Skip to content

Phuketdata

default color
Home arrow News arrow วิถีชีวิตชาวเหมือง arrow ศาสนาคริสต์ในภูเก็ต
ศาสนาคริสต์ในภูเก็ต PDF พิมพ์ อีเมล์
เขียนโดย ปาณิศรา ชูผล มทศ.   
จันทร์, 11 กุมภาพันธ์ 2008

ศาสนาคริสต์

ศาสนาคริสต์ในภูเก็ต มีผู้นับถือทั้งนิกายโรมันคาทอลิกและนิกายโปรเตสแตนท์ สำหรับศาสนาคริสต์นิกายโปรเตสแตนท์นั้นเริ่มมีมิชชั่นนารีจากมาเลเซียเข้ามาในภูเก็ตราวปี ค.ศ. ๑๘๘๒ และใช้ภาษาจีนฮกเกี้ยนในการสอนศาสนา หลังจากนั้นประมาณ ๔ ปี มิชชั่นนารีชื่อ “William Mae Donald และ Philip J.Hocquard ได้เดินทางจากปีนังเข้าสู่ภูเก็ต  ขณะนั้นมีผู้นับถือศาสนาคริสต์ในภูเก็ตประมาณ ๘ คน และทั้งสองได้ประกอบพิธีศีลมหาสนิทให้แก่ชาวภูเก็ตเหล่านั้น อ๋องหิ้น (Ong Hin) เป็นผู้ที่ศรัทธาในพระผู้เป็นเจ้าเป็นอย่างยิ่ง เข้าได้รวบรวมเงินจากการขายขนม ซื้อบ้าน ๑ หลัง บริเวณถนนถลาง ในปี ค.ศ.๑๘๘๙ คือ บ้านเลขที่ ๒๔ เพื่อเป็นสถานที่พบปะของคริสตศาสนิกชนและเผยแผ่ประกาศข่าวประเสริฐของพระเจ้า สถานที่นี้ยังเป็นสถานที่สำหรับสวดมนต์ และประกอบพิธีกรรมทางศาสนาจนถึงปัจจุบันนี้  ปัจจุบันคือ คริสเตียนสถาน  ต่อมา Mr. and Mrs. Toy ชาวแคนาดา ได้เข้ามาร่วมงานเผยแผ่ศาสนาในภูเก็ต ใน ค.ศ. ๑๙๒๐  บุคคลทั้งสองได้พยายามขยายการเผยแผ่คำสอนออกไปตามชนบทที่ห่างไกลมากขึ้น และพบว่าได้รับการยอมรับจากประชาชนในชนบทเป็นอย่างดี  Mr.Toy นอกจากเป็นหมอสอนศาสนาแล้ว เขายังเป็นหมอรักษาคนไข้สามัญและช่วยเหลือรักษาคนไข้แก่ประชาชนชาวภูเก็ต Mr.Toy สิ้นชีวิตที่จังหวัดภูเก็ต ศพของMr.Toy ฝังไว้ที่ภูเก็ต มิชชั่นนารีกลุ่มต่าง ๆ ในเขตภาคใต้ได้หมุนเวียนกันเข้ามาเผยแผ่ศาสนาในภูเก็ตอย่างสม่ำเสมอ ในปี ค.ศ.๑๙๕๘–๑๙๕๙ Mr.David และ Dreen Hogan พร้อมด้วย Mr.Peter Ferry ได้เข้ามาเผยแผ่คำสอนในภูเก็ต ระยะนี้เป็นระยะที่เยาวชนภูเก็ตให้ความสนใจและยอมรับนับถือศาสนาคริสต์มากขึ้น และเป็นกำลังสำคัญในการเผยแผ่คำสอนต่าง ๆ Mr. และ Mrs.Hogan ยังได้นำคำสอนในพระคัมภีร์ไปสอนแก่ชาวเลกลุ่มอูรักลาโว้ย (Urak Lawai) ที่ราไวย์ และได้ศึกษาภาษาชาวเลจนสามารถถ่ายทอดคำสอนในพระคัมภีร์เป็นภาษาชาวเล  จัดทำหนังสือเป็นภาษาชาวเลเพื่อสะดวกในการเทศนาสั่งสอนอีกด้วย

 

