Skip to content

Phuketdata

default color
Home
สนามกอล์ฟหาดสุรินทร์ : ราชัน กาญจนะวณิช PDF พิมพ์ อีเมล์
เขียนโดย ปาณิศรา ชูผล มทศ.   
พุธ, 09 เมษายน 2008

สนามกอล์ฟหาดสุรินทร์


ราชัน กาญจนะวณิช
------------------

(จถล.2323)


เมื่อผมกลับจากการไปรายงานตัวที่สำนักงานของบริษัทลอนดิน ทิน คอร์ปอเรชัน ในประเทศอังกฤษ ต้นปี พ.ศ. 2505 ก็ได้รับทราบข่าวจากสมุห์บัญชีของบริษัท คือ อุ่ยเลี่ยนอี่ (ไพศาล        วรฐานตระกูล) ว่าทางอำเภอถลาง มีความประสงค์จะฟื้นฟูสนามกอล์ฟหาดสุรินทร์ขึ้นอีก เพราะได้ปล่อยทิ้งว่างเปล่าไว้ตั้งแต่สงครามโลกครั้งที่สอง เมื่อญี่ปุ่นยาตราทัพเข้าประเทศไทย การปล่อยท้องไว้เฉย ๆ นั้นก็ได้ปรากฏว่าได้มีคนบุกรุกเข้าไปปลูกพืชทั้งถาวรและไม่ถาวรเป็นจำนวนมาก

ผู้ที่ดำรงตำแหน่งเป็นนายอำเภอในปี พ.ศ. 2505 นั้นก็คือ คุณสวัสดิ์ สงเคราะห์ ท่านเองนั้นไม่เคยเล่นกอล์ฟ แต่มีความประสงค์เพียงเพื่อจะขอให้ผมชักชวนผู้ที่สนใจ ให้ไปแล่นกอล์ฟที่หาดสุรินทร์ เพื่อที่จะได้ช่วยกันรักษาพื้นที่ที่ทางราชการได้สงวนไว้เป็นบริเวณกว้างใหญ่

 

ความคิดเรื่องสนามกอล์ฟนี้เป้นของนายอำเภอสวัสดิ์ มิได้เป็นของผม เพราะถ้าผมคิดจะสร้างสนามกอล์ฟที่ภูเก็ตก็คงจะขอใช้ที่ดินที่บริษัทชะเทิร์น คินตาม คอนโซลิเดเต็ด ลิมิเต็ด ได้เลิกทำเหมืองแล้วและไม่ประสงค์ที่จะเก็บไว้ และต่อมาได้โอนขายให้แก่บริษัทโฮ้ยเซี้ยง จำกัด และบริษัทลุ่นเส็ง จำกัด รวมประมาณ 4,000 ไร่ ในราคาถูกกว่าค่าชดเชยที่จะต้องจ่ายให้แก่เจ้าของต้นมะพร้าว ต้นตาล และต้นไม้อื่น ๆ ที่หาดสุรินทร์

เมื่อผมไปอยู่ภูเก็ตใหม่ ๆ นั้น นายเอม.เอ.รอบบ์ ชาวออสเตรเลียเคยชวนผมไปซ้อมตีกอล์ฟที่บริเวณริมชายฝั่งอ่าวบางเทาที่เป็นที่เตียนกว้างใหญ่ แต่ต่อมาได้มีการทำเหมืองสูบริมชายทะเล เราจึงได้เลิกการซ้อมกอล์ฟที่ชายฝั่งอ่าวบางเทา นายรอบบ์นั้นเคยซ้อมกอล์ฟในบริเวณบ้านพักของบริษัททุ่งคาฮาเบอร์ ทิน เดรดยิง จำกัด ที่ซอยสะพานหิน แต่ก็ต้องเลิกไปเพราะอันตรายต่อบ้านพักและรถยนต์ ภูเก็ตจึงยังไม่มีสนามให้นักกอล์ฟได้ทดลองฝีมือ

