Skip to content

Phuketdata

default color
Home
จริยธรรมการท่องเที่ยว PDF พิมพ์ อีเมล์
เขียนโดย ปาณิศรา ชูผล มทศ.   
ศุกร์, 09 ตุลาคม 2009

จริยธรรมการท่องเที่ยว

(Global Code of Ethics)

 โดยองค์กรการท่องเที่ยวโลกWTO

(World Tourism Organization)

 

หลักการที่   1

การท่องเที่ยวสร้างความเข้าใจ และทำให้มีความเคารพนับถือซึ่งกันและกัน ระหว่างคนกับสังคมต่าง ๆ

Tourism's contribution to mutual understanding and respect between peoples and societies

 

1. การท่องเที่ยวที่ดีย่อมทำให้เกิดความเข้าใจและส่งเสริมค่านิยมทางจริยธรรม ทำให้มนุษยชาติมีความใจกว้างและยอมรับนับถือต่อความหลากหลายทั้งด้านเชื้อชาติ ศาสนา ประเพณี วัฒนธรรม และปรัชญาทางความคิด ดังนั้นผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในการพัฒนาการท่องเที่ยว รวมถึงนักท่องเที่ยวเองควรจะปฏิบัติตามประเพณีทางสังคมและวัฒนธรรมของสังคมนั้น ๆ  การปฏิบัติดังกล่าวเป็นการให้เกียรติและยอมรับในคุณค่าของคนรวมทั้งคนกลุ่มน้อยและคนพื้นเมืองในชุมชนที่ได้เยี่ยมเยือนนั้น

2. กิจกรรมทางการท่องเที่ยวควรจะดำเนินไปในลักษณะที่กลมกลืนไปกับวัฒนธรรมและประเพณีของท้องถิ่นนั้นๆ  นักท่องเที่ยวควรให้ความเคารพต่อกฎหมาย และธรรมเนียมปฏิบัติในพื้นที่ต่าง ๆ ของประเทศที่ได้ไปเยี่ยมเยือน

3. ชุมชนที่ถูกเยี่ยมเยือนและผู้ประกอบวิชาชีพในท้องถิ่น สมควรที่จะให้เกียรติต่อนักท่องเที่ยวผู้มาเยือน ด้วยการเรียนรู้ทำความเข้าใจในวิถีชีวิต วิธีคิด รสนิยม ความคาดหวังและการศึกษาของนักท่องเที่ยว โดยมีวิธีการต้อนรับที่ดีแก่นักท่องเที่ยวในแบบอย่างเจ้าของบ้านที่ดี

4. เป็นภาระของหน่วยงานของรัฐที่จะต้องให้ความคุ้มครองต่อนักท่องเที่ยวและผู้มาเยือน ในชีวิตและทรัพย์สิน รัฐต้องให้ความสนใจเป็นพิเศษต่อความปลอดภัยของนักท่องเที่ยวชาวต่างประเทศ เนื่องจากเขาเหล่านั้นอาจมีข้อจำกัดในข้อมูล  เขาควรจะได้รับการแนะนำในเบื้องต้น ถึงวิธีการที่จะได้รับข่าวสารในการป้องกันภัย การประกันภัย ความปลอดภัยและความช่วยเหลือที่ตรงกับความต้องการของเขา การถูกโจมตี การถูกทำร้าย การลักพาตัว หรือภัยคุกคามอย่างอื่นที่มีต่อนักท่องเที่ยว หรือคนทำงานในอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว ให้รวมถึงการทำลาย สิ่งอำนวยความสะดวกทางการท่องเที่ยว องค์ประกอบทางวัฒนธรรม หรือมรดกทางธรรมชาติอย่างจงใจ ควรจะต้องได้รับการประณาม และถูกลงโทษอย่างรุนแรงตามกฎหมายที่เกี่ยวข้องของประเทศนั้น ๆ

5. นักท่องเที่ยวไม่ควรกระทำอาชญากรรมใด ๆ หรือการกระทำอื่นใดที่จัดได้ว่าเป็นอาชญากรรมตามกฎหมายของประเทศที่ตนไปเยือน และให้หลีกเหลี่ยงการกระทำใด ๆ ที่เป็นการฝืนความรู้สึก หรือเป็นความเสียหายต่อประชากรในท้องถิ่นนั้น ๆ  หรือเป็นการทำความเสียหายให้กับสิ่งแวดล้อมของท้องถิ่นนั้น ๆ

