Skip to content

Phuketdata

default color
Home arrow News arrow ถลางภูเก็จภูเก็ต arrow ความตกลงดีบุกระหว่างประเทศ
ความตกลงดีบุกระหว่างประเทศ PDF พิมพ์ อีเมล์
เขียนโดย ปาณิศรา ชูผล มทศ.   
พฤหัสบดี, 10 เมษายน 2008


ความตกลงดีบุกระหว่างประเทศ


INTERNATIONAL TIN AGREEMENT

 

ราชัน กาญจนะวณิช
----------------


ความตกลงดีบุกระหว่างประเทศ คือ การรวมตัวระหว่างผู้ผลิตดีบุก เพื่อพยายามรักษาระดับราคาดีบุกไม่ให้ขึ้นลงจนผิดปกติ เพราะถ้าราคาดีบุกต่ำเกินไป ผู้ผลิตจะไม่สามารถผลิตได้ และถ้าราคาสูงเกินไปผู้ใช้ก็จะต้องพยายามไปหาวัสดุอื่นมาใช้แทนดีบุก

ผมเริ่มได้รู้จักกับความตกลงดีบุกระหว่างประเทศครั้งแรกเมื่อปี พ.ศ.2482 ก่อนที่ทางราชการจะส่งไปศึกษาต่อในสหรัฐอเมริกาจากผลของการสอบชิงทุนเล่าเรียนหลวง หรือที่เรียกว่า คิงสกอลาชิป ในปี พ.ศ. 2482 นั้น ผู้ที่สอบได้ตั้งแต่ที่ 3 ถึงที่ 6 จะได้รับทุนไปศึกษาวิชาการเกี่ยวกับเหมืองแร่ ซึ่งมี นิรัตน์ สมัถพันธ์ พิสุทธิ์ สุทิส ณ อยุธยา และ อานนท์ ศรีวรรธนะ และผมเป็นผู้ที่ได้รับทุนของกรมที่ดินและโลหกิจ ทางกรมที่ดินและโลหกิจโดยท่านหัวหน้ากองโลหกิจ คุณประวัติ สุขุม ได้ขอให้ผู้ที่สอบได้ทั้ง 4 คน เดินทางไปหัวเมืองปักษ์ใต้กับท่าน เพื่อจะได้เห็นสภาพของเหมืองแร่ในประเทศไทยอย่างแท้จริง

 

นอกจากคุณประวัติ สุขุม หัวหน้ากองแล้ว คณะของท่านยังมี คุณเลิศ สาลิคุปต์ เป็นเลขานุการ และมีพนักงานบริการทั่วไป ที่เราเรียกกันว่า ลุงฟ้อน อีกผู้หนึ่ง

การที่คุณประวัติ สุขุม ต้องเดินทางไปหัวเมืองปักษ์ใต้ในครั้งนั้น ก็เพราะมีการจำกัดการผลิตดีบุกตามข้อตกลงระหว่างประเทศ และเมื่อประเทศไทยได้รับโควตาที่จัดสรรระหว่างประเทศแล้ว ทางกองโลหกิจก็จะต้องจัดสรรให้กับเหมืองแร่ดีบุกต่าง ๆ ด้วย คุณประวัติ สุขุม จึงต้องไปตรวจเหมืองต่าง ๆ เพื่อพิจารณาดูกำลังการผลิตว่าสมควรจะได้รับโควตาเท่าใด ในอันที่จริงแล้วเหมืองแร่ต่าง ๆ ทั่วประเทศในสมัยนั้น ก็ต้องส่งรายงานประจำเดือนแจ้งผลการผลิตให้ทางกองโลหกิจทราบอยู่แล้ว แต่คุณประวัติ สุขุมเป็นคนละเอียดรอบคอบและยอมต่อสู้กับความยากลำบากที่ต้องเดินทางไปในป่าดงและทางเกวียนที่เต็มไปด้วยฝุ่น ในการไปตรวจงานครั้งนั้น เมื่อไปถึง เหมืองต่าง ๆ ก็ต้อนรับเป็นพิเศษ โดยหวังว่าจะได้รับพิจารณาโควตาด้วยความเห็นใจ ผมจำได้ว่า เมื่อคณะเราเดินทางไปถึงเหมืองหาบที่บ้านดินลาน ใกล้ ๆ หาดใหญ่ของขุนนิพันธ์จีนนคร ซึ่งเดิมชื่อ นายเจีย กี ซิ ที่เคยทำงานถมดินก่อสร้างทางรถไฟสายใต้ร่วมกับนายกซันมานั้น เราได้พบกับการต้อนรับเป็นพิเศษ เจ้าของเหมืองได้ตั้งโต๊ะอาหารจีนไว้รับรองคล้ายกันกับว่า จะมีการเลี้ยงในพิธิวิวาห์ อาหารนั้นก็มีตั้งแต่ หมูหันจนถึงนกเป็ดน้ำ เมื่อเราเดินทางต่อไปลุงฟ้อนยังพยายามหอบเอาอาหารที่เหลือติดตัวมาด้วย ทั้ง ๆ ที่เราต้องเดินเท้าตามทางรถไฟจากสถานีบ้านดินลานไปจนถึงสถานีหาดใหญ่

ที่อำเภอบันนังสตาร์ เราได้ไปที่เหมืองปินเยาะของบริษัทไทยแลนด์ทินไมล์ ลิมิเต็ด (THAILAND TIN MINES LTD.) เหมืองแร่นี้เป็นเหมืองขนาดใหญ่ มีคนงานหลายพันคน มีโรงเรียน โรงพยาบาล และเครื่องประกอบทางด้านสวัสดิการให้แก่พนักงานและคนงานพร้อมมูล แหล่งแร่ที่ปินเยาะนี้ เป็นแหล่งแร่สัมผัส และมีดีบุกเป็นผงขนาดเล็กมาก ทางบริษัทใช้วิธีเจาะอุโมงค์ใต้ดิน แล้วนำมาบดละเอียด และใช้วิธีแยกด้วยโต๊ะแต่งแร่แบบต่าง ๆ ในระบบที่ใช้น้ำและความแตกต่างระหว่างความถ่วงจำเพาะของแร่ดีบุกกับแร่อื่น ๆ ที่เจือปนอยู่เป็นหลัก แต่วิธีแต่งแร่ดังกล่าวไม่ได้ผลเท่าที่ควร เพราะปรากฏว่ายังมีแร่ดีบุก (CASSITERITE) ที่เป็นผงละเอียดติดค้างอยู่ในกองทรายที่ผ่านกรรมวิธีมาแล้วอยู่เป็นจำนวนมาก