คุณเลี่ยนอี่ ได้เชิญผู้ที่สนใจมาประชุมกันเพื่อที่จะหาทางฟื้นฟูสนามกอล์ฟที่หาดสุรินทร์ แต่ปรากฏว่าที่ซึ่งทางราชการได้สงวนไว้นั้น ได้กลายเป็นสวนมะพร้าวเสียกว่าครึ่ง ซึ่งคุณอ้วน สุรกุล ผู้ว่าราชการจังหวัดไม่เห็นด้วยที่จะให้สนามกอล์ฟไปซื้อมา เพราะผู้ที่เข้าไปใช้ที่ดินยังไม่มีหนังสือสำคัญแต่อย่างใด ส่วนเนื้อที่ซึ่งยังว่างเปล่าอยู่ทางทิศใต้ ก็มีไม่ถึง 60 ไร่ เพียงแต่พอสำหรับทำสนามแบบพาร์ 3 เก้าหลุมเท่านั้น ซึ่งถ้าจะทำให้สวยงาม ก็น่าจะเป็นที่นิยมกันได้

ในชั้นแรกนั้น คุณอ้วน สุรกุล ผู้ว่าราชการจังหวัด ไม่มีความประสงค์จะเล่นกอล์ฟ แต่ก็ยินดีให้ความร่วมมือสนับสนุนโครงการฟื้นฟูสนามกอล์ฟหาดสุรินทร์ แต่เมื่อผมได้ให้ท่านทดลองตีกอล์ฟดู ก็ปรากฏว่าท่านตีได้แรงและไกล ท่านจึงได้สนใจที่จะมาร่วมในการเล่นกีฬานี้
นายเหมืองภูเก็ตผู้หนึ่งที่ให้ความสนใจ ก็คือ “บี้จ๋าย” หรือคุณวิชัย เอี๋ยวชูวงศ์

เมื่อก่อนสงครามโลกครั้งที่สองนั้น สนามกอล์ฟหาดสุรินทร์ตั้งอยู่ได้ก็เพราะมีบริษัทเหมืองแร่อังกฤษให้การสนับสนุน ทั้งการส่งคนไปดูแล และให้เงินช่วยเหลือเป็นค่าใช้จ่ายในการบำรุงรักษาสนาม สนามกอล์ฟหาดสุรินทร์ เองก็ตั้งอยู่ใกล้กับที่ตั้งของสำนักงานเหมืองแร่ของบริษัทกำมะรา ทิน เดรดยิง ลิมิเต็ด และบริษัทตีนเล ลิมิเต็ด สนามก็คงจะอยู่ในสภาพที่ดีพอสมควร เพราะพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 7 ได้เคยเสด็จไปทรงกอล์ฟที่หาดสุรินทร์ ในปี พ.ศ. 2471 และจากการเดินตรวจสถานที่ดู ก็ปรากฏว่ายังมีเนินดินเป็นแท่น ที-ออฟฟ์ อยู่สองหรือสามแห่ง

ถึงแม้ว่าผมจะเคยเล่นกอล์ฟมาก่อนบ้างเมื่อครั้งเป็นนักศึกษาอยู่ในสหรัฐอเมริกา แต่ภาระหน้าที่ในสงครามโลกครั้งที่สองในสหรัฐอเมริกา และในกรุงเทพฯ ก็ทำให้ผมไม่ค่อยมีโอกาสเล่นกีฬานี้มากนัก และการออกแบบสนามกอล์ฟนี้ก็ต้องอาศัยความรอบรู้หลายประการ แต่คณะของเราก็โชคดี ที่มี ชาลส์ สก็อตต์ ชาวอังกฤษผู้ชอบเล่นกอล์ฟและได้มีโอกาสไปเห็นสนามกอล์ฟต่าง ๆ ทั้งในยุโรปและแคนาดามาหลายแห่ง และชาลส์ สก็อตต์ ก็ยังเป็นผู้มีอัธยาศัยดี และยินดีสละเวลามาช่วยในการออกแบบให้ ชาลส์ สก็อตต์ เป็นตัวแทนบริษัทอิสเทิร์น สเมลติ้ง ประจำอยู่ในภูเก็ต ซึ่งไม่มีงานประจำจึงมีเวลาว่างมากพอที่จะช่วยเหลือได้เต็มที