กิจกรรมที่ชาวคริสต์นิกายโปรเตสแตนท์ได้อุทิศตนช่วยเหลือสังคมดังนี้

๑. เยี่ยมบ้านคนชราที่บ้านป่าคลอก เดือนละ ๑ ครั้ง
๒. สอนพระคัมภีร์แก่นักเรียนศึกษาพิเศษบ้านป่าคลอกทุกวันอาทิตย์
๓. เยี่ยมเยียนนักโทษในคุกทั้งเขตผู้หญิงและผู้ชาย ทำให้นักโทษเหล่านั้นได้รับความสนุกสนาน เพลิดเพลินกับกิจกรรมที่กลุ่มอาสาสมัครที่เป็นคนไทยและชาวต่างประเทศจัดขึ้น
๔. สอนศาสนาวันอาทิตย์แก่เยาวชน ตามกลุ่นสนใจ
๕. เผยแผ่พระคัมภีร์ทางไปรษณีย์
 (Emmaus) โดยมีผู้ดำเนินงาน คือ Mr. และ Mrs. Vines เมื่อทั้งสองเดินทางกลับประเทศอังกฤษ คุณวิไลเป็นผู้ดำเนินการต่อมาจนถึงปัจจุบัน

สถานที่เผยแผ่ศาสนา ได้แก่ โบสถ์ คริสตจักรท่าแครง  คริสเตียนสถานถนนถลาง   โบสถ์เซเว่นเดย์เอดเว็นตีส

คุณอาร์โนล คลาร์ก (Arnold Clarke) เป็นผู้นำทางศาสนาคริสต์นิกายโปรเตสแตนท์ในจังหวัดภูเก็ต แต่ขณะนี้คุณอาร์โนล ป่วยหนัก คุณปีเตอร์ เฟอรี่ (Peter Ferry) จึงได้รับมอบหมายให้เป็นผู้นำทางศาสนาคริสต์นิกายโปรเตสแตนท์ในจังหวัดภูเก็ต ทำหน้าที่แทนคุณอาร์โนล ในปัจจุบัน

นิกายโรมันคาทอลิก

 ศาสนาคริสต์นิกายโรมันคาทอลิกได้เข้ามาเผยแผ่ศาสนาในจังหวัดภูเก็ตตั้งแต่สมัยอยุธยา โดยเฉพาะในสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช พระองค์ให้อิสระในการนับถือศาสนา จึงมีมิชชั่นนารีหมุนเวียนกันเข้ามาเผยแผ่ศาสนาเป็นจำนวนมากในจังหวัดภูเก็ต แต่หลักฐานการเผยแผ่ศาสนาในระยะนี้ไม่ปรากฏหลักฐานชัดเจน หลักฐานที่อ้างอิงได้ประมาณ ปี ค.ศ. ๑๙๓๕–๑๙๔๕ พระสงฆ์คณะซาเลเซียน โดยคุณพ่อมารีโอ รูเช็ดดู  ได้เข้ามาฟื้นฟูและรวบรวมคริสตชนในจังหวัดภูเก็ตให้เป็กลุ่มเป็นก้อนอีกครั้งหนึ่ง  นอกจากนี้คุณย็อบ คาร์นินี่ เป็นผู้ได้รับสมญาว่า “มิชชั่นนารีแห่งภาคใต้” ในโอกาสนี้ คุณพ่อมารีโอ  รูเช็ดดู ได้ให้ความช่วยเหลือทางด้านการศึกษาแก่นักศึกษาแก่นักศึกษา ๒ คน คือ นายฟรังซีส กิจจา อนิวรรตน์ และนายทวี  อนิวรรตน์ ซึ่งทั้งสองเป็นบุตรของนายแถลง อนิวรรตน์ (บันทึกของพระสังฆราชเปโตร คาเร็ตโต) ต่อมาในราวปี ค.ศ.๑๙๕๒ พระสงฆ์มิชชั่นนารีกลุ่มแรกคณะสงฆ์รอยแผลศักดิ์สิทธิ์ได้เดินทางมาถึงประเทศไทย ซึ่งคณะมิชชั่นนารีคณะนี้ถูกขับออกจากประเทศจีน  เนื่องจากจีนเปลี่ยนแปลงการปกครองเป็นระบบคอมมิวนิสต์ ในระหว่างที่จะเดินทางกลับกรุงโรมนั้นคุณพ่อยอห์น เซเรโต และคุณพ่อเอจิดิโอ  ไอรากิ  ได้มีโอกาสแวะที่ประเทศไทย  ซึ่งในวันนั้นก็ตรงกับวันฉลองสมโภชพระมารดาผู้รับเกียรติยกขึ้นสวรรค์พอดี  ดังนั้นคุณพ่อทั้ง ๒ จึงได้มีโอกาสพบ พูดคุย และรู้จักกับคุณพ่อคาร์โล เดลลา โทเร พระสงฆ์ชาวอิตาเลี่ยน  ซึ่งเป็นผู้ก่อตั้งคณะซิสเตอร์พระแม่มารี  หรือชื่อเต็มว่า “คณะซิสเตอร์ธิดาพระราชินีมาเรียผู้นิรมล” นั่นเอง คุณพ่อทั้ง ๒ ที่เป็นชาวอิตาเลี่ยนดีใจมากที่ได้พบพระสงฆ์ที่เป็นชาติเดียวกัน จึงได้ซักถามและพูดคุยกันในหลายเรื่องที่เกี่ยวกับงานอภิบาลในประเทศไทย และทราบว่าทางประเทศไทยยังต้องการพระสงฆ์มิชชั่นนารีอีกเป็นจำนวนมากในการที่จะช่วยดูแลและเอาใจใส่บรรดาสัตบุรุษในงานอภิบาลต่าง ๆ ดังนั้นคุณพ่อทั้งสองจึงได้พยายามที่จะติดต่อและรวบรวมข้อมูลต่าง ๆ เพื่อจะเสนอเรื่องไปยังอัคราธิการของคณะที่กรุงโรม  จากนั้นก็ได้มีการติดต่อกันในระหว่างอัคราธิการของคณะกับพระสังฆราช เปโตร คาเร็ตโต  ประมุขแห่งสังฆมณฑลราชบุรี  ซึ่งในเวลานั้นยังมิได้แยกเป็นอีกสังฆมณฑลหนึ่ง  ดังนั้นสังฆมณฑลราชบุรีจึงมีเนื้อที่ครอบคลุมตลอดภาคใต้ของประเทศไทยด้วย  และมีเพียง ๒ แห่งเท่านั้น ที่มีพระสงฆ์ประจำ คือ ที่หัวหินและที่หาดใหญ่  ส่วนงานอภิบาลที่อำเภอห้วยยาง จังหวัดประจวบคีรีขันธ์นั้นกำลังอยู่ในช่วงเริ่มต้น