ผู้จัดการบริษัทได้พาคณะของคุณประวัติ สุขุม ไปดูโรงแต่งแร่ใหม่ ซึ่งกำลังก่อสร้างใกล้จะสำเร็จ โรงแต่งแร่ใหม่นี้ใช้วีกรรมซึ่งเรียกว่า แบบ เคเวียท (CAVEAT PROCESS) โดยจะใช้แคลเซียมคลอไรย์ผสมดีบุกแล้วเอาเข้าเตาหมุน (ROTARY KILN) จนได้ผลผลิตเป็นคลอไรท์ของดีบุก แล้วจึงน้ำคลอไรท์ของดีบุกไปแยกด้วยกรรมวิธีไฟฟ้า (ELECTROLYSIS) จนได้โลหะดีบุกออกมา และจะไม่ต้องส่งไปโรงถลุงอีกต่อหนึ่ง ดังเช่น เหมืองแร่ดีบุกอื่นๆ ต้องทำ

ผมสนใจในเหมืองแร่ดีบุกแห่งนี้มาก เพราะเข้าใจว่าถ้าดำเนินการได้ก็จะเป็นเหมืองแร่ดีบุกที่ใช้กรรมวิธีแยกแร่แบบนี้แห่งแร่ในโลก

และไม่ต้องสงสัยเลยว่า เหมืองแร่ขนาดใหญ่ที่ใช้คนงานเป็นจำนวนมากเช่นนี้ย่อมจะได้รับการจัดสรรโควตาเป็นจำนวนมากตามสัดส่วน ถึงแม้ว่าผู้จัดการเหมืองจะรับรองคณะจากกรมโลหกิจด้วยการจัดน้ำชาให้ดื่มเท่านั้น ลุงฟ้อนจึงไม่มีอะไรติดมือมาเมื่อเดินทางกลับจากบันนังสตาร์มานิบง ซึ่งเป็นที่ตั้งของศาลากลางจังหวัดยะลา และโรงแรมที่คณะของเราไปพักอยู่คืนนั้น

วิธีการใช้ข้อตกลงดีบุกระหว่างประเทศนี้ ได้เริ่มใช้กันตั้งแต่ปีพ.ศ.2464 ซึ่งตรงกับปีที่ผมเกิด ในมหาสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง การขนส่งระหว่างเอเชียอาคเนย์กับยุโรปดำเนินไปไม่สะดวกเพราะหาเรือลำเลียงได้ยาก ราคาดีบุกจึงขึ้นอยู่ในระดับสูง เมื่อสงครามโลกครั้งที่หนึ่งสงบแล้ว การขนส่งสะดวกขึ้นโรงงานในยุโรปมีดีบุกป้อนโดยไม่ขาดแคลน ราคาดีบุกจึงตกต่ำ รัฐบาลอังกฤษซึ่งปกครองมาลายาและรัฐบาลเนเทอร์แลนด์ ซึ่งปกครองหมู่เกาะอินเดียตะวันออกอยู่ในขณะนั้น ได้พิจารณาเห็นว่า ถ้าจะมีการรวมหัวกันเพื่อกักตุนดีบุกเอาไว้แล้วค่อย ๆ ทยอยส่งไปยุโรป ก็จะสามารถทำให้ราคาดีบุกสูงขึ้นได้ จึงได้ทำความตกลงจัดให้มีมูลภัณฑ์บันดง หรือ คลังดีบุกบันดง (BANDOENG POOL) ขึ้น

นับตั้งแต่นั้นมา จึงได้มีข้อตกลงดีบุกระหว่างประเทศเพื่อรักษาราคาแร่ดีบุกและมีการกำหนดโควตา มิให้ประเทศผู้ผลิตผลิตดีบุกมากเกินไป คณะกรรมการดีบุกนานาชาติ (INTERNATIONAL TIN COMMITTEE) ซึ่งตั้งจากประเทศผู้ผลิตดีบุกเป็นผู้บริหารงาน โดยมีข้อตกลง ที่เรียกว่า INTERNATIONAL TIN RESTRICTION AGREEMENT รวม 4 ฉบับ ฉบับแรกระหว่างปี พ.ศ.2474 ถึง 2476 ฉบับที่สองระหว่าง พ.ศ.2477 ถึง 2479 ฉบับที่สามระหว่างปี พ.ศ. 2480 ถึง 2484 ส่วนฉบับที่สี่นั้นเท่ากับว่าได้พิการไป เพราะกองทัพญี่ปุ่นได้ยกเข้ายึดประเทศผู้ผลิตดีบุกใหญ่ ๆ ในเอเชียอาคเนย์ได้ทั้งหมด

ในสมัยหลังสงครามโลกครั้งที่สอง ข้อตกลงดีบุกระหว่างประเทศฉบับแรกได้กำเนิดขึ้นในเดือนกรกฎาคม พ.ศ.2499

ข้อตกลงดีบุกระหว่างประเทศฉบับแรกและฉบับต่อมานั้น มีประเทศผู้ผลิตและประเทศผู้ใช้ดีบุกเป็นสมาชิก ตามข้อตกลงมีเงื่อนไขที่จะจำกัดการส่งออก ในเมื่อดีบุกในตลาดเกินกำหนด มีเงื่อนไขให้ตั้งมูลภัณฑ์กันชน เพื่อเก็บดีบุกที่มีมากเกินกำหนดเป็นกองทุนสำรอง เพื่อระบายออกเมื่อดีบุกขาดแคลน และมีเงื่อนไขกำหนดราคาพื้นและราคาเพดานไว้โดยใช้การจำกัดการส่งออกและมูลภัณฑ์กันชนเป็นกลไก เพื่อรักษาราคาระหว่างราคาพื้นและราคาเพดาน ถ้าดีบุกมีราคาต่ำก็ใช้วิธีจำกัดการส่งออก หรือซื้อเข้าเก็บไว้ในมูลภัณฑ์กันชน หรือ ใช้ทั้งสองวิธีพร้อม ๆ กัน แต่ถ้าดีบุกราคาสูงก็ใช้วิธีขายดีบุกออกจากมูลภัณฑ์กันชนให้ราคาลดลงอยู่ระหว่างราคาพื้นและราคาเพดานที่สมาชิกได้ตกลงกัน

ปัญหาของดีบุกข้อใหญ่ก็คือ สมาชิกส่วนใหญ่เป็นประเทศที่กำลังพัฒนา เช่น ประเทศมาเลเซีย อินโดนีเซีย และประเทศไทยในเอเชียอาคเนย์ ส่วนสมาชิกผู้ผลิตอื่น ๆ ก็อยู่ในอัฟริกาและอเมริกาใต้ แต่สมาชิกผู้ใช้ดีบุกที่สำคัญนั้นได้แก่ สหรัฐอเมริกา อังกฤษ ยุโรปตะวันตก และญี่ปุ่น ซึ่งเป็นประเทศอุตสาหกรรมที่ได้พัฒนาก้าวหน้าไปมาก และมีกำลังทางเศรษฐกิจเข้มแข็ง เนื่องจากเหมืองแร่ดีบุกในอินโดนีเซีย มาเลเซีย ประเทศไทย และไนจีเรีย เป็นของชาวเนเทอร์แลนด์ และชาวอังกฤษเป็นจำนวนมาก ความขัดแย้งระหว่างผู้ผลิตและผู้ใช้จึงไม่รุนแรง ในระหว่างข้อตกลงฉบับแรก ๆ แต่หลังจากข้อตกลงฉบับที่ 5 ไปแล้วความขัดแย้งก็ได้เพิ่มมากขึ้น ทั้ง ๆ ที่สหรัฐอเมริกาได้เข้าเป็นสมาชิกในข้อตกลงฉบับที่ 5 ด้วย เดิมสหรัฐอเมริกาไม่เคยเห็นชอบในหลักการของข้อตกลงดีบุกระหว่างประเทศมาตั้งแต่ต้น