งานขั้นแรกของคณะฟื้นฟูสนามกอล์ฟหาดสุรินทร์ก็คือ การจัดตั้งสมาคมกอล์ฟภูเก็ตโดยมีคุณอ้วน สุรกุล คุณวิชัย เอี๋ยวชูวงศ์ และผมเป็นผู้ยื่นคำร้องขอจดทะเบียน และงานขั้นต่อไปก็คือ การตัดหญ้าถางพง เพื่อทำแฟร์เวย์ ทางด้านทิศใต้ของสนามนั้นไม่รกรุงรังมากนัก แต่ทางทิศเหนือเป็นป่าซึ่งจะต้องใช้คนงานมาก ท่านผู้ว่าราชการได้กรุณาส่งรถปราบดินและคนงานคือนักโทษมาช่วย และทางคณะของเราก็ได้ขอให้ นางโรสแมรี โฟลด์ส (ROSEMARY FAULDS) และยงลาภ กาญจนะวณิชย์ ภรรยาของผมช่วยออกไปคุมและเลี้ยงนักโทษ เพราะทางฝ่ายชายติดธุระต้องทำงานเกือบทุกคน

ถึงแม้ว่าทางด้านทิศใต้ของหาดสุรินทร์จะไม่มีสวนมะพร้าว แต่คณะของเราก็ต้องช่วยกันจ่ายค่าชดเชยให้แก่ผู้ที่ได้มาปลูกต้นตาลและมะละกอไว้ ส่วนทางด้านทิศเหนือ ที่ท่านผู้ว่าราชการจังหวัดห้ามมิให้ซื้อนั้น ปัจจุบันก็ได้กลายเป็นที่ดินที่อยู่ในเขตของโรงแรมที่มีชื่อเสียงไปแล้ว

ในการหาที่ซ้อมให้สมาชิกใหม่ ๆ นั้น ผมได้ให้คนสวนของบริษัททุ่งคาฮาเบอร์ ทิน เดรดยิง จำกัด ทำกรีนขึ้น 3 แห่ง ในบริเวณหน้าบ้านพักของบริษัทที่ถนนดำรง และเชิญสมาชิกที่สนใจมาเริ่มเล่นในสนามเล็ก ๆ ที่นั่น ผู้ที่เริ่มสนใจในกีฬากอล์ฟจากสนามเล็กนี้ เท่าที่ผมจำได้ก็มี คุณอุ่น ณ ระนอง เป็นต้น

การเริ่มเล่นกอล์ฟที่หาดสุรินทร์นั้นก็ได้รับการสนับสนุนจากเด็กๆ ในละแวกนั้น ที่ได้มาสมัครเป็นพนักงานแบกถุงหรือแคดดี้ เราไม่มีเครื่องแบบให้พนักงานแบกถุงใส่ให้สวยงามเหมือนพนักงานแบกถุงสาว ๆ ในที่อื่น ๆ พนักงานแบกถุงคนเล็กที่สุดคนหนึ่ง ชอบมาต้อนรับพวกเราด้วยการคาดเข็มขัด และรองเท้ายาง แต่ไม่เคยใส่กางเกงและเสื้อ

