Skip to content

Phuketdata

default color
Home arrow News arrow ถลางภูเก็จภูเก็ต arrow เกาะฝรั่งเศส : ราชัน กาญจนะวณิช
เกาะฝรั่งเศส : ราชัน กาญจนะวณิช PDF พิมพ์ อีเมล์
เขียนโดย ปาณิศรา ชูผล มทศ.   
พฤหัสบดี, 10 เมษายน 2008

เกาะฝรั่งเศส


ราชัน กาญจนะวณิช
----------------

ด้วยปรากฏว่ามีแผนที่เกาะภูเก็ตที่ชาวยุโรปสมัยก่อนพิมพ์ไว้ มักจะแสดงให้เห็นว่าเกาะเล็ก ๆ อีกเกาะหนึ่งในอ่าวพังงา ทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือของเกาะภูเก็ตและให้ชื่อไว้ว่า “เกาะฝรั่งเศส”

ทำไมจึงมีเกาะฝรั่งเศสมาตั้งอยู่ใกล้ๆ เกาะภูเก็ต และทำไมชาวยุโรปจึงเรียกเกาะเล็ก ๆ นี้ว่า เกาะฝรั่งเศส และเกาะนี้คนไทยเรียกชื่อว่าอะไร คำถามเหล่านี้น่าจะมีคำตอบ

นับตั้งแต่ชาวปอร์ตุเกสได้เดินเรืออ้อมอัฟริกาใต้เข้ามหาสมุทรอินเดีย และเข้ายึดเมืองมะละกาในแหลมมลายูได้ในปี พ.ศ.2052 (ค.ศ.1509) การติดต่อค้าขายระหว่างยุโรปกับเอเชียอาคเนย์ก็ได้เริ่มขึ้นอย่างจริงจัง อาศัยการสนับสนุนจากประกาศของสัตปาปาอเล็กซานเดอร์ที่ 6 ในปี พ.ศ.2023   (ค.ศ.1480) ซึ่งให้สเปญมีอิทธิพลในทวีปอเมริกา และให้ปอร์ตุเกสมีอิทธิพลในทวีปเอเชีย ชาวยุโรปชาติอื่น ๆ จึงยังคงเดินตามหลังสเปญและปอร์ตุเกส

 

หลังจากการเข้ายึดมะละกาได้แล้ว ชาวปอร์ตุเกสจึงได้ส่งทูต ดูอาร์เท เฟอร์นันเด (DUARTE FERNANDEZ) เข้ามาติดต่อกับไทยที่กรุงศรีอยุธยา ในปี พ.ศ.2054 (ค.ศ.1511) และเริ่มทำสัญญาค้าขายกันในปี พ.ศ. 2059 (ค.ศ.1516) และได้เปิดการรับซื้อดีบุกจากเกาะภูเก็ต

ในปี พ.ศ.2081 (ค.ศ.1583) เฟอร์นันโด เมนเดซ์ ปินโต (FERNANDO MEMDEZ PINTO) ได้บันทึกไว้ว่ามีชาวปอร์ตุเกสอยู่ที่ปัตตานีถึง 300 คน

ความขัดแย้งทางศาสนาคริสเตียน โดยการนำของ มาร์ติน ลูเธอร์ (MARTIN LUTHER) จนกระทั่งสันตะปาปาลีโอที่ 10 ต้องประกาศขับไล่ มาร์ติน ลูเธอร์ ออกจากพระศาสนาในปี พ.ศ. 2063 (ค.ศ.1520) ได้ทำให้ชาวยุโรปตอนเหนือเช่น ชาวฮอลันดา ได้รับเอานิกายใหม่ ๆ ในศาสนาคริสเตียน และดิ้นรนพ้นจากอำนาจของนิกายโรมันคาทอลิก