6. นักท่องเที่ยวหรือผู้เยี่ยมเยือน เป็นความรับผิดชอบของตนเองที่จะต้องศึกษา และทำความคุ้นเคยกับคุณลักษณะภูมิประเทศ ภูมิอากาศของประเทศที่ไปเยี่ยมเยือน ต้องตระหนักถึงความเสี่ยงต่อสุขภาพ และความปลอดภัยในขณะเดินทางท่องเที่ยวในท้องที่นั้น ๆ  ที่แตกต่างไปจากสิ่งแวดล้อมเดิมของตน และจะต้องประพฤติตนในหนทางที่จะลดความเสี่ยงเหล่านั้นให้น้อยที่สุด

หลักการที่  2
การท่องเที่ยวเป็นเครื่องมือของปัจเจกบุคคลและกลุ่มคนในการบรรลุเป้าหมายของการเรียนรู้
Tourism as a vehicle for individual and collective fulfillment

1. การท่องเที่ยวซึ่งเป็นกิจกรรมที่สัมพันธ์กับการพักผ่อนการหย่อนใจ การกีฬา รวมถึงการศึกษาวัฒนธรรม ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม หากได้รับการวางแผนและการปฏิบัติด้วยจิตใจที่เปิดกว้างตามควรแล้ว จะเป็นปัจจัยสำคัญสำหรับการเรียนรู้เขารู้เรา เรียนรู้การอยู่ร่วมกัน และเรียนรู้ถึงความชอบธรรมในความแตกต่างและความหลากหลายของคนกับวัฒนธรรม

2. กิจกรรมการท่องเที่ยวควรเคารพในความเท่าเทียมกันของผู้ชายและผู้หญิง ส่งเสริมสิทธิมนุษยชน โดยเฉพาะอย่างยิ่งสิทธิส่วนบุคคลของกลุ่มคนที่มีความอ่อนแอ ได้แก่เด็ก ผู้สูงอายุ ผู้พิการ คนกลุ่มน้อยและคนพื้นเมือง

3. การใช้ประโยชน์จากความเป็นมนุษย์ไม่ว่าในรูปแบบใด โดยเฉพาะการกระทำทางเพศต่อเด็ก นับเป็นการสวนทางกับจุดมุ่งหมายขั้นพื้นฐานของการท่องเที่ยว ควรร่วมมือต่อต้านกันอย่างจริงจัง ให้มีการออกกฎหมายทั้งของประเทศที่ได้รับการเยือนและประเทศของผู้ท่องเที่ยวหรือผู้เยี่ยมเยือน ในการกำหนดความผิด และบทลงโทษ พร้อมทั้งดำเนินการตามกฎหมายเหล่านั้นอย่างจริงจัง แม้ว่าการกระทำความผิดนั้นจะเกิดขึ้นในต่างประเทศที่ไปเยือนก็ตาม โดยไม่มีการลดหย่อนผ่อนโทษ

4. การเดินทางเพื่อจุดมุ่งหมายในการเรียนรู้ทางศาสนา สุขภาพ การศึกษาและวัฒนธรรม หรือการแลกเปลี่ยนการเรียนรู้ภาษา เป็นรูปแบบการท่องเที่ยวที่เป็นประโยชน์ สมควรได้รับการสนับสนุนและส่งเสริม

5. การแลกเปลี่ยนนักท่องเที่ยว เพื่อผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจและวัฒนธรรม เพื่อป้องกันความเสี่ยงที่จะเกิดความเสียหาย ควรที่จะส่งเสริมให้มีการบรรจุเข้าไปไว้ในหลักสูตรทางการศึกษาอบรมต่อผู้เกี่ยวข้อง

หลักการที่  3
การท่องเที่ยว เป็นปัจจัยในการพัฒนาอย่างยั่งยืน
Tourism, a factor of sustainable development

1. ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทั้งหมดในการพัฒนาการท่องเที่ยวควรจะคุ้มครองสิ่งแวดล้อมทางธรรมชาติ เพื่อให้ประโยชน์ทางเศรษฐกิจที่ได้รับจากการท่องเที่ยวนั้นเป็นไปอย่างต่อเนื่องและยั่งยืน เป็นไปความคาดหวังของคนรุ่นนี้และรุ่นต่อ ๆ ไปในอนาคต