ปัญหาสำคัญของข้อตกลงดีบุกระหว่างประเทศก็คือ ประเทศผู้ผลิตและผู้ใช้รายสำคัญมิได้เข้าเป็นสมาชิก เช่น ในระยะแรก ๆ จีน รัสเซีย และสหรัฐอเมริกา มิได้เข้าเป็นสมาชิก

ในยุคหลังสงครามโลกครั้งที่สองนี้ ได้เริ่มมีการจำกัดการส่งออกครั้งแรกเมื่อวันที่ 15 ธันวาคม พ.ศ.2500 ในไตรมาสแรก ได้กำหนดโควตาการส่งออกไว้เพียง 71.5 เปอร์เซ็นของการผลิตในรอบปีที่แล้ว มาตลอดปี พ.ศ.2501 คณะมนตรีดีบุกได้ตัดโควตาลงไปอีก โดยกำหนดโควตาส่งออกในระดับเพียง 53 เปอร์เซ็นของสถิติการผลิต ในระหว่างปลายปี พ.ศ. 2501 นี้ ทางคณะมนตรีดีบุกต้องพยายามหาทางกีดกันมิให้ดีบุกจากประเทศจีนส่งผ่านรัสเซียเข้าไปยังตลาดยุโรปตะวันตก

ในปี พ.ศ. 2504 สหรัฐอเมริกา มีดีบุกอยู่ในกองทุนสำรองยุทธปัจจัย ถึง 349,000 ตัน ซึ่งเท่ากับผลผลิตของโลกประมาณ สองปีครึ่ง

ในปี พ.ศ. 2501 ในระหว่างที่ใช้ข้อตกลงดีบุกฉบับที่ 1 นั้น ผมได้มีโอกาสได้หยุดพักงานเป็นเวลา 6 เดือน ตามแบบสัญญาที่บริษัทลอนดอนทิน คอร์ปอเรชั่นใช้กับชาวอังกฤษ คือ ให้ออกไปทำงานในต่างประเทศเป็นเวลา 3 ปี แล้วให้กลับไปอยู่อังกฤษเป็นเวลา 6 เดือน และตรวจสุขภาพเรียบร้อยก็จะกลับไปทำงานในต่างประเทศได้อีก 3 ปี

ในระหว่างที่พักอยู่ที่กรุงลอนดอน ในประเทศอังกฤษนั้น ผมได้มีโอกาสพบ ดร.ป๋วย อึ้งภากรณ์ ซึ่งทำหน้าที่เป็นที่ปรึกษาเศรษฐกิจของสถานเอกอัครราชทูตไทยในกรุงลอนดอน ดร.ป๋วย ทำหน้าที่เป็นผู้แทนไทยในคณะมนตรีดีบุก (ITC) ที่ตั้งขึ้นตามสัญญาข้อตกลงดีบุกระหว่างประเทศ (ITA) ดร.ป๋วยได้ขอให้ผมเข้าประชุมด้วย ในฐานะที่ปรึกษาเพราะเห็นว่าผมเป็นวิศวกรทำงานอยู่ในเหมืองแร่ดีบุกในประเทศไทย

ปัญหาใหญ่ของคณะมนตรีดีบุก ในปี พ.ศ.2501 นั้น อยู่กับสหรัฐอเมริกา ซึ่งมิได้เป็นสมาชิกข้อตกลงดีบุกระหว่างประเทศ สหรัฐอเมริกาได้เคยแสดงท่าทีไม่พอใจต่อการรวมหัวพยุงราคาดีบุกมานานแล้ว เพราะสหรัฐอเมริกาเป็นผู้ใช้ดีบุกมากที่สุดในโลก แต่ไม่มีเหมืองแร่ดีบุกในประเทศของตนเอง ส่วนในต่างประเทศนั้นก็มีอยู่ไม่กี่แห่ง ฉะนั้นสหรัฐอเมริกาจึงไม่พอใจในการรวมหัวกันระหว่างอังกฤษกับเนเทอร์แลนด์ ซึ่งเป็นทั้งผู้ใช้ดีบุกและเป็นเจ้าของเหมืองแร่ในมะลายาและสุมาตรา

ในระหว่างสงครามโลกครั้งที่สอง สหรัฐอเมริกาต้องประสบกับภาวะขาดแคลนดีบุกอย่างร้ายแรง เพราะญี่ปุ่นได้ยกทัพเข้ายึดครองประเทศผู้ผลิตในเอเชียอาคเนย์ เมื่อเลิกสงครามแล้ว สหรัฐอเมริกาจึงได้ตั้งโครงการยุทธปัจจัย ซื้อเก็บดีบุกไว้เป็นปริมาณเกินกว่าสามแสนตัน เพื่อเตรียมรับสงครามที่อาจเกิดขึ้นได้ในอนาคต

แต่เมื่อการวิวัฒนาการทางอาวุธนิวเคลียร์ได้รุดหน้าไปมาก ก็เป็นที่เชื่อว่าสงครามในอนาคตคงจะไม่ยืดเยื้อเหมือนสงครามโลกครั้งที่หนึ่งหรือครั้งที่สอง การเก็บดีบุกไว้เป็นปริมาณมากดังกล่าวจึงเกินความจำเป็น

ในวงการอุตสาหกรรมดีบุก จึงเปรียบดีบุกสำรองยุทธปัจจัย ของสหรัฐอเมริการ เหมือนดาบของดาโมคลิส (DAMOCLES)

ดาโมคลิส เป็นขุนนางรับใช้ของกษัตริย์กรีกชื่อ ไดโอนิซิอุส ที่เมืองไซราคูเซ เมื่อสองพันปีเศษมาแล้ว คาโมคลิสชอบพูดสรรเสริญเยินยอถึงความสุขของกษัตริย์ จนไดโอนิซิอุสทนไม่ได้วันหนึ่งจึงเชิญคาโมคลินมาร่วมโต๊ะเสวย แต่ที่เหนือที่นั่งของดาโมคลิสนั้นมีดาบแขวนไว้ด้วยเส้นผมเพียงเส้นเดียว จะหยุดตกลงมาเมื่อใดก็ได้ เพื่อแสดงให้เห็นว่า ความสุขสบายของกษัตริย์นักรบโบราณนั้น ล่อแหลมต่ออันตรายเหมือนดาบแขวนอยู่เหนือหัว ซึ่งหลุดลงมาแทงตายเมื่อใดก็ได้

