Skip to content

Phuketdata

default color
Home arrow News arrow ถลางภูเก็จภูเก็ต arrow ขุมทรัพย์ในทะเลภูเก็ต : ราชัน กาญจนะวณิช
ขุมทรัพย์ในทะเลภูเก็ต : ราชัน กาญจนะวณิช PDF พิมพ์ อีเมล์
เขียนโดย ปาณิศรา ชูผล มทศ.   
อาทิตย์, 16 มีนาคม 2008

ขุมทรัพย์ในทะเล

ราชัน กาญจนะวณิช

-----------------

 

เมื่อผมเดินทางมาภูเก็ตในต้นเดือนกรกฎาคม พ.ศ. 2494 เพื่อมาฝึกหัดงานในบริษัททุ่งคาฮาเบอร์ ทิน เดรดยิง ลิมิเต็ด นั้น บริษัทกำลังอยู่ในภาวการณ์เงินไม่คล่องตัว เพราะเพิ่งบูรณะเรือขุดที่ทรุดโทรมมากเสร็จใหม่ ๆ และเรือขุดไอน้ำลำเก่าของบริษัทลำนี้ก็กำลังทำหน้าที่ขุดคลองเดินเรือ จากกลางอ่าวทุ่งคาเข้ามายังท่าจอดเรือหน้าโรงซ่อมและสำนักงานของบริษัทซึ่งตั้งอยู่เลขที่ 10 ซอยสะพานหินในเขตเทศบาลเมืองภูเก็ต เพื่อสามารถทำการขนส่งติดต่อระหว่างฝั่งกับเรือขุดได้สะดวก

การขุดคลองเดินเรือนี้เป็นโครงการของ นายวอเรน เจ. พาร์สัน ผู้อำนวยการเขต ซึ่งประมาณไว้ว่าจะใช้เวลาขุดประมาณเดือนเศษถึงสองเดือน เพราะเป็นคลองยาวเกือบ 2 กิโลเมตร และจะให้มีน้ำลึกอย่างน้อยที่สุด 3 เมตร แต่เมื่อผมไปเริ่มฝึกหัดงานนั้น การขุดคลองได้ดำเนินมาเกือบ 4 เดือนแล้ว แต่ก็ยังไม่แล้วเสร็จ เนื่องจากนายวอเรน เจ. พาร์สัน ได้เดินทางไปพักผ่อนในทวีปยุโรปมีกำหนด 6 เดือน ทางสำนักงานแองโกล-โอเรียนเตล (มาลายา) ลิมิเต็ด ในกรุงกัวลาลัมเปอร์ซึ่งทำหน้าที่เป็นผู้จัดการของบริษัทในกลุ่มบริษัทลอนดอนทิน คอปเรชั่น ได้ส่งนายลินด์ซี แมคคลักเกจ วิศวกรชาวนิวซีแลนด์มาเป็นผู้รักษาการแทนผู้อำนวยการ

นายลินด์ซี แมคคลักเกจ มีภรรยาชื่อ รุธ เป็นชาวอเมริกัน สามีภรรยาคู่นี้ไม่มีบุตร ทางด้านงานช่างกลทางบริษัทมีวิศวกรชาวสก็อตแลนด์ชื่อ วอลเตอร์ ดรินเนน ชายโสด เป็นผู้ควบคุมงานซ่อมเครื่องจักรต่าง ๆ ส่วนทางฝ่ายบัญชีก็มีสมุห์บัญชีชื่อ นายเอม.เอ. รอบบ์ ชาวออสเตรเลียเป็นผู้ควบคุม นายรอบบ์มีภรรยาชื่อ บิง มีบุตรชายคนหนึ่งและธิดาอีก 3 คน

ทางบริษัทได้ให้ยงลาภและผมพักอยู่ในบังกะโลหลังที่ 4 ซึ่งเป็นหลังสุดท้ายสำหรับพนักงานฝ่ายบริหาร 4 คน และได้ให้ผมทำหน้าที่ช่วยนายแมคคลักเกจในกิจการทั่ว ๆ ไป พนักงานชั้นบริหารของบริษัทในสมัยนั้น มีสัญญาให้ออกมาทำงานใน มาลายา ประเทศไทย พม่า หรือไนจีเรีย 3 ปี โดยที่บริษัทจะให้กลับไปพักในยุโรปหรือออสเตรเลีย 6 เดือน เมื่อครบกำหนดสัญญาแล้วและทำหน้าที่เป็นที่พอใจและมีสุขภาพสมบูรณ์ ก็จะต่อสัญญาใหม่อีก 3 ปี

ในบริเวณบ้านพักของพนักงานบริษัท จึงเป็นเสมือนที่ชุมนุมนานาชาติ เพราะในบ้านพัก 4 หลังนั้น ก็มีพนักงานและภรรยาที่มีเชื้อชาติต่าง ๆ ถึง 5 ชาติ แต่เราก็คงใช้ภาษากลางติดต่อกัน ถึงสำเนียงจะเป็นแบบสก็อตแลนด์, นิวซีแลนด์, อเมริกัน, ออสเตรเลีย หรือไทยก็ตาม

บ้านพักสำหรับพนักงานบริหารของบริษัทเป็นเรือนไม้ 2 ชั้น ชั้นบนมีห้องนอน 2 ห้อง พร้อมทั้งห้องนั่งเล่นกว้างใหญ่ ชั้นล่างเป็นห้องใหญ่ใช้เป็นที่รับประทานอาหาร ส่วนครัวนั้นอยู่ข้างหลังบ้านใช้เตาเหล็กและฟืนเป็นเชื้อเพลิง ระบบน้ำประปาก็ยังไม่มี แต่บริษัทก็มีคนหาบน้ำ เติมน้ำจืดใส่ตุ่มไว้ในห้องน้ำและห้องครัว น้ำที่ส่งมาตามท่อเป็นน้ำกร่อยที่ใช้เฉพาะในเครื่องสุขภัณฑ์และในการรดต้นไม้

ยงลาภสามารถทำหน้าที่แม่บ้านได้ดี และเราก็สามารถเลี้ยงรับรองแขกได้ภายในเวลาไม่กี่สัปดาห์หลังจากที่มาอยู่ภูเก็ต สังคมในภูเก็ตในยุคนั้นไม่มีอะไรมาก นอกจากการเชิญเพื่อนฝูงและเพื่อนร่วมงานไปรับประทานอาหารที่บ้าน แลกเปลี่ยนสลับกันไป บริษัทเหมืองแร่ต่าง ๆ กำลังอยู่ในระยะปรับปรุงบูรณะสภาพเครื่องจักรต่าง ๆ หลังจากที่ได้ผ่านภาวะสงครามมาเป็นเวลาหลายปี จึงมีพนักงานชาวจักรภพอังกฤษเป็นจำนวนมากอยู่ในจังหวัดภูเก็ต เช่น พนักงานของบริษัทภูเก็ตทิน บริษัทตีนเลทิน บริษัทกะทู้ทิน บริษัทกำมะราทิน ฯลฯ