2. การพัฒนาการท่องเที่ยวทุกรูปแบบ ควรนำไปสู่การประหยัดทรัพยากรที่มีค่าและหายาก โดยเฉพาะน้ำและพลังงาน รวมทั้งควรหลีกเลี่ยงการผลิตของเสียเท่าที่จะเป็นไปได้ ดังนั้นการพัฒนาการท่องเที่ยวเหล่านี้ควรได้รับสิทธิพิเศษ และควรได้รับการส่งเสริมจากในระดับประเทศ ระดับภูมิภาค และระดับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น

3. ควรกระจายการท่องเที่ยวให้มีความแตกต่างในเรื่องของเวลาและสถานที่ในการเดินทางของนักท่องเที่ยวและผู้เยี่ยมเยือน ในช่วงวันลาพักผ่อนและวันหยุดของโรงเรียน ให้มีการกระจายออกไป การพักผ่อนสามารถมีขึ้นได้ตลอดปี ทั้งนี้เพื่อกระจายการใช้ทรัพยากรการท่องเที่ยวที่มีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม และยังเป็นการกระจายผลประโยชน์จากการท่องเที่ยวต่อเศรษฐกิจท้องถิ่นอีกด้วย

4. การออกแบบวางผัง โครงสร้างพื้นฐานทางการท่องเที่ยวและการจัดกิจกรรมการท่องเที่ยวควรจัดในแนวทางที่จะรักษามรดกทางธรรมชาติ ให้คำนึงถึงระบบนิเวศวิทยาและความหลากหลายทางชีววิทยา และเพื่อรักษาชีวิตสัตว์ป่าที่หายากและกำลังตกอยู่ในภาวะเสี่ยงต่อการสูญพันธุ์ ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในการพัฒนาการท่องเที่ยว โดยเฉพาะผู้ประกอบอาชีพต่าง ๆ ในอุตสาหกรรมท่องเที่ยว และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ควรจะมีข้อตกลงที่จะกำหนด หรือจำกัดกิจกรรมของตนในพื้นที่ที่มีความเปราะบาง เช่น ทะเลทราย ขั้วโลก หรือพื้นที่ภูเขา พื้นที่ชายฝั่งทะเล ป่าเมืองร้อน หรือพื้นที่ชุ่มน้ำ โดยการกำหนดเป็นพื้นที่สงวน หรืออนุรักษ์ธรรมชาติ หรือเป็นเขตคุ้มครอง

5. การท่องเที่ยวธรรมชาติและการท่องเที่ยวเชิงนิเวศ เป็นที่ยอมรับว่าเป็นหนทางไปสู่การส่งเสริมและทำให้การท่องเที่ยวมีความงดงาม ทั้งนี้ต้องสำนึกด้วยการดูแลเอาใจใส่ต่อมรดกทางธรรมชาติที่ได้สร้างสรรค์ไว้ ให้รวมถึงประชากรพื้นเมืองในท้องถิ่นนั้น ๆ  โดยให้คำนึงถึงขีดความสามารถในการรองรับของแหล่งท่องเที่ยวนั้น ๆ  ว่ามีสามารถจะรองรับปริมาณนักท่องเที่ยวในเรื่องของ จำนวนในช่วงเวลาต่าง ๆ


หลักการที่   4
การท่องเที่ยวเป็นทั้งผู้ใช้และผู้ผดุงรักษามรดกทางวัฒนธรรมของมนุษยชาติ
Tourism, a user of the cultural heritage of mankind and a contributor to its enhancement
1. ทรัพยากรทางการท่องเที่ยวนับเป็นมรดกของมนุษยชาติ ชุมชนที่ตั้งอยู่ในเขตพื้นที่นั้นย่อมจะมีสิทธิ และมีพันธะเป็นพิเศษต่อการผดุงรักษาทรัพยากรการท่องเที่ยวนั้น ๆ