ฉะนั้นในปี พ.ศ.2501 นั้น หน้าที่สำคัญของคณะมนตรีดีบุก คือการหาทางมิให้สหรัฐอเมริกาปล่อยดีบุกจากปริมาณสำรองยุทธปัจจัยออกสู่ท้องตลาดเป็นปริมารมากจนทำให้ราคาดีบุกตกต่ำ

เมื่อผมกลับมาจากอังกฤษ ในเดือนตุลาคม พ.ศ.2501 ไม่กี่วัน ก็มีเหตุการณ์แปลกประหลาดเกิดขึ้น คือ วันหนึ่งผู้ใหญ่บ้านที่เกาะแก้ว ซึ่งทำหน้าที่เป็นผู้ดูแลที่ดินของบริษัทชะเทิร์นคินตา คอนโซลิเดเต็ด ลิมิเต็ด ได้มารายงานว่า ในช่วงกลางคืนหลายวันมาแล้วได้มีรถบรรทุกเอาแร่ดีบุกมาลงที่โรงล้างแร่ ของเหมืองของผู้รับเหมาที่สะปำใกล้ ๆ เกาะแก้ว ถ้าผู้รับเหมาจะไม่ซื่อตรงต่อบริษัทก็น่าจะแอบขนดีบุกออกไปจากเหมือง แต่การขนแร่ดีบุกจากที่อื่นมาเข้าโรงล้างในเขตเหมืองของบริษัทเช่นนี้ย่อมเป็นเรื่องผิดปกติ ผมจึงได้ถือโอกาสคุยกับผู้จัดการของบริษัทผู้รับเหมา ผู้จัดการอธิบายว่า ที่จำเป็นต้องขนแร่ดีบุกจากที่อื่นมายังเหมืองที่เกาะแก้วนั้น ก็เพราะว่าเกิดน้ำท่วมในเหมือง แร่ดีบุกที่เก็บเอาไว้รอเรือจึงเปียกต้องเอามาย่างให้แห้ง แร่ดีบุกที่ขนมานั้นเป็นของเพื่อนที่ซื้อเตรียมส่งออกในเรือที่เช่ามาพิเศษและเรือที่เช่ามาพิเศษและเรือก็จะมาถึงในเร็ววันนี้ ผู้จัดการการรับรองว่าแร่ดีบุกของเพื่อนที่นำมาย่างนั้น ใส่กระสอบพิเศษไม่ปะปนกับแร่ดีบุกที่ผลิตจากประทานบัตรของบริษัท พฤศจิกายนต้นเดือนพฤศจิกา พ.ศ.2501 นายดักลัส ยิวส์ ผู้แทนบริษัทแองโกล-โอเรียบเตล (มาลายา)
ลิมิเต็ด ได้บินมาถึงภูเก็ต เมื่อทราบข่าวว่า มีการเตรียมการลักลอบดีบุกเป็นจำนวนมากจากภูเก็ต นายดักลัส ยิวส์ ก็ได้ไปดูเรือลำเลียงหลายสิบลำที่เตรียมบรรทุกแร่ดีบุกไว้เต็มเพียบในคลองท่าจีน ในระหว่างนั้นได้มีนายทหารบกชั้นนายพันผู้หนึ่งได้มาพบผมและขอให้ผมอย่าได้มีส่วนในการขัดขวางหรือรายงานการลักลอบแร่ดีบุกครั้งสำคัญนี้ โดยอ้างว่าเป็นคำสั่งของผู้ใหญ่

ผมมีกำหนดว่า จะพานายดักลัส ยิวส์ เดินทางไปตรวนเมืองที่ร่อนพิบูลย์ แต่เมื่อเดินทางไปเกือบถึงคลองท่อมในจังหวัดกระบี่ ก็ปรากฏว่า คอสะพานขาดเพราะน้ำท่วม ผมจึงต้องพานายดักลัส ยิวส์ กลับภูเก็ตและค้างคืนที่บ้านผมที่ซอยสะพานหิน

รุ่งขึ้นเช้า นายดักลัส ยิวส์ ตื่นเต้นใหญ่ เพราะเห็นเรือสินค้าลำใหญ่มาทอดสมออยู่หน้าอ่าวทุ่งคาหน้าบ้าน นายดักลัส ยิวส์ ได้ขอให้ผมเอาเรือยนต์ออกไปดูเรือสินค้าลำนั้น แต่ผลปฏิเสธและว่าเรามีธุระที่ต้องทำ คือ เดินทางไปตรวจเหมืองที่พังงา อย่างไรก็ดี เมื่อเรากลับจากพังงาแล้ว นายเทอร์รี ไพเนอร์ วิศวกรของบริษัทอ่าวขามติน จำกัด เล่าให้ฟังว่า ได้ออกไปดูเรือสินค้าลำใหญ่นั้น ปรากฏว่าชื่อมิเทอรา มาริโก และมีเรือลำเลียงบรรทุกดีบุกไปส่งเป็นจำนวนมาก

หลังจากเหตุการณ์นี้เกิดขึ้นไม่กี่วัน ร.ต.อ.เสน่ห์ สิทธิพันธ์ จากกรุงเทพฯ ก็ได้แวะมาพบผม และขอรายละเอียดเกี่ยวกับการลักลอบขนแร่ดีบุกครั้งใหญ่นี้ ผมก็ได้เรียนให้ทราบว่า ผมไม่ทราบรายละเอียด แต่เป็นการลักลอบแบบเปิดเผย ก็น่าที่ทางฝ่ายตำรวจจะสืบหาข้อมูลจากหน่วยราชการต่าง ๆได้โดยตรง

เมื่อผมไปเล่นเทนนิสที่ด่านศุลกากร เจ้าหน้าที่ศุลกากรก็ยังบอกผมว่า สงสารผมจริงที่ต้องเสียภาษีขาเข้าอย่างสูงที่ผมเอารถยนต์กลับมาจากอังกฤษ เพราะทางราชการเก็บภาษีขาเข้าตามขนาดความจุคิดเป็น ซี.ซี. ของเครื่องยนต์ ในขณะที่พ่อค้าแร่ดีบุกสามารถขนแร่ดีบุกออกนอกได้โดยไม่ต้องเสียค่าภาคหลวงและภาษีการค้าแต่อย่างใด เจ้าหน้าที่ศุลกากรยังยอมรับว่าได้รับเงินพิเศษจากเถ้าแก่ผู้อำนวยการขนแร่ดีบุกออกนอกประเทศครั้งนั้น จะไม่รับก็ไม่ได้ก็เพราะผู้ใหญ่อยู่หลังฉาก เจ้าหน้าที่โลหกิจที่เล่นเทนนิสอยู่ด้วย เล่าว่าได้รับแจกเงินพิเศษเช่นกัน เพราะถ้าไม่รับก็คงเดือดร้อนเป็นแน่ เพราะเถ้าแก่คงจะรายงานให้ผู้ใหญ่ทราบ

หลังจากการลักลอบแร่ดีบุกนอกโควตา ในเดือนพฤศจิกายนนั้น หนังสือพิมพ์ต่างประเทศ โดยเฉพาะหนังสือพิมพ์ในมาเลเซีย สิงคโปร์ และฮ่องกง ได้ลงข่าวการลักลอบครั้งนี้อย่างเกรียวกราว ในเดือนธันวาคม พ.ศ.2502 คณะมนตรีดีบุกในกรุงลอนดอนได้ประชุมในเรื่องการลักลอบส่งแร่ดีบุกออกไปจากประเทศไทย ดังปรากฏในเอกสารของคณะมนตรีดีบุก เลขที่ 331 EXCOM.NO.35 (REVISED) DECEMBER 3, 1959 PAGE 15 – ILLEGAL SHIPMENTS OF TIN FROM THAILAND.