สำหรับในกลุ่มของบริษัททุ่งคาฮาเบอร์ ทิน เดรดยิง ลิมิเต็ด นั้น ทางด้านการสำรวจหาแหล่งแร่ สำนักงานในกรุงกัวลาลัมเปอร์เป็นผู้ควบคุมโดยตรง และเนื่องจากบริษัททุ่งคาฮาเบอร์ ทิน      เดรดยิง ลิมิเต็ด และบริษัทในเครือได้รับอาชญาบัตรผูกขาดตรวจลองแร่ ในเนื้อที่ประมาณ 12,000 ไร่ ในทะเลประมาณ 5 กิโลเมตร จากฝั่งเกาะสิเหร่ ทางสำนักงานในกรุงกัวลาลัมเปอร์จึงได้ส่งนักธรณีวิทยาชื่อ โอเวน ริชาร์ด ซึ่งเป็นชาวอเมริกัน สำเร็จการศึกษามาจากมหาวิทยาลัยเยล (YALE) ให้มาทำการเจาะตรวจแหล่งแร่ในบริเวณดังกล่าวในระหว่างฤดูแล้งที่แล้วมา

เมื่อผมมาเริ่มฝึกหัดงานที่ภูเก็ตในเดือนกรกฎาคมนั้น ฤดูฝนได้เริ่มแล้ว และงานสำรวจก็ได้สุดสิ้นไปหลายเดือนแล้ว

อยู่มาวันหนึ่งนายแมคคลักเกจ จึงได้นำหนังสือจากสำนักงานที่กัวลาลัมเปอร์พร้อมทั้งรายงานการสำรวจแหล่งแร่มาให้ผมดู และแจ้งให้ทราบว่าบริษัทไม่สนใจในเขตอาชญาบัตรผูกขาด 12,000 ไร่นั้นต่อไปอีกแล้ว ผมการสำรวจที่ใช้เครื่องมือเจาะตรวจลองไปประมาณสิบกว่าหลุมปรากฏว่าขั้นดินทรายบางมากส่วนใหญ่หนาไม่เกิน 2-3 เมตร และอยู่ในน้ำลึกเกือบ 30 เมตร ซึ่งใช้เรือขุด ขุดได้ยากและปรากฏว่ามีแร่ดีบุกอยู่ในดินทรายเป็นปริมาณน้อย รายงานการสำรวจนั้นก็เป็นไปตามความเห็นของนักธรณีวิทยา ชื่อ แฮริสัน (HARRISON) ซึ่งเป็นผู้เชี่ยวชาญทางด้านการสำรวจแหล่งแร่ เป็นที่รับรองกันทั่วไปในวงการเหมืองแร่นานาชาติ จึงไม่น่าจะมีข้อสงสัยใดๆ

แต่อย่างไรก็ดี นายเป้ง ลิ่มไทย และ นายวิเชียร ณ นคร พนักงานรังวัดของบริษัทให้ความเห็นส่วนตัวกับผมว่า งานสำรวจนั้นดำเนินไปอย่างขลุกขลักมาก เพราะฝ่ายเหมืองแร่มีเรือยนต์เพียง 2 ลำ ซึ่งต้องทำหน้าที่ประจำในการส่งน้ำและฟืน และรับส่งคนงานไปเรือขุดในทะเล ฉะนั้นผู้ควบคุมงานสำรวจจึงทำการเจาะตรวจไม่ได้เต็มที่ เพราะเมื่อเจาะตรวจเสร็จไปหลุมหนึ่งแล้ว ก็จะต้องเสียเวลาทำการรังวัด วางทุ่น และลากแพเครื่องเจาะไปเข้าที่ใหม่ ยิ่งกว่านั้นคนงานเจาะก็ทำงานได้เพียงวันละไม่กี่ชั่วโมง เพราะต้องเสียเวลาเดินทางไปมาเสียเกือบครึ่งวัน

ผมจึงได้นำเอาแผนที่หลุมเจาะมาศึกษาดู ก็ปรากฏว่าผลการเจาะเป็นจริงตามความเห็นของสำนักงานกัวลาลัมเปอร์ ยกเว้นแต่มีหลุมเจาะหนึ่งทางทิศใต้ของพื้นที่ 12,000 ไร่ ซึ่งถึงแม้ว่าจะมีชั้นดินบาง แต่ปรากฏว่ามีแร่ดีบุกสมบูรณ์กว่าหลุมเจาะในที่อื่น ๆ ผมจึงได้ปรึกษากับนายแมคคลักเกจว่า น่าจะได้มีการเจาะตรวจในบริเวณใกล้เคียงเพิ่มเติม ก่อนที่อาชญาบัตรจะสิ้นอายุ แต่นายแมคคลักเกจมีความเห็นว่า เรื่องการสำรวจนั้นเป็นหน้าที่ของสำนักงานในกัวลาลัมเปอร์ เมื่อเขาเห็นว่าพื้นที่นั้นไม่มีแหล่งแร่ทางเศรษฐกิจแล้ว หน้าที่ของเราก็สิ้นสุดไป และเมื่ออาชญาบัตรสิ้นอายุก็ไม่ต้องดำเนินการต่อไป

ในฐานะที่ผมมีนิสัยไม่ค่อยจะรับฟังความเห็นใด ๆ โดยไม่มีหลักฐานสนับสนุนเพียงพอจึงได้เริ่มค้นคว้าดูหลักฐานเก่า ๆ เกี่ยวกับการทำเหมืองแร่ในอ่าวทุ่งคาซึ่งอยู่ระหว่างเกาะภูเก็ตกับเกาะ    สิเหร่

ตามประวัติเดิม ชาวภูเก็ตได้เริ่มเข้ามาทำเหมืองแร่ปล่องหรือเหมืองรู ในตำบลระเงงตั้งแต่ต้นสมัยรัตนโกสินทร์ และต่อมาก็ได้ขยายเข้ามาทำเหมืองแร่ในตำบลทุ่งคา ซึ่งต่อมากลายเป็นอำเภอทุ่งคา หรืออำเภอเมืองภูเก็ต