ชาวฮอลแลนด์จึงเป็นชาติที่นับถือนิกายโปรแตสแตนท์ชาติแรกที่เดินเรือเข้ามายังเอเชียอาคเนย์ โดยได้เข้ามาตั้งหลักแหล่งในหมู่เกาะชวา และเริ่มติดต่อกับปัตตานีและกรุงศรีอยุธยา จนกระทั่งปี พ.ศ.2152 (ค.ศ.1609) ได้มีการส่งทูตไทยไปกรุงเฮก (THE HAGUE) ในประเทศฮอลแลนด์ และได้มีการทำสัญญาค้าระหว่างฮอลแลนด์กับไทยในวันที่ 12 มิถุนายน พ.ศ. 2160 (ค.ศ.1617) ส่วนชาวอังกฤษนั้นได้เข้ามาทีหลัง และติดตามมาด้วยชาวฝรั่งเศส

ในปี พ.ศ. 2207 (ค.ศ.1664) ในรัชสมัยสมเด็จพระนารายณ์ ชาวฮอลแลนด์ได้ใช้อำนาจบาตรใหญ่เอาเรือรบปิดปากแม่น้ำเจ้าพระยา และบังคับให้ฝ่ายไทยยอมจำนนต้องทำสัญญาลงวันที่ 10 สิงหาคม ยอมให้ชาวฮอลแลนด์มีอภิสิทธิ์แต่เพียงชาติเดียวในการผูกขาดซื้อหนังสัตว์ และบังคับมิให้ฝ่ายไทยว่าจ้างชาวจีนหรือชาวต่างชาติบางประเภทเป็นลูกเรือของเรือเดินทะเล ตลอดจนกำหนดมิให้ชาวฮอลแลนด์ขึ้นศาลไทย แต่ให้ศาลกงสุลฮอลแลนด์พิจารณาคดีตามกฎหมายฮอลแลนด์แทน และก็เชื่อว่าชาวฮอลแลนด์ได้เริ่มพยายามผูกขาดการซื้อดีบุกที่เกาะภูเก็ตในระยะเวลาเดียวกันด้วย

การใช้อำนาจของชาวฮอลันดาในครั้งนั้น ได้ทำให้ทางกรุงศรีอยุธยาเจ็บช้ำน้ำใจและพยายามหาทางลบล้างอำนาจของพวกฮอลันดาให้จงได้

ความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับฝรั่งเศสในรัชสมัยของสมเด็จพระนารายณ์นั้นเริ่มจากพระในศาสนาคริสนิกายโรมันคาทอลิกชาวฝรั่งเศสที่ได้เดินทางเข้ามายังกรุงศรีอยุธยา

ด้วยการสนับสนุนจากพระเจ้าหลุยส์ที่ 14 พระชาวฝรั่งเศสจึงได้ขยายกิจการเผยแพร่ศาสนาในประเทศอินเดีย ญวน และจีน แต่เมื่อเห็นว่าทางกรุงศรีอยุธยานั้นให้ความเป็นธรรมไม่รังเกียจศาสนาอื่น ๆ พระนิกายโรมันคาทอลิกจากฝรั่งเศสจึงได้ตัดสินใจตั้งสำนักในประเทศสยาม

ใน ปี พ.ศ.2207 (ค.ศ.1664) มอนซิเยอร์ ปายู (MGR. PALLU) หรือสังฆราชแห่งเฮลิโอโปลิส ได้เปิดสำนักสอนศาสนาต่างประเทศภาคตะวันออกขึ้นที่กรุงศรีอยุธยาโดยที่สมเด็จพระนารายณ์ได้ทรงพระราชทานที่ดินที่บ้านปลาเห็ดเป็นที่สร้างสำนักและต่อมาได้มีพระนิกายโรมันคาทอลิกจากฝรั่งเศสมาอยู่ประจำกว่า 20 องค์ นอกจากนั้นยังได้เปิดวัดคาทอลิกขึ้นที่บางกอก และพิษณุโลก

