาศักดิ์และถูกประหารชีวิตนั้น สืบเนื่องมาจากการแต่งงานกับแฟนนี่ น็อกซ์ เพราะแฟนนี่ เป็นสาวลูกครึ่งอังกฤษไทยสวยเป็นที่ต้องตาของผู้มีอิทธิพลในวงราชการ ซึ่งรู้สึกเคียดแค้นพระปรีชากลการ ในกลุ่ม “สยามหนุ่ม” ที่เข้ามาแย่งชิงรัก ความรักและริษยานี้ได้ทำให้พระปรีชากลการต้องเป็นศัตรูของผู้มีอิทธิพลในกลุ่ม “สยามเก่า”

ในปี พ.ศ. 2424 นายจูลส์ ฮามันต์ กงสุลใหม่ของฝรั่งเศส ได้เข้ารับงานที่ต้องแข่งขันกับอังกฤษซึ่งได้มีกงสุลรุ่นเก่า ๆ เข้ามาสร้างอิทธิพลทั้งการค้าและการเมืองในประเทศสยาม คู่ปรับของเขาคือ กงสุลใหญ่อังกฤษ ชื่อ วิลเลียม กิฟฟอด พัลเกรฟ (WILLIAM GIFFORD PALGRAVE) ซึ่งรู้ภาษาฝรั่งเศสเป็นอย่างดี พัลเกรฟนั้นได้ถูกทางราชการอังกฤษย้ายเข้ามาประจำกรุงเทพฯ ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2422 (ค.ศ.1879) ก่อนจูลส์ ฮามันต์ ประมาณสองปี จุดมุ่งหมายของจูลส์ ฮามันต์นั้นก็คือจะขยายอาณาเขตอินโดจีนออกมาทางทิศตะวันตกให้ถึงบริเวณใกล้ ๆ กรุงเทพฯ เขาได้พยายามหารอยร้าวในวงราชการไทยด้วยการสนิทสนมกับกลุ่ม “สยามเก่า” ของสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ ซึ่งมีบุตรเป็นเสนาบดีว่าที่กรมเจ้าท่า และน้องชายเป็นเสนาบดีกลาโหม เขาได้พบความสำเร็จในการรวมกลุ่มกับกงสุลต่างชาติอื่น ๆ คัดค้านนโยบายของกงสุลอังกฤษที่จะนำเอาชาวจีนทั้งปวงมาอยู่ภายใต้การคุ้มครองของอังกฤษ เพราะถ้ากงสุลอังกฤษทำได้สมความมุ่งหมาย การพาณิชย์ในประเทศสยามซึ่งอยู่ในมือชาวจีนเป็นส่วนใหญ่ก็จะตกอยู่ภายใต้อิทธิพลของอังกฤษ เขาวิ่งเต้นให้รัฐบาลไทยใช้ชาวฝรั่งเศสจัดการรับเหมาในการเดินสายโทรเลขจากกรุงเทพฯ ติดต่อกับอินโดจีนได้ก่อนที่จะมีการเดินสายโทรเลขไปพม่าของอังกฤษ นอกจากนั้นในเดือนตุลาคม พ.ศ. 2425 เขายังสามารถขอจนได้เงินสนับสนุนการเดินเรือของฝรั่งเศสทางฝั่งจันทบุรี และขอให้รัฐบาลไทยแต่งตั้งนายเออร์ริงตัน เดอ ลา ครัว (ERRINGTION DE LA CROLX) วิศวกรเหมืองแร่ฝรั่งเศสเป็นที่ปรึกษา

อย่างไรก็ดีสำหรับโครงการขุดคลองที่คอคอดกระของฟรังซัวส์ เดอลองเคล นั้นท่านกงสุลฝรั่งเศสก็พยายามสนับสนุน แต่รู้อยู่แก่ใจว่าถ้ามีการขุดคลองดังกล่าวแล้ว ก็เท่ากับจะเป็นการเร่งให้อังกฤษเข้ามาแผ่อำนาจยึดประเทศสยาม การที่รัฐบาลสยามไม่เห็นชอบกับโครงการนี้ ก็เป็นการสร้างศัตรูกับฟรังซัวส์ เดอลองเคล ซึ่งต่อมาก็กลายเป็นผู้คงแก่เรียนในเรื่องประเทศสยามของกระทรวงการต่างประเทศฝรั่งเศสและรัฐสภาของฝรั่งเศสในยุคต่อมา