และหลังจากที่ได้มีการติดต่อพูดคุยกัน   พระสังฆราช เปโตร คาเร็ตโต ก็ได้เชิญพระสงฆ์คณะรอยแผลศักดิ์สิทธิ์ เข้ามาทำงานในประเทศไทย  โดยมอบหมายให้คณะฯ เอาใจใส่ดูแลกลุ่มคริสตชนในเขต ๕ จังหวัดภาคใต้ นั่นคือ ระนอง ตรังภูเก็ต กระบี่และพังงา ซึ่งในเวลาต่อมา “สังฆมณฑลราชบุรี” ได้แบ่งออกเป็น ๒ สังฆมณฑล คือ   สังฆมณฑลราชบุรีและสังฆมณฑลสุราษฎร์ธานี และคณะนักบวชรอยแผลศักดิ์สิทธิ์ทำงานขึ้นกับสังฆมณฑลสุราษฎร์ธานี

พระสงฆ์มิชชั่นนารีกลุ่มแรก ที่เดินทางมาถึงประเทศไทยและได้เริ่มทำงานนี้ ได้แก่ คุณพ่อลิโอ อินามา คุณพ่อมาร์โก บลาซูติก และคุณพ่อเอจิดิโอ ไอรากิ โดยคุณพ่อทั้งสาม ได้เดินทางมาถึงประเทศไทยเมื่อวันที่ ๒๑ สิงหาคม ค.ศ.๑๙๕๒  และไม่นานหลังจากนั้น พระสงฆ์มิชชั่นนารีกลุ่มที่ ๒ ก็ได้เดินทางมาถึงประเทศไทย ในวันที่ ๓๐ กันยายน ค.ศ.๑๙๕๒ เช่นกัน  ซึ่งพระสงฆ์ทั้งห้าองค์นี้เป็นพระสงฆ์มิชชั่นนารีที่มาจากแขวงอิตาลี และเคยไปทำงานที่ประเทศจีนผืนแผ่นดินใหญ่มาก่อนทั้งสิ้น  โดยในช่วงแรกคุณพ่อทั้งห้าได้พักอยู่ที่วัดบางนกแขวก เพื่อที่จะเรียนภาษา  ศึกษาและปรับตัวให้เข้ากับวัฒนธรรม และประเพณีของคนไทย  หลังจากที่เริ่มคุ้นเคยกับภาษา  วัฒนธรรมและประชาชนพอสมควรแล้ว  ก็ได้เริ่มงานแพร่ธรรมในทันที  โดยคุณพ่อลิโน อินามา ได้เดินทางไปดูสถานที่ที่จังหวัดภูเก็ต   พร้อมกับคุณพ่อเปโตร  เยลิชี  ซึ่งเป็นอุปสังฆราชในสมัยนั้น และที่สุดคุณพ่อได้ตัดสินใจที่จะเริ่มงานในจังหวัดภูเก็ตเป็นแห่งแรก  โดยพระสังฆราชเปโตร คาเร็ตโต ได้แนะนำให้คณะเริ่มกิจการด้วยการเปิดโรงเรียน  ทั้งนี้เพื่อเป็นการปูทางให้ประชาชนทั่วไปได้รู้จัก และเข้ามาติดต่อกับเรา  จากนั้นก็จะเป็นโอกาสให้คริสตชนได้แสดงตัวของเขากับเราด้วย