นอกจากพระสอนศาสนาแล้ว ที่บ้านปลาเห็ดที่อยุธยา ทางสำนักโรมันคาทอลิกยังได้จัดให้มีสถานพยาบาลขึ้น และได้ส่งมองซิเออร์ เรเน ชาร์บอนโน มาเป็นแพทย์ด้วยเมื่อฝรั่งเศสมีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับคนไทยมากขึ้น ชาร์บอนโน ก็ได้รับแต่ตั้งให้เป็นเจ้าเมืองภูเก็ต แต่ท่านเป็นเจ้าเมืองภูเก็ตอยู่ได้ไม่นานก็ได้ย้ายกลับไปกรุงศรีอยุธยา และก็ได้ทำหน้าที่เป็นแพทย์จนแก่เฒ่า อยู่ในประเทศสยามจนตลอดชีวิต ถึงแม้ในรัชสมัยต่อมาความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับฝรั่งเศสจะไม่ราบรื่น แต่ชาร์บอนโนก็ยังสามารถทำหน้าที่ได้โดยไม่ถูกจับกุมแต่อย่างใด ทั้ง ๆ ที่ชาวฝรั่งเศสส่วนมากจะถูกคุมขังและจองจำ

ตามหนังสือประวัติศาสตร์สยามของ นายดับลิว เอ.อาร์.วูดส์ อดีตกงสุลอังกฤษประจำจังหวัดเชียงใหม่ เขียนไว้ว่าหลังจากที่นายชาร์บอนโน ได้ย้ายจากภูเก็ตเข้าไปกรุงศรีอยุธยาแล้วนั้น ทางราชการได้แต่งตั้งให้ชาวฝรั่งเศสอีกผู้หนึ่ง มองซิเออร์ บีญี (BILLI) เป็นเจ้าเมืองภูเก็ตแทน

เป็นที่ทราบกันดีอยู่แล้วว่าในรัชสมัยสมเด็จพระนารายณ์นั้น ได้มีชาวกรีกชื่อ คอนสแตนส์ ฟัลคอน (CONSTANS PHAULCON) เข้ามารับราชการในกรุงศรีอยุธยา และได้ตัดสินใจนับถือศาสนาคริสนิกายโรมันคาทอลิก จึงได้มีโอกาสทำหน้าที่เป็นล่ามให้สังฆราชแห่งเฮลิโอโปลิส ครั้งเมื่อสังฆราชเข้าเฝ้าสมเด็จพระนารายณ์

คอนสแตนส์ ฟัลคอน จึงมีความสำคัญเป็นอย่างยิ่งทั้งต่อพระเจ้ากรุงสยามและฝ่ายศาสนาโรมันคาทอลิกของฝรั่งเศส เพราะทางฝ่ายไทยนั้นมีความประสงค์ที่จะได้อิทธิพลของฝรั่งเศสมาถ่วงดุลอำนาจของฝ่ายฮอลันดา ซึ่งได้เคยใช้เรือรบปิดปากแม่น้ำข่มขู่ไทยมาแล้ว และพวกอังกฤษซึ่งกำลังขยายอิทธิพลมาจากอินเดีย

ส่วนทางฝ่ายศาสนาจักรโรมันคาทอลิก ฝรั่งเศสนั้นก็ต้องการใช้ คอนสแตนส์ ฟัลคอน เป็นสื่อสำคัญในการเผยแพร่ศาสนาโดยหวังว่าพระเจ้ากรุงสยาม อาจตัดสินพระทัยนับถือศาสนาโรมันคาทอลิก ต่อมาความสัมพันธ์ระว่างไทยกับฝรั่งเศสได้แน่นแฟ้นยิ่ง ๆ ขึ้น มีการแลกเปลี่ยนส่งราชทูตนำพระราชสาน์สระหว่างพระเจ้าหลุยส์ที่ 14 กับสมเด็จพระนารายณ์

คณะราชทูตไทยคณะแรกซึ่งมีพระยาพิพัฒน์เป็นหัวหน้า เดินทางไปไม่ถึงประเทศฝรั่งเศสเพราะเรืออับปางใกล้ๆ เกาะมาดากัสตา คณะราชทูตคณะที่สอง ซึ่งมีขุนพิชัยและขุนพิชิตเป็นราชทูตได้เดินทางไปถึงอังกฤษและฝรั่งเศสได้สำเร็จ ทางอังกฤษมิได้ให้ความสนใจกับคณะทูตไทย แต่ในฝรั่งเศสคณะทูตไทยได้พบกับการต้อนรับอย่างดี ผู้คนแตกตื่นมาดูคนไทย

