Skip to content

Phuketdata

default color
Home
สีเสริมสวยนีอันเดอร์ธัล PDF พิมพ์ อีเมล์
เขียนโดย ปาณิศรา ชูผล มทศ.   
อังคาร, 12 มกราคม 2010
พบเปลือกหอยชี้ “นีอันเดอร์ทัล” ทำบอดี้เพนท์เป็นเมื่อ 5 หมื่นปีก่อน
โดย ASTVผู้จัดการออนไลน์11 มกราคม 2553 19:49 น.
คลิกที่ภาพเพื่อดูขนาดใหญ่ขึ้น
เปลือกหอยในถ้ำของนีอันเดอร์ทัลมนุษย์โบราณ ซึ่งมีร่องรอยการแกะสลัก (บีบีซีนิวส์/ชูเอา ซิลเญา)

ภาพขยายตามส่วนต่างๆ ของเปลือกหอยซึ่งมีรงควัตถุสีเหลือง-ส้มติดอยู่ (พีเอ็นเอเอส/ชูเอา ซิลเญา)

ภาพวาดจำลองหน้าตาของมนุษย์นีอันเดอร์ทัล (บีบีซีนิวส์)

ชูเอา ซิลเญา (ม.บริสตอล)

ไม่ใช่แค่นางแบบเซ็กซี่ที่อวดลวดลาย “บอดี้เพนท์” แต่ “นีอันเดอร์ทัล” มนุษย์โบราณก็อาจระบายสีตัวมาตั้งแต่ 50,000 ปีที่แล้ว โดยนักโบราณคดีอังกฤษได้พบหลักฐานที่ชวนให้เชื่อ เป็นเปลือกหอยสำหรับบรรจุสีทาตัวของมนุษย์ดึกดำบรรพ์นี้ในสเปน
       
       ศ.ชูเอา ซิลเญา (Joao Zilhao) นักโบราณคดีจากมหาวิทยาลัยบริสตอล (Bristol University) ในอังกฤษ นำคณะสำรวจพื้นที่โบราณคดี 2 แห่งในถ้ำเมืองมูร์เชีย ประเทศสเปน และได้พบหลักฐานที่เชื่อได้ว่า “นีอันเดอร์ทัล” (Neanderthal) มนุษย์โบราณที่สูญพันธุ์ไปแล้ว ได้ทำ “บอดี้เพนท์” (body paint) หรือใช้สีทาตัวมาตั้งแต่เมื่อ 50,000 ปีก่อน
       
       ทีมสำรวจได้พบเปลือกหอย ที่มีผงสีติดค้างอยู่ และน่าจะเป็นวัสดุสำหรับบรรจุและผสมผงสีเพื่อใช้เสริมสวย ซึ่งก่อนนี้บีบีซีนิวส์ระบุว่า มีการค้นพบแท่งแมงกานีสสีดำในแอฟริกา ที่เชื่อว่าเป็นสารสีสำหรับทาตัวหรือบอดี้เพนท์ ทั้งนี้ทีมสำรวจเชื่อด้วยว่าสิ่งที่ขุดพบนั้นแสดงให้เห็นถึงวิสัยทัศน์และสติปัญญาในการคิดเชิงสัญลักษณ์ของนีอันเดอร์ทัลที่สูญพันธุ์ไปเมื่อ 30,000 ปีก่อน
       
       “สิ่งนี้เป็นหลักฐานอันหนักแน่นที่แสดงถึงการใช้เครื่องสำอางของพวกเขา การใช้สูตรที่ซับซ้อนเป็นข้อมูลใหม่ มันมากกว่าการทำบอดี้เพนท์” ศ.ซิลเญากล่าว โดยครั้งนี้ทีมสำรวจได้พบก้อนสีของสีเหลือง ซึ่งอาจจะใช้เป็นสีรองพื้น และพวกเขายังผงสีแดงที่ผสมกับผงแร่สีดำสะท้อนแสงสดใส นอกจากนี้เปลือกหอยแกะสลักที่มีสีสันสดใสนั้นนีอันเดอร์ทัลอาจใช้เป็นเครื่องประดับ
       