ในฤดูฝนที่มีการปลูกข้าว ก็จะมีฝูงควายเข้ามาเดินเล่นในสนาม ทำให้บรรยากาศของสนามกอล์ฟหาดสุรินทร์ ในระยะต้น ๆ นั้น สนุกมาก เราโชคดีที่ได้ ตุ๋ย อินฟ้าแสง จากหัวหินมาเป็นผู้ดูแลสนามกอล์ฟ และได้ครูทวี แดงช่วง จากหัวหินมาช่วยฝึกสอนผู้ที่เริ่มสนใจในกีฬานี้ ส่วนลูกกอล์ฟนั้น ก็ต้องสั่งซื้อจากกรุงเทพฯ ส่วนใหญ่เป็นลูกกอล์ฟยี่ห้อ PLANET ของญี่ปุ่นราคาขายลูกละ 5 บาท สำหรับไม้กอล์ฟโดยมากจะสั่งมาจากปีนัง เป็นของที่ทำในประเทศอังกฤษ หรือ สก็อตแลนด์ เกือบทั้งหมดและยังไม่มีใครนิยมเล่นไม้กอล์ฟญี่ปุ่นกันในสมัยนั้น

เมื่อเราเริ่มฟื้นฟูสนามกอล์ฟหาดสุรินทร์ในปี พ.ศ. 2505 นั้น หลุมหนึ่งเป็นแต่เพียงหลุมพาร์ 3 มีระยะเพียง 200 หลาเศษ กรีนของหลุมหนึ่งนั้นอยู่ริมหาดและมักจะถูกปูลมมาเจาะรูในกรีนอยู่เสมอ ๆ เครื่องหมายของสมาคมในครั้งนั้น จึงใช้รูปปูเป็นสัญลักษณ์ ภายหลังเมื่อมีการขยายสนาม จึงได้ดัดแปลงย้ายกรีนหลุมหนึ่งข้ามแอ่งน้ำไปอยู่ในหมู่ต้นสนแทน โดยมีระยะยาวขึ้นเป็นพาร์ 4 บริเวณแท่น ทีออฟฟ์ ของหลุ่มหนึ่งนั้นอยู่ใกล้กับศาลาที่พักของทางราชการ ซึ่งเข้าใจว่าได้สร้างไว้ตั้งแต่ พ.ศ. 2471 พร้อมทั้งมีบริเวณที่จอดรถ

เมื่อสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เสด็จประพาสหาดสุรินทร์ ก็ได้ทรงประทับและเสวยพระกระยาหารกลางวัน ที่ริมหาด และทรงปลูกต้นไม้ไว้เป็นที่ระลึกบริเวณแท่น ทีออฟฟ์ หลุมหนึ่งนั้นด้วย

เมื่อเปิดสนามใหม่ ๆ นั้น นายรอย กรีนวูด ผู้จัดการเหมืองแร่ของบริษัททุ่งคาฮาเบอร์ ทิน เดรดยิ่ง ได้สมัตรเข้าเป้ฯสมาชิก เพราะเคยเล่นกอล์ฟมามากเมื่อครั้งอยู่ในประเทศออสเตรเลียและมาเลเซีย จนได้แต้มต่อ 9 พวกเราจึงลงมติให้ รอย กรีนวูด เป็นกัปตันของสนาม นายรอย กรีนวูด มีความเห็นว่าจะให้สโมสรคึกคัก จำเป็นจะต้องจัดให้มีระบบต่อแต้มที่มีประสิทธิภาพ และได้จัดให้มีการแข่งขันประจำเดือนสำหรับสมาชิกทุกท่าน เพื่อจะได้ปรับแต้มต่อได้สม่ำเสมอ และนอกจากการแข่งขันประจำเดือนแล้วก็ยังมีการแข่งขันอื่น ๆ อีก จึงทำให้สนามกอล์ฟหาดสุรินทร์ภายใต้การดำเนินงานของสมาคมกอล์ฟภูเก็ต มีการแข่งขันอย่างน้อยเดือนละสองครั้ง