พระเจ้าหลุยส์ที่ 14 จึงได้ส่ง เชวาเลีย เดอ โชมองท์ (CHEVALIER DE CHAUMONT) เป็นราชทูตเดินทางมากับขุนพิชัยและขุนพิชิต โดยนำพระราชสาน์สออกเดินทางในปี พ.ศ.2228 (ค.ศ.1685) จากประเทศฝรั่งเศสมายังกรุงสยาม เพื่อเจริญสัมพันธไมตรีระหว่างประเทศทั้งสอง นอกจากราชทูต เดอ โชมองท์ แล้ว ยังมีบุคคลสำคัญอีกผู้หนึ่ง คือ มองซิเออร์ เดอ ชัวซี (DE CHOSY) ซึ่งมีหน้าที่สอนศาสนา ท่านผู้นี้ได้เขียนบันทึกเหตุการณ์ในครั้งนั้นไว้อย่างละเอียด การเดินทางในครั้งนั้นใช้เวลา 204 วัน

เดอ ชัวซี ได้บันทึกไว้ว่า ในระหว่างที่ฝ่ายฝรั่งเศสสนใจในการพยายามที่จะเผยแพร่ศาสนาให้สมเด็จพระนารายณ์หันมาสนพระทัยในศาสนาโรมันคาทอลิก แต่ฝ่ายไทยกลับไปสนใจในการที่จะดึงให้ฝรั่งเศสเป็นพันธมิตร ที่จะช่วยปกป้องไทยให้พ้นจากการคุกคามของพวกฮอลันดา การเข้าเฝ้าทุกครั้งต้องอาศัย คอนสแตนส์ ฟัลคอน เป็นล่าม ซึ่งสามารถแปลให้เป็นที่พอใจได้ทั้งสองฝ่าย และ เดอ ชัวซี ก็ได้รับการยืนยันจากฟัลคอนว่าสมเด็จพระนารายณ์คงจะไม่ทรงเปลี่ยนศาสนาได้ ในเมื่อประชาชนชาวสยามยังเป็นพุทธศาสนิกชนอยู่

เมื่อ เซวาเลียร์ เดอ โชมองท์ เดินทางกลับประเทศฝรั่งเศสนั้น ก็ได้พาราชทูตไทยซึ่งประกอบด้วย พระยาวิสุทธิสุนทร และพระยาโกษาธิบดี เดินทางไปด้วย โดยแล่นเรือออกจากกรุงสยามในวันที่ 22 ธันวาคม พ.ศ. 2228 (ค.ศ.1685) คณะทูตไทยได้เข้าเฝ้าพระเจ้าหลุยส์ที่ 14 ณ พระราชวังแวร์ชาย ในวันที่ 1 กันยายน พ.ศ.2229 (ค.ศ. 1686)

หลังจากนั้นคณะราชทูตจึงได้เดินทางกลับกรุงสยามพร้อมด้วยคณะราชทูตฝรั่งเศสคณะใหม่ ชาวฝรั่งเศสที่เดินทางมาครั้งนี้ใช้เรือ 6 ลำ โดยแล่นออกจากเมืองเบรสท์ (BREST) ในวันที่ 1 มีนาคม พ.ศ. 2230 (ค.ศ.1687) ถ้าจะนับเอาวันขึ้นปีใหม่เป็นวันที 1 เมษายน ราชทูตฝรั่งเศสที่เดินทางมาครั้งนี้เป็นผู้ใหญ่อายุกลางคนคือ คลอด เซเบเรท์ ดูบูเยล์ (CLAVDE CEBE’SRET DU BOULLAY) และ ไซมอน เดอ ลาลูแบร์ (SIMON DELALOUBE’RE) หนังสือเกี่ยวกับคนไทย ประเพณีไทย ในสมัยกรุงศรีอยุธยาที่ละเอียดที่สุดจนกระทั่งทุกวันนี้ ก็เป็นหนังสือที่ ลาลูแบร์ บันทึกไว้ในการเดินทางมากรุงศรีอยุธยาในครั้งนี้