2. กิจกรรมและนโยบายการท่องเที่ยวควรจัดให้มีขึ้นในลักษณะที่ให้ความคุ้มครองต่อมรดกทางศิลปกรรม โบราณคดีและวัฒนธรรม เพื่อให้ดำรงคงอยู่สำหรับคนรุ่นต่อ ๆ ไป โดยเฉพาะควรมุ่งมั่นให้กับการอนุรักษ์รักษาและปรับปรุงอนุสาวรีย์ ศาลเจ้า พิพิธภัณฑ์ แหล่งประวัติศาสตร์ และโบราณคดีต่าง ๆ อีกทั้งควรที่จะส่งเสริมเปิดให้นักท่องเที่ยวได้เข้าเยี่ยมชม นอกจากนี้ควรสนับสนุนและส่งเสริมให้อนุสาวรีย์และทรัพย์สมบัติทางวัฒนธรรมที่เป็นของเอกชน ควรสนับสนุนให้มีการเปิดให้นักท่องเที่ยวเข้าเยี่ยมชมด้วย แต่ต้องเคารพในสิทธิของผู้เป็นเจ้าของ สำหรับอาคารสถานที่ทางศาสนาควรเปิดให้เข้าชม แต่ต้องไม่รบกวนการแสดงความเคารพบูชาของผู้ที่นับถือศาสนานั้น ๆ

3. บางส่วนของรายได้ที่ได้มาจากการเยี่ยมชมแหล่งวัฒนธรรมและอนุสาวรีย์ ควรนำกลับไปใช้ในการดูแล พิทักษ์ รักษา พัฒนาและปรับปรุงมรดกทางศิลปกรรม โบราณคดี และวัฒนธรรมที่มีค่าเหล่านี้

4. กิจกรรมการท่องเที่ยวที่นำผลิตภัณฑ์ทางวัฒนธรรมประเพณี งานฝีมือ และการละเล่นพื้นบ้าน มาใช้เพื่อการท่องเที่ยว ควรที่จะได้มีการวางแผนให้มีวิธีการปฏิบัติที่ทำให้ผลิตภัณฑ์ดังกล่าวนี้อยู่รอดและเติบโต โดยไม่ปล่อยให้ของเหล่านี้เสื่อมลงและกลายเป็นผลิตภัณฑ์ปกติธรรมดาที่พบเห็นได้ทั่วไป

หลักการที่  5
การท่องเที่ยว เป็นกิจกรรมที่เป็นประโยชน์ต่อประเทศและชุมชนเจ้าของบ้าน
Tourism, a beneficial activity for host countries and communities

1. ประชาชนท้องถิ่นควรจะได้รับผลประโยชน์อย่างเป็นธรรมจากกิจกรรมการท่องเที่ยว ทั้งในด้านเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรม อันเกิดขึ้นจากแรงงานของเขาไม่ว่าจะเป็นทางตรงและทางอ้อม

2. ควรใช้นโยบายการท่องเที่ยวในลักษณะที่ช่วยยกมาตรฐานการครองชีพของประชากรในภูมิภาคและชุมชนท้องถิ่น การวางแผนและการออกแบบทางสถาปัตยกรรมของโรงแรมที่พักและสถานที่พักผ่อนเพื่อการท่องเที่ยวควรมีความมุ่งหมายที่จะผสมผสานให้เข้ากับสังคมและเศรษฐกิจของท้องถิ่นให้มากที่สุดเท่าที่ทำได้ และควรให้โอกาสแก่แรงงานท้องถิ่นก่อนหากแรงงานมีทักษะเท่าเทียมกัน

3. ควรให้ความสนใจเป็นพิเศษต่อปัญหาในเขตพื้นที่ชายฝั่ง พื้นที่เกาะ และชนบทที่อ่อนแอ หรือเขตพื้นที่ภูเขา พื้นที่เหล่านี้กำลังเผชิญปัญหาในการทำมาหากินแบบดั้งเดิมจากการท่องเที่ยว และพื้นที่เหล่านี้มีโอกาสน้อยกว่าพื้นที่อื่น ๆ ในการพัฒนา

4. ผู้ประกอบอาชีพทางการท่องเที่ยว โดยเฉพาะผู้ลงทุน ซึ่งจะต้องอยู่ภายใต้กฎหมาย และข้อบังคับที่ออกโดยองค์กรของรัฐ สมควรที่จะต้องศึกษาผลกระทบของโครงการที่มีต่อสิ่งแวดล้อมและธรรมชาติ และจะต้องชี้แจงแผนงานและผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นอย่างมีหลักมีเกณฑ์และมีความโปร่งใสมากที่สุด

หลักการที่   6
ภาระหน้าที่ของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในการพัฒนาการท่องเที่ยว
Obligations of stakeholders in tourism development