เมื่อสมาชิกมีแต้มต่อครบถ้วนแล้ว และเริ่มเล่นได้โดยเข้าใจข้องบังคับของกีฬาสนามกอล์ฟพอสมควรแล้ว นายกรีนวูด ก็ได้มอบถ้วยใบใหญ่ให้สมาคมกอล์ฟภูเก็ต โดยถือเป็นถ้วยถาวรซึ่งจะจัดให้มีการแข่งขันทุก ๆ ปี ผู้ชนะจะได้ถ้วยจำลองไป ส่วนถ้วยรางวัลถาวรนั้นเก็บไว้ได้เพียงเวลา 1 ปี หลังจากที่ชนะไปแล้วเท่านั้น การแข่งขันชิงถ้วนกรีนวูดนี้ใช้วิธีนับคะแนนแบบสเตเบิลฟอร์ด ซึ่งก็เป็นการนับคะแนนอีกแบบหนึ่งที่สมาชิกได้รับทราบ

นายชาลส์ สก็อตต์ ผู้เป็นกำลังสำคัญในการสร้างสนามนั้นก็ได้มีบทบาทสำคัญ ที่ช่วยสอนให้สมาชิกเข้าใจในข้อบังคับของกีฬากอล์ฟ และให้สมาชิกเคร่งครัดในการออกรอบกลุ่มหนึ่ง ๆ ได้ไม่เกิน 4 คน

เมื่อกิจการของสมาคมดำเนินไปได้ดีจนมีสมาชิกกว่า 50 คน นักกอล์ฟผู้ที่เดินทางผ่านมาจังหวัดภูเก็ต ก็ได้ไปเยี่ยมแวะทดลองตีกอล์ฟที่หาดสุรินทร์กันมากยิ่ง ๆ ขึ้น ตลอดจนกระทั่งได้จัดให้มีการแข่งขันระหว่างทีมกอล์ฟภูเก็ต นครศรีธรรมราช และหาดใหญ่

ข้อบกพร่องของสนามที่ชาวต่างจังหวัดมักกล่าวถึงก็คือ ในฤดูฝนจะมีกระบือของชาวบ้านเข้ามาในสนามเป็นจำนวนมาก กระบือนั้นถือเป็นสิ่งกีดขวางที่เคลื่อนที่ได้ แต่สิ่งกีดขวางที่เคลื่อนที่ไม่ได้ที่กระบือปล่อยทิ้งไว้นั้น เป็นปัญหาสำหรับผู้เล่นมากกว่า ท่านผู้ว่าราชการจังหวัดในสมัยนั้น คือ คุณอ้วน สุรกุล ก็ได้กรุณาช่วยเหลือในการทำรั้วและคูตามแนวสนามด้านทิศตะวันออก

ในบรรดาแขกที่มาเยี่ยม และได้ให้ข้อแนะนำที่มีประโยชน์ก็มีหลายท่าน เช่น นายแพทย์วราภรณ์ อิศรางกูร ณ อยุธยา ซึ่งได้แนะนำให้สร้างกรีนเพิ่มขึ้นใหม่หลังบริเวณอาคารที่พักร้อน ด้วยการจ่ายชดเชยแต่เพียงเล็กน้อยให้แก่ผู้ที่มาปลูกต้นไม้สองสามต้นในบริเวณนั้น เราก็ได้กรีนใหม่ที่น่าสนใจเพิ่มขึ้นอีก เมื่อได้รับความสนับสนุนจากสมาชิกอย่างแข็งขัน ทางสมาคมจึงได้สร้างกรีนหลุม สามขึ้นใหม่ให้อยู่บนเนินที่ชัน และยอมให้ผู้เล่นวางลูกได้ก่อนถึงกรีน ในระหว่างที่แฟร์เวย์ยังอยู่ในระหว่างก่อสร้าง เพราะถ้าไม่วางลูกแล้ว ลูกมีโอกาสที่จะกลิ้งกลับลงไปได้ถ้าดรอบตามปกติ