ในปีแรกนั้น คณะของนายฟรังซัวส์ เดอลองเคล ได้สำรวจแนวจากชุมพรไปกระบุรี แต่เมื่อปรากฏว่าจะต้องสิ้นค่าใช้จ่ายสูงไม่คุ้มทุน เดอลองเคลก็ได้เดินทางกลับไปกรุงปารีส หาทุนรอนเพิ่มเติมแล้วเข้ามากรุงเทพฯอีก เมื่อต้นปี พ.ศ.2426 เพื่อขอสัมปทาน แต่ก็ไม่ได้รับอนุญาตจากรัฐบาลสยาม การสำรวจแนวคลองใหม่ก็ยังไม่ได้ผล วิศวกรฝรั่งเศสชื่อ เบญิออน (BILLION) คำนวณว่าจะต้องใช้เงินถึง 500 ล้านฟรังส์ขุดคลองจากพัทลุงไปตรังซึ่งไม่คุ้มค่า

เดอลองเคล ก็มิได้ลดละ ส่งคณะสำรวจมาดูแนวใหม่ระหว่างสงขลากับตรังในปี พ.ศ. 2427 แต่ก็ไม่ได้รับความร่วมมือจากรัฐบาลสยาม ยิ่งกว่านั้นเฟอร์ดินันด์ เดอเลสเสปส์ ก็ไม่ยอมเอาบริษัทคลองสุเอชเข้ามาสนับสนุนโครงการขุดคลองคอคอดกระ

อธิบดีกรมโลหกิจในสมัยนั้น คือ วอร์ริงตัน สไมธ ได้เขียนไว้ในหนังสือ FIVE YEARS IN SIAM FROM 1891-1896 ว่า จากระนองถึงเมืองกระนั้น ช่องน้ำที่เรียกว่า ปากจั่น (ESTUARY) ยาว 50 ไมล์ น้ำขึ้นลงได้ เรือที่กินน้ำลึก 9 ฟุตแล่นผ่านได้ ลักษณะภูมิประเทศไม่เหมือนดินแดนในเขตร้อน แต่เหมือนช่องน้ำในยุโรปภาคเหนือ เพราะมีเขาสูงทั้งสองฝั่ง ถ้าจะให้เรือเดินสมุทรเข้าออกได้ ก็จะต้องขุดลอกอีกมาก ทั้งปากทางเข้าและข้างในหลายแห่งที่มีรายงานว่าเป็นอ่าวจอดเรือยาว 30 ไมล์ น้ำลึก 5-6 ฟาธอม (หนึ่ง ฟาธอมเท่ากับ 6 ฟุต) นั้นอาจทำให้เข้าใจผิด เพราะมีหลายแห่งที่ลึก 1-2 ฟาธอมที่ปากทางเข้า และที่ตื้น ๆ เป็นจำนวนมากเหนือเมืองมะลิวันช่องปากจั่นนี้จะเรียกว่าแม่น้ำก็ไม่ได้ เพราะมีลำธารเล็ก ๆ เพียงหนึ่งหรือสองสายยาวไม่เกิน 30 ไมล์ไหลมาลงสู่ทะเลผ่านช่องน้ำ ส่วนใหญ่แล้วช่องปากจั่นกว้าง 2-3 ไมล์ ตามฝั่งมีเขาสูง บางแห่งถึงระดับ 2,000 ฟุต เหนือเมฆมรสุมดูสมเป็นสุดแดนจักรวรรดิ์อินเดีย

สำหรับโครงการขุดคลองนั้น ท่านอธิบดีกล่าวว่า ไม่จำเป็นต้องบรรยายการเดินทางข้ามคอคอดกระมากนัก เพราะผู้ที่สนใจในโครงการขุดคลองได้สำรวจอย่างละเอียดมาแล้ว ส่วนที่เป็นสันปันน้ำนั้นก็สั้น วิศวกรคงไม่น่าจะเป็นปัญหาอะไรมากนักในการขุดผ่าน โครงการนี้ไม่สำเร็จเพราะมีปัญหาอื่น ๆ โดยเฉพาะทางการเมือง แต่ในแง่ที่ว่าจะเป็นประโยชน์ต่อการเดินเรือคุ้มค่าแก่การลงทุนหรือไม่นั้น ก็คงจะเป็นเรื่องที่ต้องเป็นหน้าที่ของสโมสรโต้วาทีต่าง ๆ