       อย่างไรก็ดี จนถึงทุกวันนี้นักวิทยาศาสตร์จำนวนมากยังเชื่อว่า มีเพียงมนุษย์ยุคปัจจุบันเท่านั้นที่ใต่งหน้า-ทาตัวเพื่อความสวยงามและเพื่อประกอบพิธีกรรม ส่วนการค้นพบของทีม ศ.ซิลเญา นั้นได้เผยแพร่ลงวารสารโพรซีดิงส์ออฟเดอะเนชันนัลอคาเดมีออฟไซน์สหรือพีเอ็นเอเอส (Proceedings of the National Academy of Sciences: PNAS)

อ้างอิง

http://www.norsorpor.com/ข่าว/n1848853/พบเปลือกหอยชี้%20%20นีอันเดอร์ทัล%20%20ทำบอดี้เพนท์เป็นเมื่อ%205%20หมื่นปีก่อน

---------------------

จำลองเสียง "นีอันเดอร์ทัล" ให้ได้ยินอีกครั้งหลังสูญพันธุ์ 3 หมื่นปีฟังเสียงประกอบจาก Manager Multimedia
โดย ASTVผู้จัดการออนไลน์27 เมษายน 2551 15:59 น.

ภาพจำลองมนุษย์นีอันเดอร์ทัลวัยเด็ก (ภาพจากสถาบันมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยซูริค เมืองซูริค ประเทศสวิตเซอร์แลนด์)

คลิกที่ภาพเพื่อดูขนาดใหญ่ขึ้น
โรเบิร์ต แม็คคาร์ธีย์ (ภาพจาก www.fau.edu)

ฟิล ลีเบอร์แมน(ภาพจาก www.cog.brown.edu)

อีริค ทรินเคาส์ (ภาพจาก media.collegepublisher.com)

จอห์น ฮอว์กส (ภาพจาก www.news.wisc.edu)

นิวไซเอนทิสต์-นักมานุษยวิทยาต่างปรารถนาที่จะได้ยินเสียงมนุษย์นีอันเดอร์ทัลที่สูญพันธุ์ไปเมื่อ 30,000 ปีก่อน ว่าจะเหมือนหรือต่างจากเสียงของเราอย่างไร ล่าสุดการสังเคราะห์เสียงมนุษย์โบราณด้วยคอมพิวเตอร์ก็สำเร็จไประดับหนึ่งแล้ว
       
       โรเบิร์ต แม็คคาร์ธีย์ (Robert McCarthy) นักมานุษยวิทยาของมหาวิทยาลัยฟลอริดาแอตแลนติก (Florida Atlantic University) ในโบคา ราตัน มลรัฐฟลอริดา สหรัฐอเมริกา เปิดเผยระหว่างการประชุมประจำปีของสมาคมมานุษยวิทยากายภาพสหรัฐฯ ในเมืองโคลัมบัส มลรัฐโอไฮโอ เมื่อกลางเดือน เม.ย.ที่ผ่านมาว่า เขาได้ฟื้นสภาพช่องเสียง (vocal tract) ของนีอันเดอร์ทัลขึ้น
       
       ทั้งนี้เขา พบว่ามนุษย์โบราณเหล่านี้สามารถออกเสียงได้แตกต่างเพียงเล็กน้อย ซึ่งพวกเขาไม่สามารถเปล่งพลังจนสามารถสร้างเสียงสระในรูปแบบต่างๆ ได้ ทั้งที่การออกเสียงสระที่หลากหลายถือเป็นพื้นฐานสำคัญของภาษาพูด
       
       ในช่วงทศวรรษที่ 1970 (พ.ศ. 2513-2522) ฟิล ลีเบอร์แมน (Phil Lieberman) นักภาษาศาสตร์จากมหาวิทยาลัยบราวน์ในเมืองโพรวิเดนซ์ มลรัฐโรดไอส์แลนด์ ลงความเห็นว่าเพราะกล่องเสียงของมนุษย์นีอันเดอร์ทัลอยู่ติดกับกะโหลก ทำให้การพูดของนีอันเดอร์ทัลจึงไม่มีความละเอียดอ่อนเท่ากับมนุษย์สมัยใหม่อย่างเราๆ
       
       ทว่านักวิจัยหลายคนก็ส่งเสียงวิจารณ์การค้นพบของลีเบอร์แมน ทั้งการอ้างหลักฐานทางมานุษยวิทยาถึงยุคแห่งวัฒนธรรมการพูด (Oral Culture) ของนีอันเดอร์ทัล รวมถึงข้อผิดพลาดในการรื้อฟื้นช่องเสียงของนีอันเดอร์ทัลที่ทีมวิจัยของลีเบอร์แมนทำขึ้น
       