นอกจากนั้นทางบริษัทเชลล์ผู้จำหน่ายน้ำมันตราหอย ยังได้อุทิศจ่ายเงินช่วยเหลือในการสร้างกรีนหลุม 4 ใหม่ให้อีกด้วย

แขกที่มาเยี่ยมซึ่งสมาชิกสมาคมสโมสรกอล์ฟภูเก็ต ไม่ยินดีต้อนรับ ก็คือ ปลาวาฬตัวใหญ่ (SPERM WHALE) ที่ได้ลอยมาเกยชายหาดและตายลง กลิ่นปลาเน่าผสมกับน้ำมันปลาวาฬนั้นรบกวนนาสิกประสาทของนักกอล์ฟอยู่หลายสัปดาห์

การเปิดโรงถลุงดีบุกใหม่ที่จังหวัดภูเก็ตในปี พ.ศ. 2508 ก็ทำให้สโมสรได้รับสมาชิกใหม่อีกเป็นจำนวนมาก และเป็นกำลังสำคัญของสมาคมกอล์ฟภูเก็ตในระยะต่อมา

นอกจากทางด้านการเล่นกอล์ฟโดยตรงแล้ว ทางสมาคมกอล์ฟภูเก็ต ยังได้จัดงานประจำปีให้สมาชิกได้มีโอกาสพบปะสังสรรค์กัน และมักจะจัดให้เป็นงานแต่งแฟนซี ที่อาคารสโมสรของบริษัทไทยแลนด์ สเมลติง แอนด์ รีไฟนิง จำกัด หรือ ไทยชาร์โก ซึ่งอยู่ริมทะเลที่อ่านหมาน และสโมสรก็มักจะได้รับความกรุณาจาก คุณวิจิตร ณ ระนอง ในการผสมเครื่องดื่ม รายได้จากการจัดงานเช่นนี้ทางสโมสรก็มักจะใช้ในการช่วยเหลือโรงเรียนต่าง ๆ ที่อยู่ใกล้เคียงกับหาดสุรินทร์ ต่อมาเมื่อกิจการของกลุ่มบริษัทนี้ขยายกิจการไปทางด้านเหมืองแร่ เช่น การทำเหมืองแร่ในทะเลของบริษัทเทมโก ทำให้มีบริษัทในเครือด้วยกัน 4 บริษัท จึงได้เกิดมีการท้าทายแข่งขันกันระหว่างกลุ่มบริษัทยูเนี่ยนคาร์ไบด์ และกลุ่มบริษัทลอนดอนทิน ซึ่งผมทำงานอยู่ เป็นครั้งแรกเมื่อวันที่ 31 ตุลาคม พ.ศ. 2510

หลังจากการแข่งขันแล้ว ก็ได้มีการเลี้ยงประสานสามัคคีระหว่างผู้แข่งขันและสมาชิกในครอบครัวของทั้งสองฝ่าย วันที่ 31 ตุลาคม ตรงกับวันแฮลโลวีน (HALLOWEEN-ALL HOLLOW EVENING) ซึ่งชาวอเมริกันโดยเฉพาะเยาวชนยังคงเฉลิมฉลองกันอยู่ เดิมที่วันแฮลโลวีนหรือวันที่ 31 ตุลาคม เป็นวันส่งท้ายปีเก่าของพวกเชลล์และแองโกล-แชกซอนในประเทศอังกฤษซึ่งนิยมก่อไฟไล่ผีกันในวันนั้น และเป็นวันที่ถือว่า วิญญาณของผู้ที่ได้ล่วงลับไปแล้ว จะกลับมาเยี่ยมบ้าน ชาวไอริชที่อพยพมาอยู่ในอเมริกานำเอาประเพณีนี้มาสู่อเมริกา ชาวอเมริกันจึงยังคงมีประเพณีดังกล่าวอยู่ และสัญลักษณ์สำคัญก็คือฟักทองที่เจาะรูมีลูกตา จมูก และปาก เอามาทำโคมไฟ JACK O’ LANTERN