นอกจากคณะราชทูตดังกล่าวแล้วนั้น ยังมีทหารฝรั่งเศส 636 คน และช่างฝีมืออีกประมาณ 300 คน ที่ทางฝรั่งเศสส่งมายังประเทศสยาม เป็นการช่วยเหลือทางทหารและทางเศรษฐกิจ

เดิมนั้นเป็นที่เข้าใจว่าทหารฝรั่งเศสที่ส่งมานั้น จะมาประจำการอยู่ที่สงขลาเพื่อเป็นการถ่วงดุลอำนาจของพวกฮอลันดา ที่ได้เข้ามายึดครองตั้งเมืองปัตตาเวียอยู่ที่เกาะชวา แต่ทหารฝรั่งเศสก็ได้ขึ้นฝั่งที่บางกอก (กรุงเทพฯ) ตามที่บาทหลวงตาชาร์ด และคอนสแตนส์ ฟัลคอน ได้ตกลงไว้

ทหารฝรั่งเศสที่ส่งมานั้นได้ป่วยเจ็บล้มตายลงระหว่างเดินทาง จึงเหลือเพียง 429 คน แม่ทัพผู้ควบคุมมาชื่อ นายพลเดฟาร์ (DESFARGES) ก็เป็นผู้มีอายุ และไม่พร้อมที่จะแสดงอำนาจบาทใหญ่ตามคำแนะนำของราชทูต แต่ยอมปฏิบัติตนเป็นทหารรับจ้างให้แก่ฝ่ายไทย

ที่บางกอกในปี พ.ศ. 2230 นั้น มีป้อมซึ่งอยู่ระหว่างก่อสร้าง 2 ป้อม ป้อมหนึ่งอยู่ฝั่งตะวันตกที่ปากคลองตลาดบางหลวง อีกป้อมหนึ่งอยู่ทางฝั่งตะวันออกถัดใต้ลงมา เมื่อเกิดการสู้รบระหว่างไทยกับอังกฤษที่มะริด ทางราชทูตฝรั่งเศสก็ขอให้นายพลเดฟาร์ ส่งทหาร 120 คนไปช่วยฝ่ายไทย ซึ่งนายพลเดฟาร์ก็ยินยอม

นอกจากนั้นนายพลเดฟาร์ ยังได้ยอมส่งทหารฝรั่งเศสไปประจำเรือไทยอีก 35 คน ซึ่งทำให้ทหารฝรั่งเศสที่บางกอกต้องอ่อนกำลังลงไปมาก เพราะโรคภัยไข้เจ็บเบียดเบียนผสมเข้าไปด้วย จนเหลือทหารเพียง 200 คน

ชาวฝรั่งเศสส่วนมากนั้นเห็นชอบตามนโยบายของราชทูตฝรั่งเศสในนโยบายแข็งกร้าว แต่นายพลเดฟาร์และบาทหลวงตาชาร์ดสนับสนุนนโยบายของ คอนสแตนส์ ฟัลคอน

ฝรั่งเศสได้ทำสัญญาการค้าครั้งนั้นกับไทย ซึ่งให้สิทธิต่าง ๆ แก่ฝรั่งเศส เช่น การค้าพริกไทย ดีบุก และให้ฝรั่งเศสควบคุมเกาะแก่งต่าง ๆ ในอ่าวเมืองมะริด

ด้วยการถ่วงดุลอำนาจเช่นนี้ กรุงศรีอยุธยาจึงกล้าประกาศสงครามต่อบริษัทอิสอินเดีย กำปนี ของอังกฤษ ในเดือนสิงหาคม พ.ศ.2230 (ค.ศ.1687)

คณะทูตฝรั่งเศสอันประกอบด้วย เดอ ลา ลูแบร์ และบาทหลวงตาชาร์ด ได้เดินทางออกจากอยุธยาเพื่อกลับฝรั่งเศส ในวันที่ 3 มกราคม ค.ศ.1688 โดยทิ้งความวิตกกังวลให้แก่ชาวไทยในอยุธยา เพราะได้นำทหารต่างชาติเข้ามาเป็นจำนวนมาก