1. ผู้ประกอบอาชีพทางการท่องเที่ยวมีภาระหน้าที่ ที่จะต้องให้ข่าวสารข้อมูลแก่นักท่องเที่ยวอย่างมีหลักฐานและซื่อสัตย์ในเรื่องข้อมูลแหล่งท่องเที่ยว และเงื่อนไขการเดินทาง การต้อนรับและการกินอยู่ ต้องให้ความมั่นใจว่าเงื่อนไขของข้อสัญญาที่เสนอต่อลูกค้าในรูปแบบ ราคาและคุณภาพของบริการที่สัญญาไว้ ตลอดจนเงินค่าชดใช้ความเสียหายในกรณีที่ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งผิดสัญญาต้องได้รับการปฏิบัติตามสัญญา

2. ผู้ประกอบอาชีพทางการท่องเที่ยว และผู้มีอำนาจรัฐ ควรให้ความเอาใจใส่ต่อความมั่นคงปลอดภัย การป้องกันอุบัติภัย ความปลอดภัยในเรื่องอาหาร และการป้องกันสุขภาพ แก่ผู้ที่ทำงานในสถานประกอบการ ในทำนองเดียวกัน ควรให้ความมั่นใจในระบบการประกันภัยและระบบความช่วยเหลือที่มีอยู่ และยอมรับพันธกรณีที่อาจมีขึ้นโดยกฎข้อบังคับของประเทศ และจะต้องจ่ายค่าชดเชยอย่างยุติธรรมในเหตุการณ์ที่ผู้ประกอบการได้ละเลยต่อพันธกรณีตามสัญญา

3. ผู้ประกอบอาชีพทางการท่องเที่ยว ควรมีส่วนร่วมที่จะช่วยให้นักท่องเที่ยวได้พบเห็นวัฒนธรรมและคุณค่าทางจิตใจดังที่นักท่องเที่ยวคาดหวังไว้ ตลอดจนยินยอมให้นักท่องเที่ยวได้ปฏิบัติกิจทางศาสนาระหว่างการเดินทาง

4. ผู้มีอำนาจรัฐทั้งประเทศของนักท่องเที่ยวเอง และประเทศที่เป็นแหล่งท่องเที่ยว ร่วมมือกับผู้ประกอบการ และสมาคมต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยว ให้ความมั่นใจกับนักท่องเที่ยวในกรณีที่บริษัทจัดการท่องเที่ยวมีปัญหาทางการเงิน ในการจัดส่งนักท่องเที่ยวกลับประเทศ

5. รัฐบาลมีสิทธิและหน้าที่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในยามวิกฤต ที่จะแจ้งให้คนในชาติของตนทราบถึงสถานการณ์ที่ยากลำบาก หรืออันตรายที่เขาอาจจะได้รับระหว่างเดินทางไปต่างประเทศ อย่างไรก็ตามการออกข่าวดังกล่าวจะต้องมีความรับผิดชอบ ที่จะไม่ให้เป็นข่าวที่ลำเอียง ไม่เป็นธรรม หรือเป็นข่าวที่เกินความเป็นจริงต่ออุตสาหกรรมการท่องเที่ยวของประเทศที่ไปเยือน และเป็นประโยชน์ต่อผู้ประกอบการท่องเที่ยวของตน เนื้อหาคำแนะนำในการเดินทางควรจะได้มีการปรึกษาหารือกันก่อนกับประเทศที่ไปเยือน และผู้ประกอบอาชีพทางการท่องเที่ยวที่เกี่ยวข้อง การให้ข้อเสนอแนะควรจะมีน้ำหนักที่สอดคล้องกับความเป็นจริงของสถานการณ์ และอยู่ในขอบเขตของสถานการณ์ความไม่ปลอดภัยที่ได้เกิดขึ้นจริง คำแนะนำดังกล่าวควรจะมีการยืนยันหรือยกเลิกโดยเร็วที่สุดเท่าที่ทำได้ เมื่อเหตุการณ์กลับเข้าสู่ภาวะปกติ