ประมาณปี พ.ศ. 2448 พระยารัษฎานุประดิษฐ์ ได้ชักชวนให้นักลงทุนมาทำเหมืองในบริเวณที่ตั้งสำนักงานราชการต่าง ๆ ของจังหวัด ซึ่งตั้งอยู่ใกล้ชายทะเล กัปตันเอดวาร์ด ที. ไมลล์ ชาวออสเตรเลียซึ่งได้เดินทางมาทำธุรกิจเกี่ยวกับการเดินเรือทะเล ได้มาเยี่ยมภูเก็ต และได้รับเชิญให้มาดูที่ตั้งศาลากลางเดิม แต่เกรงว่าการย้ายอาคารต่างๆ ของทางราชการเพื่อเปิดการทำเหมืองจะไม่คุ้มทุน เพราะที่ตั้งศาลากลางมีเนื้อที่น้อยเปิดการทำเหมืองไม่ได้นาน กัปตันไมลล์ได้สนใจดูเหมืองชาวจีนในอ่าวทุ่งคา ซึ่งขณะนั้นได้สร้างทำนบกั้นน้ำเค็มเป็นบริเวณ 320 ไร่ ใช้คนงานหลายร้อยคนเป็นกรรมกรขุดเหมือง หาบเอาดิน ทราบ มาล้างแยกดีบุกออก กัปตันไมลล์จึงเชื่อว่าแหล่งแร่ดีบุกซึ่งสะสมตามทางน้ำเดิมใต้บริเวณศาลากลาง และเหมืองหาบชายฝั่งน่าจะเป็นสายออกไปในอ่าวทุ่งคา พ้นบริเวณที่มีการทำเหมืองอยู่แล้ว

ตามประวัติศาสตร์เดิม นับตั้งแต่ชาวโปรตุเกสได้เข้ามาตั้งห้างรับซื้อแร่ดีบุกในภูเก็ตเมื่อปี พ.ศ.2151 ก็ไม่เคยปรากฏว่ามีชาวยุโรป เคยเข้ามาทำเหมืองแร่ดีบุกในประเทศสยาม แต่เข้ามาเป็นคนกลางซื้อแร่ดีบุกไปขายต่อเท่านั้น กัปตันไมลล์จึงได้เช่าเครื่องเจาะทดสอบความสมบูรณ์ของแหล่งแร่ในอ่าวทุ่งคา และเมื่อได้ผลยืนยันความคิดเดิม ก็เริ่มดำเนินการเจรจาขอสัมปทานพิเศษเพื่อเปิดการทำเหมืองแร่ดีบุก

เมื่อกลับไปออสเตรเลีย กัปตันไมลล์ จึงได้ตั้งบริษัททุ่งคาฮาเบอร์ ทิน เดรดยิง โนไลอา บิลิตี้ ขึ้นและจัดหาเรือขุด ลากจูงเข้ามาเปิดการทำเหมืองในอ่าวทุ่งคาได้ปลายปี พ.ศ. 2450 เรือขุดลำนั้น จึงเป็นเรือขุดในทะเลลำแรกในโลก และเป็นเรือขุดลำแรกในทวีปเอเชีย

การที่นักลงทุนจากต่างประเทศสามารถเข้ามาสำรวจ และขอสัมปทานพิเศษ และเปิดเหมืองแบบใหม่ที่ยังไม่เคยมีมาก่อนในโลกได้สำเร็จภายในระยะเวลาไม่เกิน 3 ปี  ย่อมเป็นเครื่องแสดงให้เห็นถึงความเชื่อมั่นในรัฐบาล และแสดงถึงประสิทธิภาพของการบริหารของรัฐบาลสยามภายใต้สมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ เสนาบดีกระทรวงมหาดไทยในสมัยสมเด็จพระจุลเกล้าเจ้าอยู่ รัชกาลที่ 5

ภายในเวลา 4 ปี คือในปี พ.ศ.2454 บริษัททุ่งคาฮาเบอร์ ทิน เดรดยิง โนไลอาบิลิตี้ ก็มีเรือขุดเดินอยู่ในอ่าวทุ่งคารวม 5 ลำ ในปี พ.ศ.2453 วิศวกรที่ปรึกษาของบริษัท ชื่อ เดวิด เคอร์รี (DAVID CURRIE) ได้เขียนรายงานลงวันที่ 14 เมษายน ไว้ว่า บริเวณอ่าวทุ่งคานั้นมิได้มีแร่ดีบุกสมบูรณ์ทั้งอ่าว แต่หลักฐานต่าง ๆ แสดงว่าจะมีดีบุกสมบูรณ์เฉพาะแต่แนวเหมืองเก่าของคนจีนและเมื่อห่างจากฝั่งออกไป แร่ดีบุกก็จะเป็นแร่เม็ดละเอียดขึ้น และจะไม่มีความสมบูรณ์เหลืออยู่ เมื่อออกห่างจากฝั่ง

แม้แต่ในปี พ.ศ. 2494 ที่ผมเริ่มไปอยู่ภูเก็ตนั้น ก็ยังมีบางคนไม่เชื่อในทฤษฎีของนายเดวิด เคอร์รี และเชื่อว่าอาจมีแหล่งแร่นอกอ่าวทุ่งคาที่สมบูรณ์พอจะทำเหมืองได้ที่มาจากต้นกำเนิดอื่น ๆ นายทอม ไมลล์ บุตรชายของกัปตันไมลล์ ซึ่งมาเช่าบ้านอยู่ริมอ่าวมะขาม ก็พยายามจะพิสูจน์ว่ามีแหล่งแร่นอกอ่าวทุ่งคา และติดต่อที่จะหานายทุนมาทำการสำรวจอย่างจริงจัง ในที่สุดก็ได้บริษัทโทรโนะ (TRONOH) กับบริษัทมาลายันทิน (MALAYAN TIN) มาลงทุนตั้งบริษัทโทรมัล ปรอสเปคติง ลิมิเต็ด (TROMAL PROSPECTING LTD.) เข้ามาทำการสำรวจ