ในปีเดียวกันนั้น สมเด็จพระนารายณ์ก็ทรงประชวร ซึ่งเป็นการเปิดโอกาสให้พระเพทราชา สามารถทำการปฏิวัติและชิงราชสมบัติได้ เมื่อสมเด็จพระนารายณ์สวรรคตบุตรชายของพระเพทราชาชื่อ นายเดื่อ เป็นศัตรูคนสำคัญของคอนสแตนส์ ฟัลคอน ฟัลคอนจึงได้ถูกประหารชีวิตลงที่ลพบุรี

ทางฝ่ายไทยพยายามจะปราบทหารฝรั่งเศสของนายพลเดฟาร์ แต่ก็ไม่สำเร็จในที่สุดได้ตกลงให้นายพลเดฟาร์พาทหารฝรั่งเศสเท่าที่เหลือลงเรือกลับไปได้ ทั้งนี้โดยมีการทำสัญญาซึ่งเอาพวกพระสอนศาสนาฝรั่งเศสเป็นตัวประกัน นายพลเดฟาร์ก็ได้นำเอาคนไทยเป็นตัวประกันไปด้วย

ตามจดหมายเหตุของคณะบาทหลวงฝรั่งเศส (ประชุมพงศาวดาร) เล่มที่ 21 กล่าวว่า นายพลเดฟาร์ได้นำเรือรบ 4 ลำไปที่เกาะภูเก็ต เมื่อประมาณกลางปี พ.ศ. 2232 หรือ ค.ศ.1689 และได้มีหนังสือมาถึงกรุงศรีอยุธยา อธิบายถึงเหตุผลที่ต้องพาข้าราชการไทยสองคนไปด้วย และพร้อมที่จะส่งข้าราชทั้งสองคนคืนเพื่อแลกเปลี่ยนกับชาวฝรั่งเศสที่ถูกจับกุมและทรัพย์สินของฝรั่งเศสที่ถูกยึด คนไทยที่ติดไปกับเรือรบฝรั่งเศสนั้นเป็นข้าราชการ 2 คน ล่าม 1 คน และคนรับใช้อีก 1 คน รวมเป็น 4 คน คนไทยอีก 2 คนนั้น นายพลเดฟาร์จะส่งคืนภายหลัง

บาทหลวงฝรั่งเศสยังได้บันทึกไว้ว่า ได้ยินคนพูดว่าพระเจ้ากรุงสยาม ได้มีกระแสรับสั่งไปยังเจ้าพนักงานที่เมืองภูเก็ตห้างส่งเสบียงและน้ำแก่ฝรั่งเศส และห้ามมิให้เอื้อเฟื้อแก่ฝรั่งเศสอย่างใด ๆ ถ้าฝรั่งเศสจะขึ้นบกก็ให้เจ้าพนักงานจับตัวไว้

จากหลักฐานดังกล่าวแล้ว จึงเข้าใจว่ากองเรือรบฝรั่งเศสคงจะจอดอยู่ใกล้ ๆ เกาะหนึ่งเกาะใด เพื่อรอคอยคำตอบในการติดต่อกับกรุงศรีอยุธยา และการแลกเปลี่ยนตัวประกันไทยกับฝรั่งเศสที่ถูกจองจำอยู่

กองเรือรบของนายพลเดฟาร์นั้น ตั้งแต่แล่นออกจากบางกอกแล้ว ก็ไปยังเมืองปอนดิเซรีในอินเดีย แล้วจึงแล่นเข้าเกาะภูเก็ตเพื่อเจรจากับฝ่ายไทย ฉะนั้นที่ซึ่งกองเรือรบฝรั่งเศสทอดสมออยู่ในอ่าวพังงา จึงน่าจะเป็นที่ซึ่งพวกฝรั่งเศสสามารถหาน้ำจืดและอาหารได้บ้าง เพราะตามหลักฐาน (อี.ดับลิว.ฮัทชินสัน) อ้างว่าเดฟาร์มีพลพรรคถึง 332 คน