6. ข่าวสารและโดยเฉพาะข่าวสารการเดินทางและสื่อสารอย่างอื่น รวมทั้งวิธีการติดต่อสื่อสารทางอิเลคโทรนิค ควรกระทำด้วยความซื่อสัตย์ และเป็นข่าวที่มีความสมดุลของเหตุการณ์ และสถานการณ์ซึ่งอาจมีผลต่อการเดินทางของนักท่องเที่ยว ควรจะให้ข่าวสารที่มีความแม่นยำและเชื่อถือได้ต่อลูกค้าของบริษัทที่ให้บริการทางการท่องเที่ยว การติดต่อสื่อสารสมัยใหม่และเทคโนโลยีทางด้านพาณิชย์อิเล็คโทรนิคควรจะได้รับการพัฒนาและนำมาใช้เพื่อความมุ่งหมายนี้ ในกรณีที่เกี่ยวกับสื่อด้านนี้ไม่สมควรที่จะทำการส่งเสริมการท่องเที่ยวทางเพศไม่ว่าในกรณีใด

หลักการที่   7
สิทธิในการท่องเที่ยว
Right to tourism

1. ความคาดหวังของบุคคลในการเข้าถึงเพื่อค้นหาและหาความรื่นรมย์จากทรัพยากรที่มีอยู่ในโลกนี้ เป็นสิทธิอันเท่าเทียมกันของผู้ที่อยู่อาศัยในโลกนี้ทั้งหมด การมีส่วนร่วมของการท่องเที่ยวของชนชาติ และนานาชาติที่เพิ่มขึ้นอย่างกว้างขวาง ควรถือได้ว่าเป็นหนทางที่ดีที่สุดหนทางหนึ่ง ที่จะช่วยยังประโยชน์ในการใช้เวลาว่างของผู้คน และไม่ควรมีอุปสรรคใด ๆ ที่จะกีดกันความคาดหวังดังกล่าว

2. สิทธิของการท่องเที่ยวนับเป็นสิทธิที่สากล พร้อมทั้งถือได้ว่าเป็นของคู่กันกับสิทธิในการใช้เวลาว่าง และการพักผ่อน รวมถึงการจำกัดชั่วโมงการทำงาน และระยะเวลาของการลาพักผ่อนที่มีสิทธิได้รับค่าจ้าง ย่อมได้รับการค้ำประกันจากมาตรา 24 ของคำประกาศสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน และมาตรา 7ค. ของอนุสัญญานานาชาติว่าด้วยสิทธิทางเศรษฐกิจ สังคมและวัฒนธรรม

3. การท่องเที่ยวนับได้ว่าเป็นการพัฒนาสังคมด้วย เพราะช่วยให้มีการใช้เวลาว่าง การเดินทาง และการพักผ่อนที่เป็นประโยชน์ต่อตนเองและสังคม ควรได้รับการพัฒนาและการสนับสนุนจากหน่วยงานของรัฐ

4. นักท่องเที่ยวที่เป็นครอบครัว เยาวชน นักเรียน ผู้สูงอายุ และผู้พิการ ควรได้รับการส่งเสริมและอำนวยความสะดวก
  
หลักการที่   8
เสรีภาพการเดินทางของนักท่องเที่ยว
Liberty of tourist movements

1. นักท่องเที่ยว หรือผู้เยี่ยมเยือนควรจะได้รับประโยชน์ ภายใต้กับกฎหมายนานาชาติและข้อบังคับของประเทศ ด้วยเสรีภาพการเดินทางภายในประเทศ และจากประเทศหนึ่งไปยังอีกประเทศหนึ่ง ที่สอดคล้องกับข้อที่ 13 ของคำประกาศสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน เขาควรมีสิทธิที่จะเข้าถึงสถานที่พักระหว่างการเดินทาง และการพักแรม และเดินทางต่อไปยังพื้นที่ท่องเที่ยวอื่นที่มีความแตกต่าง โดยไม่ถูกกีดขวางจากระเบียบที่เป็นพิธีการมากเกินไป หรือการถือปฏิบัติที่ไม่เท่าเทียมกัน

2. จะต้องอำนวยความสะดวกให้แก่นักท่องเที่ยว และผู้เยี่ยมเยือนในการใช้บริการการสื่อสารทุกรูปแบบในการติดต่อบุคคลต่าง ๆ  เช่นผู้บริหารท้องถิ่น การให้บริการทางกฎหมาย สุขภาพ และกงสุลของประเทศของตน ทั้งนี้เพื่อให้เป็นไปตามพันธะสัญญาระหว่างประเทศ