แต่ในกลางปี พ.ศ. 2494 นั้น บริษัทโทรมัล ปรอสเปกติง ลิมิเต็ด ยังไม่ได้เข้ามาสำรวจและผมก็มั่นใจว่า ในเขตอาชญาบัตรของบริษัททุ่งคาฮาเบอร์ ทิน เดรดยิง ลิมิเต็ด น่าจะมีแหล่งแร่ดีบุกที่สมบูรณ์อยู่ แต่เนื่องจากมีหลุมเจาะที่สมบูรณ์หลุมเดียวทางทิศใต้ของอาณาเขต ผมจึงได้ของให้ช่างรังวัดจัดทำคำขอประทานบัตรในเนื้อที่ครึ่งหนึ่งคือ 6,000 ไร่ และเมื่อนายวอเรน พาร์สันกลับมาจากยุโรป ก็ให้ความเห็นชอบในการยื่นของประทานบัตร เพราะนายวอเรน พาร์สัน เป็นคนกล้าเสี่ยงสมกับที่ได้เคยเป็นทหารคอมมานโดเข้าไปรังควานญี่ปุ่นในพม่ามาก่อน เมื่อเห็นวิศวกรหนุ่ม ๆ อย่างผมอยากทดลองอะไรก็ไม่ขัดข้อง อีกทั้งการเสี่ยงก็ไม่มากมายเพราะไม่ได้เสียค่าใช้จ่ายในการสำรวจเพิ่มเติม เพียงแต่เสียค่าธรรมเนียมของประทานบัตรเท่านั้น

เมื่อได้รับประทานบัตรรวม 20 แปลงๆ ละ 300 ไร่ ทางบริษัทก็ขนานนามกลุ่มประทานบัตรนี้ว่าเป็นประทานบัตรทะเล (SEA LEASES) และมิได้รวมเอาไว้ในแหล่งแร่สำรองของบริษัท

หลังจากที่เรือขุดไอน้ำเก่าของบริษัทที่เรียกกันว่า เรือหมายเลข 7 ได้ชำรุดลง บริษัทได้ตัดสินใจขายเรือขุดลำนั้นไปในปี พ.ศ.2500 และได้ซื้อเรือขุดเก่าของบริษัทปัตตานีทินเพื่อนำไปดัดแปลงที่ท่าเรือใกล้เมืองบัตเตอร์เวิร์ธ ในแหลมมลายู

บริษัททุ่งคาฮาเบอร์ ทิน เดรดยิง ลิมิเต็ด ในยุคนั้นการเงินฝืดเคืองมาก เพราะมีการจำกัดโควตา เรือขุดทางภูเก็ตก็ได้ชำรุดใช้การไม่ได้มาตั้งแต่กลางปี พ.ศ.2500 ส่วนเรือขุดอีกลำหนึ่งทางร่อนพิบูลย์ จังหวัดนครนครศรีธรรมราช ก็ดำเนินการพอเลี้ยงตัวได้เท่านั้น การดัดแปลงเรือขุดที่บัตเตอร์เวิร์ธจึงทำไปอย่างประหยัดที่สุด โดยปกติเรือขุดจะต้องใช้เครื่องยนต์ดีเซลเป็นต้นกำลังเพื่อขับเครื่องกำเนิดไฟฟ้า 3 ชุด และใช้เพียง 2 ชุด ก็จะมีกำลังเพียงพอ ส่วนชุดที่ 3 เป็นชุดสำรอง และเมื่อมีการซ่อมก็จะมีเครื่องทำงานได้ตลอดตามมาตรฐานของบริษัทที่ต้องการให้เรือขุดเดินได้เฉลี่ยเดือนละไม่น้อยกว่า 600 ชั่วโมงตลอดปี แต่เนื่องจากการที่มีทุนจำกัด เรือขุดที่ดัดแปลงขึ้นใหม่นี้ใช้เครื่องยนต์ดีเซลรวม 5 เครื่องเพื่อขับกลไกต่าง ๆ ในเรือขุด โดยที่เป็นเครื่องขนาดต่าง ๆ ไม่เหมือนกัน จึงเป็นเรือขุดเครื่องดีเซลโดยตรง ไม่ใช่เรือขุดที่ใช้เครื่องดีเซลไฟฟ้า ถ้าเครื่องดีเซลเครื่องใดเครื่องหนึ่งเสีย เรือก็จะหยุดทำงาน

เรือขุดลำนี้เรียกกันว่าซีเดรจ (SEA DREDGE) และบริษัทมีนโยบายที่จะใช้ขุดในบริเวณอ่าวฉลองในฤดูมรสุม และลากไปชุดที่อ่าวบางเทาในฤดูแล้ง

เนื่องจากการขาดแคลนเงิน ทางสำนักงานที่ภูเก็ตจึงยังไม่สามารถสร้างท่าเทียบเรือที่อ่าวฉลองหรืออ่าวบางเทาได้ ผมพยายามจะหาซื้อรถสะเทินน้ำสะเทินบกที่เหลือใช้จากสงครามโลกครั้งที่สอง แต่ก็หาที่ราคาพอสมควรไม่ได้

นายวอเรน พาร์สัน เองนั้นก็ได้ย้ายไปอยู่กัวลาลัมเปอร์ตั้งแต่กลางปี พ.ศ.2500 และลาออกไปทำไร่ในออสเตรเลียในปีต่อมา และในระหว่างที่บริษัททุ่งคาฮาเบอร์ ทิน เดรดยิง ลิมิเต็ด กำลังดัดแปลงเรือขุดอยู่ในมาลายานั้น ทางสำนักงานใหญ่ก็มิได้แต่งตั้งผู้อำนวยการแทน จึงมีแต่สมุห์บัญชีและผมคอยดูแลสำนักงานเขตอยู่เท่านั้น แต่อย่างไรก็ดีทางสำนักงานใหญ่ได้ให้ นายดักลัส ดี. ยิวส์ (D.C. YEWS) กรรมการของบริษัทแองโกล-โอเรียนเตล (มาลายา) ลิมิเต็ด เป็นผู้มาตรวจงานทุก 40 หรือ 50 วัน