นายชาลส์ สก็อตต์ ผู้แทนโรงถลุงอิสเทิร์นสเมลติง ได้เล่าให้ฟังว่า ได้มีผู้ร้องเรียนเรื่องนี้ต่อคณะมนตรีดีบุก ดร.ป๋วย อึ้งภากรณ์ ผู้แทนไทยได้ลุกขึ้นตอบปฏิเสธว่า ด้วยเกียรติยศของประเทศไทยแล้วเป็นไปไม่ได้ ที่ทางรัฐบาลจะปล่อยให้มีเหตุการณ์เช่นนั้นเกิดขึ้น หลังจากการประชุมแล้ว เซอร์วินเซนต์ เคล ทูโฟ ผู้แทนอังกฤษได้บอก ดร.ป๋วยว่าท่านนั้นซื่อเซ่อ บริสุทธิ์ หรือไม่ก็เป็นนักแสดงชั้นเยี่ยม เพราะในที่ประชุมนั้น ดร.ป๋วยนั่งอยู่กับอธิบดีโลหกิจและเจ้าของเหมืองจากภูเก็ต ตะกั่วป่า ซึ่งเป็นที่ปรึกษาพิเศษอีก 2 คน

ผลที่สุดในเรื่องนี้ ประเทศไทยก็ยอมรับว่าได้มีการลักลอบส่งแร่ดีบุกออกนอกประเทศจริง และประเทศไทยยอมให้คณะมนตรีลงโทษโดยพฤตินัย โดยให้ประเทศไทยนำเงินจำนวน 400,000 ปอนด์สเตอริงเข้าสมทบในมูลภัณฑ์กันชน ภายในวันที่ 31 มีนาคม พ.ศ. 2503 โดยคณะมนตรีจะไม่ติดใจในเรื่องลักลอบส่งดีบุกออกนอกประเทศเมื่อเดือนพฤศจิกายน พ.ศ. 2501 อีกต่อไป

สำหรับปริมาณดีบุกที่ลักลอบส่งออกในครั้งนั้น กล่าวกันว่ามีถึง 1,400 ตัน แต่คณะมนตรีไม่อาจพิสูจน์ได้แน่นอน หลังจากที่ได้ตรวจสอบตัวเลขดีบุกที่มีการนำเข้าในสหรัฐอเมริกา ซึ่งเป็นจุดหมายปลายทางของเรือมิเทอรา มาริโก ในเที่ยวนั้น

ในเรื่องนี้ ดร.พร้อม วัชรคุปต์ ได้ประท้วงการตั้งงบประมาณไปใช้ช่วยการลักลอบส่งแร่ดีบุกออกนอกประเทศ โดยขอย้ายจากกรมโลหกิจไปจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

หนังสือพิมพ์ประชาธิปไตย ฉบับลงวันที่ 2 เมษายน พ.ศ. 2507 ได้กล่าวสรรเสริญผู้แทนไทยในคณะมนตรีดีบุก ที่สามารถทำให้การลงโทษนั้นอยู่ในสถานเบาบาง และกล่าวว่า “นอกจากจะเขียนขึ้นด้วยความเคารพในตัวท่านผู้มีการเหมืองแร่ของประเทศไทยแล้ว ก็เพื่อเรียนให้ท่านทราบด้วยว่า ผู้ที่รู้เรื่องการควบคุมแร่ดีบุกนั้น หาได้มีตัวอยู่แต่เจ้าหน้าที่ในกรมทรัพยากรธรณีเท่านั้นไม่ ผู้ติดตามเฝ้าดูแลผลประโยชน์ของประเทศในด้านนี้ยังมีอยู่ทั่วไป และรู้เรื่องอะไรดี ๆ ไม่น้อยกว่าท่านผู้มีหน้าที่โดยตรง และบางท่านก็ยังมีหลักฐานอยู่ในมือพร้อมมูล เพราะฉะนั้นถ้าจะต้องการให้เกิดผลดีแก่ชาติบ้านเมืองและช่วยกันเก็บช่วยกันหาสิ่งตกหล่น หรือแม้ที่สุกสิ่งมิบเม้มเอาไปนั้นมาเข้ากองกลางของชาติให้หมด ก็ควรขอความร่วมมือจากบุคคลที่กล่าวนั้นด้วย โดยเฉพาะอย่างยิ่งคือข้าราชการฝ่ายการแร่ ฝ่ายปกครอง ฝ่ายปราบปราม ฝ่ายกรมศุลกากร ตลอดจนบรรดาผู้ผลิตแร่ ผู้รับเหมาส่งแร่ ในท้องที่เกิดเหตุ ย่อมรู้เรื่องเป็นอย่างดีทั้งสิ้น ปัญหาอยู่ที่ว่า ถึงเวลาแล้วหรือยังที่ว่าจงทำดี จงทำดี จงทำดี และรัฐบาลจะเอาจริงสักเพียงใด”