3. นักท่องเที่ยว และผู้เยี่ยมเยือนควรจะได้รับสิทธิประโยชน์เช่นเดียวกับประชากรท้องถิ่นของประเทศที่ได้รับการเยี่ยมเยือนนั้น ในเรื่องที่เกี่ยวกับข้อมูลปกปิด และข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับนักท่องเที่ยวเอง โดยเฉพาะอย่างยิ่งข้อมูลที่เก็บรักษาไว้ในสื่ออิเลคโทรนิก

4. วิธีการบริหารที่สัมพันธ์กับการข้ามชายแดนไม่ว่าจะอยู่ภายในขอบเขตความสามารถของรัฐ หรือเป็นผลจากข้อตกลงนานาชาติ เช่นธรรมเนียมปฏิบัติในการขอวีซ่าหรือข้อกำหนดทางสุขภาพ และพิธีการศุลกากร ควรจะมีการปรับเปลี่ยน เพื่อทำให้การเดินทางมีความเป็นอิสระสูงสุดเท่าที่เป็นไปได้ ทั้งนี้เพื่อให้นักท่องเที่ยวนานาชาติมีโอกาสเดินทางอย่างอิสระ เสรี ควรส่งเสริมให้มีข้อตกลงระหว่างกลุ่มประเทศในอันที่จะประสานและลดขั้นตอนพิธีการต่างๆ ให้ง่ายขึ้น การเก็บภาษีเฉพาะและการเรียกเก็บค่าปรับที่ทำความเสียหายต่ออุตสาหกรรมท่องเที่ยว และการทำลายความสามารถในการแข่งขัน ควรค่อย ๆ ขจัดออกไปหรือมีการปรับปรุงแก้ไข

5. หากสถานการณ์ทางเศรษฐกิจของประเทศของผู้เดินทางอำนวย ผู้เดินทางสมควรจะได้รับอนุญาตให้แลกเปลี่ยนเงินที่จำเป็นสำหรับการเดินทางของเขาได้

หลักการที่   9
สิทธิของคนงานและผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมท่องเที่ยว
Right of the workers and entrepreneurs in the tourism industry

1. สิทธิขั้นพื้นฐานของคนทำงานที่ได้รับค่าจ้าง และทำงานโดยอิสระในอุตสาหกรรมท่องเที่ยว และในองค์กรที่เกี่ยวข้อง ควรได้รับการประกัน โดยได้รับการดูแลเป็นพิเศษจากผู้บริหารระดับชาติและระดับท้องถิ่น ทั้งประเทศแหล่งที่มาของนักท่องเที่ยวและประเทศที่ไปเยี่ยมเยือน

2. คนทำงานที่ได้รับค่าจ้าง และทำงานโดยอิสระในอุตสาหกรรมท่องเที่ยว ควรได้มีสิทธิและมีหน้าที่ที่ในเรื่องการฝึกอบรม ในระดับเบื้องต้นอย่างต่อเนื่องและเหมาะสม เขาควรได้รับความคุ้มครองทางสังคมอย่างเพียงพอ ความไม่มั่นคงของงานควรมีขีดจำกัดน้อยที่สุด ควรจะให้การประกันทางสังคมพร้อมฐานะบางประการแก่คนทำงานตามฤดูกาลในภาคอุตสาหกรรมนี้

3. คนท้องถิ่นหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐ จำเป็นที่จะต้องได้รับการเรียนรู้ให้มีทักษะ เพื่อสามารถพัฒนากิจกรรมวิชาชีพทางการท่องเที่ยว ตามกฎหมายของประเทศนั้น ๆ  สำหรับผู้ประกอบการและนักลงทุนวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม ควรมีสิทธิที่จะเข้าไปในภาคการท่องเที่ยวด้วยข้อจำกัดทางกฎหมาย และการบริหารที่น้อยที่สุด

4. ควรมีการแลกเปลี่ยนประสบการณ์ระหว่างผู้บริหารและคนงาน ไม่ว่าจะเป็นคนมีเงินเดือนหรือไม่ก็ตาม กับประเทศต่าง ๆ ที่มีส่วนร่วมในการท่องเที่ยว ทั้งนี้ เพื่อสนับสนุนการพัฒนาอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวโลก กิจกรรมนี้ควรได้รับการส่งเสริมให้สอดคล้องการใช้กฎหมายของประเทศและอนุสัญญาระหว่างประเทศให้มากที่สุดเท่าที่ทำได้