เมื่อการดัดแปลงเรือขุดซีเดตจได้ดำเนินไปสำเร็จเรียบร้อยแล้วก่อนสิ้นปี พ.ศ.2501 และพร้อมที่จะลากจูงมายังจังหวัดภูเก็ตได้ นายดักลัส ยิวส์ จึงได้ถามผมว่าจะเอาเรือขุดไปเริ่มดำเนินงานที่ไหน การที่จะลากเรือขุดไปเริ่มดำเนินงานที่อ่าวบางเทาตามแผนโครงการของบริษัทนั้น ผมก็ยังไม่พร้อม เพราะบริษัทไม่มีเรือยนต์เพียงพอ และท่าเรือที่อ่าวบางเทาก็ไม่มี ผมจึงเสนอให้นำเรือขุดเข้าไปเดินในหมู่ประทานบัตรที่ได้เคยขอไว้เป็นเนื้อที่ 6,000 ไร่ ทางด้านตะวันออกของเกาะสิเหร่ซึ่งแม้ว่าจะมีหลุมเจาะที่สมบูรณ์เพียงหลุมเดียว แต่ทางใต้ลงไปปรากฏว่า บริษัทอ่าวขามติน ลิมิเต็ด ได้เริ่มทดลองใช้เรือขุด (GRAB DREDGE) แบบใหม่ที่ใช้สายลวดหย่อนภาชนะลงไปตักดินในน้ำลึกได้ และได้พบแหล่งแร่ที่สมบูรณ์ บริษัทอ่าวขาม ติน ลิมิเต็ด ไม่ใช้เรือขุดแบบเชน บักเกต (CHAIN BUCKET) ที่ใช้กันอยู่ทั่วไป เพราะเกรงว่าจะไม่ได้ผล นายดักลัส ยิวส์ จึงเตือนว่าการเสี่ยงเอาเรือขุดไปเดินในที่ซึ่งไม่มีหลักฐานว่ามีแร่สมบูรณ์ ในระหว่างที่บริษัทขาดแคลนเงินนั้น อาจทำให้เดือดร้อนได้จนถึงขนาดที่ผมจะต้องถูกไล่ออกจากงาน แต่ผมก็ให้เหตุผลว่า ถ้าไม่มีแร่สมบูรณ์จริงตามที่นักธรณีวิทยาได้รายงานไว้ เราก็ยังคงย้ายเรือขุดไปยังอ่าวฉลองหรืออ่าวบางเทาตามโครงการของบริษัทได้อยู่ดี แต่การทดลองขุดในประทานบัตรนอกเกาะสิเหร่นี้ บริษัทยังคงใช้ท่าเรือเก่าได้และไม่ต้องไปวิ่งเช่าเรือยนต์มาเพิ่มเติมแต่อย่างใด

ฉะนั้นในปลายปี พ.ศ.5201 ผมจึงได้มีโอกาสนำเอาเรือขุดแบบเชน บักเกต (CHAIN BUCKET) มาทดลองขุดในทะเลน้ำลึก 25-30 เมตร ได้เป็นแห่งแรกในโลก เพราะก่อนหน้านั้นวิศวกรเรือขุดส่วนใหญ่ไม่แน่ใจว่าเรือขุดแบบเชน บักเกต ที่เคยใช้กันในน้ำตื้น จะสามารถทำงานในน้ำลึกได้ ผมโชคดีเพราะเมื่อเริ่มปี พ.ศ.2502 หลังจากที่ผมได้รับมอบเรือขุดจากผู้ดัดแปลงแล้ว ผลการขุดก็เป็นที่น่าพอใจ จะมีปัญหาก็เฉพาะแต่เครื่องจักรกลของเรือขุดเท่านั้น

ในเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2502 เราขุดแร่ดีบุกได้ 1,701 หาบจีน และในเดือนกรกฎาคม พ.ศ.2502 เราขุดได้ 2,174 หาบจีน และในเดือนพฤศจิกายนได้ถึง 2,534 หาบจีน การที่เราขุดแร่ดีบุกได้มากจากบริเวณที่มิได้อยู่ในบัญชีแหล่งแร่สำรองของบริษัทเช่นนี้ ได้ก่อให้เกิดปัญหาขึ้นแก่คณะกรรมการของบริษัท ผู้ถือหุ้นบางคนได้กล่าวหาว่าคณะกรรมการของบริษัททุจริต เพราะมีแหล่งแร่สมบูรณ์ที่สุด แต่กลับไม่แสดงไว้ในรายงานประจำปี หุ้นของบริษัทที่เคยขายกันในตลาดหลักทรัพย์ที่กัวลาลัมเปอร์และที่สิงคโปร์ ราคาขึ้นจากยี่สิบชิลลิงไปถึงร้อยชิลลิงกว่า ผู้ถือหุ้นบางคนกล่าวหาว่าฝ่ายจัดการไร้ความสามารถในทางวิชาการ ต่อเรือขุดที่ขุดได้ลึกไม่พอในแหล่งแร่ที่อยู่ในทะเลลึก ในข้อนี้คณะกรรมการได้แก้ตัวว่าบริษัทมีบันไดขนาดยาวที่จะใช้ขุดในที่ลึกได้ และได้สั่งให้ทางสำนักงานที่ภูเก็ตเตรียมต่อบันไดเรือขุดขนาดยาวเตรียมไว้

มีผู้ถือหุ้นที่มีอิทธิพลผู้หนึ่งชื่อ นายพันตรีแอลเลน ได้มาสอบถามความเป็นไปที่แท้จริงในจังหวัดภูเก็ต นายพันตรีแอลเลน เป็นเพื่อนกับนายชาลส์ สก็อต ผมจึงได้มีโอกาสพบนายพันตรี        แอลเลนที่บ้านของ ชาลส์ สก็อต และเรียนให้พันตรีแอลเลนทราบว่าคณะกรรมการมิได้มีเจตนาหลอกลวงผู้ถือหุ้นแต่อย่างใด ทั้งชาลส์ สก็อต และนายพันตรีแอลเลนร่ำรวยขึ้นมากจากการเก็งกำไรหุ้นของบริษัททุ่งคาฮาเบอร์ ทิน เดรดยิง ลิมิเต็ด ในครั้งนั้น

ผมเองนั้นไม่ใช่นักเลงหุ้น เป็นแต่เพียงวิศวกรอาชีพที่ได้พิสูจน์ให้เห็นแล้วว่า ในการสำรวจแหล่งแร่ใด ๆ ก็ตาม ถ้าปรากฏว่ามีหลุมเจาะที่สมบูรณ์แม้แต่หลุมเดียว ก็สมควรที่จะทำการเจาะบริเวณใกล้เคียง เพื่อให้รู้แน่นอนว่าแหล่งแร่นั้น ๆ มีค่าในทางเศรษฐกิจหรือไม่ และไม่ควรจะอ้างว่าขุดไม่ได้ เพราะถ้ามีแหล่งแร่ที่สมบูรณ์แล้ว วิศวกรอื่น ๆ ในยุคนี้หรือยุคต่อไปก็คงจะคิดค้นหาวิธีขุดขึ้นมาจนได้

เมื่อบริษัททุ่งคาฮาเบอร์ ทิน เดรดยิง ลิมิเต็ด หรือ เบอร์ฮัด ตามภาษามาลายูที่ใช้กันในภายหลัง ได้เลิกการทำเหมืองแร่ในประเทศไทยไป ปรากฏว่าบริษัทได้ขุดแร่จากแหล่งแร่ในหมู่ประทานบัตรนอกเกาะสิเหร่แปลงนี้ได้รวม 233,557 หาบจีน จากปริมาณ ดิน 36,973,000 ลูกบาศก์หลา ถ้าจะคิดราคาแร่ดีบุกเฉลี่ยหาบจีนละ 7,000 บาท ก็คงจะเป็นเงินประมาณ 1,635 ล้านบาท จากหมู่ประทานบัตรนี้