อย่างไรก็ตามแม้ว่าจะมีพระสงฆ์มิชชั่นนารีอยู่หลายองค์ แต่จำนวนพระสงฆ์ก็ยังไม่เพียงพอกับสนามแห่งงานแพร่ธรรม และความต้องการของบรรดาสัตบุรุษ  ดังนั้นจึงได้มีการติดต่อกับอัคราธิการของคณะที่กรุงโรม  แต่เนื่องจากเวลานั้น แขวงอิตาลีได้รับความกระทบกระเทือนจากผลของสงครามโลกครั้งที่ ๒ เป็นอย่างมาก  ดังนั้นทางอัคราธิการของคณะที่กรุงโรม จึงได้ติดต่อขอความช่วยเหลือไปยังแขวงของคณะที่อเมริกา ซึ่งก็ได้รับการตอบสนองเป็นอย่างดี  พระสงฆ์มิชชั่นนารีอเมริกันกลุ่มแรกที่เดินทางมาทำงานในประเทศไทยได้แก่ คุณพ่อร็อคโก ลิโอติโล และคุณพ่อยอแซฟ ฟลัด โดยคุณพ่อทั้งสองได้เดินทางมาถึงประเทศไทยในเดือนเมษายน ค.ศ.๑๙๕๔  ส่วนคุณพ่อชาร์ล นารานโจ จากแขวงอเมริกาอีกเช่นกันก็ได้เดินทางมาถึงในเดือนตุลาคม ค.ศ.๑๙๕๔

เมื่อมีจำนวนพระสงฆ์มากขึ้น สนามงานแห่งการแพร่ธรรม โดยพระสงฆ์มิชชั่นนารีแห่งคณะรอยแผลศักดิ์สิทธิ์ ก็ได้เริ่มขึ้นอย่างเป็นขั้นเป็นตอน โดยทางคณะได้จัดซื้อที่ดินซึ่งเป็นเหมืองแร่ดีบุกเก่า พร้อมกับอาคารไม้เก่า ๆ อีก ๒-๓ หลัง เพื่อใช้เป็นบ้านพักชั่วคราว วัดและโรงเรียนให้ชื่อว่า “โรงเรียนดาวรุ่งวิทยา”  ซึ่งได้ทำการเปิดสอนเป็นครั้งแรกในวันที่ ๑๗ พฤษภาคม ค.ศ.๑๙๕๔

ต่อมาในเดือนธันวาคม ค.ศ.๑๙๕๗  พิธีวางศิลาฤกษ์วัดใหม่ที่กำลังจะสร้างขึ้นก็ได้ถูกกำหนดขึ้น โดยให้ชื่อว่า “วัดนักบุญฟรังซิสเซเวียร์” อันเนื่องมาจากเหตุผลที่ว่าเพื่อเป็นเกียรติแก่ท่านนักบุญที่ถือกันว่า เป็นมิชชั่นนารีผู้ยิ่งใหญ่และเชื่อว่าท่านนักบุญฟรังซิส เซเวียร์  น่าจะเคยผ่านมาที่จังหวัดภูเก็ตนี้ด้วย