ตามที่กล่าวมาแล้วว่าแผนที่เกาะภูเก็ต ที่ชาวยุโรปสมัยก่อนพิมพ์ไว้นั้นแสดงว่ามีเกาะแห่งหนึ่งในอ่าวพังงาทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือของเกาะภูเก็ต และเรียกว่า “เกาะฝรั่งเศส” เกาะฝรั่งเศสที่ว่านี้ ก็คือเกาะที่นายพลเดฟาร์นำเรือมาจอดเพื่อเจรจากับทางกรุงศรีอยุธยานั้นเอง

แผนที่โบราณแสดงที่ตั้งของเกาะฝรั่งเศสไว้ทางเหนือแหลมยวง ไปทางแหลมทดเหนือเขาสามแหลม ฉะนั้นเกาะฝรั่งเศสจึงไม่ใช่เกาะนาคาใหญ่ ถ้าแผนที่โบราณนั้นถูกต้อง อันที่จริงนั้นเกาะนาคาใหญ่ก็เป็นที่ตั้งสำคัญของกิจการเลี้ยงหอยเพื่ออุตสาหกรรมไข่มุก เอกสารทางประวัติศาสตร์บางฉบับกล่าวว่าเรือฝรั่งเศสไปทอดสมอที่เกาะแพ ในอ่าวพังงานั้นมีเกาะแพอยู่ 2 แห่ง คือสันทรายเล็ก ๆ ทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ของเกาะนาคาน้อยกับสันทรายเล็ก ๆ ทางทิศตะวันตกของเกาะละวะใหญ่ ฉะนั้นถ้าจะเชื่อเอกสารทางประวัติศาสตร์ดังกล่าว หมู่เรือฝรั่งเศสก็คงทอดสมอยู่ใกล้เกาะละวะใหญ่หรือเกาะนาคาน้อย

แต่เกาะนาคาน้อยนั้นอยู่ใต้ลงมาจากแหลมยวงประมาณ 2.5 ไมล์ทะเล จึงไม่ตรงตามแผนที่โบราณ ซึ่งแสดงที่ตั้งของเกาะฝรั่งเศสไว้เหนือแหลมยวงไปทางแหลมทดและบริเวณใกล้ ๆ แหลมทดตีนเขาสามแหลมก็น่าจะหาน้ำจืดได้ง่าย

นอกจากเหตุผลดังที่กล่าวมาแล้ว แผนที่ฝรั่งเศสโบราณยังแสดงที่ตั้งของเกาะฝรั่งเศสอยู่ทางทิศตะวันตก (270) ของช่องแคบระหว่างเกาะยาวใหญ่ และเกาะยาวน้อยและในแผนที่เดินเรือปัจจุบันก็แสดงว่าเกาะละวะใหญ่อยู่ทางทิศตะวันตกของช่องแคบตรงกัน การเขียนที่ตั้งเกาะในแผนที่โบราณนั้น ทำการรังวัดจากเรือและมิได้ทำการรังวัดจากแผ่นดิน

ในการสำรวจพืชและสัตว์ต่าง ๆตามเกาะในอ่าวพังงาเมื่อปี พ.ศ.2322 (ค.ศ.1779) ดร.คอนิก (DR.KOENIG) นักวิทยาศาสตร์ชาวเดนมาร์ก ได้บันทึกไว้ว่าในวันที่ 7 พฤษภาคม ได้แล่นใบเข้าไปในช่องแคบระหว่างเกาะยาวน้อยและเกาะยาวใหญ่และแล่นใบไปยังเกาะเลแลนด์ และไปไกลจนถึงเกาะฝรั่งเศส ซึ่งแสดงให้เห็นว่าเกาะฝรั่งเศสมิได้อยู่ใกล้ ๆ อ่าวท่าเรืออันเป็นที่ตั้งของเมืองจังซิลอนหรือท่าเรือในสมัยนั้น ดร.คอนิกนั้นได้เดินทางมาภูเก็ตโดยเรือรบบริสตอล (BRISTOL) ซึ่งมีฟรานซิส ไลท์ เป็นผู้บังคับการเรือ