       กระนั้นก็ตาม คำวิจารณ์ดังกล่าวหาได้เป็นอุปสรรคในการทำงานของทีมแม็คคาร์ธีย์ โดยพวกเขาได้ต้นแบบการฟื้นช่องเสียงของนีอันเดอร์ทัลใหม่ 3 ชิ้น จากร่องรอยของซากฟอสซิลอายุ 50,000 ปีที่พบในฝรั่งเศส
       
       จากแบบจำลองดังกล่าวทีมวิศวกรของแม็คคาร์ธีย์ได้คำณวนตามลักษณะท่อเสียง จนสร้างเสียงอี "E" ของนีอันเดอร์ทัลขึ้นมาในลำดับแรก ซึ่งเขาวางแผนที่จะสังเคราะห์เสียงพูดของนีอันเดอร์ทัลให้ได้สักประโยค
       
       อย่างไรก็ดี เมื่อได้ฟังเสียงอีของนีอันเดอร์ทัลโดยเปรียบเทียบกับมนุษย์ปัจจุบันแล้ว เสียงอีที่เปล่งออกมาของมนุษย์ 3 หมื่นปีนี้ ไม่สามารถเปล่งระดับพลังเสียงสระได้อย่างชัดเจน โดยออกเป็นเสียงบีบแน่นที่ลำคอและเป็นเสียงนาสิก (ขึ้นจมูก) ซึ่งเราจะไม่สามารถแยกแยะคำว่า "บีต" (beat) และ "บิต" (bit) ของนีอันเดอร์ทัลได้เลย
       
       "ด้วยความละเอียดอ่อนนี้ ทำให้เห็นความแตกต่างทางภาษา ที่ส่งผลให้นีอันเดอร์ทัลพูดได้อย่างจำกัด" เขากล่าว
       
       ทว่าบทสรุปนี้ก็ยังไม่สอดคล้องกับสมองขนาดใหญ่ของนีอันเดอร์ทัลอยู่ดี ซึ่งอีริค ทรินเคาส์ (Erik Trinkaus) นักมานุษยวิทยาจากมหาวิทยาลัยวอชิงตัน ในเซนต์หลุยส์ มลรัฐมิสซูรี ชี้ว่า สมองที่ใหญ่ขนาดนี้ของนีอันเดอร์ทัลน่าจะสามารถปรับให้เกิดการใช้ภาษาได้ แต่ที่สุดแล้วสิ่งสำคัญจริงๆ ไม่น่าจะเป็นลักษณะทางกายวิภาคของช่องปาก แต่น่าจะอยู่ที่ระบบประสาทที่ใช้ควบคุมมากกว่า
       
       นอกจากนี้ทรินเคาส์ยังชี้ว่า นีอันเดอร์ทัลน่าจะมียีนที่ส่งผลต่อความสามารถด้านภาษาด้วย โดยปีที่แล้วมีนักวิจัยค้นพบว่านีอันเดอร์ทัลก็มียีน "เอฟโอเอ็กซ์พี2" (FOXP2) ชุดเดียวกับในมนุษย์ยุคใหม่ ซึ่งปัจจุบันมีข้อบ่งชี้ว่าหากยีนชนิดนี้บกพร่อง จะทำให้เกิดความผิดปกติด้านภาษาและการพูด
       
       อีกทั้งความแตกต่างของยีน FOXP2 ระหว่างมนุษย์และสัตว์อื่นๆ ไม่เว้นแม้แต่ในชิมแปนซีญาติใกล้ชิดที่สุดของเรา ก็ส่งผลให้มนุษย์พูดได้ แต่สัตว์เหล่านั้นไม่สามารถพูดได้
       
       ขณะเดียวกันยังมีหลักฐานทางพันธุกรรมที่ชี้ว่า ภาษาพูดทำให้วิวัฒนาการรุ่นหลังของมนุษย์เป็นรูปเป็นร่างขึ้น โดยจอห์น ฮอว์กส์ (John Hawks) นักมานุษยวิทยาด้านชีววิทยา จากมหาวิทยาลัยวิสคอนซิน ในเมดิสัน มลรัฐวิสคอนซิน ซึ่งร่วมอยู่ในการประชุมด้วย เสนอออกมาว่า ยีนบางตัวที่มีความสำคัญต่อการได้ยิน เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วในมนุษย์สมัยใหม่ ทั้งนี้อาจเป็นเพราะยีนกลุ่มนี้ช่วยถอดรหัสภาษาพูดใหม่ๆ รวมถึงภาษาพูดที่มีความซับซ้อนมากขึ้นได้
       