ปัจจุบันนี้ หมู่ประทานบัตรดังกล่าวได้ตกเป็นของบริษัททุ่งคาฮาเบอร์ จำกัด ซึ่งได้รับโอนกิจการมาเป็นของคนไทยตามนโยบายของกรมทรัพยากรธรณี และก็ยังคงจะมีการขุดแร่ทำเหมืองกันต่อไปในอนาคต เพราะยังมีแร่ดีบุกสำรองเหลืออยู่อีก

ขุมทรัพย์ในทะเลอันดามัน

ในปี พ.ศ. 2504 ผมได้ทราบข่าวจากพนักงานเก่าของบริษัททุ่งคาฮาเบอร์ ทิน เดรดยิง ลิมิเต็ด ว่าบริษัทฮกจงเส็ง จำกัด ได้นำเรือขุดเก่าของบริษัทกำมะรา ทิน เดรดยิง ลิมิเต็ด ไปเดินในทะเลน้ำตื้น ๆ ในอ่าวอำเภอตะกั่วป่า จังหวัดพังงา จึงทำให้เกิดความคิดว่าในทะเลอันดามัน ทางด้านฝั่งตะวันตกของจังหวัดพังงานั้นน่าจะมีแหล่งแร่ดีบุกที่พอจะเปิดการทำเหมืองได้หลายแห่ง ตั้งแต่ผมมาอยู่ในจังหวัดภูเก็ตก็ได้รับคำบอกเล่าจากผู้จัดการเหมืองต่างๆ ว่า บริษัทไชมิสทิน ชินดิเกต ลิมิเต็ด ได้เคยสำรวจในทะเลฝั่งตะวันตกทั่วไปแล้ว แต่ไม่พบแหล่งแร่ดีบุกที่สำคัญเลย การที่บริษัทฮกจงเล็ง จำกัด มีประทานบัตรในทะเลใกล้ ๆ เกาะเสม็ด ก็ย่อมแสดงว่าบริษัทไชมิสทิน จำกัด คงจะไม่ได้สำรวจโดยละเอียด จึงน่าจะมีโอกาสหาแหล่งแร่ดีบุกในทะเล ทางฝั่งตะวันตกของจังหวัดพังงาอยู่มาก ผมจึงได้ศึกษาข้อมูลต่าง ๆ และเดินทางไปที่อำเภอตะกั่วป่า เพื่อขอยื่นอาชญาบัตรผูกขาดการสำราจแร่ในบริเวณชายทะเลทางด้านฝั่งตะวันตก คือ ได้อาชญาบัตรตลอดแนวยาว ตามชายฝั่งมหาสมุทรอินเดีย ตั้งแต่แหลมหัวกรังน้อยขึ้นไปทางเหนือ ตามชายฝั่งเกาะคอเขา เป็นเนื้อที่รวมประมาณ 15,000 ไร่ ชายทะเลดังกล่าวมีอ่าวซึ่งเรือเล็กเข้าออกได้ที่บ้านน้ำเค็ม บ้านน้ำเค็มนั้นมีชาวเลอาศัยอยู่ 6 ครอบครัว และเป็นท่าที่ใช้เรือเล็กข้ามไปเกาะคอเขา

เรื่องการขอประทานบัตรเหล่านี้ ผมได้ยื่นในนามของบริษัททุ่งคาอาเบอร์ ทิน เดรดยิง  ลิมิเต็ด ซึ่งต่อมาได้รับการจดทะเบียนเป็นเรื่องราวที่ 103, 104, 124, 125, 126, 127 และ 128/2505 ในเดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2505

ทางบริษัทได้มอบให้นักธรณีชาวอังกฤษ ชื่อ เค.บี. เพญน์ (K.B. PAYNE) เป็นผู้ควบคุมการสำรวจ และในการสำรวจ นายเพญน์ ได้ทดลองเจาะตามแนวชายหาดไม่กี่หลุมก็เลิกไป เพราะเมื่อเจาะลงไปได้เพียงหนึ่งเมตรหรือน้อยกว่า ก็ถึงหินดาน เจาะต่อไปไม่ได้ มร.เพญน์ ก็ลงความเห็นว่าไม่น่าจะมีแหล่งแร่ หลังจากนั้นทางบริษัทเรือขุดแร่บางม่วง จำกัด ซึ่งมีสำนักงานอยู่ในอำเภอตะกั่วป่า ได้ยื่นขอสัมปทานบัตรพิเศษในบริเวณกว้างติดต่อกับ ร.ร.ขออาชญาบัตรของบริษัททุ่งคาฮาเบอร์ ทินเดรดยิง   ลิมิเต็ด การขอสัมปทานพิเศษนี้ ทางบริษัทเรือขุดแร่บางม่วง จำกัด ได้เซ็นสัญญาลงวันที่ 6 สิงหาคม พ.ศ. 2505 และ 18 มีนาคม พ.ศ. 2506 เพื่อสำรวจบริเวณในทะเล รวมเนื้อที่ 114,000 ไร่

เมื่อสิ้นหน้ามาสุม ในปี พ.ศ. 2505 ผมจึงได้มีโอกาสจัดการสำรวจแร่ แหล่งแร่ชายฝั่งทะเลด้านตะวันตกของจังหวัดพังงา นอกฝั่งเกาะคอเขาอีกครั้งหนึ่ง โดยขอช่างสำรวจจากมาเลเซียมาช่วย ทางบริษัทได้ส่งนายอิบราฮิม บิน ซึลง (IBRAHIM BIN SULONG) เสมียนฝ่ายสำรวจมาคุมงานนี้เพราะไม่มีวิศวกรว่าง

ด้วยการต่อแพอย่างง่าย ๆ อิบราฮิม ก็เริ่มสำรวจได้อย่างรวดเร็ว ปรากฏว่าบริเวณที่บริษัททุ่งคาฮาเบอร์ ขออาชญาบัตรไว้นอกเกาะคอเขานั้น มีแร่ดีบุกอุดมสมบูรณ์ตลอดทั้ง 15,000 ไร่ แต่เป็นแหล่งแร่แปลก ที่มีความหนาเฉลี่ยเพียง 2-3 เมตร แต่ประมาณว่ามีดีบุก (72% Sn O2) ถึง 100,000 ตัน แต่ก็มีส่วนมากที่อยู่ใกล้ ๆ ฝั่ง จะขุดจากทะเลก็ได้ไม่หมด