หนังสือพิมพ์ประชาธิปไตย ฉบับวันที่ 6 เมษายน พ.ศ. 2507 เขียนไว้ว่า “ตามที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพัฒนาแห่งชาติและอธิบดีกรมทรัพยากรธรณี แถลงต่อผู้สื่อข่าวหนังสือพิมพ์ เกี่ยวแก่กรณีประเทศไทยส่งดีบุกออกเกินโควตา จนเป็นเหตุให้รัฐบาลต้องวางเงินในมูลภัณฑ์กันชนเพิ่มอีก 400,000 ปอนด์นั้น ไม่ได้ความกระจ่างแจ้งแก่ประชาชนเพียงพอนัก เพราะรู้สึกว่ามีอะไรลึกลับบางอย่างที่ไม่ได้เปิดเผยออกมา ทั้งข้อความบางตอนที่อธิบดีกรมทรัพยากรธรณีชี้แจงนั้นเมื่อฟังดูแล้ว รู้สึกว่ามีปัญหาที่ข้องใจอยู่หลายประการ ทั้งนี้ถ้าจะพิจารณาตามวิธีปฏิบัติแล้ว กรมทรัพยากรธรณีหรือกรมโลหกิจในขณะนั้นเป็นผู้ควบคุมการส่งดีบุกออกไม่ให้เกินโควตา ที่คณะกรรมการดีบุกแห่งโลกจัดสรร ฉะนั้น ดีบุกที่ส่งออกจะเกินโควตาไม่ได้ แต่ปรากฏทางปลายทางว่าเกินโควตา ต้องเป็นเพราะมีการลักลอบส่งดีบุกออก หรือมิฉะนั้น ก็ทางกรมทรัพยากรธรณีรู้เห็นเป็นใจให้ส่งออกอย่างใดอย่างหนึ่ง แต่อธิบดีกรมทรัพยากรธรณีชี้แจงว่า ดีบุกที่ส่งออกนั้นไม่ใช้ของรัฐบาล และรัฐบาลไม่ได้สมรู้ร่วมคิดด้วย ก็เป็นอันฟังได้ว่า เป็นการลักลอบส่งออก แต่ถ้อยแถลงที่ว่า ดีบุกที่เกินโควตานั้นอาจจะไม่ได้ออกจากประเทศไทยก็ได้นั้น
เป็นเหตุผลที่รับฟังได้ยากสักหน่อย เพราะถ้าไม่ใช่ดีบุกที่ส่งออกจากประเทศไทย ผู้แทนไทยในคณะกรรมการดีบุกแห่งโลกนี้ก็ไม่มีความจำเป็นอันใดที่จะต้องรักษาชื่อเสียง หรือแสดงความบริสุทธิ์ ด้วยการนำเงิน 400,000 ปอนด์ไปเพิ่มมูลภัณฑ์กันชน ที่ต้องนำเงินไปเข้ามูลภัณฑ์กันชนเพิ่มขึ้นก็เพราะปรากฏในคำสั่งถ้อยแถลงของรัฐมนตรีเองว่า ดีบุกที่ส่งออกไป (จากประเทศไทย) ปรากฏปลายทางว่า “เกินโควตาที่ได้รับ” จึงไม่มีปัญหาในเรื่องที่ว่าดีบุกนั้นได้ส่งจากประเทศไทยหรือไม่ ปัญหามีเพียงว่า ใครเป็นผู้ส่งดีบุกจำนวนที่เกินโควตานั้น”

“ความจริงเมื่อรัฐบาลต้องแสดงความบริสุทธิ์ใน ด้วยการนำเงินไปเข้ามูลภัณฑ์กันชนเพิ่มขึ้นถึง 400,000 ปอนด์ รัฐบาลควรจะต้องสืบสวนหาตัวผู้ลักลอบส่งดีบุกเกินโควตาทำให้รัฐบาลเสียหายให้ได้ แต่ไม่ปรากฏว่าได้มีการสอบสวนแต่ประการใด ซึ่งแสดงให้เห็นว่า ต้องมีอะไรผิดปกติอย่างแน่นอน อันที่จริงการสืบสวนหาตัวผู้ลักลอบนี้ไม่เป็นการยาก เมื่อทางคณะกรรมการดีบุกโลกรู้ว่ามีการส่งดีบุกเกินโควตา ก็หมายความว่ารู้ตัวผู้ซื้อ เมื่อรู้ตัวผู้ซื้อก็ต้องรู้ตัวผู้ขาย เพราะต้องมีผู้รับเงิน เมื่อรู้ตัวผู้รับเงินก็ต้องรู้ตัวผู้ส่งดีบุกออก ดังนี้เป็นต้น”

“แต่อย่างไรก็ดี โดยที่ปรากฏว่ารัฐบาลไม่ได้สมรู้ร่วมคิดในการนี้ ก็หมายความว่า การส่งดีบุกออกเกินโควตาครั้งนี้ เป็นการลักลอบทำ แต่ไม่ได้เสียค่าภาคหลวงแร่ ทางกรมทรัพยากรธรณีก็ย่อมรู้ว่าเกินโควตาและต้องไม่ยอมให้ส่งออก เพราะถ้าให้ส่งออกก็เป็นการสมรู้ร่วมคิด แต่เท่าที่ทราบกัน แร่ที่ลักลอบส่งออกมีจำนวน 1,400 ตัน คิดเป็นคาภาคหลวงประมาณ 8 ล้านบาท อายุความที่จะเรียกร้องค่าภาคหลวงนี้มีกำหนด 10 ปี จนบัดนี้ยังไม่ขาดอายุความ เราจึงเสนอให้รัฐบาลสอบสวนหาตัวผู้ลักลอบส่งดีบุกออกรายนี้ ให้สิ้นข้อสงสัยกันเสียที ซึ่งไม่เป็นการยากอะไรนัก เพราะใครทำเหมืองแร่ที่ไหนก็รู้กันอยู่ และผู้ที่ลักลอบส่งดีบุกออกรายนี้ ต้องเป็นบริษัทอิทธิพล มิฉะนั้นจะทำไม่ได้เพราะดีบุกไม่ใช้เพชรพลอยจะได้ซุกซ่อนเอาไปได้ง่าย ๆ ถ้ากรมทรัพยากรธรณีสอบสวนไม่ได้ ก็ควรเชิญนายร้อยโท (นอกราชการ) ผู้เปิดเผยเรื่องนี้ต่อหนังสือพิมพ์มาสอบถาม คงจะได้ข้อเท็จจริงได้อย่างละเอียด หรือถ้าจะให้รางวัลผู้นำความมาแจ้งสัก 10 เปอร์เซ็นต์ของค่าภาคหลวง ก็จะมีผู้นำแจ้งข้อเท็จจริงนับสิบ ๆ รายทีเดียว”

“เราไม่ทราบว่า การลักลอบส่งดีบุกออกรายนี้ จะมีความเกี่ยวพันกับเหมืองโชนที่จังหวัดพังงาหรือไม่ แต่เป็นที่แน่นอนว่า เหมืองโชนนี้เป็นของบริษัทผู้มีอิทธิพล เพราะปรากฏว่า ได้ใช้เงินและคนของราชการไปทำถนนขึ้นเขาเข้าสู่ตัวเมือง เป็นมูลค่าถึง 10 ล้านบาท ยิ่งกว่านั้นองค์การเหมืองแร่ยังต้องรับเช่าเหมืองนี้ด้วย และมีข่าวว่าต้องเสียค่าเช่าเป็นรายปี ปีละ 500,000 บาท แต่รองอธิบดีกรมทรัพยากรธรณีชี้แจงแก่ผู้สื่อข่าวเมื่อปลายสัปดาห์ก่อนโน้นว่า เสียค่าเช่าเป็นเงิน 9% ของกำไร หรือแร่ที่ขายได้ ถ้าไม่มีแร่ก็ไม่ต้องเสียค่าเช่า ก็เป็นอันรับฟังได้ว่า เป็นจริงตามที่รองอธิบดีกรมทรัพยากรธรณีชี้แจง แต่ไม่ทราบว่า องค์การเหมืองแร่มีภาระผูกพันอย่างอื่นได้บ้างหรือไม่ ทราบแต่ว่าเมื่อเช่ามาแล้วองค์การเหมืองแร่ก็ต้องให้เอกชนเช่าช่วงไปทำอีกต่อหนึ่ง ผู้เช่าช่างทำอยู่ได้ไม่นานก็ต้องเลิกเช่าเพราะขาดทุน องค์การเหมืองแร่ก็ให้คนอื่นรับช่วงไปทำอีก นี่แสดงว่าที่องค์การเหมืองแร่เช่าเหมืองนี้มานั้น ไม่ใช่เพราะเห็นว่าเหมืองนี้ดี เพราะถ้าเหมืองดีจริงคงไม่มีการเปลี่ยนมือกันมาหลายครั้ง และองค์การเหมืองแร่คงทำเองแทนที่จะให้คนอื่นเช่าช่วง นอกจากนั้นเขาว่าองค์การเหมืองแร่ถูกบังคับให้เช่า”