ความล้มเหลวของโครงการขุดคลองคอคอดกระ ตลอดจนกิจการอื่น ๆ ของฝรั่งเศสในประเทศสยามครั้งนั้น ได้กลายเป็นไฟในดวงใจจี้ให้ ฟรังซัวส์ เดอลองเคล รุกเร้าให้รัฐบาลฝรั่งเศสดำเนินนโยบายแข็งกร้าว อันนำไปสู่กรณีพิพาทที่ปากน้ำเจ้าพระยาเมื่อวันที่ 31 กรกฎาคม พ.ศ. 2426 ซึ่งทำให้ประเทศสยามต้องเสียดินแดนไปมากมาย และทางฝรั่งเศสเข้ามาควบคุมมณฑลจันทบุรีอยู่หลายปี

โครงการขุดคลองคอคอดกระนี้ เป็นเสมือนปีศาจฝรั่งเศส ที่กลับมาหลอกหลอนคนไทยและอังกฤษอยู่เป็นนิจ เมื่อสงครามโลกครั้งที่สองสิ้นสุดลง ทางรัฐบาลอังกฤษก็ยังยืนยันในการทำสัญญาสงบศึก ที่จะไม่ให้รัฐบาลไทยขุดคลองคอคอดกระ

การเรียกร้องของผู้ชนะสงครามนั้นมีแปลก ๆ อยู่เสมอ ในยุคหลังสงครามโลกครั้งที่สอง ที่ประเทศไทยได้ร่วมมือกับญี่ปุ่นประกาศสงครามต่อสู่ฝ่ายสหประชาชาตินั้นฝรั่งเศสเองก็ได้เรียกร้องดินแดนอินโดจีนที่ไทยได้ไปในสงครามตอนปลายปี พ.ศ. 2483 และต้นปี พ.ศ. 2484 กลับคืน และยังแถมเรียกร้องจะเอาพระแก้วมรกตคืนไปด้วย การแถมข้อเรียกร้องแปลก ๆ เข้าไปนั้น เป็นเทคนิคของการเจรจา ซึ่งอาจทำให้ฝ่ายตรงกันข้ามเกิดหลงประเด็น

ในยุคงานคือเงิน และเงินดีคืองาน โครงการของ ฟรังซัวส์ เดอลองเคล ก็ได้ถูกนักการเมืองร่วมมือกับนักธุรกิจ นำมาปัดฝุ่น ออกมาเป็นที่กล่าวขวัญกันอีก

แต่อย่างไรก็ดี การที่โครงการขุดคลองคอคอดกระไม่ได้ดำเนินไปสำเร็จ ก็ทำให้ ภูเก็ต เป็นดาวดวงเดียวของไทยทางฝั่งทะเลอันดามัน อยู่จนทุกวันนี้


หนังสืออ้างอิง

(1) นายร้อยโทเจมส์ โลว์  – จดหมายเหตุ กรมศิลปากร

(2) PATRICK TUCK – THE FRENCH WOLF AND THE SIAMESE LAMB. - WHITE LOTUS.

(3) ม.จ. พิริยดิศ ดิศกุล  – ข่าวสารการธรณีฉบับพิเศษ 100 ปี กรมทรัพยากรธรณี

(4) H. WARRINGTON SMYTH – FIVE YEARS IN SIAM FROM 1891 – 1896.

 

 
< ก่อนหน้า   ถัดไป >

News

สมุดภาพเหมืองแร่

Counter

mod_vvisit_countermod_vvisit_countermod_vvisit_countermod_vvisit_countermod_vvisit_countermod_vvisit_countermod_vvisit_countermod_vvisit_countermod_vvisit_counter
mod_vvisit_counterวันนี้4129
mod_vvisit_counterเมื่อวาน3893
mod_vvisit_counterทั้งหมด11015964