ในคืนที่มีการเลี้ยงฉลองหลังการแข่งขันกอล์ฟที่ภูเก็ต เมื่อวันที่ 31 ตุลาคม พ.ศ. 2510 นั้น จารุโลจน์ บุตรสาวของผมได้นำโคมไฟที่ทำจากฟักทองไปตั้งไว้บนโต๊ะอาหารด้วย นายเฟรดแบตเติลวิศวกรผู้จัดการโรงถลุงดีบุกพอใจมาก จึงได้นำโคมไฟนั้นไปเป็นแบบหล่อโคมไฟที่ทำด้วยดีบุก ใช้เป็นรางวัลแข่งขันประเพณีในปีต่อ ๆ มา

หลังจากที่สโมสรกอล์ฟภูเก็ตได้จัดเปิดสนามกอล์ฟหาดสุรินทร์ได้ประมาณ 2 ปี วันหนึ่งแคดดี้ประจำตัวผมก็มาบอกว่าจะต้องเลิกเป็นแคดดี้เสียแล้ว เพราะได้มีคนพอแร่ดีบุกเป็นปริมาณมากที่ชายหาดพันทรี ทางด้านเหนือของสนามกอล์ฟ แคดดี้บอกว่าเพียงแต่ลุยน้ำทะเลตักแร่ใส่ถังก็ขายได้เงินวันละหลายสิบบาท ต่อมาก็ได้มีประชาชนเป็นจำนวนมากไปขุดแร่ดีบุกที่อ่าวพันทรีจนทำให้มียวดยานวิ่งกันขวักไขว่ และมีการสร้างร้านรวงต่าง ๆ ขึ้นในบริเวณหาดพันทรี

เมื่อขุดแร่ริมหาดร่อยหรอไปแล้วนักขุดแร่จึงได้ต่อแพไม้ไผ่ออกไปขุดแร่ในทะเลไกลออกไป จนในที่สุดต้องใช้นักดำน้ำที่สามารถลงไปขุดพื้นทะเล และใช้อุปกรณ์ช่วยเหลือ เช่น เอาเครื่องอัดลมที่ใช้สูบยางรถยนต์มาเป็นเครื่องสูบลมให้ประดาน้ำทำงานใต้ทะเล การขุดแร่ดีบุกในทะเลได้ขยายขอบเขตไปจนถึงบริเวณหน้าหาดสุรินทร์ ใกล้ ๆ กันกรีนหลุมหนึ่งเดิมของสนามกอล์ฟทั้งนี้จึงเกิดปัญหาการจราจรพลุกพล่านขึ้นในสนามกอล์ฟ

นอกจากทางด้านหาดสุรินทร์แล้ว นักขุดแร่ดีบุกยังได้ขยายกิจการไปถึงทะเลอ่าวบางเทา ทางทิศเหนือของหาดสุรินทร์อีกด้วย พร้อมทั้งดัดแปลงแพดูดแร่ให้มีเครื่องทุ่นแรงมากยิ่งขึ้น

หลายปีต่อมา วันหนึ่งนายจ่าตำรวจที่เฝ้าบริเวณหาดสุรินทร์ได้แจ้งให้ผมทราบว่านักขุดแร่ดีบุกชายทะเลของเราได้พบแหล่งแร่ดีบุกที่สมบูรณ์มากที่ทะเลนอกบ้านบ่อดานในจังหวัดพังงาและได้เริ่มไปขุดแร่ที่นั่นขายได้เป็นเงินจำนวนมาก การดำดูดแร่ดีบุกในทะเลจึงได้ขยายกิจการจากอ่าวบางเทาขึ้นไปทางทิศเหนือ จนถึงบ่อดานและท้ายเหมืองในจังหวัดพังงา