อย่างไรก็ดี ในเรื่องการลักลอบส่งแร่ดีบุก 1,400 ตันออกนอกประเทศ เมื่อเดือนพฤศจิกายน พ.ศ. 2501 นั้นได้ปิดฉากลง เมื่อในที่สุดทางราชการได้เรียกเจ้าของประทานบัตรและพ่อค้าแร่บางคนมาจ่ายค่าภาคหลวงที่หลีกเลี่ยงไว้นั้น นอกจากพวกที่มีหลักฐานพาดพิงไปถึงผู้ใหญ่เท่านั้นที่รอดพ้นไปได้

เมื่อมีการลักลอบขนาดใหญ่เกิดขึ้นเป็นตัวอย่างเช่นนั้น การลักลอบส่งแร่ดีบุกออกนอกประเทศก็ได้กลายเป็นอุตสาหกรรมสำคัญของประชาชนทั่วไปในภูเก็ต พังงา และตะกั่วป่า เพราะนอกจากจะเป็นการหลีกเลี่ยงโควตาของคณะมนตรีดีบุกแล้ว ก็ยังเป็นการยกเว้นค่าภาคหลวงดีบุก ซึ่งประเทศไทยเก็บในอัตราสูงที่สุดในโลกด้วย

ยิ่งในยุคที่มีการทำเหมืองเรือดูดอย่าแพร่หลายในเขตประทานบัตรเดิมของบริษัทเทมโกที่บ้านบ่อดาน เขาปิหลาย และท้ายเหมือง ตลอดจนประทานบัตรเดิมของบริษัทชะเทิร์นคินตา คอนโซลิเดเต็ด ลิมิเต็ด และบริษัทเรือขุดแร่บางม่วง จำกัด นอกฝั่งหมู่บ้านน้ำเค็ม การลักลอบส่งแร่ดีบุกก็ได้แพร่หลาย จนกระทั่งสิงคโปร์ต้องตั้งโรงถลุงรับแร่ดีบุกจากประเทศไทย บริษัทค้าแร่ข้ามชาติต้องจ้างเรือสินค้ามาจอดนอกน่านน้ำไทยเพื่อรับดีบุกปลอดภาษีจากประเทศไทย

ข้อตกลงดีบุก ที่ใช้ในยุคหลังสงครามโลกครั้งที่สอง มีอายุฉบับละ 5 ปี บางครั้งก็มีการต่ออายุทีละหนึ่งปีบ้าง เมื่อข้อตกลงดีบุกฉบับที่ 5 สิ้นสุดลงนั้นตลาดดีบุกก็อยู่ในภาวะซบเซา คณะมนตรีไม่สามารชำระบัญชีขายมูลภัณฑ์กันชนได้ เพราะโดยปกติแล้วเมื่อสัญญาสิ้นอายุลง คณะมนตรีก็จะขายดีบุกในมูลภัณฑ์กันชน เพื่อนำเงินคืนสมาชิกและเริ่มเก็บเงินสมทบซื้อดีบุกเข้ามูลภัณฑ์กันชนใหม่ ยิ่งกว่านั้นสหรัฐอเมริกาซึ่งเป็นสมาชิกผู้ใช้ดีบุกในข้อตกลงฉบับที่ 5 ก็ไม่ประสงค์ที่จะเป็นสมาชิกต่อไป ส่วนประเทศผู้ผลิตที่สำคัญในอเมริกาใต้คือ โบลิเวีย ก็ไม่ประสงค์ที่จะเป็นสมาชิกต่อไปอีก เพราะมีประเทศบราซิลซึ่งมิได้เป็นสมาชิกกำลังเริ่มผลิตดีบุกแข่งขัน

ในฐานะที่ผมเป็นนายกสมาคมเหมืองแร่สยามนานาชาติ ซึ่งเดิมคือ สมาคมเหมืองแร่อังกฤษ ผมจึงได้ข้อร้องให้ทางรัฐบาลพิจารณาว่า เมื่อเราไม่สามารถปฏิบัติตามเงื่อนไขของข้อตกลงได้ ก็ไม่เป็นการสมควรที่ประเทศไทยจะเข้าเป็นสมาชิกในข้อตกลงฉบับที่ 6 นายกสมาคมเหมืองแร่อื่น ๆ เช่น สมาคมอุตสาหกรรมเหมืองแร่ (ภูเก็ต) และสมาคมเหมืองแร่ไทย ก็มีความคิดเห็นเช่นเดียวกัน สมาคมทั้งสามยังได้เน้นให้เห็นอีกว่า การเป็นสมาชิกในองค์การนานาชาตินั้น เป็นการสิ้นเปลืองเงินโดยมิได้ประโยชน์คุ้มค่า แต่อย่างไรก็ดีทางราชการก็มิได้ให้ความสำคัญต่อข้อคิดเห็นของสมาคมเหมืองแร่ทั้งสาม และได้เข้าเป็นสมาชิกในข้อตกลงดีบุกระหว่างประเทศ ฉบับที่ 6

การลักลอบส่งดีบุกออกนอกประเทศยังคงก้าวหน้าไปเรื่อย ๆ ในระหว่างอายุสัญญาฉบับใหม่นี้ ประเทศบราซิลซึ่งมิได้เป็นสมาชิกก็ได้กลับกลายเป็นประเทศผู้นำในการผลิตแร่ดีบุก ในระหว่างที่ประเทศสมาชิกผู้ผลิตช่วยกันจำกัดการผลิตของตน เพื่อพยุงราคา นอกจากนั้นยังช่วยกันออกเงินสมทบซื้อดีบุกเข้าเก็บไว้ในมูลภัณฑ์กันชน