เนื่องจากเป็นแหล่งแร่ที่แปลก และอยู่ในทะเลเปิด ไม่มีเกาะบังคลื่นลมในฤดูมรสุม ทางบริษัททุ่งคาฮาเบอร์ ทิน เดรดยิง ลิมิเต็ด จึงยินยอมให้บริษัทชะเทิร์น คินตา คอนโซลิเดเต็ด ลิมิเต็ด เป็นผู้ขอประทานบัตรแทน คือ 6 แปลง จดทะเบียนเห็น ร.ร. ที่ 42, 43, 44, 45, 46, และ 47/2506 ถ. เมื่อวันที่ 5 กรกฎาคม พ.ศ. 2506

เราได้เริ่มปรึกษากันว่าจะใช้เครื่องมือ หรือวิธีการทำเหมืองชนิดใดจึงจะเหมาะสมกับการทำเหมืองในทะเลสำหรับแหล่งแร่ชนิดนี้ วิศวกรส่วนใหญ่เห็นพ้องต้องกันว่า จะต้องใช้เครื่องมือที่มีลักษณะคล้ายเครื่องดูดฝุ่นขนาดใหญ่ ตั้งบนหัวเรือ ออกไปดูดเอาทรายปนแร่ดีบุกใต้ทะเล แต่เครื่องใหญ่ ๆ ก็ไม่สามารถขุดแร่ใกล้ๆ ฝั่งได้ นายอิรค เดวีส์ (ERIC DAVIES) ซึ่งเป็นกรรมการของบริษัท แองโกล-โอเรียนเตลให้ความเห็นว่าควรจะจ้างสาวญี่ปุ่นที่เขาใช้งมไข่มุก สองสามร้อยคนมาขุดงมดีบุกในทะเลแห่งนี้ ในที่สุดจึงได้ตัดสินใจ ใช้แพขนาดเล็กติดตั้งเครื่องดูดแร่ระบบ JET LIFT มาทดลอง แพ PILOT PLANT ลำนี้ นายแบทเชอร์ได้ขนานนามว่า “ชาละวัน”

การที่จะออกแบบให้เรือขุดออกทำงานในทะเลได้ตลอดทั้งปีนั้น จะต้องเป็นเรือขนาดใหญ่ ซึ่งมีที่ให้พนักงานกินอยู่บนเรือขุดได้เป็นเวลานาน ซึ่งหมายถึงเรือขนาดสองหมื่นตันขึ้นไป และจะต้องลงทุนสูงมาก เราจึงได้ติดต่อกับบริษัทเรือขุดแร่บางม่วง จำกัด เพื่อที่จะหาแหล่งแร่มาเพิ่มเติมจากที่มีอยู่ เพื่อให้คุ้มต่อการลงทุน

ความจริง มร.เดวิด มิทเชล ประธานกรรมการของบริษัทและผมได้เริ่มเจรจากับคุณเกียรติ และคุณลิบ กุลวานิช ซึ่งเป็นกรรมการของบริษัทเรือขุดบางม่วง มาตั้งแต่วันที่ 9  และ 10 มิถุนายน พ.ศ. 2506 แล้ว แต่มีปัญหาที่ว่าการดำเนินงานร่วมกันอาจขัดต่อเงื่อนไขของสัมปทานพิเศษ ที่ทางบริษัทเรือขุดแร่บางม่วงได้รับจากกรมโลหกิจ ซึ่งได้ระบุไว้ว่าบริษัทที่จะมาดำเนินงานประกอบอุตสาหกรรมทำเหมืองแร่ดีบุกในทะเลในเขตสัมปทานดังกล่าว จะต้องเป็นบริษัทจดทะเบียนในประเทศไทย บริษัทชะเทิร์น คินตา คอนโซลิเดเต็ด ลิมิเต็ด นั้นเป็นบริษัทจดทะเบียนในประเทศอังกฤษ

บริษัทเรือขุดแร่บางม่วง จำกัด นั้น มีคุณเกียรติ กุลวานิช เป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ เป็นปรานกรรมการ ส่วนคุณลิบ กุลวานิช เป็นกรรมการผู้จัดการ เมื่อคุณเกียรติได้เสียชีวิตลงด้วยโรคหัวใจ คุณลิบ จึงเป็นผู้รับผิดชอบแต่เพียงผู้เดียว

ปัญหาเรื่องที่บริษัทของเราเป็นบริษัทจดทะเบียนในประเทศอังกฤษนั้น ก็แก้ไขได้โดยเป็นที่ตกลงกันว่าสัญญาร่วมทุนที่ทำขึ้นนั้น จะทำที่กรมโลหกิจ โดยอธิบดีมีส่วนลงนามว่าไม่ขัดกับเงื่อนไขในการให้สัมปทาน และในที่สุดก็ได้มีการเซ็นสัญญากันที่กรมโลหกิจ เมื่อวันที่ 20 มกราคม พ.ศ. 2507

บริษัทชะเทิร์น คินตา คอนโซลิเดเต็ด ลิมิเต็ด ได้รับประทานบัตรในบริเวณชายฝั่งเกาะคอเขา เป็นประทานบัตรเลขที่ 10426-10430 รวม 5 แปลง เมื่อวันที่ 1 พฤษภาคม พ.ศ. 2508 ประทานบัตรที่ได้รับนั้นมีอายุเพียง 10 ปี และความไม่แน่นอนในอนาคต ย่อมทำให้ไม่มีใครกล้าลงทุนหลายร้อยล้าน ที่จะสร้างเรือขุดขนาดใหญ่ที่จะใช้ในเวลาจำกัด การออกแบบและสร้างเรือขุดใหญ่ ๆ นั้น ก็จะต้องใช้เวลาหลายปี

แต่อย่างไรก็ดี เราได้เริ่มดำเนินงานโดยเร็ว ทั้งในด้านการเตรียมออกแบบต่อเรือขุดและเร่งเร้าให้บริษัทเรือขุดแร่บางม่วงได้รับประทานบัตร เพราะการสำรวจของเรามีผลแสดงว่าในเขตเรื่องราวขอประทานบัตรของบริษัทเรือขุดแร่บางม่วงมีดีบุกอยู่ประมาณ 100,000 ตัน เช่นเดียวกับ ถ้ารวมกับของบริษัทชะเทิร์น ลินตา ด้วยแล้วก็จะมีดีบุกรวมถึง 200,000 ตัน คิดเป็นเงินตามราคาดีบุกในสมัยนั้นถึง 33,000 ล้านบาท