5. ในสถานการณ์ซึ่งโลกมีความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันมากขึ้น อันเนื่องมาจากการเปลี่ยนแปลงอย่างต่อเนื่อง มีการไปมาหาสู่กันมากขึ้น และมีการจัดตั้งวิสาหกิจข้ามชาติในอุตสาหกรรมท่องเที่ยวที่มีเครือข่ายครอบคลุมอย่างกว้างขวาง ไม่ควรใช้วิสาหกิจข้ามชาติเหล่านี้เป็นหนทางที่จะครอบงำประเทศที่ต้อนรับนักท่องเที่ยวให้เปลี่ยนแปลงรูปแบบทางวัฒนธรรมและสังคมให้กลายเป็นรูปแบบแปลกปลอมไม่เป็นธรรมชาติ ไม่ควรนำวิสาหกิจข้ามชาติเป็นข้อต่อรองเพื่อแลกเปลี่ยนกับอิสรเสรีทางการลงทุนและการค้า ควรนำวิสาหกิจข้ามชาติมาใช้ในแง่ที่จะเอื้อประโยชน์ต่อการพัฒนาท้องถิ่นของประเทศที่เปิดรับนักท่องเที่ยว ไม่ควรใช้วิสาหกิจข้ามชาตินี้เอื้อประโยชน์ในการส่งผลกำไรคืนกลับไปยังบริษัทแม่ ในทำนองเดียวกันไม่ควรใช้วิสาหกิจข้ามชาติเหล่านี้เป็นหนทางในการนำเข้าสินค้าและบริการที่เกินขีดความพอดี หรือจำกัดการมีส่วนร่วมทางเศรษฐกิจในประเทศที่เปิดตนเองเป็นแหล่งท่องเที่ยว 

6. ความเป็นหุ้นส่วนและการสร้างความสัมพันธ์ที่สมดุลระหว่างประเทศของวิสาหกิจที่ส่งนักท่องเที่ยวกับประเทศที่รองรับนักท่องเที่ยว ต้องมีส่วนในความรับผิดชอบต่อการพัฒนาที่ยั่งยืนของการท่องเที่ยว และการแบ่งปันผลประโยชน์ที่เป็นธรรมจากความเติบโตของอุตสาหกรรมท่องเที่ยว

หลักการที่   10
การนำหลักจริยธรรมการท่องเที่ยวโลกออกใช้งาน
Implementation of the principles of the Global Code of Ethics for Tourism

1. ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทั้งภาครัฐและเอกชนในการพัฒนาการท่องเที่ยวควรร่วมมือกันในการนำหลักจริยธรรมข้างต้นมาใช้ปฏิบัติ และทำการตรวจสอบประสิทธิผลของการใช้ปฏิบัตินั้น ๆ ด้วย

2. ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในการพัฒนาการท่องเที่ยวควรยอมรับบทบาทของสถาบันนานาชาติ คือ องค์กรการท่องเที่ยวโลก รวมทั้งองค์กรเอกชนที่มีความสามารถในด้านการพัฒนาและส่งเสริมการท่องเที่ยว องค์กรปกป้องสิทธิมนุษยชน สิ่งแวดล้อม หรือสุขภาพ ซึ่งมีหลักการของกฎหมายนานาชาติเป็นที่ยอมรับกันโดยทั่วไป

3. ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียกลุ่มเดียวกับข้างต้น ควรแสดงออกถึงความตั้งใจในการใช้ปฏิบัติจริยธรรมการท่องเที่ยวโลก หากพบข้อขัดแย้งใด ๆ ที่เกี่ยวกับการใช้ ควรนำเสนอข้อขัดแย้งนั้นถึงบุคคลที่สามที่เรียกว่า คณะกรรมการจริยธรรมการท่องเที่ยวโลก เพื่อการพิจารณา

 
< ก่อนหน้า   ถัดไป >

สมุดภาพเหมืองแร่

Polls

ชื่อใด (หรือคำใด) สื่อได้ชัดคม รู้เป้าหมายได้มากกว่า
 

Who's Online

ขณะนี้มี 77 บุคคลทั่วไป ออนไลน์

Counter

mod_vvisit_countermod_vvisit_countermod_vvisit_countermod_vvisit_countermod_vvisit_countermod_vvisit_countermod_vvisit_countermod_vvisit_countermod_vvisit_counter
mod_vvisit_counterวันนี้5401
mod_vvisit_counterเมื่อวาน3893
mod_vvisit_counterทั้งหมด11017236