ต่อมาภายหลังได้มีการเปลี่ยนชื่อวัดจากวัด “นักบุญฟรังซิส เซเวียร์” มาเป็น “วัดแม่พระรับเกียรติยกขึ้นสวรรค์” ในปี ค.ศ.๑๙๖๑ ทั้งนี้เพราะได้ค้นพบหลักฐานทางประวัติศาสตร์ที่พอจะเชื่อถือได้ว่า ก่อนหน้านี้ที่ตัวเมืองภูเก็ตได้เคยมีวัดคาทอลิกอยู่ ๓ แห่งด้วยกัน และหนึ่งในวัดเหล่านั้น มีชื่อว่า “วัดแม่พระเกียรติยกขึ้นสวรรค์” ซึ่งเป็นวัดที่ใหญ่กว่าหมด และมีสัตบุรุษมากกว่าทุก ๆ วัด แต่หลังจากสงครามระหว่างไทยกับพม่า  วัดเหล่านี้ก็ไม่เหลืออยู่เลย  ดังนั้นในปี ค.ศ.๑๙๖๑  จึงได้มีการเปลี่ยนชื่อวัดจาก “วัดนักบุญฟรังซิส เซเวียร์” มาเป็น “วัดแม่พระรับเกียรติยกขึ้นสวรรค์จังหวัดภูเก็ต” โดยการเปลี่ยนชื่อนี้ได้รับความเห็นชอบและการอนุมัติจากพระสังฆราชเปโตร คาเร็ตโต เป็นอย่างดี

วัดหลังใหม่นี้ได้ถูกเปิดใช้เป็นครั้งแรก ในโอกาสพิธีปลงศพของคุณพ่อเอจิดิโอ ไอรากิ เมื่อวันที่ ๓๑ พฤษภาคม ค.ศ.๑๙๕๘ ซึ่งได้เสียชีวิตลงเนื่องจากกระแสไฟฟ้าลัดวงจร  เมื่อคราวที่เกิดพายุใหญ่ในปีเดียวกัน

ปัจจุบัน “วัดแม่พระรับเกียรติยกขึ้นสวรรค์จังหวัดภูเก็ต”  ได้รับการเอาใจใส่และปกครองดูแล โดยพระสงฆ์คณะนักบวชรอยแผลศักดิ์สิทธิ์ โดยมีคุณพ่อนิรันดร์ ศิลามงคล เป็นเจ้าอาวาส มีสัตบุรุษอยู่ในปกครองประมาณ ๑๕๐ คน นอกนั้นก็เป็นบรรดานักท่องเที่ยวที่แวะเข้ามาเยี่ยมเยียนและร่วมพิธีทางศาสนา ซึ่งในปีหนึ่ง ๆ มีจำนวนมากพอสมควร

คริสตศาสนสถาน

โบสถ์คริสเตียนสถาน
 สร้างเมื่อ ค.ศ.๑๙๗๑  ตั้งที่ ๒๕ ถนนถลาง  นิกายโปรแตสแตนต์

โบสถ์คริสตจักรภูเก็ต
 สร้างเมื่อ ค.ศ.๑๙๗๐ ตั้งอู่ที่ถนนเจ้าฟ้า อำเภอเมืองภูเก็ต  นิกายโปรแตสแตนต์

โบสถ์คริสเตียนสัมพันธ์
 สร้างเมื่อ ค.ศ.๑๙๙๐ ตั้งอยู่ที่ ๗๔/๕๐ ถนนพูลผล ตำบลวิชิต นิกายโปรแตสแตนต์

โบสถ์คริสตจักรโฟร์แสคร์
 สร้างเมื่อ ค.ศ.๑๙๙๐  ตั้งอยู่ที่ ๕๖/๑ ใกล้ตลาดไทย ตำบลตลาดใหญ่  นิกายโปรแตสแตนต์

โบสถ์คาทอริค
 สร้างเมื่อ ๓๑ พฤษภาคม ค.ศ. ๑๙๗๐  ตั้งที่ถนนเจ้าฟ้า อำเภอเมืองภูเก็ต นิกายโรมันคาทอริค

 

 
< ก่อนหน้า   ถัดไป >

News

สมุดภาพเหมืองแร่

Counter

mod_vvisit_countermod_vvisit_countermod_vvisit_countermod_vvisit_countermod_vvisit_countermod_vvisit_countermod_vvisit_countermod_vvisit_countermod_vvisit_counter
mod_vvisit_counterวันนี้228
mod_vvisit_counterเมื่อวาน5656
mod_vvisit_counterทั้งหมด11017718