       "บางอย่าง (การพูด) ได้เปลี่ยนแปลงไปในช่วง 40,000 ปีมานี้" ฮอว์กส์กล่าว และบอกต่อไปอีกว่า ที่เรามีวิวัฒนาการทางภาษาพูด จนเป็นอย่างทุกวันนี้ อาจเป็นเพราะหูของเราถูกปรับเปลี่ยนให้ทันฟังเสียง ที่เพิ่งถูกเปลี่ยนแปลงเมื่อไม่นานนี้

http://www.norsorpor.com/ข่าว/n1848853/พบเปลือกหอยชี้%20%20นีอันเดอร์ทัล%20%20ทำบอดี้เพนท์เป็นเมื่อ%205%20หมื่นปีก่อน

--------------------------

 

“นีอันเดอร์ทัล” ไม่ได้สูญพันธุ์เพราะยุคน้ำแข็ง
โดย ASTVผู้จัดการออนไลน์25 ตุลาคม 2550 17:50 น.
คลิกที่ภาพเพื่อดูขนาดใหญ่ขึ้น


เอเยนซี/เอเอฟพี/เนเจอร์ – นักบรรพชีวินชี้ ยุคน้ำแข็งไม่ใช่สาเหตุทำให้มนุษย์ยุคหิน “นีอันเดอร์ทัล” สูญสิ้นเผ่าพันธุ์อย่างที่เชื่อกันมา หลังพิสูจน์ช่วงเวลาที่นีอันเดอร์ทัลยังมีชีวิตอยู่เทียบกับการเปลี่ยนแปลงของภูมิอากาศโลกที่เคยเกิดขึ้นเมื่อครั้งอดีต ทว่าอาจเป็นเพราะถูกรุกรานจากมนุษย์ยุคปัจจุบันจนสูญพันธุ์
       
       นีอันเดอร์ทัล (Neanderthals) หรือ โฮโม นีอันเดอร์ทัลเอนซิส (Homo neanderthalensis) มนุษย์ยุคโบราณที่มีสายพันธุ์ใกล้ชิดกับมนุษย์ในปัจจุบัน (modern humans) และเคยมีชีวิตอยู่บนโลกร่วม 170,000 ปี ก่อนจะสูญพันธุ์ไปเมื่อหลายหมื่นปีที่แล้ว ซึ่งนักวิทยาศาสตร์ก็ตั้งสมมติฐานสาเหตุของการสูญพันธุ์ของมนุษย์นีอันเดอร์ทัลแตกต่างๆ กันไป
       
       หนึ่งในนั้นคือการเปลี่ยนแปลงของภูมิอากาศโลกเข้าสู่ยุคน้ำแข็ง แต่ล่าสุดทีมนักบรรพชีวินได้ข้อมูลใหม่ที่บ่งชี้ว่าวิกฤติของความหนาวเย็นไม่ได้เป็นสาเหตุทำให้มนุษย์นีอันเดอร์ทัลสูญพันธุ์แต่อย่างใด เพราะแต่ละเหตุการณ์เกิดต่างเวลากันอย่างน้อย 3,000 ปี
       
       ทีมนักบรรพชีวินวิทยา นำโดยโครนิส ทเซดากิส (Chronis Tzedakis) จากมหาวิทยาลัยลีดส์ (University of Leeds) ประเทศอังกฤษ ใช้เทคนิคตรวจวัดการแผ่รังสีของคาร์บอนตรวจสอบอายุของเครื่องมือเครื่องใช้สมัยโบราณที่พบในถ้ำกอร์แฮม (Gorham’s Cave) ประเทศยิบรอลตาร์ (Gibraltar) ทางตอนใต้ของประเทศสเปน ซึ่งเป็นของมนุษย์นีอันเดอร์ทัล โดยตัวอย่างที่นำมาตรวจสอบมีอายุต่างกัน 3 ช่วงเวลาด้วยกัน ได้แก่ 32,000 ปี, 28,000ปี และ 24,000 ปี และจากบันทึกการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศโลกก็ไม่พบว่าช่วงเวลาดังกล่าวเกิดเปลี่ยนแปลงของภูมิอากาศอย่างรุนแรงเลย
       