คณะของเราได้ทดลองเอาเรือเครื่องติดท้าย แล่นจากแหลมยวงขึ้นไปทางเหนือ เกาะแรกที่พบก็คือเกาะทะนาน ซึ่งเล็กเกินไปที่จะใช้ประโยชน์อะไรได้ ต่อมาก็ถึงเกาะละวะน้อย ซึ่งมีลักษณะคล้ายคลึงกัน จากนั้นก็ถึงเกาะละวะใหญ่ ช่องน้ำระหว่างเกาะละวะใหญ่กับแหลมทดก็ลึกระหว่าง 6-9 เมตร พอที่จะจอดเรือได้สะดวก และเกาะละวะใหญ่ก็มีขนาดใหญ่พอที่จะใช้เป็นที่กำบังมรสุมจากทิศตะวันออกเฉียงเหนือได้

ฉะนั้นถ้าแผนที่โบราณที่แสดงที่ตั้งเกาะฝรั่งเศสไว้ไม่คลาดเคลื่อนมากนัก ก็คงพอสันนิษฐานได้ว่า เกาะฝรั่งเศสนั้นคงจะเป็นเกาะละวะใหญ่ ซึ่งตั้งอยู่ใกล้จุดแบ่งเขตระหว่างอำเภอเมืองพังงา อำเภอตะกั่วทุ่งและอำเภอถลาง

เมื่อฝรั่งเศสหมดอำนาจไป ฝ่ายฮอลันดาก็พยายามที่จะกลับเข้ามาค้าขายในเมืองไทย และได้มีส่วนยุยงให้เจ้าหน้าที่ไทยทำทารุณกรรมต่อบาทหลวงชาวฝรั่งเศสที่ตกเป็นตัวประกันอยู่ พระเพทราชาได้ทรงทำสัญยาค้าขายกับพวกฮอลันดาอีกเมื่อวันที่ 14 พฤศจิกายน พ.ศ.2331 (ค.ศ.1688) ภายในเวลาไม่กี่วันหลังจากที่นายพลเดฟาร์ ได้ออกเดินทางจากบางกอก จึงเชื่อได้ว่าการลบล้างอิทธิพลของฝรั่งเศสในครั้งนั้นคงได้รับการสนับสนุนจากพวกฮอลันดา เพราะต่อมาได้เกิดสงครามระหว่างฝรั่งเศสกับฮอลันดาในยุโรป การค้าขายระหว่างไทยกับต่างประเทศก็ได้ชะงักงันไป จนกระทั่งสมัยกรุงรัตนโกสินทร์

เกาะฝรั่งเศสในอ่าวพังงาจึงเป็นอนุสรณ์ ของการเมืองระหว่างประเทศในคริสศตวรรษที่ 17 ซึ่งประเทศสยามสามารถรอดพ้นจากการยึดครองของมหาอำนาจทางทะเลในยุโรปมาได้

ส่วนนายพลผู้เฒ่า เดฟาร์ นั้น หลังจากที่ได้เดินทางจากภูเก็ตไปในระหว่างฤดูมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือ ประมาณปลายปี พ.ศ.2232 ก็ได้แวะในที่ต่าง ๆ ทั้งทวีปอัฟริกา และอเมริกา เรือที่ใช้เป็นพาหนะชื่อ “ออริแฟรมม์” (ORIFLAMME) ก็ได้ชนหินโสโครกนอกฝั่งประเทศฝรั่งเศสในปี พ.ศ.2234 (ค.ศ.1691) อันเป็นอวสานของผู้ให้กำเนิด “เกาะฝรั่งเศส”

 

 
< ก่อนหน้า   ถัดไป >

News

สมุดภาพเหมืองแร่

Counter

mod_vvisit_countermod_vvisit_countermod_vvisit_countermod_vvisit_countermod_vvisit_countermod_vvisit_countermod_vvisit_countermod_vvisit_countermod_vvisit_counter
mod_vvisit_counterวันนี้4770
mod_vvisit_counterเมื่อวาน3893
mod_vvisit_counterทั้งหมด11016605