ในระหว่างที่บริษัทเรือขุดแร่บางม่วงยังไม่ได้รับประทานบัตรนั้น ได้มีบุคคลที่อ้างอิงว่าใกล้ชิดกับคณะทหารที่ปกครองประเทศอยู่ในขณะนั้น ได้มาติดต่อกับผมและอ้างว่าถ้าเขายกเลิกคำขอประทานบัตรของบริษัทเรือขุดแร่บางมุ่ง และสามารถเข้าไปขอประทานบัตรแทนได้สำเร็จ เราก็ทำสัญญากับเขาในเงื่อนไขเดิมหรือไม่ ในข้อนี้ผมก็ได้ตอบให้ทราบว่า ถ้าคำขอประทานบัตรของเรือขุดแร่บางม่วงถูกยกเลิกไป ในกรณีใดก็ตาม เราก็ไม่สามารถทำสัญญากับเจ้าของสิทธิรายใหม่ได้เพราะจะเป็นการเสียมารยาท และเราก็มีความจำเป็นต้องอาศัยบริษัทเรือขุดแร่บางม่วง ในการทำท่าเรือ และสิ่งก่อสร้างอื่น ๆ บนชายฝั่ง

ทั้ง ๆ ที่ผมได้ปฏิเสธไปแล้ว บุคคลคณะนี้ยังได้เดินทางไปที่กรุงกัวลาลัมเปอร์ และติดต่อกับ มร. วิค วีมส์ กรรมการของบริษัทแองโกล-โอเรียนเตล ในเรื่องเดียวกัน ซึ่งแน่ละ มร. วีมส์ ก็คงไม่อาจรับข้อเสนอดังกล่าวได้

หลังจากที่ผมได้เดินทางไปรายงานตัวที่สำนักงานใหญ่ ในกรุงลอนดอนในปี พ.ศ. 2508 และกลับมายังประเทศไทยแล้ว แต่ยังมีเวลาเหลือก่อนจะกลับไปภูเก็ต ผมจึงได้ถือโอกาสขับรถยนต์ไปพักที่โรงแรมบางแสน จังหวัดชลบุรี เพราะมีสนามกอล์ฟบางพระอยู่ใกล้ ๆ และในสมัยนั้นแขกที่พักอยู่โรงแรมมีสิทธิไปเล่นกอล์ฟได้ในราคาพิเศษ

วันหนึ่งขณะที่พักอยู่ที่โรงแรมนั้น คุณนัดดา บุญญศิริ ซึ่งเป็นวิศวกรอยู่กรมโลหกิจได้เดินทางมาพบผมที่โรงแรม และขอให้ผมเดินทางไปพบท่านรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพัฒนาการแห่งชาติโดยด่วน ผมเคยรู้จักคุณนัดดามาก่อนดี เพราะเคยเป็นนิสิตแผนกวิศวกรรมศาสตร์ที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เมื่อครั้งที่ผมไปสอนพิเศษ และเมื่อได้รับปริญญาแล้วคุณนัดดดาก็เคยไปรับราชการเป็นนายช่างตรวจเหมืองที่จังหวัดภูเก็ต คุณนัดดาเป็นนักเทนนิสฝีมือดี ซึ่งทำให้เรามีโอกาสพบกันเสมอที่ด่าสศุลกากรที่ภูเก็ต ผมได้เรียนให้คุณนัดดาทราบว่า ผมไม่อยู่ในระหว่างทำงาน เพิ่มกลับจากต่างประเทศ เสื้อผ้าที่เรียบร้อยก็ส่งกลับภูเก็ตล่วงหน้าแล้ว มีแต่เสื้อผ้าชุดกอล์ฟ คุณนัดดา ก็บอกว่าไม่เป็นไร ท่านรัฐมนตรีมีเรื่องด่วน ครั้งนั้นจึงเป็นครั้งแรกที่ผมใส่เสื้อผ้าเชิ้ตโปโล เข้าไปพบรัฐมนตรีในห้องทำงานของท่าน

ท่านรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพัฒนาการแห่งชาติ ได้อธิบายว่า บริษัทเรือขุดแร่บางม่วงได้ขอประทานบัตร 5 แปลง ในทะเล รวมเป็นเนื้อที่ถึง 50,000 ไร่ เกรงว่าจะไม่สามารถทำเหมืองได้หมด จึงได้พิจารณาว่าควรจะอนุมัติให้ 4 แปลง ส่วนอีกแปลงหนึ่งนั้น ควรให้ผู้อื่นทดลองเปิดการทำเหมืองดูบ้าง เพราะเขามีหุ้นส่วนเป็นบริษัทญี่ปุ่นซึ่งมีความชำนาญและมีความสามารถมาก แต่บริษัทเรือขุดแร่บางม่วง ยังไม่รับข้อเสนอนั้นได้ เพราะมีสัญญาผูกพันอยู่กับบริษัทอังกฤษซึ่งผมเป็นผู้แทนอยู่

ผมจึงได้รับปากท่านรัฐมนตรีว่า ถ้าเป็นความประสงค์ของเรือขุดแร่บางม่วงแล้ว ผมก็คงจะขอให้บริษัทชะเทิร์น คินตา แก้ไขสัญญาได้

เมื่อผมเดินทางกลับมาที่บางแสน ผมจึงได้โทรเลขแจ้งให้ มร.มิทเชล ประธานกรรมการได้ทราบ ต่อมาเราได้นัดพบกันที่กรุงเทพฯ และปรึกษากับคุณลิบ กุลวานิช ดู และเห็นพ้องต้องกันว่า ไม่น่าจะขัดข้อง เพราะถ้าได้ประทานบัตร 4 แปลง ก็ไม่เป็นอุปสรรคต่อการทำเหมืองแต่อย่างใด และได้ตกลงทำสัญญาฉบับแก้ไขเพิ่มเติม ซึ่งได้รับอนุมัติจากคณะกรรมการบริษัท ในวันที่ 30 กันยายน พ.ศ. 2508

 
< ก่อนหน้า   ถัดไป >

News

สมุดภาพเหมืองแร่

Counter

mod_vvisit_countermod_vvisit_countermod_vvisit_countermod_vvisit_countermod_vvisit_countermod_vvisit_countermod_vvisit_countermod_vvisit_countermod_vvisit_counter
mod_vvisit_counterวันนี้258
mod_vvisit_counterเมื่อวาน5656
mod_vvisit_counterทั้งหมด11017749