       ขณะเดียวกัน ทีมวิจัยก็ได้เก็บตัวอย่างดินตะกอนจากใต้ทะเลบริเวณชายฝั่งคาริอาโก บาซิน (Cariaco Basin) ประเทศเวเนซุเอลามาพิสูจน์หลักฐานการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศที่เกิดขึ้นเมื่อครั้งอดีต พบว่ายุคน้ำแข็งครั้งสุดท้ายที่เกิดขึ้นไม่ได้อยู่ในช่วงเวลาที่มนุษย์นีอันเดอร์ทัลยังมีชีวิตอยู่
       
       ดังนั้นการสูญพันธุ์ของนีอันเดอร์ทัลจึงไม่น่าเกี่ยวข้องกับภูมิอากาศโลก
และเหตุที่นำตะกอนใต้ทะเลจากประเทศเวเนซุเอลามาเป็นตัวอย่างเปรียบเทียบ เพราะว่าภูมิอากาศในแถบนั้นส่งอิทธิพลมาถึงมหาสมุทรแอตแลนติกเหนือและยุโรปตะวันตก จึงเป็นตัวแทนภูมิอากาศในยุโรปได้
       
       ทั้งนี้ เมื่อมนุษย์นีอันเดอร์ทัลไม่ได้สูญพันธุ์ไปเพราะโลกเข้าสู่ยุคน้ำแข็ง แล้วอะไรเป็นสาเหตุที่แท้จริง? อย่างไรก็ตาม นักวิชาการคาดกันว่าอาจเป็นเพราะมนุษย์ยุคปัจจุบัน หรือ โฮโม ซาเปียนส์ (Homo sapiens) เข้าไปรุกรานถิ่นอาศัยและแย่งชิงอาหารกับเผ่าพันธุ์นีอันเดอร์ทัลก็เป็นได้
       
       จากหลักฐานฟอสซิลที่บ่งชี้ว่ามนุษย์นีอันเดอร์ทัลอาศัยอยู่ในยุโรปถึงเมื่อประมาณ 30,000 ปีก่อน ขณะที่มนุษย์ยุคปัจจุบันเริ่มเข้าไปตั้งถิ่นฐานในแถบนั้นราว 40,000 ปีที่แล้ว ทำให้ทั้งสองเผ่าพันธุ์เคยมีช่วงเวลาร่วมยุคสมัยเดียวกันถึง 10,000 ปี และด้วยสติปัญญาที่เหนือกว่าของมนุษย์ยุคปัจจุบัน
       
       ประกอบกับเครื่องมือและอาวุธที่ทำจากหิน จึงไม่ใช่เรื่องยากที่จะกำจัดคู่แข่งเพื่อความอยู่รอดของเผ่าพันธุ์ตัวเอง บ้างก็ตั้งข้อสังเกตว่า อาจเคยมีการผสมข้ามสปีชีส์ระหว่างมนุษย์ 2 เผ่าพันธุ์ในยุคนั้น และแม้ว่ามนุษย์นีอันเดอร์ทัลจะไม่หลงเหลืออยู่แล้วในตอนนี้ แต่อาจทิ้งร่องรอยบางส่วนเอาไว้ในดีเอ็นเอของมนุษย์ที่คงอยู่มาถึงทุกวันนี้ในหมู่พวกเรา

http://www.norsorpor.com/ข่าว/n1848853/พบเปลือกหอยชี้%20%20นีอันเดอร์ทัล%20%20ทำบอดี้เพนท์เป็นเมื่อ%205%20หมื่นปีก่อน

 
ถัดไป >

สมุดภาพเหมืองแร่

Polls

ชื่อใด (หรือคำใด) สื่อได้ชัดคม รู้เป้าหมายได้มากกว่า
 

Who's Online

ขณะนี้มี 220 บุคคลทั่วไป ออนไลน์

Counter

mod_vvisit_countermod_vvisit_countermod_vvisit_countermod_vvisit_countermod_vvisit_countermod_vvisit_countermod_vvisit_countermod_vvisit_countermod_vvisit_counter
mod_vvisit_counterวันนี้4409
mod_vvisit_counterเมื่อวาน3893
mod_vvisit_counterทั้งหมด11016244