ในปี พ.ศ. 2528 คณะมนตรีดีบุกอนุมัติให้ผู้จัดการมูลภัณฑ์กันชนใช้ดีบุกที่เก็บสำรองไว้ไปจำนำ เพื่อหาเงินมาซื้อดีบุกต่อ สัญญาณอันตรายก็ปรากฏเด่นชัดขึ้น ในเดือนกันยายน พ.ศ. 2528 ผมในฐานะประธานสภาการเหมืองแร่ได้มีโอกาสไปประชุมคณะมนตรีดีบุกครั้งแรก หลังจากปี พ.ศ. 2501 ที่ผมพยายามหลีกเลี่ยงการไปที่เกี่ยวกับคณะมนตรีดีบุก ก็เพราะยังรู้สึกละอายต่อการที่ประเทศไทยได้ฝ่าฝืนเงื่อนไขของข้อตกลงมาโดยตลอด

สำหรับประเทศไทยนั้น นั้นถึงแม้ว่าเป็นสมาชิกเก่าแก่มาโดยตลอด แต่พฤติกรรมของประเทศไทยที่ปรากฏเด่นชัดในระหว่างข้อตกลงฉบับที่ 5 ก็แสดงว่าประเทศไทยไม่มีเจตนาที่จะสนับสนุนหลักการของข้อตกลงดีบุกระหว่างประเทศ การลักลอบส่งแร่ดีบุกออกนอกประเทศนอกจากจะทำให้รัฐบาลขาดรายได้จากค่าภาคหลวงโดยตรง ในคณะมนตรีดีบุกผมก็มีความรู้สึกเช่นเดียวกันว่าถ้ารัฐบาลไม่สามารถปฏิบัติตามเงื่อนไขของข้อตกลงได้ หรือไม่สามารถควบคุมราษฎรมิให้ฝ่าฝืนข้อบังคับได้ ก็ไม่ควรทนเป็นสมาชิกให้เป็นที่อับอายต่อชาวโลก แต่ในการไปประชุมในเดือนกันยายน พ.ศ. 2528 นั้น ผมได้ดูอวสานของมนตรีดีบุก คล้าย ๆ กับไปงานศพของคนที่รู้จักกันมานานและมีอายุเท่าๆ กัน

เมื่อเปิดประชุม ได้มีผู้แทนของประเทศผู้ใช้ดีบุกท่านหนึ่ง ได้ขอให้ผู้จัดการมูลภัณฑ์กันชนแถลงบัญชี ประธานในที่ประชุมก็แถลงว่า ถ้ามีการแถลงบัญชีกันก็ต้องเป็นการประชุมลับ ขอให้ที่ปรึกษาของประเทศต่าง ๆ รวมทั้งผมด้วยต้องออกนอกห้องประชุม

ต่อมาในปลายเดือนตุลาคม พ.ศ. 2528 ผู้จัดการกองทุนมูลภัณฑ์กันชนดีบุก ก็ต้องยอมประกาศว่า ไม่มีเงินซื้อดีบุกเพื่อพยุงราคาได้อีกต่อไปแล้ว จนตลาดโลหะดีบุกที่ลอนดอนและตลาดดีบุกที่กัวลาลัมเปอร์ต้องหยุดพักการซื้อขายดีบุก ตั้งแต่วันที่ 24 และ 25 ตุลาคม พ.ศ. 2528 ตามลำดับเป็นต้นไป ดีบุกที่เคยมีราคาพื้นอย่างต่ำสุดในราคา 29.15 เหรียญมาเลเซียต่อกิโลกรัมก็ตกดิ่งลงต่ำกว่า 14 เหรียญ ธนาคารและพ่อค้าโลหะที่เป็นเจ้าหนี้ก็พยายามเรียกร้องให้คณะมนตรีชดใช้หนี้สินรวมกว่าเก้าร้อยล้านเหรียญสหรัฐอเมริกา การฟ้องร้องและการต่อสู้คดีนี้ ถ้าจะบันทึกไว้ก็คงจะเป็นบทความอันยาวยืด เพราะบรรดาสมาชิกข้อตกลงดีบุกระหว่างประเทศก็พยายามอ้างอภิสิทธิ์ทางการทูต ไม่ยอมชำระหนี้ที่ได้ไปยืมมา ดีบุกที่ได้จำนองไว้ก็ถูกปล่อยสู่ตลาดโลก ทำให้ราคาดีบุกไม่สามารถขยับขึ้นได้ตามราคาสินค้าอื่น ๆ

นอกจากความเสียหายทางหนี้สินดังกล่าวแล้ว ผู้ประกอบการทำเหมืองในประเทศไทยยังได้ชำระเงินมูลภัณฑ์ ในอัตราหาบละ 240 บาท โดยที่รัฐบาลออกหนังสือสำคัญไว้ให้ ซึ่งผู้ประกอบการทำเหมืองเป็นจำนวนมากก็เอาหนังสือสำคัญนี้ไปขายต่อให้ธนาคารหรือพ่อค่าแร่ แต่ขณะนี้ทางราชการยอมรับแล้วว่า หนังสือสำคัญมูลภัณฑ์กันชนตามข้อตกลงดีบุกระหว่างประเทศฉบับที่ 5 และฉบับที่ 6 ซึ่งเป็นใบรับเงินสมทบที่ส่งให้ในระยะเวลา 10 ปีแล้วนั้น ไม่มีค่าอะไรเลย บัดนี้คณะมนตรีดีบุกมีหนี้สินเกินกว่าทรัพย์สินอยู่มาก จึงมั่นใจได้ว่าจะไม่มีทางจ่ายเงินสมทบนั้นคืน ส่วนภาวะหนี้สินที่มีอยู่นั้น ก็ไม่ทราบว่าจะต้องเรียกเก็บโดยอ้างว่า เป็นการสมทบมูลภัณฑ์กันชนต่อไปอีกนานเท่าไร

เรื่องเกี่ยวกับความตกลงดีบุกระหว่างประเทศนี้ เป็นบทเรียนราคาที่แพง คิดเป็นเงินนับหมื่นล้านบาที่สอนให้รู้ว่า การแทรกแซงพยุงราคาในตลาดนั้น ทำได้สำเร็จเฉพาะในระยะสั้น ๆ และประเทศด้อยพัฒนาเช่นไทยนั้นไม่จำเป็นต้องเข้าเป็นสมาชิกในองค์การนานาชาติทุกองค์การ เพราะเราควรพิจารณาให้ละเอียดว่า เราพร้อมแล้วหรือยัง ที่จะปฏิบัติตามข้อบังคับเงื่อนไขขององค์การนั้น ๆ ความพร้อมนั้นควรจะรวมถึงความรับผิดชอบและความสามารถทางการเงินด้วย

 

 
< ก่อนหน้า   ถัดไป >

News

สมุดภาพเหมืองแร่

Counter

mod_vvisit_countermod_vvisit_countermod_vvisit_countermod_vvisit_countermod_vvisit_countermod_vvisit_countermod_vvisit_countermod_vvisit_countermod_vvisit_counter
mod_vvisit_counterวันนี้4165
mod_vvisit_counterเมื่อวาน3893
mod_vvisit_counterทั้งหมด11016000