เมื่อรัฐบาลภายใต้การนำของ ม.ร.ว. เสนีย์ ปราโมช ได้ยกเลิกประทานบัตรของบริษัทเทมโก เนื่องจากการขัดแย้งระหว่างนักดูดดำแร่กับบริษัทผู้เป็นเจ้าของประทานบัตรในปี พ.ศ. 2518 แล้ว ต่อมาการดูดดำแร่ก็ได้ขยายกิจการขึ้นไปทางทิศเหนือจนถึงประทานบัตรชายฝั่งทะเล ของบริษัทชะเทิร์น คินตา คินโซลิเดเต็ด ที่บ้านน้ำเค็มใกล้ ๆ บางม่วง อำเภอตะกั่วป่า จังหวัดพังงา

การดูดดำแร่ดังกล่าวเป็นกิจการที่ผิดกฎหมาย แต่กระทำกันอย่างเปิดเผย จึงได้มีฝูงชนแตกตื่นมาดูดดำแร่ดีบุกในทะเลจากจังหวัดต่าง ๆ ทั่วประเทศ และผู้รับซื้อแร่ดีบุกดังกล่าวก็จำเป็นต้องมีอิทธิพลพอสมควร จึงมีความขัดแย้งกับการดำเนินงานของสนามกอล์ฟหาดสุรินทร์ เพราะผู้ประกอบกิจการผิดกฎหมายไม่มีความประสงค์ ที่จะเห็นผู้ใหญ่ในวงราชการมาที่หาดสุรินทร์เสมอ ๆ

ในฐานะที่ผมเป็นนายกของสมาคมสนามกอล์ฟภูเก็ตอยู่หลายปี และเป็นผู้แทนของบริษัทเหมืองแร่เจ้าของประทานบัตรในทะเลนอกหาดสุรินทร์ และในอ่าวบางเทา ความขัดแย้งจึงทวีคูณ เพราะผมเป็นผู้แทนสนามกอล์ฟภูเก็ต ที่กีดขวางมิให้มีการบุกรุกที่ดินริมทะเล และเป็นผู้แทนเจ้าของประทานบัตรในทะเล ซึ่งมีคนเป็นจำนวนมากประสงค์จะละเมิดสิทธิเข้าไปแสวงหาผลประโยชน์ ผู้ที่รับซื้อแร่ดีบุกจากการละเมิดสิทธิดังกล่าวก็ต้องดำเนินการค้าอย่างผิดกฎหมาย และมักจะต้องหาวิธีลักลอบส่งแร่ออกไปจำหน่ายยังต่างประเทศ ผมจึงต้องเลิกเล่นกอล์ฟที่หาดสุรินทร์ในปี พ.ศ. 2518 นั้นเพราะขาดสมาธิ

แต่อย่างไรก็ดี ก่อนที่ผมจะเลิกเล่นกอล์ฟที่นั่น ผมก็ได้มีโอกาสถวายการต้อนรับสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี เมื่อครั้งเสด็จไปทรงกอล์ฟที่สนามหาดสุรินทร์ ซึ่งพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว พระสวามี ได้เคยเสด็จไปทรงกอล์ฟมาก่อนแล้ว ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2471

แก้ไขล่าสุดเมื่อ ( พุธ, 28 มีนาคม 2018 )
 
< ก่อนหน้า   ถัดไป >

สมุดภาพเหมืองแร่

Polls

ชื่อใด (หรือคำใด) สื่อได้ชัดคม รู้เป้าหมายได้มากกว่า
 

Who's Online

ขณะนี้มี 210 บุคคลทั่วไป ออนไลน์

Counter

mod_vvisit_countermod_vvisit_countermod_vvisit_countermod_vvisit_countermod_vvisit_countermod_vvisit_countermod_vvisit_countermod_vvisit_countermod_vvisit_counter
mod_vvisit_counterวันนี้3197
mod_vvisit_counterเมื่อวาน3893
mod_vvisit_counterทั้งหมด11015032